เรื่องที่ 2.1 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สําคัญของไทย

  ความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนํา ที่ยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้ง เชิงอุดมการณ์ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 - 2525 ซึ่งสิ้นสุดลงด้วย นโยบายการให้อภัย ตามคําสั่งที่ 66/2523 ต่อมาก็เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับกระแสเรียกร้อง ประชาธิปไตยของประชาชน อันก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

  แต่ความขัดแย้งที่ผ่านมายังไม่มีความรุนแรงเท่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 และพัฒนามาเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างคนไทยด้วยกันเองคือฝ่ายที่นิยม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และฝ่ายที่ต่อต้านบุคคลดังกล่าว ความขัดแย้งนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อไร และอย่างไร แต่ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือผลกระทบมีความรุนแรงมากหลายด้าน ดังนี้ 


        1.ความขัดแย้งดังกล่าวถูกกระพือให้เป็นความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างประชาชน ลุกลามไปทุกที่ ไม่ว่าในครอบครัว ในบรรดาเพื่อนฝูงที่ทํางาน จนแม้ระหว่างคนในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะคนภาคเหนือและ ภาคอีสานฝ่ายหนึ่งกับคนภาคใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ถึงขั้นที่มีการตั้งคําถามถึงเอกภาพและบูรณภาพของความเป็นชาติไทย หากไม่สามารถขจัดความรู้สึกแตกแยกรุนแรงนี้ให้ยุติลงได้ในอนาคตอันใกล้ อาจจะทําให้อุดมการณ์ ความเป็นชาติไทยสั่นคลอนได้

  2. ไม่มีความขัดแย้งครั้งใดที่เกือบทุกสถาบันหลักของประเทศถูกตั้งคําถามถึงความชอบธรรม และบทบาทมากที่สุด ในช่วงระยะเวลานี้ รัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศชุดต่อๆ มามักจะถูกต่อต้านจาก ฝ่ายตรงกันข้าม รัฐสภาก็ถูกตั้งฉายาที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับองค์กรอิสระก็ถูกท้าทายและไม่ยอมรับ ศาลซึ่งไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกวิพากษ์อย่างเปิดเผย สถาบันองคมนตรีซึ่งควรอยู่เหนือความขัดแย้ง ทางการเมือง ก็เป็นเป้าการโจมตีของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม วิกฤติการณ์นี้นั่นทอนความเชื่อมั่น (Trust) ในสถาบันทั้งหลาย และอาจนํามาซึ่งความล่มสลายของประชาธิปไตยได้ในอนาคต

 3. หลักนิติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในบ้านเมืองถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงโดย รัฐเองและประชาชน การทุจริตที่ปรากฏเป็นข่าวมากมายในฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ความไม่สงบใน 3 จังหวัด ภาคใต้ และการชุมนุมของฝูงชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งสามารถกระทําได้โดยมิได้มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการท้าทาย ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทําให้มีการตั้งคําถามกันว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ซึ่งไม่ สามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศได้จริงหรือไม่ ยิ่งถ้าดูเทียบกับดัชนีวัดหลักนิติธรรมของ สถาบันธนาคาร โลก (World Bank Institute) แล้วก็จะพบว่าในปี 2550 สถานะของหลักนิติธรรมใน อาเซียนนั้น ไทยดีกว่าเพียงพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์เท่านั้น

  4. การลุกลามของความขัดแย้งในประเทศนําไปสู่ปัญหาระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา ซึ่งถ้าไม่จัดการให้ดีก็จะกระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งอาจลุกลามไปสู่ภูมิภาคอาเซียนก็เป็นได้

  5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ยังไม่มีสถาบันใดทําตัวเลขให้เห็นชัดสําหรับความสูญเสีย ดังกล่าวของประเทศไทย แต่ถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่ความรุนแรงของความขัดแย้งของสังคมน้อยกว่า ไทยมาก ก็จะเห็นความน่ากลัว จากรายงานของสถาบันพัฒนาเกาหลี Korean Development Institute) ในปี 2549 ซึ่งระบุว่ามีการเดินขบวน 11,036 ครั้ง ทําให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 5.6 – 9.6 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ ประเทศไทยมีความรุนแรงกว่ามาก ซึ่งยังไม่มีใครทําตัวเลขออกมา ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลที่เกิดขึ้น แล้ว แต่ถ้าดูผลที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปก็คือความเชื่อมั่นของสังคมโลกต่อประเทศไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม คงถูกกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

สาเหตุของความขัดแย้ง

  หากพิจารณาอย่างผิวเผินความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องของ “บุคคล” ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและผู้สนับสนุน กับฝ่ายต่อต้าน ถ้าวิเคราะห์แนวนี้ก็พอจะมองออกว่า เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีและ ผู้สนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกราไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ความขัดแย้งนี้ก็จะจบลง และ ประเทศไทยก็จะเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ

แต่จุดอ่อนของการวิเคราะห์แนวนี้คือ ไม่ได้ดูที่ “ต้นเหตุ” ของการ ได้มาซึ่งอํานาจการเมืองของ ผู้ที่มีอํานาจเดิมและการใช้อํานาจ (ซึ่งรวมถึงอํานาจตามกฎหมาย อิทธิพลหรืออํานาจในความเป็นจริงและเงิน) ว่ามีฐานมาจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่ซ่อนตัวอยู่ในความขัดแย้งดังกล่าว ถึงแม้จะมีลักษณะบุคคลของคู่ขัดแย้งอยู่ก็จริงแต่โดยรากฐานสําคัญก็คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ในการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งระหว่าง “คนมี” กับ “คน ไม่มี” รวมถึงแนวความคิดและความคาดหวัง ต่อระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน

  นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2504 มี การกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนําเข้า (Import Substitution) ซึ่ง ต้องอาศัยการพึ่งพาเงินทุนมหาศาลจากต่างประเทศ นโยบาย และกฎหมายต่างๆ ที่ออกในช่วงนี้ก็เป็นไปเพื่อ ตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าวทั้งสิ้น เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น ต่อมายุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (Export Oriented) ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 และ 5 อย่างไรก็ดี การเกษตรกรรมที่เคยเป็นรายได้หลักของ ประเทศกลับไม่ได้รับความสําคัญดังนั้นการเพิ่มผลผลิตจึงต้องใช้การขยายพื้นที่ ไม่ใช่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทั้งยังไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

  นอกจากไม่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนา ยกเว้นการพยุงราคาเมื่อมีปัญหาแล้ว ในหลายกรณี รัฐก็กลับกระทําการที่เป็นผลเสียต่อเกษตรกรเสียเอง อาทิ การเก็บพรีเมี่ยมข้าวที่ส่งออก ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออก ผลักภาระไปกดราคาซื้อข้าวจากชาวนาให้ตกต่ำลงไป นโยบายส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก ละเลยธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก และไม่ไยดีกับการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรซึ่งเป็นคน ส่วนใหญ่ของประเทศ

จากนโยบายดังกล่าว ทําให้เกิดความกระจุกตัวของความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ในขณะที่เกิด “คนมั่งมีมหาศาล” และ “คนชั้นกลาง” ที่มีอํานาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและเข้าถึงทรัพยากรขึ้น ในเมือง และเกิด “คนจน” ที่เป็นเกษตรกรและอยู่ในชนบทมาก และแม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้ ประชาชาติต่อคนเพิ่มขึ้น ในปี 2505 กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุด 20% เป็นเจ้าของรายได้โดยรวม ทั้งหมดของประเทศถึง 59% ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% เป็นเจ้าของรายได้โดยรวม ทั้งหมดของประเทศเพียง 2.9% ส่วนในปี พ.ศ. 2518 อัตราส่วนอยู่ที่ 49.24 % ต่อ 6.05 % และในปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา อัตราการกระจายรายได้ ก็ยังคงความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 56.29% ต่อ 3.84 %

  โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในสังคมไทยจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมือง เช่นกัน กล่าวคือ “คนจน” และเกษตรกรเหล่านี้ ไม่มีอํานาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเหมือนคนชั้นกลาง และเข้าไม่ถึงทรัพยากร (ซึ่งในอดีตเคยเข้าถึงแต่ถูกรัฐส่วนกลางรวบอํานาจจัดการแต่ผู้เดียวไว้) คนเหล่านี้จึงต้อง “พึ่งพิง” ผู้มีทรัพยากรในหัวเมือง ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบไทยเดิม และทําให้คนเหล่านี้เป็น “ผู้มีอิทธิพล” และสามารถได้รับความไว้วางใจเลือกให้เข้ามาทําหน้าที่แทน ในฐานะผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย และก้าวไปสู่อํานาจรัฐที่มากกว่านั้นในฐานะรัฐมนตรี

  การที่ระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกตลาดอย่างเต็มที่ และรัฐยังคง ครอบครองทรัพยากรสําคัญไว้และให้สัมปทานแก่เอกชน การเข้าสู่อํานาจการเมืองจึงไม่ได้หมายถึงการมี “อํานาจ” เท่านั้น แต่หมายถึง “โอกาส” ทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่เกิดจากการมีอํานาจให้สัมปทาน หรืออาจ ได้รับสัมปทานเสียเอง ซึ่งในหลายกรณีทําให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็น “ผู้มั่งมี” ขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว การทุจริต และการประพฤติมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น โดยทั่วไป ทั้งระดับการตัดสินใจของรัฐทางการเมือง และทั้งในระบบการเลือกตั้ง

  โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมและระบบการพึ่งพิงกันแบบอุปถัมภ์ฝังรากลึกอยู่ในระบบการ เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยมีลักษณะสําคัญก็คือสภาพที่นักวิชาการเรียกว่า “คนจน” ซึ่งต้องพึ่งพิง การอุปถัมภ์และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น “ฐานเสียง” และเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียงข้างมากในสภาและรัฐบาล แต่ “คนชั้นกลาง” เป็น “ฐานนโยบาย” เพราะเสียงดังกว่าและมีอํานาจล้มล้างรัฐบาลที่ตนไม่ชอบได้ ในขณะที่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ซึ่งเป็นตัวแทนอํานาจรัฐที่แท้จริง ก็ยังคงแย่งชิงอํานาจทางการเมืองกับ พรรคการเมืองและผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

  สภาพการดังกล่าวก่อให้เกิดผลสําคัญในระบอบการเมืองไทย คือ ในระยะเวลา 78 ปีของระบบ รัฐสภา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 27 คน มีคณะรัฐมนตรี 59 ชุด มีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มีกบฏ 11 ครั้ง มีการปฏิวัติรัฐประหาร 12 ครั้ง

  สําหรับเม็ดเงินภายในประเทศนั้น หากดูจากบัญชีเงินฝากในธนาคาร มีเพียง 70,000 บัญชี ที่มี เงินในแต่ละบัญชีสูงกว่า 10 ล้านบาท และถือเป็นร้อยละ 42 ของจํานวนเงินที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด หมายความว่า ถ้าคนแต่ละคนมีบัญชีธนาคารคนละ 2 บัญชี แสดงว่ามีคนเพียง 35,000 คนเท่านั้น ที่เป็นเจ้าของเงินเกือบ ครึ่งหนึ่งในประเทศ

  ด้วยเหตุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่าง “คนมั่งมีมหาศาล” และ “คนชั้นกลาง” ฝ่ายหนึ่ง กับ “คนจนส่วนใหญ่” อีกฝ่ายหนึ่ง ซ่อนตัวอยู่ใต้เศรษฐกิจแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด และการเมืองแบบกึ่งเผด็จการ กึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่รอวันปะทุขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง แม้ว่าจะมีความพยายามปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ ทําให้การเมืองเป็นของพลเมืองด้วยการขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น พยายาม ทําให้ระบอบการเมืองโปร่งใสและสุจริตด้วยการเพิ่มองค์กรตรวจสอบมากถึง 8 องค์กร และมีกระบวนการ ตรวจสอบหลายชั้น รวมทั้งการทําให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้ปรับความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกและซ่อนอยู่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดมาจาก การจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกลับทําให้พรรคการเมืองต่างๆ มุ่งแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มีอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญเอง ในขณะที่ข้อบกพร่องที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งที่กําลังจะปะทุขึ้น