พันธุ์ไม้น้ำ

cabomba

พรรณ ไม้น้ำหรือพืชน้ำ (Aquatic plants) หมายถึงพืชที่อยู่ในน้ำโดยอาจจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดหรือ โผล่บางส่วนขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ หรือเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ชายตลิ่ง นอกจากนี้ก็ยังรวมถึงพืชที่เจริญเติบโตอยู่ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขังหรือที่ ชื้นแฉะอีกด้วย

การจัดตู้ปลาในปัจจุบันนั้นมักจะมีการตกแต่งด้วย พรรณไม้น้ำควบคู่กันไปกับการเลี้ยงปลาจึงจะจัดว่าเป็นตู้ที่ทันสมัยและมี ความงามในธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากในสภาพแวดล้อมธรรมชาตินั้น พรรณไม้น้ำและปลาจะอาศัยอยู่ร่วมกัน การปลูกประดับพรรณไม้น้ำในตู้ปลาออกจากจะเพิ่มความสวยงามความมีชีวิตชีวาให้ กับตู้ปลาแล้ว พรรณไม้น้ำและปลายังเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยพรรณไม้น้ำจะช่วยขจัดของเสียที่ขับถ่ายออกจากตัวปลา ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโตและนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการ หายใจของปลา ไปใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การปลูกพรรณไม้น้ำในตู้ปลาจะช่วยลดปริมาณของเสีย และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปลาไม่ต้องการ ผลจากการสังเคราะห์แสงของพรรณไม้น้ำจะได้แก๊สออกซิเจนซึ่งปลานำไปใช้ในการ หายใจได้ต่อไป จากจุดเริ่มต้นที่ใช้พรรณไม้น้ำประดับตู้ปลาให้ความสวยงามเพิ่มขึ้น พัฒนาไปจนกระทั่งเป็นงานศิลปการจัดสวนใต้ ซึ่งจัดเป็นงานอดิเรกชนิดใหม่เกิดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก

Egeria

พรรณ ไม้น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประดับตู้ปลา และจัดชนิดพรรณไม้น้ำมีมากกว่า 250 ชนิด พรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยมส่วนใหญ่มักมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศในทวีปอัฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยม หลายชนิดอีกทั้งภูมิประเทศของประเทศไทยมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่ขยาย พันธุ์ของพรรณไม้น้ำหลายชนิด เพราะไม่เพียงแต่เฉพาะพรรณไม้น้ำของไทยเท่านั้นที่สามารถแพร่พันธ์ได้ พรรณไม้น้ำต่างประเทศอีกหลายชนิดที่นำเข้ามาก็สามารถเจริญเติบโตแพร่ขยาย พันธุ์ได้ดีในประเทศไทยซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของพรรณไม้น้ำตามลักษณะการเกิด ของใบดังนี้

ROSETTE PLANTS เป็นพรรณไม้น้ำกลุ่มที่มีใบแตกออกจากรอบ ๆ โคนต้น ชนิดที่นิยมและปลูกได้ดีในตู้ได้แก่ สกุล Aponogeton, Anubias, Cryptocoryne, Crinum, Nymphea, Echinodorus, และ Vallisneria เป็นต้น

STEM PLANT เป็นพรรณไม้น้ำกลุ่มที่มีใบเกิดตามข้อ ชนิดที่นิยมและปลูกได้ดีในตู้ ได้แก่ สกุล Cabomba, Hygrophila, Atternanthera, Nomaphila, Egeria, Ludwigia, Bacopa, Myriophyllum, Rotala และ Ammannia เป็นต้น

กลุ่มอื่น เช่น พวกลอยน้ำ ได้แก่ กระจับ จอก แหน กลุ่มของเฟิร์นที่นิยมมากคือ รากดำใบยาว และกลุ่มของมอส ที่นิยมมากคือ ชวามอล

ใน ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำ และการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดพรรณไม้น้ำที่มีลักษณะรูปร่าง และมีสีสันแตกต่างกันมากมาย การผลิตพรรณไม้น้ำนั้นมีทั้งแบบดั้งเดิม คือ ปลูกบนดินในที่โล่ง และแบบพัฒนาในโรงเรือนปิด มีการนำเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ของพืชบกมาใช้เช่นวิธีการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบันสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้นำเทคนิคการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne บางชนิดซึ่งมีการเก็บรวบรวมจากธรรมชาติ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ

พรรณไม้น้ำสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีคล้ายพืชบกดังนี้

การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการใช้เมล็ด เช่น สันตะวา, ชบา, แอมมาเนีย, อเมซอน และทับทิม

การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ

ขยายพันธุ์โดยการเกิดสปอร์ เช่น รากดำใบยาว และเฟิร์นน้ำ

ขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ได้แก่

ลำต้น โดยการตัดลำต้นระหว่างข้อปักลงบนดิน หรือพื้นกรวดขนาดเล็ก เช่น แอมมาเนีย, โรทาล่า หรือทับทิม, ขาไก่, สาหร่ายฉัตร, สาหร่ายเดนซ่า, สาหร่ายหางกระรอก, หลิวน้ำ, น้ำตาเทียน และลานไพลิน เป็นต้น

หน่อ ไหล เหง้า โดยการแยกต้นอ่อนที่เกิดขึ้นจากหน่อ ไหล เหง้า ไปปลูกบนพื้นดินหรือพื้นกรวด เช่น อะนูเบียส, แซกจิทาเรีย, เทป, โลบิเลีย และบัวชนิดต่าง ๆ

Rotala

การปลูกพรรณไม้น้ำในแปลงเพาะขยายพันธุ์

การ ปลูกแบบครึ่งน้ำ โดยทั่วไปพรรณไม้น้ำส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในที่ชื้นแฉะ พรรณไม้น้ำสวยงามส่วนมากเป็นพืชชายน้ำ การเพาะขยายพันธุ์จะปลูกในแปลงที่มีวัสดุปลูกเป็นดินหรือกรวดขนาดเล็ก มีน้ำท่วมแค่โคนต้น บ่อปลูกอาจเป็นบ่อซีเมนต์เตี้ย หรือกระบะ มีตาข่ายพรางแสงประมาณ 40-60% ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำ มีระบบน้ำหยดสปริงเกอร์ หรือใช้ฝักบัวรดน้ำเป็นระยะ ช่วยให้ความชุ่มชื้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์

การปลูกพรรณไม้น้ำแบบไร้ดิน ได้แก่การปลูกในกระถางคล้ายตะกร้าพลาสติกขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุปลูกเป็นแร่ใยหิน (Rock wool) ซึ่งมีคุณสมบัติอมน้ำ นุ่มไม่เปื่อยง่าย ไม่เกาะกันเป็นก้อน พรรณไม้น้ำที่ปลูกในกระถางจะแช่ไว้ในบ่อหรือกระบะที่มีน้ำ มีการให้ปุ๋ยโดยเติมลงไปกับน้ำ

การปลูกพรรณไม้น้ำแบบใต้น้ำในบ่อดิน วิธีนี้จะใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำจำพวกสาหร่าย เช่น การปลูกสาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก และสาหร่ายเดนซ่า โดยการตัดลำต้นมาปักชำในวัสดุปลูกที่เป็นดิน แล้วจึงเด็ดยอดไปจำหน่าย หรือการปลูกต้นเทป ในบ่อน้ำที่มีกรวดเป็นวัสดุปลูก เทปจะขยายออกทางด้านข้างแตกออกเป็นไหลเกิดต้นใหม่

การปลูกพรรณไม้น้ำ แบบพัฒนา ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงกันในโรงเรือน (Green house) ซึ่งควบคุมความชื้น แสงสว่าง และปุ๋ยได้โดยอัตโนมัติ สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ ระบบการปลูกมักจะใช้วิธีการปลูกแบบไร้ดินในกระถางขนาดเล็กคล้ายตะกร้า ใช้ Rock wool เป็นวัสดุปลูก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากสะดวกต่อการทำงาน สามารถกำหนดปริมาณได้แน่นอน และมีความสะอาด

การปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อหรือการชำน้ำ

พรรณ ไม้น้ำที่ได้จากแปลงเพาะปลูกครึ่งบกครึ่งน้ำส่วนใหญ่จะต้องนำมาปักชำในน้ำ เพื่อให้ลำต้นและใบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีสันให้มีความอ่อนช้อยสวยงาม ยิ่งขึ้น ในการปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อน้ำ หรือที่เรียกว่าการชำน้ำ มีขั้นตอนดังนี้

Echinodorus

การเตรียมบ่อ

ใส่กรวดขนาดเล็กประมาณ 2- 3 มิลลิเมตร ที่ล้างสะอาดลงในบ่อที่เก็บกักน้ำได้ ถ้ากรวดไม่สะอาดจะทำให้น้ำขุ่น ตะกอนดินจะจับที่ใบทำให้ไม่สวยและไม่สามารถนำไปจัดในตู้ปลาได้ ใส่กรวดหนาประมาณ 3-4 นิ้ว

เติมน้ำระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงจากกรวด และน้ำต้องใสสะอาด

การปลูก

นำพรรณไม้น้ำที่เด็ดยอดออกมาจากต้นแม่ ขนาดความยาวตามต้องการแต่ต้องมีข้ออย่างน้อย 2-3 ข้อ เช่นตัดมาประมาณ 5-6 ข้อ

เด็ดใบที่ข้อด้านล่างสุดออก เพื่อให้เกิดรากที่ข้อ ถ้าหากไม่ได้เด็ดใบออก ใบที่ข้ออยู่ใต้กรวดจะเน่าทำให้น้ำเสียหรือเกิดความสกปรก

ปลูกพรรณไม้น้ำลงในกรวดให้ห่างกันพอประมาณ เพื่อให้มีเนื้อที่ในการเจริญเติบโตของใบจากนั้นเติมน้ำที่ใสสะอาดลงไปอีกจน กระทั่งระดับน้ำสูงจากกรวด 50-60 เซนติเมตร

ทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน เมื่อใบมีการเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงรูปร่างและมีสีสันสวยงาม ตลอดจนมีรากงอกดีแล้วจึงนำไปจำหน่าย หรือปลูกประดับในตู้ปลา

การถ่ายเทน้ำและการใส่ปุ๋ยในบ่อพรรณไม้น้ำ

ถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อยในปริมาณ 30 % เพื่อให้น้ำใสสะอาดและพรรณไม้น้ำได้รับแร่ธารตุอื่น ๆ ที่ไม่มีในปุ๋ยแต่มีในน้ำ นอกจากนี้การปลูกพรรณไม้น้ำใหม่ทุกครั้งควรล้างกรวดให้สะอาดก่อนใส่น้ำใหม่ ลงไป

ใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ได้แก่ปุ๋ย NPK ชนิดละลายน้ำสูตร 25-5-5 หรือ 30-20-10 ในปริมาณ 5-15 ppm. (5-15 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร) การใส่ปุ๋ยจะใส่หลังจากเติมน้ำใหม่แล้ว 2-3 วัน เช่น ถ่ายน้ำทุก ๆ วันจันทร์ และใส่ปุ๋ยทุก ๆ วันพุธ

เติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้พืชได้นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยการเติมลงไปในกล่องกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใส่ไว้ในบ่อ

Hygrophila

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ

วัสดุปลูก (ดินหรือกรวดขนาด 2-3 มิลลิเมตร)

แสงสว่าง (40-60%)

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำ (5-15 มิลลิกรัม/ลิตร)

ธาตุอาหารหรือปุ๋ย (ได้แก่ ปุ๋ย NPK สูตร 25-5-5, 30-20-10 หรือ 27-17-10 อัตราความเข้มข้น 5-15 ppm. ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำ ความถี่ของการใส่ปุ๋ย 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง)

ความขุ่นใสของน้ำ (น้ำต้องใสสะอาด)

อุณหภูมิของน้ำ (25-29 องศาเซลเซียส)

ความกระด้างของน้ำ (75-150 มิลลิกรัม/ลิตร)

ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH 6.5-7.4)

ความชื้น (เจริญดีในความชื้นสูง)

แพงพวยน้ำ (Jussiaea repens Linn.)

ในวรรณคดีไทยกล่าวถึง แพงพวย ในเหล่าพรรณไม้ตามคูคลอง หนองบึง จึงน่าจะหมายถึง แพงพวยน้ำ ซึ่งมีชื่ออื่นๆ อีก ได้แก่ ผักพังพวย และผักปอดน้ำ เป็นไม้น้ำ ลำต้นค่อนข้างอวบ ทอดยาวตามผิวน้ำ โดยมีรากสีขาวเหมือนฟองน้ำเป็นกระจุกอยู่ตามข้อ ทำหน้าที่เป็นทุ่นช่วยในการลอยตัว ใบเดี่ยวรูปไข่เวียนเป็นเกลียวรอบต้น ดอกออกเดี่ยวๆ ตรงซอกใบ สีขาวหรือสีนวล มีกลิ่นอ่อนๆ กลีบดอก ๕ กลีบ ร่วงง่าย ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก มีเมล็ดมาก แต่การขยายพันธุ์มักใช้แยกลำต้นจากกอเดิมไปปลูก

แพงพวยน้ำเป็นพืชที่พบทั่วไปในนาข้าวและ ห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ มักเจริญและทอดยอดตามผิวน้ำเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ขณะออกดอกจะทำให้แหล่งน้ำมีความสวยงามมาก เพราะเห็นดอกสีอ่อนๆ กระจายอยู่เหนือกลุ่มใบที่เขียวเป็นมัน

ในช่วงที่น้ำในนาและหนองบึงแห้งลงไม้น้ำหลายชนิดตายไป แต่แพงพวยน้ำยังคงอยู่ได้ แม้ต้นจะแคระแกร็นและแข็ง นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานมากชนิดหนึ่ง ชาวบ้านใช้ยอดอ่อนเป็นผัก รับประทานได้ทั้งสด หรือนำไปลวกหรือต้มให้สุกก่อนก็ได้ บางแห่งใช้จิ้มน้ำปลาหวานแบบสะเดาลวก

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

สันตะวา (Ottelia alismoides Pers.)

สันตะวา หรือสันตะวาใบพายเป็นพันธุ์ไม้ ในวงศ์เดียวกับสาหร่ายหางกระรอก ทางภาคอีสานเรียกว่า ผักโตวา หรือผักโหบเหบ ภาคใต้เรียกว่า ผักหวา พบทั่วไปในแหล่งน้ำจืดต่างๆ และเป็นวัชพืชในนาข้าว สันตะวาเจริญอยู่ใต้น้ำโดยมีรากยึดติดกับดิน ลำต้นสั้น ไม่มีไหล ใบเวียนรอบต้นถี่ๆ จนดูเป็นกอ ใบบางค่อนข้างใส เป็นแผ่นใหญ่สีเขียวหรือเขียวอมน้ำตาล ขอบจีบย่นๆ ดอกสีขาว ๓ กลีบ เป็นดอกเดี่ยว มีก้านยาวชูจากซอกใบขึ้นมาเหนือน้ำ ผลค่อนข้างยาวมี ๓ ปีก มีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อตกลงในดินจะงอกขึ้นมาเป็นต้นเล็กๆ ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ได้อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการแตกหน่อ ถ้าสภาพแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ดี สันตะวาจะเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดที่น้ำแห้ง สันตะวาก็จะแห้งตายไปด้วย คนไทยในชนบทรับประทานใบอ่อนและดอกเป็นผักสด แกล้มกับลาบ ก้อย แกงเผ็ด หรือใช้จิ้มน้ำพริก

นอกจากนี้ ยังมีสันตะวาอีกชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน และพบตามแหล่งน้ำจืดเช่นกันคือ สันตะวาใบข้าว หรือสันตะวาขนไก่ (Vallisneria spiralis Linn.) มีใบเป็นแถบยาว และบิดเป็นเกลียวอยู่ใต้น้ำ พบได้น้อยกว่าสันตะวาใบพาย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงสันตะวาก็จะเข้าใจว่าหมายถึง สันตะวาใบพาย

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

สาหร่าย

จนแจ่มแจ้งแงตะวันเห็นพรรณผัก ดูน่ารักบรรจงส่งเกษร

เหล่าบัวเผื่อนแลสร่างริมทางจร ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา

สาหร่ายที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทยเป็นไม้น้ำที่พบตามลำคลองและท้อง ทุ่ง มีทั้งที่อยู่ใต้น้ำและบางชนิดอยู่เหนือน้ำ ดังนั้น จึงควรหมายถึงสาหร่าย ๓ ชนิด ต่อไปนี้

๑. สาหร่ายพุงชะโด หรือสาหร่ายหางม้า (Ceratophyllum demersum Linn.) พบทั่วไปตามนาข้าวที่มีน้ำขัง หรือบ่อบึงที่น้ำนิ่งทั้งที่ร่มและที่แจ้ง ลำต้นยาว แตกแขนงได้มากมาย จึงอยู่เป็นกลุ่มแน่น ใบเป็นเส้นๆ ออกรอบข้อเป็นชั้นๆ ปลายใบแยกเป็น ๒ แฉก มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ที่ต้นเดียวกัน ทุกส่วนของสาหร่ายชนิดนี้อยู่ใต้น้ำ

๒. สาหร่ายหางกระรอก (Hydrilla verticillata Presl.) อยู่ในวงศ์เดียวกันกับสาหร่ายพุงชะโด และ มักขึ้นปนกันอยู่ใต้น้ำ ลำต้นกลมและอวบ แตกแขนงได้มาก และมีรากออกตามข้อ ใบเป็นแผ่นเรียวเล็ก ไม่มีก้านใบ ออกรอบข้อเป็นชั้นถี่ๆ ทำให้ดูเป็นพวงคล้ายหางกระรอก เวลาออก ดอกจะมีก้านยาวจากซอกใบ ชูดอกเดี่ยวๆสีขาว ขึ้นมาบนผิวน้ำ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน สาหร่ายหางกระรอกขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมาก ปัจจุบันมีการนำมาปลูกในตู้ปลาและอ่างเลี้ยงปลา เพื่อความสวยงามและใช้เป็นวัสดุพืชพันธุ์ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

๓. สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia aurea Lour.) เป็นไม้น้ำขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นปะปนกับสาหร่ายพุงชะโด และสาหร่ายหางกระรอก พบทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง ขณะออกดอกจะเห็นสีเหลืองสดพราวไปทั่วบริเวณ เพราะช่อดอกจะชูขึ้นสูงเหนือน้ำ ส่วนลำต้นและใบจมอยู่ใต้น้ำ สาหร่ายชนิดนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นพืชกินแมลง ใบเป็นเส้นเล็กๆออกเป็นคู่ตรงกันข้าม หรือเป็นกระจุกๆ ละ ๔ ใบ ตรงโคน ใบพองออกเป็นถุง หรือกระเปาะเล็กๆ สำหรับจับแมลง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดที่มีจำนวนมาก หรือด้วยลำต้นที่ขาดเป็นท่อนๆ

สาหร่ายข้าวเหนียวมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปอีกหลายชื่อ เช่น ปราจีนบุรีเรียกว่า สาหร่ายไข่ปู สุพรรณบุรีเรียกว่า สาหร่ายดอกเหลือง กรุงเทพฯ เรียกว่า สาหร่าย หรือสาหร่ายนา ที่น่าสนใจคือชื่อ สายตีนกุ้ง ที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกนั้น อาจเพี้ยนมาเป็น สายติ่ง ซึ่งมีกล่าวถึงในวรรณคดี หลายบทหลายตอนแต่ไม่มีข้อมูลว่า เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใดก็ได้

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

กระจับ (Trapa bicornis Osb. var. cochin chinensis Gliick ex Steenis)

กระจับเป็นไม้น้ำชนิดหนึ่งที่น่าสนใจมากเพราะผลมี รูปร่างประหลาด คล้ายหน้าควายที่มีเขาโค้ง ๒ เขา สีดำสนิท เมื่อกะเทาะเปลือกนอกที่แข็งออก จะได้เนื้อในสีขาว มีแป้งมาก นำมาต้มให้สุกก่อนรับประทาน หรือต้มกับน้ำตาล แล้วรับประทานกับน้ำแข็งเป็นขนมอย่างหนึ่ง กระจับมีรากหยั่งยึดดินและมีไหล ใบเดี่ยวมี ๒ แบบ ใบที่ลอยน้ำมีก้านยาว อวบน้ำ และพองเป็นกระเปาะตรงกลาง แผ่นใบมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปพัด เวียนเป็นเกลียวถี่ๆ ตามลำต้น ทำให้ดูเหมือนใบแผ่เป็นวงรอบต้น ใบอีกแบบหนึ่งอยู่ในน้ำ เป็นเส้นฝอยๆ คล้ายราก ดอกสีขาวมีกลีบ ๔ กลีบ บานอยู่เหนือน้ำ เมื่อติดผลแล้ว ก้านดอกจะงอกลับลงน้ำ และผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ ผลอ่อนสีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง ๒ เขานี้เจริญมาจากกลีบเลี้ยง กระจับมี ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์เขาแหลม และพันธุ์เขาทู่ พันธุ์เขาแหลมมีรสชาติดี แต่ชาวบ้านนิยมปลูกพันธุ์เขาทู่มากกว่า

กระจับขยายพันธุ์ด้วยผลและไหล มีการปลูกตามคูคลองหนองบึงทั่วไปที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ ใช้เวลา ๕ - ๖ เดือน จะสามารถเก็บผลิตผลได้ ไม้น้ำชนิดนี้สวยงามแปลกตา ใบรูปคล้ายพัดแผ่รอบๆ ต้น ผิวด้านบนสีเขียวเป็นมันเงางาม ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีม่วงแดง ปลูกประดับในสวนน้ำได้ดี

มีกระจับอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกประดับตามสวนน้ำเรียกว่า กระจับแก้ว หรือกระจับญี่ปุ่น (Ludwigia sedioides Hora) ลักษณะของต้นและใบจะคล้ายกัน แต่ขนาดเล็กกว่ามาก ใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบใบและก้านใบเป็นสีแดง ดอกสีเหลืองสดมีกลีบ ๔ กลีบ ไม่ติดผล ขยายพันธุ์โดยใช้ไหล กระจับแก้วมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จึงไม่ใช่กระจับที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทย

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

จอก (Pistia stratiotes Linn.)

จอกเป็นวัชพืชน้ำอีกชนิดหนึ่งของไทย อยู่ในวงศ์เดียวกับเผือกและบอน มีชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียก คือ ผักกอก หรือกากอก เป็นพืชล้มลุกหลายฤดู ลำต้นสั้น มีไหลซึ่งแตกแขนงและทอดยาวขนานกับผิวน้ำ ใบเดี่ยว เป็นแผ่นกว้าง เวียนเป็นเกลียวถี่ๆ รอบต้น ขึ้นเป็นกระจุกคล้ายผักกาดสีเขียวสด อยู่ตามผิวน้ำ มีรากเป็นเส้นฝอยๆจำนวนมากที่โคนต้น ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดเล็กมาก มีใบประดับสีเขียวอ่อนเป็นแผ่นหุ้มอยู่ตรงซอกใบ เนื่องจากดอกเล็กมาก และซ่อนอยู่ตามซอกใบจึงมักไม่มีใครเห็น ทำให้เข้าใจกันว่า จอกเป็นพืชไร้ดอก

จอกมีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ขยายพันธุ์โดยแตกหน่อใหม่จากไหล เพิ่มปริมาณ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จึงสร้างปัญหาแก่แหล่งน้ำ จอกต้นเล็กๆ มีสีเขียวสดใส ถ้ามีจำนวนไม่มากนัก จะดูเหมือนดอกไม้สีเขียวๆ ลอยน้ำอยู่ดูสวยงาม จึงมีผู้นำไปใช้ประดับในสวนน้ำ ต้นอ่อนๆ ใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมูได้

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica Forsk.)

ผักบุ้ง หรือผักทอดยอด เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับมันเทศ เป็นพืชผักพื้นเมืองที่คนไทยรู้จักคุ้นเคย และใช้บริโภคกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดต่างๆ ตามที่ชื้นแฉะ ในนาข้าว ตามสวน หรือแม้แต่ที่รกร้าง ผักบุ้งมีลำต้นกลมกลวง มียางสีขาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน มีรากออกตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านยาว เรียงสลับ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น แบบรูปไข่ แบบรูปหัวลูกศร ช่อดอกออกตรงซอกใบช่อละ ๑ - ๓ ดอก ดอกเป็นรูปกรวยสีขาว หรือชมพูอ่อนแกมม่วง และมีแฉกรูปดาวสีม่วงตรงกลางดอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔ - ๕ ซม. ผลรูปไข่หรือกลม เมล็ดสีดำ

ผักบุ้งที่ขึ้นมาเองตามสวนหรือตามท้องนา จะมีลำต้นค่อนข้างแข็ง ปล้องยาว ยอดอ่อน มีทั้งสีเขียวล้วน และสีแดงแกมม่วง พันธุ์ที่สีเขียวล้วนมักเรียกว่า ผักบุ้งไทย พันธุ์ที่มีสีแดงแกมม่วง เรียกว่า ผักบุ้งแดง นิยมรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารอื่นๆ หรือใช้ประกอบอาหาร ผักบุ้งที่มีลำต้นอวบ สีเขียวสด ใบดก รูปใบเป็น แถบแคบยาวที่ขายกันตามตลาดเรียกว่า ผักบุ้งจีน มีการปลูกเป็นการค้าโดยเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ผักบุ้งจีนนี้ เมื่อทำให้สุก จะนิ่มและเปื่อยง่าย นิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมา

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

ตับเต่า

ไม้น้ำที่ชื่อตับเต่ามี ๒ ชนิด คือ ตับเต่า หรือผักอีแปะ ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ วงศ์เดียวกับต้นแววมยุราชนิดหนึ่ง และผักเต่าหรือตับเต่านา ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์เดียวกับสาหร่ายหางกระรอกอีกชนิดหนึ่ง ทั้ง ๒ ชนิดขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำจืด ในท้องนา และหนองบึงทั่วไป ดังนั้น ต้นตับเต่าที่กล่าวถึงในวรรณคดีจึงอาจเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งในจำนวนนี้

ตับเต่า (Mimulus orbicularis Benth.) ตับเต่ามีลำต้นอวบน้ำ และแตกแขนง ไม่มีไหล มีรากตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นแผ่นกลมหนา ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และลอยอยู่บนผิวน้ำ ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ มีสีม่วงอ่อนแกมขาว มีจุดสีเหลืองตรงกลางดอก มีก้านยาวชูดอกขึ้นเหนือน้ำ ฝักมีเมล็ดเล็กๆจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในภาคอีสานเรียกว่า ผักจองแปะ ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกตูม ใช้รับประทานเป็นผักสด

ตับเต่านา (Hydrocharis morsusranae Linn.) ลักษณะคล้ายตับเต่า ใบกลมแต่ฐานใบเว้าลึก ก้านใบยาว แลดูคล้ายกับอยู่เป็นกลุ่มเป็นกอเล็กๆ ๕ - ๖ ใบ มีไหลทอดยาวไปตามน้ำ ดอกสีขาว แยกเพศ มีก้านชูขึ้นเหนือน้ำ ผลกลมๆ คล้ายตะขบฝรั่ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและไหล ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

ลำพู (Sonneratia caseolaris Engler)

ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม

มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม

เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม

บ้างเก็บเล็มก้ามรุ่มร่ามครัน

จากบทวรรณคดีเรื่อง นิราศเมืองเพชร ของสุนทภู่ ทำให้มองเห็นภาพของต้นลำพู ซึ่งขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน และที่น้ำกร่อยได้อย่างชัดเจน ลำพูเป็นไม้ต้นสูง ๕ - ๑๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี ยาวประมาณ ๓.๐ - ๕.๐ ซม. ปลายแหลมเป็นส่วนใหญ่ ก้านใบสั้นและออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีรากหายใจเป็นแท่งแหลมๆ โผล่ขึ้นจากพื้นดินรอบๆ ต้น ออกดอกที่ปลายกิ่ง หรือตามซอกใบ ๑ - ๓ ดอก ดอกตูมสีเขียวเป็นรูปไข่ปลายแหลมเล็กน้อย กลีบดอกเป็นเส้นหรือรูปใบหอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นสีชมพูจำนวนมาก ร่วงง่าย คงเหลือแต่กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นกลีบสามเหลี่ยมหนาๆ ๖ กลีบ ซึ่งจะติดอยู่กับผลจนผลแก่ ผลกลมแป้น มียอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวติดอยู่ที่ยอด ผลดิบใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก รับประทานกับแกงเผ็ด หรือใส่ข้าวยำเช่นเดียวกับดอก ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมฝาดรับประทานกับน้ำปลาหวานเหมือนมะม่วง ชาวบ้านนำรากหายใจของลำพูมาใช้เป็นจุกขวด และเป็นทุ่นลอยในการประมง เนื้อไม้ของลำพูแข็งใช้ทำเชื้อเพลิงได้

ในเวลากลางคืนตามต้นลำพูจะมีหิ่งห้อยมา เกาะตามใบอยู่เต็มต้น ทำให้มีแสงระยิบระยับสวยงาม

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

จาก (Nypa fruticans Wurmb.)

จากเป็นพืชพวกปาล์มชนิดหนึ่งที่ขึ้นเป็นกอ ตามริมน้ำ ในที่น้ำกร่อยหรือน้ำทะเลท่วมถึง มีใบ ประกอบแบบขนนกขนาดใหญ่ คล้ายใบมะพร้าว ช่อดอกขนาดใหญ่ออกตรงซอกใบ ประกอบด้วยช่อดอกย่อยๆ หลายช่อ แต่ละช่อมีกาบสีเหลืองอมส้มเป็นแผ่นใหญ่หุ้มอยู่ ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อยาวหลายๆ ช่อ ล้อมรอบช่อดอกเพศเมีย ซึ่งเป็นช่อกลมอยู่ตรงกลาง ผลสีน้ำตาลไม่มีก้านเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ๆเรียกว่า ทะลาย แต่ละผลเป็นรูปหกเหลี่ยม เปลือกหนาแข็งมีเส้นใย เนื้อในเมล็ดสีขาว รสหวานเล็กน้อย รับประทานได้ มักนำมาเชื่อม หรือใส่น้ำหวานรับประทานกับน้ำแข็ง เป็นขนมที่เด็กๆ ชอบ เมื่อนำมารับประทานแบบนี้ ผู้ขายมักบอกว่าเป็น ลูกชิด (ซึ่งเป็นปาล์มอีกชนิดหนึ่งที่เนื้อในเมล็ดคล้ายจาก แต่อร่อยกว่า และราคาแพงกว่าจาก) การหลอกลวงผู้บริโภคแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว ดังปรากฏใน นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ดังนี้

ทางภาคใต้มีการนำช่อดอกอ่อน และผลอ่อนซึ่งมีรสฝาด มารับประทานสด ต้ม หรือลวก จิ้มน้ำพริก หรือนำไปทำแกงเผ็ดต่างๆ ช่อดอกมีน้ำหวานใช้ทำน้ำตาลได้เหมือนมะพร้าวหรือตาล แต่มักจะนำมาหมักทำน้ำส้มสายชูมากกว่า แต่เดิมจังหวัดสมุทรปราการมีต้นจากมากมายเรียกว่า ป่าจาก อาชีพสำคัญของชาวสมุทรปราการคือ การทำขนมที่ใช้ใบจากห่อเป็นชิ้นยาวๆ แล้วปิ้งให้สุกเรียกว่า ขนมจาก ใบจากใช้มุงหลังคาได้ ส่วนแกนช่อดอกแห้ง นำมาทุบให้แตกเป็นเส้นๆ ใช้ทำแส้ปัดยุง ปัจจุบัน การพัฒนาท้องถิ่นเหล่านี้ทำให้แทบจะไม่มีป่าจากหลงเหลืออยู่อีก

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]