หญ้าขน

หญ้าขน (Para Grass) จัดเป็นหญ้าอาหารสัตว์ที่นิยมปลูก เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถเติบโตได้ดีทั้งพื้นที่ดอน และชุ่มน้ำ นอกจากนั้น ยังเป็นหญ้าที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมถึงไม่เป็นหญ้าที่แพร่กระจายกลายเป็นวัชพืชได้รวดเร็วเหมือนกับหญ้าชนิดอื่นๆ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachiaria mutica (Forsk) Stapf.

• ชื่อสามัญ :

– Para Grass

– Mauritius Grass

• ชื่อท้องถิ่น : หญ้าขน

• ถิ่นกำเนิด : ประเทศเขตร้อนในแถบทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้

การแพร่กระจายหญ้าขน

หญ้าขน เป็นหญ้าที่เติบโตได้ทั้งพื้นที่ดอน พื้นที่ลุ่ม และพื้นที่น้ำขัง สามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาค มักพบตามริมขอบแม่น้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงพื้นที่รกร้างต่างๆ และพบได้ตามแปลงหญ้าของผู้เลี้ยงโค กระบือทั่วไป โดยถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472 โดยนายอาร์ พี โจนส์

advertisement

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น

หญ้าขน เป็นหญ้าอายุข้ามปี มีลำต้นเป็นไหล แตกลำต้นใหม่ตั้งตรงหรือเลื้อยไปตามผิวดิน ลำต้นสามารถสูงหรือเลื้อยได้ยาวกว่า 1 เมตร และอาจพบความสูงหรือความยาวได้มากถึง 3 เมตร โดยลำต้นจะมีลักษณะกลม มีลักษณะเป็นข้อปล้อง ผิวลำต้นเรียบ สีเขียวสด มีขนปกคลุม

ใบ

ใบหญ้าขน แทงออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยกาบใบยาวที่หุ้มรอบลำต้น ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีหูใบที่อยู่ระหว่างรอยต่อของกาบใบ และแผ่นใบ ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว และแผ่แบน สีเขียวอ่อน ขนาดใบกว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร ผิวใบทั้งด้านล่าง และด้านบนปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม

ดอก

ดอกหญ้าขนมีลักษณะออกดอกเป็นช่อ มีดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 3 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมีสีม่วงเข้ม จำนวน 2 อัน และมีอับเรณูสีเขียวอ่อน แต่ทั่วไปมักไม่ค่อยออกดอกให้เห็น

ประโยชน์หญ้าขน

1. หญ้าขนนิยมปลูกสำหรับใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับโค กระบือ เนื่องจากปลูกง่าย เติบโตเร็ว และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

2. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน

3. หญ้าขน ถูกจัดให้เป็นพืชชายน้ำที่เติบโตในพื้นที่น้ำขังได้ จึงสามารถใช้ปลูกเพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบึงประดิษฐ์ได้

คุณค่าทางโภชนาการหญ้าขน (% ของวัตถุแห้ง)

หญ้าขนมีเปอร์เซ็นต์ของวัตถุแห้งจากหญ้าขนสด ประมาณ 20.69% ซึ่งพบคุณค่าทางโภชนาการเมื่อคำนวณจากวัตถุแห้ง ดังนี้

– โปรตีนรวม : 7.47%

– โปรตีนไหลผ่าน : 1.12%

– ไขมัน : 2.86%

– เยื่อใย (ผนังเซลล์) : 63.36%

– เยื่อใย (ลิกโนเซลลูโลส) : 38.68%

– ลิกนิน : 3.61%

– โปรตีน (ผนังเซลล์) : 0.71%

– โปรตีน (ลิกโนเซลลูโลส) : 2.74%

– เถ้า : 13.66%

– แคลเซียม : 0.77%

– ฟอสฟอรัส : 0.32%

– โภชนะย่อยได้ : 48.1%

– พลังงานสุทธิ : 105.8 แคลอรี่/กรัม

ที่มา : 1)

คุณสมบัติหญ้าขนสำหรับพืชอาหารสัตว์

1. ลำต้นแตกไหลแพร่กระจาย และเติบโตได้รวดเร็ว

2. สามารถขึ้นได้ทั้งพื้นที่น้ำขัง พื้นที่ดินชุ่มมาก และพื้นที่ดอนค่อนข้างแล้ง

3. มีคุณค่าทางโภชนาการทางด้านอาหารสัตว์สูง ดังที่กล่าวข้างต้น

4. ทนต่อการเหยียบย่ำ และแทะเล็มจากโค กระบือได้ดี

5. ลำต้นสามารถขึ้นใหม่ได้รวดเร็ว และมีอัตราการให้ผลผลิตสูงที่ 1-5 ตัน/ไร่

การปลูกหญ้าขน

การปลูกหญ้าขนส่วนมากนิยมปลูกด้วยการแยกไหล ไม่นิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะหญ้าขนติดดอก และเมล็ดยาก หรือหากเพาะด้วยเมล็ดจะมีอัตราการงอกต่ำ

การเตรียมแปลง

การเตรียมแปลงสำหรับการปลูกหญ้าขน แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

1. แปลงพื้นที่ชุ่มหรือมีน้ำขัง ซึ่งจะต้องทำการไถกลบดินเพื่อกำจัดหญ้าหรือวัชพืชอื่นก่อน และหมักให้วัชพืชเน่า 2-3 อาทิตย์ ทั้งนี้ ก่อนปลูก หากมีน้ำขังต้องปล่อยน้ำออกให้ดินชุ่มพอเหมาะก่อน เพราะหากดินชุ่มมากหรือมีน้ำขังอาจทำให้ไหลหญ้าขนเน่าตายก่อนได้ หลังจากนั้น จึงใช้ไหลหลงปลูก

2. แปลงบนที่ดอน เริ่มจากการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกเช่นกัน และตากดินนาน 7-14 หลังจากนั้น วางไหล และไถกลบได้เลยวัน ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำขัง

ขั้นตอนการปลูก

การปลูกด้วยไหล นิยมตัดไหลหญ้าขนให้ยาว 20-25 เซนติเมตร โดยให้มีข้อประมาณ 2-3 ข้อ ก่อนจะนำวาง ในระยะ 50-60 เซนติเมตร/เส้นไหล และใช้ดินกลบหรือวางกระจายให้ทั่วแปลง แล้วใช้วิธีไถกลบ ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดจะใช้วิธีการหว่าน ซึ่งจะใช้เมล็ดประมาณ 0.2-0.25 กิโลกรัม/ไร่

การให้น้ำ

การปลูกหญ้าขนโดยทั่วไปจะปล่อยให้เติบโตด้วยการอาศัยน้ำฝน และความชื้นดินตามธรรมชาติ แต่หากในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีฝนตก ควรให้น้ำเป็นระยะ 1-2 ครั้ง/อาทิตย์

การใส่ปุ๋ย

– การใส่ปุ๋ยจะเริ่มใส่ครั้งแรกในขั้นตอนการเตรียมแปลง

– ระยะหลังปลูก 1-3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 10-20 กิโลกรัม โดยใส่จำนวน 2 ครั้ง ก่อนตัดในเดือนที่ 4 และหลังตัดแล้ว 2 อาทิตย์ ให้ใส่อีกครั้ง

การเก็บเกี่ยว

หลังจากการปลูกหญ้าขนแล้วประมาณ 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือน แต่อาจตัดก่อนได้ หากลำต้นสูงพอเหมาะ ก็สามรถเก็บเกี่ยวได้ โดยให้ตัดสูงจากพื้นดินประมาณ 10 เซนติเมตร และตัดได้ในทุกๆ 40-45 วัน ซึ่งจะให้น้ำหนักประมาณ 250-260 กิโลกรัม/ครั้ง ในระยะการปล่อยให้เติบโตที่ 40-45 วัน

เอกสารอ้างอิง

1) จีระชัย กาญจนพฤฒิพงศ์. 2549. การจัดการฝูงโคนม.