hasanah page เว็บไซต์สำหรับมุสลิมะห์
– “โอ้ดุนยา เจ้าจงให้ ‘ความขม’ แก่ผู้ใกล้ชิดของข้า(อัลลอฮฺ) เจ้าอย่าให้ ‘ความหวาน’ แก่พวกเขา เพราะเจ้านั่นแหละ จะทำให้พวกเขาเสียหาย” (หะดีษกุดซีย์ ฉบับแปลไทย ลำดับที่ 147/221 รายงานโดย อัลกุฎออี)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “โลกนี้เป็นคุกสำหรับผู้ศรัทธา และเป็นสวรรค์สำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 2956)
– “ไม่มีทุกข์ภัยอันใดเกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺพระองค์จะทรงเปิดหัวใจของเขา (สู่แนวทางที่ถูกต้อง) และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งอย่าง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน 11)
– “โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญความยากลำบาก” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะลัด 4)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวไว้ความว่า “ไม่มีภัยพิบัติใดที่จะเกิดขึ้นแก่มุสลิมคนหนึ่ง เว้นแต่ว่า อัลลอฮฺจะลบล้างบาปด้วยกับเหตุนั้น แม้จะเป็นเพียงแค่หนามตำก็ตาม” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม 2999)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง สำหรับกิจการของผู้ศรัทธา แท้จริง กิจการทั้งหมดของเขาล้วนเป็นความดี สิ่งนั้นไม่เกิดกับผู้ใดนอกจากกับผู้ศรัทธาเท่านั้น หากมีความสุขมาประสบเขาก็ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (นั่นก็) กลายเป็นความดีสำหรับเขา และหากมีทุกข์ภัยมาประสบ เขาก็อดทน (นั่นก็) กลายเป็นความดีสำหรับเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี 5640)
– “และเคราะห์กรรมอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายไว้ และพระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว” (ตัฟซีร: โอ้ มนุษย์ เคราะห์กรรมที่ประสบแก่พวกเจ้าทั้งชีวิต และทรัพย์สินก็ดีก็เนื่องมาจากการฝ่าฝืนข้อบัญญัติที่พวกเจ้าได้กระทำไว้ และพระองค์ทรงอภัยความผิดอย่างมากมายให้แก่พวกเจ้า โดยที่พระองค์ไม่ทรงลงโทษ มิฉะนั้นแล้วพวกเจ้าก็จะประสบกับความหายนะอยู่ร่ำไป) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัชชูรอ 30 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺรับรายงานมาจากองค์อภิบาลของท่าน ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง ซึ่งพระองค์ตรัสว่า ”โอ้ปวงบ่าวของข้า! แท้จริง ทุกอย่างเป็นการงานของพวกเจ้าที่ข้าได้คิดคำนวณแก่พวกเจ้า ซึ่งหลังจากนั้นข้าจะตอบแทนมันแก่พวกเจ้าอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นหากใครได้ประสบความดีใดๆ ก็จงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด และหากใครประสบสิ่งอื่นนอกจากนั้น ก็จงอย่าตำหนิผู้ใดนอกจากตัวเขาเองเถิด” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษกุดซีย์ บันทึกโดยมุสลิม)
บททดสอบ มีสาเหตุเพราะไม่ห้าม ไม่เตือน
– ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า “ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านจงสั่งกำชับกันให้ทำความดี และต้องร่วมมือกันห้ามปรามความชั่ว (เพราะถ้าพวกท่านไม่ทำเช่นนั้น ปล่อยปละละเลย) อัลลอฮฺก็จะทรงส่งการลงโทษของพระองค์ลงมายังพวกท่านอย่างเฉียบพลันทันที (เมื่อถึงเวลานั้น) แม้หากพวกท่านจะวิงวอนขอจากพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทรงตอบรับ(คำวิงวอนขอของพวกท่าน)” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย ติรฺมีซีย์)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “อุปมาผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ และผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ อุปมัยดังกลุ่มชนหนึ่งที่อยู่บนเรื่อลำเดียวกันได้จับสลาก โดยกลุ่มหนึ่งได้อยู่บนเรือ และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ด้านล่างของเรือ ดังนั้น เมื่อผู้ที่อยู่ด้านล่างต้องการจะใช้น้ำจะต้องเดินผ่านผู้ที่อยู่ด้านบน เขาเหล่านั้น(ผู้ที่อยู่ด้านล่าง) จึงกล่าวขึ้นว่า ‘หากเราเจาะเรือตรงส่วนของเรา(ด้านล่างเพื่อจะเอาน้ำมาใช้) และจะได้ไม่รบกวนผู้ที่อยู่ด้านบน?’ และถ้าหากกลุ่มที่อยู่ด้านบนปล่อยให้กลุ่มที่อยู่ด้านล่างทำตามความต้องการแล้ว พวกเขาจะต้องพินาศ(จมน้ำ) กันทั้งหมด แต่หากว่าเขาเหล่านั้นจับมือ(ห้ามปราม) กลุ่มชนนั้นเอาไว้ก็จะปลอดภัยกันทั้งหมด” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี ติรมิซีย์ และอะห์หมัด)
– “และเพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงทดสอบสิ่งที่อยู่ในหัวอกของพวกเจ้า (ตัฟซีร: คือทดสอบความศรัทธาที่อยู่ในหัวอกของพวกเจ้า ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเจ้าเองว่า พวกเจ้าได้ศรัทธากันด้วยความจริงใจหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เพื่อขัดเกลาอีมานที่อยู่ในใจของพวกเจ้าให้ผ่องแผ้วพร้อมกันไปด้วย) และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่หัวอกทั้งหลาย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 154 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– รายงานจากท่าน สะอัด บิน อบีวักกอศ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุว่าท่านได้ถามท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า ใครคือผู้ที่ถูกทดสอบมากที่สุด? ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า “คือบรรดานบีต่างๆ หลังจากนั้นก็คือผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดกับบรรดานบี บุคคลหนึ่งจะถูกทดสอบตามระดับการยึดมั่นในศาสนาของเขา หากเขามีความเข้มแข็งในศาสนาเขาก็จะถูก ทดสอบหนัก และหากการยึดมั่นของเขาอ่อนเขาก็จะถูกทดสอบตามระดับการยึดมั่นในศาสนาของเขา บะลาอฺการทดสอบจะประสบแก่มนุษย์จนทําให้เขาเดินอยู่บนหน้าแผ่นดินโดยไม่มีบาปกรรมใดเหลืออยู่อีก” (หะดีษ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ เลขที่ 2398 อิมาม อัต-ตัรมิซีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่หะสันเศาะฮีหฺ)
– “เพื่ออัลลอฮฺจะทรงรู้ว่าใครที่ยำเกรงพระองค์ในสภาพที่เขาไม่เห็นพระองค์” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 94)
– “โอ้อีซา แท้จริง ข้าจักแต่งตั้ง ประชาชาติหนึ่งภายหลังจากเจ้า หากมีสิ่งที่พวกเขารักมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็สรรเสริญและขอบคุณ(ข้า อัลลอฮฺ) และหากสิ่งที่พวกเขารังเกียจมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็ตั้งสติได้มั่นและพวกเขามีความอดทน และ(โดยที่พวกเขา)ไม่มีความสุขุมและไม่มีความรู้” อีซากล่าวว่า “โอ้พระเจ้า(ของข้าพระองค์) ทำไมพวกเขาจึงมีสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่พวกเขาไม่มีความสุขุมและความรู้” พระองค์ตอบว่า “ข้าได้ให้พวกเขามีความสุขุมของข้า และความรู้ของข้า” (หะดีษกุดซีย์ ฉบับแปลไทย ลำดับที่ 150/221 รายงานโดย อะหมีด จากอะบิดดัรดาฮ์)
– “และพระองค์คือผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในระยะ 6 วัน (ตัฟซีร: ในการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินเป็นเวลาถึง 6 วันนั้น เป็นการส่งเสริมให้ปวงบ่าวของพระองค์มีความสุขุมรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพราะพระเจ้าผู้ทรงปรีชาสามารถในการสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย สามารถกระทำได้ในชั่วพริบตาเดียว แต่พระองค์ยังทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นเป็นเวลาถึง 6 วัน) และบัลลังก์ของพระองค์อยู่เหนือน้ำ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกท่านว่า ผู้ใดในหมู่พวกท่านมีการงานที่ดีเยี่ยม” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฮูด 7 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “แท้จริง เราได้ทำให้สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นที่ประดับสำหรับมัน เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขามีผลงานที่ดีเยี่ยม” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟฺ 7)
– “หากประสบแก่พวกเจ้า ซึ่งบาดแผลหนึ่งบาดแผลใด แน่นอนก็ย่อมประสบแก่พวกนั้น ซึ่งบาดแผลเยี่ยงเดียวกัน และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์ (ตัฟซีร: ทรงให้แต่ละฝ่ายชนะบ้าง แพ้บ้าง ทั้งนี้เป็นไปตามกฎสภาวการณ์ของพระองค์) และเพื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงรับรู้บรรดาผู้ที่ศรัทธา และเพื่อเอาบรรดาผู้เสียชีวิตในสงครามจากพวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงรักใคร่ผู้อธรรมทั้งหลาย เพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงขัดเกลาบรรดาผู้ศรัทธาให้บริสุทธิ์ และทรงขจัดบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาให้หมดไป หรือว่าพวกเจ้าคิดว่า พวกเจ้าจะได้เข้าสวนสวรรค์ ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺยังมิได้ทรงรู้ บรรดาผู้ที่ต่อสู้(ญิฮาด) ในหมู่พวกเจ้าพร้อมกันนั้น พระองค์ก็จะทรงรู้บรรดาผู้ที่อดทนด้วย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 140-142 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และสิ่งที่ประสบแก่พวกเจ้า ในวันที่สองกลุ่มเผชิญกันนั้นก็โดยอนุมัติของอัลลอฮฺ และเพื่อที่พระองค์จะทรงรู้ ผู้ศรัทธาทั้งหลายนั้นเอง” (ตัฟซีร: พระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่าใครศรัทธาจริงหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องทดสอบแต่อย่างใด แต่ที่พระองค์ทรงทดสอบนั้น ก็เพื่อให้ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้ศรัทธานั่นเอง รู้ตัวเองว่าเขาศรัทธาจริงหรือไม่เท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วเขาอาจเข้าใจผิดว่า เขาเป็นผู้ศรัทธา ทั้งๆ ที่การศรัทธาของเขาอ่อนแอที่สุด ในการนี้เขาจะได้ปรับปรุงการศรัทธาของพวกเขา) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 166 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และเราได้ทดสอบพวกเขาด้วยบรรดาสิ่งที่ดี (ตัฟซีร: คือสิ่งที่อำนวยความสุข) และบรรดาสิ่งชั่ว (ตัฟซีร: คือการลงโทษจากพระองค์) เพื่อว่าพวกเขาจะกลับมา (ตัฟซีร: คือกลับมาประพฤติตนเป็นคนดี) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ 168 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และบรรดาผู้อยากมีฐานะเยี่ยงเขา เมื่อวานนี้จะกล่าวในวันพรุ่งนี้ว่า “พึงทราบเถิด! เป็นที่แน่นอนว่าอัลลอฮฺนั้นทรงให้กว้างขวาง และทรงให้คับแคบซึ่งเครื่องยังชีพแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากบ่าวของพระองค์” (ตัฟซีร: พวกเขากล่าวออกมาด้วยความเสียใจถึงความอยากมีฐานะเยี่ยงกอรูนว่า อัลลอฮฺทรงให้บริการอย่างกว้างขวางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และด้วยฮิกมะห์ของพระองค์ มิใช่การยกย่องให้เกียรติเขา และทรงให้ริสกีคับแคบแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ด้วยฮิกมะห์และลิขิตของพระองค์ อันเป็นการทดสอบ มิใช่เป็นการเหยียดหยามดูถูกเขา) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ 82 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “แท้จริงทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า และลูกหลานของพวกเจ้านั้นเป็นเครื่องทดสอบและอัลลอฮฺนั้น ณ ที่พระองค์มีรางวัลอันยิ่งใหญ่” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน 15)
– “และเราได้ทำให้บางคนในพวกเจ้าเป็นการทดสอบแก่อีกบางคน (ตัฟซีร: คือ อัลลอฮฺทรงทดสอบ คนรวยให้จนลง คนมีเกียรติให้ตกต่ำลง และคนมีสุขภาพดีให้เจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นการทดสอบความอดทนของพวกเจ้า และการอีมานของพวกเจ้า ว่าพวกเจ้าจะขอบคุณหรือเนรคุณ) เพื่อดูว่าพวกเจ้าจะอดทนไหม? และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเห็นทุกอย่าง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฟุรกอน 20)
– “และแน่นอน เราจะทดลองพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง)จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 155)
– “และถ้าเราได้ให้มนุษย์ลิ้มรสความเมตตาจากเรา แล้วเราได้ดึงมันกลับมาจากเขา แท้จริงเขานั้นเป็นผู้หมดหวังและสิ้นศรัทธา และถ้าเราได้ให้เขาลิ้มรสความโปรดปรานหลังจากความทุกข์ยากได้ประสบกับเขา แน่นอนเขาจะกล่าวว่า “ความชั่วร้ายต่างๆ ได้ผ่านพ้นจากฉันไปแล้ว” แท้จริง เขานั้นเป็นผู้คึกคะนองหยิ่งยะโส เว้นแต่บรรดาผู้อดทนและบรรดาผู้ปฏิบัติความดีทั้งหลาย ชนเหล่านั้นแหละ สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันยิ่งใหญ่” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฮูด 9-11)
– “พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมุลกฺ 2)
– “ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี (ตัฟซีร: คือ จะทดสอบด้วยเคราะห์กรรมและความโปรดปราน เพื่อเราจะได้เห็นผู้ขอบคุณ ผู้เนรคุณ ผู้อดทน และผู้หมดหวัง) และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ 35 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “การบ่อนทำลายได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ (ตัฟซีร: อัลบัยฎอวีย์กล่าวว่า ความหมายของการบ่อนทำลายคือ ความแห้งแล้ง อัคคีภัย อุทักภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ ตลอดจนความจำเริญที่ลดน้อยลงนั้น ก็เนื่องมาจากการก่อกรรมทำบาปของมนุษย์นั่นเอง) เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัรรูม 41 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และแน่นอน เราจะให้พวกเขาได้ลิ้มรสการลงโทษอันใกล้ (ในโลกนี้) ก่อนการลงโทษอันยิ่งใหญ่ (ในปรโลก) เพื่อว่าพวกเขาจะกลับมาสำนึกผิด” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัซซัจญดะฮฺ 21)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ศรัทธาชายและหญิงจะยังคงถูกทดสอบในชีวิต (ร่างกาย)ของเขา ในลูกหลานของเขา ในทรัพย์สินของเขา จนกระทั่งเขากลับไปพบอัลลอฮฺ โดยที่เขาไม่มีความผิดเลย” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่ออัลลอฮฺต้องการให้บ่าวคนหนึ่งของพระองค์ได้รับความดี พระองค์จะเร่งลงโทษเขาในโลกดุนยา และหากพระองค์ต้องการให้บ่าวคนหนึ่งของพระองค์พบสิ่งเลวร้าย พระองค์จะยึดความผิดของเขาไว้จนกระทั่งเขาได้พบมันในวันกิยามะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)
– “เพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงขัดเกลาบรรดาผู้ศรัทธาให้บริสุทธิ์” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 141)
– “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา! พวกเจ้าอย่าคิดตามทางเดินของชัยฎอน และผู้ใดติดตามทางเดินของชัยฎอน แท้จริงมันจะใช้ให้ทำการลามกและความชั่ว และหากมิใช่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺแก่พวกเจ้า และความเมตตาของพระองค์แล้ว (ตัฟซีร: ด้วยการให้มีการขออภัยโทษกลับเนื้อกลับตัว และการให้มีบทลงโทษเพื่อลบล้างความผิด) ก็จะไม่มีผู้ใดเลยในหมู่พวกเจ้าบริสุทธิ์ แต่อัลลอฮฺทรงให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์บริสุทธิ์ (ตัฟซีร: ด้วยการให้เขาสำนึกขออภัยโทษต่อความผิดที่ได้กระทำไป และทรงรับการขออภัยโทษของเขา) และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอันนูรฺ 21 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
ทดสอบ เพื่อแยกแยะคนจริงกับคนเท็จ คนดีกับคนเลว
– "มนุษย์คิดหรือว่า พวกเขาจะถูกทอดทิ้งเพียงแต่พวกเขากล่าวว่าเราศรัทธา และพวกเขาจะไม่ถูกทดสอบ กระนั้นหรือ? และโดยแน่นอน เราได้ทดสอบบรรดาก่อนหน้าพวกเขา แล้ว ดังนั้นอัลลอฮฺจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้สัตย์จริง และจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้กล่าวเท็จ หรือบรรดาผู้กระทำความชั่วทั้งหลายคิดว่าพวกเขาจะรอดพ้นไปจากเรา ชั่วช้าแท้ๆ สิ่งที่พวกเขาตัดสินกัน ผู้ใดหวังที่จะพบอัลลอฮฺ ดังนั้นแท้จริงกำหนดของอัลลอฮฺย่อมมาถึงแน่นอน และพระองค์เป็นทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ และผู้ใดต่อสู้ดิ้นรน แท้จริงเขาย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวของเราเอง แท้จริงอัลลอฮฺนั้น แน่นอน ทรงมั่งมีเหนือประชาชาติทั้งหลาย" (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอังกะบูต 2-6)
– “เพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงแยกคนเลว ออกจากคนดี และจะทรงให้คนเลว ซึ่งบางส่วนของพวกเขาอยู่บนอีกบางส่วน โดยทรงสุมพวกเขาทั้งหมดไว้เป็นกอง แล้วพระองค์จะทรงให้พวกเขาอยู่ในนรกญะฮันนัม ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ที่ขาดทุน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันฟาล 37)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ประสบแก่มุมินผู้ศรัทธาแม้แต่หนามตำหรือหนักกว่านั้น นอกจากอัลลอฮฺ จะยกระดับชั้นให้กับเขา หรือทรงลบล้างความผิดให้เขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม 2572)
– “และเพื่อว่าพระองค์จะทรงทดสอบบรรดาผู้ศรัทธาอย่างดีงามจากพระองค์” (ตัฟซีร: การทดสอบอย่างดีงามนั้น หมายถึง ทดสอบเพื่อจะให้ได้รับรางวัลอันดีงามจากพระองค์) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันฟาล 17 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
ทดสอบ เพื่อให้ได้รับความดี หรือสถานะอันสูงส่ง
– ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดที่อัลลอฮฺประสงค์ให้เขาได้รับความดี พระองค์ก็จะทรงทดสอบเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 5645)
– “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงบ่าวนั้น เมื่อสถานะอันสูงส่งที่ถูกกำหนดจากอัลลอฮฺให้ล้ำหน้าเขาอยู่ โดยที่เขายังไม่สามารถไปถึงตำแหน่งนั้นได้ด้วยกับอาม้าลการกระทำของเขา อัลลอฮฺก็จะทรงทดสอบเขาที่ร่างกายของเขา หรือที่ทรัพย์สินของเขา หรือที่ลูกของเขา หลังจากนั้นอัลลอฮฺก็จะทรงประทานความอดทนให้แก่เขาในสิ่งนั้น จนกระทั่งอัลลอฮฺนั้นให้เขาบรรลุถึงสถานะที่ล้ำหน้าของเขาอยู่ที่มันได้ถูกกำหนดมาจากอัลลอฮฺเอาไว้แล้ว” (หะดีษ สุนัน อบีดาวูด บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 3090)
ทดสอบ เพื่อให้บ่าวกลับมาหาพระองค์
– “ส่วนมนุษย์นั้น เมื่อพระเจ้าของเขาทรงทดสอบเขา โดยทรงให้เกียรติเขาและทรงโปรดปรานเขา เขาก็จะกล่าวว่าพระเจ้าของฉันทรงยกย่องฉัน แต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงทดสอบเขาทรงให้การครองชีพของเขาเป็นที่คับแคบแก่เขา เขาก็จะกล่าวว่า พระเจ้าของฉันทรงเหยียดหยามฉัน มิใช่เช่นนั้นดอก แต่ว่าพวกเจ้ามิได้ให้เกียรติแก่เด็กกำพร้าต่างหาก และพวกเจ้ามิได้ส่งเสริมกันในการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสน และพวกเจ้ากินมรดกกันอย่างหมดเกลี้ยง และพวกเจ้ารักสมบัติกันอย่างมากมาย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฟัจญรฺ 15-20)
– “หามิได้ เมื่อแผ่นดินถูกทำให้สั่นสะเทือนเป็นผุยผง และพระเจ้าของเจ้าเสด็จมาพร้อมทั้งมลาอิกะฮฺด้วยเป็นแถวๆ และวันนั้นนรกญะฮันนัมจะถูกนำมาให้ปรากฏ ในวันนั้นมนุษย์จะรำลึกขึ้นมาได้ แต่การรำลึกนั้นจะมีผลแก่เขาได้อย่างไร? เขาจะกล่าวว่า โอ้ถ้าฉันได้ทำความดีไว้ล่วงหน้าสำหรับชีวิตของฉัน แล้วในวันนั้นไม่มีผู้ใดลงโทษเช่น การลงโทษของพระองค์ และไม่มีผู้ใดผูกมัด เช่นการผูกมัดของพระองค์ โอ้ ชีวิตที่สงบแน่น จงกลับมายังพระเจ้าของเจ้าด้วยความยินดีและเป็นที่ปิติเถิด แล้วจงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าเถิด และจงเข้ามาอยู่ในสวนสวรรค์ของข้าเถิด” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฟัจญรฺ 21-30)
พระองค์ส่งบททดสอบและแนวข้อสอบให้พร้อมรับการทดสอบ
– “แน่นอนกาลเวลาที่ยาวนานได้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ เมื่อเขามิได้เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงเลย แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์จากน้ำเชื้อผสมหยดหนึ่ง เพื่อเราได้ทดสอบเขา ดังนั้นเราจึงทำให้เขาเป็นผู้ได้ยิน เป็นผู้ได้เห็น แท้จริงเราได้ชี้แนะแนวทางให้แก่เขาแล้ว บางทีเขาก็เป็นผู้กตัญญู และบางทีเขาก็เป็นผู้เนรคุณ” (ตัฟซีร: คือเวลาอันยาวนานได้ผ่านพ้นไปโดยที่มนุษย์ยังมิได้ปรากฏเป็นตัวตนและมิได้มีการกล่าวขวัญถึงกันเลย เพราะความไร้ค่า และความอ่อนแอของเขา อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวถึงมนุษย์ว่า พระองค์ทรงสร้างเขามาจากน้ำที่น่ารังเกียจคือน้ำอสุจิ ซึ่งได้พุ่งออกจากกระดูกสันหลังของผู้ชาย เข้าไปผสมกับน้ำของผู้หญิงในมดลูกของเธอ และจากนั้นก็ได้กลายมาเป็นมนุษย์ผู้ประหลาด เพื่อเราจะได้ทดสอบเขาด้วยบัญญัติศาสนา ข้อใช้ข้อห้ามเพื่อดูว่าเขาจะเป็น ผู้กตัญญูหรือผู้ขอบคุณ และเราได้ให้เขามีสติปัญญาแยกแยะคือมีประสาทฟังและแห็น ซึ่งหมายถึงการมีความเข้าใจและแยกแยะ และเราได้ชี้แนะทางที่ถูกต้องและการหลงผิด ความดีและความชั่วด้วยการส่งบรรดารอซูลมา และประทานคัมภีร์ทั้งหลายเพื่อให้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว)” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอินซาน 1-3 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “แท้จริงเราได้ทดสอบพวกเขา ดั่งเช่นที่เราได้ทดสอบบรรดาเจ้าของสวน เมื่อพวกเขาสาบานว่าจะเก็บเกี่ยวผลของมันในยามรุ่ง และพวกเขามิได้กล่าวคำว่า “อินชาอัลลอฮฺ” ดังนั้น การลงโทษจากพระเจ้าของเจ้าก็ได้มาทำลายสวนนั้น ขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับอยู่ ครั้นในตอนเช้า มันก็กลายเป็นเช่นถูกตัดอย่างราบเรียบ ดังนั้นพวกเขาจึงกู่ตะโกนให้ตื่นแต่เช้าตรู่ จงเข้าไปในสวนของพวกท่านในตอนเช้าตรู่เถิด หากพวกท่านต้องการจะเก็บผลไม้ แล้วพวกเขาพากันออกไป แล้วพวกเขาพูดกระซิบซึ่งกันและกันอย่างเบาๆ ว่า วันนี้อย่าได้ให้คนยากจนขัดสนสักคนหนึ่ง เข้าไปหาพวกท่านในสวนนั้น และพวกเขาก็ได้ออกไปแต่เช้า ตั้งใจว่าจะเก็บผลไม้ให้หมดก่อนที่คนยากจนจะเข้าไปในสวน ครั้นเมื่อพวกเขาเห็นสวน (อยู่ในสภาพที่ถูกทำลาย) พวกเขาก็กล่าวขึ้นว่าแท้จริงพวกเราหลงทางเสียแล้ว (บางคนกล่าวว่า) เปล่าดอก พวกเราถูกหวงห้ามสิทธิ์เสียแล้ว คนที่มีสติปัญญาคนหนึ่งในหมู่พวกเขากล่าวว่า ฉันมิได้บอกพวกท่านดอกหรือว่า ทำไมพวกท่านจึงไม่กล่าวสดุดีแด่อัลลอฮฺ พวกเขาจึงกล่าวว่า มหาบริสุทธิ์แห่งพระเจ้าของเรา แท้จริงเรานั้นเป็นผู้อธรรม“ (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลก้อลัม 17-29)