acute PID

Acute Pelvic Inflammatory Disease

Acute Pelvic Inflammatory Disease

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน

เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะสืบพันธ์ส่วนบน ได้แก่ การอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่และเยื่อบุอุ้งเชิงกราน โดยการอักเสบมักจะเกิดร่วมกันในหลายตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันพบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธ์และจะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะเพื่อที่จะสามารถป้องกันหรือลดผลเสียในระยะยาวของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลเสียต่อความสามารถในการเจริญพันธ์ในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยงและพยาธิกำเนิด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันได้แก่ สตรีที่เคยมีประวัติเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันมาก่อน สตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สตรีที่มีคู่นอนหลายคน การสูบบุหรี่ การสวนล้างช่องคลอด การใช้ห่วงคุมกำเนิดโดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังใส่ การอักเสบของช่องคลอดชนิด bacterial vaginosis1-4

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันประมาณร้อยละ 70 จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ Neiserria gonorrhoeae หรือ Chlamydial trachomatis หรือพบร่วมกันทั้งสองชนิด ส่วนร้อยละ 30 จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ anaerobe หลายชนิดร่วมกัน3, 5, 6

อาการและอาการแสดง

อาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันมีความหลากหลายโดยพบได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการผิดปกติซึ่งอาจจะพบได้ในรายที่มารับการส่องกล้องตรวจหรือทำการผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานด้วยข้อบ่งชี้อื่นๆ

อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน มีตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด มีอาการปวดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด ในรายที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงก็อาจจะมีไข้และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย3

อาการแสดงที่พบได้แก่ การกดเจ็บบริเวณท้องน้อยและปีกมดลูก มีอาการเจ็บเมื่อโยกปากมดลูกระหว่างตรวจภายใน3

การวินิจฉัย

การส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกรานเป็นวิธีที่น่าจะมีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน อย่างไรก็ดี การตรวจดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ในทางคลินิกหลายประการ ได้แก่ ความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือในแต่ละสถานบริการ เป็นวิธีการตรวจที่ลุกล้ำ นอกจากนี้ อาจะเกิดผลลบลวงในรายที่มีการอักเสบไม่รุนแรงหรือเกิดการอักเสบในตำแหน่งที่มองไม่เห็นเช่น การอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก

ดังนั้นปัจจุบัน การวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน จึงอาศัยอาการและอาการแสดงทางคลินิกเป็นหลัก ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน3

LAST UPDATED ON 13 NOVEMBER 2010 BY ชำนาญ เกียรติพีรกุล HITS: 6012

ที่มา: ดัดแปลงจาก Workowski KA, et al. CDC sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S73-6

ในอดีตมีการแนะนำให้ใช้เกณฑ์ที่จะต้องพบอาการหรืออาการแสดงหลักครบทั้ง 3 ข้อซึ่งทำให้เกณฑ์ดังกล่าวมีความไวในการวินิจฉัยโรคต่ำ7, 8 ดังนั้น เพื่อเพิ่มความไวในการวินิจฉัยซึ่งจะส่งผลให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนโดยสามารถให้การวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันด้วยการพบอาการและอาการแสดงหลักเพียงข้อเดียวได้3

ในกรณีที่มีผลการตรวจทางพยาธิวิทยาพบการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูกหรือการตรวจด้วยอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดพบถุงน้ำของท่อนำไข่หรือก้อนหนองที่บริเวณรังไข่และท่อนำไข่ ก็จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยแยกโรค

เนื่องจากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันมีความรุนแรงหลายระดับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของโรคที่มีความหลากหลายและมีจำเพาะต่อโรคต่ำ ดังนั้น จึงจะต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันจากภาวะที่มีอาการและอาการแสดงคล้ายกัน ได้แก่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้ง การบิดของปีกมดลูก และภาวะที่มีการอักเสบของระบบอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

การรักษา

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อก่อโรค โดยสามารถแบ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามรูปแบบของการบริหารยาได้เป็น 2 กลุ่มคือ การรักษาที่เริ่มด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะแบบผู้ป่วยใน(ตารางที่ 2) และแบบผู้ป่วยนอก (ตารางที่ 3)3, 9, 10

การเลือกชนิดและรูปแบบการบริหารยา จะขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยมีข้อบ่งชี้ของการรับเข้ารักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดแบบผู้ป่วยในดังต่อไปนี้3

    • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

    • ผู้ป่วยที่มีการตั้งครรภ์ร่วมด้วย

    • ผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไปได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน

    • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับการติดตามการรักษาได้หรือไม่สามารถรับประทานยาแบบผู้ป่วยนอกได้

    • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบผู้ป่วยนอก

    • ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ

ตารางที่ 2 ยาและการบริหารยาปฏิชีวนะชนิดฉีดในการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน

ชนิดและรูปแบบการบริหารยาแบบที่ 1

Cefotetan 2 กรัม ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมงหรือ Cefoxitin 2 กรัม ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมงร่วมกับ Doxycyclin 100 มก. ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือ รับประทานทุก 12 ชั่วโมง

ชนิดและรูปแบบการบริหารยาแบบที่ 2

Clindamycin 900 มก. ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมร่วมกับ Gentamycin หยดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามในขนาด 2 มก/น้ำหนักตัว 1 กก. ในครั้งแรก ตามด้วย 1.5 มก/น้ำหนักตัว 1 กก. ทุก 8 ชั่วโมง

ที่มา: ดัดแปลงจาก (1) Workowski KA, et al. CDC sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S73-6; (2) Walker CK, et al. Antibiotic therapy for acute pelvic inflammatory disease: the 2006 CDC sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S111-22; และ (3) Bloomfield P. Update on emerging infections: news from the CDC. Update to CDC's Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines, 2006: fluoroquinolones no longer recommended for treatment of gonococcal infections. Ann Emerg Med 2007;50:232-5.

หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก็สามารถเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานโดยให้เป็น doxyclycin ขนาด 100 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมงไปจนครบ 14 วันนับตั้งแต่เริ่มรักษา ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่าอาจจะมีก้อนหนองที่บริเวณท่อนำไข่และรังไข่ แนะนำให้ใช้ metronidazole ขนาด 500 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง หรือ clindamycin ขนาด 450 มก. รับประทานทุก 6 ชั่วโมง ร่วมกับการรับประทาน doxyclycin จนครบ 14 วันนับตั้งแต่เริ่มรักษา3

ตารางที่ 3 ยาและการบริหารยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานในการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน

ที่มา: ดัดแปลงจาก (1) Workowski KA, et al. CDC sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S73-6; (2) Walker CK, et al. Antibiotic therapy for acute pelvic inflammatory disease: the 2006 CDC sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S111-22; และ (3) Bloomfield P. Update on emerging infections: news from the CDC. Update to CDC's Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines, 2006: fluoroquinolones no longer recommended for treatment of gonococcal infections. Ann Emerg Med 2007;50:232-5.

ผู้ป่วยควรจะได้รับการประเมินผลการรักษาภายหลังได้รับยาไปแล้ว 72 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น ควรจะมีการประเมินอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเพื่อยืนยันการวินิจฉัย หากผลการประเมินยังคงเข้าได้กับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในและใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด3

เนื่องจากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคัดกรองหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี เชื้อซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี แพทย์ผู้ดูแลควรมีการประเมินพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันของผู้ป่วยและให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ

คู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันก่อนหน้า 60 วันนับจากวันที่แสดงอาการ ควรจะได้รับตรวจและการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ Neiserria gonorrhoeae หรือ Chlamydial trachomatis แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวในผู้ชายมักจะไม่แสดงอาการ3, 9

สรุป

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันจะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะเพื่อที่จะสามารถป้องกันหรือลดผลเสียในระยะยาว การวินิจฉัยยังคงอาศัยอาการและอาการแสดงเป็นสำคัญ การรักษาประกอบด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ Neiserria gonorrhea, Chlamydial trachomatis และ anaerobic bacteria

ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี เชื้อซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ควรมีการให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค

เอกสารอ้างอิง

    1. Jossens MO, Schachter J, Sweet RL. Risk factors associated with pelvic inflammatory disease of differing microbial etiologies. Obstet Gynecol 1994;83:989-97

    2. Grimes DA. Intrauterine device and upper-genital-tract infection. Lancet 2000;356:1013-9

    3. Workowski KA, Berman SM. Centers for Disease Control and Prevention sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S73-6

    4. Sweet RL. Role of bacterial vaginosis in pelvic inflammatory disease. Clin Infect Dis 1995;20 Suppl 2:S271-5

    5. Eschenbach DA, Buchanan TM, Pollock HM, et al. Polymicrobial etiology of acute pelvic inflammatory disease. N Engl J Med 1975;293:166-71

    6. Paavonen J, Teisala K, Heinonen PK, et al. Microbiological and histopathological findings in acute pelvic inflammatory disease. Br J Obstet Gynaecol 1987;94:454-60

    7. Gaitan H, Angel E, Diaz R, Parada A, Sanchez L, Vargas C. Accuracy of five different diagnostic techniques in mild-to-moderate pelvic inflammatory disease. Infect Dis Obstet Gynecol 2002;10:171-80

    8. Peipert JF, Ness RB, Blume J, et al. Clinical predictors of endometritis in women with symptoms and signs of pelvic inflammatory disease. Am J Obstet Gynecol 2001;184:856-63; discussion 63-4

    9. Walker CK, Wiesenfeld HC. Antibiotic therapy for acute pelvic inflammatory disease: the 2006 Centers for Disease Control and Prevention sexually transmitted diseases treatment guidelines. Clin Infect Dis 2007;44 Suppl 3:S111-22

    10. Bloomfield P. Update on emerging infections: news from the Centers for Disease Control and Prevention. Update to CDC's Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines, 2006: fluoroquinolones no longer recommended for treatment of gonococcal infections. Ann Emerg Med 2007;50:232-5