เรื่องที่ 3.2 พระเจ้ามิลินท์

พระเจ้าเมนันเดอร์ หรือ พระเจ้ามิลินท์(Menander) กษัตริย์เชื้อสายกรีกได้สร้างเมืองสาคละใกล้กับตักศิลาและได้ขยายดินแดนทางใต้จรดเมืองมถุราลุ่มแม่น้ำยมุนาของอินเดียพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ได้โต้ตอบปัญญาธรรมกับภิกษุชื่อพระนาคเสน จากนั้นก็เลื่อมใสพระพุทธศาสนาดังปรากฏในคัมภีร์ มิลินทปัญหาพระพุทธศาสนาได้รับการทํานุบํารุงจนเจริญรุ่งเรือง

พระเจ้ามิลินท์เสวยราชสมบัติอยู่ในสาคละราชธานี พระองค์มีปรีชาเฉลียวฉลาดว่องไว สามารถทรงทราบเหตุการณ์ได้ทันท่วงที และมักพอพระราชหฤทัยในการไล่ เลียงลัทธิต่าง ๆ จนนักปราชญ์ในสมัยนั้นครั่นคร้าม ไม่กล้าจะทูล โต้ตอบพระราชปุจฉาได้

ในสมัยนั้นมีพระเถระองค์หนึ่งชื่อว่า อัสสคุตอยู่ที่ถ้ํารักขิตคูหาณ ป่าหิมพานต์เมื่อได้ทราบพระเกียรติคุณของพระเจ้ามิลินท์ดังนั้นจึงประชุมสงฆ์ไต่ถามว่าพระรูปใดจะสามารถแก้ปัญหาถวายพระเจ้ามิลินท์ได้บ้าง สงฆ์ทุกรูปต่างพากันนิ่ง พระอัสสคุตจึงว่า มีเทพบุตรฉลาดอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า มหาเสน อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นั่นแลจะเป็นผู้สามารถโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้ สังฆสมาคมจึงตกลงพร้อมกันขึ้นไปยังเทวโลก เล่าเรื่องและ ความประสงค์ให้พระอินทร์และมหาเสนเทพบุตรฟัง ครั้นอัญเชิญมหาเสนเทพบุตรได้สมประสงค์แล้วจึงพากัน กลับมายังมนุษยโลก แล้วจัดให้พระโรหณเถระซึ่งเป็นผู้ที่ตระกูลโสณุตตรพราหมณ์นับถือและเป็นตระกูลที่ มหาเสนเทพบุตรจะจุติลงมาเกิด จนตระกูลนั้นเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ฝ่ายมหาเสนเทพบุตร เมื่อรับอัญเชิญจากคณะสงฆ์แล้วก็จุติลงมาเกิดในตระกูล โสณุตตรพราหมณ์ตําบลชังคลคามริมป่าหิมพานต์ ได้นามว่านาคเสนกุมาร เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้รับการศึกษาศิลปวิทยา จากสํานักครูทั้งหลาย ตลอดจนไตรเพทอันเป็นคัมภีร์สําคัญของพราหมณ์ก็ได้ศึกษาจนชํานิชํานาญ ครั้นแล้วจึงมารําพึงว่าวิชาเหล่านี้ไม่มีแก่นสารอะไร ก็เกิดความเบื่อหน่าย

อยู่มาวันหนึ่ง พระโรหณเถระเข้าไปฉันอาหารที่บ้าน โสณุตตรพราหมณ์ พอนาคเสนกุมารเห็น ก็นึกแปลกใจทันที จึงเรียนถามว่า ทําไมท่านจึงต้องโกนผม โกนหนวดและต้องนุ่งห่มผ้าเหลือง ครั้นรู้เหตุผลจึงเรียนถามอีกว่า คนเพศเช่นท่านได้รับการศึกษาวิชาอะไรบ้าง เมื่อได้รับตอบว่าได้รับการศึกษาวิชาอย่างสูงสุดในโลก จึงไปขออนุญาตต่อบิดามารดาบวชเรียนบ้าง

ครั้นบวชเป็นสามเณรแล้ว ก็เล่าเรียนพระไตรปิฎกในสํานักพระโรหณเถระ พออายุเต็ม 20 ปี ก็บวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาต่อไปจนเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก เมื่อพระอัสสคตรู้ว่าพระนาคเสนเชี่ยวชาญดีแล้ว จึงนําไปหาพระอายุปาลเถระที่อสงไขยบริเวณ (ใกล้พระราชวังพระเจ้ามิลินท์) เพื่อจะได้มี โอกาสถวายวิสัชนาพระราชปุจฉา

วันหนึ่งพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเหล่าอํามาตย์ว่าเห็นมีใครบ้างซึ่งพอจะโต้ตอบกับเราได้ เหล่าอํามาตย์จึงกราบทูลว่ามีพระเถระอยู่รูปหนึ่ง ชื่อว่าอายุปาละ พอจะถวายวิสัชนาแก้ปัญหาของพระองค์ได้

เมื่อทรงทราบดังนั้นก็เสด็จไปหาพระอายุปาลเถระตรัสถามปัญหาแรก พระอายุปาลเถระก็ถวาย วิสัชนาให้ทรงสิ้นสงสัยไม่ได้

ขณะนั้นเทวมันติยอํามาตย์จึงกราบทูลว่า ยังมีพระภิกษุอยู่รูปหนึ่งชื่อว่านาคเสนเป็นผู้มีปฏิภาณ แตกฉานในพระไตรปิฎก พอพระเจ้ามิลินท์ทรงได้ยินนามว่านาคเสน ก็ทรงหวาดพระราชหฤทัย เพราะว่า อดีตชาติเมื่อครั้งพระพุทธศาสนามีพระกัสสปเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้ามิลินท์บวชเป็นสามเณรอยู่ใน สํานักของพระนาคเสน (ซึ่งในครั้งกระนั้น ท่านเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง)

วันหนึ่งพระภิกษุรูปนั้น (คือพระนาคเสน) กวาดหยากเยื่อกองไว้ แล้วเรียกให้สามเณรมาขน สามเณรแกล้งทําเป็นไม่ได้ยินเสีย ท่านจึงบันดาลโทสะหยิบเอาไม้กวาดตีสามเณรๆ ก็จําใจขน ครั้นขนเสร็จแล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า ด้วยผลบุญแห่งการขนหยากเยื่อทิ้งนี้ ชาติต่อไปขอให้มีเดชศักดานุภาพใหญ่หลวง และขอให้มีปัญญาเฉียบแหลมกว่าชนทั้งปวง พระภิกษุรูปนั้นรู้ว่าสามเณรตั้งสัตยาธิษฐานเช่นนั้น จึงปรารถนาบ้างว่าด้วยเดชแห่งกุศลที่ข้าพเจ้าได้กวาดหยากเยื่อนี้ ชาติต่อไปขอให้มีปฏิภาณว่องไวสามารถโต้ตอบปัญหาแม้ของ สามเณรนี้ได้

เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงทราบข่าวจากเทวมันติยอํามาตย์ดังนั้น จึงเสด็จไปหาพระนาคเสนถึงที่อยู่ ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารราว 500 คน เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง เสด็จไปหาพระนาค เสน

คราวนั้นพระนาคเสนกับพระภิกษุ 8 หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้า มิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า

“บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร” เทวมัติยะทูลตอบว่า

“บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของพระนาคเสน พระเจ้าข้า”

พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลม ชาติ ชูชัน(ขนลุก) คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนัก

อุปมาดังพญาช้างถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ

เหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้

เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้

เหมือนกับหมีถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม

เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม

เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม

เหมือนกับงูมาพบหมองู

เหมือนกับหนูมาพบแมว

เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี

เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู

เหมือนกับนกอยู่ในกรง เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ

เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย

เหมือนกับยักษ์ทําผิดต่อท้าวเวสสุวัณ

เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุรู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวจนตัวสั่นฉันใด พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัยฉันนั้น แต่พระองค์ทรงคิดในใจว่าอย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้และดูถูกได้ จึงได้ทรงแข็งพระทัยตรัสขึ้นว่า

“นี่แน่ะ เทวมันติยะเธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะรู้จักพระนาคเสน เอง”

เทวมันติยะอํามาตย์จึงกราบทูลว่า

“ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า”

ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ 8 หมื่นองค์ คือ นั่งอยู่ ข้างหน้าของพระภิกษุ 4 หมื่นองค์ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก 4 หมื่นองค์

ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตรดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวงก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า

“เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้น หรือเป็นพระนาคเสน”

เทวมันติยะกราบทูลว่า

“ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ พระนาคเสน ได้ดีแล้ว”

พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระองค์แลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชันอีก

พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอัน ดีแล้วจึงตรัสขึ้นว่า

“เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์และบัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลายมาเป็นอัน มากแล้วไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่ต้อง สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่ เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลย”

พระนาคเสน ได้สนทนาและตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์จนพระองค์ต้องยอมรับ และเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ทะนุบํารุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรือง

คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในการคิด การตั้งปัญหาเพื่อให้ผู้อื่นคิดตามไปด้วย

2. เป็นผู้ที่ยอมรับความสามารถของผู้อื่น รู้แพ้รู้ชนะ

3. เป็นผู้ฝักใฝ่ในพระธรรม ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรือง