เรื่องที่ 3.1 

ความหมายและความสำคัญของวัฒนธรรม

ที่มา: https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1507215

ที่มา: https://สาระความรู้.blogspot.com/2016/09/blog-post.html

1. วัฒนธรรม หมายถึงลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียว ก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เป็นการชี้ชวน เชิญชวน วิงวอนให้ประชาชนร่วมกัน ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ให้มีความดีงามขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่รับมรดกกันมา แต่จะต้องรักษาของเดิมที่ดี แก้ไขดัดแปลงของเดิมที่ควรแก้ หรือดัดแปลงวางมาตรฐานความดีความงามขึ้นใหม่ แล้วส่งเสริมให้เป็น ลักษณะที่ดีประจำชาติสืบต่อไปจนถึงอนุชนรุ่นหลัง

       วัฒนธรรมจึงหมายถึงวิถีแห่งการดำารงชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ นับตั้งแต่การดำรงชีวิต ในแต่ละวัน การกิน การอยู่ การแต่งกาย การพักผ่อน การทำงาน การจราจร การขนส่ง การแสดงอารมณ์ การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งวิถีชีวิตนั้น เริ่มมาจากการที่มีต้นแบบ อาจจะเป็นตัวบุคคลแล้วมีคนส่วนใหญ่ หรือประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยและปฏิบัติสืบทอดกันมา โดยสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดีงาม

       วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่ นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการ ในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและ แนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวม ไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม

       วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็น อาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

       ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นทุกสิ่งที่เรียนรู้และได้รับการถ่ายทอดมาจากการติดต่อสัมพันธ์ ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษา ธรรมเนียมประเพณี กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมเป็นแบบแผนของพฤติกรรม ที่ได้มาทางสังคม และถ่ายทอดกันไปทางสังคม โดยอาศัยสัญลักษณ์ วัฒนธรรมจึงเป็นเอกลักษณ์ที่มีอยู่เฉพาะ ในหมู่มนุษย์เท่านั้น

2. ประเภทของวัฒนธรรม

       นักวิชาการ ได้แบ่งประเภทของวัฒนธรรม ตามเป้าหมายและวิธีการดังนี้

       2.1 การจัดประเภทตามลักษณะที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ แบ่งออกเป็น

                1) วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุข ทางกาย ได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

             2) วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิด ปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม ได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบ แบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี

ที่มา: https://sites.google.com/site/httpswantakarncomsite/home/khwam-hmay-khxng-wathnthrrm-thiy/khwam-sakhay-khxng-wathnthrrm-1/prapheth-khxng-wathnthrrm

ที่มา: https://thailovecultural.wordpress.com/2015/02/15/ประเภทของวัฒนธรรมไทย/

2.2 การจัดประเภทตามเนื้อหา แบ่งออกเป็น

                1) คติธรรม คือ วัฒนธรรมทางศีลธรรมและทางจิตใจ เช่น วัฒนธรรมทางศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม คำสอน หลักการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยเน้นเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น เป็นต้น

                2) วัตถุธรรม คือ วัฒนธรรมทางวัตถุ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น วัดวาอาราม เจดีย์ เครื่องแต่งกาย ถนนหนทาง เครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น

                3) เนติธรรม คือ วัฒนธรรมทางกฎหมาย หรือขนบจารีตประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นข้อห้าม ข้อปฏิบัติ กฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ เป็นต้น

                4) สหธรรม คือ วัฒนธรรมทางสังคม เป็นวัฒนธรรมในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น มารยาทในสังคม เป็นต้น