วิสาหกิจชุมชน

คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน http://www.rd.go.th/counter/ebook/count_community.php

วิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชน คืออะไรโดยนิยามกว้าง ๆ วิสาหกิจชุมชนคือ การประกอบการขนาดย่อมและขนาดจิ๋วของชุมชนเพื่อการจัดการ "ทุน" ของชุมชนอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพึ่งเอง (SMCE -Small and Micro Community Enterprise) วิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม มีสมาชิกมากกว่า 15 คน วิสาหกิจชุมชนขนาดจิ๋ว มีสมาชิกตั้งแต่ 5 คน ถึง 15 คน

"ทุนชุมชน" มีอะไรบ้าง ทุนชุมชนมีทั้งทุนที่เป็นเงิน ทุนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ทุนที่เป็นผลผลติทุนความรู้ ภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นพี่น้องและความไว้ใจกันของชุมชน

องค์ประกอบของวิสาหกิจชุมชนมีอะไรบ้าง มี อยู่อย่างน้อย 7 อย่าง คือ

1) ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ

2) ผลผลิตมาจากระบวนการในชุมชน

3) ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน

4) มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากล

5) มีการดำเนินการแบบบูรณาการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

6) มีกระบวนการการเรียนรู้เป็นหัวใจ

7) มีการพึ่งพาตนเองเป็นเป้าหมาย

วิสาหกิจชุมชนแตกต่างจากธุรกิจชุมชนอย่างไร

ขณะที่ธุรกิจชุมชนเน้นที่การบริหารจัดการมุ่งสู่ตลาดและมุ่งกำไร วิสาหกิจเน้นความร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อให้พึ่งตนเองได้ ขณะที่ธุรกิจชุมชนมีเป้าหมายได้ "รวย" วิสาหกิจชุมชนมีเป้าหมายให้ "รอด" ธุรกิจชุมชนมักจะดำเนินกิจกรรมเป็นเรื่อง ๆ อย่าง ๆ วิสาหกิจชุมชน เป็นระบบที่มีหลากหลายกิจกรรมเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เสริมกันแบบบูรณาการ ธุรกิจชุมชนดำเนินการตามรูปแบบและมักเลียนแบบ วิสาหกิจชุมชนมีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเปรียบเทียบธุรกิจชุมชนกับการทำการเกษตรก็คล้ายกับการปลูกพืชเดี่ยว ขณะที่วิสาหกิจชุมชนคล้ายกับการทำเกษตรผสมผสานหรือวนเกษตร คือ แทนที่จะ 2-3อย่าง ก็ทำ 20-30 อย่าง

วิสาหกิจชุมชนเน้นที่เรื่องใดมากที่สุดเน้นที่วิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด เพราะปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องการผลติ ซึ่งชุมชนผลิตอะไรได้มาก มากมายจนไม่รู้จะขายที่ไหน ประเด็นวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ "วิธีทำ" แต่อยู่ที่ "วิธีคิด" ต้องปรับวิธีคิดใหม่ ถ้าทำแบบ "ปลูกพืชเดี่ยว" แต่ถ้าทำแบบเกษตรผสมผสานและวนเกษตรก็จะเน้นการทำวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้พอกินพอใช้ก่อนแล้วค่อยพัฒนาไปสู่การจัดการเชิงธุรกิจ เมื่อพอเพียงและพึ่งตนเองได้ก็สามารถผลติให้เหลือเผื่อตลาดได้ ถ้าเกิดขายไม่ได้ก็ไม่เสียหาย ถ้าขายได้ก็เป็นกำไรวิสาหกิจชุมชนไม่ได้เอาตลาดมาเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ปฏิเสธตลาด แต่ไม่เอาตลาดเป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ถ้าหากคิดจะนำผลผลติออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นก็อาจทำได้ แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาจเรียกได้เป็น "สูตรเด็ดเคล็ดลับ" มาจากการรู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรในท้องถิ่น บวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี ควรเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ สร้างรากฐานเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งก่อนทำกินทำใช้ก่อนทดแทนสิ่งที่ซื้อจากตลาดให้มากที่สุด และหากจะนำผลิตภัณฑ์ตัวเก่งออกสู่ตลาดก็ควรเรียนรู้จักการจัดการและกลไกของตลาดให้ดี และไม่หวังพึ่งพาตลาดเป็นหลักแต่พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองมากกว่า

วิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือ วิสาหกิจชุมชนมีฐานคิดอยู่บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยยกตัวอย่างเพื่ออธิบายเรื่องนี้

วิสาหกิจชุมชนไม่ใช่กิจกรรมเดี่ยว ๆ ที่พอเริ่มต้นก็ทำเยอะ ๆ เพื่อมุ่งสู่ตลาดใหญ่ แต่เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ชุมชนคิดได้จากการเรียนรู้ จาการสำรวจวิจัยสภาพชีวิตของตนเองรวมทั้งศักยภาพและทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นทุนของตนเอง ที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา ยังไม่มีกระบวนการเพิ่มมูลค่าให้สิ่งเหล่านั้น กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ล้วนแต่เป็นการทำกิน ทำใช้ แทนการซื้อจากตลาด เป็นการจัดการระบบการผลิตและการบริโภคใหม่นั้นเอง เช่น จะจัดการเรื่อง ข้าวหมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา ผัก ผลไม้ น้ำปลา ยาสระผม สบู่ น้ำยาล้างจาน และข้าวของเครื่องใช้จำนวนมากซึ่งชุมชนทำได้เอง ผลติได้เอง โดยไม่ยุ่งยากอะไร แต่ไม่ทำเพราะคิดว่าจะหาเงินซื้อทุกอย่าง

การทำกินทำใช้ทดแทนการซื้อจากตลาดเท่ากับเป็นการลดรายจ่าย การลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องลดรายจ่าย เราเน้นเรื่องการเพิ่มรายได้โดยลืมไปว่า พอรายได้เพิ่มรายจ่ายก็เพิ่มและมักจะมากกว่ารายได้เสมอ ทำอย่างนี้จะไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่เสียหายหรือ น่าจะตรงกันข้าม คือ ทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ปรับฐานเศรษฐกิจใหม่ ฐานที่เป็นฐานจริงในชุมชน ถ้าชุมชนเข้มแข็งอยู่รอดพึ่งตนเองได้เศรษฐกิจของประเทศก็เข้มแข็งและอยู่ได้ ที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจโตแต่ข้างบน ข้างล่างอ่อนแอ ทำให้การพัฒนามีปัญหา ระบบเศรษฐกิจแบบหัวโตขาลีบไม่น่าจะยั่งยืน ต้องคิดแบบองค์รวมและมองภาพรวมของ สังคมทั้งหมด วิสาหกิจชุมชนจัดการการผลิตและการตลาดพอเพียงอย่างไรการจัดการเป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนต้องเรียนรู้ เรียนรู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ชุมชนทั้งตำบลมาร่วมกันวางแผนการผลิต การตลาด การบริโภคร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และที่สุดก็ทำซ้ำกันจนขายไม่ออกเหมือนทำกล้วยฉาบทั้งตำบล ทำแชมพูทุกหมู่บ้านแข่งขันกันขายหรือคนปลูกข้าวก็ปลูก ได้ข้าวมาก็เอาไว้กินส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ขายพ่อค้า พ่อค้าเอาไปแปรรูปแล้วเราข้าวสารกลับไปขายในหมู่บ้าน ชาวบ้านคนปลูกขายข้าวเปลือกราคาถูก ชาวบ้านที่ไม่ปลูกก็ไปซื้อข้าวสารราคาแพงจากตลาดมากิน ทำอย่างไรจึงจะตัดวงจรที่ว่านี้ และสร้าง "วงจรเศรษฐกิจชุมชน" ขึ้นมาใหม่เชื่อมโยงทุกเรื่องที่ทำได้ ข้าว ปลา อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ และทำแบบประสานพลัง (Synergy) และทำให้เกิดผลทวีคูณ คิดเชิงบวกยังน้อยไป ต้องคิดแบบทวีคูณ นี่คือลักษณะสำคัญของวิสาหกิจชุมชน มีตัวอย่างการคิดและทำแบบทวีคูณ หรือแบบวิสาหกิจชุมชนบ้างไม่หมู่บ้านส่วนใหญ่มักจะประกอบอาชีพหลัก ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ตำบลเขคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ปลูกยาง ปลูกปาล์มและทำการประมงชายฝั่ง มีรายได้จากกิจกรรม 3 อย่างนี้ปีละประมาณ 60 ล้าน บาท มีหนี้สิน ธ.ก.ส แห่งเดียว 94 ล้านบาท ถ้ารวมธนาคารอื่น ๆ สหกรณ์ นายทุน กลุ่มต่าง ๆ ทั้งหมดแล้วเป็นหนี้ร้อยกว่าล้านบาท มีรายจ่ายประมาณ 200 กว่าล้าน บาท ทำให้ชาวบ้านอยู่ในวังวนของหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกปีแบบไม่มีทางออก วันนี้ชาวบ้านเหล่านี้ได้เรียนรู้ ทำแผนแม่บทชุมชน และเข้าใสภาพาชีวิตของตนเองดี และเข้าว่าทำไม่จึงเป็นหนี้มากขนาดนั้น ตัดสินใจวางแผนทำวิสาหกิจชุมชน จากที่ทำ 3 อย่าง มาทำ 39 อย่าง จัดระบบเศรษฐกิจชุมชนใหม่หมด โดยใช้ "ทุน" ของชุมชนให้มากที่สุด ทำให้เกิดระบบอาหารระบบของใช้ ระบบทุน ระบบการผลิต ระบบการจัดการผลิต และระบบตลาดขึ้นมาระบบเหล่านี้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำดื่ม น้ำแข็ง ทำขนม การเลี้ยงวัว เป็ด ไก่ ให้ได้ เนื้อและไข่ การเลื้ยงปลา การปลูกผัก โรงงานผลิตยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ยาสระผม ผงซักฟอก สบู่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานปุ๋ย น้ำมันดีเซลปาล์ม กลุ่มออทรัพย์ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระบบสวัสดิการชุมชน การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปูนิ่มชุมชน ทุนเงินของชุมชนอาจจะไม่มาก แต่ทุนของชุมชนยังมีทรัพยากรความรู้ภูมิปัญญาและอื่น ๆ ซึ่งตีค่าเป็นเงิน หรือประเมินค่ามิได้ แต่ก็มีความสำคัญสำหรับวิสาหกิจชุมชน

สรุปว่าชุมชนให้ทุนตัวเองเป็นหลัก แต่ก็ต้องการทุนจากภายนอก เช่น จากหน่วยงานราชการ เอกชน หรือสถาบันการเงินเพื่อไป "สมทบ-เติมเต็ม" ให้ชุมชน

การตลาดของวิสาหกิจชุมชนทำอย่างไร

ประการแรก คือการทำเพื่อบริโภคในครอบครัวในชุมชน และระหว่างชุมชนที่เป็นเครือข่ายในระดับตำบลและระหว่างตำบล เช่น การผลิตน้ำปลาให้พอเพียงกับความต้องการของตำบลก็คำนวณได้ไม่ยาก เช่น ถ้าตำบลหนึ่งบริโภคประมาณ 20,000 ขวดต่อปี ก็จัดการผลิตให้ได้เท่านั้น ให้ชุมชนถือหุ้น และช่วยกันขายช่วยกันบริโภคภายในตำบล

ถ้าระหว่างตำบล ระหว่างจังหวัดก็แลกเปลี่ยนผลผลิตกันได้ ดังที่มีกานำข้างจากยโสธรไปแลกกับไม้ยางและขี้เลื่อยที่นครศรีธรรมราช (เพื่อเอามาเพาะเห็น) เป็นต้นประการที่สอง ถ้าหากมีผลิตภัณฑ์บางตัวที่เก่งพอทีจะออกไปสู่ตลาดใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องของกลไกการตลาดที่ต้องกรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีลักษณะเฉพาะ ดังกรณีน้ำหมากเม่าของเครือข่ายอินแปงที่ภูพานก็เริ่มจากการทำกินเองไม่กี่พันขวด ไม่กี่ปีก็เพิ่มผลผลิตไปหลายหมื่นขวดเพราะความต้องการของตลาดอยู่เฉย ๆ ก็มีพ่อค้าแม่ค้าขอซื้อไปจำหน่ายในตลาด มีขายแม้ในสนามบินสกลนครนอกจากกลไกของตลาดก็เป็นเรื่องของเครือข่ายผู้บริโภคที่เป็นชมรม สมาคมต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองซึ่งประสานกับชุมชนผู้ผลิตให้สินค้าจากหมู่บ้านเข้าไปสู่ตลาดเมืองด้วยความมั่นคงกว่าการไปแข่งขันกับผู้ผลิตอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ตรงนี้ต้องมีการจัดการโดยกระบวนการ "ประชาสังคม" ซึ่งในสังคมไทยยังคงต้องพัฒนากันอีกมา ที่ญี่ปุ่นมีกระบวนการนี้มานานที่เรียกกันว่า ไดอิจิ เชื่อมประสานระหว่างชุมชนในชนบทที่ผลิตกับชุมชนเมืองผู้บริโภคทำกันเป็นกระบวนการเป็นระบบ

สรุปว่า วิสาหกิจชุมชนมีกี่ประเภท

วิสาหกิจชุมชนอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) วิสาหกิจชุมชนพื้นฐาน อันได้แก่ การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกินเพื่อใช้ในชุมชน เพื่อให้ครอบครัวพึ่งตนเองได้ ให้ชุมชนเกิดความพอเพียงอย่างน้อยให้พออยู่พอกิน หรือพอกินพอใช้เมื่อลดรายจ่าย รายได้ก็เพิ่มขึ้น แปลว่า แม้ทำเพื่อกินเองใช้เองก็ทำให้เกิดรายได้เหมือนกัน และน่าจะดีกว่าอีก เพราะถ้ามุ่งแต่เพิ่มรายได้ โดยไม่เน้นการทำทดแทนการซื้อ เราก็จะมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งก็คือ ที่มาของปัญหาหนี้สินหรือสถานการณ์ "ชักหน้าไม่ถึงหลัง" ของผู้คนในขณะนี้

2) วิสาหกิจชุมชนก้าวหน้า อันได้แก่ การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดบริโภค และรวมไปถึงผลผลิตทั่วไปที่เหลือกินเหลือใช้ในท้องถิ่นที่นำออกสู่ตลาดบริโภค โดยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต หีบห่อ การตลาด และการจัดวางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถ "แข่งขัน" ได้อย่างไรก็ดี ชุมชนต้องไม่กระโดดข้ามขั้น ต้องพัฒนาจากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นก้าวหน้าที่ละขั้น

สรุปแล้ว ตลาดผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีกี่ประเภท

ตลาดอาจแบ่งได้เป็น 2 ตลาดใหญ่ คือ 1) ตลาดในท้องถิ่น ได้แก่ ตลาดในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านเครือข่ายชุมชน ตลาดนี้เรียกว่า "ตลาดเพียงพอ" และ 2) ตลาดทั่วไป ที่เรียกว่า "ตลาดบริโภค"

อย่างไรก็ดี ควรจะมีตลาดที่ 2 คือ "ตลาดผูกพัน" ตลาดนี้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานองค์กร สถาบัน ประชาสังคม ที่จะสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน โดยการตรงลงที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนหนึ่ง ตำบลหนึ่ง หรือเครือข่ายหนึ่ง ปีละจำนวนหนึ่ง เช่น รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งลงนามซื้อผ้าฝ้ายทอเอง ย้อมสีธรรมชาติจากกลุ่มแม่บ้านของตำบลหนึ่ง จำนวน 10,000 เมตรต่อปี เพื่อนำไปให้พนักงานตัดชุดไทยใส่ทุกวันศุกร์ หรือโรงพยาบาลแห่งหนึ่งตกลงซื้อข้าวกล้องกลุ่ม เกษตรกรแห่งหนึ่งปี หนึ่ง 10 ตัน เพื่อให้คนไข้รับประทาน เป็นต้น

วิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์อย่างไร

วิสาหกิจชุมชนทำให้ชุมชนมีระบบคิด ระบบจัดการที่ชัดเจน แยกแยะได้ว่า อะไรที่ทำเพื่อกินเพื่อใช้และอะไรที่เหลือกินเหลือใช้ และอะไรที่ดีพอที่จะเอาออกสู่ตลาดใหญ่ ตัวหลังนี่เองเรียกกันว่า "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" คือ ตำบลหนึ่งคัดเอาผลิตภัณฑ์ตัวเก่งที่สุดออกไปสู่ตลาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ถือว่าเป็น "พระเอก" หรือ "นางเอก" ที่ออกไปแล้วสู้ใครเขาได้เป็น

ผลิตภัณฑ์ที่ตำบลได้คัดเลือกแล้ว ชาวบ้านในตำบลมีความภูมิใจในผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีลักษณะเด่นเฉพาะพองตัวเอง มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของที่อื่น ๆ

วิสาหกิจชุมชนเกี่ยวอะไรกับกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท

เกี่ยวในแง่ที่ว่า ชุมชนมีแผนการจัดการทุนของตนเองอย่างเป็นระบบขึ้น เงินกองทุน 1ล้านบาทจากรัฐก็จะมีแนวทางการจัดการ นำไปเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะให้กู้ไปทำอะไรก็ได้แบบต่างคนต่างทำ นำไปร่วมทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนได้วางแผนเมื่อผ่านการเรียนรู้เงิน 1 ล้านบาทก็จะมีมูลค่าทวีคูณ

วิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับโครงการพักชำระหนี้อย่างไร

หนี้สินด้านหนึ่งเป็นปัญหาของความโกลาหลของชีวิตที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดความรู้เท่าทัน ขาดการจัดการที่ดี การเรียนรู้ทำแผนแม่บทและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็นกระบวนการจัดระเบียบชีวิตใหม่ระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของชุมชน เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้จักตัวเอง ชุมชน และโลก แล้วสืบค้นหาศักยภาพและทุน พร้อมกับทางเลือกใหม่ แล้วจึงพัฒนาศักยภาพและทุนเหล่านั้น

ด้วยวิธีการใหม่ที่เป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่ทำอะไรเดี่ยว ๆ และมุ่งเพียงแต่การเพิ่มรายได้ แต่เน้นการลดรายจ่ายซึ่งจะทำให้รายได้สูงขึ้น และจะมีเงินที่สามารถแบ่งไปใช้หนี้ได้

จุดแข็งของชุมชนเพื่อการทำวิสาหกิจชุมชนมีอะไรบ้าง

จุดแข็งของชุมชนมีอย่างน้อย 3 อย่างคือ

หนึ่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนยังมีป่า ดิน น้ำ ธรรมชาติที่มากด้วยสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตเป็นอาหาร เป็นยา เป็นของใช้ต่าง ๆ ถ้าหากค้นให้พบคุณค่า สิ่งเหล่านั้นก็จะมีมูลค่า ดูแลหญ้าแห้วหมู หญ้าคา หญ้าแพรก ซึ่งคนยุคใหม่วันนี้เรียกกันว่า "วัชพืช" และพยายามทำลายด้วยสารเคมีก็ล้วนมีคุณค่าเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดัน ยอดหญ้าแพรกยังเอามาชุบแป้งทอดกันได้ และวัสดุดีที่สุดมาจากธรรมชาติ และธรรมชาติของไทยในเขตร้อนชื้นก็อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้ว่าจะหายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า แต่ก็ยังมีเหลืออยู่ไม่น้อย และหารู้จักค้นหานำมาประยุกต์และผสมผสานก็อาจได้สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าและมูลค่า

สาม เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แม้ว่าอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีเพียงพอให้ฟื้นขึ้นมาจนสามารถพึ่งพาอาศัยกัน ร่วมกันจัดการองค์กรชุมชนและเครือข่ายในเชิงเศรษฐกิจร่วมกันจัดการทรัพยากรผลผลิตต่าง ๆ แบ่งกันผลิและร่วมกันบริโภค กาผลิตของกิน

ของใช้จะได้ไม่ล้นตลาด เกิดความพอเพียงชุมชนพึ่งตนเองได้

พูดอีกนัยหนึ่ง ชุมชนมี "ทุน" สำคัญ ๆ อยู่ 3 ทุน ซึ่งเป็นจุดแข็งของตนเอง คือ 1) ทุนทรัพยากร 2) ทุนทางวัฒนธรรม 3) ทุนทางสังคม

การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนวันนี้ใครทำอะไรอย่างไรบ้าง

ร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการ พ.ร.บ ฉบับนี้ส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนทั้งการเรียนรู้ ทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรา การภาษีและอื่น ๆ

วันนี้ได้เริ่มมีมาตรา การส่งเสริมสนับสนุนโดย ธ.ก.ส ซึ่งจัดเตรียมทุนไว้ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทอย่างไรก็ดี แม้ยังไม่มี พ.ร.บ

ฉบับนี้ทุกฝ่ายก็สามารถส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้ เช่น การปรับโครงการสร้างและระบบการดำเนินงานขององค์กรของรัฐ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เช่น การจัดการเรื่องโรงเรียน การจัดซื้อข้าวของต่าง ๆ ตั้งแต่นมเด็ก อาหารกลางวัน เสื้อผ้านักเรียน ล้วนแต่สามารถโยงไปถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนได้หรือการจัดการทาการเกษตร พันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ ปลา และอื่น ๆ หน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทุกแห่งล้วนแต่ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้หลากหลายรูปแบบและวิธีการ ตั้งแต่เสื้อผ้า (เอาแค่ให้ครู นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการหลายคนแต่งกายอาทิตย์ละครั้งด้วยผ้าพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น) ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้ อาหารต่าง ๆ ที่ผลิตโดยชุมชน เหล่านี้ถ้าหากมีการปรับโครงสร้างและจัดระบบที่โปร่งใสกระจายอำนาจ (Good government) วิสาหกิจชุมชนก็เกิดได้และมั่นคงยืนยาว

โครงสร้างและระบบแบบนี้เกิดได้ถ้าหากเกี่ยวข้องกับนโยบายภาพรวมแบบองค์รวมและบูรณาการหรือมีการคิดแบบประสานพลัง (Synergy) ผลก็จะเกิดกับสังคมไทยเป็นทวีคูณ

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน คืออะไร

สถาบันแห่งนี้เป็นองค์การร่วมหรือโครงการร่วม (Joint Programmer) ระหว่างมูลนิธิหมู่บ้าน ธ.ก.ส ปตท. และ สวทช. (สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) เป็นการประสานพลังทำงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนโดยอาศัยศักยภาพของทั้ง 4 องค์กรนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและการจัดการต่าง ๆ อย่างครบวงจร

มูลนิธิหมู่บ้านทำงานกับชุมชนและกลุ่มเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ มีข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชนและวิสาหกิจชุมชน

ธ.ก.ส มีสาขาและเครือขายชุมชนและกลุ่มเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ มีบุคลากรมีประสบการณ์และมีทุนในการส่งเสริม

อุตสาหกรรมและธุรกิจชุมชนโดยเฉพาะในด้านการเกษตร

ปตท. มีความรู้และประสบการณ์การบริหารจัดการ มีทุน และมีสถานีบริการน้ำมันอยู่กว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ เป็นที่ประชาสัมพันธ์และเป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์บางอย่างของวิสาหกิจชุมชนได้

สวทช. มีความรู้ ประสบการณ์ และสามารถเชื่อมประสานบุคลากรที่เป็นอาจารย์ในสภาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อร่วมกันตอบสนองวิสาหกิจชุมชนในส่วนที่ต้องการข้อมูลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ สถาบันยังร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เช่น กระทรวงกลาโหม โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทำแผนแม่บทชุมชนทำนองเดียวกัน นอกนั้นยังร่วมมือกับสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติทำให้เกิดศูนย์ไอทีตำบล โดยการร่วมมือกันทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในโรงเรียนและ การพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน

สถาบันนี้จะส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอย่างไร

1. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การทำแผนแม่บทให้ครบทุกตำบล เพราะเชื่อว่าการทำแผนแม่บทเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ที่นำไปสู่การพัฒนาวิสากิจชุมชน และส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้หลังการทำแผนแม่บท เฉพาะเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการบริหารจัดการ

2. ส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจรากหญ้าที่เชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับ ตำบล ระหว่างตำบล จังหวัด และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนอื่น ๆ และเศรษฐกิจมหาภาค

3. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนโยบาย เพื่อให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของวิสาหกิจ

ชุมชน และร่วมกันให้การส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การปรับนโยบาย โครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาและการดำเนินการวิสาหกิจชุมชน

สถานที่ติดต่อ

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

C/O ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

469 ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

โทร.02-280-0180 ต่อ 3327,02-281-7655

โทรสาร 02-281-7655

ทีมา: อาจารย์วิชิต ธาตุเพ็ชร

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการ

วิสาหกิจชุมชน คือ อะไร

วิสาหกิจชุมชน คือ กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพันกัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการ

เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน คือ คณะบุคคลที่รวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่าย

เป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วได้อะไร ?

ได้รับการรับรองตามกฎหมาย

ได้รับประเมินศักยภาพ ทำให้ทราบระดับความเข้มแข็งและความต้องการที่แท้จริง สามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้ตามความพร้อมของตน

มีสิทธิได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดและตรงกับความต้องการของชุมชน

ไม่เป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วเสียอะไร ?

การรวมกลุ่มไม่ได้รับการรองรับตามกฎหมาย

ไม่สามารถขอรับการส่งเสริม สนับสนุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

การยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

รวมกลุ่มคนในชุมชน ไม่น้อยกว่า 7 คน และไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

กลุ่มคนที่รวมตัวกันต้องมีความตั้งใจประกอบอาชีพร่วมกัน 1 อย่าง หรือหลายอย่าง

ร่วมกันจัดทำแผนวิสาหกิจชุมชน หรือกิจการของวิสาหกิจชุมชนที่มีความสอดคล้องกับแผนชุมชน

ในการยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนต้องเตรียมหลักฐานดังนี้

กรณีไม่เป็นนิติบุคคล

หนังสือให้ความยินยอมของสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือสำเนามติที่ประชุมมอบหมายบุคคลมาจดทะเบียน

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทน

ทะเบียนรายชื่อและที่อยู่ของสมาชิกพร้อมสำเนาบัตรประชาชน

สำเนาข้อบังคัญของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (เฉพาะกรณีจดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน)

กรณีเป็นนิติบุคคล

สำเนาเอกสารแสดงวัตถุประสงค์ ระเบียบ หรือขัอบังคับของนิติบุคคล

สำเนาบัญชีรายชื่อคณะกรรมการดำเนินการ

สำเนามติคณะกรรมการดำเนินการหรือมติที่ประชุมใหญ่ให้จดทะเบียน

ทะเบียนรายชื่อและที่อยู่ของสมาชิก

สำเนาข้อบังคับของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (เฉพาะกรณีจดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน)

ในแบบคำขอจดทะเบียนต้องการข้อมูล ดังนี้

ชื่อวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายฯ ที่ขอจดทะเบียน

ที่ตั้ง

ชื่อที่อยู่ของสมาชิกผู้มีอำนาจทำการแทน

จำนวนสมาชิก

กิจการ/กิจกรรมที่ประสงค์จะดำเนินการ

วิสาหกิจชุมชนมอบหมายสมาชิกเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนเพื่อยื่นคำขอ

รับแบบจดทะเบียน (สวช.01)

ยื่นแบบพร้อมเอกสาร

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐาน มอบใบรับรองเรื่อง (ท.ว.ช.1)

นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสาร

ไมีมีผู้คัดค้าน

ปิดประกาศ 7 วัน

ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน (ท.ว.ช.2)

และเอกสารสำคัญแสดงการดำเนินกิจการ (ท.ว.ช.3)

จดทะเบียนได้ที่ไหน.....

การส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตนั้นง่าย แต่ให้ขายได้ขายดีนั้นยาก ขายไม่ออกก็เจ๊ง คนเจ๊งคือชาวบ้านไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ไปส่งเสริม

วันนี้มี OTOP เต็มไปหมด อะไรที่ออกจากหมู่บ้านเรียกโอทอปกันทั้งนั้น แทบจะหนึ่งหมู่บ้านหลายผลิตภัณฑ์ไปแล้ว งานแสดงสินค้าโอทอปก็มีไม่ขาด พลาดงานนี้ก็มีงานใหม่ แต่ปัญหาผลผลิตล้นตลาดก็ยังแก้ไม่ได้ ผ้าไหมผ้าฝ้าย สมุนไพร ไวน์ท้องถิ่น หัตถกรรมสารพัด ข้าวปลา สุราพื้นบ้าน อาหารแปรรูป ปลายปีที่แล้วโฆษณาว่ามีเป็นล้านชิ้น

วันนี้กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มชาวบ้านหลายแห่งเริ่มท้อ หลายกลุ่มเลิกไป อย่างกลุ่มที่จดทะเบียนผลิตสุราพื้นบ้านตั้งแต่กลางปี 2545 มีจำนวนประมาณ 1,200 กลุ่มทั่วประเทศ หนึ่งปีต่อมาเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ คือเหลือไม่ถึงร้อยกลุ่มเท่านั้น

ปัญหาสำคัญของโอทอปเป็นปัญหาเก่าที่เอามาเล่าใหม่ หรือเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ คือ ตั้งโจทย์ผิด จะทำอะไรทีก็ตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไร" มีเทคนิควิธีการอะไรดีๆ มีสูตรสำเร็จอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะทำได้เยอะๆ เพื่อจะได้ขายมากๆ ไม่ได้ถามว่า "ทำไปทำไม"

ส่วนใหญ่ เริ่มต้นก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตเพื่อขายในตลาดใหญ่ จะรวยเลยว่างั้น วิ่งหาตลาดกันหน้าดำคร่ำเครียด ทะเลาะกันแทบจะฆ่ากันตายเพราะแย่งกันไปขายที่อิมแพคเมืองทองธานีหรืองานใหญ่ๆ ที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะงานที่ไม่ต้องเสียค่าบูธ

ที่ตั้งโจทย์กันผิดก็เพราะหน่วยงานที่ส่งเสริมคิดแบบแยกส่วน คิดเป็นเรื่องๆ ตามหน้าที่ของหน่วยงานของตนเอง ซึ่งความจริงมีอยู่หลายหน่วย ทับซ้อนและแข่งขันกัน อ้างความเป็น "เจ้าของ" กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ที่มีโอทอปดีๆ ทั้งๆ ที่ก็เป็นหมู่บ้านเดียวกัน และชาวบ้านก็คนเดียวกัน เพียงแต่ใส่เสื้อวันละสีเพื่อให้เข้ากับหน่วยงานที่ไปส่งเสริมเท่านั้น

นอกจากคิดแบบแยกส่วนแล้ว ยังไม่มีแผนอะไรมากไปกว่าการผลิต ส่วนการตลาดนั้นให้ "ไปตายเอาดาบหน้า" ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ตายตามความตั้งใจ

จะมีสักกี่รายที่ขายดีจน "ผลิตไม่ทัน" ก้าวไกลไปถึงส่งออก เพราะที่ส่งออกได้ก็เพราะการดำเนินการโดยข้าราชการบางคนที่หาลำไพ่พิเศษ อาศัยหน่วยงานตนเองทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน และบริษัทเอกชน นักธุรกิจที่ "ต่อยอด" (รวมทั้ง "เด็ดยอด" ในบางกรณี)

โอทอปวันนี้อาจจะมี "ล้านชิ้น" แต่ที่เป็น "นวัตกรรม" จริงๆ มีสักกี่ชิ้น ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่เป็นอะไรที่เลียนแบบกันมากกว่า แชมพูดอกอัญชัน มะคำดีควายไปไหนก็เจอ แต่ก็ไม่เห็นมีสูตรอะไรพิเศษไปกว่าของคนอื่น ต่างกันแต่ขวดและข้อความข้างขวดเท่านั้น

ที่พอจะเรียกโอทอปจริงๆ ก็เป็น "มรดก" เก่าแก่ดั้งเดิมของท้องถิ่นที่เอามาปรับประยุกต์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น จะเรียกว่าเอาของเก่ามาขายกินก็ไม่ผิดนัก ยังหาโอทอปนวัตกรรมจริงๆ น้อยเกินไป เพราะจะเกิดนวัตกรรมได้ก็ต่อเมื่อมี "การเรียนรู้" ไม่ใช่ "การเลียนแบบ" อย่างที่ทำกันวันนี้

ถ้าจะส่งเสริมโอทอปให้เป็น "วิสาหกิจชุมชน" ไม่ใช่ "ธุรกิจชุมชน" ก็ต้องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เรียนรู้เทคนิคอย่างเดียว แต่เรียนรู้วิธีคิด วิธีวางแผน วิธีทำแผนพัฒนาชุมชนทั้งหมด ทำกันทั้งกระบวน อย่างมีแบบมีแผน อย่างมีข้อมูล ใช้ความรู้ ไม่ใช้ความเห็นหรือความอยาก เห็นใครทำอะไรแล้วรวยก็จะเอาอย่างเขาบ้าง

ถ้าโอทอปเป็นผลของวิสาหกิจชุมชน โอทอปต้องมาจากกระบวนการเรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ไม่มีแผนแม่บทชุมชนเป็นฐาน ไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ไม่เอาการพึ่งพาตนเองเป็นเป้าหมาย โอทอปก็ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ธุรกิจชุมชนทั่วไป เป็น SME ที่คนในชุมชนบางคนหรือนักธุรกิจจากนอกชุมชนเข้าไปจัดการและดำเนินการแบบธุรกิจ

คนที่ได้กำไรได้ประโยชน์จากโอทอปจริงๆ กลายเป็นพ่อค้าที่มีความรู้ ทุน ตลาด ส่วนชาวบ้านก็ยังคงเป็นแรงงานถูกๆ อยู่เหมือนเดิม ไม่ได้อะไรที่ควรได้จากความรู้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น

วิสาหกิจชุมชน การประกอบการที่ดำเนินการโดยกลุ่มชาวบ้านในชุมชนไม่ได้ปฏิเสธตลาด ไม่ได้ปฏิเสธการส่งออกไปขายในตลาดใหญ่ รวมทั้งต่างประเทศ แต่วิสาหกิจชุมชนต้องมีฐานคิดที่หนักแน่น มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก เมื่อมีฐานแน่น จะทำ "ธุรกิจ" ต่อไปก็ไม่มีปัญหา ไม่เสี่ยงจนเกินไป และถ้าหากพลาดพลั้งขายไม่ได้ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ไม่ใช่เป็นหนี้เป็นสินแทบจะล้มละลายอย่างที่หลายกลุ่มกำลังเผชิญวันนี้

การทำวิสาหกิจชุมชนเป็นการสร้างฐานที่นำไปสู่การผลิตโอทอปได้ และจะเป็นโอทอปที่มาจากการเรียนรู้ ไม่ใช่เลียนแบบ เป็นนวัตกรรม เป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ที่มีคุณค่าและมูลค่า

โอทอปที่มาจากระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องหากินแต่กับของเก่าอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะถ้ามีการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นบนฐานภูมิปัญญา อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และได้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อน จะเกิดสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ เหมือนโออิตะ ต้นตำรับโอทอปซึ่งเป็นต้นแบบ "วิธีคิด" ดังกล่าว ที่มะนาวลูกเดียวทำได้ 500 อย่าง หรือเครือข่ายอินแปงที่สกลนคร ยมนาที่นครศรีธรรมราช เป็นต้น

นอกจากนั้น กระบวนการเรียนรู้ การทำแผนแม่บทชุมชน ทำให้ชุมชนแยกแยะได้ว่า พวกเขาจะผลิตอะไรเพื่อการบริโภคภายในชุมชน ในตำบล ในเครือข่ายท้องถิ่น จะผลิตอะไรออกไปขายตลาดภายนอก อย่างแชมพู น้ำยาล้างจาน สมุนไพร ปุ๋ยชีวภาพ น้ำปลา และอื่นๆ ที่ต้องกินต้องใช้ทุกวัน พวกเขาก็ทำกินเองใช้เองเพื่อลดรายจ่าย ซึ้งเท่ากับเพิ่มรายได้

ถ้าบางแห่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีคุณลักษณะพิเศษก็อาจจะผลิตออกไปขายข้างนอกได้ เพราะเชื่อว่าไปแข่งขันกับของคนอื่นได้

การทำงานอย่างมีแบบมีแผนเช่นนี้ไม่มีการตลาดแบบ "ไปตายเอาดาบหน้า" อย่างแน่นอน เพราะการทำแผนแม่บทชุมชนเป็นการจัดระเบียบชีวิตของชุมชนใหม่ จัดระเบียบการผลิต การบริโภค การตลาด การลงทุน ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบสุขภาพ และระบบย่อยอื่นๆ ที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ออกจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์เข้าสู่วัฒนธรรมข้อมูลและความรู้

การจัดระเบียบชีวิตเช่นนี้ชุมชนต้องพัฒนาตนเองไปเป็น "มืออาชีพ" มากยิ่งขึ้น จะคิดว่า "ยังไงก็ได้" ไม่ได้แล้ว สังคมวันนี้เปลี่ยนไป มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ ไม่เป็นมืออาชีพอยู่ไม่ได้ ต้องเรียนรู้และจัดการชีวิตให้เป็นเพราะชีวิตในชุมชนเองก็ไม่ได้เรียบง่าย จะพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว

สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ที่ส่งเสริมโอทอปต้องทำวันนี้ไม่ใช่ไปบอกชาวบ้านให้ผลิตเยอะๆ แต่ไปช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้การจัดการชีวิตของตนเองก่อน เรียนรู้จักคิดก่อนจะรู้จักทำ ถามตัวเองก่อนว่า "ทำไปทำไม" ก่อนจะถามว่า "ทำอย่างไร" ถ้าคิดถูกก็จะทำถูก

วันนี้ตำบลต่างๆ กำลังเริ่มทำแผนแม่บทชุมชน ถ้าทำได้ดีมีประสิทธิภาพ ชาวบ้านก็จะได้เรียนรู้และอยู่อย่างมีแบบมีแผน ตำบลจะเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา โดยชุมชนเป็นผู้วางแผนและเป็นผู้ดำเนินการหลักในทุกขั้นตอน มีหน่วยงานราชการ เอกชน วิชาการ และอื่นๆ จากภายนอกไปช่วยให้การส่งเสริมสนับสนุน

นี่คือหัวใจของแผนฯ ๙ และแนวคิดที่ว่าด้วยการพัฒนาบูรณาการ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และทุกฝ่ายประสานพลังกันทำงานไม่แบ่งเขาแบ่งเราอีกต่อไป

เมื่อทุกตำบลมีแผนแม่บทของตนเองแล้ว พวกเขาจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ "สมบัติ" ผลัดกันชมของหน่วยงานต่างๆ อีกต่อไป และคงถึงเวลาที่ชุมชนจะต้องเลิกกลุ่มที่ใส่เสื้อสีต่างๆ ที่หน่วยงานของรัฐอ้างเป็น "เจ้าของ" เลิกระบบอุปถัมภ์และระบบไม้ในกระถาง ทุบกระถางทิ้ง และให้ไม้ลงดิน จะได้เติบโตเป็นไม้ใหญ่เกิดดอกออกผล เป็นตัวของมันเอง

ถึงเวลาคืนงานพัฒนาให้ชุมชน ให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพของตนเอง

เมื่อเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ก็เป็นอิสระทางความคิด คนที่เป็นอิสระทางความคิดสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังกรณีชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศวันนี้