hasanah page เว็บไซต์สำหรับมุสลิมะห์
ดุอาอฺคืออิบาดะฮฺ และมีเกียรติยิ่ง
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงการดุอาอฺนั้นคืออิบาดะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย นุอฺมาน บิน บะชีร)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะมีเกียรติยิ่ง ณ อัลลอฮฺ มากไปกว่าการขอดุอาอฺ” (หะดีษหะสัน รายงานโดย อบูฮุร็อยเราะฮฺ)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ดุอาอฺนั้นคือ อาวุธของมุอฺมิน และเป็นเสาหลักของศาสนา และเป็นรัศมีแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัลฮากิม)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “การดุอาอฺนั้นคือสมองของอิบาดะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ รายงานโดย อนัส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ)
ดุอาอฺ ยับยั้งเกาะฎออฺ พ้นเกาะดัร
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่จะยับยั้งเกาะฎออฺ (การกำหนดสภาวะ) ได้ ยกเว้นดุอาอฺ และจะไม่มีอะไรที่จะเพิ่มอายุได้ ยกเว้นความกตัญญู” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัตติรฺมิซียฺ)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “การระวังไม่ช่วยให้พ้นจากเกาะดัรฺ (สิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด) และดุอาอฺนั้น มีประโยชน์แม้ว่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้น และบะลาอฺ (ภัยหรือการทดสอบที่รุนแรง) จะถูกกำหนดให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีการขอดุอาอฺแล้ว ทั้งสองสิ่งจะปะทะกันและกัน จนถึงวันกิยามะฮฺ (คือถ้าดุอาอฺมีความแข็งแรง มีอิคลาศมากกว่าก็จะเอาชนะบะลาอฺนั้นได้)” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัฏฏอบรอนีย และอัลฮากิม)
– “และพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ตรัสว่า จงวิงวอนต่อฉัน ฉันจะตอบ (การวิงวอน) แก่สูเจ้า” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฆอฟิร 60)
– “และเมื่อบ่าวของข้า ถามเจ้าถึงข้าแล้ว ก็ (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนต่อข้าดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิด และศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 186)
สาเหตุที่ดุอาอฺถูกตอบรับ-ไม่ถูกตอบรับ
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลาย อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง เป็นผู้ทรงบริสุทธิ์และพระองค์ทรงรับแต่เฉพาะสิ่งที่สะอาด อัลลอฮฺทรงบัญชาบรรดาผู้ศรัทธา เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงบัญชาบรรดารอซูลของพระองค์ว่า “โอ้ บรรดารอซูล จงกินจาก สิ่งที่ดี และจงทำการงานที่ดี แท้จริง ฉันรู้ดี ว่าพวกเจ้าทำอะไรอยู่” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูน 51) และ พระองค์ทรงกล่าวว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงกินสิ่งดีๆ ที่เราได้ประทานแก่สูเจ้าเป็นปัจจัยยังชีพ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 172) หลังจากนั้น ท่านได้เอ่ยถึงผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางตามลำพังคนเดียวใน สภาพผมเผ้ารุงรังและเสื้อผ้าที่เขรอะไปด้วยฝุ่น เขาได้ยกมือขึ้นไปบนท้องฟ้าและวิงวอนว่า “โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์” ในขณะที่อาหารการกิน เครื่องดื่ม และเสื้อผ้าของเขาเป็นที่ต้องห้าม คำวิงวอนของเขาจะถูกตอบรับได้อย่างไร?” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1015)
เวลาดุอาอฺมุสตะญาบ (ถูกตอบรับ) เมื่อฝนตก ไก่ขัน
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “สองช่วงด้วยกันที่ (การขอดุอาอฺ) จะไม่ถูกปฏิเสธ การขอดุอาอฺหลังอะซาน และการขอดุอาอฺ ในขณะที่ฝนกำลังตก” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัลญามิอฺอัลบานียฺ เลขที่ 3078)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อพวกท่านได้ยินไก่ขัน จงขอความโปรดปรานต่ออัลลอฮฺเพราะมันเห็นมลาอิกะฮฺ และเมื่อพวกท่านได้ยินเสียงร้องของลา จงวิงวอนขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากความชั่วของชัยฏอน เพราะมันเห็นชัยฏอน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 3303)
เวลาดุอาอฺมุสตะญาบ (ถูกตอบรับ) เมื่อทำอิบาดะฮฺสำคัญ
– ท่านนบีได้ถูกถามว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ดุอาอฺไหนที่จะถูกได้ยิน (หมายถึงถูกตอบรับ) มากที่สุด” ท่านนบีได้ตอบว่า “…..และในช่วงท้ายของการละหมาดฟัรฺฎู” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัตติรฺมิซียฺ)
– จากอบูฮูร็อยเราะฮฺ : อบุลกอซิม (นบีมุฮัมมัด) กล่าวว่า “ในวันศุกร์ มีเวลาพิเศษเวลาหนึ่งที่ไม่มีมุสลิมคนใดนมาซ และขอความดีต่ออัลลอฮฺ นอกไปจากพระองค์จะทรงให้แก่เขา” และท่านนบีได้ชี้ด้วยมือของท่านว่า (เวลานี้) สั้น” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 935 และมุสลิม เลขที่ 852)
– จากอบูบุรฺด๊ะฮฺ บินอบูมูซา อัลอัชอะรี : อับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัรฺ ได้พูดกับฉันว่า “ท่านได้ยินสิ่งใดจากพ่อของท่าน ที่มาจากท่านรอซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับเวลานั้นของวันศุกร์ไหม?” ฉันกล่าวว่า “ได้ยินสิ ฉันได้ยินพ่ออ้างถึงคำพูดของท่านรอซูลุลลอฮฺว่า ‘มันอยู่ระหว่างเวลาที่อิมามนั่งลงจนกระทั่งสิ้นสุดการ นมาซญุมุอ๊ะฮฺ’” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 853)
บุคคล 4 ประเภทที่ดุอาอฺถูกตอบรับ
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ดุอาอฺของบุคคลสามประเภทต่อไปนี้เป็นดุอาอฺที่ถูกตอบรับ ได้แก่ ดุอาอฺของผู้ถือศีลอด ดุอาอฺของผู้ถูกอธรรม และ ดุอาอฺของผู้เดินทาง” (หะดีษเศาะฮีหฺ ในหนังสือ เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ เลขที่ 3030)
– “หรือผู้ใดเล่าจะตอบรับผู้ร้องทุกข์ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระองค์ และทรงปลดเปลื้องความชั่วร้ายนั้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอันนัมลฺ 62)
มารยาทการขอดุอาอฺ – ยำเกรงและมั่นใจ
– “และจงวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความยำเกรง (ตัฟซีร: คือยำเกรงว่าพระองค์จะไม่ทรงรับ ในการนี้ จะช่วยให้มีการสำรวจมากขึ้น) และความปรารถนาอันแรงกล้า (ตัฟซีร: การวิงวอนขอของเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจที่จะได้รับ) แท้จริงความเอ็นดูเมตตาของอัลลอฮฺนั้นใกล้แก่ผู้กระทำดีทั้งหลาย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ 56 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “พวกเจ้าจงขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ โดยที่พวกเจ้าต้องมั่นใจว่าจะถูกตอบรับ และจงรู้เถิดว่า แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับดุอาอฺ (ที่ออกมา) จากหัวใจที่หันเห โลเล” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัตติรมิซียฺ, อัลฮากิม, อัฎฎ็อบรอนียฺ)
มารยาทการขอดุอาอฺ – เชื่อในความเมตตาของพระองค์
– “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนั้นเป็นของใคร? จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่าเป็นของอัลลอฮฺ พระองค์ได้ทรงกำหนดการเอ็นดูเมตตาไว้บนตัวของพระองค์” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 12)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ในตอนที่พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายเเล้ว พระองค์ทรงบันทึก ณ ที่พระองค์ เหนือบัลลังก์ของพระองค์ว่า “แท้จริงความเมตตาของข้านำหน้าความกริ้วของข้า” (หะดีษ (กุดซีย์) เศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 7422)
ดุอาอฺสำคัญ ใช้พระนามของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
– ครั้งหนึ่ง ท่านรอซูลุลลอฮฺได้ยินชายคนหนึ่งได้กล่าวดุอาอฺว่า
اللَّهُمَّ إِنِّي أسألك بأنّي أشْهَدُ أَنَّكَ أَنْتَ اللهُ لا إِلَهَ إِلَّا أَنْتَ الأَحَدُ الصَّمَدُ ، الَّذِي لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ وَلَمْ يَكُنْ لَهُ كُفُوًا أَحَدٌ
(อ่านว่า “อัลลอฮมมะอินนี อัสอะลุกา บิอันนี อัชฮาดุอันนะกะอันตัลลอฮุลาอีลาฮาอิลลาอันตัลอะฮาดุซซอมัด อัลละซีลัมยะลิดวะลัมยูลัด วาลัมยะกุลลาฮูกุฟุวันอะฮัด”)
ความหมาย – “โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริง ข้าพระองค์ขอต่อพระองค์ ด้วยการที่ข้า ปฏิญาณว่าพระองค์คืออัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้เป็นเอกะ หนึ่งเดียว ที่ทรงจัดการดูแลทุกสรรพสิ่ง ผู้ที่ไม่ทรงมีบุตรและไม่ทรงถูกให้กำเนิด และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์” จากนั้นท่านรอซูลลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ซึ่งตัวฉันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ชายผู้นี้ได้วิงวอนต่ออัลลอฮฺ โดยใช้พระนามของพระองค์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งหากพระองค์ได้รับการวิงวอนโดยพระนามนี้แล้ว พระองค์ก็จะตอบรับ และหากพระองค์ได้รับการร้องขอ ด้วยพระนามนี้ พระองค์ก็จะประทานให้” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ อบูดาวูดและอะหมัด)
ดุอาอฺขอให้หัวใจหนักแน่น มั่นคงในศาสนา
– يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوبِ، ثَبِّتْ قَلْبِي عَلَى دِينِكَ
คำอ่าน : ยามุก็อลลิบัลกุลูบ ษับบิต ก็อลบี อะลา ดีนิก
ความหมาย : โอ้ผู้ทรงพลิกผันหัวใจ ขอพระองค์ทรงทำให้หัวใจของฉันหนักเเน่นอยู่บนศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยติรมิซียฺ)
– اللَّهُمَّ اقْسِمْ لَنَا مِنْ خَشْيَتِكَ مَا تَحُولُ بِهِ بَيْنَنَا وَبَيْنَ مَعَاصِيكَ، وَمِنْ طَاعَتِكَ مَا تُبَلِّغُنَابِهِ جَنَّتَكَ، وَمِنَ الْيَقِينِ مَا تُهَوِّنُ بِهِ عَلَيْنَا مَصَائِبَ الدُّنْيَا، اللَّهُمَّ مَتِّعْنَا بِأَسْمَاعِنَا، وَأَبْصَارِنَا، وَقُوَّاتِنَا مَا أَحْيَيْتَنَا، وَاجْعَلْهُ الْوَارِثَ مِنَّا، وَاجْعَلْ ثَأْرَنَا عَلَى مَنْ ظَلَمَنَا، وَانْصُرْنَا عَلَى مَنْ عَادَانَا، وَلَا تَجْعَلْ مُصِيبَتَنَا فِي دِينِنَا، وَلَا تَجْعَلِ الدُّنْيَا أَكْبَرَ هَمِّنَا، وَلَا مَبْلَغَ عِلْمِنَا، وَلَا تُسَلِّطْ عَلَيْنَا مَنْ لَا يَرْحَمُنَا
อ่านว่า “อัลลอฮุมมักซิมละนา มินค็อชยะติกะมาตะฮูลุบิฮี บัยนะนา วะบัยนะมะอาศีก วะมินฏออะติกะมาตุบัลลิฆุนาบิฮี ญันนะตัก วะมินัลยะกีนิมาตุเฮาวินุบิฮี อะลัยนา มะศออิบัดดุนยา อัลลอฮมมัตเตียะอฺนา บิอัสมาอินา วะอับศอรินา วะกูวฺวาตินา มาอะฮฺยัยตะนา วัจญ์อัลฮุลวาริซะมินนา วัจอัลซ๊ะเราะนา อะลามันเศาะละมะนา วันซุรฺนา อะลา มันอาดานา วะลาตัจญ์อัลมุซีบะตะนา ฟีดีนินา วะลาตัจญ์อิลิดดุนยา อักบะเราะฮัมมินา วะลามับละเฆาะอิลมินา วะลาตุซัลลิฏอะลัยนา มันลายัรฺฮะมุนา”
ความหมาย “ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดประทานความยำเกรงในพระองค์ให้แก่เหล่าข้าพระองค์อันเป็นสิ่งปิดกั้นปกป้องเหล่าข้าพระองค์ให้ห่างไกลจากการฝ่าฝืนพระองค์ ขอพระองค์ประทานการภักดีเชื่อฟังพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าข้าพระองค์บรรลุถึงสรวงสวรรค์ของพระองค์ ขอพระองค์ประทานความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในพระองค์ อันเป็นสิ่งที่จะบรรเทาบททดสอบต่างๆ ในดุนยาที่เหล่าข้าพระองค์ประสบ
ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้การได้ยิน การมองเห็น และพลกำลังของเหล่าข้าพระองค์มีความสุขสมบูรณ์ตราบเท่าที่เหล่าข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ และขอพระองค์ทรงให้เป็นที่สืบทอดแก่เหล่าข้าพระองค์ตลอดอายุขัย ขอพระองค์ทรงให้การชำระแค้นจงมีแด่ผู้ที่ละเมิด อธรรมต่อเหล่าข้าพระองค์ โปรดทรงให้เหล่าข้าพระองค์มีชัยเหนือศัตรู
โปรดอย่าได้ทรงให้บททดสอบของเหล่าข้าพระองค์เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ในศาสนาของเหล่าข้าพระองค์ โปรดอย่าได้ทรงให้ดุนยานี้เป็นที่มุ่งมั่นทุ่มเทให้ความสำคัญ และอย่าได้ให้ดุนยาเป็นที่สุดแห่งความรู้ของเหล่าข้าพระองค์ (รู้แต่เรื่องดุนยา) และขอพระองค์โปรดอย่าได้ทรงทำให้ผู้ที่ไม่เอ็นดูเมตตาเหล่าข้าพระองค์มีอำนาจเหนือเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยอิมามอัตติรมีซีย์ อันนะซาอีย์ และอัลฮากิม)
ดุอาอฺนบียูนุส นบีมูซา ขอทางออก ง่ายดาย
– “แล้วเขาก็ร้องเรียนท่ามกลางความมืดทึบทะมึนว่า
لَّا إِلَٰهَ إِلَّا أَنتَ سُبْحَانَكَ إِنِّي كُنتُ مِنَ الظَّالِمِينَ
(อ่านว่า: ลาอิลาฮะ อิลลาอันต้า ซุบฮาน้าก้า อินนี กุนตู้ มินัซซอลี่มีน)
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ท่าน มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ท่าน แท้จริงข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้อธรรมทั้งหลาย” ดังนั้นเราได้ตอบรับการร้องเรียนของเขา และเราได้ช่วยให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ระทมและเช่นเดียวกันนี้ เราช่วยบรรดาผู้ศรัทธา” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ 87-88)
– “เขากล่าวว่า
رَبِّ اشْرَحْ لِي صَدْرِيوَيَسِّرْ لِي أَمْرِيوَاحْلُلْ عُقْدَةً مِّن لِّسَانِييَفْقَهُوا قَوْلِي
(อ่านว่า: ร็อบบิชเราะฮฺลี ศ็อดรี วะยัซซิรฺลี อัมรี วะหฺลุล อุกดะตัม มินลิซานี ยัฟกอฮูเกาลี)
“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดเปิดอกของข้าพระองค์ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด และทรงโปรดทำให้การงานของข้าพระองค์ ง่ายดายแก่ข้าพระองค์ด้วย และทรงโปรดแก้ปมจากลิ้นของข้าพระองค์ด้วย เพื่อให้พวกเขาเข้าใจคำพูดของข้าพระองค์” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฏอฮา 25-28)
ดุอาอฺนบีอัยยูบ นบีอิบรอฮีม ขอให้คลายทุกข์ โรค กังวลใจ
– أَنِّي مَسَّنِيَ الضُّرُّ وَأَنتَ أَرْحَمُ الرَّاحِمِين
(อ่านว่า: อินนี มัซซ่านิยัดดุรฺรู่วะอันต้า อัรฺฮ่ามุรฺรอฮิมีน)
“แท้จริงฉันนั้น ได้มีทุกข์อันตรายมาประสบกับฉัน และพระองค์ทรงเมตตาที่สุดในหมู่ผู้มีเมตตา”
“ดังนั้น เราได้ตอบรับการร้องเรียนของเขาแล้วเราได้ปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นความทุกข์ยากแก่เขา และเราได้ให้ครอบครัวของเขาแก่เขา และเช่นเดียวกับที่เขาได้เคยมีมาก่อน (เช่น บุตรหลานและพวกพ้อง) เป็นความเมตตาจากเรา และเป็นข้อตักเตือนแก่บรรดาผู้ที่เคารพภักดี” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ 83-84)
– “บรรดาที่ผู้คนได้กล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมสำหรับพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด แล้วมันได้เพิ่มการอีมานแก่พวกเขา และพวกเขากล่าวว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม แล้วพวกเขาได้กลับมา พร้อมด้วยความกรุณาจากอัลลอฮฺ และความโปรดปราน(จากพระองค์) โดยมิได้มีอันตรายใดๆ ประสบแก่พวกเขา” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 173-174)
– حَسْبُنَا اللَّهُ وَنِعْمَ الْوَكِيلُ
(อ่านว่า: หัสบุนัลลอฮุ วะ นิอฺมัล วะกีล)
“อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม”
“ท่านนบีอิบรอฮีมได้กล่าวมัน ในช่วงที่ถูกโยนลงไฟในกองไฟ ท่านนบีมุฮัมมัดก็ได้กล่าวเช่นกัน ในตอนที่มีผู้คนกล่าวกับท่านว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุม เพื่อโจมตีพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด แต่ทว่า มันกลับเพิ่มความศรัทธาแก่พวกเขา(บรรดาผู้ศรัทธา)” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 4563)
ดุอาอฺนบีอิบรอฮีม นบีมุฮัมมัด ขออภัยโทษ
– رَبَّنَا اغْفِرْ لِي وَلِوَالِدَيَّ وَلِلْمُؤْمِنِينَ يَوْمَ يَقُومُ الْحِسَابُ
(อ่านว่า: ร็อบบะนัฆฟิรฺลี วะลิวาลิดัยยะ วะลิลมุมินีนะ เยามะยะกูมุลฮิซาบ)
“โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์ และแก่บรรดามุอมิน ในวันที่การสอบสวนจะมีขึ้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอิบรอฮีม 41)
اَللَّهُمَّ أَنْتَ رَبِّي ، لَا إِلَهَ إِلاَّ أَنْتَ خَلَقْتَنِي وَأَنَا عَبْدُكَ ، وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ ، أَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا – صَنَعْتُ ، أَبُوءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ عَلَيَّ ، وَأَبُوءُ بِذَنْبِي فَاغْفِرْ لِي ، فَإِنَّهُ لَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلاَّ أَنْتَ
ความว่า: “โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือพระผู้อภิบาลของฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พระองค์ทรงสร้างฉันและฉันคือบ่าวของพระองค์ ตัวฉันกับสัญญาแห่งผลตอบแทนที่ดีและสัญญาแห่งการลงโทษของพระองค์นั้น (ฉันทำได้) เท่าที่ฉันมีความสามารถเท่านั้น ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายที่ฉันได้กระทำไว้ ฉันกลับไปหาพระองค์ด้วยการยอมรับในความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อตัวฉัน และฉันขอกลับไปหาพระองค์ด้วยการยอมรับในความผิดบาปของฉัน ดังนั้น ขอได้โปรดประทานอภัยแก่ฉันเถิด เพราะแท้จริงไม่มีผู้ใดสามารถประทานอภัยในบาปต่างๆ ได้นอกจากพระองค์”
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดอ่านดุอาอฺซัยยิดุลอิสติฆฺฟาร (แม่บท/ผู้นำแห่งการกล่าวขออภัยโทษ) นี้ในเวลากลางวัน (ช่วงเช้า) ด้วยเปี่ยมศรัทธา แล้วเขาได้เสียชีวิตลงก่อนถึงเวลาเย็น เขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาชาวสวรรค์ และผู้ใดอ่านดุอาอฺนี้ในเวลากลางคืน (ช่วงเย็น) ด้วยเปี่ยมศรัทธา แล้วเขาได้เสียชีวิตลงก่อนถึงเวลาเช้า เขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาชาวสวรรค์เช่นเดียวกัน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 6306)
ดุอาอฺของท่านรอซูล (ส่วนหนึ่งจากบทอัซการ เช้า-เย็น)
– حَسْبِيَ الله لا إلَـهَ إلَّا هُوَ عَلَيهِ تَوَكَّلْتُ وَهُوَ رَبُّ العَرْشِ العَظِيمِ
(อ่านว่า: หัสบิยัลลอฮฺ ลาอิลาฮะ อิลลาฮุวะอะลัยฮิ ตะวักกัลตุ วะฮุวะร็อบบุล อัรชิล-อะซีม) กล่าว 7 ครั้ง
ความหมาย: “อัลลอฮฺทรงพอเพียงแล้วสำหรับฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ แด่เพียงพระองค์เท่านั้นที่ฉันได้มอบหมายและพึ่งพา และพระองค์คือองค์อภิบาลแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่”
ท่านรอซูลลุลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดอ่านยามเช้าและยามเย็นจำนวนเจ็ดครั้ง ย่อมเป็นการเพียงพอสำหรับเขา (ทดแทนให้เขาและช่วยเหลือเขา) ในกิจการทางโลกและอาคิเราะฮฺที่ทำให้เขาต้องเสียใจกับมัน” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อิบนุส สุนนีย์ เลขที่ 70 และอบู ดาวูด เลขที่ 5081)
– بِسمِ اللَّهِ الَّذِي لَا يَضُرُّ مَعَ اسْمِهِ شَيْ فِي الْأَرْضِ ولَا فِي السَّمَاءِ وَهُوَ السَّمِيعُ العَلِيمُ .
(อ่านว่า: บิสมิลลาฮิลละซี ลายะฎรุรุ มะอัส มิฮิ ชัยอน ฟิลอัรฏิ วะลาฟิส-สะมาอฺ วะฮุวัสสะมีอุล-อะลีม) กล่าว 3 ครั้ง
ความหมาย: “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งใดๆ บนพื้นแผ่นดินและชั้นฟ้าสามารถให้โทษพร้อมกับพระนามของพระองค์ได้ และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ทรงรอบรู้ยิ่ง”
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดอ่านมันจำนวนสามครั้งทุกเช้าเย็น เขาจะไม่ได้รับอันตรายจากสิ่งใดๆ หรือจะไม่ถูกบะลาอฺ (ภัยพิบัติ) ชนิดที่ไม่ทันตั้งตัว” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอะหมัด และบุคอรี, อบู ดาวูด เลขที่ 5088, อัตติรมิซีย์ เลขที่ 3388)
ขอความคุ้มครอง เมื่อกังวล สับสน
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ด้วยการกล่าวว่า
لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللهِ
(ลาเฮาละ วะลากูวะตะ อิลลา บิลลาฮฺ)
ความหมาย ‘ไม่มีพลังอำนาจใดๆ นอกจากที่มาจากอัลลอฮฺเท่านั้น) เพราะนั่น นับเป็นยารักษาโรค 99 อย่าง และโรคที่เล็กน้อยที่สุดก็คือ โรคแห่งความกลุ้มอก กลุ้มใจ” (หะดีษ บันทึกโดย อัฏฏ็อบรอนีย์)
– อุษมาน บินอบุลอาศ ได้มาหาท่านนบี และพูดกับท่านว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ชัยฏอนรบกวนการนมาซของฉันและทำให้ฉันสับสนในการอ่านกุรอาน” ท่านรอซูลกล่าวว่า “มันคือชัยฏอนที่ถูกเรียกว่า คินซับ ดังนั้น ถ้าท่านรู้สึกว่ามันอยู่ใกล้ๆ จงกล่าวว่า “อะอูซุบิลลาฮิ มินฮู” (ฉันขอความคุ้มครอง ต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากมัน) หลังจากนั้น ให้พ่นลม ถ่มน้ำลายเบาๆ (เป่าลมเบาๆ ออกมาโดยไม่มีน้ำลาย) ทางด้านซ้ายของท่านสามครั้ง” อุษมานกล่าวว่า “ฉันได้ทำเช่นนั้น และอัลลอฮฺได้ทรงเอามันไปจากฉัน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2203)
ขอความคุ้มครอง เมื่ออยู่นอกบ้าน
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดกล่าวขณะออกจากบ้านของตนว่า
بِسْمِ اللَّهِ تَوَكَّلْتُ عَلَى اللَّهِ، لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللهِ
(บิสมิลลาฮิ ตะวักกัลตุอะลัลลอฮิ ลาเฮาละ วะลา กูวะตะ อิลลาบิลลาฮฺ)
ความว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ข้าพระองค์ได้มอบหมายแด่พระองค์ และไม่มีพลังอำนาจใดๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น”
จะมีเสียงกล่าวแก่เขาว่า “ท่านได้รับความเพียงพอแล้ว ท่านได้รับความคุ้มครองแล้ว ท่านได้รับแนวทางอันเที่ยงธรรมแล้ว และชัยฏอนได้ออกจากหนทางของท่านแล้ว” (หะดีษ บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์ และอิมามอบูดาวู๊ด)
– أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللهِ التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ
(อะอูซุบิกะลิมาติลลาฮิตตามมา ติมินชัรริมาเคาะลักฺ) อ่าน 3 ครั้ง
ความหมาย “ฉันขอความคุ้มครองด้วยพระพจนารถแห่งอัลลอฮฺที่สมบูรณ์ยิ่ง ให้ปลอดภัย จากความชั่วร้ายของสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงสร้าง”
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดอ่านมันในช่วงเย็นสามครั้ง เขาจะไม่ได้รับอันตรายจากพิษงู (หรือสัตว์พิษ) ในคืนนั้น จนกระทั่งรุ่งเช้า” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2709)
ขอดุอาอฺเมื่อฝนตกหนัก ประสบอุทกภัย
– อาอิชะฮฺเล่าว่า “แท้จริงเมื่อรอซูลุลลอฮฺเห็นฝน (โปรยลงมา) ท่านจะกล่าวดุอาอฺ(ขอพรต่ออัลลอฮฺ)ว่า
اَللَّهُمَّ صَيِّبًا نَافِعًا
(อ่านว่า: อัลลอฮุมมะ ซ็อยยิบัน นาฟิอัน)
“โอ้องค์อภิบาลของฉัน โปรดประทานเม็ดฝนที่เป็นประโยชน์แก่ฉันด้วยเถิด” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี)
“โอ้องค์อภิบาลของฉัน โปรดโยกย้ายฝนนี้ออกไปให้พ้นจาก(เขตที่อยู่อาศัยของ)เราด้วยเถิด และโปรดจงอย่า(ใช้มัน)ทําลายเรา”
“โอ้องค์อภิบาลของฉัน โปรดให้น้ำฝนตกตามยอดเขาสูง และตามเนินเขา และตามท้องนาลําธาร และตามสวนไม้และเขตเพาะปลูก (เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อบ้านเรือน ชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง และต้นไม้)”
ดังนั้นฝนจึงหยุดตกในเขตนครมะดีนะฮฺและเปลี่ยนไปตกในเขตรอบๆ นครแทน จนไม่มีน้ําฝนตกในเขตนครมะดีนะฮฺแม้แต่หยดเดียว” อนัสเล่าต่อไปว่า “ฉันได้มองไปยังเขตนครมะดีนะฮฺและฉันพบว่านครมะดีนะฮฺอยู่ในสภาพที่คล้ายกับมงกุฎ (ที่ส่องแสงระยิบระยับ เพราะนครมะดีนะฮฺได้กระทบกับแสงอาทิตย์ที่สาดส่องมา)” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี)
ขอสิ่งที่ดีทดแทน เมื่อเจอบททดสอบ
– “บรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า ‘อินนาลิลลาฮฺ วะอินนาอิลัยฮิรอญีอูน’ (แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์) ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขาและชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 156-157)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีบ่าวคนใดที่ประสบกับความทุกข์ยากใดๆ แล้วเขาก็กล่าว 2 ดุอาอฺนี้ เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงประทานผลบุญเนื่องจากความทุกข์ยากนั้นของเขา และจะทรงทดแทนมันด้วยสิ่งที่ดีกว่า”
1. ให้กล่าวว่า “อินนาลิลลาฮฺ วะอินนาอิลัยฮิรอญีอูน” (แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์)
2. ขอดุอาอฺ
اللَّهُمَّ أْجُرْنِي فِي مُصِيبَتِي وَأَخْلِفْ لِي خَيْرًا مِنْهَا
“อัลลอฮุมมะญุรนี ฟีมุซีบะตีย์ วะอัคลิฟลี คอยร็อนมินฮา”
ความหมาย – “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงตอบแทนผลบุญแก่ฉันในความทุกข์โศกของฉันนี้ และขอทรงทดแทนให้ฉันซึ่งสิ่งที่ดีกว่า” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม)
ดุอาอฺอิสติฟตาฮฺ (หลังกล่าวตักบีร ตอนเริ่มละหมาด)
– เล่าจากอิบนิ อุมัร ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ‘ขณะที่พวกเรากำลังละหมาดอยู่กับท่านนบี (ซ.ล.) ได้มีชายคนหนึ่งจากกลุ่มชนกล่าวขึ้นว่า อัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง มวลการสรรเสริญถวายแด่พระองค์อัลลอฮฺอย่างมากมายและมหาบริสุทธิ์แด่พระองค์อัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามเย็น’
اللهُ اَكْبَرُ كَبِيْرًا وَ الْحَمْدُ للهِ كَثِيْرًا وَ سُبْحَانَ اللهِ بُكْرَةً وَ أصِيْلًا
(คำอ่าน: “อัลลอฮุอักบัร กาบีรอ วัลฮัมดุลิลลาฮิ กะซีรอ วะซุบฮานัลลอฮิ บุครอเตา วะอะซีลา”)
ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “ใครเป็นผู้กล่าวเช่นนั้น” ชายคนหนึ่งจากกลุ่มชนได้กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเอง โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ’ ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ประตูฟ้าถูกเปิด เพราะถ้อยคำเหล่านั้น” ท่านอิบนุ อุมัรได้กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าไม่เคยทิ้งถ้อยคำเหล่านั้นเลยตั้งแต่ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ได้กล่าวเช่นนั้น’ (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 943, อัตติรฺมีซีย์ เลขที่ 3516)
وَجَّهْتُ وَجْهِيَ لِلَّذِيْ فَطَرَ السَّمَاوَاتِ وَاْلأَرْضَ حَنِيْفًا مُسْلِمًا وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِيْنَ ، إِنَّ صَلاَتِيْ وَنُسُكِيْ وَمَحْيَايَ – وَمَمَاتِيْ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ ،لاَ شَرِيْكَ لَهُ وَبِذَلِكَ أُمِرْتُ وَأَنَا مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ
(คำอ่าน: วัจญะฮฺตุ วัจฮิยะ ลิลละซี ฟะเฏาะร็อซซะมาวาติวัลอัรฎฺ ฮะนีฟัมมุสลิเมา วะมา อะนา มินัลมุชริกีน, อินนะเศาะลาตี,วะนุซุกี วะมะฮฺยายะ วะมะมาตี ลิลลาฮิร็อบบิลอาละมีน, ลาชะรีกะละฮุ วะบิซะลิกะ อุมิรตุ วะอะนามินัลมุสลิมีน)
ความหมาย “ฉันได้ผินหน้ายังผู้ซึ่งสร้างชั้นฟ้าต่างๆ และแผ่นดินในสภาพ ผู้นอบน้อม ซึ่งฉันมิใช่ผู้หนึ่งจากผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย แท้จริงการละหมาดของฉัน การทำอิบาดะฮฺของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน ล้วนเพื่อพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก(แต่เพียงผู้เดียว)เท่านั้น ไม่มี ภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และด้วยสิ่งข้างต้นฉันถูกบัญชาใช้และฉันเป็นคนแรกในหมู่มุสลิม(รีบเร่งปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์อัลลอฮฺ)” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1290, อัตติรมีซีย์ เลขที่ 3343, และนะซาอีย์ เลขที่ 887)
ดุอาอฺร็อบบะนา ขอสิ่งดีงามทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ
– “และในหมู่พวกเขานั้น มีผู้ที่กล่าวว่า
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
‘โอ้พระเจ้าของเรา โปรดประทานให้แก่พวกเรา ซึ่งดีงามในโลกนี้ และสิ่งดีงามในปรโลกและโปรดคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด’
ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาจะได้รับส่วนดี จากสิ่งที่พวกเขาได้แสวงหาไว้ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรวดเร็วในการชำระสอบสวน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 201-202)
– รายงานจากท่าน อะนัส บิน มาลิกว่า “บทดุอาอฺที่ท่านนบีอ่านมากที่สุด คือ ดุอาอฺขอสิ่งที่ดีๆทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮฺ
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
(อ่านว่า “ร็อบบะนา อาตินา ฟิดดุนยา ฮะซะนะฮฺ วะฟิลอาคิเราะติฮะซะนะฮฺ วะกินา อะซาบันนาร) (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี)