หน่วยที่ 2 การวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

การดูแลสุขภาพของบุคคลแต่ละวัย

บุคคลแต่ละวัยมีพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

วัยทารกและวัยเด็ก

เป็นวัยที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวจะให้การดูแล จัดการวางแผน การปลูกฝังให้มีสุขนิสัยในการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อให้มีภาวะการเจริญเติบโตที่เหมาะสมกับวัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม

วัยรุ่น

อายุตั้งแต่ 13 ถึง 20 ปี เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว ควรปลูกฝังแบบแผนการดำเนินชีวิตด้านการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

วัยผู้ใหญ่

แบ่งออก เป็น 2 ช่วง คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตั้งแต่อายุ 20 ถึง 40 ปี และวัยกลางคน คือ ช่วงอายุ 40 - 60 ปี บุคคลในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีการพัฒนาทางร่างกายอย่างเต็มที่ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ร่างกายสมบูรณ์ เป็นวัยทำงานและสร้างครอบครัว

วัยสูงอายุ

มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อวัยวะทุกระบบในร่างกายเสื่อมถอย ปัญหาทางกายที่พบบ่อยประกอบด้วย การเคลื่อนไหวไม่คล่องตัวและการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ข้อกระดูกเสื่อม ท้องผูก ตาเป็นต้อกระจก หูตึง และนอนไม่หลับ เป็นวัยที่ควรได้รับการดูแลจากคนในครอบครัว

การดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

การดูแลสุขภาพของตนเอง

1.การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างถูกต้องตามวิธีการของการออกกำลังกาย

2.การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ทานให้ครบ 5 หมู่

3.การพักผ่อนและกิจกรรมนันทนาการ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับในเวลากลางคืน วันละ 6-8 ชั่วโมง

4.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงที่บ่อนทำลายสุขภาพ สาเหตุของการที่จะเกิดอุบัติภัยและ ภัยอันตราย เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การเสพสารเสพติด

5.สร้างทักษะในชีวิตเพื่อการอยู่กันด้วยสันติ การใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัวต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือความเป็นอยู่ทั่วไป

6.มีการพัฒนาทางด้านปัญญา ลดลความเห็นแก่ตัว มุ่งเข้าถึงความดี เช่น การศึกษา การเล่นกีฬาศาสนา การรวมกลุ่ม การเจริญภาวนา การสัมผัสธรรมชาติ เป็นต้น

7.มีการเรียนรู้ที่ดี เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสนุก ทำให้เกิดปัญญา เกิดความคิด มีความสุข สร้างแรงจูงใจ ที่ต้องการจะเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ มากขึ้น

8.การจัดสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อสุขภาพ ทั้งทางกายภาพ ทางชีวภาพ และทางสังคม สามารถทำได้ ดังนี้

สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

• มีสุขาภิบาลที่ดี สะอาดปราศจากมลภาวะ

• มีสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อน

• มีนํ้าสะอาดสำหรับบริโภคอย่างเพียงพอ

• มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ

สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ

• ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค เพื่อที่จะทำให้การก่อเกิดโรคต่างๆ ลดน้อยลงไปหรือไม่เกิดขึ้น

สิ่งแวดล้อมทางสังคม

• มีสัมพันธภาพและมิตรไมตรีที่ดี ต่อกัน

• มีความเอื้ออาทรต่อกันทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน เป็นมิตรที่ดีกับเพื่อนบ้านและชุมชน

การดูแลสุขภาพครอบครัว

• ครอบครัวเป็นสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง มีสมาชิก พ่อแม่ ลูก หรือเป็นสังคมของกลุ่มญาติประกอบด้วย บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร เป็นต้น สมาชิกในครอบครัว มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่ทุกค

ต้องมีความห่วงใย มีความรัก เอื้ออาทรซึ่งกันและกันให้ความช่วยเหลือดูแลกันและกัน

• ในด้านสุขภาพ แต่ละคนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรง เมื่อสุขภาพของตนแข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว สุขภาพส่วนรวมหรือสุขภาพของครอบครัวก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ครอบครัวย่อมจะมีความสุข ทั้งนี้ ครอบครัวจะขยายใหญ่ขึ้นได้ต้องดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้

1.สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้สมาชิกใหม่เกิดและมีชีวิตอยู่รอดได้

2.ป้องกันและคุ้มครองให้มีการเจริญเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่อย่างราบรื่น

3.ส่งเสริมสมาชิกของครอบครัวแต่ละคนให้อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี

4.ช่วยกันดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ไม่นำสิ่งที่จะเข้ามาทำลายการมีสุขภาพที่ดีของสมาชิกครอบครัว

กระบวนการในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

การประเมินปัญหา

• พิจารณาประเมิน “สภาวะของสุขภาพ” โดยตนเองเป็นคนประเมินตนเองและครอบครัวของตนเองว่าอยู่ในกลุ่มใด อยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดี หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยสามารถประเมินสภาวะสุขภาพได้ทั้งจากลักษณะของร่างกาย และลักษณะของสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น

- ร่างกายอยู่ในสภาพที่แข็งแรงหรือทรุดโทรม

- สภาพแวดล้อมสะอาดหรือสกปรก เต็มไปด้วยมลพิษ เป็นต้น

- รูปร่างผอมหรืออ้วน

- นัยน์ตามองเห็นเป็นปกติหรือไม่ มีอาการสายตาสั้นหรืออาการสายตายาว

การวิเคราะห์ปัญหาการวิเคราะห์ปัญหา

• เมื่อทราบว่าสภาวะของร่างกายอยู่ในสภาวะอ่อนแอหรืออยู่ในสภาวะเสี่ยง ก็นำเอาปัญหานั้นๆ มาวิเคราะห์ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด เช่น พฤติกรรมการกินอาหารที่อาจทำให้ร่างกายอ้วนเกินไป เกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นำพฤติกรรมนั้นมาวิเคราะห์ว่าทำไมจึงอ้วน กินอาหารประเภทใดมากเกินไป เมื่อกินอาหารแล้วได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานหรือไม่ หรือสืบหาความเป็นมาจากพันธุกรรม เป็นต้น

การวางแผนในการแก้ปัญหา

• เป็นกระบวนการในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยการหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่เหมาะสมว่าจะดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดี ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหานี้เป็นการวางแผนเพื่ออนาคต โดยที่เรารู้ตัวของเราเองและครอบครัวว่า จะต้องแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปในทางที่ดีได้ โดยอาศัยแนวคิดของการสาธารณสุขมูลฐานประยุกต์ให้เข้ากับสภาพจริง

การลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

• ก่อนที่จะปฏิบัติให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้นจะต้องมีการวางแผน นำเอาแผนที่วางไว้มาปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ปฏิบัติอย่างงมงาย แต้ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเราและครอบครัว เช่น การใช้วิธีการคลายความเครียดด้วยการนวดการพักผ่อนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับสุขภาพและแผนที่วางไว้ เป็นต้น

การประเมินผล

• เป็นกระบวนการสุดท้ายของทุกๆ กิจกรรม เพื่อจะได้ทราบผลหรือบทสรุปที่เราได้ปฏิบัติตามแผนแล้วเกิดผลอย่างไร ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาในการดำเนินการต่อไป คือถ้าดีก็ดำเนินการต่อไปและพัฒนายิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้สัมฤทธิผลตามที่วางเอาไว้

การวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

คุณค่าของการวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

•การวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวเป็นเรื่องที่มีคุณค่า เพราะนอกจากจะกระตุ้นให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว ใส่ใจในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อตนเองและครอบครัว ดังนี้

1.สร้างเสริมสุขภาพทั้งกายและจิตใจของตนเองและครอบครัว

2.ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3.สร้างสัมพันธภาพอันดีภายในครอบครัว ทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวได้

4.กำหนดหรือเลือกรูปแบบการดๆเนินชีวิตของตนเองและบุคคลในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

5.กำหนดช่วงเวลาในการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

6.เป็นการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้เจ็บป่วย

7.ช่วยในการวางแผนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วย

ขั้นตอนในการวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

สามารถแยกได้ 3 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 การประเมินสภาวะสุขภาพของตนเองและครอบครัว มี 2 วิธี

การประเมินด้วยตนเอง

•เป็นการประเมินสภาวะสุขภาพของตนเองทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา สังเกตสุขภาพของตนเองและสมาชิกภายในครอบครัวได้ว่า มีสภาพอ้วน ผอม แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่ สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากน้อยเพียงใด

การประเมินโดยบุคลากรสาธารณสุขหรือแพทย์

•การประเมินสุขภาพด้วยตนเองในบางด้านอาจไม่ละเอียดและครอบคลุมมากนัก จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในวงการสาธารณสุขหรือแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อความถูกต้องและชัดเจน

สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการดูแลสุขภาพ ก็คือ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง โดยจะได้รับบริการทางการแพทย์ ดังนี้

•รายละเอียดทั่วๆ ไป เกี่ยวกับประวัติส่วนบุคคล ประวัติครอบครัวโดยสังเขป ประวัติการพัฒนาการ ประวัติการเจ็บป่วย การดูแลรักษาจากอดีตถึงปัจจุบัน



•ตรวจสอบสภาพร่างกาย โดยการฟัง คลำ การเคาะ การสังเกต เพื่อค้นหาความผิดปกติ




•ตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ และอื่นๆ

ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการประเมิน

• เป็นขั้นตอนเพื่อสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงสภาวะและปัญหาสุขภาพของตนเอง โดยกระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพที่ประเมินได้ กับเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น เมื่อวิเคราะห์ได้แล้ว ก็สามารถนำไปวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ขั้นที่ 2 การวางแผนหรือกำหนดวิธีการเพื่อแก้ปัญหาที่พบหรือปรากฏ

• เป็นขั้นตอนของการออกแบบกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพหรือสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่พบ โดยจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน และเป็นระบบ เช่น อาจสร้างตารางการดูแลสุขภาพของตนเองในระยะเวลา 1 เดือน การวางแผนนี้ เราเป็นผู้วางแผนและดำเนินการด้วยตนเอง หรืออาจเกิดจากการที่สมาชิกในครอบครัวช่วยกันวางแผนในการดูแลสุขภาพให้กับสมาชิกในครอบครัวของตนเอง

การวางแผนดูแลสุขภาพโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

• หลักของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ทั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม ฉะนั้น สุขภาพที่พอเพียง หมายถึง การกระทำอะไรแต่พอดี กินพอดี อยู่พอดี

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดูแลสุขภาพ

พอประมาณ

•รักษาสุขภาพตามฐานะของตนเองที่เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนผู้อื่น

มีเหตุผล

•รู้ว่าดูแลรักษาสุขภาพเพราะอะไร เช่น เพราะต้องการให้ร่างกายแข็งแรง มีอายุยืนยาว

ความรู้ควบคู่คุณธรรม

•ใช้ความรู้ในทางที่ถูกต้อง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เช่น ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย ให้กับผู้บริโภ

มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

•อาทิ การรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับเพศและวัย

แนวทางในการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน

• การดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานในปัจจุบันใช้วิธีการคัดเลือกบุคคลในชุมชน ที่มีความรัก ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เข้ามาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ในกรุงเทพมหานคร เรียกว่า อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ส่วนในชนบทหรือต่างจังหวัด เรียกว่า อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) บุคคลเหล่านี้ได้รับการอบรม ด้านสาธารณสุขมูลฐานที่ถูกต้อง เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในชุมชน มี ๒ ลักษณะ คือ

การดูแลผู้ไม่เจ็บป่วย

• คือการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การให้ความรู้ด้านสุขภาพต่างๆ การร่วมกันทำกิจกรรมในชุมชน การประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพออนามัยในชุมชนและทั่วๆ ไป เพื่อเป็นการผสมผสานความรู้ร่วมกันของคนในชุมชนให้ร่วมกันดูแลสุขภาพเพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ดังนี้

1. เป็นผู้ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดี เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ มีภาวะโภชนาการที่ดี รักษาความสะอาดของร่างกายและที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด

2. เป็นผู้รับบริการ เช่น การพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามช่วงวัย การเข้าร่วม กิจกรรม หรือ โครงการต่างๆ เช่น โครงการกีฬาชุมชนสัมพันธ์ โครงการออกกำลังกาย เป็นต้น

งานสาธารณสุขมูลฐานกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

ลักษณะงานสาธารณสุขมูลฐาน

•งานสาธารณสุขมูลฐาน มีความสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในเรื่องของสุขภาพอนามัย ช่วยส่งเสริมความเข้าใจของผู้คนในท้องถิ่น และยังเป็นการลงทุนที่ไม่สูง มีความพอเพียงและเหมาะสมกับชุมชนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันงานสาธารณสุขมูลฐานจะครอบคลุมการดำเนินงาน ดังนี้

แนวทางในการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน

•การดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานในปัจจุบันใช้วิธีการคัดเลือกบุคคลในชุมชน ที่มีความรัก ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เข้ามาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ในกรุงเทพมหานคร เรียกว่า อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ส่วนในชนบทหรือต่างจังหวัด เรียกว่า อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) บุคคลเหล่านี้ได้รับการอบรม ด้านสาธารณสุขมูลฐานที่ถูกต้อง เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในชุมชน มี 2 ลักษณะ คือ

การดูแลผู้ไม่เจ็บป่วย

•คือการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การให้ความรู้ด้านสุขภาพต่างๆ การร่วมกันทำกิจกรรมในชุมชน การประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพออนามัยในชุมชนและทั่วๆ ไป เพื่อเป็นการผสมผสานความรู้ร่วมกันของคนในชุมชนให้ร่วมกันดูแลสุขภาพเพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ดังนี้

1.เป็นผู้ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดี เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ มีภาวะโภชนาการที่ดี รักษาความสะอาดของร่างกายและที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด

2.เป็นผู้รับบริการ เช่น การพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามช่วงวัย การเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เช่น โครงการกีฬาชุมชนสัมพันธ์ โครงการออกกำลังกาย เป็นต้น

ข้อมูลข่าวสารและแหล่งการเรียนรู้ทางสุขภาพ

ความหมายของข้อมูลและข้อมูลข่าวสารข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ หรือได้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้จัดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจจะเป็นเครื่องหมาย ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ใดๆ ก็ได้

ข้อมูลข่าวสาร (Information) หรืออาจเรียกว่า ข่าวสาร หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หรือจัดการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้

ความสำคัญของข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ

• ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตอย่างมาก ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีการเผยแพร่อย่างรวดเร็วและมีอิทธิพลหรือบทบาทต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่มีรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การรับประทานสารอาหารบางอย่างที่ชะลอความแก่ชรา การลดน้ำหนัก โดยการสวมใส่อุปกรณ์บางชนิด เป็นต้น

กลุ่มของข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ

ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (Health Information) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำมาตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางด้านสุขภาพ โดยสามารถที่จะแบ่งกลุ่มของข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพตามกิจกรรมของการสาธารณสุขได้เป็น ๔ กลุ่มใหญ่ คือ

ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ

เช่น ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย การบริโภค การพักผ่อน เป็นต้น

ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค

เช่น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล

เช่น วิธีการรักษาพยาบาลแบบต่างๆดูแลรักษาผู้ป่วย หรือข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคขนานใหม่ๆ

ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

เช่น การทำกายภาพบำบัดแบบต่างๆ หรือเทคนิคในการฟื้นฟูจิตใจของบุคคล เป็นต้น

ความสำคัญของข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ

การตัดสินใจของบุคคลในการที่จะเลือกรูปแบบหรือวิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพที่ได้รับ โดยทั่วไปแล้วข้อมูลข่าวสารสุขภาพจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจอยู่ด้วยกัน 2 ด้าน คือ

ด้านการวางแผน

•ในการดำเนินชีวิตของคนเรามีการวางแผนล่วงหน้าทั้งมีระบบและไม่มีระบบ เช่น การวางแผนเรื่องสุขภาพ วางแผนการบริโภคอาหารในแต่ละวัน วางแผนการออกกำลังกาย ปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่มีผลต่อการตัดสินใจ เช่น ปัจจุบันแนวทางในการรักษาโรคมีอยู่หลายแนวทาง ได้แก่ การแพทย์แผนตะวันตก การแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ บุคคลที่เจ็บป่วยจะเลือกทางไหนก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่ได้รับมา

ด้านการควบคุม

ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ มีประโยชน์อย่างมากต่อการควบคุม หรือการประเมินผล ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วเกิดผลดีต่อสุขภาพอย่างไร และควรจะดำเนินการอย่างไรต่อ เช่น กรณีลดความอ้วน ถ้าทราบว่าหลังการออกกำลังกายและควบคุมอาหารแล้วทดลองชั่งนํ้าหนัก พบว่านํ้าหนักตัวลดลงก็มีกำลังใจที่จะลดความอ้วนต่อ ทำให้สามารถลดความอ้วนได้ในที่สุด สิ่งเหล่านี้เกิดจากผลของการประเมินว่าสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้วนั้นเหมาะสมต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด

แหล่งของข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

•การแสวงหาข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพนั้น สามารถสืบค้นได้จากแหล่งต่างๆ มากมาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

แหล่งปฐมภูมิ

•เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ

•อาสาสมัครหรือผู้นำชุมชนทางด้านสุขภาพ

•บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย

•บุคคลอื่นในชุมชนที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพ

แหล่งทุติยภูมิ

•สื่อสิ่งพิมพ์

•สื่อวิทยุ โทรทัศน์

•นิทรรสการด้านสุขภาพ

•สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม