ตอนที่ 3 หลักประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา

  การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่ประชาชนมีเสรีภาพ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ ต่อสังคมและบ้านเมืองเท่าเทียมกัน อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวสรุปถึง การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สั้น กระทัดรัดและครอบคลุมว่า “เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” หลักของประชาธิปไตย มี 5 หลัก คือ

  1. หลักเสรีภาพ (Liberty) ประกอบด้วย สิทธิ หน้าที่ อิสรภาพ

  2. หลักความเสมอภาค (Equality) คือ ความเท่าเทียมกัน

  3. หลักเหตุผล (Rationality) คือ การตัดสินความขัดแย้งด้วยเหตุผล

  4. หลักการตัดสินโดยยึดเสียงข้างมาก (Majority) ในขณะเดียวกันเสียงข้างน้อยก็ได้รับการรับฟังและคุ้มครอง

  5. หลักการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดํารงตําแหน่ง (Rotation) ไม่ผูกขาดแต่คนใดคนหนึ่งหรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

  โดยทั่วไปถือว่ารัฐกรีกเป็นนครรัฐแรกที่เป็นต้นกําเนิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่หาก วิเคราะห์หลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว แนวคิด หลักการ และวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา มีลักษณะและ ยึดหลักประชาธิปไตยก่อนนครรัฐกรีกเสียอีก ซึ่งสามารถสรุปลักษณะประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนาได้ดังนี้

  1. พระพุทธศาสนามีพระธรรมวินัยเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุด พระธรรมคือคําสอนของ พระพุทธเจ้า พระวินัยคือคําสั่งอันเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เมื่อรวมกันจึงเรียกพระธรรม วินัย ซึ่งมีความสําคัญมากจะเห็นได้จากพระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานเพียงเล็กน้อย

  2. พระพุทธศาสนาให้สิทธิเสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัย เช่น พระภิกษุเจ้าถิ่นจะมีสิทธิได้รับของแจก ก่อนพระภิกษุอาคันตุกะ(พระภิกษุมาจากที่อื่นหรือแขกผู้มาเยือน) พระภิกษุที่จําพรรษาอยู่ด้วยกันมีสิทธิรับกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐินเท่าเทียมกัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยภาษาใดๆ ก็ได้ ตามที่ตนรู้ดีที่สุด ซึ่งต่างจากศาสนาพราหมณ์ที่ต้องศึกษาด้วยภาษาสันสกฤตเพียงภาษาเดียว นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังให้เสรีภาพทางความคิด เช่นพระพุทธเจ้าได้ให้โอกาสแก่ชาวกาลามะในการที่จะเลือก เชื่อหรือไม่เชื่อคําสอนของนักบวชที่มาเผยแผ่คําสอน โดยให้คิดพิจารณาเองและให้หลักการที่ปรากฏใน หลักกาลามสูตรดังได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อการพัฒนาศรัทธาและปัญญา

  3. พระพุทธศาสนามีความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัย บุคคลไม่ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร รวมทั้งวรรณะต่ำกว่า เช่น พวกจัณฑาล และจะยากดีมีจนอย่างไร เมื่อเข้ามาบวช ในพระพุทธศาสนาก็มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันคือ ปฏิบัติตามสิกขาบท (ศีล) เท่ากัน เช่น ถ้าบวชเป็น สามเณร ก็ถือศีล 10 ข้อ อุปสมบทเป็นภิกษุก็ต้องถือศีล 227 ข้อ เท่ากัน ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า คนจะเลวเพราะชาติกําเนิดก็หาไม่ คนจะดีเพราะชาติกําเนิดก็หาไม่ แต่คนจะดีหรือเลวเพราะการกระทํา

พระพุทธศาสนาให้ความเสมอภาค
แก่ผู้ที่เข้ามาบวชจะต้องถือศีลเท่ากัน 

  4. พระพุทธศาสนายึดหลักเหตุผล มีตัวอย่าง เช่น ในการบัญญัติพระวินัย พระพุทธองค์มิได้ บัญญัติพระวินัยไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เสียหายขึ้น จะเรียกประชุมพระสงฆ์ แล้วให้พระภิกษุที่ เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์นั้น เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ตนได้กระทําความเสียหายให้ที่ประชุมพระสงฆ์ทราบ พระพุทธองค์ทรงชี้แจงผลเสียหายของการประพฤติเช่นนั้น แล้วทรงบัญญัติเป็นพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนําไปปฏิบัติ ส่วนพระภิกษุที่เป็นต้นเหตุของเรื่องเรียกว่า อาทิกัมมะ ก็ถือว่าไม่มีความผิดเพราะยังไม่ได้บัญญัติพระวินัย นอกจากนี้พิธีอุปสมบทก็ทรงมีพุทธานุญาต ถ้าอยู่ในปัจจันตชนบทซึ่งหาพระสงฆ์ลําบาก ก็ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปทําพิธีอุปสมบทได้ ส่วนในเขตมัธยมชนบทซึ่งหาพระสงฆ์ได้ง่ายต้องมีพระสงฆ์ 10 รูปขึ้นไปถึงจะทําพิธีอุปสมบทได้ นับได้ ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยึดหลักเหตุผลตามหลักการระบอบประชาธิปไตย

  5. พระพุทธศาสนายึดหลักเสียงข้างมากคือใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน ในกรณีที่เกิดอธิกรณ์ (คดี) หรือเรื่องราวที่สงฆ์ต้องดําเนินการ เช่น การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย การกล่าวหากันต้องอาบัติ (โทษ) ทําให้เกิดความเห็นแตกต่างกัน เพื่อให้อธิกรณ์หรือคดียุติ จึงต้องมีการลงมติโดยใช้เสียงข้างมากเป็น เกณฑ์ตัดสิน การลงมตินั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ชอบธรรมเรียกว่าวิธีเยภูยยสิกา การตัดสินโดยใช้ เสียงข้างมากฝ่ายใดได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี หรือเรื่องนั้นเป็นข้อยุติตามเสียง ข้างมาก ในบางกรณีที่เป็นเรื่องสําคัญที่ต้องใช้มติเป็นเอกฉันท์ เช่น พิธีอุปสมบท พระสงฆ์ที่ทําพิธีให้ผู้ขอบวชต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ให้บวชได้ หากมีเสียงคัดค้านแม้เพียงรูปเดียวก็ถือว่าการอุปสมบทนั้นเป็นโมฆะ หลักการและวิธีดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยทางโลก


  6. พระพุทธศาสนามอบความเป็นใหญ่ให้แก่คณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าได้ให้ความสําคัญแก่คณะสงฆ์ เหมือนกับทางโลกที่ระบอบประชาธิปไตยให้ความสําคัญแก่ประชาชน การปกครองระบอบประชาธิปไตย ถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ จะให้ความสําคัญกับประชาชน พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานความสําคัญความเป็นใหญ่ให้แก่พระสงฆ์ เช่น พิธีอุปสมบทจะต้องมีพระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูปขึ้นไปเป็นผู้คัดเลือกและสอบคุณสมบัติ ของผู้มาขอบวช การรับกฐินจะต้องมีพระสงฆ์จําพรรษาที่วัดนั้นอย่างน้อย 5 รูปขึ้นไปถึงจะรับกฐินได้ นอกจากนี้ยังให้ความสําคัญแก่พระสงฆ์มากกว่าพระศาสดาในฐานะปัจเจกชน พระองค์ได้ตรัสแนะนํานาง ปชาบดีโคตมี ผู้นําอาหารมาถวายพระองค์ให้ถวายพระสงฆ์แทน ดังที่ตรัสไว้ว่า “การถวายทานแด่ พระพุทธเจ้ามีผลสู้ถวายแด่พระสงฆ์ไม่ได้” หรือแม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังเคารพมติสงฆ์ ดังพุทธวจนตรัส ยืนยันว่า “เมื่อใดสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น เมื่อนั้นเราตถาคตก็เคารพสงฆ์”

  7. พระพุทธศาสนาให้ความสําคัญของการประชุมสงฆ์ ในทางโลกการประชุมเป็นการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดถือความเห็นของตนเป็นหลัก แต่จะฟังเสียงความเห็นที่ประชุมและใช้มติเสียง ข้างมาก ในทางพระพุทธศาสนาก็ให้ความสําคัญต่อการประชุมสงฆ์ เช่น การประชุมทําอุโบสถสังฆกรรม (การประชุมฟังสวดปาติโมกข์หรือสิกขาบท 227 ข้อ) พระสงฆ์ทุกรูปต้องเข้าประชุมแม้เป็นอรหันต์แล้วก็ ตาม การประชุมสงฆ์ภิกษุที่เข้าประชุมไม่ได้ เช่น อาพาธ(ป่วย)ต้องมอบฉันทะคืออนุมัติให้สงฆ์ทําการ ประชุมได้โดยความยินยอมของตน หรือขณะประชุมภิกษุรูปใดมีเหตุต้องออกจากที่ประชุม เช่น สรีรกิจ (เข้าห้องน้ําก็ต้องมอบฉันทะเช่นกัน และภิกษุทุกรูปมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกัน จะเห็นได้ ว่าพระพุทธศาสนาให้ความสําคัญภิกษุแต่ละรูปตามหลักประชาธิปไตย


พระพุทธศาสนาให้ความสําคัญต่อการประชุม สงฆ์และมติสงฆ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและ ลงมติโดยถือตามเสียงข้างมาก อันเป็นลักษณะ ประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา 

  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาธิปไตย มีลักษณะการให้สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ เสมอภาคแก่ พระสงฆ์ การให้ความสําคัญแก่คณะสงฆ์ก็เป็นการยึดหลักเสียงส่วนใหญ่เป็นสําคัญและเป็นหลักสามัคคีธรรม เพราะต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกันทําการต่างๆ การยึดถือพระวินัยเป็นหลักในการวินิจฉัยความประพฤติของพระภิกษุ สร้างความเรียบร้อยสงบสุขในสังคมของคณะสงฆ์ พระพุทธศาสนายึดมั่นในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เมื่อหมู่คณะมี ความสมัครสมานสามัคคีย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่พึงปรารถนา พระพุทธศาสนาจึงเป็นรากฐานสําคัญประการหนึ่งของ การปกครองระบอบประชาธิปไตย