ตอนที่ 3

พระพุทธศาสนาคือศาสตร์แห่งการศึกษา และการแก้ปัญหาโดยอาศัยเหตุปัจจัย

พระพุทธศาสนาคือศาสตร์แห่งการศึกษา

       คําว่า “การศึกษา” มาจากคําว่า “สิกขา” โดยทั่วไปหมายถึง “กระบวนการเรียน “ “การฝึกอบรม” “การค้นคว้า” “การพัฒนา” และ “การรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า การศึกษาในพระพุทธศาสนา มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงระดับสูงสุด เมื่อแบ่งระดับอย่างกว้าง ๆ มี 2 ระดับ คือ

       1. การศึกษาระดับโลกิยะ มีความมุ่งหมายเพื่อดํารงชีวิตในทางโลก

       2.การศึกษาระดับโลกุตระ มีความมุ่งหมายเพื่อดํารงชีวิตเหนือกระแสโลก

       ในการศึกษาหรือการพัฒนาตามหลักพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าสอนให้คนได้พัฒนาอยู่ 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านศีล ด้านจิตใจ และด้านสติปัญญา โดยมีจุดมุ่งหมายให้มนุษย์เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มิใช่ เป็นคนดีแต่โง่ หรือเป็นคนเก่งแต่โกง การจะสอนให้มนุษย์เป็นคนดีและคนเก่งนั้นจะต้องมีหลักในการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งในการพัฒนามนุษย์นั้นพระพุทธศาสนามุ่งสร้างมนุษย์ให้เป็นคนดีก่อน แล้วจึงค่อยสร้างความเก่งภายหลัง นั่นคือสอนให้คนเรามีคุณธรรม ความดีงามก่อนแล้วจึงให้มีความรู้ความเข้าใจหรือสติปัญญาภายหลัง

       การที่พระพุทธศาสนามีความสําคัญในด้านเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

       1. พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักการศึกษา พระองค์ทรงมีหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมายของการศึกษา อย่างแท้จริง จากเหตุการณ์ตัวอย่างเช่น

             1.1 การศึกษาในระยะต้น ทรงศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ตามประเพณีนิยมจนจบศิลปศาสตร์ 18 ประการ

                1.2 การออกบรรพชา ทรงแสวงหาความรู้ ทดลองปฏิบัติด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ใฝ่เรียนใฝ่รู้ นําไปสู่การค้นคว้าปฏิบัติจนประสบผลสําเร็จ ซึ่งระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันได้นํามาเป็นแนวทางการจัดการศึกษา

                1.3 หลังจากสําเร็จอรหันต์แล้ว พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพุทธสาวกโดยใช้เทคนิคการสอนหลาย รูปแบบ เช่น

                      1) สอนให้เหมาะสมกับบุคคล สอนตามพื้นเพของบุคคลนั้นว่าจะรับได้มากน้อยเพียงใด จน บุคคลนั้นบรรลุผลตามคําสอน

                      2) สอนจากต่ำไปหาสูง คือ สอนจากง่ายไปหายาก จากสิ่งใกล้ตัวไปหาสิ่งไกลตัว เช่น สอนอนุปุพพิกถา แก่ยสกุลบุตร โดยกล่าวถึง ทาน คือ การให้ศีล คือ การรักษากายวาจา สวรรค์ คือ ความสุขที่คนพึงประสงค์ กามาทีนวะ คือ โทษของกามสุขหรือสวรรค์ และเนกขัมมานิสงส์ คือ ผลดีของการละความสุข

                      3) สอนโดยใช้วิทยากร หรือใช้บุคคลอ้างอิง เช่น ตรัสถามอุรุเวลกัสสปะถึงลัทธิเดิมที่ไม่มี แก่นสาร เพื่อสอนชาวเมืองมคธจนบรรลุโสดาปัตติผล

                   4) สอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน เช่น ทรงใช้ผ้าขาวเป็นอุปกรณ์การสอนจูฬปันถกะที่ถูกพี่ชายหาว่าโง่ สอนไม่ได้ พระองค์ให้จูฬปันถกะลูบผ้าขาวจนกลายเป็นสีดําเพราะเหงื่อไคล เกิดความสังเวชใจ ได้พิจารณาเห็นไตรลักษณ์ บรรลุอรหันต์ในที่สุด

                      5) สอนโดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ หรือ ใคร่ครวญด้วยสติปัญญา สอนโดยให้ผู้ฟังสรุปเหตุผลเอาเอง

             นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังใช้ศิลปะในการสอนที่เรียกว่า วาทศิลป์ ที่ยอดเยี่ยม เพราะทรงรู้ว่าแต่ละคนมีนิสัยแตกต่างกัน วาทศิลป์ที่ทรงใช้มี 4 แบบคือ

                สันทัสสนา สอนให้ผู้ฟังเกิดความชัดเจนเหมือนมองเห็นด้วยตา

                สมาทปนา สอนให้ผู้ฟังเกิดการคล้อยตาม และยอมรับคําสอนโดยไม่ฝืนใจ

                สมุตเตชนา สอนให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ เกิดพลังทางใจ ฮึกเหิม

                สัมปหังสนา สอนให้ผู้ฟังเกิดความร่าเริงหรรษาสนุกและเบิกบานขณะที่ฟัง

             การนําหลักวิธีสอนดังกล่าวของพระพุทธเจ้ามาใช้ต้องฝึกฝนให้เกิดความชํานาญ เรียนรู้หลัก วาทศิลป์เพื่อจะได้เป็นครูที่ประสบผลสําเร็จ

ที่มา: https://jiab007.wordpress.com/2019/04/01/มรรค-ไตรสิกขา/

 

2. กระบวนการศึกษาในพระพุทธศาสนา คือไตรสิกขา

       หลักในการศึกษาของพระพุทธศาสนานั้นจะมีลําดับขั้นตอนการศึกษา โดยเริ่มจากสีลสิกขา ต่อด้วยจิตตสิกขาและขั้นตอนสุดท้ายคือ ปัญญาสิกขา ซึ่งขั้นตอนการศึกษาทั้ง 3 นี้ รวมเรียกว่า “ไตรสิกขา” ซึ่งมีความหมาย ดังนี้

                2.1 สีลสิกขา การฝึกศึกษาในด้านความประพฤติทางกาย วาจา และอาชีพ ให้มีชีวิตสุจริตและเกื้อกูล (Training in Higher Morality)

                2.2 จิตตสิกขา การฝึกศึกษาด้านสมาธิ หรือพัฒนาจิตใจให้เจริญได้ที่ (Training in Higher Mentality หรือ Concentration)

                2.3 ปัญญาสิกขา การฝึกศึกษาในปัญญาสูงขึ้นไป ให้รู้คิดเข้าใจมองเห็นตามเป็นจริง (Training in Higher Wisdom)


ความสัมพันธ์ของไตรสิกขา

             ความสัมพันธ์แบบต่อเนื่องของไตรสิกขานี้ มองเห็นได้ง่ายในชีวิตประจําวัน ดังนี้ ศีล ไปสู่ สมาธิ เมื่อประพฤติดี มีความสัมพันธ์งดงาม เท่ากับสามารถดําเนินชีวิต โดยสุจริตมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน ไม่ต้องกลัวต่อการลงโทษ ไม่สะดุ้งระแวงต่อการประทุษร้ายของใคร ไม่หวาดหวั่นต่อเสียงตําหนิ หรือความรู้สึกไม่ยอมรับของสังคม และไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เพราะความรู้สึกเดือดร้อนในความผิดของ ตนเอง จิตใจก็เอิบอิ่ม ชื่นบานเป็นสุข ปลอดโปร่ง สงบ และแน่วแน่ มุ่งไปกับสิ่งที่คิด คําที่พูดและการงานที่ทํา

             ส่วนสมาธิ ไปสู่ปัญญาคือเมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่าน สงบ อยู่กับตัว ไร้สิ่งขุ่นมัวสดใสมุ่งไปอย่างแน่วแน่เท่าใด การรับรู้ การคิดพินิจพิจารณามองเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ก็ยิ่งชัดเจน ตรงตามจริงแล่น คล่องเป็นผลดีในทาง ปัญญามากขึ้น

             อุปมาในเรื่องนี้ เหมือนว่าตั้งภาชนะน้ำไว้ด้วยดีเรียบร้อย ไม่ไปแกล้งสั่นหรือเขย่ามัน ( ศีล ) เมื่อน้ำไม่ถูกกวน คน พัด หรือเขย่า สงบนิ่ง ผงฝุ่นต่าง ๆ ก็นอนก้น หายขุ่น น้ำก็ใส (สมาธิ) เมื่อน้ำใส ก็มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน (ปัญญา)

             ไตรสิกขานี้ เมื่อนํามาแสดงเป็นคําสอนในภาคปฏิบัติทั่วไป ได้ปรากฏในหลักที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ (พุทธโอวาทที่เป็นหลักใหญ่) คือ

                      สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทําความชั่วทั้งปวง ( ศีล)

                      กุสฺลสสูปสมฺปทา การบําเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม (สมาธิ)

                      สุจิตฺตปริโยทปนํ การทําจิตของตนให้ผ่องใส (ปัญญา)

ที่มา: https://www.facebook.com/วิชาสังคมครูศุภาพิชญ์-588487168004601/photos/pcb.1158074934379152/1158073651045947/

             นอกจากนี้ยังมีวิธีการเรียนรู้ตามหลักโดยทั่วไป ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการคือ

       1. การฟัง หมายถึงการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในห้องเรียน

       2. การจําได้ หมายถึง การใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้จําได้

       3. การสาธยาย หมายถึง การท่อง การทบทวนความจําบ่อย ๆ

       4. การเพ่งพินิจด้วยใจ หมายถึง การตั้งใจจินตนาการถึงความรู้นั้นไว้เสมอ

       5. การแทงทะลุด้วยความเห็น หมายถึง การเข้าถึงความรู้อย่างถูกต้อง เป็นความรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ติดอยู่แต่เพียงความจําเท่านั้น แต่เป็นความรู้ความจําที่สามารถนํามาประพฤติปฏิบัติได้

       จะเห็นได้ว่า สีลสิกขา จิตตสิกขาและปัญญาสิกขาการศึกษาทั้ง 3 ขั้นนี้ ต่างก็เป็นพื้นฐานซึ่งกันและกัน ซึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนามุ่งสอนให้คนเป็นคนดี คนเก่งและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จากกระบวนการศึกษาที่กล่าวมาทั้ง 3 ขั้นตอนของพระพุทธศาสนานี้ หากสามารถนําไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะเกิดผลดีกับผู้ปฏิบัติ ซึ่งหลักการทั้ง 3 นั้น เป็นที่ยอมรับจากชาวโลก ทําให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไป ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงนับได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งการศึกษาอย่างแท้จริง

ที่มา: https://twitter.com/krusonthaya/status/910404128156688384/photo/1

ที่มา: http://www.watpamahachai.net/watpamahachai-79.htm

พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย

หลักของเหตุปัจจัย คือ หลักความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักของเหตุปัจจัยที่อาศัยซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า "กฎปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งมีสาระโดยย่อดังนี้

“เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงดับ”

       นี่เป็นหลักความจริงพื้นฐาน ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ หรือในชีวิตประจําวันของเรา “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะเป็นปัญหาลอย ๆ ไม่ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา หากเราต้องการแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการแก้ไขหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียวหรือมีเพียงหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

       คําว่า “เหตุปัจจัย” พระพุทธศาสนาถือว่าสิ่งที่ทําให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียวต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ด้วยเมื่อมีปัจจัยหลายปัจจัยผลก็เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมา ต้นมะม่วงถือว่าเป็นผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้นมะม่วงจะเกิดขึ้นเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วงได้เหตุปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ เมล็ดมะม่วง ดิน น้ำ ออกซิเจน แสงแดด อุณหภูมิที่พอเหมาะ ปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมจึงก่อให้เกิดต้นมะม่วง ตัวอย่างความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เช่น ปัญหาการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเรียนของนักเรียน มีเหตุปัจจัยหลายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนอ่อน เช่น ปัจจัยจากครูผู้สอน ปัจจัยจากหลักสูตร ปัจจัยจากกระบวนการเรียนการสอน ปัจจัยจากการวัดผลประเมินผล ปัจจัยจากตัวของนักเรียนเอง เป็นต้น

       ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการของสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่าง ๆ ได้คือ

1. สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน

2. สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์กัน

3. สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย

       4. สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว (มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง)

5. สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน

  6. สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกําเนิดเดิมสุด แต่มีความสัมพันธ์แบบวัฏจักร หมุนหลักคําสอนของพระพุทธศาสนาที่เน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยมีมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักคําสอน 2 เรื่อง คือ ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ 4

กฎปฏิจจสมุปบาท

     ปฏิจจสมุปบาท คือ การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เป็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ การที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎนี้นี่เอง พระองค์จึงได้ชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กฏปฏิจจสมุปบาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฏอิทัปปัจจยตา ซึ่งก็คือ กฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันนั่นเอง

     กฎปฏิจจสมุปบาท คือ กฎแห่งเหตุผลที่ว่า ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี ถ้าสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ ปฏิจจสมุปบาท มีองค์ประกอบ 12 ประการ คือ

  1. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริงของชีวิต ไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ไม่รู้เท่าทันตามสภาพที่เป็นจริง

2. สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่ง หรือเจตนาทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

3. วิญญาณ คือ ความรับรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส

4. นามรูป คือ ความมีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม ได้แก่ กายกับจิต

5. สฬายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

6. ผัสสะ คือ การถูกต้องสัมผัส หรือการกระทบ

7. เวทนา คือ ความรู้สึกว่าเป็นสุข ทุกข์ หรืออุเบกขา

  8. ตัณหา คือความทะเยอทะยานอยากหรือความต้องการในสิ่งที่อํานวยความสุขเวทนา และความดิ้นรน หลีกหนีในสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา

9. อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

     10. ภพ คือ พฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อสนองอุปาทานนั้นๆ เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่น

     11. ชาติ คือ ความเกิด ความตระหนักในตัวตน ตระหนักในพฤติกรรมของตน

     12. ชรามรณะ โสกะ ปริเวทะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะ คือ ความแก่ ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ และความคับแค้นใจหรือความกลัดกลุ้มใจ

ที่มา: http://www.nkgen.com/patitja1.htm

ที่มา: http://dhamma.serichon.us/2017/02/25/ปฏิจจสมุปบาท-สูง-แต่ไม่/

ที่มา: https://mgronline.com/dhamma/detail/9580000012924

       องค์ประกอบทั้ง 12 ประเภทนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า องค์ประกอบแห่งชีวิต หรือกระบวนการของชีวิต ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทํานองปฏิกิริยาลูกโซ่ เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน โยงใยเป็นวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ

เพราะมีอวิชชา จึงมี สังขาร

เพราะมีสังขาร จึงมี วิญญาณ

เพราะมีวิญญาณ จึงมี นามรูป

เพราะมีนามรูป จึงมี สฬายนะ

เพราะมีสฬายนะ จึงมี ผัสสะ

เพราะมีผัสสะ จึงมี เวทนา

เพราะมีเวทนา จึงมี ตัณหา

เพราะมีตัณหา จึงมี อุปาทาน

เพราะมีอุปาทาน จึงมี ภพ

เพราะมีภพ จึงมี ชาติ

เพราะมีชาติ จึงมี ชรา มรณะ ปริเวทะ โทมนัส อุปายาสะ

องค์ประกอบของชีวิตตามกฎปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวนี้เป็นสายเกิด เรียกว่า สมุทัยวาร จากกฎนี้จะเห็นชัดว่า ทั้งสายเกิดและสายดับ ทุกสิ่งทุกอย่างหรือที่เรียกว่า สภาวธรรม จะมีอวิชชาเป็นตัวเหตุอันดับแรก กล่าวคือ เพราะมีอวิชชา ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมี และเพราะอวิชชาดับ คือสิ้นสุดลง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมดับลงด้วย

เพราะ อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

เพราะ สังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ

       เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

       เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

       เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

       เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะเวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

เพราะตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

เพราะอุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

เพราะภพ ดับ ชาติ จึงดับ

เพราะชาติ ดับ ชรา มรณะ ปริเวทะ โทมนัส อุปายาสะ จึงดับ

ที่มา: https://buddhadhamma-memo.blog/ปฏิจจสมุปบาท-อิทัปปัจจย/

ที่มา: https://www.blockdit.com/posts/5c949f3be3696b41c9667182

       จากกฎปฏิจจสมุปบาท หรือกฏอิทัปปัจจยตาที่ว่า อวิชชาเป็นตัวเหตุของทุกสิ่งทุกอย่างอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ดังนั้น กฎปฏิจจสมุปบาท เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ อริยสัจ 4 นั่นเอง

     อริยสัจ หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐหรือหลักความจริงที่ทําให้ผู้เข้าถึงเป็นผู้ประเสริฐ มี 4 ประการ คือ

     1) ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือสภาพที่บีบคั้นจิตใจให้ทนได้ยาก ทุกข์เป็นสภาวะที่จะต้องกําหนดรู้

     2) สมุทัย (ทุกขสมุทัย) หมายถึง ต้นเหตุที่ทําให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา สมุทัยเป็นสภาวะที่จะต้องละหรือทําให้หมดไป

     3) นิโรธ (ทุกขนิโรธ) หมายถึง ความดับทุกข์ หรือสภาวะที่ปราศจากทุกข์ เป็นสภาวะที่ต้องทําความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง

     4) มรรค (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) หมายถึง ทางดับทุกข์ หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งสรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะไปสู่ ความดับทุกข์ได้

ที่มา: http://dhamma.serichon.us/2015/04/13/มัชฌิมาปฏิปทา-ทางสายกลา/

อริยสัจ 4 นี้ถ้าวิเคราะห์กันในเชิงวิทยาการสมัยใหม่ก็คือ ศาสตร์แห่งเหตุผล และเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นระบบเหตุผล คือ เมื่อมีเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัย) ก็จะทําให้เกิดความทุกข์ (ทุกข์) ใน ขณะเดียวกัน หากต้องการสภาวะหมดทุกข์ (นิโรธ) ก็ต้องกําจัดเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือตัณหาด้วยการปฏิบัติตามมรรค 8 (มรรค)

วิธีแก้ปัญหาตามแนวพระพุทธศาสนา

       พระพุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาด้วยการกระทําของมนุษย์ตามหลักของเหตุผล ไม่หวังการอ้อนวอน จากปัจจัยภายนอก เช่น เทพเจ้า รุกขเทวดา ภูตผีปีศาจ เป็นต้น จะเห็นได้จากตัวอย่างคําสอนในคาถาธรรมบท แปลความว่า มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งแต่สิ่ง เหล่านั้น ไม่ใช่สรณะอันเกษม

       เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง...แต่ชนเหล่าใด มาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ดังนั้น มนุษย์ต้องแก้ปัญหาด้วย วิธีการของมนุษย์ที่เพียรทําการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์ คือ

       1. ทุกข์ คือ การเกิดปัญหา หรือรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร

       2. สมุทัย คือ การสืบหาสาเหตุของปัญหา

       3. นิโรธ คือ กําหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น

       4. มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการดับปัญหาได้

การแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 นี้ มีคุณค่าที่สําคัญพอสรุปได้ ดังนี้

     1. เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดําเนินการแก้ไขปัญหาตามระบบแห่งเหตุผล เป็นระบบวิธีแบบอย่าง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตามที่จะมีคุณค่าและสมเหตุผล จะต้องดําเนินไปในแนวเดียวกันเช่นนี้

     2. เป็นการแก้ปัญหาและจัดการกับชีวิตของตน ด้วยปัญญาของมนุษย์เอง โดยนําเอาหลักความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องอ้างอํานาจดลบันดาลของตัวการพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ

     3. เป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่ามนุษย์จะเตลิดออกไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ สิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวกว้างขวางมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเขายังจะต้องมีชีวิตของตนเองที่มีคุณค่าและสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกเหล่านั้นอย่างมีผลดีแล้วเขาจะต้องเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากหลักความจริงนี้ตลอดไป

     4. เป็นหลักความจริงกลาง ๆ ที่ติดเนื่องอยู่กับชีวิต หรือเป็นเรื่องของชีวิตเองแท้ ๆ ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ศิลปวิทยาการ หรือดําเนินกิจการใด ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของตน และ ไม่ว่าศิลปวิทยาการ หรือกิจการต่างๆ นั้น จะเจริญขึ้น เสื่อมลง สูญสลายไป หรือเกิดมีใหม่มาแทนอย่างไรก็ตาม หลักความจริงนี้ก็จะคงยืนยง และใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอดทุกเวลา

       กล่าวโดยสรุป การศึกษาในพระพุทธศาสนาคือ การศึกษาในเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งการศึกษาทั้ง 3 ขั้นนี้ ต่างก็เป็นพื้นฐานซึ่งกันและกัน เหมือนขั้นบันได กล่าวได้ว่าตลอด 45 ปีที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ หลักสัจธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ หลักคําสอนทั้งหมดรวมอยู่ในเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา หรือที่เรียกว่า ไตรสิกขา และเป็นองค์ประกอบหนึ่งในอริยสัจ 4 ดังนี้

สรุปสาระสําคัญ

       หลักในการศึกษาของพระพุทธศาสนานั้นจะมีลําดับขั้นตอนการศึกษา โดยเริ่มจาก สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งรวมเรียกว่า “ไตรสิกขา” หากสามารถนําไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะเกิดผลดีกับผู้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาด้วยการกระทําของมนุษย์ตามหลักของเหตุผล ให้เข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุ ปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติของชีวิตมนุษย์นั่นเอง