หน่วยการเรียนรู้ที่ 7 ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของคนไทย

ความรุนแรงของคนไทย

ความรุนแรงที่มักเกิดขึ้นและพบได้บ่อยในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1.ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence)

•การทำร้ายเด็ก : การทำร้ายร่างกาย จิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศการทอดทิ้งเด็กจนได้รับอันตราย ตลอดจนการคุกคามต่อ ความปลอดภัยของเด็ก

•การทำร้ายคู่สมรส : เป็นการทำร้ายทางจิตใจด้วยการด่าว่า บังคับหรือการทำร้ายร่างกายด้วยการตบตี หรือใช้สิ่งของทำร้ายจน เกิดการได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้

•การทำร้ายผู้สูงอายุ : เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือในสถานพยาบาลผู้สูงอายุ

2.ความรุนแรงในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษา (School Violence or Institutional Violence)

•ครูลงโทษนักเรียนโดยไม่เหมาะสม

•ประเพณีการรับน้องที่ใช้ความรุนแรง

•การถูกบังคับให้เรียนพิเศษในตอนเย็น

•การล้อเลียนปมด้อยของเพื่อนในห้อง

3.ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence): เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง

•การถูกข่มขืน

•การถูกล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจา สายตา หรือแม้กระทั่งการสัมผัสร่างกาย

•การพรากผู้เยาว์

•การค้ามนุษย์

4.ความรุนแรงในชุมชน (Community Violence)

•การจราจล

•การปล้นจี้ชิงทรัพย์

•การฆาตกรรม

•การทำอนาจาร

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดความรุนแรงของคนไทย

การอบรมเลี้ยงดู

พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กโดยขาดความรักและความอบอุ่น หรือการที่เด็กมีประสบการณ์ได้รับแต่ความรุนแรง เมื่อเติบโตขึ้นมาจะเป็นคนที่ต่อต้านสังคม และใช้ความรุนแรงในการแสดงออก

สื่อ

เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เกมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น สื่อเหล่านี้บางส่วนจะมีเนื้อหา รูปภาพ และการนำเสนอเหตุการณ์ที่รุนแรง สร้างทัศนคติและปลูกฝังการใช้ความรุนแรงให้แก่เด็ก

อบายมุขต่างๆ

สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเสพสารเสพติดก่อให้เกิดผล

กระทบ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ครอบครัวแตกแยก เกิด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

การพนัน ผู้ติดการพนันจะก่อความรุนแรงได้หลายลักษณะ ซึ่งส่วนใหญ่มัก กระทำไป เพื่อให้ได้เงินไปใช้เล่นการพนัน เช่น สามีทำร้ายร่างกาย ภรรยา รุ่นพี่ข่มขู่รีดไถเงินจากรุ่นน้องที่โรงเรียน โจรผู้ร้ายฉกชิงวิ่งราว ในที่สาธารณะ เป็นต้น

ระบบการศึกษา

ระบบการศึกษามีความรุนแรงในโครงสร้างเพราะไม่อาจสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน มีดังนี้

ระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก

โดยคัดเฉพาะคนที่เก่งไว้ในระบบคนที่สอบสู้ไม่ได้ต้องออกไปทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงและสร้างความเครียด ความขัดแย้งในหมู่นักเรียน

ระบบการลงโทษในโรงเรียน

ปัจจุบันการลงโทษนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ จะไม่ใช้ความรุนแรงโดยวิธีการเฆี่ยนตีดังเช่น ในอดีต แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการอบรมสั่งสอนด้วยเหตุผลสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรม มากยิ่งขึ้น

ระบบการเรียนรู้แบบท่องจำ

เป็นการฝึกให้เด็กไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง มิได้คิดวิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียที่ จะเกิดขึ้นให้ดีอย่างถี่ถ้วนจากการปฏิบัติตามสื่อเหล่านั้น

ความคาดหวังของของพ่อแม่ผู้ปกครอง

หากเด็กไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองได้ เด็กจะเกิดความกลัวว่าพ่อแม่จะผิดหวัง ทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งในตัวเองอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการต่างๆหรืออาจมีพฤติกรรมเก็บกด

แนวทางการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงของคนไทย

1.สร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวหลีกหนีและห่างไกลความรุนแรง

2.สนับสนุนให้มีความเสมอภาคทางเพศ ทั้งชายและหญิง โดยต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

3.สร้างกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจริงของตนเองและผู้อื่น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ความเสมอภาคทางเพศ

4.หลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดทุกชนิด เพื่อป้องกันมิให้ขาดสติจนนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมา

5.สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง โดยเปิดโอกาสให้มีความรับผิดชอบในการทำงานจะได้มีความภาคภูมิใจ ในตนเอง

6.นำกระบวนการกฎหมายเข้ามาช่วยยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่รองรับ การดำเนินงานทางด้านนี้

7.ผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายในครอบครัว ควรได้รับการเยียวยาเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกทำร้ายทางเพศ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจโดยทีมสหวิชาชีพของศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC) ในโรงพยาบาลของรัฐ

8.ระบบการศึกษาในโรงเรียน ต้องเน้นกระบวนการเรียนการสอนให้เด็กได้มีโอกาสฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์และมีความรับผิดชอบ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

9.หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตนเอง เมื่อประสบปัญหาความรุนแรง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมให้ตนเองรู้สึกด้อยค่าลง

10.แสวงหากำลังใจจากคนที่เราไว้ใจและยินดีช่วยเหลือเรา หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง

หน่วยงานที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านความรุนแรงในสังคมไทย

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

เป็นองค์กรที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กรอบด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยการทำงานในระดับ รากหญ้า ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อที่จะคิดค้นผลักดันการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์

โทรศัพท์ 0-2433-6292, 0-2884-6603

มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี

เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรีที่ถูกทารุณกรรม พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสการทำทารุณกรรมเด็กและสตรี

สายด่วน 1134

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ต้องการร่วมกันปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นมูลนิธิฯ ที่มีเป้าหมายกว้างขวางขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง

โทรศัพท์ 0-2954-2346-7