เรื่องที่ 1.11

จูฬสุภัททา

ที่มา : https://kalyanamitra.org/th/images/Chant/590613_25.jpg

เรื่องที่ 1.11 นางจูฬสุภัททา

นางจูฬสุภัททา เป็นธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐีและ นางปัญญลักขณาเทวี มีพี่ชายชื่อนายกละ มีพี่สาวชื่อสุภัททาและมี น้องสาวชื่อสุมนา ทั้งหมดนี้ต่างได้บรรลุโสดาปัตติผลเคารพนับถือพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นพระบิดาในทางธรรม ต่อมานางสุมนา น้องสาวยังได้บรรลุธรรมชั้นสกทาคามิผลด้วย

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีสหายที่รักกันมากคนหนึ่งเป็นชาว อุกคนคร นามว่าอุคคเศรษฐี ได้เดินทางมาค้าขายที่เมืองสาวัตถี ได้เข้าไปพักอยู่กับเพื่อนคืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มอบหมายให้ธิดาคนกลางคือ จูฬสุภัททาจัดการดูแลต้อนรับ เพื่อนจากต่างเมือง นางก็จัดการดูแลได้เรียบร้อยเป็นที่สบอัธยาศัยของอุคคเศรษฐี และอยากได้นางมาเป็นลูกสะใภ้ จึงเอ่ยปากขอนางจูฬสุภัททา แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบว่าอุคคเศรษฐีผู้เพื่อนไม่ได้ นับถือพระพุทธศาสนา จึงกราบทูลความนั้นแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของอุคคเศรษฐีแล้ว ทรงอนุญาต อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงปรึกษากับนางปัญญลักขณาเทวีผู้เป็นภรรยา เมื่อต่างก็เห็นดีพร้อมกันแล้ว จึงรับคําของอุคคเศรษฐีกําหนดวันแต่งงาน

ที่มา : https://kalyanamitra.org/th/images/Chant/590613_32.jpg

อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้จัดงานมงคลแก่นางจูฬสุภัททาอย่างงดงามยิ่งใหญ่สมฐานะของตระกูล โดยจัดตามจารีตประเพณีทุกประการ เสมอด้วยงานมงคลของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างแต่งานนี้ไม่ได้สร้างเครื่องลดามหาปสาธน์เท่านั้น ก่อนส่งไปอยู่กับพ่อสามี อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ให้โอวาทแก่นางจูฬสุภัททาเป็นหลักปฏิบัติ 10 ประการ คือ

1. อย่านําไฟภายในออกไปภายนอก คือเมื่อเห็นสิ่งไม่ดีไม่งามของพ่อสามี แม่สามีหรือของสามีตน อย่านําไปกล่าวนอกบ้านเพราะจะทําให้เป็นที่ดูหมิ่น และผู้อื่นจะเล่าลือกันต่อไปให้เสียหาย

2. อย่านําไฟภายนอกเข้ามาภายใน คืออย่านําคํากล่าวร้ายของบุคคลภายนอกที่มีต่อครอบครัวสามี มาเล่า เพราะจะทําให้เกิดการอุ่นเคืองและวิวาทบาดหมางขึ้นระหว่างครอบครัวสามีกับคนภายนอก

3. จงให้แก่คนที่ให้ คือให้สิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้ที่ยืมไปแล้วรู้จักส่งคืนเท่านั้น เพื่อรักษาทรัพย์ของครอบครัวสามีไว้และเป็นการคบคนดี

4. อย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ คืออย่าให้สิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้ที่ยืมไปแล้วไม่ส่งคืน เพราะมีแต่ทางสูญเสียและเป็นการคบคนชั่ว

5. จงให้แก่คนทั้งที่ให้และไม่ให้ ข้อนี้ใช้กับญาติมิตรที่ยากจน คือสงเคราะห์ญาติเมื่อเขาขอความ ช่วยเหลือไม่ว่าเขาจะสามารถใช้คืนได้หรือไม่ ก็ตาม

6. จงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า อย่านั่งในที่นั่งของพ่อสามี แม่สามีและสามีควรจะนั่งในที่อันเหมาะสมแก่ตนเอง

7. จงบริโภคให้เป็นสุข คืออย่าบริโภคก่อนพ่อสามี แม่สามีและสามี ดูแลให้ท่านเหล่านั้นบริโภคให้อิ่มก่อน ดูแลว่ามีอะไรขาดเหลือ เมื่อทุกคนบริโภคอิ่มแล้วตนจึงบริโภคทีหลัง ข้อนี้เป็นธรรมเนียมของสตรีอินเดียและสตรีไทยโบราณ ซึ่งถือว่าตนมีหน้าที่ปรนนิบัติดูแลสามีและพ่อแม่ของสามีเสมือนพ่อแม่ของตน

8. จงนอน ให้เป็นสุข คือนอนทีหลังพ่อสามี แม่สามีและสามีตน เพราะเป็นหน้าที่ที่ตนจะต้องดูแลทุกข์สุขของคนเหล่านั้น และต้องดูแลกิจการในบ้านเรือนให้เรียบร้อยเสียก่อนในฐานะที่เป็นแม่บ้าน

9. จงบําเรอไฟ คือให้ความเคารพพ่อสามี แม่สามีและสามีว่าเป็นเหมือนกองไฟและเหมือนพญานาค ต้องระวังดูแลให้ดีอย่าให้โกรธเคืองได้

10. จงนอบน้อมเทวดาภายใน คือ นับถือพ่อสามี แม่สามี และสามีเหมือนเทวดา เมื่อให้โอวาทแล้ว วันรุ่งขึ้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงจัดถวายทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วส่งธิดาไปพร้อมด้วย เครื่องสักการะบรรณาการเป็นอันมาก

อุคคเศรษฐีก็จัดงานมงคลต้อนรับลูกสะใภ้ได้เชื้อเชิญบรรดาอเจลกะนักบวชเปลือยที่ตนเคารพนับถือมาทําบุญที่บ้าน ได้เรียกให้นางจูฬสุภัททาออกมาไหว้นักบวชอเจลกะ นางไม่ยอมมาเพราะมีความละอาย ไม่ ปรารถนาจะเห็นพระเปลือย เศรษฐีก็ให้คนไปตามครั้งแล้วครั้งเล่านางก็ยืนยัน ไม่ยอมมา เศรษฐีโกรธมาก ออกปากไล่ลูกสะใภ้ออกจากเรือน นางเห็นว่าตัวไม่มีความผิดจึงไม่ยอมออกจากเรือนไป อุคคเศรษฐีไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งแปลกใจที่ตามปกติลูกสะใภ้เป็นคนดีว่าง่าย เรียบร้อย แต่เหตุไฉนจึงดื้อ ไม่ยอมไหว้นักบวช จึงบอกแก่ภรรยาให้ช่วยพูดจาแนะนําเกลี้ยกล่อมลูกสะใภ้ให้เลื่อมใสนักบวชอเจลกะ

ภรรยาเศรษฐีทราบว่าลูกสะใภ้ได้เคารพกราบไหว้สมณะพวกอื่นอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ยอมกราบไหว้นักบวชอเจลกะ นางจึงเลียบเคียงถามถึงลักษณะบุคคลที่ลูกสะใภ้เคารพกราบไหว้ว่าเป็นอย่างไร

นางจูฬสุภัททาจึงได้พรรณาเกียรติคุณพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้าให้ฟังด้วยความ ยินดี ภรรยาเศรษฐีอยากเห็นสมณะตามที่ลูกสะใภ้บรรยายให้ฟัง จึงบอกให้นางจูฬสุภัททานิมนต์พระเช่นนั้นมาที่บ้าน

นางจูฬสุภัททาจึงขออนุญาตเพื่อที่จะถวายมหาทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงตระเตรียมมหาทานเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมพระสงฆ์พุทธสาวก ขณะนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมแล้วได้นิมนต์พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ได้รับนิมนต์ฉันภัตตาหารเช้าในวันพรุ่งนี้แล้วจากนางจูฬสุภัททา อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงกราบทูลว่า นางอยู่ไกลจากที่นี่ถึง 120 โยชน์ พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่าถูกแล้ว แต่นางเป็นสัตบุรุษคือผู้ทําบุญไว้มาก แม้อยู่ไกลก็เหมือนอยู่เฉพาะหน้า คือ เห็นได้ง่าย เหมือนภูเขาหิมพานต์ตั้งอยู่ไกล แต่คนก็ยังมองเห็นได้

อุคคเศรษฐีพร้อมบุตรภรรยาและบริวารได้ต้อนรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ด้วยความเลื่อมใส ได้ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด 7 วัน

นับแต่นั้นมาชาวอุคคนครก็เริ่มมีศรัทธาบําเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใส


คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

1. นางจูฬสุภัททาเป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ดังจะเห็นได้จากการที่นางยินดีทําการงานที่บิดามอบหมายคือดูแลรับใช้เพื่อนของบิดาจนเป็นที่สบอัธยาศัย

2. มั่นคงในพระพุทธศาสนา แม้จะต้องขัดใจบิดาของสามีก็ยอม เนื่องจากเห็นว่าพระพุทธศาสนาน่านับถือกว่าศาสนาของนักบวชอเจลกะ

3. เข้าใจในศาสนาที่ตนนับถือเป็นอย่างดี ดังคําอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่นางบอกแก่มารดาของสามี จะทําให้ทั้งบิดาและมารดาของสามีเกิดความเลื่อมใส

4.ตั้งมั่นอยู่ในเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เช่น เมื่อบิดาของสามีขับไล่นางออกจากบ้านนางก็ไม่ยอมไป เพราะถือว่ามิได้ผิด ถ้าหากนางไปด้วยอารมณ์อย่างคนทั่วไปแล้วคงไม่มีโอกาสชี้แจงเหตุผล