hasanah page เว็บไซต์สำหรับมุสลิมะห์
อีมาน ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน
– “แท้จริงพระเจ้าของพวกเจ้านั้น ทรงเอกะอย่างแน่นอน พระเจ้าแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ในระหว่างทั้งสอง และพระเจ้าแห่งทิศทางตะวันออก” (ตัฟซีร: คือพระเจ้าของพวกเจ้าที่พวกเจ้าเคารพอิบาดะฮฺต่อพระองค์นั้น คือพระเจ้าองค์เดียว ไม่มีภาคีต่อพระองค์ พระผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน พระผู้ทรงสิทธิ์และอำนาจแห่งมันทั้งสอง และสิ่งที่มีอยู่ในระหว่างทั้งสอง และพระเจ้าแห่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ ในฤดูหนาวและฤดูร้อน) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต 4-5 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “การสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินและได้ทรงให้มีบรรดาความมืดและแสงสว่าง” (ตัฟซีร: คือให้มีกลางคืนสำหรับพักผ่อน และให้มีกลางวันสำหรับประกอบอาชีพ) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 1 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “ขอสาบานด้วย (มะลาอิกะฮฺ) ผู้เข้าแถวตามลำดับ และ (มะลาอิกะฮฺ) ผู้ควบคุมอย่างรัดกุม และ (มะลาอิกะฮฺ) ผู้อ่านขัอตักเตือน” (ตัฟซีร: อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเริ่มซูเราะฮฺนี้ด้วยการสาบานด้วยบ่าวของพระองค์ เป็นการแสดงถึงความสำคัญของบ่าวประเภทนี้ ความหมายคือ ข้าขอสาบานด้วยมะลาอิกะฮฺผู้ยืนเข้าแถวในเวลาละหมาด หรือบรรดาปีกของพวกเขาอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะรับคำบัญชาของอัลลอฮฺ และมะลาอิกะฮฺผู้ควบคุมเมฆให้เมฆทั้งหลายพัดพาไปตามพระประสงค์ของพระองค์ และมะลาอิกะฮฺผู้อ่านอายาตต่างๆ ของอัลลอฮฺแก่บรรดานบีของพระองค์ และบรรดาผู้ใกล้ชิดของพระองค์ พร้อมกับการกล่าวสรรเสริญสดุดีและแซ่ซ้อง) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต 1-3 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “ท่านศาสนทูตอัลลอฮฺได้เห็นญิบรีลมาแล้วครั้งหนึ่งในลักษณะดั้งเดิมของเขาที่ได้ถูกสร้างมา ซึ่งเขามีปีก 600 ปีก ปิดบังฟากฟ้าเนื่องจากความยิ่งใหญ่ของเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยบุคอรี เลขที่ 4575)
ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์
– “คัมภีร์ที่เราได้ประทานลงมาแก่เจ้า เพื่อให้เจ้านำมนุษย์ออกจากความมืดมนทั้งหลาย (ตัฟซีร: ความมืดมนแห่งความอวิชาและการหลงทาง) สู่ความสว่าง (ตัฟซีร: ความสว่างแห่งวิชาการและการศรัทธา) ด้วยอนุมัติของพระเจ้าของพวกเขา สู่ทางของพระผู้เดชานุภาพ ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ (คือ) ทางของอัลลอฮฺ” (อัลกุรอานซูเราะฮฺอิบรอฮีม 1-2 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “และเราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่เจ้าด้วยความจริง ในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์(เบื้องหน้า) นั้น ดังนั้นเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขวออกจากความจริงที่ได้มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้ และหากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้วแน่นอนก็ทรงให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกันแล้ว แต่ทว่าเพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮฺนั้นคือ การกลับไปของพวกเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งให้พวกเจ้าทราบในสิ่งที่พวกเจ้ากำลังขัดแย้งกันในสิ่งนั้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 48)
– “และเรามิได้ส่งร่อซูลคนใด นอกจากด้วยการพูดภาษาชนชาติของเขา เพื่อจะได้ชี้แจงอย่างชัดแจ้งแก่พวกเขา อัลลอฮฺจะทรงให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์หลงทาง และทรงชี้แนะทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอิบรอฮีม 4)
– “มุฮัมมัด มิได้เป็นบิดาผู้ใดในหมู่บุรุษของพวกเจ้า แต่เป็นรอซูลของอัลลอฮฺ และคนสุดท้ายแห่งบรรดานะบี และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ทุกสิ่ง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ 40)
ศรัทธาต่อวันกิยามะฮฺ (วันฟื้นคืนชีพ)
– “พระองค์คือ ผู้ที่ทรงบังเกิดพวกเจ้าจากดิน แล้วได้ทรงกำหนดเวลาแห่งความตายไว้ และกำหนดที่ถูกระบุไว้อีกกำหนดหนึ่งนั้น (ตัฟซีร: คือกำหนดแห่งการฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺ ซึ่งกำหนดนี้ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น) อยู่ที่พระองค์ แต่แล้วพวกเจ้าก็ยังสงสัยกันอยู่” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 2 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– อบูซุเบรฺ รายงานว่า เขาได้ยินจากญาบิรฺ บินอับดุลลอฮฺ ผู้ถูกถามเกี่ยวกับการข้ามสะพาน เขากล่าวว่า “บนสะพานเหนือนรกมีตะปูและตะขอที่คอยเกี่ยวคนที่อัลลอฮฺทรงต้องการ หลังจากนั้น แสงสว่างของบรรดาผู้ตลบตะแลงจะถูกดับและผู้ศรัทธาจะได้รับความช่วยเหลือ กลุ่มแรกที่ข้ามสะพานได้อย่างปลอดภัยประกอบด้วยคนเจ็ดหมื่น คนที่ใบหน้าของพวกเขาเหมือนกับดวงจันทร์เต็มดวง และพวกเขาจะไม่ถูกเรียกไปสอบสวน หลังจากนั้น บรรดาผู้ที่ตามพวกเขามาทันทีจะมีใบหน้าเหมือนกับดวงดาวที่สว่างไสวในท้องฟ้า นี่คือวิธีการที่กลุ่มหนึ่งจะตามอีกกลุ่มหนึ่งไป” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรี เลขที่ 6558 และมุสลิม เลขที่ 191)
ศรัทธาต่อการกำหนดสภาวการณ์ (เกาะฎอและเกาะดัร)
– “และที่พระองค์นั้น มีกุญแจแห่งความเร้นลับต่างๆ โดยพระองค์เท่านั้นที่ทรงรู้สิ่งเหล่านั้น และทรงรู้สิ่งที่อยู่ในแผ่นดินและในทะเล และไม่มีใบไม้ใดร่วงหล่นลง นอกจากพระองค์ก็จะทรงรู้มัน และไม่มีเมล็ดพืชใดที่ฝังอยู่ในความมืดมิดของแผ่นดิน และไม่มีสิ่งที่อ่อนนุ่มหรือสิ่งที่แห้งใดๆ นอกจากจะมีอยู่ในบันทึกที่ชัดแจ้ง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 59)
– “และทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับเจ้า ทุกอายัตเกี่ยวกับเรื่องนั้นที่เจ้าอ่านในอัลกุรอาน และทุกการงานที่พวกเจ้ากระทํานั้น เราเองคือผู้กํากับควบคุมตอนพวกเจ้าเริ่มกระทําในสิ่งนั้น และสิ่งเบาเท่าอณูหนึ่งในแผ่นดินและในท้องฟ้าหรือสิ่งที่เล็กกว่าและใหญ่กว่านั้น ล้วนแต่มีปรากฎอยู่แล้วในบันทึกอันชัดแจ้งโดยมิได้เลือนลางหายไปจาก (ความรอบรู้ของ) พระเจ้าของเจ้า” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส 61)
หลักการศรัทธา (อีมาน 6 ข้อ) และหลักการปฏิบัติ (อิสลาม 5 ข้อ)
หลักคุณธรรม (อิฮซาน)
– รายงานจากท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ็อบ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้เล่าว่า: วันหนึ่ง ในขณะที่พวกเรากำลังนั่งอยู่กับท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มีชายคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้น โดยสวมอาภรณ์ที่ขาวสะอาดยิ่ง มีผมที่ดกดำสนิท และไม่ปรากฏร่องรอยของการเดินทาง และไม่มีใครในหมู่พวกเราที่รู้จักเขาเลย จนกระทั่งเขาเข้าไปนั่งใกล้ท่านรอซูลุลลอฮฺ โดยเอาเข่าทั้งสองของเขาไปชิดกับเข่าทั้งสองข้างของท่านรอซูลุลลอฮฺ และได้วางมือของเขาบนขาทั้งสองข้างของท่านรอซูลุลลอฮฺ แล้วเขาก็กล่าวขึ้นว่า “โอ้ มุฮัมมัด จงแจ้งเรื่องอิสลามแก่ฉันเถิด!” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “อิสลามก็คือ การที่ท่านต้องปฏิญาณตนว่า ‘ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดนั้นเป็นรอซูลแห่ง อัลลอฮฺ’, ท่านต้องดำรงละหมาด, จ่ายซะกาต, ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน, และท่านต้องบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ หากท่านสามารถเดินทางไปได้” แล้วชายคนนั้นก็กล่าวว่า “ท่านตอบถูกต้องแล้ว” พวกเราพากันแปลกใจที่เขาถาม แล้วเขาก็กล่าวยืนยันว่าถูกต้องแล้ว ต่อมาเขากล่าวอีกว่า “ดังนั้นท่านจงแจ้งเรื่องหลักการ อีมานแก่ฉันเถิด” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “หลักการอีมาน คือ ท่านต้องศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, ต่อบรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์, ต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์, ต่อบรรดาศาสนทูตของพระองค์, ต่อวันสิ้นโลก, และท่านต้องศรัทธาต่อกำหนดสภาวการณ์ทั้งที่ดีและร้าย” แล้วเขา(ชายคนนั้น) กล่าวว่า “ท่านพูดถูกต้องแล้ว” แล้วเขาก็กล่าวอีกว่า “ดังนั้นท่านจงแจ้งเรื่องหลักคุณธรรมแก่ฉันเถิด” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “หลักคุณธรรม (อิฮฺซาน) คือท่านต้องทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺประดุจดั่งว่าท่านเห็นพระองค์ (อยู่ต่อหน้า) แต่ถึงแม้นว่าท่านไม่เห็นพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงเห็นท่านแน่นอน” เขาถามอีกว่า “ท่านจงแจ้งเรื่องวันสิ้นโลกให้ฉันรู้ทีเถิด” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “ผู้ถูกถาม ก็มิได้รู้ดีไปกว่าผู้ถามดอก” แล้วเขาก็ถามต่อว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจงแจ้งถึงสัญญาณต่างๆ ของมันให้ฉันรู้ทีเถิด” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “(หนึ่งในสัญญาณต่างๆ ของมัน เช่น) คือการที่ทาสหญิงจะคลอดลูกเป็นนายของตน ท่านจะได้เห็นคนที่ไม่สวมรองเท้า ไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ ฐานะยากจนที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ ต่างแข่งขันกันสร้างอาคารบ้านเรือนสูงใหญ่” ต่อมาชายคนนั้นก็จากไป ต่อมาไม่นานท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ถามฉันว่า “โอ้อุมัร ท่านรู้ไหมว่า ผู้ถามนั้นเป็นใคร?” ฉัน (อุมัร) ตอบว่า “อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เท่านั้นที่รู้ดี” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงอธิบายว่า “แท้จริงเขาคือ ญิบรีล เขามายังพวกท่าน เพื่อสั่งสอนศาสนาแก่พวกท่านนั่นเอง” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 8)
– ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติ 3 ประการต่อไปนี้ จะได้ลิ้มรสความหวานของความศรัทธา 1. คนที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เป็นที่รักยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด 2.คนที่รักผู้หนึ่งและเขาผู้นั้นรักเขาเพื่ออัลลอฮฺ 3.คนที่ไม่ชอบจะหันกลับไปสู่การปฏิเสธศรัทธาอีกจนถึงขนาดที่ว่า หลังจากอัลลอฮฺได้ทรงนำเขาออกจากการปฏิเสธศรัทธาแล้ว เขาเกลียดที่จะถูกโยนลงไปในไฟนรก” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 43)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อพระองค์อัลลอฮฺรักใคร พระองค์จะให้ความหอมหวาน (ความงดงาม) แก่เขา” ศอฮาบะฮฺถามว่าอะไรคือความหอมหวาน ท่านนบีตอบว่า “พระองค์อัลลอฮฺจะเปิดโอกาสได้ทำการงานที่ดี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แล้วพระองค์อัลลอฮฺจะเก็บวิญญาณของเขาไปในสภาพที่เขาได้ทำความดี” (หะดีษ บันทึกโดย อิหม่ามอะหฺหมัด)
– “วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 3)
– “และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 85)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “คนที่รับอิสลามคือผู้ได้รับความสำเร็จและได้รับปัจจัยที่เพียงพอ และอัลลอฮฺจะทรงทำให้เขาพอใจกับสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1054)
– “และเราได้ให้คัมภีร์ เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา (ตัฟซีร: คือประชาชาติมูฮำหมัด) บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้เดินสายกลาง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ (ตัฟซีร: ผู้อธรรมแก่ตัวเองคือผู้ฝ่าฝืน ผู้รุดหน้าในการทำความดีคือผู้ยำเกรง และผู้เดินสายกลางคือผู้อยู่ระหว่างกลางของบุคคลทั้งสองประเภทข้างต้น) นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟาฏิร 32 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงต้องการจะแนะนำเขาก็จะทรงให้หัวอกของเขาเบิกบาน เพื่ออิสลาม และผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการจะปล่อยให้เขาหลงทาง ก็จะทรงให้ทรวงอกของพวกเขาแคบ อึดอัด ประหนึ่งว่าเขากำลังขึ้นไปยังฟากฟ้า” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันอาม 125)
– “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป“ (ตัฟซีร: จงทำตัวให้ห่างไกลจากการสงสัย การไม่ซื่อสัตย์ และการนึกร้ายต่อญาติพี่น้องและมหาชนทั่วไป ที่ว่า “ส่วนใหญ่ของการสงสัย” นั้นเพื่อเป็นการระมัดระวังในทุกๆ การกระทำดังกล่าว อย่ารีบด่วนในการนึกคิดแต่จงพิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงเสียก่อน) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลหุญุร๊อต 12)
ผู้ศรัทธา คือ ผู้ได้รับทางนำที่เที่ยงตรง
– “ผู้ใดยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ แน่นอนเขาก็ได้รับคำแนะนำไปสู่ทางอันเที่ยงตรง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน 177)
– “ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง พระองค์ทรงเพิ่มแนวทางที่ถูกต้องให้แก่พวกเขา และจะทรงประทานให้แก่พวกเขาซึ่งการยำเกรงของพวกเขา” (ตัฟซีร: ส่วนบรรดามุอฺมินผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดี อัลลอฮฺก็จะเพิ่มการฮิดายะฮฺให้แก่พวกเขา และทรงดลใจให้แก่พวกเขาถึงสิ่งที่พวกเขายำเกรง คือพวกเขากลัวต่อความกริ้วของอัลลอฮฺเช่นการชิริกและการฝ่าฝืน) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺฺมุฮัมมัด 17 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “หาใช่คุณธรรมไม่ การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแต่ทว่าคุณธรรมนั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลก และศรัทธาต่อมลาอิกะฮฺ ต่อบรรดาคัมภีร์และนะบีทั้งหลาย และบริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่บรรดาญาติที่สนิทและบรรดาเด็กกำพร้า และแก่บรรดาผู้ยากจนและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง และบรรดาผู้ที่มาขอและบริจาคในการไถ่ทาส และเขาได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และ(คุณธรรมนั้น) คือบรรดาผู้ที่รักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อพวกเขาได้สัญญาไว้ และบรรดาผู้ที่อดทนไนความทุกข์ยาก และในความเดือดร้อน และขณะต่อสู้ในสมรภูมิ ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่พูดจริง และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่มีความยำเกรง” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 177)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ผู้ใดมอบ(ทุกสิ่งทุกอย่าง)เพื่ออัลลอฮฺ และผู้ใดยับยั้ง(ทุกสิ่งทุกอย่าง)เพื่ออัลลอฮฺ และรักเพื่ออัลลอฮฺ และโกรธเพื่ออัลลอฮฺ และแต่งงานเพื่ออัลลอฮฺ (ดังนั้น)แท้จริงแล้ว เขาได้ทำให้อีมานหรือการศรัทธาของเขา(ที่มีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น)ครบถ้วนสมบูรณ์” (หะดีษเศาะฮีหฺ อัลหะดีษ ในอัสสิลสิละฮฺ อัศเศาะหิหะฮฺ รายงานจากท่านซะฮฺลิ บินมุอาซ รายงานจากบิดาของเขา)
– “แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา และแด่พระเจ้าของพวกเขานั้น พวกเขามอบหมายกัน คือบรรดาผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พวกเขาก็บริจาค ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือ ผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาจะได้รับหลายชั้น ณ พระเจ้าของพวกเขา และจะได้รับการอภัยโทษและปัจจัยยังชีพอันมากมาย” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัล-อันฟาล 2-4)
– ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “บุคคลหนึ่งๆ ในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธาอย่างแท้จริง จนกว่าเขารักที่จะให้พี่น้องของเขาได้รับในสิ่งที่เขารักจะให้ตนเองได้รับ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
รางวัลแด่ผู้ศรัทธา ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
– ท่านรอซูลุลลอฮฺได้พูดกับฉันว่า “อบูสะอี๊ด ใครที่พอใจให้อัลลอฮฺเป็นพระผู้อภิบาลของเขา และอิสลามเป็นศาสนาของเขา และมุฮัมมัดเป็นนบีของเขา สวรรค์ก็เป็นของเขา” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยมุสลิม เลขที่ 1884)
– “ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และศรัทธาในสิ่งที่ถูกประทานแก่มุฮัมมัด และว่าอัลกุรอานนั้นเป็นสัจธรรมมาจากพระเจ้าของพวกเขา พระองค์จะทรงลบล้างความชั่วของพวกเขา ให้ออกไปจากพวกเขาและจะทรงปรับปรุงสภาพของพวกเขาให้ดีขึ้น” (ตัฟซีร: ส่วนบรรดาผู้ที่มีคุณลักษณะรวมไว้ซึ่งการศรัทธาอย่างแท้จริง และกระทำความดี และศรัทธาในสิ่งที่ถูกประทานมาให้แก่มุฮัมมัดคืออัลกุรอาน และว่าอัลกุรอานนั้นเป็นคำกล่าวและเป็นวะฮียฺมาจากอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงลบล้างบาปกรรมต่างๆ ของพวกเขาในอดีตให้หมดสิ้นไป และจะปรับปรุงกิจการต่างๆ และสภาพการณ์ของพวกเขาให้ดีขึ้นทั้งดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมุฮัมมัด 2 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย)
– “เมื่อเหตุการณ์ (วันกิยามะฮฺ) ได้เกิดขึ้น ไม่มีผู้ปฏิเสธคนใดปฏิเสธต่อเหตุการณ์ของมัน ต่อเหตุการณ์นั้นทำให้ชนกลุ่มหนึ่งต่ำต้อย ชนอีกกลุ่มหนึ่งสูงส่ง เมื่อแผ่นดินถูกสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และบรรดาภูเขาได้แตกสลาย และมันกลายเป็นผุยผงปลิวว่อน” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 1-6)
– “และพวกเจ้าจะแยกออกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มทางขวา (ผู้ได้รับบันทึกด้วยมือขวา) เจ้ารู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มทางขวาคือใคร? และกลุ่มทางซ้าย (ผู้ได้รับบันทึกด้วยมือซ้าย) เจ้ารู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มทางซ้ายคือใคร? และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า” (ตัฟซีร: สำหรับกลุ่มแนวหน้า คือ บรรดาผู้ที่มีตำแหน่งชั้นสูงในสวรรค์ ส่วนกลุ่มทางขวา คือ บรรดาผู้ที่มีฐานะ หรือตำแหน่งรองลงมาของชาวสวรรค์ ส่วนกลุ่มทางซ้าย คือ ชาวนรก) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 7-10 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
ชีวิตของกลุ่มแนวหน้า ในโลกหน้า
– “และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า (ตัฟซีร: นี่คือกลุ่มที่สาม คือบรรดาผู้ที่รีบรุดไปสู่ความดี ความโปรดปราน และสวนสวรรค์) เขาเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด (ตัฟซีร: บุคคลเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด กับอัลลอฮฺ อยู่เคียงข้างพระองค์ ภายใต้บัลลังก์ของพระองค์ และคฤหาสน์อันมีเกียรติของพระองค์) ในสวนสวรรค์หลากหลายแห่งความสุขสำราญ เป็นกลุ่มชนจำนวนมาก จากชนรุ่นก่อนๆ และเป็นกลุ่มชนจำนวนน้อย จากชนรุ่นหลังๆ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 10-14 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “โดยอยู่บนเตียงที่ประดับด้วยทองคำ พวกเขานอนเอกเขนกอยู่บนนั้น โดยผินหน้าเข้าหากัน มีเด็กๆ ที่มีอายุเช่นนั้น วนเวียนรับใช้พวกเขาตลอดไป ถ้วยภาชนะใหญ่ และแก้วที่มีหู และจอกใส่สุราที่ไหลรินมา พวกเขาจะไม่มึนศรีษะ และไม่หมดสติ เมื่อดื่มสุรานั้น และผลไม้หลากชนิด ตามแต่พวกเขาจะเลือกกิน และเนื้อนกที่พวกเขาอยากรับประทาน และหญิงสาวที่มีนัยน์ตาคมสวยงาม ประหนึ่งไข่มุกที่ถูกพิทักษ์รักษาไว้อย่างดี ทั้งนี้เป็นการตอบแทนเนื่องจากความดีที่พวกเขากระทำไว้ ในสวนสวรรค์นั้นพวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดที่ไร้สาระ และเป็นบาป เว้นแต่คำกล่าวที่ว่า ศานติ ศานติ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 15-26)
– “และกลุ่มทางขวา (ผู้ได้รับบันทึกด้วยมือขวา) เจ้ารู้หรือไม่ว่ากลุ่มทางขวาเป็นอย่างไร? (พวกเขา) อยู่ภายใต้ต้นพุทราที่ไร้หนาม และต้นกล้วยที่ออกผลเป็นเครือตั้งแต่ยอดจรดโคนต้น (ไม่เห็นลำต้น) และร่มเงาที่แผ่กระจาย และน้ำที่ไหลรินตลอดเวลา และผลไม้อันมากหลาย โดยไม่หมดสิ้นตามฤดูและไม่เป็นที่ต้องห้าม และเตียงนอนที่ถูกยกให้สูงขึ้น” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 27-34)
– “แท้จริงเราได้บังเกิดพวกนาง เป็นกรณีพิเศษจริงๆ แล้วเราได้ทำให้พวกนางเป็นสาวพรหมจรรย์ เป็นที่น่ารักชื่มชมแก่คู่ครอง อยู่ในวัยสาวคราวเดียวกัน (ตัฟซีร: อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงบังเกิดหญิงสาวมีความงดงามเป็นเลิศ มีฐานะสูงส่งเพรียบพร้อมทุกๆ ด้าน บรรดาสาวเหล่านั้นเป็นสาวพรหมจรรย์ ประหนึ่งไข่มุกที่ถูกสงวนไว้ พวกนางจะครอบครองหัวใจคู่ครองของนางด้วยคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ดวงตามีเสน่ห์ ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มยิ่งนัก พวกนางอยู่ในวัยเดียวกันทั้งหมดคือในวัย 33 ปี) สำหรับกลุ่มทางขวา (ผู้ได้รับบันทึกด้วยมือขวา) (คือ)กลุ่มชนจากรุ่นก่อนๆ และกลุ่มชนจากรุ่นหลังๆ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลวากิอะฮฺ 35-40 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “และสำหรับผู้ที่ยำเกรง ต่อการยืนหน้าพระพักตร์แห่งพระเจ้าของเขา (เขาจะได้) สวนสวรรค์สองแห่ง” (ตัฟซีร: สำหรับผู้ที่เกรงกลัวต่อการยืนหน้าพระพักตร์ที่หน้าลาน เพื่อการตัดสินในวันกิยามะฮฺ แล้วเขาก็จงรักภักดีเชื่อฟังปฏิบัติตามข้อใช้และละเว้นไม่กระทำสิ่งที่เป็นข้อห้าม สำหรับเขาผู้นั้นจะได้รับการตอบแทนด้วยการครอบครองสวนสวรรค์ 2 แห่ง แห่งหนึ่งสำหรับตัวของเขา และอีกแห่งหนึ่งสำหรับภรรยา และคนรับใช้ของเขา) (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัรเราะฮฺมาน 46 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)
– “และอื่นจากสวนสวรรค์ทั้งสองแห่งนั้นแล้ว ยังมีสวนสวรรค์อีกสองแห่ง (ตัฟซีร: คือนอกจากสวนสวรรค์สองแห่งนั้นที่มีทั้งคุณค่า และความประเสริฐแล้ว ยังมีสวนสวรรค์อีกสองแห่ง นักตัฟซีรกล่าวว่า สวนสวรรค์สองแห่งแรกสำหรับกลุ่มแนวหน้า ส่วนอีกสองแห่งสำหรับกลุ่มทางขวา ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ตำแหน่งของกลุ่มแนวหน้านั้นย่อมสูงและมีเกียรติกว่า) (สวนสวรรค์) ทั้งสองนั้น เขียวชอุ่ม (ตัฟซีร: คือสวนส่วนสวรรค์สองแห่งชั้นรองลงมานั้น เพราะมีตาน้ำไหลผ่าน จึงทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำและเขียวชอุ่มตลอดเวลา) ในสวนสวรรค์ทั้งสองแห่งนั้น มีตาน้ำสองแห่งที่พวยพุ่งออกมาอย่างไม่ขาดสาย ในสวนสวรรค์ทั้งสองแห่งนั้นมีผลไม้และอินทผลัม และผลทับทิม” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัรเราะฮฺมาน 62, 64, 66, 68 ตัฟซีรโดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย)