ชันโรง

ชันโรงมีการดำรงชีวิตแบบแมลงสังคม มีการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มจำนวนมากในรัง ความเป็นอยู่ภายในรัง จึงมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบออกเป็น 3 หน้าที่หลักโดยเรียกสมาชิกที่มีภาระหน้าที่แต่ละอย่างว่า วรรณะ เช่นเดียวกับการแบ่งกลุ่มสมาชิกในรังของผึ้ง (รูปที่ 9) คือ

วรรณะนางพญา ชันโรงมีนางพญาได้ 1-2 ตัวในรัง นางพญามีขนาดลำตัวใหญ่ มีส่วนท้องใหญ่กว่าส่วนหน้าอก และส่วนหัวมาก ทำหน้าที่วางไข่ในถ้วยตัวอ่อนที่ชันโรงงานได้สร้างไว้ และควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในรัง

วรรณะตัวผู้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญา ลำตัวของตัวผู้ชันโรงบางชนิด มีขนาดเล็กกว่าชันโรงงาน มีตารวมที่เจริญดี

วรรณะงาน ชันโรงงานเป็นสมาชิกภายในรังที่มีจำนวนมากที่สุด มีหน้าที่รับผิดชอบภาระงานที่เหลือทั้งหมดภายในรัง ตั้งแต่ทำความสะอาดรัง สร้างถ้วยตัวอ่อน ถ้วยอาหาร สร้างรัง ป้องกันรัง หาอาหาร และอื่น ๆ โดยหน้าที่ที่รับผิดชอบของชันโรงงานแต่ละหน้าที่จะถูกรับผิดชอบโดยชันโรงงานที่มีอายุแตกต่างกัน นั่นคือ ชันโรงแต่ละตัว เมื่อออกมาจากถ้วยตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยแล้ว จะมีหน้าที่เปลี่ยนไป เมื่อมีอายุมากขึ้น

รูปที่ 9 วรรณะต่างๆ ของชันโรง

ด้านขวา คือ นางพญา ตรงกลาง คือ ชันโรงงาน ด้านซ้าย คือ ชันโรงเพศผู้

วงจรชีวิตของชันโรง

การเจริญเติบโตของชันโรง มี 4 ระยะ คือ

ระยะไข่ ลักษณะรูปไข่ยาว ตั้งอยู่บนอาหารเหลวข้น ที่ชันโรงงานใส่ในถ้วยตัวอ่อนแล้ว ปิดถ้วยภายหลังนางพญาวางไข่เสร็จ ถ้วยตัวอ่อนของระยะไข่ จะมีสีเข้มที่สุด

ระยะหนอน มีสีขาวขุ่นถึงสีครีม หนอนจะนอนงอเป็นรูปตัวซี ลอยอยู่บนอาหาร มีการลอกคราบหลายครั้ง และเข้าดักแด้ภายในถ้วย ถ้วยตัวอ่อนของหนอนระยะแรก จะมีสีเข้มและค่อยๆ มีสีจางลงเมื่อหนอนมีอายุมากขึ้น

ระยะดักแด้ พบในถ้วยตัวอ่อนที่มีสีอ่อนลงมาก ถ้วยมีลักษณะแฟบอ่อนนุ่ม

ระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยของชันโรงจะกัดถ้วยตัวอ่อนออกมา โดยอาจมีชันโรงงานที่อายุน้อยคอยช่วยกัดจากภายนอก ชันโรงที่ออกจากถ้วยตัวอ่อนใหม่ ๆ มีลำตัวสีอ่อน เคลื่อนไหวช้า มักพบเดินอยู่บริเวณถ้วยตัวอ่อน จากนั้นสีของลำตัวก็จะเข้มขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น พร้อมทั้งภาระหน้าที่ ที่รับผิดชอบภายในรังก็จะเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับการแบ่งหน้าที่ของผึ้ง โดยภาระหน้าที่ภายในรัง เช่น ทำความสะอาด สร้างถ้วยตัวอ่อน ใส่อาหารในถ้วย เป็นต้น จะเป็นภาระงานของชันโรงงานที่มีอายุน้อยที่อาศัยอยู่ในรัง ส่วนการหาอาหาร ชันและน้ำ จะเป็นภาระงานของชันโรงงานที่มีอายุมาก และบินออกนอกรังทั้งนี้ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ระยะการเจริญเติบโตของชันโรงแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป (รูปที่ 10)