เนื้อหาจากการบรรยาย
สอนโดย ครูฟาร์
ฟารีดาห์ หะยีสามะ
การตะวักกัล (มอบหมาย) เป็นหัวใจของความศรัทธา ในความเป็นจริง เรามอบหมายต่ออัลลอฮฺกี่เปอร์เซ็นต์ มอบหมายหลังจากการกระทำ เป็นภาคผลบุญของการงานของหัวใจที่เกิดจากการวางใจไว้ถูกที่
ตะวักกัล คือ การที่เรารู้สึกว่า เราฝากสิ่งที่อยากจะทำ สิ่งที่อยากจะให้เกิด ณ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) การตะวักกัลส่งผลให้คนๆ หนึ่งสงบใจได้ ความไม่สบายใจเกิดจากการที่เราไม่แน่ใจ อิบนุมัสอู๊ดบอกว่า การตะวักกัลจะเป็นตัวเป่าความไม่แน่ใจออกไป
ตะวักกัล เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครรู้ นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของหัวใจ
เมื่อไหร่ที่เราต้องใช้การตะวักกัล
เมื่อเราอยากได้สิ่งดีๆ ผลลัพธ์ และเมื่อเราอยากให้ชีวิตออกจากสิ่งที่ไม่ดี หรือไม่อยากให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา
อยากได้สิ่งที่ดี ณ อัลลอฮฺ มากกว่า ณ มนุษย์ (สิ่งที่อัลลอฮฺให้นั้นดีกว่าสิ่งที่บ่าวอยากได้เสมอ) แล้วแต่อัลลอฮฺเลือก
ถ้าเราอยากจะตะวักกัลจริงๆ เป็นคนที่มอบหมายเป็น
คนที่จะมอบหมายได้อย่างสุดหัวใจ คือ คนที่รู้จักอัลลอฮฺจริงๆ และในโลกนี้ไม่มีใครรู้จักได้ดีทั้งหมดได้ (หากเรากังวล ไม่แน่ใจ เพราะเรายังไ่ม่รู้จักผู้ที่เราจะฝากของเพียงพอ) ทำความรู้จักพระองค์ให้มากที่สุด โดยการรู้จักพระนามของพระองค์ คุณลักษณะของพระองค์ เช่น
อัล-อะลีม (الْعَلِيْمُ) พระองค์ทรงรอบรู้ (อัลลอฮฺรู้ดีที่สุด) ถ้าเรายังไม่แน่ใจ แสดงว่าเราคิดว่า สิ่งที่เรารู้ ดีอยู่แล้ว การที่เราจะมอบหมายได้ คือการที่เราบอกตัวเองว่า ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าอัลลอฮฺ (ซ.บ.) พระองค์ทรงรอบรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ถ้าเราตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง แล้วเราจะเป็นอย่างไร หรือทางที่เราไม่เลือก เราจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้อนาคต และรู้ใจเราเท่านั้น ยังรู้อดีต รู้ที่มาที่ไปของทั้งหมด “เพียงพอหรือยังที่เราจะรู้สึกวางใจ”
อัล-ฮะกีม (الْحَكِيْمُ) พระองค์ทรงปรีชาญาณ เป็นที่สุดแห่งความปรีชาญาณ ไม่ใช่แค่รู้อย่างเดียว พระองค์เก่งที่สุด รู้ว่าอะไรต้องอยู่ตรงไหน สามารถทำให้สิ่งที่มันดูไม่งาม กลายเป็นสิ่งที่งดงามได้ วิเคราะห์ได้ดีที่สุดว่าอะไรเหมาะ และไม่เหมาะ เป็นการจัดการของพระเจ้าที่ทรงรอบรู้และชาญฉลาดในการจัดวางหมากด้วย แผนการณ์ของพระองค์ทรงแยบยล “เพียงพอไหมที่เราจะมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น” ผู้ที่เราฝากของคือพระเจ้าที่ทรงรอบรู้ว่า เวลาไหนเหมาะสมที่ของจะไปถึง
อัล-กอดิร (الْقَادِرُ) พระองค์ผู้ทรงอำนาจ, ฤทธานุภาพ ผู้ทรงประสงค์ ประสงค์อย่างไร ให้เกิดอย่างนั้น สิ่งที่มันจะเกิด ไม่ได้เกิดตาม design ของเรา แต่มันเกิดตาม design ของพระเจ้า พระองค์ทรงสามารถทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่มนุษย์คิดว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วเกิดขึ้นได้ ทรงทำให้สิ่งที่เกินความคาดหมายของมนุษย์ เช่น คนป่วยที่หมอวินิจฉัยว่าโอกาสรอดยากมาก อัลลอฮฺทรงให้หายเป็นปลิดทิ้ง กลับมาขายขนมได้
ถ้าเรารู้จักพระองค์ เราจะเป็นคนที่ง่ายต่อการมอบหมายต่อพระองค์มากยิ่งขึ้น และผู้ศรัทธาจะมอบหมายแต่พระองค์เท่านั้น
อัรเราะฮฺมาน (الرَّحْمَانُ) ผู้ทรงกรุณาปราณี และ อัรเราะฮีม (الرَّحِيمُ) ผู้ทรงเมตตาเสมอ และ อัรฺเราะอูฟ (الرَّءُ وْفُ) ผู้ทรงปราณีเอ็นดู พระองค์เป็นพระเจ้าที่ทรงเมตตา และเอ็นดูผู้ที่เขาฝากของมา แม้ว่างานของเราจะเล็กน้อย พระองค์ไม่เคยมองข้าม งานเล็กไม่สำคัญ พระองค์ทรงใส่ใจบ่าว อัลลอฮฺทรงใส่ใจเรายิ่งกว่า เราใส่ใจลูกของเรา อยากให้เรารู้สึกดีมากๆ ยิ่งกว่าแม่ของเรา แม้ว่าจะไม่มีใครใส่ใจหรือรับฟังเรา หรือมองว่าสิ่งที่เราทำนั้นเกินตัว แต่สำหรับพระองค์นั้นไม่ ไม่มีอะไรเกินเบอร์ พระองค์ให้ได้ทั้งใหญ่และเล็ก หากพระองค์ทรงเมตตาใคร พระองค์ให้ได้ทุกอย่าง
7 ช่วงที่เราต้องใช้การมอบหมายเป็นพิเศษ
1. ตอนออกจากบ้าน
ชีวิตเราเจอความเสี่ยง 100% มีแต่เรื่องอันตราย อะไรก็เกิดขึ้นได้ อัลลอฮฺทรงปกป้องบ่าวไม่ให้เจออันตราย เช่น ไม่สะดุดล้ม ไม่ขับรถไปชน ทั้งหมดเกิดจากความเมตตาที่พระองค์ทรงสกัดไม่ให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา ผู้ศรัทธาจะรู้สึกถึงการมอบหมาย ดุอาอฺออกจากบ้าน
بِسْمِ اللَّهِ تَوَكَّلْتُ عَلَى اللَّهِ، لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللهِ
"บิสมิลลาฮิ ตะวักกัลตุอะลัลลอฮิ ลาเฮาละ วะลา กูวะตะ อิลลาบิลลาฮฺ"
ความว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ข้าพระองค์ได้มอบหมายแด่พระองค์ และไม่มีพลังอำนาจใดๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น”
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า "ผู้ใดกล่าวดุอาอฺดังกล่าว ขณะออกจากบ้านของตน จะมีเสียงกล่าวแก่เขาว่า “ท่านได้รับความเพียงพอแล้ว ท่านได้รับความคุ้มครองแล้ว ท่านได้รับแนวทางอันเที่ยงธรรมแล้ว และชัยฏอนได้ออกจากหนทางของท่านแล้ว” (หะดีษ บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์ และอิมาม อบูดาวู๊ด)
2. ตอนที่เราประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการเงิน
หัวใจของคนที่หาทางแก้แล้ว จะต้องมอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)
“ผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัฏเฏาะลาก 3)
หมายความว่า ถ้ารู้สึกว่าเงินไม่พอ จงมอบหมาย อัลลอฮฺจะทรงทำให้เพียงพอ เจ้าดิวกับข้า เพียงพอแล้ว เงื่อนไขของการมอบหมายคือ จะต้องทำก่อน
เวลาที่เรารู้สึกติดขัดทางการเงิน ถามตัวเองว่า พอเราหาทางแก้แล้ว เราเอาหัวใจไปวางไว้ที่ตรงไหน จริงๆ แล้วต้องมอบหมายอย่างใหญ่หลวง ผู้ศรัทธาเขาทำ เขาไม่ได้เอาความสบายใจไปวางที่ผลลัพธ์ เป็นไปตามที่คิดแล้วสบายใจ จริงๆ แล้วเขาสบายใจตรงที่เขามอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า "ใครก็ตามที่มีปัญหาการเงิน แล้วมองหาจากใครไปทั่ว เขาจะไม่เจอทางออก แต่ใครก็ตามที่มีปัญหาการเงิน แล้วมองหาจากอัลลอฮฺ ทางออกจะมาหาเขาไม่ช้าก็เร็ว"
ความสบายใจไม่ได้อยู่ที่เรามีเงิน ไม่มีหนี้ ความสบายใจอยู่ที่การมอบหมายต่อพระองค์
3. ตอนที่ไม่มีใครสนใจเรา
วันที่เราโดนบอยคอต (ต่อต้าน) ในออฟฟิศ วันแรกที่เราใส่ฮิญาบในกลุ่มที่ไม่มีคนใส่ฮิญาบเลย หรือวันที่ใส่ฮิญาบใหญ่ขึ้นในกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ฮิญาบเล็ก ช่วงเวลาที่เราเหมือนเป็นแกะดำ ผู้ศรัทธาเขาจะมอบหมายต่ออัลลอฮฺ
ตอนที่นบีอิบรอฮีมโดนสังคมบอยคอตทั้งชุมชน เด็กน้อยๆ ตัวคนเดียว อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า “ถ้าหากเขาไม่สนใจ จงกล่าวเถิดว่า
حَسْبِيَ الله لا إلَـهَ إلَّا هُوَ عَلَيهِ تَوَكَّلْتُ وَهُوَ رَبُّ العَرْشِ العَظِيمِ
อ่านว่า หัสบิยัลลอฮฺ ลาอิลาฮะ อิลลาฮุวะอะลัยฮิ ตะวักกัลตุ
(ความหมาย: อัลลอฮฺทรงพอเพียงแล้วสำหรับฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ แด่เพียงพระองค์เท่านั้นที่ฉันได้มอบหมายและพึ่งพา)
ความสุขของผู้ศรัทธาไม่ได้แขวนอยู่ที่การมีเพื่อนมากมาย หากเขาไม่มีใครสักคน เขามีอัลลอฮฺ
4. เมื่อเราพยายามออกห่างจากบางอย่างที่ไม่ดี
ในวันที่เราเจอคนไม่ดี อยู่ในสังคมที่ไม่ชอบมุสลิม อัลกุรอานได้ระบุไว้ว่า “จงออกห่างจากเขาเช่นกัน โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียผลประโยชน์หรือเสียความสัมพันธ์ และมอบหมายต่อพระองค์” พระองค์จะทรงอยู่เคียงข้างคนที่มอบหมายต่อพระองค์ พระองค์ทรงรักผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์
5. เมื่อต้องเป็นมิตรต่อคนที่เป็นศัตรูต่ออิสลาม หรือต่างศาสนิก
อัลกุรอานระบุไว้ว่า “หากคนที่เป็นต่างศาสนิก หรือเป็นศัตรูต่ออิสลาม มาทำดีกับเรา เราจะต้องดีกับเขาด้วย แต่อย่าตายใจ และอย่ามอบสุดหัวใจ หัวใจเราจะต้องตะวักกัลต่ออัลลอฮฺ” เพราะเราจะมีความกังวล หน้าที่เราคือทำดี
6. เมื่อต้องเชิญชวนคนสู่อิสลาม เมื่อต้องตักเตือนคนให้เป็นคนดี ห้ามปรามคนให้ออกห่างจากความชั่ว
สมัยนบีชุอัยบ์ อัลลอฮฺให้ตักเตือนประชาชนในสมัยนั้นเรื่องการโกงตาชั่ง นบีชุอัยบ์ได้บอกไว้ว่า “การเชิญชวนคน เขาจะมาหรือเขาจะไม่มา มันไม่ใช่ความสามารถอะไรของเรา แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เท่านั้นเป็นผู้ที่จะให้เขาเข้าหรือไม่เข้า”
หน้าที่ของเราทำ ส่วนเขาจะได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของพระองค์
7. เมื่อชีวิตเจอปัญหา
เช่น ปัญหาครอบครัว ลูก พ่อแม่ สามี ถ้าเราจะต้องมีเรื่องยุ่งยากลำบากใจกับคนใกล้ตัว เพื่อนร่วมงาน ความยุ่งยากลำบากนั้น พระองค์ไม่อนุมัติให้เกิด ยกเว้นพระองค์อยากจะให้เรากลับไปหาพระองค์ พระองค์อยากจะให้ช่วงเวลานั้นเรามอบหมายต่ออัลลอฮฺให้มากกว่าเดิม
อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ 51 ระบุไว้ว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า จะไม่ประสบแก่เราเป็นอันขาด นอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้แก่เราเท่านั้น ซึ่งพระองค์เป็นผู้คุ้มครองเรา และแด่อัลลอฮฺนั้น มุอฺมินทั้งหลายจงมอบหมายเถิด”
หมายความว่า “ไม่มีบททดสอบหรือมุซีบะฮฺ (เคราะห์กรรม) ใดจะเกิดขึ้นได้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้เขียนไว้แล้วให้กับเรา พระองค์คือนายของเรา และ ณ พระองค์เท่านั้นผู้ศรัทธาเขาจะมอบหมาย” (การที่คนๆ หนึ่งทำให้เราลำบากใจ ไม่สบายใจ ถ้าอัลลอฮฺไม่อนุมัติให้เขาทำ มันก็จะไม่เกิด แต่ถ้าเกิดหรือว่าเขาทำแล้วทำให้เราลำบากใจ แสดงว่าสิ่งนั้นได้รับอนุมัติจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺจะไม่อนุมัติสิ่งใด ยกเว้นแต่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งดีแก่ผู้ศรัทธา)
ผู้ศรัทธาเขาจะเชื่อว่า การผู้ที่ศรัทธาเขาจะไม่สบายใจ ไม่ใช่เพราะว่าคนๆ นั้นเขามีนิสัยแบบนั้นแบบนี้ เพราะว่าต่อให้คนๆ นั้นเป็นคนแบบนั้น ถ้าอัลลอฮฺไม่อนุมัติให้สิ่งที่เขาเป็นมาทำให้เราลำบากใจ มันก็ไม่เกิด “ถ้ามันไม่ดี อัลลอฮฺไม่ให้เป็น” ถ้าเขานิสัยแบบนี้แล้วมันจะกระทบตัวเราจนเราแย่มากๆ อัลลอฮฺจะไม่อนุมัติให้เป็น
ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า
พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
"ฉันอยู่ที่ความคิดของบ่าวของฉัน หากเขาคิดดี เขาจะได้รับความดี (แต่) ถ้าเขาคิดไม่ดี เขาก็จะได้รับความไม่ดีนั้นด้วย"
(หะดีษ (กุดซีย์) เศาะฮีหฺ
บันทึกโดยอะหฺมัด เลขที่ 8871)
มันต้องมีอะไรดี เพราะว่าถ้าไม่ดี พระองค์จะสกัดตั้งแต่แรก
สิ่งที่พระองค์ให้เกิด มันถูกเขียนก่อนที่เขาจะเป็นคนแบบนั้นด้วยซ้ำ มันถูกเขียนเมื่อหลายหมื่นปี เช่น วันที่ 7 ก.ค. นาย ก ที่ชอบวีน จะทำให้ นาง ข. ไม่สบายใจ ถูกเขียนตั้งนานแล้ว ผู้ศรัทธาจะมองไปไกลกว่าตัวละครที่อยู่ตรงหน้า ความไม่สบายใจที่มาจากคนๆ นี้เป็นเพียงอัสบาบ (สาเหตุ) แต่พระองค์อนุมัติให้เกิด
อัลลอฮฺเป็นผู้คุ้มครองที่ดีที่สุด ถ้าเรื่องมันเกิด แสดงว่ามันผ่านการพิจารณาจากผู้คุ้มครองที่ทรงปรีชาญาณแล้วว่า มันต้องดีกับคนๆ นี้ เมื่อผู้ศรัทธาไม่เข้าใจ ก็เลยต้องมอบหมายหัวใจว่ามันต้องมีอะไรดี
การที่เราคิดดี มันจะเป็นจุดจบที่ดี อัลลอฮฺทรงตรัสในหะดีษกุดซีย์ว่า “พระองค์จะเป็นดังที่บ่าวของพระองค์คิด” ถ้าคิดว่า มันต้องมีอะไรดี เป็นสัญญาณว่าคุณจะได้เจอสิ่งดีๆ แน่ และถ้าคุณเจอสิ่งที่ไม่ดี ส่วนหนึ่งจะมาจากการที่คุณคิดไม่ดีตั้งแต่แรกว่ามันต้องมีเรื่องไม่ดี คนที่คิดว่าเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น มันจะทำให้เจอสิ่งไม่ดีในตอนจบ
พระองค์ไม่ให้เจอเรื่องไม่ดีแน่ ยกเว้นว่าพระองค์ประสงค์ให้เราก้าวข้ามผ่าน เจอเรื่องที่จะต้องอดทน เพื่อที่จะยกระดับให้เราเก่งขึ้น
คนที่มีอัลลอฮฺควรจะเป็นคนที่สงบใจมากกว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่รู้จักพระองค์ ถ้าเราศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เราต้องเชื่อในพระองค์ ในวันที่มีปัญหา เราควรจะนิ่งได้ เพราะเรามีอัลลอฮฺ
การตะวักกัล เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ศรัทธา เพราะหัวใจเขาฝากไว้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานัลลอฮฺ