เรื่องที่ 2.2 

มโหสถชาดก

ที่มา : Google.com

มโหสถคือชาติที่ 5 ในทศชาติชาดก หรือ 10 ชาติสุดท้ายของ พระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งศากยวงศ์ เพื่อบําเพ็ญปัญญาบารมี

ในเมืองมิถิลามีเศรษฐีผู้หนึ่งมีนามว่าสิริวัฒกะ ภรรยาชื่อ นางสุมนา เทวี นางสุมนาเทวีมีบุตรชายคนหนึ่งซึ่งเมื่อคลอดออกมานั้นมีแท่งโอสถอยู่ในมือ เศรษฐีสิริวัฒกะเคยเป็นโรคปวดศีรษะมานาน จึงเอาแท่งยานั้นฝนที่หินบดยา แล้วนํามาทาหน้าผาก อาการปวดศีรษะก็หายขาด ครั้นผู้อื่นที่มีโรคภัยไข้เจ็บมาขอปันยานั้นไปรักษาบ้าง ก็พากันหายจากโรค เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่า “มโหสถ” เพราะทารกนั้นมีแท่งยาวิเศษเกิดมากับตัว เมื่อมโหสถเติบโตขึ้น ปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ครั้งหนึ่งมโหสถเห็นว่า ในเวลาฝนตก ตนและเพื่อนเล่นทั้งหลายต้องหลบฝน ลําบากลําบน เล่น ไม่สนุก จึงขอให้เพื่อนเล่นทุกคนนําเงินมารวมกันเพื่อสร้างสถานที่เล่น มโหสถจัดการออกแบบอาคารนั้น อย่างวิจิตรพิสดาร นอกจากที่เล่น ที่กินและที่พักสําหรับคนที่ผ่านไปมาแล้วยังจัดสร้างห้องวินิจฉัยคดีด้วยเพราะ ความที่มโหสถเป็นเด็กฉลาดเฉลียวเกินวัย จึงมักมีผู้คนมาขอให้ตัดสินปัญหาข้อพิพาท หรือแก้ไขปัญหาขัดข้องต่างๆ อยู่เสมอ

ชื่อเสียงของมโหสถเลื่องลือไปไกลทั่วมิถิลานคร ในขณะนั้นกษัตริย์เมืองมิถิลาทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจําราชสํานัก 4 คน คือ เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์และเทวินทะ บัณฑิตทั้งสี่ เคยกราบทูลว่าจะมีบัณฑิตคนที่ห้ามาสู่ราชสํานักพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงโปรดให้เสนา ออกสืบข่าวว่ามีบัณฑิตผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องอยู่ที่ใดบ้าง เสนาเดินทางมาถึงบริเวณบ้านของสิริวัฒกะ เศรษฐี เห็นอาคารงดงาม จัดแต่งอย่างประณีตบรรจง จึงถามผู้คนว่าใครเป็นผู้ออกแบบ คนก็ตอบว่า ผู้ออกแบบคือมโหสถบัณฑิต บุตรชายวัย 7 ขวบ ของสิริวัฒกะเศรษฐี เสนาจึงนําความไปกราบทูลพระเจ้า วิเทหราช พระองค์ตรัสเรียก บัณฑิตทั้งสี่มาปรึกษาว่าควรจะไปรับมโหสถมาสู่ราชสํานักหรือไม่ บัณฑิตทั้งสี่ เกรงว่ามโหสถจะได้ดีเกินหน้าตนจึงทูลว่า ลําพังการออกแบบตกแต่งอาคารไม่นับว่าผู้นั้นจะมีสติปัญญาสูงถึงขั้นบัณฑิต ขอให้รอดูต่อไปว่ามโหสถจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจริงหรือไม่

ฝ่ายมโหสถนั้น มีชาวบ้านนําคดีความต่าง ๆ มาให้ตัดสินอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า ชายเลี้ยงโคนอนหลับ ไป มีขโมยเข้ามาลักโค เมื่อตามไปพบ ขโมยก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของโค ต่างฝ่ายต่างถกเถียงอ้างสิทธิ์ ไม่มีใคร ตัดสินได้ว่าโคนั้นเป็นของใคร จึงพากันไปหามโหสถ มโหสถถามชายเจ้าของโคว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ชายนั้นก็เล่าให้ฟัง มโหสถจึงถามขโมยว่า “ท่านให้โคของท่านกินอาหารอะไรบ้าง” ขโมยตอบว่า “ข้าพเจ้า ให้กินงา กินแป้ง ถั่ว และยาคู” มโหสถถามชายเจ้าของโค ชายนั้นก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าให้โคกินหญ้าตามธรรมดา” มโหสถจึงให้เอาใบไม้มาตําให้โคกินแล้วให้กินน้ำ โคกสํารอกเอาหญ้าออกมา จึงเป็นอันทราบว่า ใครเป็นเจ้าของโคที่แท้จริง พระเจ้าวิเทหราชได้ทราบเรื่องการตัดสินความของมโหสถ ก็ปรารถนาจะเชิญ มโหสถมาสู่ราชสํานักแต่บัณฑิตทั้งสี่ก็คอยทูล ทัดทานไว้เรื่อย ๆ

ทุกครั้งที่มโหสถแสดงสติปัญญาในการตัดสินคดี พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองสติปัญญามโหสถด้วยการตั้งปัญหาต่าง ๆ ก็ปรากฏว่า มโหสถแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง เช่น เรื่องท่อนไม้ ที่เกลาได้เรียบ เสมอกัน พระเจ้าวิเทหราชทรงตั้งคําถามว่าข้างไหนเป็นข้างปลาย ข้างไหนเป็นข้างโคน มโหสถก็ใช้วิธีผูกเชือกกลางท่อนไม้นั้น แล้วหย่อนลงในน้ำ ทางโคนหนักก็จมลง ส่วนทางปลายลอยน้ำ เพราะน้ำหนัก เบากว่า มโหสถก็ชี้ได้ว่าทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย นอกจากนี้มโหสถยังแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ อีกเป็นอันมาก จนในที่สุดพระราชาก็ไม่อาจทนรอตามคําทัดทานของบัณฑิตทั้ง 4 อีกต่อไป จึงโปรดให้ราชบุรุษไปพาตัวมโหสถกับบิดามาเข้าเฝ้าพร้อมกับให้นําม้าอัสดรมาถวายด้วย

มโหสถทราบดีว่าครั้งนี้ เป็นการทดลองสําคัญ จึงนัดหมายการอย่างหนึ่งกับบิดา และในวันที่ไปเฝ้าพระราชา มโหสถให้คนนําลามาด้วยหนึ่งตัว เมื่อเข้าไปถึงที่ประทับ พระราชาโปรดให้สิริวัฒกะ เศรษฐีนั่งบนที่อันสมควรแก่เกียรติยศ ครั้นเมื่อมโหสถเข้าไป สิริวัฒกะก็ลุกขึ้นเรียกบุตรชายว่า “พ่อมโหสถ มานั่งตรงนี้เถิด” แล้วก็ลุกขึ้นจากที่นั่ง มโหสถก็ตรงไปนั่งแทนที่บิดา ผู้คนก็พากันมองดูอย่างตําหนิ ที่มโหสถทําเสมือนไม่เคารพบิดา มโหสถจึงถามพระราชาว่า “พระองค์ไม่พอพระทัยที่ข้าพเจ้านั่งแทนที่บิดาใช่หรือไม่” พระราชาทรงรับคํา มโหสถ จึงถามว่า “ข้าพเจ้าขอทูลถามว่าธรรมดาบิดาย่อมดีกว่าบุตร สําคัญกว่าบุตรเสมอไปหรือ” พระราชาตรัสว่า “ย่อมเป็นอย่างนั้น บิดาย่อมสําคัญกว่าบุตร” มโหสถทูลต่อว่า “เมื่อข้าพเจ้ามาเฝ้า พระองค์มีพระกระแสรับสั่งว่าให้ข้าพเจ้านําม้าอัสดรมาถวายด้วยใช่ไหมพระเจ้าค่ะ” พระราชาทรงรับคํา มโหสถจึงให้คนนําลาที่เตรียมเข้ามาหน้าพระพักตร์ แล้วทูลว่า “เมื่อพระองค์ตรัสว่าบิดาย่อมสําคัญกว่าบุตร ลาตัวนี้เป็นพ่อของม้าอัสดร หากพระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นจริงก็โปรดทรงรับลานี้ไปแทนม้าอัสดรเถิดพระเจ้าค่ะ เพราะม้าอัสดรเกิดจากลานี้ แต่ถ้าทรงเห็นว่าบุตรอาจดีกว่าบิดา ก็ทรงรับเอาม้าอัสดรไปตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ ถ้าหากพระองค์เห็นว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตรก็ทรงโปรด รับเอาบิดาของข้าพเจ้าไว้ แต่หากทรงเห็นว่าบุตรอาจประเสริฐกว่าบิดา ก็ขอให้ทรงรับข้าพเจ้าไว้” การที่มโหสถกราบทูลเช่นนั้น มิใช่จะลบหลู่ดูหมิ่นบิดา แต่เพราะประสงค์จะให้ผู้คนทั้งหลายตระหนักในความเป็นจริงของโลกและเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผู้จงใจผูกขึ้น คือบัณฑิตทั้งสี่นั่นเอง พระราชาทรงพอพระทัย ในปัญญาของมโหสถจึงตรัสแก่สิริวัฒกะเศรษฐีว่า “ท่านเศรษฐีเราขอ มโหสถไว้เป็นราชบุตร จะขัดข้องหรือไม่” เศรษฐีทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์มโหสถยังเด็กนัก อายุเพิ่ง 7 ขวบ เอาไว้ให้โตเป็นผู้ใหญ่ก่อนน่าจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ” พระราชาตรัสตอบว่า “ท่านอย่าวิตกในข้อที่ว่ามโหสถยังอายุน้อยเลย มโหสถเป็นผู้มีปัญญา เฉียบแหลมยิ่งกว่าผู้ใหญ่จํานวนมาก เราจะเลี้ยงมโหสถในฐานะราชบุตรของเรา ท่านอย่ากังวลไปเลย”

การทดสอบเชาวน์ปัญญาของพระมโหสถมีอีกหลายเรื่อง เช่น

ที่มาจาก https://www.dmc.tv/

กรณีไล่จับเหยี่ยวที่มาโฉบเอาเนื้อของชาวบ้านที่ตากไว้ ชาวบ้านที่ไล่ตามต้องล้มลุกคลุกคลาน สดุดตอไม้ ก้อนดิน มโหสถพิจารณาด้วยปัญญาว่า เวลาเหยี่ยวมาควรมองที่พื้นดินดูเงาของเหยี่ยว เมื่อไปทัน ให้ปรบมือไล่ เหยี่ยวตกใจก็จะปล่อยก้อนเนื้อลงมา


ที่มาจาก https://tv.line.me

กรณีหญิงสองคนพิพาทกันเรื่องสร้อย ต่างคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของ พระมโหสถถามว่าใครใช้น้ำหอมอะไร นางหนึ่งบอกว่าน้ำหอมจันทร์แดงอย่างดี อีกคนบอกว่าน้ำแช่ดอกมะลิ เมื่อให้ตามเจ้าของร้านน้ำหอมมาพิสูจน์ เอาสร้อยแช่น้ำ กลิ่นดอกมะลิก็โชยออกมา เป็นอันว่าหญิงคนที่สองได้สร้อยคืนไป


ที่มาจาก https://www.dmc.tv/

กรณีแย่งบุตรกันระหว่างนางกุลธิดากับนางยักษิณี นางยักษิณีมาแย่งบุตรนางกุลธิดาไป เกิดการยื้อยุดกระชากกัน ต่างคนต่างอ้างเป็นแม่เด็ก เรื่องถึงหูพระมโหสถ ตัดสินว่าใครดึงเด็กได้คนนั้นเป็นแม่ ดึงกันไปมาจนเด็กร้องไห้เพราะได้รับความเจ็บปวด นางกุลธิดาจึงปล่อยมือแล้วร้องไห้ พระมโหสถตัดสินให้เอาลูกคืนแก่นางกุลธิดา เพราะแม่ย่อมรักลูกและไม่ยอมให้ลูกได้รับความเจ็บปวด

มโหสถจึงได้เริ่มรับราชการกับพระเจ้าวิเทหราชนับตั้งแต่นั้นมา ตลอดเวลาที่อยู่ในราชสํานัก มโหสถ ได้แสดงสติปัญญา และความสุขุมลึกซึ้งในการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พระราชาทรงผูกขึ้นลองปัญญามโหสถ หรือที่บัณฑิตทั้งสี่พยายามสร้างขึ้นเพื่อให้มโหสถอับจนปัญญา แต่มโหสถก็แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทุกครั้งไป มิหนําซ้ำในบางครั้ง มโหสถยังได้ช่วยให้บัณฑิตทั้งสี่นั้นรอดพ้นความอับจน แต่บัณฑิตเหล่านั้นมิได้กตัญญูรู้คุณที่มโหสถกระทําแก่ตน กลับพยายามทําให้พระราชาเข้าพระทัยว่ามโหสถด้อยปัญญา พยายามหาหนทางให้พระราชาทรงรังเกียจมโหสถ เพื่อที่ตนจะได้รุ่งเรืองในราชสํานักเหมือนสมัยก่อน มโหสถรุ่งเรืองอยู่ในราชสํานักของพระเจ้าวิเทหราช ได้รับการสรรเสริญจากผู้คนทั้งหลายจนมีอายุได้ 16 ปี พระมเหสีของพระราชาผู้ทรงรักใคร่มโหสถเหมือนเป็นน้องชาย ทรงประสงค์จะหาคู่ครองให้ แต่มโหสถขอพระราชทานอนุญาตเดินทางไปเสาะหาคู่ครองที่ตนพอใจด้วยตนเอง พระมเหสีก็ทรงอนุญาต

มโหสถเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นลูกสาวเศรษฐีเก่าแก่ แต่ได้ยากจนลง หญิงสาวนั้นชื่อว่าอมร มโหสถปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้า ไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของนาง และได้ทดลอง สติปัญญาของนางด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ในครั้งแรกที่พบกันนั้น มโหสถถามนางว่า “เธอชื่ออะไร” นางตอบว่า “สิ่งที่ดิฉันไม่มีอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นั่นแหละ เป็นชื่อของดิฉัน” มโหสถพิจารณา อยู่ครู่หนึ่งก็ตอบว่า “ความไม่ตายเป็นสิ่งไม่มีอยู่ในโลก เธอชื่อ อมร (ไม่ตาย) ใช่ไหม” หญิงสาวตอบว่า ใช่ มโหสถถามต่อว่านางจะนําข้าวไปให้ใคร นางตอบว่า นําไปให้บุรพเทวดา มโหสถก็ตีปริศนาออกว่า บุรพเทวดา คือเทวดาที่มีก่อนองค์อื่นๆ ได้แก่ บิดา มารดา เมื่อมโหสถได้ทดลองสติปัญญาและความประพฤติต่างๆ ของนางอมร จนเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอนางจากบิดา มารดา พากลับไปกรุงมิถิลา เมื่อไปถึงยังเมือง ก็ยังได้ทดลองใจนางอีก โดยมโหสถแสร้งล่วงหน้าไปก่อน แล้วแต่งกายงดงามรออยู่ในบ้าน ให้คนพานางมาพบ กล่าวเกี้ยวพาราสีนาง นางก็ไม่ยินดีด้วย มโหสถจึงพอใจนาง พาไปเฝ้าพระราชาและพระมเหสี พระราชาก็โปรด ๆ ให้มโหสถ แต่งงานอยู่กินกับนางอมร

ต่อมา บัณฑิตทั้งสี่ยังพยายามที่จะกลั่นแกล้งมโหสถด้วยประการต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล แม้ถึงขนาดพระราชาหลงเข้าพระทัยผิด ขับไล่มโหสถออกจากวังมโหสถก็มิได้ขุ่นเคือง แต่ยังจงรักภักดีต่อพระราชา พระราชาจึงตรัสถามมโหสถว่า “เจ้าเป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลมยิ่ง หากจะหวังช่วงชิงราชสมบัติจากเราก็ย่อมได้ เหตุใดจึงไม่คิดการร้ายต่อเรา” มโหสถทูลตอบว่า “บัณฑิตย่อมไม่ทําชั่ว เพื่อให้ได้ความสุขสําหรับตน แม้จะถูกทับถมให้เสื่อมจากลาภยศ ก็ไม่คิดสละธรรมะด้วยความหลงในลาภยศ หรือด้วยความรัก ความชัง บุคคลนั่งนอนอยู่ใต้ร่มไม้ ย่อมไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น เพราะจะได้ชื่อว่าทําร้ายมิตร บุคคลที่ได้รับการเกื้อหนุนอุปการะจากผู้ใด ย่อมไม่ทําให้ไมตรีนั้นเสียไปด้วยความโง่เขลา หรือความหลงในยศอํานาจ บุคคล ผู้ครองเรือน หากเกียจคร้านก็ไม่งามนักบวชไม่สํารวมก็ไม่งาม พระราชาขาดความพินิจพิจารณาก็ไม่งาม บัณฑิต โกรธง่าย ที่ไม่งาม”

ไม่ว่าบัณฑิตทั้งสี่จะกลั่นแกล้งมโหสถอย่างใด มโหสถก็สามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง และมิได้ตอบแทนความชั่วร้ายด้วยความชั่วร้าย แต่กลับให้ความเมตตากรุณาต่อบัณฑิตทั้งสี่เสมอมา นอกจากจะทําหน้าที่พิจารณาเรื่องราว แก้ไขปัญหาต่างๆ มโหสถยังได้เตรียมการป้องกันพระนครในด้านต่างๆ ให้พร้อมเสมอด้วย และยังจัดผู้คนไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยสืบข่าวว่า จะมีบ้านเมืองใดมาโจมตีเมืองมิถิลา หรือไม่

มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจุลนีพรหมทัต ครองเมืองอุตรปัญจาล ประสงค์จะทําสงครามแผ่เดชานุภาพ จึงทรงคิดการกับปุโรหิตชื่อเกวัฏพราหมณ์ หมายจะลวงเอากษัตริย์ร้อยเอ็ดพระนครมากระทําสัตย์สาบานแล้วเอาสุราเรือยาพิษ ให้กษัตริย์เหล่านั้นดื่ม จะได้รวบรวมพระนครไว้ในกํามือ มโหสถได้ทราบความลับจากนกแก้วที่ส่งออกไปสืบข่าว จึงหาทางช่วยชีวิตกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดไว้ได้ โดยที่กษัตริย์เหล่านั้นหารู้ตัวไม่ พระเจ้าจุลนีทรงเห็นว่ามิถิลาเป็นเมืองเดียวที่ไม่ยอมทําสัตย์สาบาน จึงยกทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีมิถิลา มีเกวัฏพราหมณ์ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ แต่ไม่ว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ทุกครั้งไป ในที่สุดพระเจ้าจุลนีทรงส่งเกวัฏพราหมณ์มาประลองปัญญา ทําสงครามธรรมกับมโหสถ มโหสถออกไปพบเกวัฏพราหมณ์ โดยนําเอาแก้วมณีค่าควรเมืองไปด้วย แสร้งบอกว่า จะยกให้พราหมณ์ แต่เมื่อจะส่งให้กวางให้ที่ปลายมือ พราหมณ์เกวัฏเกรงว่าแก้วมณีจะตกจึงก้มลงรับแต่ก็ไม่ทัน แก้วมณีตกลงไปกับพื้น เกวัฏก้มลงเก็บด้วยความโลภ มโหสถจึงกดคอเกวัฏไว้ ผลักให้กระเด็นไป แล้วให้ทหารร้องประกาศว่า เกวัฏพราหมณก้มลงไหว้มโหสถ แล้วถูกผลักไปด้วยความรังเกียจ บรรดาทหารของพระเจ้าจุลนี มองเห็นแต่ภาพเกวัฏพราหมณ์ก้มลงแทบเท้าแต่ไม่ทราบว่าก้มลงด้วยเหตุใด ก็เชื่อตามที่ทหารของมโหสถป่าวประกาศ พากันกลัวอํานาจมโหสถ ถอยหนีไปไม่เป็นกระบวน กองทัพพระเจ้าจุลนีก็แตกพ่ายไป

เกวัฏพราหมณ์คิดพยาบาทมโหสถอยู่ไม่รู้หาย จึงวางอุบายให้พระเจ้าจุลนีส่งทูตไปทูลพระเจ้าวิเทหราช ว่าจะขอทําสัญญาไมตรี และขอถวายพระราชธิดาให้เป็นชายา พระเจ้าวิเทหราชทรงมีความยินดี จึงทรง ตอบรับเป็นไมตรี พระเจ้าจุลนีก็ขอให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาอุตรปัญจาล มโหสถพยายามทูลคัดค้าน พระราชาก็มิได้ฟังคํามโหสถจึงคิดจะแก้อุบายของพระเจ้าจุลนี มโหสถจึงทูลขออนุญาตไปจัดเตรียมที่ประทับ ให้พระราชาในเมืองอุตรปัญจาล โดยให้ผู้คนไปจัดสร้างวังอันงดงาม และจัดสร้างอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางเดิน ภายในอุโมงค์ประกอบด้วยกลไกและประตูลับต่างๆซับซ้อนมากมาย เมื่อเสร็จแล้วมโหสถจึงทูลเชิญให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปยังอุตรปัญจาล ขณะที่พระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ในวัง รอที่จะอภิเษกกับพระธิดาพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทรงยกกองทหารมาล้อมวังไว้มโหสถซึ่งเตรียมการไว้แล้ว ก็ลอบลงไปทางอุโมงค์เข้าไปในปราสาทพระเจ้าจุลนี ทําอุบายหลอกเอาพระชนนี พระมเหสี พระราชบุตร และราชธิดาพระเจ้าจุลนีมากักไว้ใต้วังที่สร้างขึ้นนั้นแล้วจึงกลับไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชตกพระทัยว่ากองทหารมา ล้อมวัง ตรัสปรึกษามโหสถ มโหสถจึงทูลเตือนพระราชาว่า

“ข้าพระองค์ได้กราบทูลห้ามมิให้ทรงประมาท แต่ก็มิได้ทรงเชื่อพระราชธิดาพระเจ้าจุลนีนั้น ประดุจเหยื่อที่นํามาตกปลา การทําไมตรีกับผู้ไม่มีศีลธรรม ย่อมนําความทุกข์มาให้ ธรรมดาบุคคลผู้มีปัญญา ไม่พึงทําไมตรีสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีศีล ซึ่งเปรียบเสมือนงู ไว้วางใจมิได้ย่อมนําความเดือดร้อนมาสู่ไมตรีนั้น”

พระเจ้าวิเทหราชทรงเสียพระทัยที่ไม่ทรงเชื่อคําทัดทานของมโหสถแต่แรก มโหสถจัดการนํา พระเจ้าวิเทหราช ไปพบพระชนนี พระมเหสี และพระโอรสธิดาของพระเจ้าจุลนี ที่ตนนํามาไว้ในอุโมงค์ ใต้ดินแล้วจัดการให้กองทัพที่เตรียมไว้ นําเสด็จกษัตริย์ทั้งหลายกลับไปมิถิลา ส่วนตัวมโหสถเองอยู่เผชิญหน้ากับพระเจ้าจุลนี เมื่อพระเจ้าจุลนีเสด็จมา ประกาศว่าจะจับพระเจ้าวิเทหราช มโหสถจึงบอกให้ทรงทราบว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับมิถิลาแล้วพร้อมด้วยพระราชวงศ์ ของพระเจ้าจุลนี พระราชาก็ทรงตกพระทัยเกรงว่าพระญาติวงศ์ จะเป็นอันตราย มโหสถจึงทูลว่าไม่มีผู้ใดจะทําอันตราย แล้วจึงทูลเชิญพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรวังและอุโมงค์ที่จัดเตรียมไว้อย่างวิจิตรงดงาม ขณะที่พระเจ้าจุลนีกําลังทรงเพลิดเพลิน มโหสถก็ปิดประตูกลทั้งปวง และหยิบดาบที่ซ่อนไว้ ทําทีว่าจะตัดพระเศียรพระราชา พระราชาตกพระทัยกลัวมโหสถจึงทูลว่า

“ข้าพระองค์จะไม่ทําร้ายพระราชาแต่หากจะฆ่าข้าพระองค์เพราะแค้นพระทัย ข้าพระองค์จะถวายคาบนี้ให้”

พระราชาเห็นมโหสถส่งดาบถวาย ก็ทรงได้สติ เห็นว่ามโหสถนอกจากจะประกอบด้วยสติปัญญาประเสริฐแล้ว ยังเป็นผู้ไม่มีจิตใจมุ่งร้ายพยาบาทผู้ใด พระเจ้าจุลนีจึงตรัสขออภัยที่ได้เคยคิดร้ายต่อเมืองมิถิลาต่อพระเจ้าวิเทหราช และต่อมโหสถ มโหสถจึงทูลลากลับไปมิถิลา จัดให้กองทหารนําเสด็จพระชนนี พระมเหสี และพระราชบุตร ของพระเจ้าจุลนีกลับมายัง อุตรปัญจาล ส่วนราชธิดานั้นคงประทับอยู่มิถิลาในฐานะพระชายาพระเจ้าวิเทหราชต่อไป พระเจ้าจุลนีทรงตรัสขอ ให้มโหสถมาอยู่กับพระองค์ มโหสถทูลว่า

“ข้าพระองค์รับราชการรุ่งเรืองในราชสํานักของพระเจ้าวิเทหราช ผู้เป็นเจ้านายของข้าพระองค์แต่เดิม ไม่อาจจะไปอยู่ที่อื่นได้หากเมื่อใดพระเจ้าวิเทหราชสวรรคต ข้าพระองค์จะไปรับราชการอยู่ในราชสํานักของ พระองค์”

เมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์ มโหสถก็ทําตามที่ ลั่นวาจาไว้ คือไปรับราชการอยู่กับพระเจ้า จุลนี และยังถูกกลั่นแกล้งจากเกวัฏพราหมณ์คู่ปรับเก่า แต่มโหสถก็เอาตัวรอด ได้ทุกครั้ง



คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

มโหสถนอกจากจะมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดแล้วยังประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ มีความสุขุมรอบคอบ มิได้หลงใหลในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้น มโหสถ จึงได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็น บัณฑิตผู้มี ความรู้อันลึกซึ้ง มีสติปัญญานั้นประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ที่กํากับให้ผู้มีสติปัญญาประพฤติ ปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร