เศรษฐกิจพอเพียง

ข้อมูลจาก คุณ เสรี พงศ์พิศ

บทความในหนังสือ ผู้ใหญ่บุ๊น ครูชีวิต ต้นธารคิดการเรียนรู้ รวมข้อเขียนเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม - 29 ธันวาคม 2551

ผมมี “ครู” สองคนที่สอนให้เข้าใจว่า “พึ่งตนเอง” หมายถึงอะไร คนหนึ่งเป็นอาจารย์ชาวเยอรมัน ที่ทำให้ผมเข้าใจคำว่า “พึ่งตนเองทางวิชาการ” อีกคนหนึ่ง คือผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่ทำให้ผมเข้าใจว่า “พึ่งตนเอง” ในชีวิตหมายถึงอะไร

ในทางตรงกันข้าม การไม่สามารถพึ่งตนเองหมายถึงอะไร ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า เวลาเดินทางไปต่างประเทศสื่อสารกับใครไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ภาษา อยากบอกอะไรใคร อยากทำอะไรก็ต้องมีล่ามตลอดเวลา ไปไหนมาไหนไม่มีล่ามคือสภาวะที่ “พึ่งตนเองไม่ได้เลย”

ผู้ใหญ่วิบูลย์เคยปลูกพืชเดี่ยวมากกว่า 200 ไร่ เคยรับซื้อผลผลิตของชาวไร่ไปขายต่อให้นายทุน โดยเกษตรกรกำหนดราคาเองไม่ได้เลย พ่อค้าให้เท่าไรก็ต้องขาย ไม่ขายก็กินเองไม่ได้ ไม่มีเงินใช้หนี้ เพราะหนี้สินเต็มไปหมด บางวันขายผลผลิตได้เงินเต็มกระเป๋า แต่เป็นเงินคนอื่นทั้งนั้น ต้องเอาไปใช้หนี้เขาหมด

หลายครั้งต้องรวมตัวกันไปเดินขบวน ขอให้รัฐช่วย ไปถึงจังหวัด ไปถึงกรุงเทพฯ ทำเนียบรัฐบาล ก็ได้รับคำสัญญาว่าจะช่วย จะส่งคนไปช่วย จะหามาตรการช่วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครช่วย ไม่มีอะไรดีขึ้น ชาวไร่ชาวนาต้องพึ่งพ่อค้า พึ่งนายทุน พึ่งข้าราชการ พึ่งรัฐบาล “พึ่งตนเองไม่ได้” สุดท้ายก็เวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน กู้พ่อค้าไปคืน ธ.ก.ส. กู้ ธ.ก.ส.ไปคืนพ่อค้า

การพึ่งตนเองไม่ได้จนในที่สุดอาจเรียกได้ว่า “ล้มละลาย” ทำให้ผู้ใหญ่วิบูลย์เหมือนถูกไล่ลงจากทางด่วน ซึ่งเขาก็ลงมาแต่โดยดี แม้จะเจ็บปวดปานใด เขาตัดสินใจ “กลับทางเก่า” ลงไปหาทางเดินด้วยเท้า แม้จะช้ากว่า แต่เขาก็ได้พบว่ามั่นคงกว่า ปลอดภัยกว่า ช้ากว่าแต่ถึงที่หมาย

จะมีใครกี่คนที่คิดได้ว่า ถ้าไปถึงทางตันจะทำอย่างไร ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า เมื่อถึงทางตันเขาก็หันกลับไปเดินทางเก่า ทางที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยเดิน นั่นคือหนทางแห่งการพึ่งตนเอง หนทางที่พิสูจน์ได้ว่า บรรพบุรุษได้เดินทางนี้และอยู่รอด อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อนนอนไม่หลับเพราะหนี้สิน จนเครียด บ้า และหาทางออกไม่เจอเหมือนลูกหลานวันนี้

การพึ่งตนเองเป็นคำที่พูดง่ายเข้าใจยาก และมักเข้าใจกันคนละทิศละทาง บางคนบอกว่า การพึ่งตนเองเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้อยู่ในถ้ำในเกาะที่ไหนคนเดียว คุณอยู่ในสังคม ในชุมชน ในหมู่บ้าน ในเมืองร่วมกับคนอื่น คุณต้องพึ่งคนอื่น คุณต้องพึ่งรัฐ พึ่งหลวง พึ่งถนนหนทาง พึ่งน้ำ พึ่งไฟ และอะไรต่างๆ ที่คุณทำเอง ผลิตเองไม่ได้

เคยไปฟังการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ไปศึกษาเรื่องการพึ่งตนเองของผู้ใหญ่วิบูลย์ เธอไปเก็บรายละเอียดการดำเนินชีวิตของผู้ใหญ่และครอบครัว และไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่นานพอที่ทำให้เธอสรุปว่า ผู้ใหญ่วิบูลย์ยังพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะยังใช้ไฟ ใช้แก๊สอยู่

ผมเล่าให้ผู้ใหญ่วิบูลย์ฟังถึงข้อสรุปของนักศึกษาผู้นั้น ผู้ใหญ่ยิ้มและตอบว่า “เขาคงอยากให้ผมไปอยู่ในถ้ำนุ่งใบไม้กระมัง ถึงจะเรียกกว่าพึ่งตนเองได้”

ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า “การพึ่งตนเองเป็นสภาวะอิสระ หมายถึงความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทางร่างกายและจิตใจ”

“การพึ่งตนเองหมายถึงการจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม กับคน กับสังคม กับธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา การพึ่งตนเองหมายถึงการมีสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตในปัจจุบันถึงอนาคต สวัสดิการที่พร้อมจะตอบสนองเราทันที โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกให้ใครมาจัดสวัสดิการให้ หรือให้ใครมาช่วยเหลือ” (จาก ชีวิตและแนวคิดของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม)

พื้นฐานการคิดเรื่องการพึ่งตนเองของผู้ใหญ่วิบูลย์มาจากประสบการณ์การทำวนเกษตร อันเป็นกระบวนการคืนสู่ฐาน (back to basic) คืนสู่ความเรียบง่าย ความเป็นหนึ่งกับธรรมชาติและสรรพสิ่ง ตื่นนอนตอนเช้าก็เดินเท้าเปล่าเข้าไปในสวนเพื่อจะได้สัมผัสกับดิน มีชีวิตที่ติดดิน อยู่กับ “แม่ธรณี” ผู้ให้ชีวิต ให้พืช ให้สัตว์ ให้จุลินทรีย์ ให้อากาศธาตุ ข้าวปลาอาหาร พืชผักผลไม้

วนเกษตรเกี่ยวกับการพึ่งตนเองโดยตรง เพราะเป็นวิถีที่ทำให้คนอยู่ใกล้ธรรมชาติมากที่สุด เพราะวนเกษตรไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่เป็นการปลูกสำนึกของตนเองให้คืนสู่ธรรมชาติ ปลูกไม้ลงในใจ ในสำนึกก่อนที่จะลงดิน แล้วไม้ก็จะเติบโตและยั่งยืน

“วนเกษตรเป็นเรื่องง่าย แทบไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย เป็นเกษตรที่ทำเล่นๆ แต่เอาจริงๆ คือ ได้ผล อาจจะลำบากในปีแรกๆ เพราะต้องลงทุนและดูแลเอาใจใส่ แต่ยิ่งนานเข้าเท่าใดก็ยิ่งสบายขึ้นเท่านั้น จนอาจจะเรียกว่า เกษตรนั่งกินนอนกิน”

“วนเกษตรเป็นเรื่องยากเพราะเป็นวิธีคิดใหม่ ยากที่จะตัดสินใจเลือกทางใหม่นี้อย่างจริงจัง เพราะคนเราถูกกระตุ้น ถูกสั่งสอนจากสังคมให้อยากรวย อยากมี อยากสำคัญ อยากมีฐานะให้คนยอมรับ การตัดสินใจทำวนเกษตรจึงเหมือนกับการสูญเสีย”

“วนเกษตรไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นหลักการที่เกิดจากการสั่งสมทางความคิด สะสมปัจจัยสี่ ถ้าความคิดไม่ถึงจุดหนึ่งก็ไม่สามารถทำได้ วนเกษตรเป็นแนวทางการพึ่งตนเอง จะเรียกว่าเกษตรพื้นฐานก็ได้ เพราะวนเกษตรเป็นเกษตรขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างรากฐานให้กับชีวิต”

“วนเกษตรทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง อันดับแรกเชื่อว่าเราจะพึ่งตัวเองได้ พอมีความเชื่อตรงนี้เราก็มีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางความคิดทำให้เราไม่กลัวถูกใครปฏิเสธ กล้าคิด กล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากยิ่งขึ้น กล้าเลือกว่าชีวิตตัวเองควรเป็นอย่างไร รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกมากขึ้น"

สำหรับผู้ใหญ่วิบูลย์ ดูเหมือนว่า หัวใจของทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คำว่า “การเรียนรู้” เพราะความหมายของการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่วิบูลย์อธิบายโดยยกตัวอย่างเด็ก คือ ความสามารถในการเชื่อมโยง ถ้าโยงเป็นก็จะเห็น “ภาพ” โยงไม่ได้ก็เหมือนจิ๊กซอที่ต่อกันไม่ติด ภาพรวมภาพใหญ่ก็ไม่เกิด รายละเอียดก็กระจัดกระจาย กลายเป็นคนละเรื่องคนละอย่าง

มีเด็กจำนวนมากไปเรียนรู้ในสวนวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ ไปเรียนเรื่องพืช เรื่องสัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปเก็บใบไม้มาศึกษา บางทีพี่เลี้ยงก็ให้เด็กเขียนภาพเพื่อเล่าเรื่อง ภาพที่เขียนบนกระดาษแผ่นเดียวเด็กสามารถเล่าได้ยาวนาน ถ้าเขียนออกมาก็คงได้หลายหน้า เด็กเชื่อมโยงภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน เด็กเขียนภาพลงไปด้วยการเชื่อมโยงในใจก่อน

ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า ตนเองโชคดีที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและทั่วประเทศ ได้เห็นอะไรมากมายหลายอย่าง แต่ก็ใช่ว่าจะ “เข้าใจ” ทุกอย่างทันที เมื่อเวลาผ่านเลยระยะหนึ่ง ไปเห็นอะไรที่อื่น โยงกันเข้าจึงได้เข้าใจ เหมือนกับว่าได้จิ๊กซอเติมเสริมทำให้เกิดภาพที่สมบูรณ์

การเชื่อมโยงเป็นการเรียนรู้ การแยกแยะก็เป็นการเรียนรู้ เป็นกระบวนการเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ เป็นความรู้ที่มีพลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่การท่องหนังสือ แต่เป็นการนำเอาเรื่องราวในชีวิต ปัญหาต่างๆ มาแยกแยะและเชื่อมโยง เกิดความรู้ความเข้าใจ

ชีวิตของผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นการเรียนรู้ เรียนรู้สำคัญที่สุดเป็นการเรียนรู้จากปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาด ความล้มเหลว จากการกระโดดเข้าไปในสังคมยุคใหม่ที่ผลักคนให้เข้าสู่วงจรการผลิต การค้า การแข่งขัน โดยที่ตนเองไม่มีความพร้อม ที่สุดก็ล้มลง แต่ก็โชคดีที่ลุกขึ้นมาได้ และค่อยๆ ก้าวเดินไปในอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่ “ทางด่วน” แบบเดิม แต่เป็นทางที่เป็น “ธรรมชาติ” มากกว่า เหมาะสมกับชีวิตของตนเองมากกว่า

ผู้ใหญ่วิบูลย์เรียนรู้จากธรรมชาติ จากการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะป่า เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ เห็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิต ต้นไม้เล็กไม้ใหญ่ทุกระดับ แมลง สัตว์ นก หนู จุลินทรีย์ แร่ธาตุ

ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า วนเกษตรเป็นการเลียนแบบป่า ส่วนหนึ่งปล่อยให้พืชสัตว์เกิดเองตามธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นการปลูกใหม่ โดยไม่ได้มีการวางแผนอะไรมากมาย อยากปลูกอะไรก็ปลูก ไม่ต้องการอะไรก็เอาออก และปล่อยให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ แม้แต่หลุมใหญ่ๆ ผู้ใหญ่ก็ไม่ขุดเพื่อปลูกต้นไม้ เพราะในป่าก็ไม่ได้มีหลุมใหญ่ๆ แต่ทำไมไม้ถึงโตและแข็งแรง

วนเกษตรในพื้นที่ไม่ถึงสิบไร่ที่บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ได้สำรวจพบว่ามีพืชมากกว่า 450 ชนิดที่บอกชื่อได้ และมากกว่า 100 ชนิดที่ไม่ทราบชื่อ มีนกมากกว่า 45 ชนิดที่มาอาศัยอยู่ในป่าเล็กๆ ผืนนี้

ผู้ใหญ่วิบูลย์เรียนรู้โดยการคิดคำนึง การไตร่ตรองประสบการณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ทั้งโดยการอยู่เงียบๆ คนเดียวและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น คิดร่วมกัน แลกเปลี่ยน เสวนา ถกเถียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ในกระบวนการทางสังคมต่างๆ

ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า การที่มีคนไปเรียนรู้ดูงาน ไปเยี่ยมสวนวนเกษตรเป็นจำนวนมากเกือบทุกวันถือเป็นการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่เองด้วย เพราะการที่ได้รับคำถามและพยายามหาคำตอบเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ นอกนั้น หลายคนก็มีอะไรๆ มาเล่ามาแลกเปลี่ยน

การไปเรียนรู้ดูงานและได้พบปะผู้คนในที่ต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้นำเกษตรกร ผู้นำขบวนการประชาสังคม ชาวบ้านทั่วไป การร่วมเวทีเสวนา สัมมนา การประชุมในคณะกรรมการในระดับต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสการเรียนรู้ทั้งสิ้น

สิ่งที่เป็นกรอบคิดสำคัญของผู้ใหญ่วิบูลย์ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากนักวิชาการส่วนใหญ่หรือข้าราชการ หรือคนอาชีพต่างๆ คือ การไม่แยกระหว่างการศึกษากับการพัฒนา การเรียนรู้ล้วนแต่เกี่ยวข้องการพัฒนาคน เป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ผู้ใหญ่วิบูลย์มีความเห็นเช่นเดียวกับศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัตที่บอกว่า “การพัฒนาไม่ใช่การผลิตวัตถุ ไม่ใช่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายเชิงวัตถุเฉพาะอย่าง แต่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ทั้งในด้านบุคคลและสังคม ด้วยความมุ่งหมายที่จะมีชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ” (ความรู้สู่อนาคต)

การเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นการเรียนรู้บนฐานชีวิตจริง ที่ค่อยๆ เริ่มตกผลึกจากที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ทำเองในครอบครัว และที่มีการนำไปใช้ในกระบวนการพัฒนาชุมชนและเครือข่ายป่าตะวันออก ซึ่งมีสมาชิกอยู่หลายสิบหมู่บ้าน จึงสรุปออกมาเป็นอะไรที่เคยให้ชื่อเพื่อความสะดวกในการใช้ว่า “สูตร 353 สำนักวนเกษตร” ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง ประกอบด้วย3 รู้ คือ การเรียนรู้ตัวเอง รู้ปัญหา รู้ทรัพยากร5 จัดการ คือ การจัดการข้าว อาหาร สมุนไพร ของใช้ ปุ๋ย3 แผน คือ การทำแผนชีวิต แผนชุมชน แผนทรัพยากร

การเรียนรู้ตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ถ้าหากไม่รู้ตัวเอง ตัวเองไม่เปลี่ยน อะไรๆ ภายนอกก็ไม่เปลี่ยน เป็นการเรียนรู้ที่มาเพื่อจะรู้ที่ไปของตนเอง รู้อดีตเพื่อจะได้รู้อนาคต รู้รากเหง้าเพื่อจะได้มีหลักมีฐานเป็นตัวของตัวเอง

เรียนรู้ปัญหา ถ้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีเครื่องมือที่ดีก็จะเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ปัญหาเทียมที่เป็นปัญหาเพราะอยากให้เป็นปัญหา เพื่อจะได้เป็นเงื่อนไขให้คนอื่นมาช่วย การค้นพบปัญหาเป็นกระบวนการที่ดีช่วยให้เห็นทางออกแล้วส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการวิเคราะห์ตนเอง และตั้งคำถามที่ถูกต้อง การตั้งคำถามถูกต้องเป็นการพบคำตอบแล้วครึ่งหนึ่ง

เรียนรู้ทรัพยากร เป็นเรื่องใหญ่ เพราะวันนี้เราได้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปมาก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก อย่างป่ารอยต่อห้าจังหวัดซึ่งเคยมีเนื้อที่ป่าอยู่ถึงประมาณ 2 ล้านไร่ วันนี้ไม่น่าจะเหลือถึงล้านไร่

ทรัพยากรเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีรายละเอียดมากและมีความสลับซับซ้อนมาก เป็นระบบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศซึ่งหากไม่เรียนรู้ก็จะไม่เข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เป็นระบบชีวิต ระบบธรรมชาติ ซึ่งคนก็เป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพดังกล่าว

การเรียนรู้เป็นการสร้างสำนึก เป็นเรื่องสำคัญเพราะคนมักมองข้าม หรือมองเห็นแต่มูลค่า มองไม่เห็นคุณค่า มองไม่เห็นป่า เห็นแต่ต้นไม้ที่เอาไปขาย ไม่เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ และความสำคัญของป่า

“คุณค่า” และ “มูลค่า” เป็นสองคำหลักที่ผู้ใหญ่วิบูลย์พูดถึงเสมอ เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นอันมากเนื่องมาจากอวิชชา ที่มาของความไม่รู้และความโลภ บวกกับระบบสังคมที่อ่อนแอไม่สามารถปกป้องทรัพยากรต่างๆ ได้ คนที่มีอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองก็ออกกฎหมายให้ตัวเองสามารถเข้าไปครอบครองทรัพยากรได้มากกว่าประชาชนคนทั่วไปที่ไม่มีอำนาจ

5 จัดการ เป็นการสังเคราะห์ประสบการณ์ของชุมชนว่า 5 อย่างนี้เป็นเรื่องหลัก จัดการเป็นก็สามารถแก้ปัญหาและอยู่รอดได้ การจัดการที่ดีหมายถึงต้องมีการเรียนรู้ที่ดี ไม่ใช่เพราะมีเงินจึงทำ แต่เพราะได้เข้าใจถึงความสำคัญ

เรื่องพื้นฐาน 5 เรื่อง เริ่มจากข้าว ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์ย้ำเสมอว่า วันนี้เราทำนาแล้วเอาข้าวเปลือกไปขาย เอาเงินไปซื้อข้าวสารจากตลาดมากิน มีแค่นั้น ไม่ได้มีการจัดการอะไรเลย ทั้งๆ ที่ข้าวสามารถแปรรูปเป็นอะไรได้กว่า 100 อย่าง

บ้านนาอีสาน ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต เป็นสมาชิกเครือข่ายป่าตะวันออก เป็นชุมชนที่นำเอาแนวคิดของผู้ใหญ่วิบูลย์ไปประยุกต์ เป็นหมู่บ้านที่มีที่ทำนาอยู่ไม่มากนัก ข้าวไม่พอกิน ชุมชนได้ร่วมกันเรียนรู้หาทางออกด้วยการจัดการข้าวให้เป็น เอามาสีไม่ขัดเป็นข้าวกล้อง แพ็คถุงเล็กๆ ส่งขายได้เงินมาซื้อข้าวมาบริโภคอย่างเพียงพอ

นอกนั้น ทุกวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ในงานบุญบ้านตามประเพณีของชาวอีสาน ชาวบ้านเอาข้าวมาแปรรูปเพื่อทำบุญ พยายามทำให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ลูกหลาน ซึ่งพากันหยุดเรียนเพื่อเรียนรู้อยู่ที่บ้าน แต่ละปีชาวบ้านเอาข้าวมาทำขนมและข้าวประเภทต่างๆ ได้ไม่น้อยกว่า 40 อย่าง

การจัดการข้าวไม่ได้แปลว่าต้องทำโรงสี ต้องมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ตามมาอีกมากมาย ก็อาจเป็นไปได้ในที่ที่มีศักยภาพที่จะทำ อาจเหมาะสมกับบางแห่ง ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ถ้าไม่จำเป็นต้องมีโรงสีก็ไม่ต้องมี อยู่ที่การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการแท้จริงของตนเอง

เรื่องอาหารเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า ชาวบ้านวันนี้จ่ายเงินซื้ออาหารมากกว่าอย่างอื่น เพราะอาหารวันนี้แพง และชาวบ้านแทบจะไม่ผลิตอาหารของตนเองเลย แม้แต่พริก มะเขือ ผัก ซึ่งแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรก็ยังไม่ปลูกไม่ทำ หาเงินซื้ออย่างเดียว และไม่เคยทำบัญชีว่าใช้จ่ายอะไรเท่าไร

นายเลี่ยม บุตรจันทา ผู้นำชุมชนนาอีสาน คือคนที่ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่และนำไปปฏิบัติ ลงมือ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ทำสวนวนเกษตร 5-6 ไร่ คล้ายกับสวนวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ สวนออนซอนของนายเลี่ยมมีอาหารหลายอย่างมากกว่าของผู้ใหญ่ เขาเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และผลิตอาหารที่เมื่อก่อนได้แต่ซื้อกินจากรถ “พุ่มพวง”

สมุนไพรเป็นพืชที่ขึ้นง่าย แต่คนไม่ปลูกเพราะไม่เห็นคุณค่า ถ้าได้เรียนรู้บ้างเล็กน้อยก็จะรู้ว่าแม้แต่หญ้าคา หญ้าแพรก หญ้าแห้วหมูก็มีคุณค่าเป็นยา แต่ถ้ามองด้วยสายตาของทุนนิยมยุคใหม่ก็มองว่าเป็นวัชพืชที่ต้องกำจัดผู้ใหญ่วิบูลย์ได้เรียนรู้จากพ่อที่สนใจเรื่องสมุนไพร เรื่องยาแผนโบราณ แต่บอกว่าได้เรียนรู้จริงๆ ตอน “ชีวิตเปลี่ยน” เพราะการเรียนรู้สมุนไพรเป็นทางหนึ่งของการพึ่งตนเอง ผู้ใหญ่ได้ปลูกเอง แปรรูปเอง ใช้เอง เผยแพร่ให้เครือข่ายและใครต่อใครที่ไปเยี่ยมเอาไปใช้ด้วย

เรื่องสมุนไพรไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่เป็นเรื่องการกินการอยู่ การใช้สมุนไพรในอาหาร กินอาหารให้เป็นยา แทนที่จะกินยาเป็นอาหาร สมุนไพรที่เป็นอาหารก็คือผักต่างๆ โดยเฉพาะที่เก็บจากธรรมชาติ ผักป่าผักทุ่ง ส่วนผักที่ปลูกเองก็ทำให้เป็นธรรมชาติให้มาก ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงเพื่อเน้นผลผลิต หรือเพื่อเอาไปขาย แต่เน้นการทำเพื่อบริโภคเอง เน้น “คุณค่า” ของอาหารมากกว่า “มูลค่า” จากการขาย

เรื่องสมุนไพรไม่ใช่เพียงแต่การส่งเสริมการใช้สมุนไพรแทนยาสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ เป็นการเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงดูแลสุขภาพของตนเอง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ปล่อยให้เจ็บป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ หรือหาซื้อมากินยา ไม่ว่าแผนโบราณหรือแผนปัจจุบัน ทำอย่างไรจะลดเรื่องเหล่านี้ลง

ของใช้หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็สามารถผลิตเอง ทำเองได้ อย่างน้ำยาล้างจาน เป็นอะไรที่ทำได้ง่ายๆ แต่คนมักไม่ทำ เพราะไปซื้อที่ตลาดสะดวกกว่า ทั้งๆ ที่ถ้าหากทำเองก็จะประหยัดได้มาก ถูกกว่าซื้อที่ตลาดหลายเท่า ทำครั้งเดียวใช้ได้หลายเดือน ปีหนึ่งทำแค่สองสามครั้งก็เพียงพอ

ปุ๋ยเป็นอะไรที่เกษตรกรวันนี้ต้องใช้จ่ายมาก ปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้นทุกวัน ชาวบ้านก็ยังก้มหน้าก้มตาหาเงินไปให้พ่อค้า ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า แต่ยากกว่าในแง่ที่ว่าสะดวกน้อยกว่า และต้องอดทนรอให้ดินปรับตัว ฟื้นคืนสภาพอุดมสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายปี และรายได้อาจจะลดลงในระยะแรก แต่ในระยะยาวดีกว่า ให้ผลมากกว่า สุขภาพจะดีกว่า ยั่งยืนกว่า

ปัญหาของปุ๋ยเคมีวันนี้เป็นปัญหาวิธีคิดที่ถูกครอบงำมากกว่าอย่างอื่น เพราะถ้าปรับวิธีคิดได้ก็สามารถทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพได้ ไม่ว่าเกษตรแบบไหนก็ทำได้

วนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์อาจมองไม่เห็นตัวอย่างในเรื่องปุ๋ย เพราะวนเกษตรไม่ต้องใช้ปุ๋ย เนื่องจากเกิดความสมดุลทางธรรมชาติ เกิดปุ๋ยโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยอะไรเลย ไม่ว่าเคมีหรืออินทรีย์ชีวภาพ แต่ผู้ใหญ่วิบูลย์ก็ชี้ให้เห็นว่าสารเคมีไม่ว่ารูปแบบใดทำลายความสมดุลของธรรมชาติ

ถ้าหากมีการใช้อินทรียวัตถุ มีกระบวนการที่ใช้ชีวภาพเข้ามาช่วยก็จะได้อะไรบางอย่างที่น่าจะช่วยการฟื้นฟูความสมดุลได้เร็วยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการวิจัยและพัฒนา “ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ” ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ

สูตร 353 ของผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นสามเรื่องสามด้าน สามมิติซึ่งสัมพันธ์กันอย่างขาดกันมิได้ ต้องมีทั้งสามส่วนสามเรื่องไปด้วยกันเสมอ มีการเรียนรู้ มีการจัดการ มีแผน

แผนที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ทำเองและทำร่วมกับชุมชนสรุปเป็น 3 แผน คือ แผนชีวิต ซึ่งเป็นการวางเป้าหมายชีวิตว่าต้องการอะไร ทำอย่างไรจะมีชีวิตอย่างมีแบบมีแผน ไม่ใช่อยากกินอะไรก็กิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ อยากทำอะไรก็ทำ หรือว่าใคร “สั่ง” ให้กินอะไรก็กิน “สั่ง” ให้ทำอะไรก็ทำ

ชุมชนในอดีตมีวิถีซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เป็นแบบแผนชีวิต ที่วางกันไว้ สั่งสม ถ่ายทอดสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทำให้รู้ว่าจะกินจะอยู่อย่างไร วันนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว วิถีชุมชนก็เปลี่ยน แม้ว่าเรายังมีจารีตประเพณีหลายอย่าง มีงานบุญประเพณีที่ยังทำกันอยู่ แต่หลายอย่างก็หายไป อย่างฮีตสิบสองคองสิบสี่ของคนอีสานวันนี้ก็ทำกันไม่กี่ฮีต ชาวบ้านบอกว่า ทำไม่ได้เพราะคนไม่อยู่บ้าน ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ที่อื่นกันหมด

วันนี้คนที่กำหนดวิถีชุมชน คือสังคมบริโภค พ่อค้าที่อยากขายของ รัฐที่มีแบบมีแผนการพัฒนาประเทศ ในนโยบาย มีงบประมาณ มีกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มีกลไกอีกมากมายที่กำหนดวิถีของผู้คน ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบการจัดการทรัพยากร ฯลฯ

แผนชีวิตเป็นอะไรที่แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชนต้องจัดการด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นก็ต้องไป “ตามกระแส” ซึ่งจะพัดพาไปในที่ที่เขาอยากให้เราไป ไม่ใช่ที่ที่เราคิดเอง ตัดสินใจเอง เลือกเอง มีคนคิดแทน และกำหนดให้เราทำ เราคิดเองไม่เป็น คิดตามคนอื่น ทำตามคนอื่น

การวางแผนชีวิตทำให้อยู่อย่างมีเป้าหมาย มีความหวัง มีความตั้งใจ มีแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งต่างๆ อย่างมีความหมาย รู้ว่าต้องออมอย่างไร และทำไมต้องออม มีเป้าหมายว่าจะใช้หนี้ให้หมดเมื่อไรอย่างไร ไม่ก่อหนี้เพิ่มเพราะรู้ว่ามีขีดจำกัดในการใช้เงินเท่าไร ไม่ใช่มีก็ใช้ (ของตัวเอง) ไม่มีก็ใช้ (ของคนอื่น กู้เขายืมเขา)

ผู้ใหญ่วิบูลย์ให้ “วิชาแก้จน” แก่นายเลี่ยม บุตรจันทาครั้งที่นายเลี่ยมไปสัมมนาที่บ้านห้วยหิน วิชาว่าด้วยการทำ “บัญชีรายจ่าย” (ไม่ได้ทำรายรับเพราะไม่ค่อยมี มีปีละครั้งเมื่อเอาข้าวโพดไปขาย แต่รายจ่ายมีทุกวัน) นายเลี่ยมทำแล้วจึงรู้ว่าทำไมตัวเองถึงจน ทำไมหนี้สินถึงมาก

ผู้ใหญ่วิบูลย์เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เคยทำข้อมูลให้กับทางราชการมาก่อน จึงปรับบางส่วนมาใช้ในการทำงานกับชุมชน ทำให้ง่ายและมีจุดหมายเพียงเพื่อให้แต่ละครอบครัวมีเครื่องมือเล็กๆ ในการสำรวจตนเอง แล้วทำแผนชีวิตของตนเองใหม่ กินอยู่อย่างเป็นระบบมากขึ้น

แผนชุมชน คือ การที่ชุมชนร่วมกันวางแผนชีวิตของตนเอง โดยการสำรวจวิจัยข้อมูลของตนเอง ตั้งแต่การค้นหารากเหง้าของตนเอง ประวัติศาสตร์ชุมชน เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ค้นหา “ทุน” ของตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงเงิน แต่ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ทำข้อมูลรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และปัญหาต่างๆ

การทำแผนชุมชนเช่นนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อค้นหาศักยภาพของตนเอง ค้นหาปัญหาที่แท้จริงและหาทางออกไปพร้อมกัน ไม่ใช่หาแต่ “ปัญหาและความต้องการ” อย่างที่หน่วยงานต่างๆ มักให้ชุมชนทำ การค้นหาแต่ “ปัญหาและความต้องการ” โดยไม่มีการค้นหา “ทุนท้องถิ่น” ทำให้ชุมชนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรอว่า เมื่อเสนอปัญหาและความต้องการไปยังหน่วยเหนือแล้ว “ท่าน” จะให้อะไรเรามา

การทำแผนชุมชนเป็นการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ไม่ใช่การทำข้อมูลเพื่อทำโครงการของบประมาณ เป็นการทำแผนชีวิตนั่นเอง แต่เป็นแผนรวมของชุมชน

แผนทรัพยากรเป็นรายละเอียดของสิ่งที่ผู้ใหญ่วิบูลย์เห็นว่าสำคัญที่สุด เพราะปัญหาใหญ่ของชุมชนวันนี้ คือ การแย่งชิงทรัพยากร ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับนายทุน ชาวบ้านกับรัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งรุนแรงและแบบเงียบๆ แต่รอวันระเบิดเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาเรียนรู้และทำแผนทรัพยากรของตนเอง วันหนึ่งก็จะไม่เหลืออะไร และอยู่ไม่ได้

อำเภอสนามชัยเขตเป็นอำแภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าทุกอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรารวมกัน เป็นพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์เริ่มหดหายไปจนกระทั่งเหลือไม่ถึงครึ่ง การบุกรุกป่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่การรุกรานพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในย่านที่มีเอกสารสิทธิ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไล่ชาวบ้านให้เข้าไปยึดครองพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน

ประมาณ 2531 นายทุนเริ่มรุกพื้นที่แถวๆ ตำบลลาดกระทิง ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์อาศัยอยู่ มีการกว้านซื้อที่ดิน และข่าวบอกว่าจะมีการปลูกยูคาลิปตัสเป็นบริเวณกว้าง ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ขอร้องให้กัลยาณมิตรที่กรุงเทพฯ ช่วยกันซื้อที่ดินแถวนั้นไว้ ซึ่งต่อมาไม่นานที่ดินแถวนั้นก็พุ่งสูงขึ้นไปหลายเท่าตัวตามแรงการปั่นราคา

ปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ดินอย่างเดียว ผู้ใหญ่วิบูลย์บอก แต่เป็นเรื่องน้ำใต้ดิน ซึ่งเริ่มเหือดหายไปจนเห็นได้ชัดว่า ต้นไม้ต่างๆ แห้งตายไปในหน้าแล้งมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปลูกยูคาลิปตัส ซึ่งข้อมูลทางวิชาการบอกว่าวันหนึ่งๆ ยูคาต้นหนึ่งกินน้ำกว่า 70 ลิตร

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งมีความละเอียดอ่อน แต่ผู้คนในท้องถิ่นตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน กว่าจะรู้เรื่องก็สายไปแล้ว เหมือนกรณีของการแย่ง “พื้นที่” ทำมาหากินในเรื่องการค้าปลีก ซึ่งยักษ์ใหญ่ต่างชาติลงไปยึดถึงในหมู่บ้าน โดยที่องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ คิดถึงแต่รายได้จากภาษีเพียงเล็กน้อย ไม่ได้คิดถึงผลเสียหายที่เกิดกับชาวบ้านที่มีร้านค้าเล็กๆ ของตนเอง ไม่ได้คิดถึงโอกาสที่จะมีร้านค้าชุมชนที่ก่อเกิดเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง

ประเทศที่ท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ค้าปลีกยักษ์ใหญ๋เหล่านี้อยู่ไม่ได้ ต้องหนีกลับบ้านไป เพราะถูกคนในท้องถิ่นต่อต้านและซื้อกิจการไปหมด

ผู้ใหญ่วิบูลย์พูดกับชาวบ้านบ่อยๆ ว่า ชาวบ้านต้องเรียนรู้ที่จะจัดการทรัพยากรให้เป็น และทำหลายๆ ขั้นตอน ไม่เพียงแต่หาเงินมาซื้อและบริโภคเป็นอย่างเดียว แต่ควรจะผลิต แปรรูป และเอาไปขายได้

ฟังดูอาจจะแปลกสำหรับคนที่รู้จักผู้ใหญ่วิบูลย์ แต่ถ้าฟังให้จบก็จะเข้าใจ เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้เร่งเร้าให้ชาวบ้านผลิตเพื่อขาย แต่ให้ทำกิน เพียงแต่เมื่อเหลือก็เอาไปขาย และควรขายให้เป็น อะไรแปรรูปได้ก็ทำ อะไรเอาไปขายสดก็เอาไป ถึงได้จัดตลาดริมทางหน้าบ้านตนเองให้ชาวบ้านเอาผัก ผลไม้ ของที่มีในชุมชนไปวางขาย

ผู้ใหญ่เล่าว่า ตอนแรกๆ ชาวบ้านไม่เคยค้าขายก็อาย บางคนหลบไปอยู่ข้างหลังต้นไม้ ทั้งๆ ที่ตนเองขายของแต่อายลูกค้า ต้องมีคนคอยช่วยขายให้ ผู้ใหญ่บอกว่า ทุกอย่างต้องเรียนรู้ เรียนรู้วิธีพูดกับคนซื้อ การต่อรองราคา และอื่นๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่ไม่เคยมาก่อน

การเรียนรู้เพื่ออยู่รอดวันนี้ เกษตรกรต้องทำหลายอย่าง นอกจากต้องปรับตัวมาค้ามาขาย แม้ว่าจะไม่เคย ก็ต้องรวมตัวกันในการบริหารจัดการผลผลิตที่เหลือกินเหลือใช้ เป็นเรื่องสหกรณ์ เป็นเรื่องอุตสาหกรรมชุมชน ซึ่งต่อมามีเรื่องวิสาหกิจชุมชนเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งก็อยู่ในแนวคิดเดียวกัน คือ การรวมกลุ่มกันบริหารจัดการผลผลิต ทรัพยากร ทุนของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ เกิดความมั่นคงยั่งยืน

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้เรียนรู้จากที่ต่างๆ ได้เรียนรู้จากธรรมชาติ จากชุมชน และจากชีวิตของตนเองว่า ถ้าหากไม่มี “ความรู้” ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างที่วันนี้เราเรียกกันว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ คือ ต้องใช้ความรู้ในการบริหารจัดการ

แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อยากเห็น คือ การที่จัดการโดยเอาตลาดเป็นตัวตั้ง ผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ขายเพื่อให้ได้กำไรเป็นหลัก การพึ่งพิงตลาดเช่นนั้นทำให้เกษตรกรต้องขึ้นต่อตลาดจนตลาดกลายเป็นผู้กำหนดการผลิต กำหนดชีวิตของเกษตรกรในท้ายที่สุด อย่างที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ใหญ่เองและกับใครๆ ที่ไถลเข้าไปในกระแสของมัน ซึ่งวันนี้วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า “ตลาดเสรี” ไม่มีจริง กลไกตลาดที่กำหนดทุกอย่างไม่มีจริง มีคนที่กำหนด คนที่มีอำนาจเงิน อำนาจความรู้ อำนาจการเมืองที่กำหนดสิ่งเหล่านี้

ผู้ใหญ่ย้ำเสมอว่า การพึ่งตนเองของเกษตรกรในกรณีของการดำเนินงานแบบสหกรณ์ แบบผลิตร่วมกัน หรือนำผลผลิตมารวมกัน หรือดำเนินการเป็นอุตสาหกรรมชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ควรเร่งรีบทำอะไรใหญ่โต เพราะจะกลายเป็นกระโดดเข้าไปสู่วงจรของตลาดโดยที่ยังไม่พร้อม ไม่มีหลักประกัน ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่มีปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงหรือลดอันตรายถ้าหากพลาดพลั้ง “ตกลง” มา เพราะมันเป็นอะไรที่เสี่ยงเหมือนนักกายกรรมเหินเวหา ถ้ามีตาข่ายคอยรับอยู่ข้างล่าง หรือมีสลิงค์รัดเอวก็มั่นใจว่า ตกลงมาไม่บาดเจ็บหรือตาย

การทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ การเริ่มต้นทำกินทำใช้ในครัวเรือน ขยายออกมาสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน เน้นตลาดท้องถิ่น เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้สามารถขยายออกไปสู่ตลาดภายนอกได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ตลาดใหญ่เป็นตลาดแข่งขัน แม้จะไม่เน้นที่การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้ อยากออกไปสู่ตลาดใหญ่ก็ต้องมีฝีมือระดับนั้น ไม่เช่นนั้นก็ทำอะไรเล็กๆ ในขอบเขตของท้องถิ่น

การเรียนรู้เหล่านี้เริ่มต้นจากที่บ้าน ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า มีพ่อค้าเข้ามาหาซื้อมะม่วงแก้ว เห็นต้นที่บ้านสุกและร่วงหล่นลงดิน จึงขอซื้อกิโลละบาท ผู้ใหญ่ไม่ขาย เพราะไม่ได้ร้อนเงิน ไม่ได้เป็นหนี้ ไม่ต้องรีบขาย “ป้าบูรณ์” ภรรยาผู้ใหญ่เอามะม่วงสุกไปทำมะม่วงแผ่นขายกิโลละ 60-70 บาท ที่หล่นลงดินก็นำไปเพาะไปกล้าขายได้อีกต้นละ 5 บาท 10 บาท

ในสวนวนเกษตรมีไม้มากมายที่สามารถขายได้ ใครๆ ที่ไปเยี่ยมมักมองไม่เห็น และไม่เข้าใจ หลายคนคุยกันว่า “ลุงคนนี้แกอยู่ได้ยังไงในป่าแบบนี้ ไม่เห็นมีอะไรกินได้ ขายได้เลย” คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการไปตลาด มองเห็นอาหารวางขายเต็มไปหมด ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องมองอะไรมาก เข้าสวนวนเกษตรด้วยสายตาแบบนั้นมองอะไรไม่เห็น “ตาไม่ถึงของ” อย่างแน่นอน

ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า ได้รับเชิญไปร่วมการสัมมนา ไปอภิปราย ไปบรรยายที่ต่างๆ บางแห่งให้ค่ารถเท่ากับรถเมล์หวานเย็น ไม่ได้ให้ค่าน้ำมันรถที่ผู้ใหญ่เหมาไปหรือให้คนขับไปให้ ผู้ใหญ่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันรถเองก็บ่อย หลายครั้งเข้าก็ไม่มีเงิน ผู้ใหญ่ก็ขุดเอาต้นปาล์มต้นหมากจำนวนหนึ่งในสวนไปขาย ได้เงินหลายพันบาท แก้ขัดได้ หมากแดงต้นเดียว สูงสักสองสามเมตรก็ราคาเป็นพันแล้ว

หลายคนมองไม่เห็น และไม่เคยเดินนับว่า ต้นหมากแดง หมากเขียว และปาล์มสวยๆ ในสวนมีกี่ต้น ผู้ใหญ่บอกว่า นับให้ดีมีเป็นพัน เพียงแต่มันกระจัดกระจายไม่ได้อยู่ที่เดียว มีต้นไม้ใหญ่ ไม้เนื้อแข็งเนื้ออ่อนจำนวนมาก และมากพอจนสามารถนำมาใช้สร้างบ้านหลังใหม่ของผู้ใหญ่ ซึ่งเพิ่งเข้าอยู่เมื่อกลางปี 2551 นี้ เป็นการยืนยันว่า วนเกษตรทำให้พึ่งตนเองได้

ผมไปแอฟริกา เคยนำสไลด์และเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ใหญ่วิบูลย์ไปเล่าให้ผู้นำเกษตรกรในหลายประเทศ พวกเขาประทับใจมาก ไม่ใช่พราะได้เห็นการปลูกป่า หรือทำวนเกษตร แต่ได้เข้าใจเรื่องการพึ่งตนเองจากประสบการณ์ชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งผ่านการเป็นหนี้เป็นสิน ความล้มเหลวของการอยู่ในสังคมยุคใหม่แบบไม่พร้อม ไม่พร้อมเพราะตนเองไม่ได้เรียนรู้ ไม่พร้อมเพราะไม่มีโอกาสทางสังคมเศรษฐกิจ ไม่พร้อมเพราะระบบโครงสร้าง ทั้งหมดรวมกันทำให้มีปัญหา

ชาวแอฟริกันพบว่า พวกเขามีปัญหาเดียวกัน คือ การหลงเข้าไปในระบบทุนนิยม เข้าสู่ “ตลาดเสรี” ปลูกพืชเดี่ยวที่อาจไม่เหมือนเมืองไทย หลายแห่งปลูกถั่วลิสง แต่ก็เป็นหนี้เป็นสินและต้อง “ขึ้นต่อ” พ่อค้านายทุนทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกับเกษตรกรไทย

การพึ่งตนเองของผู้ใหญ่วิบูลย์ทำให้เราได้บทเรียนที่สำคัญว่า ถ้าหากไม่ “รู้เท่าทัน” สภาวการณ์ของ “ตลาดเสรีนิยม” วันนี้ และที่สำคัญ ถ้าหากไม่ “รู้เท่าทันตัวเอง” ก็ยากที่จะอยู่รอดในโลกที่แข่งขันกันอย่างโหดร้ายนี้ โลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก โลกที่มี “ขนาดเสรี” (free size) มากจนมีเพียงกฎเดียว กติกาเดียวสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะใหญ่หรือเล็ก คุณจะน้ำหนักเท่าไรไม่แยกรุ่น ไม่แยกประเภท ให้คุณขึ้นไปชกบนเวทีเดียวเท่านั้น

ถ้าไม่พร้อม ผู้ใหญ่บอกว่า “อย่าขึ้นไปบนเวทีนั้นเลย” สู้อยู่ในที่ของเราเอง และอยู่แบบเรียบง่าย พอเพียงดีกว่า และมั่นใจได้ว่า อยู่ที่นี่ “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินตลอดชีวิต” อย่างแน่นอน เพราะอยู่ที่นี่เราพึ่งตนเองได้