นมแมว

นมแมว

นมแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauwenhoffia siamensis Scheff.[3] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melodorum siamense (Scheff.) Bân[1]) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรนมแมว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำจ้อย (ยโสธร), ตราแป (มลายู) เป็นต้น[1],[6]

ลักษณะของนมแมว

    • ต้นนมแมว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยไม่ผลัดใบ เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านได้มาก เกิดเป็นพุ่มใหญ่ ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมสีเหลือง เนื้อไม้มีความเหนียวมาก กิ่งอ่อนมีขนลักษณะเป็นรูปดาวสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ควรปลูกในพื้นที่ชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบน้ำปานกลาง และแสงแดดปานกลางถึงร่มรำไร ต้นนมแมวเป็นพืชเฉพาะถิ่น มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบขึ้นในป่าดิบ ตามชายป่าชื้น และตามป่าเบญจพรรณทางภาคกลางและภาคใต้[1],[2],[3],[4]

    • ใบนมแมว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22.5 เซนติเมตร[1],[2]

    • ดอกนมแมว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด กลีบดอกหนา มีกลีบ 6 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 ดอก มีขนปกคลุม กลีบนอกเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร ส่วนกลีบในคล้ายกับกลีบนอก แต่จะมีขนาดเล็กกว่า กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ดอกจะส่งกลิ่นหอมในช่วงเย็น และมีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ส่วนกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกเป็นสีเขียวมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปไข่กว้าง ปลายมน มีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะให้ดอกดกที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[3],[5]

    • ผลนมแมว ออกผลเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี และมีตุ่มปลายผลคล้ายกับเต้านมของแมว ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง เปลือกผลนิ่ม มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้โดยจะมีรสหวาน และภายในผลมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด[1],[5]

สรรพคุณของนมแมว

    1. เนื้อไม้และรากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ[4] ไข้หวัด ไข้ทับระดู และไข้เพื่อเสมหะ (เนื้อไม้และราก)[6],[7]

    2. รากนมแมวใช้ผสมกับรากหนามพรมและรากไส้ไก่ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกได้ดีมาก (ราก)[1]

    3. คนสมัยก่อนจะใช้ยอดใบอ่อนประมาณ 5-7 ใบผสมกับน้ำปูนขาวและน้ำ แล้วขยี้ส่วนผสมทั้งหมดจนแตกเป็นเนื้อละเอียดจนเป็นฟองสีเหลือง แล้วนำมาทาบริเวณท้อง จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กเล็กได้ (ใบ)[6]

    4. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี (ราก)[1]

    5. รากนมแมวนำมาตำผสมกับน้ำปูนใส ใช้ทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[1]

    6. ผลนำมาตำผสมกับน้ำใช้ทาแก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย (ผล)[6]

    7. รากใช้เป็นยาแก้โรคผอมแห้งของสตรีอันเนื่องมาจากคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)[4]

    8. ตามความเชื่อของคนโบราณจะใช้ยอดใบอ่อนประมาณ 5-7 ใบนำมาผสมกับน้ำปูนขาวและน้ำพอประมาณ แล้วขยี้เป็นเนื้อละเอียดแตกเป็นฟองสีเหลือง ใช้ทารอบเต้านม จะช่วยทำให้เด็กที่หย่านมยาก หย่านมได้ เพราะใบอ่อนของต้นนมแมวนั้นมีรสขม ซึ่งทำให้เด็กไม่ชอบ และทำให้หย่านมได้ง่าย (ใบ)[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของนมแมว

    • จากรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าต้นนมแมวมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เป็นพิษต่อเซลล์ แต่ยังไม่พบรายงานเรื่องความเป็นพิษในคนและในสัตว์ทดลอง[7]

    • นมแมวมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase ซึ่งเป็นเป้าหมายในการรักษาเอดส์ แต่เป็นการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น[8]

ประโยชน์ของนมแมว

    1. ผลสุกมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้[1],[2]

    2. ดอกมีน้ำมันหอมระเหย นำมาแช่กับน้ำไว้ล้างหน้าจะช่วยทำให้สดชื่น[6]

    3. น้ำมันหอมระเหยจากดอกมีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารและเครื่องสำอางได้[4] ซึ่งในอดีตดอกนมแมวมีการนำมาใช้แต่งกลิ่นขนมไทยเพื่อให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนมที่ใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิ เช่น ขนมจำพวกลอดช่อง เป็นต้น ซึ่งความนิยมใช้กลิ่นของดอกนมแมวในอดีตนั้นมีมากจนเกิดผลผลิตที่เป็นน้ำหอมกลิ่นดอกนมแมวออกวางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนมไทยโดยเฉพาะ โดยมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “น้ำนมแมว” ซึ่งก็หมายถึงน้ำหอมกลิ่นดอกนมแมวนั่นเอง และไม่ใช่น้ำนมของแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าจะยังมีขายอยู่หรือไม่ เพราะความนิยมใช้น้ำนมแมวเพื่อปรุงกลิ่นหอมของอาหารนั้นลดลงมากกว่าในอดีตหลายเท่านัก เพราะคนในยุคปัจจุบันจะหันไปใช้กลิ่นของดอกไม้จากต่างประเทศกันมากขึ้น และนอกจากจะใช้แต่งกลิ่นอาหารหรือขนมแล้วยังนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอางอีกด้วย[3]

    4. ดอกนมแมวมีขนาดเล็ก พกพาติดตัวได้ง่ายและไม่ชอกช้ำเพราะมีกลีบดอกหนา ให้กลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว จึงเหมาะสำหรับใช้ห่อผ้าหรือผูกผมคล้ายกับดอกจำปี[3]

    5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ สถานที่ราชการ หรือตามบริเวณบ้าน ฯลฯ เพาะปลูกดูแลได้ง่าย ทนทาน มีอายุยืน น้ำท่วมก็ตาย อีกทั้งดอกมีกลิ่นหอมสดชื่น และออกดอกได้ตลอดทั้งปี จึงนิยมปลูกกันมากในที่ราบลุ่มทางภาคกลาง[2],[3]

เอกสารอ้างอิง

    1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “นมแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [26 มี.ค. 2014].

    2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “นมแมว”. (วีระชัย ณ นคร).

    3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 282 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นมแมว ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [26 มี.ค. 2014].

    4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “นมแมว”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [26 มี.ค. 2014].

    5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นมแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [15 ก.พ. 2014].

    6. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ต้นนมแมว (ต้นตราแป)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [26 มี.ค. 2014].

    7. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ต้นนมแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [26 มี.ค. 2014].

    8. วิชาการดอทคอม. “สมุนไพรเด้อคับ”. (pharmaceutical scientist). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com. [26 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.qsbg.org, www.biogang.net (by jawkancha, mobio), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)