เรื่องที่ 1.1 สาระสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

  รัฐธรรมนูญ มีความหมายตามพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่า “เป็นกฎหมายสูงสุด ที่ใช้จัดระเบียบการปกครองประเทศ กําหนดรูปแบบของรัฐว่าเป็นรัฐเดี่ยว หรือรัฐรวม ระบอบการปกครอง ของรัฐ รวมทั้งสถาบันและองค์กรที่ใช้อํานาจในการปกครองรัฐ”

ความเป็นมาและความสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

  ประเทศเกือบทั้งหมดใน โลกย่อมต้องมีรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นเครื่องกําหนดรูปแบบในการปกครอง ประเทศไม่ว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแบบคอมมิวนิสต์ ต่างมี รัฐธรรมนูญตามแบบฉบับของประเทศตนเองทั้งสิ้น สําหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็น รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร ประเทศไทยเคยมีทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จัดทําขึ้นในขณะที่บ้านเมือง อยู่ในภาวะไม่สงบ หรือ หลังจากมีการปฏิวัติรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยรวม ทั้งสองประเภทแล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ ฉบับปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักร ไทยพ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

  จุดกําเนิดรัฐธรรมนูญของไทย เกิดขึ้นจากบุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและพลเรือนที่ เรียกว่า “คณะราษฎร” ได้ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ ราชาธิปไตย ซึ่งอํานาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่พระมหากษัตริย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่า อํานาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทยและ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของรัฐ

   การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งได้ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” และต่อมา พระองค์ได้ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แก่ปวงชน ชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังทางราชการได้กําหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวัน รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรําลึกถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของไทยฉบับแรก

ความสําคัญของรัฐธรรมนูญ สามารถจําแนกได้ดังต่อไปนี้

  1. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของ กฎหมายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกําหนด กฎกระทรวง ประกาศ กระทรวง ประมวลกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายในส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งหากกฎหมายใดก็ตามที่ได้ออกมาบังคับใช้ก่อนหรือหลังประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ หากมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายเหล่านั้นย่อมไม่มีผลบังคับใช้

  2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงโครงสร้างการปกครองประเทศ ได้แก่ การวางโครงสร้าง รูปแบบการปกครองประเทศ การใช้อํานาจรัฐ ที่มาของอํานาจอธิปไตยซึ่งเป็นอํานาจสูงสุดในการปกครอง ประเทศ การแบ่งแยก และการถ่วงดุลอํานาจระหว่างกันขงอํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหารและอํานาจตุลาการ

  3. รัฐธรรมนูญวางหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และกําหนดหน้าที่ของพลเมืองของรัฐที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ

  4. รัฐธรรมนูญช่วยทําให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกําหนดให้ มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ซึ่งตราออกมาบังคับใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติและนําไป บังคับใช้กับประชาชน โดยฝ่ายบริหาร โดยมีฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ กฎหมายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบระเบียบ อีกทั้งยังมีหน่วยงานอิสระทําหน้าที่ตรวจสอบหรือดําเนินการ ควบคุมให้การดําเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญ จัดให้ดูแลควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างยุติธรรม

หลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

  1. รัฐธรรมนูญมุ่งให้ประชาชนเคารพสิทธิของกันและกัน การใช้สิทธิของตนตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด จะต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เช่น รัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนที่จะชุมนุมเพื่อเรียกร้องความ เป็นธรรมหรือเจรจาต่อรองใด ๆ ได้โดยสงบ และปราศจากอาวุธ แต่ต้องไม่ก่อความเดือดร้อนต่อบุคคลอื่น เช่น กีดขวางการจราจร ปิดการจราจร หรือทําลายสิ่งของบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของทางราชการ เป็นต้น

  2. รู้จักใช้สิทธิของตนเองและแนะนําให้ผู้อื่นรู้จักใช้และรักษาสิทธิของตนเองเช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

  3. รณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและปลูกฝังแนวความคิดเรื่อง สิทธิมนุษยชน แก่ชุมชนหรือสังคม ตามสถานภาพและบทบาทที่ตนพึงกระทํา

  4. ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

  5. ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของชาวไทยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่น การเคารพต่อกฎหมายการเสียภาษีอากร การเข้ารับราชการทหาร การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

  6. ส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีความยาวถึง 309 มาตรายาวกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดทําขึ้นโดยสภาร่าง รัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 100 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จึงมี สาระสําคัญบางอย่างที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย เช่น กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา 37 คน เกือบเท่ากับสมาชิกวุฒิสภา 76 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และให้สมาชิกทั้งสองประเภทมีอํานาจเท่ากัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ได้บัญญัติโครงสร้างและ หลักการที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยไว้ด้วย

หลักการสําคัญที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หลักการสําคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2550 สามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. หลักส่งเสริมและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งองค์กรของรัฐ จะต้องคํานึงเสมอในการใช้อํานาจมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

  2. หลักสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐอย่าง เป็นรูปธรรม เช่น ใช้สิทธิประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เป็นต้น

  3. หลักการสร้างกลไกสถาบันการเมืองทุกส่วนโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพ และประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมุขและ รัฐสภา ดังเช่น กําหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถยื่นญัตติขอเปิด อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ได้

  4. หลักการเสริมสร้างสถาบันศาล และองค์กรอิสระอื่นให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และ เที่ยงธรรม เช่น กําหนดให้องค์กรอัยการมีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทําให้มีอิสระในการปฏิบัติ หน้าที่ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

  5. หลักการเน้นย้ําคุณค่าและความสําคัญของจริยธรรมและแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังเช่น กําหนดเรื่องจริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การใช้อํานาจเป็นไป โดยสุจริต และเป็นธรรม เป็นต้น

  6. หลักการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นแกนกลางในการ ควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม

  7. หลักการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่างๆ เช่นให้อํานาจในการ ตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐแก่องค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช) ศาลรัฐธรรมนูญ หรือให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คนเข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

  8. หลักการกระจายอํานาจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ดังรัฐธรรมนูญได้กําหนดเพิ่มเติมให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาของประชาชนใน ท้องถิ่น ได้เอง


บทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐสภาคณะรัฐมนตรี พอสรุปได้ดังนี้

1.รัฐสภา

  1.1 รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารัฐสภาประชุมร่วมกัน หรือแยกกันย่อมเป็นไป ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

  1.2 ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานสภา ประธานรัฐสภาและผู้ทําหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

1.3 ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราเป็นกฎหมายได้ก็แต่ โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา

1.4 ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบ สัดส่วน จํานวน 80 คน และสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน อยู่ในตําแหน่ง

วาระละ 4 ปี

1.5 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกําหนดวัน เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน และวันเลือกตั้งต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

1.6 ประชาชนมีสิทธิเสมอกันในการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

1.7 มติของสภาให้ถือตามเสียงข้างมาก คือจํานวนเสียงที่ลงมติต้องเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก ที่ร่วมประชุมอยู่ในสภานั้น

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นชี้ขาด

1.8 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบ วาระกระทู้ถามตามมาตรา 159 และมาตรา 157 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิจะกําหนดเรื่ององค์ประชุมไว้ใน ข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้

1.9 ในแต่ละปีให้มีการเปิดสมัยประชุม 2 ครั้ง ครั้งละ 120 วัน

2. คณะรัฐมนตรี

  2.1 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี อันประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน ซึ่งแต่งตั้ง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี (อาจเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้) และนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้

  2.2 ประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในทางปฏิบัติประธานรัฐสภาจะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองที่ มีเสียงข้างมาก หรือมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

       2.3 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ทูลเกล้าฯ เสนอ 

  2.4 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์

  2.5 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจํา หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเป็นหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิได้ดํารงตําแหน่งทาง การเมือง

  2.6 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติ ความไว้วางใจ และรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแสดงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม สภาซึ่งตนมิได้เป็นสมาชิก แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

  2.7 ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาและต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน และต้อง รับผิดชอบร่วมกันต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

  2.8 รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  1) มีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีบริบูรณ์

  2) มีสัญชาติไทยโดยกําเนิด

  3) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ํากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

  4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  5) ไม่เคยต้องคําพิพากษาให้จําคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับ แต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอนได้กระทําโดยประมาท

 6) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดมาแล้วยังไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

  2.9 คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะเมื่อ

1) สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุเมื่อครบวาระ 4 ปี หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

2) คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ

3) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

  2.10 คณะรัฐมนตรี ที่ พ้นจากตําแหน่งตามข้อ (2.9) ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ามารับหน้าที่แทน

1) ตาย หรือลาออก

2) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทําการอันต้องห้ามตามที่กําหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3) สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจเป็นการเฉพาะตัว

4) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกตามความผิดที่กระทําไปในขณะดํารงตําแหน่ง

5) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตําแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคําแนะนํา


3. ศาล

  ศาลเป็นองค์กรของผู้ใช้อํานาจตุลาการ ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กําหนดให้มีศาล 4 ประเภท คือ

  3.1 ศาลรัฐธรรมนูญ มีอํานาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใด หรือการกระทําใด ๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

  3.2 ศาลยุติธรรม มีอํานาจพิพากษาคดีทั่วไปที่ไม่อยู่ในอํานาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง ของประชาชน ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เพราะเมื่อเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น คู่พิพาทจะต้องให้ผู้เป็นกลางเป็นคนตัดสินให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และจะเป็นผู้ตัดสินตามตัวบทกฎหมาย

  3.3 ศาลปกครอง มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทํา ในทางปกครอง

  3.4 ศาลทหาร มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ซึ่งคดีอาญาทหาร หมายถึง คดีอาญาที่ผู้กระทําความผิดเป็นทหาร

พรรคการเมือง การเลือกตั้ง รัฐบาล และการจัดตั้งรัฐบาล

  1. พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่คล้ายคลึงกันและ ต้องการนําความคิดนั้นมาใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ ด้วยการเผยแพร่เจตนารมณ์ดังกล่าว และส่ง สมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งโดยมุ่งหวังที่จะได้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือถ้าไม่ได้เป็น รัฐบาลก็เพื่อให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมสอดส่องการบริหารงานของรัฐบาล โดยทําหน้าที่เป็น พรรคฝ่ายค้าน

บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมือง

  1.1 วางนโยบายแก้ไขปัญหาของประเทศ และแถลงนโยบายเหล่านั้นให้ประชาชนรับทราบว่า นโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่

  1.2 พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคทั้งใน ระดับชาติและในระดับท้องถิ่น รวมทั้งการทําหน้าที่ทางการเมืองในคณะรัฐบาล

  1.3 การดําเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเข้าถึงประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ

  1.4 นํานโยบายของพรรคที่แถลงต่อประชาชนไปปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ประชาชนและประเทศ

  1.5 ให้การศึกษา อบรมความรู้เกี่ยวกับการเมืองให้ประชาชนทั่วไปและสมาชิกพรรคด้วยการ จัดพิมพ์เอกสาร เผยแพร่ความรู้ อบรม ปาฐกถาทางการเมือง เป็นต้น

  1.6 ควบคุมการทํางานของรัฐบาล ตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ทํางานตามที่แถลงไว้กับรัฐสภา หรือไม่ มีการตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ


2. การเลือกตั้งของไทย

  การจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากระบบเลือกตั้งของไทยที่เคยใช้กันมานาน หลายสิบปี เป็นระบบที่ไม่ให้ความเสมอภาคแก่ประชาชนไทยที่อยู่ในจังหวัดที่มีขนาดไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดเล็ก เช่น แม่ฮ่องสอน หรือระนอง จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เพียง 1 คน ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใหญ่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกสภาผู้แทนราษฎร ได้มากกว่า 3 คน

2.1 การจัดแบ่งเขตเลือกตั้ง

  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงกําหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดทั่วประเทศ จํานวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จํานวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จํานวน 80 คน โดยมีการจัดแบ่ง ดังนี้

1) แบ่งจังหวัดใหญ่ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มากกว่า 3 คน จํานวน 45 จังหวัด ออกเป็น 157 เขต ส่วนจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกิน 3 คน จํานวน 31 จังหวัดให้ถือเอาจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อรวมแล้วจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จํานวน 400 คน

2) กําหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ซึ่งเลือกจากเขตกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ จํานวน 8 เขต เขตละ 10 คน รวม 80 คน

3) ให้นําหีบเลือกตั้งในแต่ละหน่วยเลือกตั้งมารวมกัน ณ สถานที่นับคะแนนพียงแห่งเดียว และหลังจากเทบัตรคะแนนรวมกันแล้วจึงจะเริ่มนับคะแนนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตรวจสอบได้ว่าหน่วยเลือกตั้งใดลงคะแนนให้กับผู้สมัครรายใด

4) จัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระทําหน้าที่แทนกระทรวงมหาดไทยในการควบคุม และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยใบที่ 1 เพื่อใช้ลงให้กับผู้สมัครแบบ แบ่งเขตเลือกตั้งที่ตนชอบ 1-3 คน แล้วแต่เขตเลือกตั้งของจังหวัดตน ส่วนใบที่ 2 ลงให้กับพรรคการเมืองที่ตนชอบ 1 พรรคการเมือง

2.2 ความสําคัญของการเลือกตั้ง

1) เป็นวิธีการที่ทําให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามหลัก ประชาธิปไตย โดยเลือกตัวแทนไปทําหน้าที่แทนในรัฐสภา

2) เป็นวิธีการที่ใช้เปลี่ยนอํานาจทางการเมืองการปกครองที่ทันสมัย และเป็นไปอย่างสันติวิธี ซึ่งไม่เหมือนมนุษย์ในสมัยก่อนที่ใช้อาวุธต่อสู้กัน

3) ป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อรัฐบาล ไม่สามารถบริหารประเทศ หรือแก้ไข ปัญหาต่างๆ ได้ ก็จะคืนอํานาจให้กับประชาชน โดยการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน ว่าใครสมควรจะบริหารประเทศต่อไป

4) เป็นวิธีการที่จะทําให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนอํานาจเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถมาบริหารประเทศ

5) เป็นวิธีการสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการใช้อํานาจทางการเมือง ให้กับบุคคลที่จะมา ทําหน้าที่เป็นคณะรัฐบาล

2.3 หลักเกณฑ์การเลือกตั้ง

1) หลักอิสระแห่งการเลือกตั้งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกใครก็ได้และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีสิทธิ ที่จะสังกัดพรรคใดก็ได้

2) หลักการเลือกตั้งตามกําหนดเวลา การเลือกตั้งต้องมีกําหนดเวลาที่แน่นอน สําหรับประเทศไทย กําหนดเวลาการเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี ถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ

3) การเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม คือ เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ไม่คดโกง หรือใช้อํานาจ อิทธิพล

4) หลักการใช้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค คือ ให้สิทธิแก่ประชาชนโดยไม่มีการกีดกัน หรือจํากัดสิทธิบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

5) หลักการออกเสียงโดยทั่วไป หมายถึง เปิดโอกาสให้มีการออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึงกับ ประชาชนทุกหมู่เหล่า

6) หลักการลงคะแนนลับ โดยผู้ออกเสียงไม่จําเป็นต้องบอกบุคคลอื่น และจะได้รับการ ปกป้องตามกฎหมาย

3. รัฐบาล และการจัดตั้งรัฐบาล

  รัฐบาล หมายถึง คณะบุคคลและองค์กรซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารประเทศ และบังคับใช้กฎหมาย ต่าง ๆ คณะบุคคล ได้แก่ คณะรัฐมนตรี และองค์กรของรัฐคือ กระทรวง ทบวง กรม ข้าราชการ มีหน้าที่ดูแล ความสงบเรียบร้อยของสังคม

3.1 หน้าที่ของรัฐบาล

  มีหน้าที่บริหารประเทศ กําหนดนโยบายที่ให้ประโยชน์ต่อประชาชน สร้าง ความมั่นคงในชาติ ให้ความยุติธรรมกับประชาชนทุกคน

3.2 ประสิทธิภาพของรัฐบาล

รัฐบาลควรมีความสามารถในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1) ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

  2) ความสามารถในความรับผิดชอบต่อหน้าที่นํานโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อชาติ รับผิดชอบการกระทําที่ผิดพลาด

  3) ความสามารถในการติดตาม กํากับดูแล ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่มอบหมาย

   4) ความสามารถในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ การทํางานบรรลุเป้าหมาย

3.3 ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อประชาชน มีดังนี้

  1) รัฐบาลต้องแถลงผลงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และแจ้งผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน รับทราบเป็นระยะ

  2) ประชาชนสามารถตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ โดยผ่านรัฐสภา การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือคณะรัฐมนตรี

  3) ประชาชนอาจตรวจสอบหรือแสดงปฏิกิริยาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลได้โดยการร้องเรียน โดยตรงการเดินขบวนประท้วงอย่างสงบและปราศจากอาวุธ การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เป็นต้น

3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน มีดังนี้

  1) ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎร โดยพิจารณาจากนโยบายพรรคการเมือง และความประพฤติ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกไปเป็นตัวแทนของประชาชนทําหน้าที่ในรัฐสภา

  2) การจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด ก็จะมีการตกลงระหว่างพรรค การเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะเป็นแกนนําในการจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะ ทําหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ทําหน้าที่ตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลต่อไป

  3) กําหนดนโยบาย และการนํานโยบายไปปฏิบัติ เมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายเรียบร้อยแล้วก็ มอบหมายให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยราชการต่าง ๆ นําไปปฏิบัติ

  4) ประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบการทํางานของรัฐบาล ถ้าพบความผิดปกติ หรือการทุจริตใน หน้าที่ ประชาชนจํานวน 50,000 คนขึ้นไป สามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนรัฐมนตรี หรือนักการเมืองที่ทําผิดได้

3.5 การจัดตั้งรัฐบาล

  รัฐบาลมีภาระหน้าที่มากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 ได้กําหนดวิธีการจัดตั้ง รัฐบาลอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้ของสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ บุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการเรียกประชุม รัฐสภาเป็นครั้งแรก

  การเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง การลงมติในกรณี ดังกล่าวให้กระทําโดยเปิดเผย

  แต่หากไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ประธานรัฐสภา นําความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หลังจากพ้นกําหนด 15 วัน นับแต่วันลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการว่างในตําแหน่งหัวหน้า รัฐบาลนานเกินไป และหวังว่าเมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้วจะได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคการเมืองอื่นมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในโอกาสต่อไป


3.6 การควบคุมการทํางานของรัฐบาล

  1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรีในเรื่องใด เกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สําคัญของแผ่นดิน

  2) การบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสําคัญที่อยู่ในความสนใจ ของประชาชน เป็นเรื่องที่ กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจ แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมในวันนั้นว่าจะถามนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้น โดยไม่ต้องระบุคําถาม และให้ประธานสภา ผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมวันนั้น

การถามและการตอบกระทู้ตามวรรคหนึ่งให้กระทําได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้งและให้สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรผู้นั้นตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นได้เรื่องละไม่เกินสามครั้ง

  3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติ ดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 171 วรรคสองด้วยและ เมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้น ไม่ได้คะแนน เสียงตามวรรคสาม

  4) การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ นายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอ โดยไม่มีการยื่นคําร้องขอก่อนมิได้

  5) เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไปให้สภา ผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทําในวันเดียวกับวันที่การอภิปราย สิ้นสุด มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภา ผู้แทนราษฎร

  6) ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิ์ที่จะ เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีก ตลอดสมัยประชุมนั้น

  7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

  8) สมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหา สําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ และจะกระทําได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง

  9) ในกรณีที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อตั้งกระทู้ถาม ในเรื่องใดเกี่ยวกับงาน ในหน้าที่ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใด ให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้นั้นต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อชี้แจง หรือตอบกระทู้ถามในเรื่องนั้น ด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง

  คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นเพื่อทําหน้าที่แทนกระทรวงมหาดไทย ในการควบคุมและดําเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภา ท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากมี ความเชื่อกันโดยทั่วไปว่า กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่อยู่ในอํานาจในระหว่างการเลือกตั้ง ย่อมไม่สามารถจัดหรือดําเนินการเลือกตั้งทุกระดับให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้

  ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงบัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือก ตั้งขึ้นเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหารฝ่ายใดทั้งสิ้น ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งคน หนึ่งและกรรมการอื่นอีก 4 คน มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ลงนามรับ สนองพระบรมราชโองการ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลาง ทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งประธานและกรรมการ การเลือกตั้ง สําหรับอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีดังนี้

  4.1 ควบคุมและดําเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติตามกฎหมาย กําหนดให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

  4.2 ออกประกาศกําหนดการทั้งหลายอันจําเป็นแก่การปฏิบัติงานตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

  4.3 มีคําสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจําเป็นในการเลือกตั้ง

  4.4 ออกข้อกําหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ

  4.5 ดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสําหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งและจัดให้มีบัญชี รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  4.6 สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

  4.7 สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามี การทุจริตการเลือกตั้ง

  4.8เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดําเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง

  4.9 การดําเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง

 4.10 ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ

 4. 11 มีอํานาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดําเนินการสอบสวนและให้มีอํานาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่า ในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทําผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนชดใช้ ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้เกี่ยวข้อง

  4.12 การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

 4.13 ดําเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์กร เอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

  โดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีภารกิจมากมายในการจัดการเลือกตั้งทุกประเภทและทุกระดับ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รัฐสภาจึงบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 กําหนดให้มีคณะบุคคลและบุคคลช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้งในระดับ จังหวัดและระดับเขตเลือกตั้งทั่วประเทศไว้ในมาตราต่าง ๆ หลายมาตรา ซึ่งมีประโยชน์ในการดําเนินการ เลือกตั้ง เป็นต้น

  นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังอาจตั้งบุคคลต่าง ๆ เช่น องค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ เป็นต้น ช่วยดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้อีกด้วย ยังผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่ง ได้รับหลักฐานทุจริตจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ไม่รับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงนับได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งทําให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และ สมาชิกผู้แทนราษฎรสุจริตและเที่ยงธรรมขึ้น


5. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กําหนดให้มีองค์กร อิสระซึ่งไม่อยู่ในอํานาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลายองค์กร เช่น


5.1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดตั้งขึ้นเพื่อทําหน้าที่ควบคุมและดําเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียง ประชามติให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ประกอบด้วยประธานกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน และ กรรมการอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภา


  5.2 คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ไต่สวน และสรุป สํานวนข้อเท็จจริง พร้อมทั้งทําความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนข้าราชการระดับสูง หรือนักการเมืองออกจาก ตําแหน่งและการดําเนินคดีทางอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ คํารงตําแหน่งทางการเมือง รวมทั้งไต่สวนวินิจฉัยกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่ถูกกล่าวหาว่าร่ํารวย ผิดปกติ เป็นต้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยประธาน 1 คนและ กรรมการอีก 8 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภา

  5.3 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอํานาจหน้าที่กําหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงิน แผ่นดิน ให้คําปรึกษา แนะนํา และเสนอแนะให้เกิดการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และ มีอํานาจแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังที่เป็นอิสระ ซึ่งประกอบด้วยประธาน 1 คนและกรรมการอีก 6 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีความชํานาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงิน แผ่นดิน บัญชี ตรวจสอบภายใน การเงิน การคลัง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  5.4 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทําหน้าที่พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่ข้าราชการหรือ หน่วยงานของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจนทําให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้ร้องเรียนหรือประชาชน ดําเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้ง รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นประจําทุกปี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจํานวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยพระมหากษัตริย์จะทรง แต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภาซึ่งพิจารณาจากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน

  5.5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามสิทธิ มนุษยชน ตรวจสอบแล้วรายงานการกระทําหรือละเลยการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอ มาตรการแก้ไขต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่ทําหน้าที่รับผิดชอบดูแลตลอดจนเสนอแนะให้มีการปรับปรุง กฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น

6. ประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดการมีส่วนร่วม ทางการเมืองของประชาชนไว้หลายอย่าง เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นเจ้าของ อํานาจอธิปไตย ที่มีสิทธิกําหนดทิศทางการเมืองของประเทศไทย มิใช่เพียงแค่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่ประชาชนยังมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ดังนี้

  6.1 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน รัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่พวกเขาร่วมเสนอเข้ามาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ

 6.2 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน วุฒิสภา เพื่อให้มีมติถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด หากมีพฤติกรรมร่ํารวยผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริต

  6.3 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงประชามติ ในกรณีที่มีการให้ออกเสียงประชามติ เพื่อแสดงความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น