ส่วนหนึ่งจากศรัทธาที่สมบูรณ์
ส่วนหนึ่งจากศรัทธาที่สมบูรณ์
เนื้อหาจากการบรรยายในยูทูบ
เรื่อง อธิบาย 40 หะดีษอิม่ามนะวาวีย์
หะดีษที่ 13: ส่วนหนึ่งจากความสมบูรณ์ของการศรัทธา
สอนโดย อ.ดาวุด ธิยัน
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า "บุคคลหนึ่งๆ ในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธาอย่างแท้จริง จนกว่าเขารักที่จะให้พี่น้องของเขาได้รับในสิ่งที่เขารักจะให้ตนเองได้รับ" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
คำอธิบายหะดีษนี้
อีมานจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขา เหมือนที่เขารักตัวเอง
หรือจนกว่าที่เขาจะรักให้ความดีประสบกับพี่น้องของเขาก่อน เหมือนกับที่เขาอยากจะให้ความดีนั้นมาประสบกับตัวเอง
อยากจะให้ตัวเองได้รับความดีงาม อยากจะให้ตัวเองไม่โดนรุกราน ข่มเหง หรือโดนกลั่นแกล้ง ฉันใด ก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นประสบกับพี่น้องฉันนั้น
ไม่อยากให้ใครมาด่า นินทา ใส่ร้ายตัวเอง อยากจะให้คนอื่นเอาความดีมาให้ตัวเอง ก็ต้องเอาความดีไปให้พี่น้องเขาด้วย และไม่ปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดีกับพี่น้องของเขา
ดังนั้น หะดีษบทนี้จึงบ่งบอกว่า คนๆ หนึ่งจะรักพี่น้องของเขา รักเอาความดีไปให้พี่น้องของเขา มีความประสงค์จะให้ความดีเกิดกับพี่น้องของเขา เหมือนกับที่เกิดกับตัวเองนั้น ถือเป็นวาญิบ
เพราะถ้าหากว่า ยังไม่เอาความดีไปให้กับคนอื่น ปฏิบัติความดีกับคนอื่น เหมือนกับที่ตัวเองอยากได้ หรืออยากแค่ให้ความดีเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ไม่อยากให้ความดีเกิดขึ้นกับคนอื่นนั้น แสดงว่า ทิ้งวาญิบ การทิ้งวาญิบนั้น ส่งผลให้อีมานของคนๆ นั้นไม่สมบูรณ์
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า "คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าจะยังไม่เป็นบุคคลที่มีการศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าฉันจะเป็นที่รักยิ่งสำหรับเขา มากกว่าบิดาของเขา ลูกของเขา และมนุษย์ทั้งหมด" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม, บุคอรี เลขที่ 15)
คำอธิบายหะดีษนี้
อีมานของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านยังไม่สมบูรณ์ ก็หมายถึงเขาได้ละทิ้งวาญิบที่ต้องรักนบีมากกว่ามนุษย์ทั้งมวล ถ้าเขายังไม่รักนบีเหนือทุกสิ่ง แสดงว่าอีมานเขายังไม่สมบูรณ์
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า
"ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮฺว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีมานอย่างสมบูรณ์
ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮฺว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีมานอย่างสมบูรณ์
ขอสาบานต่อพระองค์อัลลฮฺว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีมานอย่างสมบูรณ์ "
เหล่าอัครสาวกก็ถามว่า "ใครกัน โอ้ท่านรอซูล"
แล้วท่านนบีก็ตอบว่า "คือคนที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ได้รับความปลอดภัยจากความชั่วร้ายของเขา" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)
คำอธิบายหะดีษนี้
สิ่งที่จะมาเติมเต็มอีมานตรงนี้คือ การทำดีต่อเพื่อนบ้าน จึงถือว่าเป็นวาญิบ ถ้าละทิ้งการทำดีต่อเพื่อนบ้าน และยังให้อันตรายต่อเพื่อนบ้าน ถือว่าเขาได้ทำสิ่งที่หะรอมและละทิ้งวาญิบที่ต้องปฏิบัติ ส่งผลให้อีมานของเขานั้นไม่สมบูรณ์
การที่คนๆ นั้น รักที่จะให้ความดีประสบกับตัวเขาและพี่น้องของเขา ไม่ใช่แค่ดุนยาแต่รวมไปถึงเรื่องศาสนาด้วย เช่น การที่คนๆ นั้นอยากจะให้พี่น้องของเขามีอากีดะห์ที่ถูกต้อง เหมือนกับที่เขามีอากีดะห์ที่ถูกต้อง
เมื่อเรารู้ว่าอากีดะห์แบบไหนไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่สนเลยว่า พี่น้องของเราจะมีอากีดะห์อย่างไร เขาเป็นเพื่อนเรา พี่น้อง เป็นญาติเรา เขามีความเชื่อที่ผิด เราอยู่กับเขาเราไม่เคยพูดเลยว่า อากีดะห์ที่เขาเชื่ออยู่ไม่ถูกต้อง เราจะเอาแค่ตัวเรารอด แสดงว่าเขายังไม่ได้รักพี่น้องของเขา ไม่ได้อยากให้ความดีเกิดขึ้นกับพี่น้องของเขา เหมือนกับที่อยากจะให้ความดีต่างๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง
เรารักที่อยากจะให้พี่น้องของเราละหมาด เพราะเขาเป็นคนทิ้งละหมาด เขาละหมาดไม่ครบ ละหมาดล่าช้า เขาปล่อยปละละเลย เพิกเฉยในการละหมาด เราอยากจะให้พี่น้องของเราดำรงการละหมาด เหมือนที่เราดำรงการละหมาด นี่คือสิ่งที่เติมเต็มอีมาน
ถ้าหากวันนี้เราละหมาดครบ เราเรียนเรื่องละหมาด เรารู้ว่าละหมาดสำคัญ รู้ถึงขั้นว่า ถ้าทิ้งละหมาดแล้วจะตกศาสนา จะไม่ใช่มุสลิม แต่เรารู้ขั้นนั้นแล้ว เรากลับไม่เตือนพี่น้องของเรา ไม่อยากให้ความดีประสบกับพี่น้องของเรา นั่นหมายความว่า เรายังไม่ได้รักพี่น้องของเราเหมือนกับที่เรารักตัวเอง
ถ้าเรารักพี่น้องของเรา อยากจะให้เขาได้รับฮิดายะฮฺ (ทางนำ) ไม่อยากให้เขาหลงทาง หลงผิด แล้วเราไปเตือนเขา แสดงว่าเราได้ทำสิทธินั้นเต็มที่
แต่ถ้าวันนี้เราอยากจะได้รับทางนำ แต่เรากลับไม่ตักเตือนพี่น้องของเรา ไม่อยากจะให้ได้รับความดีเหมือนกับที่เรารับ แสดงว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เป็นหะรอม กำลังละเมิดคำสั่งใช้ และเป็นผลทำให้อีมานของเราบกพร่อง
เราปฏิบัติในสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ แล้วเราก็ปฏิบัติเอง เราไม่เคยบอกพี่น้องของเราที่กำลังทำบิดอะห์ ไม่พยายามทุกรูปแบบ ก็แสดงว่าเรากำลังละทิ้งในสิ่งที่เป็นวาญิบนั้น
เมื่อเราปฏิบัติตามซุนนะฮฺ แล้วเราก็รู้ดีว่านี่คือทางรอดที่อัลลอฮฺได้ส่งท่านนบีมาบอกว่า ถ้าปฏิบัติตามนบีคือทางรอด แล้วเราก็ปฏิบัติเอง ไม่ได้อยากจะให้ความดีเหล่านี้ไปประสบกับพี่น้องของเราเลย แสดงว่าเรากำลังบกพร่องในด้านอีมาน และกำลังละทิ้งในสิ่งที่เป็นวาญิบ
อยากจะให้พี่น้องของเขาได้ดี เหมือนกับที่เขาได้รับความดี รวมทุกความดี ทุกเรื่อง อิบาดะฮฺทุกอย่าง เป็นเรื่องศาสนา รวมถึงการออกห่างจากความชั่ว
เช่น คนๆ หนึ่งละทิ้งเรื่องดอกเบี้ย ไม่ยุ่งสิ่งเสพติด ไม่ยุ่งกับการติดสินบน และรักที่อยากจะให้พี่น้องของเขาออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น แสดงว่าเขาได้ปฏิบัติสิทธิหน้าที่นั้นแล้ว และนี่คือสิ่งที่จะเติมเต็มอีมานของเขาอย่างดีเยี่ยม
แต่ถ้าหากว่า เขาละทิ้งได้แค่ตัวเขา และไม่เคยบอกคนอื่นหรือคนใกล้ชิด นิ่งเงียบ ไม่สนใจ แสดงว่าเขาได้ละทิ้งในสิ่งที่เป็นวาญิบเรียบร้อยแล้ว
หะดีษเหล่านี้ ได้เตือนผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่มีอีมานต่ออัลลอฮฺ และไม่สนใจผู้อื่นเลย แสดงว่าอีมานของเรากำลังมีข้อบกพร่อง ถ้าเราอยากจะเติมข้อบกพร่องเหล่านั้น เราก็ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่นบีบอกไว้ในหะดีษต่างๆ เหล่านั้น ที่บอกว่า “อีมานของคนหนึ่งคนใดจะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่า...” เขาต้องทำอะไร เขาต้องทิ้งอะไร
ถ้าเป็นเรื่องศาสนา เป็นวาญิบที่เราต้องทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องดุนยา เป็นมุสตะฮับ (สิ่งที่สนับสนุน) การที่เราไม่ได้ไปบอกพี่น้องของเรา ก็ยังไม่ถึงขั้นมีความผิด และก็ไม่มีผลกระทบกับอีมานของเรา
เช่น พี่น้องของเราค้าขาย แล้วเราไม่ได้ไปช่วยจัดร้าน ไม่ได้ไปช่วยค้าขาย ยังไม่ได้บอกเทคนิคที่จะทำให้ร้านค้าของเขาขายดีขึ้น เช่น มีสูตรอาหารที่อร่อยกว่า หรือไม่ได้ขายสิ่งนั้น แต่เรามีสูตรอาหาร ถ้าเป็นเรื่องดุนยา ไม่มีผลกระทบอะไรกับอีมาน
หรือเราไม่ได้สอนเขาเรื่องดุนยา ก็ไม่มีผลกระทบใดๆ กับอีมาน เช่น สอนขับรถ เลือกทำเลร้านค้า สอนทำขนม แนะนำเรื่องเกี่ยวกับดุนยา
การไปบอกเรื่องดุนยา เป็นเรื่องมุสตะฮับ (สนับสนุนให้ทำ) แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ทำ ก็ไม่ได้ทำให้อีมานบกพร่อง แต่ถ้าเป็นเรื่องศาสนานี้ไม่ได้ เช่น เรื่องละหมาด หรือมีความบกพร่องเรื่องละหมาด มีอากีดะห์ที่ผิดเพี้ยน มีเงินแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาต เป็นคนที่เนรคุณต่อพ่อแม่ แล้วเรากลับนิ่งเงียบ เพิกเฉย แล้วเราก็สามารถเตือนด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด แล้วเราก็อยากให้ความดีนี้ประสบกับเขา ตรงนี้ถือว่าเราได้ทิ้งวาญิบ เราได้ทิ้งหน้าที่ของเรา
เชคท่านหนึ่ง ให้สติว่า “เคยสักครั้งไหม ที่ท่านบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) เห็นกาเฟร แล้วก็ไม่ดะวะห์ บรรดาศอฮาบะฮฺเห็นกาเฟรแล้วก็ไม่เคยแนะนำอิสลาม เคยไหม?” ผู้บรรยายตอบว่า “ไม่เคย”
เชคบอกต่อว่า “ดังนั้น หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ การเชิญชวนผู้คนมาสู่ทางนำ เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เมื่อเราเองก็อยากได้รับทางนำ เราก็ต้องนำสิ่งเหล่านั้นไปบอกกับพี่น้องของเรา นี่เป็นสิ่งที่จะวัดได้ว่า คุณนั้นมีอีมานในหัวใจ อีมานของคุณยังไม่บกพร่อง”
ท่านก็เล่าเรื่องหนึ่ง เป็นบาทหลวงที่มีตำแหน่งสูงคนหนึ่ง เคยคุยกับท่าน แล้วก็บอกว่า “ผมก็มีเพื่อนเป็นมุสลิม และผมก็เรียนกับมุสลิมคนนี้ ตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย เพื่อนมุสลิมของผมเหล่านี้ ไม่เคยพูดอิสลามให้ผมฟังแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยแนะนำอิสลามให้กับเขาเลย ไม่เคยบอกแม้กระทั่งว่า อัลลอฮฺคือใคร” จนทุกวันนี้เขาก็กลายเป็นบาทหลวงและมีชื่อเสียง เขาก็ถามเชคคนนี้ว่า “ไหนคุณลองบอกเล่าเรื่องราวอิสลามให้ผมฟังหน่อย” เชคก็ทำการดะวะห์ แต่ว่าไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วชายคนนี้ได้เข้ารับอิสลามหรือไม่
วันนี้เราอาจไม่กล้าพูดเรื่องอิสลามให้คนต่างศาสนิก แต่เราได้สื่ออิสลามทางภาคปฏิบัติให้กับเขาหรือไม่ เช่น คลุมฮิญาบ ละหมาด ไม่กินของหะรอม ดะวะห์มีทุกรูปแบบ รวมถึงมารยาทที่ดี เขาอาจจะไปถามคนอื่นหรือศึกษาเพิ่มเติม
เสียสละในเรื่องอิบาดะฮฺ กับเสียสละในเรื่องดุนยา ผลไม่เหมือนกัน
เช่น มีคนประกาศรับบริจาค เห็นว่ามีคนรับบริจาคแล้ว เราก็ไม่บริจาค เสียสละให้คนอื่นทำไป ถือเป็นมักรูฮฺ (สิ่งที่น่ารังเกียจ) เพราะพฤติกรรมขัดกับคำสั่งของอัลลอฮฺที่บอกว่า
"และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง" (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 133)
"จงเร่งรีบไปสู่การขออภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และสวนสวรรค์ซึ่งความกว้างของมันประหนึ่งความกว้างของชั้นฟ้าและแผ่นดิน (ซึ่งสวรรค์นั้น) ถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและบรรดาร่อซูลของพระองค์ นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะทรงประทานมันให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้โปรดปรานอันใหญ่หลวง" (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลหะดีด 21)
“และสำหรับแต่ละประชาชาตินั้น ต่างก็มีทิศทางหนึ่ง ซึ่งประชาชาตินั้นผินไปสู่ ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันในความดีทั้งหลายเถิด ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่อัลลอฮ์ก็จะทรงนำพวกเจ้ามาทั้งหมด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 148)
แล้วเราก็มาอ้างว่า ที่ฉันสละให้คนอื่นทำไปก่อน ทั้งๆ ที่เรามีความสามารถจะทำ การเสียสละแบบนี้ ในเรื่องอิบาดะฮฺ ถือว่าเป็นมักรูฮฺ
เช่น คนๆ หนึ่งต้องการความช่วยเหลือ มีคน 2 คน มีเงินทั้งคู่ คนแรกบอกว่าฉันจะบริจาค อีกคนหนึ่งบอกว่า ไม่เป็นไร ฉันไม่บริจาค ให้คนนี้บริจาคไป ฉันเสียสละ
หรือในกรณีที่มีการเข้าแถวละหมาด แล้วเราไปอยู่แถวแรก ซึ่งเป็นแถวแรกด้านขวาสุดเป็นแถวที่ประเสริฐที่สุด แล้วมีคนเดินมา แล้วแถวมันเต็ม เราก็บอกว่า ขึ้นมาอยู่ที่แถวเรา เราจะเสียสละให้ในแถวแรก อย่างนี้ไม่อนุญาต เพราะต้องแข่งขันกันทำความดี
การเสียสละในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้คนอื่นมาทำแทนเรา ทั้งๆ ที่เรามีความสามารถ ถือว่าเป็นเรื่องที่มักรูฮฺ (ไม่อนุญาต)
บางครั้งการเสียสละในเรื่องอิบาดะฮฺ อาจจะถึงขั้นผิดเลยก็ได้ เช่น เราเดินทางไปหลายคน เรามีน้ำที่จะเอามาทำน้ำละหมาด น้ำมีน้อยมาก มีเพียงพอแค่คนเดียว แล้วบอกว่า เสียสละให้คุณนะ คุณทำน้ำละหมาดไป ทั้งๆ ที่เรามี แล้วถ้าเรามีน้ำ เป็นวาญิบที่ต้องเอาน้ำละหมาดด้วยกับน้ำ เสียสละน้ำของเราให้คนอื่นทำน้ำละหมาด แล้วเราไปทำตะยัมมุมถือเป็นความผิด เพราะวาญิบตกอยู่ที่คนที่มีน้ำ
การเสียสละในเรื่องดุนยา เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่กันสิทธิคนอื่น
เช่น ให้เข้าแถวก่อน เพราะเขารีบกว่า (แทนเรา) แต่ไม่ใช่ให้เขามาอยู่หน้าเรา ทำให้คนที่อยู่หลังเราถูกแซงคิวไป
เสียสละอาหาร เสื้อ ของใช้
บรรดาศอฮาบะฮฺนั้น คือคนที่เสียสละให้กับคนอื่น ถึงแม้ว่าตัวเองจะมีความต้องการ เช่น ที่ศอฮาบะฮฺให้เรือกสวนไร่นาแก่ผู้อพยพมานครมาดีนะฮฺ ดังอัลกุรอานความว่า
“และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ(ชาวอันศอร)และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกเขา(ชาวมุฮาญิรีน)พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขาและจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตามและผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขาชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ 9)
คำว่าพี่น้อง ไ่ม่ได้แปลว่า พี่น้องที่ต้องคลานตามกันมาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพี่น้องมุสลิมที่เรารู้จัก ที่เราสามารถเตือน บอกกล่าวกับเขาได้