เกาะหอมแดง

ชื่อวงศ์ : IRIDACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eleutherine americana (Aubl.) Merr.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมืองอื่น : บ่อเจอ, เพาะบีเบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ว่านไก่แดง, ว่านเข้า, ว่านหมาก (ภาคเหนือ) ; ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) ; ว่านหอมแดง, หอมแดง (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (ExH) มีหัวใต้ดินลักษณะรูปไข่ยาว คล้ายหัวหอมและแข็ง เปลือกหุ้มภายนอกหัวมีสีแดงจัด แต่กลิ่นไม่ฉุนเหมือนหัวหอม ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้งหรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรีรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ และมีรอยจีบ แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างบาง เส้นกลางใบและเส้นใบมีขนาดเท่า ๆ กัน ออกขนานตามแนวยาวของแผ่นใบ โดยที่เส้นใบจะนูนเป็นสันสลับเป็นร่องกว้างทั้งด้านบนและด้านล่าง

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีจำนวน 4-10 ดอก แทงช่อสูงจากลำต้นใต้ดินขึ้นมาระหว่างกาบใบ ดอกมีสีขาวขนาดเล็ก คล้ายดอกดาวเรือง มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ซ้อนกันอยู่ เกสรเพศผู้มี 3 อัน สีเหลืองสดติดอยู่ที่โคนกลีบดอก เกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก สีเหลือง

ผล รูปขอบขนาน หัวตัด มี 3 ช่อง เมล็ดรูปรีอัดกันแน่น

นิเวศวิทยา

เกิดตามป่าดิบราบต่ำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนและใช้เป็นยา

การปลูกและขยายพันธุ์

สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหยาบหรือดินร่วนทั่ว ๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยหัว หรือต้นที่เกิดใหม่

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

เหง้าหัวใต้ดิน รสร้อนปร่า หอม แก้หวัด แก้ลมในกระเพาะอาหาร ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และลดการอักเสบ

ลำต้น รสหอมปร่า ขับเลือดในสตรี

ใบ รสเฝื่อน ใช้เป็นผักรับประทานได้

ดอก รสปร่าหอม แก้โรคตา แก้เด็กนอนสะดุ้ง ผวา

วิธีและปริมาณที่ใช้

    • แก้อาการหวัด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก และเป็นยาขับลมในลำไส้เด็ก แพทย์พื้นบ้านใช้เหง้าหัวใต้ดิน 3-5 หัวผสมกับว่านเปราะหอมปรุงเป็นยาสุมหัว

    • แก้กลากเกลื้อนและโรคผิวหนัง โดยใช้เหง้าหัวใต้ดิน 5 หัว ล้างให้สะอาดโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็น เช้า-เย็น น้ำยาที่ได้จากเหง้าหัวใต้ดินยังสามารถใช้ทาแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้องได้