hasanah page เว็บไซต์สำหรับมุสลิมะห์
– หน้าแรก
– “และข้า (อัลลอฮฺ) มิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อให้พวกเขาอิบาดะฮฺต่อข้า” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัซซาริยาต 56)
– “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 162)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้น มิได้ทรงมองไปยังบรรดารูปลักษณ์ของเจ้า และบรรดาทรัพย์สมบัติของเจ้า หากแต่ว่า พระองค์นั้นจะทรงมองไปยังหัวใจของท่าน และบรรดาอาม้าล(การกระทำ)ของท่าน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
– “แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ 36)
อาม้าล การงานที่อัลลอฮฺรักที่สุด
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสว่า ‘ผู้ใดที่เป็นศัตรูกับวลี (คนรัก) ของข้า แท้จริงข้าได้ประกาศสงครามกับเขาผู้นั้น ไม่มีบ่าวของข้าคนใดที่ (ปฏิบัติตน) เข้าใกล้กับข้าด้วยการงานหนึ่งที่ข้ารักยิ่งไปกว่าการปฏิบัติในสิ่งที่ข้า กำหนดเป็นฟัรฎูแก่เขา และบ่าวของข้านั้นก็ยังคง (ปฏิบัติตน) เข้าใกล้ข้าตลอดเวลาด้วยการปฏิบัติสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺต่างๆ จนกระทั่งข้ารักเขา ครั้นเมื่อข้ารักเขาแล้ว ข้าก็จะเป็นดั่งผู้ระวังรักษาหูของเขาที่เขาใช้ฟัง เป็นผู้ระวังรักษาตาของเขาที่เขาใช้มอง เป็นผู้ระวังรักษามือของเขาที่เขาใช้ฟาดฟัน (ต่อสู้) และเป็นผู้ระวังรักษาเท้าของเขาที่เขาใช้เดิน แน่นอนหากเขาขอสิ่งใดจากข้า ข้าย่อมให้เขา และหากเขาขอความคุ้มครองจากข้า ข้าก็จะให้ความคุ้มครองเขาอย่างแน่นอน” (หะดีษ (กุดซีย์) เศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 6502)
บุคคล การงานที่เป็นที่รัก ณ อัลลอฮฺ
– ครั้งหนึ่งท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่เป็นที่รัก ณ อัลลอฮฺที่สุด คือ คนที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์มากที่สุด” นบีกล่าวต่อไปว่า “การงานที่เป็นที่รัก ณ อัลลอฮฺมากที่สุด คือ การทำให้มุสลิมคนหนึ่งมีความสุข หรือขจัดปัดเป่าความทุกข์ ความลำบากใจ ปัญหาในชีวิตของเขา หรือการให้อภัยในหนี้สินของเขา การปลดหนี้ของเขา หรือการให้อาหารคนๆ หนึ่งที่หิวโหย จริงๆ แล้ว การที่ฉันได้เดินเข้าไปช่วยพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลือ มันเป็นสิ่งที่ฉันรักที่จะทำมัน ยิ่งกว่าการพาตัวฉันเองเข้าไปอยู่ในมัสญิดมาดีนะห์เป็นเวลาหนึ่งเดือน และใครก็ตามที่กลืนความโกรธของเขา อัลลอฮฺจะช่วยปกปิดความผิดพลาดของเขา และใครก็ตามที่ข่มความโมโหของเขา แม้ว่าเขาสามารถจะเอาคืนได้ก็ตาม แล้วอัลลอฮฺจะช่วยปกป้องหัวใจของเขาในวันพิพากษา และใครก็ตามที่เดินร่วมทางกับพี่น้องในการเติมเต็มความจำเป็นของคนๆ นั้น จนกระทั่งคนๆ นั้นได้ปลอดภัย แล้วอัลลอฮฺจะทำให้การเดินของเขาข้ามสะพานศิรอตในวันอาคิเราะฮฺเป็นความมั่นคง” (หะดีษเศาะฮีหฺ รายงานโดย อิบนุอุมัร)
– “พึงทราบเถิด ! แท้จริง บรรดาคนที่อัลลอฮฺรักนั้น ไม่มีความหวาดกลัวใดๆ แก่พวกเขาและพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจ คือบรรดาผู้ศรัทธา และพวกเขามีความยำเกรง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส 62-63)
– “สำหรับพวกเขาจะได้รับข่าวดี ในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในลิขิตของอัลลอฮฺ นั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส 64)
การปฏิญาณตน (กล่าวกะลีเมาะห์ชะฮาดะฮฺ)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดกล่าว ‘ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ’ และเขาปฏิเสธ (เจ้าจอมปลอมทั้งหลาย) ที่ถูกเคารพภักดีอื่นจากอัลลอฮฺ ทรัพย์สินและเลือดเนื้อของเขาย่อมเป็นที่ต้องห้าม (คือได้รับการพิทักษ์จะละเมิดมิได้) ส่วนการพิพากษา (ในความดี-ความชั่ว) ของเขานั้นย่อมเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย มุสลิม)
– ท่านรอซูลลุลลอฮฺได้ถามพวกเขาว่า “พวกท่านรู้ไหมว่าการศรัทธาในอัลลอฮฺเท่านั้น หมายถึงอะไร?” พวกเขาตอบว่า “อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เท่านั้นรู้ดีที่สุด” ดังนั้น ท่านนบีจึงกล่าวว่า “มันหมายถึงการยืนยันด้วยวาจาว่า ‘ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะอันนะมุฮัมมะดัร รอซูลุลลอฮฺ’ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการเคารพสักการะนอกไปจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลลอฮฺ) การดำรงนมาช จ่ายซะกาต และถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 87 และมุสลิม เลขที่ 17)
คำกล่าวปฏิญาณตน (มุสลิมเดิมและมุสลิมใหม่)
คำกล่าวเมื่ออะซาน (การประกาศให้รู้ว่าเข้าสู่เวลาละหมาด)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “เมื่อมุอัซซินกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ และท่านกล่าวรับว่า อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ เมื่อเขากล่าวว่า อัชฮะดุ อันลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ และท่านกล่าวรับว่า อัชฮะดุ อันลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ เมื่อเขากล่าวว่า อัชฮะดุ อันนะ มุฮัมมะดัรฺ รอซูลุลลอฮฺ และท่านกล่าวรับว่า อัชฮะดุ อันนะ มุฮัมมะดัรฺ รอซูลุลลอฮฺ เมื่อเขากล่าวว่า ฮัยยะ อะลัศเศาะลาฮฺ และท่านกล่าวรับว่า ลาเฮาละวะลา กูวะตะอิลลา บิลลาฮฺ เมื่อเขากล่าวว่า ฮัยยะ อะลัลฟะลาฮฺ และท่านกล่าวรับว่า ฮาเฮาละวะลา กูวะตะอิลลา บิลลาฮฺ เมื่อเขากล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ และท่านกล่าวรับว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร เมื่อเขากล่าวว่า ลาลาฮะ อิลลัลลอฮฺ และท่านกล่าวรับออกมาจากหัวใจของท่านว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ท่านจะได้เข้าสวรรค์” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 385)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “ใครที่ได้ยินมุอัซซินกล่าวอะซาน และกล่าวว่า อัชฮะดุอัน ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วะฮฺดะฮู ลาชะรีกะละฮฺ วะอันนะมุฮัมมะดัน อับดุฮู วะเราะซูลุฮฺ เราะฎีตุบิลลาฮิ ร็อบบา วะบิมุฮัมมะดิน รอซูลา วะบิลอิสลามะดีนา (ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น และพระองค์ไม่มีหุ้นส่วนใดๆ และมุฮัมมัดเป็นบ่าว และรอซูลของพระองค์ ฉันพอใจให้อัลลอฮฺเป็นพระเจ้าของฉัน และมุฮัมมัดเป็นรอซูล และอิสลามเป็นศาสนา) บาปของเขาจะได้รับการให้อภัย” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 386)
ดุอาอฺหลังอะซาน คำกล่าวหลังอาบน้ำละหมาด
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดกล่าวเมื่อเขาไดยินเสียงอะซานว่า
اللَّهُـمَّ رَبَّ هَذِهِ الدَّعوَةِ التَّامَّةِ، وَالصَّلاةِ القَائمَةِ، آتِ مُـحَـمَّداً الوَسِيلَةَ وَالفَضِيلَةَ، وَابْعَثْهُ مَقَاماً مَـحْـمُوداً الَّذِي وَعَدْتَـهُ،
(อัลลอฮุมมะ ร็อบบะฮาซิฮิดดะอฺวะติตต๊ามมะฮฺ วัศเศาะลาติล กออิมะฮฺ อาติ มุฮัมมะดะนิลวะสีละฮฺ วัลฟะฎีละฮฺ วับอัษฮุ มะกอมัน มะฮฺมูดะนิลละซี วะอัดตะฮฺ) (ความหมาย โอ้อัลลอฮฺ พระเป็นเจ้าแห่งการเชิญชวนอันสมบูรณ์ และการละหมาดที่กำลังจะปฏิบัติอยู่นี้ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานความดี ประเสริฐ และขอพระองค์ทรงโปรดนำมุฮัมมัดสู่ตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ ซึ่งพระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ด้วยเถิด) เขาจะได้รับการชะฟะอะฮฺจากฉันในวันกิยามะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 614)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อพวกท่านได้ยินมุอัซซินกล่าวอะซาน จงกล่าวทวนสิ่งที่เขากล่าว หลังจากนั้น จงวิงวอนขอพรให้แก่ฉัน เพราะใครที่วิงวอนขอพรให้แก่ฉัน อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนเขาสิบเท่า หลังจากนั้น จงขออัลลอฮฺให้ประทานวะซีละฮฺแก่ฉัน ซึ่งมันคือตำแหน่งหนึ่งในสวรรค์ที่บ่าวคนหนึ่งในบรรดาบ่าวของพระองค์สมควรจะได้รับ และฉันหวังว่ามันจะเป็นฉัน ใครที่ขออัลลอฮฺให้ประทานวะซีละฮฺแก่ฉัน เขาก็สมควรจะได้รับการขอความช่วยเหลือของฉันต่ออัลลอฮฺให้ทรงอภัยโทษแก่เขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 384)
– อุมัรฺ บินค็อฏฏอบกล่าวว่า “ถ้าคนหนึ่งคนใดทำวุฎู๊อฺย่างดี และหลังจากนั้นกล่าวว่า “อัชฮะดุอัน ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะอัชฮะดุอันนะ มุฮัมมะดัน อับดุฮู วะเราะซูลุฮฺ” ประตูสวรรค์แปดประตูจะถูกเปิดให้เขาเข้าไปทางประตูใดก็ได้ที่เขาต้องการ” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 234)
ผลบุญของการอาบน้ำละหมาด และละหมาด
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อมุสลิมทำวุฏู๊อฺ (ชำระล้างร่างกายเพื่อทำนมาซ) และล้างหน้าของเขา บาปทุกอย่างที่เขาได้ทำไปโดยสายตาของเขาจะถูกชำระล้างออกไปด้วยน้ำ (หรือด้วยหยดสุดท้ายของน้ำ) เมื่อเขาล้างมือของเขา บาปทุกอย่างที่เขาทำไปด้วยมือจะหายไปด้วยน้ำ (หรือด้วยหยดสุดท้าย ของน้ำ) และเมื่อเขาล้างเท้าของเขา บาปทุกอย่าง ที่เขาทำไปด้วยเท้าของเขาจะหายไปด้วยน้ำ (หรือด้วยหยดสุดท้ายของน้ำ) จนกระทั่งเขาบริสุทธิ์จากบาปทั้งหมด” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 244)
– พระองค์ทรงกล่าวว่า “มุฮัมมัด มีการนมาซห้าเวลาทุกกลางวันและกลางคืน การนมาซแต่ละครั้งเท่ากับสิบเพื่อที่จะเป็นห้าสิบครั้ง ใครที่มีเจตนาทำความดีและยังไม่ได้ทำ มันจะถูกถือว่าเป็นหนึ่งความดี และถ้าเขาท่าตามที่เจตนา มันจะถูกบันทึกไว้เป็นสิบเท่า ส่วนใครที่มีเจตนาทำชั่ว แต่ไม่ได้ทำ มันจะไม่ถูกบันทึกไว้ แต่ถ้าเขาทำชั่วตามที่เจตนา มันจะถูกบันทึกไว้เป็นหนึ่งความชั่ว” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 7517 และมุสลิม เลขที่ 162)
– “มิใช่ว่า คนทำละหมาดทุกคน จะทำละหมาดได้อย่างถูกต้อง แท้จริง ความเป็นจริง ข้า(อัลลอฮฺ)จะรับละหมาดก็เฉพาะ(กับ)บุคคลที่มีความนอบน้อม ต่อศักดานุภาพของข้า พร้อมกับระงับตัณหาของเขา ไม่เกี่ยวข้องกับบรรดาข้อห้ามของข้าและไม่ทำการฝ่าฝืนต่อข้า และเขาได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่พลัดถิ่น ทั้งหมดนั้น เขาทำเพื่อข้า เพื่อเกียรติยศของข้า แน่แท้ รัศมีแห่งใบหน้าของเขา จะส่องสกาว ณ ข้า ยิ่งไปกว่าดวงอาทิตย์เสียอีก โดยข้าจะเปลี่ยนความโง่ของเขาให้เป็นความรู้ เปลี่ยนความมืดให้เป็นความสว่าง เขาวอนขอต่อข้า ข้าก็ตอบรับเขา เขาขออะไร ข้าก็ให้แก่เขา เขาสาบานตนต่อข้า จะทำอะไร ข้าก็รับคำสาบานนั้น ข้าเป็นที่พึ่งแก่เขา โดยพลานุภาพของข้า และข้าจักให้มลาอิกะฮฺของข้า พิทักษ์รักษาเขา อันตัวเขา ณ ข้านั้น เปรียบดังสวรรค์อัลฟิรเดาส์ ซึ่งผลไม้ของมันไม่เคยขาด และสภาพของมันไม่เคยเปลี่ยน” (หะดีษกุดซีย์ ฉบับแปลไทย ลำดับที่ 97/221 รายงานโดย อัดดัยละมี จากฮารีซะฮ์ บินวะฮับ)
ความสำคัญของการอ่านซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ ในละหมาด
– อบูฮุรอยเราะห์ ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ รายงานจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า “ผู้ใดที่ละหมาดโดยไม่อ่านอุมมุ้ลกุรอาน การละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ ท่านกล่าวถึง 3 ครั้ง คือไม่สมบูรณ์” มีผู้กล่าวแก่อบูฮุรอยเราะห์ว่า ‘พวกเราละหมาดโดยเป็นมะอ์มูมอยู่หลังอิหม่าม’ อบูฮุรอยเราะห์ตอบว่า ‘จงอ่านมันในใจ’ เพราะแท้จริงฉันเคยได้ยินท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ”พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวว่า “ข้าแบ่งการละหมาดระหว่างข้ากับบ่าวของข้าเป็นสองส่วน และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ ฉะนั้น เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า ‘อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิร๊อบบิ้ลอาลามีน’ พระองค์อัลลอฮฺก็กล่าวว่า “บ่าวของข้าได้สรรเสริญข้า” และเมื่อบ่าวกล่าวว่า ‘อัลเราะฮฺมานนิรร่อฮีม’ พระองค์อัลลอฮฺก็กล่าวว่า “บ่าวของข้าได้ขอบคุณข้า” และเมื่อบ่าวกล่าวว่า ‘มาลิกิเยามิดดีน’ พระองค์อัลลอฮฺก็กล่าวว่า “บ่าวของข้าได้ให้ความยิ่งใหญ่แก่ข้า” และบางครั้งก็กล่าวว่า “บ่าวของข้าได้ให้ความสำคัญแก่ข้า” และเมื่อบ่าวกล่าวว่า ‘อี้ยากะนะอฺบุดุว่าอี้ยากะนัสตะอีน’ พระองค์อัลลอฮฺก็กล่าวว่า “สิ่งนี้ระหว่างข้ากับบ่าวของข้า และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ” และเมื่อบ่าวกล่าวว่า ‘อิฮฺดินัศศิรอฏ็อลมุสตะกีม ศิรอฏ็อลละซีนะอันอัมตะอะลัยฮิม ฆ็อยริลมัฆฎูบิอะลัยฮิม วะลัฎฎอลลีน’ พระองค์อัลลอฮฺก็กล่าวว่า “สิ่งนี้สำหรับบ่าวของข้า และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ” (หะดีษ (กุดซีย์) เศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 598)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “สถานที่ละหมาดของสตรีที่ประเสริฐที่สุด คือ ในบ้านอาศัยของนาง” (หะดีษเศาะฮีหฺ ในเศาะฮีหฺอัลญามิอฺ เลขที่ 3327)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายอย่าห้ามบรรดาสตรีของพวกท่านไม่ให้ไปมัสยิด ซึ่งบ้านของพวกนางนั้นดีที่สุดสำหรับพวกนาง” (หมายถึงละหมาดที่บ้านสำหรับผู้หญิงได้ผลบุญมากกว่าไปละหมาดที่มัสยิด) (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบูดาวูด เลขที่ 567)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “(ใครที่นมาซโดยถักผมไว้) เหมือนกับคนที่นมาซด้วยมือที่ผูกไว้ข้างหลัง” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 492)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านรู้สึกอะไรบางอย่างในท้องของเขาและสงสัยว่าเขาผายลมออกมาหรือไม่ เขาไม่ควรออกจากมัสญิดไป เว้นเสียแต่ว่าเขาได้ยินเสียง (ผายลม) หรือได้กลิ่นอะไรบางอย่าง” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 362)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “บ่าวมุสลิมคนใดที่นมาซเพื่ออัลลอฮฺ 12 ร็อกอัต ทุกวันนอกเหนือไปจากนมาซฟัรฺฎ์ อัลลอฮฺจะทรงสร้างบ้านหลังหนึ่งให้เขาในสวรรค์” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 728)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “การละหมาดที่ประเสริฐที่สุดรองลงมาจากละหมาดห้าเวลาคือการละหมาดในช่วงท้ายของกลางคืน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1163)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “จำเป็นที่พวกท่านจะต้องละหมาดในยามค่ำคืน เพราะแท้จริงมันเป็นคุณลักษณะของบรรดาคนดีก่อนหน้าพวกท่าน และการละหมาดในยามค่ำคืนนั้นเป็นสิ่งที่ใช้แสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ และเป็นการยับยั้งความผิดบาป และลบล้างสำหรับบาปต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการขจัดโรคออกจากร่างกาย” (หะดีษเศาะฮีหฺ ในศอฮีฮุลญามิอฺ เลขที่ 4079)
– รอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะลงมาสู่ฟ้าชั้นที่หนึ่งในทุกๆ คืนในช่วงหนึ่งในสามสุดท้ายของคืน แล้วพระองค์จะกล่าวว่า มีผู้ใดวิงวอนขออะไรจากข้าไหม แล้วข้าตอบรับคำขอนั้น มีผู้ใดขออะไรจากข้าไหม แล้วข้าจะให้เขาในสิ่งที่เขาขอ มีผู้ใดที่ขออภัยโทษต่อข้าไหม แล้วข้าจะอภัยให้แก่เขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 1145 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม เลขที่ 758)
– กุร็อยบ์ กล่าวว่า อุมมุลฟัฏล์ บินตุ อัลฮาริษ ได้ส่งเขา (ฟัฏล์ ลูกชายของนาง) ไปยังมุอาวิยะฮฺในซีเรีย เขาจึงไปที่นั่นและทำสิ่งที่นางต้องการจนเสร็จสิ้น ในขณะที่อยู่ที่นั่น เดือนเราะมะฎอนได้เริ่มต้นแล้ว เขากล่าวว่า “ฉันเห็นดวงจันทร์ใหม่ในวันศุกร์” หลังจากนั้น ฉันได้กลับมายังมะดีนะฮฺในตอนท้ายของเดือน อับดุลลอฮฺ บินอับบาส ถามฉันเกี่ยวกับดวงจันทร์ใหม่ของเดือนเราะมะฎอนว่า “ท่านเห็นมันเมื่อใด?” ฉันกล่าวว่า “ฉันเห็นมันตอนคืนวันศุกร์” เขากล่าวว่า “ท่านเห็นมันโดยตัวของท่านเองใช่ไหม?” ฉันตอบว่า “ใช่ และคนอื่นก็เห็นด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงถือศีลอดกันและมุอาวิยะฮฺก็ถือศีลอดด้วย” ดังนั้น เขาจึงกล่าวว่า “แต่เราเห็นมันในคืนวันเสาร์ ดังนั้น เราจะถือศีลอดของเราต่อไปจนกว่าจะครบสามสิบวันหรือจนกว่าเราจะเห็นดวงจันทร์ใหม่ของเดือนเชาวาล” ฉันกล่าวว่า “การเห็นดวงจันทร์ของมุอาวิยะฮฺใช้ไม่ได้สำหรับท่าน?” เขากล่าวว่า “ไม่ นี่คือสิ่งที่ท่านรอซูลุลลอฮฺสั่งเรา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1087)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงแล้ว การถือศีลอดในเดือนแห่งความอดทนและสามวันในแต่ละเดือนนั้น สามารถเอาออกซึ่งความสกปรกหรือมลทินในหัวใจได้” (หะดีษเศาะฮีหฺ รายงานโดยอิหม่ามอะหมัด และเชคอัลบานีย์)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครที่ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน และถือต่ออีกหกวันในเดือนเชาวาล จะถูกถือว่า เหมือนกับเขาถือศีลอดตลอดชีวิต” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1164)
– อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า “เพื่อนของฉัน (ท่านนบี) ได้แนะนำสิ่งดีที่ควรทำแก่ฉัน 3 สิ่ง นั่นคือ (1) ถือศีลอดสามวันทุกเดือน (2) นมาซฎุฮาสองร็อกอัต (3) และนมาซวิตร์ก่อนเข้านอน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 1178 และมุสลิม เลขที่ 721)
ซะกาต การบริจาคที่เป็นวาญิบเมื่อถึงกำหนด
– ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า : "ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดให้จ่ายซะกาตุลฟิตรฺ เพื่อเป็นการชำระผู้ถือศีลอดจากคำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย เเละเป็นอาหารให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน บุคคลใดที่จ่ายก่อนละหมาด(ละหมาดอีด)ก็ถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายหลังละหมาด ก็ถือว่าเป็นการทำเศาะดะเกาะฮฺอย่างหนึ่งจากบรรดาเศาะดะเกาะฮฺทั่ว ๆ ไป" (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 1609)
– “แท้จริงทานทั้งหลายนั้น สำหรับบรรดาผู้ที่ยากจน และบรรดาผู้ที่ขัดสน และบรรดาเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมมัน และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาสนิทสนม และในการไถ่ทาส และบรรดาผู้ที่หนี้สินล้นตัว และในทางของอัลลอฮฺ และผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทาง ทั้งนี้เป็นบัญญัติอันจำเป็นซึ่งมาจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ 60)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า ‘โอ้ ลูกหลานของอาดัม จงให้ทานเถิด และอัลลอฮฺจะทรงให้ท่าน’ ท่านนบีกล่าวว่า “พระหัตถ์ขวาของอัลลอฮฺเต็มเสมอ และไม่มีอะไรลดน้อยลง ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 4684 และมุสลิม เลขที่ 993)
– “อัลลอฮฺจะทรงให้ดอกเบี้ยลดน้อยลงและหมดความจำเริญ และจะทรงให้บรรดาที่เป็นทานเพิ่มพูนขึ้น และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบผู้เนรคุณ ผู้กระทำบาปทุกคน” (ตัฟซีร: จะทรงให้ทรัพย์สินของผู้บริจาคทานเพิ่มพูนขึ้น) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ 276 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
เศาะดะเกาะฮฺ จำเป็นกับทุกข้อต่อ
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “การบริจาคทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) ทุกเช้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกข้อต่อของพวกท่านทุกคน การกล่าว ‘ซุบฮานัลลอฮฺ’ เป็นเศาะดะเกาะฮฺ การกล่าว ‘อัลฮัมดุลิลลาฮฺ’ เป็นเศาะดะเกาะฮฺ การกล่าว ‘อัลลอฮุอักบัร’ เป็นเศาะดะเกาะฮฺ การสั่งใช้ให้ทำความดีเป็นเศาะดะเกาะฮฺ การห้ามปรามความชั่วเป็นเศาะดะเกาะฮฺ และสิ่งที่เพียงพอสำหรับการทำเศาะดะเกาะฮฺ ก็คือการนมาซฎุฮาสองร็อกอัต” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 720)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “อัลลอฮฺได้ทรงสร้าง 360 ข้อต่อไว้ในมนุษย์ทุกคน ดังนั้น ใครก็ตามที่ประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ สรรเสริญอัลลอฮฺ ประกาศความเป็นหนึ่งเดียวของอัลลอฮฺ สดุดีอัลลอฮฺ และขอการอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และเอาหินหรือหนาม หรือกระดูกออกจากทางที่ผู้คนเดิน กำชับกันในความดีและห้ามปรามความชั่วแก่กระดูกข้อต่อจำนวน 360 ข้อนี้ เขาจะเดินในวันนั้นโดยที่เขาจะอยู่ห่างจากไฟนรก” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1007)
เศาะดะเกาะฮฺ บริจาค ให้ครอบครัวและญาติ
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริง เมื่อมุสลิมใช้จ่ายสิ่งใดไปเพื่อครอบครัวของเขาโดยมีเจตนาที่จะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ การใช้จ่ายนั้นก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺสำหรับเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 5351)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “การบริจาคแก่ผู้ยากจนขัดสนนั้นถือเป็นการบริจาค แต่การบริจาคแก่เครือญาตินั้นได้รับสองผลบุญ คือ ผลบุญของการบริจาคทาน และผลบุญของการเชื่อมสัมพันธ์” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์ เลขที่ 658)
เศาะดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ (ทานที่มีผลบุญต่อเนื่อง)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อใครเสียชีวิตลง การงานของเขาเป็นอันสิ้นสุดลง ยกเว้นสามสิ่ง นั่นคือ ทานที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ความรู้ที่เป็นประโยชน์ และลูกที่ดีวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮฺให้เขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1631)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “มีความดีเจ็ดประการ ที่ผลบุญของมันจะยังคงต่อเนื่องไม่ขาดสายแม้ผู้เป็นบ่าวจะสิ้นลมหายใจอยู่ในหลุมศพไปแล้ว คือ: การที่คนคนหนึ่งได้สั่งสอนเผยแผ่ความรู้, หรือขุดแม่น้ำลำธาร, ขุดบ่อน้ำ, ปลูกต้นอินทผลัม, สร้างมัสยิด, แจกจ่ายมุศหัฟ (อัลกุรอาน) หรือ มีลูกที่คอยวิงวอนขออภัยโทษให้แก่เขาหลังจากที่เขาตายไป” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัล-บัซซารฺ ในกัชฟุลอัสตารฺ เลขที่ 149)
ทำความดี เป็นเศาะดะเกาะฮฺ (ทำทาน)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ทุกความดีเป็นเศาะดะเกาะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1005)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านเป็นมุสลิมที่แท้จริง ดังนั้น ทุกความดีที่เขาทำจะได้รับรางวัลตอบแทนสิบเท่าถึงเจ็ดร้อยเท่า และทุกความชั่วที่เขาทำจะถูกบันทึกไว้แต่เพียงหนึ่ง จนกระทั่งเขาพบอัลลอฮฺ” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 42 และมุสลิม เลขที่ 129)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “การทำดี คือ การมีจรรยามารยาทที่ดีงาม ส่วนความผิด นั้นคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในจิตใจของท่าน และท่านไม่ชอบให้ใครรู้เห็น” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2553)
– และจากท่านวาบิเศาะฮฺ บิน มะอฺบัด เล่าว่า “วันหนึ่ง ฉันได้ไปหาท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านก็ได้ถามฉันว่า “ท่านจะมาถามเรื่องการทำดี ใช่ไหม?” ฉันตอบว่า “ใช่ครับ” ท่านจึงตอบว่า “ท่านจงถามใจของท่านเองเถิด ความดีคือ สิ่งที่ทำให้ตัวและหัวใจสงบ ส่วนความผิดนั้นคือ สิ่งที่ทำให้วุ่นวายขึ้นในตัวเรา และลังเลในจิตใจ แม้นว่าผู้คนจะได้ให้คำตอบแก่ท่านแล้วก็ตาม พวกเขาก็ตอบไปอย่างนั้นเอง (คือไม่ถูกต้องที่สุดตามความจริง เช่นมโนธรรมของท่านเองก็รู้สึกได้)” (หะดีษหะสัน ในหนังสือมุสนัด อิมามอะหฺมัด บินฮัมบัล และมุสนัดอิมามอัด-ดาริมีย์)
เศาะดะเกาะฮฺที่ให้แก่ผู้ไม่สมควรได้รับ
– ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม “ชายคนหนึ่งกล่าวว่าเขาจะให้อะไรบางอย่างเป็นทานในคืนนี้ เขาจึงได้ออกไปข้างนอกพร้อมกับสิ่งที่เขาจะให้เป็นทานและเขาได้ให้มันไปแก่หญิงโสเภณีคนหนึ่งโดยที่ไม่รู้ วันรุ่งขึ้นผู้คนจึงกล่าวว่าเขาได้ให้ทานแก่หญิงโสเภณีเมื่อคืนนี้ ชายคนนั้นกล่าวว่า ”โอ้อัลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระองค์ ฉันได้ให้ทานของฉัน แก่โสเภณีไป ฉันจะให้ทานอีก” ดังนั้น เขาจึงออกไปพร้อมกับทานและให้ทานแก่คนร่ำรวยไปโดยที่เขาไม่รู้อีก วันรุ่งขึ้น ผู้คนจึงพูดกันว่า เขาได้ให้ทานแก่คนร่ำรวย เขาจึงกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระองค์ ฉันได้ให้ทานแก่คนร่ำรวยไป ฉันจะให้ทานอีก” ดังนั้น เขาจึงออกไปพร้อมกับทานและให้ทานนั้น แก่ขโมยไป (โดยที่เขาไม่รู้) วันรุ่งขึ้น ผู้คนจึงพูดกันอีกว่าเขาได้ให้ทานแก่ขโมยไป เมื่อได้ยินเช่นนั้น เขาจึงกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระองค์ ฉันได้ให้ทานของฉัน แก่หญิงโสเภณี คนร่ำรวยและขโมยไป” ดังนั้น จึงมีใครบางคน (มลาอิกะฮฺองค์หนึ่ง) มาบอกเขาว่า “ทานที่ท่านให้ไปนั้นได้ถูกรับแล้ว สำหรับหญิงโสเภณี บางทีนางอาจจะเลิกเป็นโสเภณีก็ได้ และที่ท่านได้ให้แก่คนร่ำรวยนั้น บางทีเขาอาจจะได้รับบทเรียนจากการให้ทานของท่านและจะใช้จ่ายทรัพย์สินของเขาในหนทางที่อัลลอฮฺประทานทรัพย์สินแก่เขา ส่วนขโมยนั้น บางทีเขาอาจจะเลิกจากการขโมยเพราะทานที่ท่านให้เขาไปก็ได้” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 1421 และมุสลิม เลขที่ 1022)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ในขณะที่คนผู้หนึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขาได้ยินเสียงจากเมฆ (สั่งมันว่า) “จงให้น้ำแก่แผ่นดินนั้นแผ่นดินนี้” หลังจากนั้น เมฆก็เคลื่อนออกไปด้านข้างและหลั่งน้ำฝนลงมาบนพื้นดินที่เป็นหิน คลองหลายสายของแผ่นดินนั้นเต็มไปด้วยน้ำ และชายคนนั้นได้ตามน้ำนั้นไปจนพบว่าชายคนหนึ่งในสวนกำลังสาละวนอยู่กับการเปลี่ยนทางน้ำด้วยจอบ เขาจึงถามชายคนนั้นว่า “นี่บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านชื่ออะไร?” เขาตอบว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ซึ่งเป็นชื่อที่เขาได้ยินจากก้อนเมฆ” เขาจึงกล่าวว่า “ฉันได้ยินเสียงหนึ่งจากก้อนเมฆที่หลั่งน้ำลงมา กล่าวว่า “จงให้น้ำสวนของคนนั้นคนนี้ (ชื่อของท่าน) ท่านทําอะไรซิถึงทำให้ท่านได้รับความโปรดปราน จากอัลลอฮฺในเรื่องนี้?” เขากล่าวว่า “เอาละ ถ้าท่านพูดเช่นนี้ ดูนี่ก็แล้วกัน ฉันเก็บพืชผลมาจากสวนและนำไปให้เป็นทานหนึ่งในสาม ให้ลูกๆ ของฉันกินหนึ่งในสามของมัน และอีกหนึ่งในสาม ฉันคืนให้มันเป็นเมล็ด” ในอีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า : “ฉันให้เป็นทานหนึ่งในสามแก่คนยากจน คนขัดสน คนขอทาน และคนพลัดถิ่น” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2984)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่ศรัทธาในอัลลอฮฺ และวันสุดท้ายเดินทางหนึ่งคืนโดยไม่มีมะฮฺร็อม” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 1088)
– ชายคนหนึ่งยืนขึ้นและกล่าวว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ภรรยาของฉันได้ออกเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์และฉันได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อให้ไปต่อสู้ ในสงครามนั้นสงครามนี้” ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไปทำพิธีฮัจญ์กับภรรยาของท่าน” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 3006)
– อนัส รายงานว่า : ท่านรอซูลุลลอฮฺทำอุมเราะฮฺสี่ครั้ง ทั้งหมดนั้นทำในระหว่างเดือนซุลเกาะดะฮฺ ยกเว้นครั้งหนึ่งที่ท่านทำรวมกับพิธีฮัจญ์ และอุมเราะฮฺที่ท่านทำจากฮุดัยบียะฮฺหรือระหว่างสัญญาแห่งฮุดัยบียะฮฺในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ หลังจากนั้น อุมเราะฮฺของปีถัดไปในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ หลังจากนั้น อุมเราะฮฺที่ท่านเริ่มจากญิอฺรอนะฮฺซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านแจกจ่ายทรัพย์ที่ได้จากการทำสงครามที่ฮุนัยน์ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 1779)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีวันแห่งการทำงานที่ดี ซึ่งเป็นที่โปรดปราน ณ ที่อัลลอฮฺนอกจาก 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์” มีเศาะฮาบะฮฺบางท่านกล่าวว่า “แม้ความประเสริฐของการญิฮาดก็เทียบเท่าไม่ได้กระนั้นหรือ” ท่านรอซูลตอบว่า “แม้การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺก็เทียบเท่าไม่ได้ นอกจากผู้ที่ออกจากบ้านด้วยตัวเองและทรัพย์สิน แล้ว(พลีชีพ) โดยไม่มีโอกาสกลับบ้าน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี)
– “มีชาวยิวคนหนึ่งมาหาอุมัร บินอัลค๊อฏฏอบ และกล่าวว่า ”โอ้ ผู้นำแห่งศรัทธาชน มีอายะฮฺหนึ่งในคัมภีร์ของท่านที่มุสลิมอ่านกันและถ้ามันถูกประทานมายังเรา เราจะเอาวันนั้น (วันที่อายะฮฺนี้ถูกประทานมา) เป็นวันอีด (วันเฉลิมฉลอง)” อุมัรได้ถามว่า “อายะฮฺไหนซิ?” ชาวยิวคนนั้นตอบว่า “วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 3) อุมัรตอบว่า "ไม่ต้องสงสัย เรารู้ว่าอายะฮฺนี้ถูกประทานมาเมื่อใดและที่ไหน มันถูกประทานมายังท่านรอซูลุลลอฮฺที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺในวันศุกร์ (กล่าวคือวันแห่งการทำพิธีฮัจญ์)" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 45)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺได้ถูกถาม จากการถือศีลอดวันอารอฟะห์ ดังนั้น ท่านรอซูลุลลอฮฺจึงได้กล่าวว่า “มันถูกลบล้าง(บาป) 1 ปีที่ผ่านมาและ 1 ปีข้างหน้า” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครที่ออกเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ อัลลอฮฺจะทรงทำให้เส้นทางไปสู่สวรรค์ง่ายขึ้นสำหรับเขา และบรรดาผู้รวมตัวกันในมัสญิดเพื่ออ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺและเรียนและสอนคัมภีร์กุรอาน (ในหมู่พวกเขากันเอง) ความสงบสุขจะลงมายังพวกเขา ความเมตตาจะแผ่ปกคลุมพวกเขา บรรดามลาอิกะฮฺจะเอ่ยถึงพวกเขาต่อหน้าบรรดาผู้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ใครที่ล่าช้าในการทำความดี เชื้อสายของเขาจะไม่ทำให้เขาก้าวหน้า” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2699)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดที่แสวงหาหนทางเพื่อให้ได้รับความรู้ อัลลอฮฺก็จะนำเขาไปสู่หนทางของสวนสวรรค์ และมลาอิกะฮฺจะกางปีกเพื่อแสดงความความยินดีต่อผู้แสวงหาวิชาความรู้ และสำหรับผู้รู้นั้นจะมีผู้ขออภัยโทษให้แก่เขาทั้งสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้า และที่อยู่ในแผ่นดิน แม้กระทั่งบรรดาฝูงปลาในท้องทะเล แท้จริง ความประเสริฐของผู้ที่มีความรู้ (อาลิม) เหนือผู้ที่เคารพภักดีเพียงอย่างเดียว (อาบิด) เปรียบเสมือนดวงจันทร์เต็มดวงที่เหนือกว่าบรรดาหมู่ดวงดาว แท้จริงบรรดาผู้ที่มีความรู้ (อุละมาอฺ) พวกเขาเป็นทายาทของบรรดานบี (อันบิยาอ์) บรรดานบีไม่ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเงินดีนารฺหรือดิรฮัม แต่ทว่าได้ทิ้งวิชาความรู้ไว้เป็นมรดก ดังนั้น ผู้ใดที่ได้ครอบครองมันไว้ถือว่าเขาได้ครอบครองส่วนที่ดีเลิศมากมายแล้ว” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบูดาวุด เลขที่ 3641)
ขัดเกลาตัวเอง (ตัรบียะฮฺ) และปรับปรุงตัวเอง (อิสลาฮฺ)
– “แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเอง ย่อมบรรลุความสำเร็จ และเขารำลึกถึงพระนามแห่งพระเจ้าของเขา แล้วเขาทำละหมาด” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอะอฺลา 14-15)
– “และด้วยชีวิต และที่พระองค์ทรงทำให้มันสมบูรณ์ แล้วพระองค์ทรงดลใจมันให้รู้ทางชั่วของมันและทางสำรวมของมัน แน่นอนผู้ขัดเกลาชีวิตย่อมได้รับความสำเร็จ และแน่นอน ผู้หมกมุ่นมัน (ด้วยการทำชั่ว) ย่อมล้มเหลว" (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัชชัมซฺ 7-10)
– “และอันใดที่ร่อซูลได้นำมายังพวกเจ้าก็จงยึดเอาไว้และอันใดที่ท่านได้ห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ 7)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “คนหนึ่งคนใดจากหมู่พวกท่านยังไม่ศรัทธา(อย่างแท้จริง) จนกว่าอารมณ์ของเขานั้นจะคล้อยตามในสิ่งที่ฉันได้นำมาเสียก่อน” (หะดีษหะสันเศาะฮีหฺ จากหนังสือ “อัล-หุจญะฮฺ”)
– “ผู้ใดเชื่อฟังรอซูล แน่นอนเขาก็เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ 80)
อะมานะฮฺ ความซื่อสัตย์ในหน้าที่
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “พวกท่านทุกคนเป็นผู้ดูแล และรับผิดชอบ ในสิ่งที่พวกท่านดูแล ผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือประชาชน คือผู้ดูแลและรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ชายเป็นผู้ดูแลครอบครัวของเขาและรับผิดชอบครอบครัวของเขา ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลบ้านและลูกๆ ของสามีของนาง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้น ทาสเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของนายของตนและรับผิดต่อสิ่งนั้น ดังนั้น พวกท่านทุกคนเป็นผู้ดูแล และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ภายใต้การดูแลของตน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 2554)
– “แท้จริงเราได้เสนอการอะมานะฮฺ แก่ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และขุนเขาทั้งหลาย แต่พวกมันปฏิเสธจะแบกรับมันและกลัวต่อมัน (คือภาระอันหนักอึ้ง) และมนุษย์ได้แบกรับมัน แท้จริงเขา (มนุษย์) เป็นผู้อธรรมงมงายยิ่ง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ 72)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม และจงตามความชั่วด้วยการทำความดีชดใช้ ซึ่งความดีนั้นจะไปลบล้างความชั่วได้ และจงปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยจรรยามารยาทที่ดีงาม” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺได้ถูกถามถึงสิ่งที่ทำให้ผู้คนได้เข้าสวรรค์มากที่สุดคืออะไร ท่านตอบว่า “การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และการมีมารยาทที่ดี” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดปรารถนาให้ริสกีของเขาขยับขยายมากขึ้น และให้อายุขัยของเขายืนนานขึ้น ก็จงเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 2067, มุสลิม เลขที่ 2557)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงการทำดีที่ได้รับรางวัลตอบแทนรวดเร็วที่สุด คือการเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ แม้กระทั่งครอบครัวที่เป็นคนเลว ทรัพย์สินของเขาจะเพิ่มพูนขึ้น จำนวนของพวกเขาจะมากขึ้นเมื่อเขาหมั่นเชื่อมสัมพันธ์กัน และไม่มีครอบครัวใดที่หมั่นเชื่อมสัมพันธ์กันแล้วจะยากจนข้นแค้น” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อิบนุฮิบบาน 440)
– “และผู้ใดเล่าจะมีคำพูดดีเลิศยิ่งไปกว่าผู้เชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ และเขาปฏิบัติงานที่ดีและกล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้นอบน้อม (ตัฟซีร: ผู้ที่มีคุณลักษณะเป็นผู้ที่มีคำพูดดีเลิศนั้นจะต้องมีเงื่อนไขสามประการ คือ 1.เป็นผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนไปสู่ความเป็นเอกภาพของอัลลอฮฺ และการจงรักภักดีต่อพระองค์ด้วยคำพูดของเขา การกระทำของเขา และสภาพของเขา 2.เป็นผู้กระทำความดี 3.เป็นมุสลิมมุอฺมินที่มีความเชื่อมั่นต่อศาสนาอิสลาม) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟุศศิลัต 33 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และไม่มีผู้ใดได้รับมัน (คุณธรรมดังกล่าว) นอกจากบรรดาผู้อดทน และจะไม่มีผู้ใดได้รับมันนอกจากผู้ที่มีโชคลาภอันใหญ่หลวง” (ตัฟซีร: การปฏิบัติความดีกับการปฏิบัติความชั่วนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน ทั้งสองสิ่งนั้นมีข้อแตกต่างกันมากในการตอบแทนและบั้นปลายที่ดี ดังนั้นเจ้าจงผลักดันหรือขับไล่ความชั่วด้วยการกระทำที่ดีกว่า เช่น ขับไล่ความโกรธด้วยการอดทนและความชั่วด้วยการอภัย เมื่อเจ้าได้กระทำเช่นนั้นศัตรูของเจ้าก็จะกลายเป็นมิตรสนิทไกล้ชิด และการที่จะให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอันสูงส่งและคุณธรรมดังกล่าวนั้นก็คือ ผู้ที่ต่อสู้ด้วยการระงับโทสะและอดทนต่อการทำร้าย และตำแหน่งดังกล่าวนั้นจะไม่มีผู้ใดได้รับมัน นอกจากผู้ที่มีโชคลาภอย่างสมบูรณ์ในความสุขและความดีเท่านั้น) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟุศศิลัต 35 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิมด้วยกัน ดังนั้น เขาต้องไม่กดขี่ข่มเหงเขา และต้องไม่ส่งเขาให้ศัตรู ใครที่ช่วยมุสลิมในยามสิ้นหวัง อัลลอฮฺจะทรงช่วยเขาในวันฟื้นคืนชีพ และใครที่รักษาความลับของมุสลิม จะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺในโลกหน้า” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 2442 และมุสลิม เลขที่ 2580)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครที่ช่วยบรรเทาทุกข์ยากลำบากของพี่น้องของเขาจากเคราะห์กรรมในโลกนี้ อัลลอฮฺจะทรงช่วยบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของเขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ใครที่บรรเทาทุกข์คนที่ตกทุกข์ได้ยาก อัลลอฮฺจะทรงทำสิ่งต่างๆ ให้ง่ายสำหรับเขาในโลกหน้า และใครที่ปิดบังความผิดของมุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺจะทรงปิดบังความผิดของเขาในโลกหน้า อัลลอฮฺจะทรงสนับสนุนบ่าวของพระองค์ตราบใดที่บ่าวคนนั้นสนับสนุนพี่น้องของเขา” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2699)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครก็ตามที่ยกหนี้ให้ลูกหนี้ หรือลดหนี้ให้เขา วันกิยามะฮฺจะอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งพระบัลลังก์ของอัลลอฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “วันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะเรียกบ่าวของพระองค์คนหนึ่ง เรียกมาสอบสวน อัลลอฮฺจะถามบ่าวของพระองค์ ทำอะไรบ้างเพื่อข้าในโลกดุนยานี้ บ่าวคนนี้ก็บอกว่า โอ้ อัลลอฮฺ แม้แต่ละอองฝุ่น ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรที่น่าเป็นความหวังสำหรับข้าพเจ้าในวันนี้เลย ยกเว้นเรื่องเดียว โอ้ องค์พระผู้อภิบาลของข้าแด่พระองค์ พระองค์ได้โปรดให้ฉันมีทรัพย์สิน ส่วนเกินของทรัพย์สิน และฉันทำธุรกิจกับคนอื่น เป็นนิสัยของฉัน ถ้าคนทำธุรกิจกับฉัน แล้วติดหนี้กับฉัน ฉันก็ยกให้ คนที่มั่งมี ฉันก็ง่ายกับเขา คนที่ยากจน ฉันก็ปล่อยเขา อัลลอฮฺก็จะตรัสว่า ข้าเอง สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อย ที่จะให้อภัยให้แก่เจ้า เข้าสวรรค์เลย” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
– “หากพวกเจ้าเปิดเผยความดี หรือปกปิดมันไว้ หรือให้อภัยในความเลวร้ายใดๆ แล้ว แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงอานุภาพเสมอ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ 149)
– “และผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนยากจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาจงอภัย และยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าจะไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอันนูรฺ 22)
เลี่ยงบิดอะห์ (อุตริกรรมทางศาสนา)
– “และแท้จริงนี้คือทางของข้าอันเที่ยงตรงพวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลายๆ ทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง” (อัลกุรอาน อัล-อันอาม 153)
– ญาบิรฺ บินอับดุลลอฮฺ รายงานว่า : เมื่อท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวเทศนาธรรม (คุฎบ๊ะฮฺ) ตาของท่านจะเริ่มแดง เสียงของท่านจะเริ่มดังและความโกรธของท่านเพิ่มขึ้น จนดูเหมือนกับคนที่กำลังเตือนว่า ศัตรูของท่านได้โจมตีพวกท่านในตอนเช้าหรือในตอนเย็นแล้ว ท่านยังกล่าวด้วยว่า “ยามอวสานและฉันได้ถูกส่งมาเหมือนกับทั้งสองนี้” และท่านได้เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางเกี่ยวเข้าด้วยกันและกล่าวต่อไปว่า “สำหรับสิ่งที่จะตามมา คำพูดที่ดีที่สุดคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และทางนำที่ดีที่สุดคือทางนำของมุฮัมมัด ความชั่วที่สุดของการงานทั้งหลายคือสิ่งที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ และทุกบิดอะฮฺ (อุตริกรรมทางศาสนา) คือหนทางของความหลงผิด” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 867)
หลีกเลี่ยงหะรอม (สิ่งที่ต้องห้าม) และชุบุฮาต (สิ่งที่คลุมเครือ สงสัย)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “คนกลุ่มหนึ่งจะทำให้การดื่มสิ่งมึนเมาของประชาชนเป็นที่ฮาลาลโดยการให้ชื่อมันเป็นอย่างอื่น” (หะดีษ รายงานโดยอะหมัด)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เวลาหนึ่งจะมาถึงเมื่อประชาชนกินดอกเบี้ยแล้วเรียกมันว่า ‘การค้า’” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม)
– ญาบิร บินอับดุลลอฮฺ เล่าว่า : ท่านรอซูลุลลอฮฺสาปแช่งผู้รับดอกเบี้ย และผู้จ่ายมัน และผู้บันทึกมัน และพยานทั้งสองคน และท่านกล่าวว่า “มันเท่ากัน (ในเรื่องบาปและการลงโทษ)” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1598)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ฮะลาล (สิ่งที่อนุมัติ) เป็นที่ชัดเจน และฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) เป็นที่ชัดเจน และในระหว่างนั้นมีสิ่งน่าสงสัยที่หลายคนไม่รู้ ใครที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่สงสัยก็รักษาความศรัทธาและเกียรติของเขา และใครที่ตกอยู่ในการสงสัยก็ตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม เช่นเดียวกับคนเลี้ยงแกะที่ดูแลแกะของตัวเองรอบเขตสงวนที่เขาจะข้ามไป แท้จริง กษัตริย์ทุกคนมีเขตแดนที่ถูกสงวนไว้ และเขตแดนที่ถูกสงวนไว้ของอัลลอฮฺก็คือสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม แท้จริง ในตัวมนุษย์มีเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าก้อนเนื้อนั้นดี ส่วนที่เหลือของร่างกายก็ดีด้วย และถ้ามันไม่ดี ส่วนอื่นของร่างกายก็ไม่ดีด้วย ก้อนเนื้อนั้น คือ หัวใจ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 52)
ตะชับบุฮฺ (ไม่เลียนแบบกลุ่มชน วัฒนธรรม/ศาสนาอื่น)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดที่เลียนแบบกลุ่มชนใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
– อับดุลลอฮ์ บินอุมัร รายงานว่า แท้จริงท่านนะบีได้เห็นเสื้อผ้าสองตัวที่ย้อมสีเหลืองฉูดฉาด ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงมันคือเสื้อผ้าของบรรดาผู้ปฏิเสธ ดังนั้นเจ้าอย่าได้สวมใส่มัน” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย มุสลิม)
– “แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้ผินหลังให้จากเรื่องไร้สาระต่างๆ และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้บริจาคซะกาต และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษา (ไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของ) ทวารของพวกเขา เว้นแต่แก่บรรดาภรรยาของพวกเขา หรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง (คือทาสี) ในกรณีเช่นนั้นพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ ฉะนั้นผู้ใดแสวงหาอื่นจากนั้น ชนเหล่านั้นพวกเขาก็เป็นผู้ละเมิด และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้เอาใจใส่ต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา และสัญญาของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาการละหมาดของพวกเขา ชนเหล่านี้แหละพวกเขาเป็นทายาท ซึ่งพวกเขาจะได้รับมรดกสวนสวรรค์ชั้นฟิรเดาส์ พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูน 1-11)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “หนึ่งในความเป็นมุสลิมที่ดีของคนๆ หนึ่งคือ การที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ตัวของเขา” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยติรมิซีย์ เลขที่ 2317)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครก็ตามในหมู่พวกท่านเห็นสิ่งผิด จงปล่อยให้เขาแก้ไขมันด้วยมือของเขา และถ้าเขาไม่สามารถ ให้เขาแก้ไขด้วยลิ้นของเขา และถ้าเขาไม่สามารถ ให้เขาเกลียดชังมันในหัวใจของเขา นี่เป็นการแสดงถึงความศรัทธาที่อ่อนที่สุด” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 49)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “ผู้ใดที่ปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของพี่น้องของเขา แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงปกป้องใบหน้าของเขาจากไฟนรกในวันกิยามะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ เลขที่ 1931)
– “บ่าวของข้า(อัลลอฮฺ) จะทำตัวใกล้ชิดข้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการปฏิบัติ “กิจอาสา” จนกระทั่งข้ารักเขา แล้วข้าก็เป็นหูซึ่งเขาใช้ฟัง เป็นตาที่เขาใช้ดู เป็นลิ้นที่เขาใช้พูด และเป็นใจที่เขาใช้คิดคำนึง ครั้งเมื่อเขาวอนขอต่อข้า ข้าก็จักสนองตอบเขา และเมื่อเขาขอสิ่งใดต่อข้า ข้าก็ให้เขา และหากเขาขอความช่วยเหลือจากข้า ข้าก็จักช่วยเหลือเขา และสิ่งที่บ่าวของข้าได้นำมาปฏิบัติการนมัสการ ที่ข้าโปรดที่สุดก็คือการตักเตือนกันเพื่อข้า” (หะดีษกุดซีย์ ฉบับแปลไทย ลำดับที่ 102/221 รายงานโดย อัตตอบรอนี จากอะบีอุมามะฮ์)
– “แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอัศรฺ 2-3)
นะศีหะฮฺหน้าที่บ่าว ฮิดายะฮฺเป็นส่วนของพระองค์
– “และคนตาบอดกับคนตาดีนั้น (หมายถึงกาเฟรกับมุอฺมิน) ย่อมไม่เหมือนกันและความมืดทึบกับแสงสว่าง (หมายถึงการปฏิเสธศรัทธากับการอีมาน) ก็ไม่เหมือนกัน และที่เงาร่มกับที่ร้อนแดด (หมายถึงสัจธรรมกับความเท็จ หรือแนวทางที่ถูกต้องกับการหลงผิด) ก็ไม่เหมือนกัน และคนเป็นกับคนตายนั้น (หมายถึงผู้มีสติปัญญากับคนโง่) ย่อมไม่เหมือนกัน แท้จริง อัลลอฮฺทรงให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ยิน (ได้ยินการเรียกร้องไปสู่สัจธรรม) และเจ้าไม่สามารถที่จะให้ผู้ที่อยู่ในหลุมฝังศพได้ยินได้ (หมายถึงพวกกุฟฟาร เพราะพวกนี้จิตใจตายด้าน) เจ้ามิใช่อื่นใดนอกจากเป็นผู้ตักเตือนเท่านั้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟาฏิร 19-23 ในวงเล็บ ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และไม่มีผู้แบกภาระคนใดที่จะแบกภาระของผู้อื่นได้ (ตัฟซีร: คือ ไม่มีผู้กระทำผิดคนใดจะแบกความผิดของผู้อื่นได้) และถ้าผู้ที่แบกภาระหนักอยู่แล้วขอร้อง (ผู้อื่น) ให้ช่วยแบกมัน ก็จะไม่มีสิ่งใดถูกแบกออกจากเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นญาติสนิทก็ตาม (ตัฟซีร: คือผู้ที่มีความผิดของตนอยู่แล้ว จะถูกขอร้องให้ช่วยแบ่งเบาภาระจากผู้อื่น เขาก็ไม่สามารถกระทำได้ แม้จะเป็นญาติใกล้ชิดสนิทสนมสักปานใด) แท้จริงเจ้าเป็นเพียงผู้ตักเตือนบรรดาผู้เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขาในสิ่งเร้นลับ และพวกเขาดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและผู้ใดขัดเกลาตนเอง แท้จริง เขาก็ขัดเกลาเพื่อตัวของเขาเอง และยังอัลลอฮฺเท่านั้นคือการกลับไป” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟาฏิร 18 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺ” (อัลกุรอาน อัล-มาอิดะฮฺ 8)
– “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา หากพวกเจ้าสนับสนุน (ศาสนาของ) อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงสนับสนุนพวกเจ้าและจะทรงตรึงเท้าของพวกเจ้าให้มั่นคง” (ตัฟซีร: คือศาสนาของพระองค์ ร่อซูลของพระองค์ และบรรดามุอฺมินแล้ว พระองค์ก็จะทรงช่วยเหลือพวกเจ้าให้มีชัยชนะเหนือศัตรูและจะให้พวกเจ้ามีความหนักแน่นอดทนในสนามรบ) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมุฮัมมัด 7 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
ญิฮาด ต่อสู้ ยืนหยัดในหนทางของอัลลอฮฺ
– “และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเราแน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา (ตัฟซีร: บรรดาผู้ต่อสู้กับจิตใจ ชัยฏอน อารมณ์ใฝ่ต่ำ และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ที่เป็นศัตรูกับศาสนาของอัลลอฮฺ โดยหวังความโปรดปรานของเรา เราก็ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แก่พวกเขาเมื่อมาหาเรา) และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย” (ตัฟซีร: ด้วยการให้การสนับสนุนและการช่วยเหลือ) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอังกะบูต 69 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และแท้จริง ไพร่พลของเรานั้น สำหรับพวกเขาจะเป็นผู้มีชัยชนะ” (ตัฟซีร: คือไพร่พลของเราที่เป็นมุอฺมินนั้น สำหรับพวกเขาจะได้รับชัยชนะทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ในโลกดุนยาได้รับชัยชนะด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์ ส่วนในโลกอาคิเราะฮฺด้วยการเข้าสวนสวรรค์) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต 173 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “แท้จริงเราได้ประทานคัมภีร์มายังเจ้าด้วยสัจธรรม ดังนั้นเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ พึงทราบเถิด การอิบาดะฮฺโดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮฺองค์เดียว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัซซุมัร 2-3)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับการงานใด นอกเสียจากว่า เป็นการงานที่บริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺเพียงเท่านั้น และปรารถนาผลตอบแทนจากพระองค์” (หะดีษ บันทึกโดย อัน-นะสาอีย์)
– “และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบาย และในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใดๆ หรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮฺแล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่ ชนเหล่านี้แหละการตอบแทนแก่พวกเขาคือการอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเขาและบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายในสวนเหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนเหล่านั้นตลอดกาล และรางวัลของผู้ทำงานนั้นช่างเลิศจริงๆ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 133-136)
– นบีดาวุดกล่าวไว้ในประเด็นที่พระเจ้าทรงเจรจากับเขาว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้า บ่าวชนิดใด ที่พระองค์ทรงรักเขา เพื่อที่ข้าจะได้รักเขาด้วย” พระองค์ทรงตอบว่า “โอ้ดาวุด บ่าวที่ข้ารักที่สุดก็คือ บ่าวที่มีหัวใจที่ยำเกรง ฝ่ามือทั้งสองข้างก็มีความยำเกรง เขาไม่มุ่งร้ายกับผู้ใดทั้งสิ้น เขาไม่เดินยุแหย่ ภูเขาร่วงหล่นแต่เขาไม่ร่วงหล่น เขารักข้าและรักผู้ที่รักข้า และเขาทำให้ข้ารักต่อบ่าวทั้งหลายของข้า” (ส่วนหนึ่งหะดีษกุดซีย์ ฉบับแปลไทย ลำดับที่ 208/221 รายงานโดย อัลบัยฮากี จากอิบนฺอับบาส)
– “แท้จริงบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระเจ้าของพวกเขาโดยทางลับ (ตัฟซีร: คือพวกเขายำเกรงพระเจ้าของพวกเขาโดยไม่เห็นพระองค์ และระงับการกระทำฝ่าฝืนโดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ) สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมุลกฺ 12 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และแท้จริงปรโลกและโลกนี้เป็นของเรา ดังนั้นข้าขอเตือนพวกเจ้าถึงไฟที่ลุกโชน ไม่มีผู้ใดจะเข้าไปในเผาไหม้ในมัน นอกจากคนเลวทรามที่สุด คือผู้ที่ปฏิเสธและผินหลังให้ และส่วนผู้ที่ยำเกรงยิ่งนั้นจะถูกปลีกตัวให้ห่างไกลจากมัน ซึ่งเขาบริจาคทรัพย์สินของเขาเพื่อขัดเกลาตนเอง และที่เขานั้นไม่มีบุญคุณแก่ผู้ใดที่บุญคุณนั้นจะถูกตอบแทน นอกจากว่าเพื่อแสวงความโปรดปรานจากพระเจ้าของเขาผู้ทรงสูงส่งเท่านั้น และเขาก็จะพึงพอใจ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลลัยลฺ 13-21)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ถ้าหากพวกเจ้าได้มอบหมาย (กิจการต่างๆของพวกเจ้า) แด่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนพระองค์จะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า เสมือนกับที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่นก โดยที่มันบินออกไปในยามเช้า ด้วยท้องที่ว่างเปล่า และบินกลับมาในตอนเย็นด้วยท้องที่อิ่มเอม” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัลติรมีซีย์ เลขที่ 2344 และอิบนุมาญะฮฺ เลขที่ 4164)
– “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์คือผู้ที่ได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (ตัฟซีร: กล่าวคือ เมื่อเจ้ามอบหมายแก่อัลลอฮฺแล้ว ก็ไว้วางใจแด่พระองค์เถิด เพราะพระองค์เป็นที่พอเพียงแล้วที่จะทำหน้าที่แทนเจ้า) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันฟาล 62 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากสิ่งดีๆ ทั้งหลาย และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด (ตัฟซีร: ให้ปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ และสำนึกในบุญคุณของพระองค์) หากเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 172 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– มีรายงานจากท่านอบูบักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า : “ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีเรื่องที่ทำให้ท่านพอใจ หรือถูกทำให้ท่านพอใจ ท่านจะก้มลงสุญูดเป็นการชุกูรฺขอบคุณต่ออัลลอฮฺ” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยอบู ดาวูด เลขที่ 2774 และอิบนุ มาญะฮฺ 1394 สำนวนนี้เป็นของอิบนุ มาญะฮฺ)
– “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูลเถิด แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 31-32)
– “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกจากศาสนาของพวกเขาไป อัลลอฮฺก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดามุมิน ไว้เกียรติแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะเสียสละและต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ และไม่กลัวการตำหนิของผู้ตำหนิคนใดนั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮฺซึ่งพระองค์จะทรงประทานมันแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 54)
อัร-เราะญาอ์ (ความหวังต่ออัลลอฮฺ)
– จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด “แท้จริง ฉันเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งเยี่ยงพวกท่าน มีวะฮีแก่ฉันว่าแท้จริง พระเจ้าของพวกท่านนั้นคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และอย่างตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟฺ 110)
– ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ไปเยี่ยมชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใกล้จะเสียชีวิต ท่านนบีได้ถามเขาว่า “ท่านเป็นอย่างไรบ้าง?” เขาตอบว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ แท้จริงผมมีความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เกรงกลัวพระองค์เพราะความผิดความบาปที่ผมเคยทำมา” ท่านรอซูลุลลอฮฺจึงกล่าวว่า “หากหัวใจของบ่าวคนใดมีสองสิ่งนี้(คือมีความกลัวต่ออัลลอฮฺและการลงโทษของพระองค์ กับมีความหวังในความเมตตาของพระองค์) เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์(เช่นเดียวกับชายคน)นี้แล้วละก็ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาหวัง และจะทรงให้เขาปลอดภัยจากสิ่งที่เขากลัว(ในวันกิยามะฮฺ)” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัตติรฺมีซีย์)
– “ความดีทั้งหลายนั้นอยู่ที่พระหัตถ์ ของพระองค์ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 26)
– “และความช่วยเหลือทั้งหลายนั้นไม่มี(จากที่อื่นใด) นอกจากที่อัลลอฮฺ ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเท่านั้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 126)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงประกอบคุณงามความดี ตามแต่ที่พวกท่านมีความสามารถที่จะกระทำได้เถิด เพราะแท้จริง อัลลอฮฺนั้น มิทรงระอิดระอา ตราบใดที่พวกท่านยังไม่เหนื่อยหน่าย อิดหนาระอาใจ และแท้จริง การงานที่เป็นที่รักยิ่ง ณ ที่พระองค์ คือการงานที่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี)
– รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า : มีผู้ถามท่านรอซูลุลลอฮฺว่า :”การงานใดที่เป็นที่โปรดปรานยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺครับ?” ท่านตอบว่า : “คือสิ่งที่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ถึงแม้จะเล็กน้อยก็ตาม” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี)
อิสติกอมะฮฺ ยืนหยัด ยึดมั่นในศาสนา
– “และพวกเจ้าจงยึดสายเชือก (ตัฟซีร: หมายถึงศาสนาของอัลลอฮฺ) ของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมดและจงอย่าแตกแยกกัน (ตัฟซีร: หมายถึงแตกแยกกันในการยึดถือสายเชือก (ศาสนา) ของอัลลอฮฺ โดยที่กลุ่มหนึ่งยึดถือโดยเคร่งครัด อีกหลายกลุ่มยึดถือบ้าง ไม่ยึดถือบ้าง เป็นต้น) และจำรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีแด่พวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์ และพวกเจ้าเคยปรากฏอยู่บนปากหลุมแห่งไฟนรก แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากปากหลุมแห่งนรกนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าซึ่งบรรดาโองการของพระองค์เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับแนวทางอันถูกต้อง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 103 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนเราด้วยคำสอนหนึ่งที่ทำให้จิตใจหวาดหวั่นและน้ำตาเอ่อล้น แล้วพวกเราก็กล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ประหนึ่งว่ามันคือคำสอนของผู้จะจากลา ฉะนั้นขอท่านจงสั่งเสียแก่เราเถิด” ท่านนบีกล่าวว่า “ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้มีความ ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงเกียรติและสูงส่งยิ่ง และขอให้พวกท่านเชื่อฟังและปฏิบัติตาม แม้นผู้บังคับบัญชาของพวกท่านจะเป็นทาสคนหนึ่งก็ตาม เพราะแน่นอนหากใครจากหมู่พวกท่านยังมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาก็จะได้พบความขัดแย้งอย่างมากมาย ดังนั้นพวกท่านจงยึดมั่นต่อแบบฉบับ (ซุนนะฮฺ) ของฉัน และแบบฉบับของบรรดาคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมที่ได้รับทางนำทั้งหลาย โดยกัดมัน (ซุนนะฮฺ) ไว้ ด้วยฟันกราม และพวกท่านพึงระวังเรื่องต่างๆ ที่อุตริขึ้นมาใหม่ เพราะแท้จริงเรื่องที่อุตริขึ้นมาใหม่ทุกอย่างล้วนคือความหลงผิด และทุกๆ ของความหลงผิดนั้นอยู่ในไฟนรก” (หะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด เลขที่ 4607 และอัต-ติรมิซีย์ เลขที่ 266)
ผลลัพธ์ของผู้ที่อิสติกอมะฮฺ ยืนหยัด มั่นคง
– “แท้จริงบรรดาผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือ พระเจ้าของพวกเราแล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มะลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจแต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้” (ตัฟซีร: บรรดาผู้ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺคือพระเจ้าของเราแล้ว พวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้นด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่เป็นฟัรฎูและละเว้นการกระทำที่เป็นที่ต้องห้ามและพวกเขาได้สิ้นชีวิตลงในสภาพเช่นนั้น มลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขาขณะที่กำลังจะสิ้นชีวิตโดยจะกล่าวว่า พวกท่านอย่าได้หวาดกลัวในสิ่งที่กำลังจะมาเผชิญกับพวกท่านคือสภาพของวันกิยามะฮฺ และพวกท่านอย่าได้เศร้าสลดเสียใจต่อสิ่งที่พวกท่าปล่อยทิ้งไว้ในโลกดุนยา เช่น ครอบครัว ทรัพย์สมบัติและลูกหลาน เพราะเราได้เตรียมสิ่งทดแทนไว้ให้แก่พวกท่านแล้ว นั่นคือสวนสวรรค์ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้กับพวกท่าน) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟุศศิลัต 30 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “พวกเราเป็นผู้อารักขาพวกท่านทั้งในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และปรโลก และสำหรับพวกท่านในสวนสวรรค์นั้น จะได้สิ่งที่จิตใจของพวกท่านปรารถนา และสำหรับพวกท่านในสวนสวรรค์นั้นจะได้ในสิ่งที่พวกท่านเรียกร้อง เป็นการต้อนรับด้วยความเมตตาจากพระผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ตัฟซีร: มลาอิกะฮฺจะกล่าวแก่พวกเขาว่า เราจะเป็นผู้อารักขาและให้ความช่วยเหลือพวกท่านทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ เราจะชี้แนะพวกท่านไปยังสิ่งที่เป็นความดีและความสันติสุขของพวกท่านทั้งในโลกดุนยาและโลกหน้า ในสวนสวรรค์พวกท่านจะได้รับสิ่งที่พวกท่านต้องการและสิ่งที่พวกท่านเรียกร้องและปรารถนาโดยเป็นอาคันตุกะที่มีเกียรติจากพระเจ้าผู้ทรงอภัยอย่างกว้างขวาง ผู้เมตตาอันยิ่งใหญ่แก่ปวงบ่าวผู้ยำเกรงพระองค์) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟุศศิลัต 31-32 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน มัสอู๊ด (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ผู้สัจจริง และถูกรับรองในความสัจจริงได้กล่าวว่า “แท้จริง พวกท่านแต่ละคนนั้นถูกก่อตัวเป็นรูปร่างในครรภ์มารดาของพวกเขา โดยใน 40 วัน (แรก) เป็นอสุจิ ต่อมาเป็นก้อนเลือดภายในระยะเวลาเท่ากัน (40 วัน) และหลังจากนั้น ก็กลายเป็นก้อนเนื้อภายในระยะเวลาเท่ากัน (40 วัน) ต่อมามลาอิกะฮฺก็ถูกส่งมายังเขา เพื่อเป่าวิญญาณเข้าไปในร่างเขา และ มลาอิกะฮฺถูกบัญชาให้บันทึกสี่กำหนดการด้วยกันคือ 1) บันทึก ริสกี (เครื่องยังชีพ) ของเขา 2) อายุขัยของเขา 3) การงานของเขา 4) ให้เขามีทุกข์หรือมีสุข ขอยืนยันด้วยอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ แน่นอน แม้นคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้เพียรกระทำการงานของชาวสวรรค์ (หมั่นสั่งสมความดีมาตลอด) จนเสมือนหนึ่งว่าระหว่างเขากับสวรรค์นั้นไม่มีอะไรขวางกั้นอีกแล้ว นอกจากระยะห่างเพียงหนึ่งศอกเท่านั้น (คือใกล้แค่เอื้อม) แต่หากบันทึกนั้นได้ถูกกำหนดไว้แก่เขาก่อนแล้ว (เมื่อใกล้สิ้นชีวิตว่าเขาต้องเป็นชาวนรก) ดังนั้น เขาจะต้องทำการงานของชาวนรกจนได้ และในที่สุดเขาก็ตกนรก และแน่นอนแม้คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้เพียรกระทำการงานของชาวนรก (คือ ทำความชั่วมาโดยตลอด) จนเสมือนหนึ่งว่าระหว่างเขากับนรกนั้น ไม่มีอะไรขวางกั้นอีกแล้ว นอกจากระยะห่างเพียงหนึ่งศอกเท่านั้น แต่หากบันทึกนั้นได้ถูกกำหนดไว้แก่เขาก่อนแล้ว (เมื่อใกล้สิ้นชีวิตว่าเขาจะได้เป็นชาวสวรรค์) ดังนั้นเขาจะทำการงานของชาวสวรรค์ และในที่สุดเขาก็ได้เข้าสวรรค์” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 3208 และมุสลิม เลขที่ 2643)
– รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) จากท่าน รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตามคำดำรัสที่ได้รับรายงานจากพระผู้อภิบาลของท่าน ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง พระองค์ได้ตรัสว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงกำหนดบรรดาสิ่งที่ดีงาม และสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเอาไว้ แล้วต่อมาพระองค์จึงทรงชี้แจงมัน ดังนั้นผู้ใดตั้งใจที่จะทำความดีอย่างหนึ่ง แต่แล้วไม่ได้กระทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึกมัน ณ พระองค์ เป็นความดีหนึ่งที่สมบูรณ์ (แก่ผู้นั้น) และหากเขาตั้งใจทำความดี แล้วได้กระทำตามนั้นด้วย อัลลอฮฺจะทรงบันทึกมัน ณ พระองค์เป็นสิบความดี และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนถึงเจ็ดร้อยเท่า หรือจนถึงจำนวนหลายเท่าทวีคูณ (ที่ไม่สามารถคำนวณนับได้) และหากเขาตั้งใจจะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้กระทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึกมัน ณ พระองค์เป็นความดีหนึ่งที่สมบูรณ์ และหากเขาตั้งใจทำความชั่ว แล้วเขาได้กระทำตามนั้น อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์เป็นความผิดหนึ่งเท่านั้น (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 6491 และมุสลิม 131)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงเบื้องหลังของพวกท่าน(ในอนาคต)มีช่วงเวลาหนึ่ง การอดทนในวันเวลาเหล่านั้นเสมือนการกำถ่านไฟ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติการงานในวันเหล่านั้นจะได้รับผลบุญเสมือนผลบุญของผู้ชาย 50 คนที่ปฏิบัติเสมือนการงานของพวกท่าน” มีผู้ถามว่า : โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ผลบุญ 50 คนจากหมู่พวกเราหรือจากหมู่พวกเขา? ท่านกล่าวว่า : “50 คนจากหมู่พวกท่านต่างหาก” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 4341, ติรมิซียฺ เลขที่ 3058, อิบนุมาญะฮฺ เลขที่ 4014 และอิบนุหิบบาน เลขที่ 385)