python print

การใช้อักษรพิเศษที่มีหน้าที่เฉพาะ

ปกติแล้วข้อความที่พิมพ์ป้อนให้สายอักขระมักจะแสดงผลตามที่ป้อนเข้าไปทั้งหมด แต่ก็มีอักษรบางตัวที่มีหน้าที่พิเศษภายในสายอักขระ ได้แก่ ' " \ % เวลาต้องการใส่อักษรเหล่านี้ลงในสายอักขระจึงอาจต้องระวัง

สายอักขระจะสร้างขึ้นจากการใช้เครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยว ' หรือแบบคู่ " ล้อมข้อความ

แต่ว่าหากต้องการให้มี ' หรือ " อยู่ในสายอักขระแล้วละก็ต้องระวังเพราะอาจทำให้โปรแกรมตีความผิดเข้าใจว่า ตัดจบหรือเริ่มสายอักขระใหม่ได้ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีเลี่ยง

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการใช้อีกตัวแทน เช่น ถ้าต้องการข้อความที่มี ' อยู่ก็ต้องใช้ "" เป็นตัวครอบ

print("คำว่า 'รัก' มันยากจะอธิบาย")

ในทางกลับกันถ้าต้องการข้อความที่มี " อยู่ก็ต้องใช้ ' ' เป็นตัวครอบ

แต่ถ้าต้องการใช้ทั้งสองตัวทีเดียวเลี่ยงไม่ได้จริงๆก็ต้องใช้แบ็กสแลช \ ช่วย

print("เครื่องหมายคำพูดมีแบบเดี่ยว ' ' และแบบคู่ \" \"")

ผลที่แสดงออกมา

เครื่องหมายคำพูดมีแบบเดี่ยว ' ' และแบบคู่ " "

เครื่องหมาย \ นี้เป็นตัวที่ทำหน้าที่พิเศษภายในส่วนแสดงผลของสายอักขระ

เอสเคปคาแร็กเตอร์

นอกจากแบ็กสแลชจะทำหน้าที่นำหน้าอักษรที่มีหน้าที่เฉพาะเพื่อให้ปรากฏตามที่เห็นโดยไม่ถูกตีความแล้ว

มีอักษรหลายตัวที่นำหน้าด้วยแบ็กสแลช \ แล้วมีความหมายพิเศษ ซึ่งเรียกว่า เอสเคปคาแร็กเตอร์ (escape character)

\n คือ ขึ้นบรรทัดใหม่

\t คือ เคาะเว้นย่อหน้า

\b คือ แบ็กสเปซ (ลบตัวอักษร)

\a คือ ส่งเสียงเตือน

ตัวอย่าง

print('ma\bc') # ได้ mc (เพราะ a ถูกลบ)

print('a\ta') # ได้ a a

print('\a') # จะได้ยินเสียงเตือนดังขึ้นมา

หาก \ ตามด้วยตัวอักษรที่รวมแล้วไม่ได้มีความหมายพิเศษก็จะปรากฏตามที่พิมพ์ไป

print('\s') # ได้ \s

แต่หาก \ ตามด้วยอักษรที่รวมแล้วมีความหมายพิเศษ เช่น n t b a ก็จะเกิดการตีความแล้วให้ผลที่ต่างออกจากที่พิมพ์

ในกรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นเช่นนั้นสามารถทำได้โดยเขียน \ ติดกัน ๒ ขีด เป็น \\ เช่น

print('\\n') # ได้ \n

จะเห็นว่ามี \ ปรากฏขึ้นแค่ตัวเดียว เพราะ \\ ถูกตีความเป็น \ ตัวเดียว หากต้องการ ๒ ตัวก็พิมพ์ ๔ ตัว

print('\\\\') # ได้ \\

หากไม่ต้องการให้เอสเคปคาแร็กเตอร์ทำงานเลยก็สามารถทำได้โดยใส่ r ลงไปหน้าเครื่องหมายคำพูด แล้วสายอักขระนั้นจะถูกมองเป็นตัวอักษรตามที่พิมพ์ลงไปทั้งหมด

print(r'\n\t\b\a') # ได้ \n\t\b\a

ยูนิโค้ด

ในสายอักขระสามารถใช้โค้ดในระบบยูนิโค้ดเพื่อแทนตัวอักษรได้ โค้ดจะถูกแปลงเป็นตัวอักษร วิธีการใช้ทำได้โดยใช้ \u \U และ \X

\uคคคค ระบุอักษรด้วยรหัสยูนิโค้ดแบบ utf-16 (ค แทนเลขฐาน 16 ทั้งหมด 4 ตัว)

\Uคคคคคคคค ระบุอักษรด้วยรหัสยูนิโค้ดแบบ utf-32 (ค แทนเลขฐาน 16 ทั้งหมด 8 ตัว)

\N{ชื่ออักษร} คือ ระบุอักษรด้วยชื่อที่ถูกเก็บในฐานข้อมูลของยูนิโค้ด

ตัวอย่าง

print('\u0e2e') # ได้ ฮ

print('\U00000e0e') # ได้ ฎ

print("\N{Thai Character Pho Phan}") # ได้ พ

***ในไพธอน 2 จะได้ผลต่างออกไป จำเป็นต้องเติม u นำหน้า

>> อ่านรายละเอียดได้ที่

การเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลของข้อความ

ในการแสดงผลข้อมูลที่เป็นตัวเลขนั้นจะเห็นว่าหากสั่ง print ค่าตัวเลขนั้นโดยตรงจะได้ลักษณะที่มีค่าตายตัวแบบหนึ่ง

เช่น จำนวนจริงที่เป็นจำนวนเต็มจะมีศูนย์หลังจุดแค่ตัวเดียวเสมอ หรือเลขทศนิยมที่เล็กมากหรือใหญ่มากจะถูกเขียนในรูป e เช่น

print(3.000000000) # ได้ 3.0

print(0.00000000003) # ได้ 3e-11

print(300000000000000000.) # ได้ 3e+17

แต่ก็มีวิธีที่จะเปลี่ยนการแสดงผลเมื่อใช้คำสั่ง print หรือเมื่อแปลงเป็นสายอักขระได้ ซึ่งทำได้โดยเขียนให้อยู่ในรูปของ %d, %e, %f, ฯลฯ

การแสดงจำนวนเต็ม

%d ใช้แทนจำนวนเต็มที่แทรกอยู่ภายในสายอักขระ โดยค่าของจำนวนเต็มที่จะคำนวณนั้นต้องใส่ไว้ด้านหลังเครื่องหมายคำพูด

i = 20

print('==%d=='%i) # ได้ ==20==

จากตัวอย่างจะเห็นว่าค่าของ i เข้าไปแทนที่ %d

สิ่งที่อาจชวนสับสนก็คือรูปแบบการเขียนแบบนี้มีการใช้เครื่องหมาย % ถึง ๒ ครั้ง แต่ว่า % ทั้ง ๒ นี้เป็นคนละความหมายกัน

% ตัวแรกอยู่ภายในเครื่องหมายคำพูด วางอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการให้ค่าตัวเลขไปอยู่ แล้วก็ตามด้วยชนิดของข้อมูลที่ต้องการแทน ในที่นี้เป็นจำนวนเต็มใช้ d

ส่วน % ตัวหลังอยู่หลังเครื่องหมายคำพูดโดยตามหลังด้วยค่าที่ต้องการนำไปแทน โดยอาจเป็นตัวเลขหรือเป็นตัวแปรก็ได้

การเปลี่ยนการแสดงผลทำได้โดยใส่ส่วนแต่งเติมลงหลัง % ตัวหน้า

print('==%4d=='%19) # ได้ == 19== ให้เพิ่มช่องว่างจนครบ 4 ตำแหน่ง

print('==%4d=='%19000) # ==19000== ถ้าเลขเกิน 4 อยู่แล้วไม่มีผล

print('==%04d=='%19) # ได้ ==0019== ให้ใส่เลข 0 จนถึง 4 ตำแหน่ง

print('==%04d=='%19000) # ==19000== ถ้าเลขเกิน 4 อยู่แล้วไม่มีผล

print('==%+d=='%19) # ได้ ==+19== ให้ใส่เครื่องหมาย + เมื่อเป็นค่าบวก

print('==%+d=='%-19) # ได้ ==-19== ถ้าเป็นลบอยู่แล้วไม่มีผล

print('==%+04d=='%19) # ได้ ==+019== 4 ตำแหน่งนี้นับรวมเครื่องหมายด้วย

ตัวอย่าง ไล่เรียงหมายเลขโดยขึ้นเป็น ๒ หลัก

s = ['no.%02d'%i for i in range(1,21)]

print(s) # ได้ ['no.01', 'no.02', 'no.03', 'no.04', 'no.05', 'no.06', 'no.07', 'no.08', 'no.09', 'no.10', 'no.11', 'no.12', 'no.13', 'no.14', 'no.15', 'no.16', 'no.17', 'no.18', 'no.19', 'no.20']

หากมีส่วนที่ต้องการแทรกอยู่หลายตัวก็ให้ใส่ตัวแปรตามจำนวนนั้นโดยใส่วงเล็บแล้วคั่นด้วยจุลภาค ,

ตัวอย่าง แสดงวันเดือนปี

print('%02d / %02d / %04d'%(9,2,2016)) # ได้ 09 / 02 / 2016

แปลงเลขเป็นฐาน 16

นอกจาก %d ที่ให้แสดงเลขตามปกติเป็นฐาน 10 ที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว หากแทนด้วย %x ก็จะได้ค่าเป็นเลขฐาน 16 แทน

print('%x'%(2**16-1)) # ได้ ffff

print('%x'%(27365824924)) # ได้ 65f21599c

print('%09x'%1000) # ได้ 0000003e8

เลขฐาน 16 มีประโยชน์ เพราะใช้แทนค่ารหัสสีซึ่งมักประกอบไปด้วยค่าของเลขฐาน 16 ของค่าแม่สีทั้งสาม

print('#%02x%02x%02x'%(10,252,90)) # ได้#0afc5a

การแสดงเลขจำนวนจริง

จำนวนจริงใช้ %f ในการแสดง สามารถปรับตำแหน่งหลักและตำแหน่งเลขทศนิยมได้

print('==%12f=='%129.3) # ได้ == 129.300000== เติมช่องว่างจนครบ 12 ตำแหน่ง

print('==%012f=='%129.3) # ได้ ==00129.300000== เติม 0 จนครบ 12 ตำแหน่ง

print('==%.3f=='%129.3) # ได้ ==129.300== ทศนิยม 3 ตำแหน่ง

print('==%.0f=='%129.3) # ได้ ==129== เศษถูกปัดทิ้ง

print('==%12.3f=='%129.3) # ได้ == 129.300==

print('==%012.3f=='%129.3) # ได้ ==00000129.300==

อีกวิธีในการแสดงผลก็คือใช้ %e ซึ่งจะแสดงเป็นตัวเลขในรูปแบบ e

pi = 3.14159

print('==%e=='%pi) # ได้ ==3.141590e+00==

print('==%15e=='%pi) # ได้ == 3.141590e+00==

print('==%015e=='%pi) # ได้ ==0003.141590e+00==

print('==%.8e=='%pi) # ได้ ==3.14159000e+00==

print('==%.2e=='%pi) # ได้ ==3.14e+00==

print('==%015.8e=='%pi) # ได้ ==3.14e+00==

นอกจากนี้ยังมี %s ซึ่งแสดงผลสายอักขระเอง

print('==%s=='%'asa') # ได้ ==asa==

print('==%5s=='%'asa') # ได้ == asa6==

โดย %s นี้ยังใช้กับข้อมูลชนิดกลุ่มเช่นลิสต์หรือทูเพิลได้ด้วย ผลที่ได้จะเหมือนกับเวลาที่ print ลิสต์หรือทูเพิลนั้นออกมาโดดๆ

print('==%s=='%[1,2]) # ได้ ==[1, 2]==

print('==%25s=='%['a','s','a']) # ได้ == ['a', 's', 'a']==

สำหรับลิสต์ไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่ต้องการใช้กับทูเพิลจะมีความยุ่งยากเล็กน้อย เนื่องจากโดยทั่วไปเมื่อมีทูเพิลอยู่หลัง % จะถูกตีความว่าเป็นการใส่ข้อมูลหลายตัว ดังนั้นต้องเขียนในรูปทูเพิลซ้อนทูเพิล

print('==%s=='%('a','s','a')) # ได้ TypeError: not all arguments converted during string formatting

print('==%s %s %s=='%('a','s','a')) # ได้ ==a s a==

print('==%s=='%(('a','s','a'),)) # ได้ ==('a', 's', 'a')==

กรณีที่มีข้อมูลมาแทนเป็นจำนวนไม่เท่ากันกับจำนวน % ที่อยู่ด้านหน้า หรือชนิดผิด ก็จะขัดข้องทันที

print('==%s,%s=='%'asa') # ได้ TypeError: not enough arguments for format string

print('==%f=='%'asa') # ได้ TypeError: a float is required

กรณีมี % ตัวอื่นอยู่ในสายอักขระและไม่ได้ต้องการให้แสดงผลด้วยเลยให้ใส่ % นำหน้าอีกตัว

print('==%.2f%%formaldehyde=='%70) # ได้ ==70%formaldehyde==

สรุปเนื้อหา

- ในบทนี้ได้เข้าใจรูปแบบการแสดงผลของสายอักขระแล้ว เมื่อเข้าใจแล้วก็จะสามารถเปลี่ยนผลให้ออกมาได้ตามที่ต้องการ

- ต้องระวังการใช้เอสเคปคาแร็กเตอร์ \n \t \b \a \' \" \\ ให้ดี

- เวลาที่แปลงตัวเลขเป็นสายอักขระมักถูกตีความในรูปแบบที่ถูกกำหนดมาแล้ว แต่ด้วย %d %x %f %e สามารถเปลี่ยนให้หลากหลายขึ้นได้

อ้างอิง

http://docs.python.jp/3/howto/unicode.html

http://www.tohoho-web.com/python/types.html

http://www.isl.ne.jp/pcsp/python/python18.html