เรื่องที่ 2.3 แนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย

  แนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย และ สามารถทําได้ดังนี้

  1. การรอมชอมที่ทุกฝ่ายพอรับได้เพื่อให้เกิดสถานการณ์แบบที่ทุนนิยมเรียกว่า “Win-Win Situation” หรือที่สังคมนิยมใช้คําพูดว่า การกระทําทุกอย่างควรพิจารณาก่อนว่า “มีเหตุผล ได้ประโยชน์ และ รู้ประมาณ” บนความแตกต่างจะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ได้อย่างไร

  2. คนไทย ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนต้องทําความเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่า ความแตกต่างทางความคิดนั้น เป็นปกติวิสัยของระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่คิดต่างจากเราไม่ใช่ศัตรูของเราและด้วยเหตุนี้จึงไม่จําเป็นต้องทําตามผู้ที่ปลุกระดมให้คนมาทําร้ายกัน คนไทยไม่จําเป็นต้องฆ่ากันเพียงเพราะความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยม หรือ อุดมการณ์แตกต่างกัน รัฐบาลและสถาบันทหารก็ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเช่นกัน

  3. สังคมไทยเป็นสังคมแห่งพระศาสนาที่หาทางพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก จึงควรหากิจกรรมหล่อหลอม จิตใจคนไทยให้เป็นหนึ่งโดยเลิกปรุงแต่งอารมณ์ เลิกหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสาร วางจิตใจให้เป็นกลาง และยึด ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

  4. ควรรวมตัวกันตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างเข้มข้น ไม่มีอารมณ์ตามแรงยั่วยุ แต่หันมาทํากิจกรรมเชื่อมประสานความรักความเกื้อกูลต่อกันของคนไทย ในแต่ละชุมชนและในที่สาธารณะ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัย ควบคู่ไปด้วย

  5. สื่อสารมวลชนจะต้องช่วยกันนําเสนอข้อมูลความจริงจากการนําเสนอทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ ข้อมูลแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและแสวงหาทางเลือกว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไรในการเลือกตั้ง ครั้งต่อไป โดยต้องช่วยกันให้ความรู้ ความจริงแก่ประชาชนทุกด้าน

  6. ประชาชนทุกฝ่ายต้องเปิดใจยอมรับความจริง ยอมรับความถูกต้อง หันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ยุติความขัดแย้ง เกิดความสามัคคี เกิดความสงบสุข เกิดการพัฒนา ประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป ถ้าไม่ขจัดความขัดแย้ง ประเทศไทยก็จะไม่เกิดสันติ ไม่มีความสามัคคีและหา ความสงบสุขไม่ได้

  7. สร้างความปรองดองในชาติอย่างแท้จริงโดย

  7.1 ช่วยกันทําให้ประชาชนได้รับการกระจายทรัพย์สิน รายได้ที่เป็นธรรม

  7.2 ให้ประชาชนได้รับการศึกษา ได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพรู้จักคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีวุฒิภาวะ

  7.3 ประชาชนไม่ควรถูกยุยงให้เกลียดชังประชาชนกลุ่มอื่นที่คิดแตกต่าง ยกเว้นพวกทําผิด กฎหมายและใช้ความรุนแรง แต่ประชาชนควรเข้าใจและเกลียดชังปัญหาความยากจน ปัญหาคอรัปชั่นหรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาการใช้อภิสิทธิ์ ใช้อํานาจและการหาประโยชน์เกินขอบเขตของนักการเมือง ตํารวจ ทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจชั้นสูง เป็นต้น

  7.4 ช่วยกันคิด ช่วยกันจัดตั้งองค์กรเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมา โดยที่คนรวย ชนชั้นกลางของไทยซึ่งมีช่องว่างกับคนจนมากควรยอมลดประโยชน์ส่วนตัวลงมาช่วยคนจน เพิ่มขึ้น


สรุปสาระสําคัญ

  การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย และอยู่บนพื้นฐานของความจริงจัง และจริงใจ และการแก้ปัญหาต้องแก้ที่สาเหตุ วิเคราะห์อย่างรอบคอบ และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน