สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้

วิธีสอนภาษาไทยแบบทันใจ

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ถามอาจารย์ชาตรี สำราญ แห่งโรงเรียนบ้านบาโดว่า “สอนอย่างไรเด็กไทยมุสลิมจึงรักและเข้าใจภาษาไทยอย่างรวดเร็วเช่นนี้” และคำตอบที่ได้รับก็เหมือนกับสาระสำคัญที่อาจารย์ชาตรี สำราญ เขียนไว้ในบทความเรื่อง “สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยในเทอมแรก” ทุกประการ

หลังจากที่ผมได้อ่านบทความนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ และได้ติดตามศึกษาวิธีการสอนจากชีวิตจริงของอาจารย์ชาตรี สำราญ ทั้งที่โรงเรียนบ้านบาโดและจากการพูดคุยสนทนากันแล้ว พอสรุปได้ว่า หลักการสำคัญในการสอนภาษาไทยของอาจารย์ชาตรี สำราญ นั้นประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

1. สอนจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของคนที่เห็นว่า สิ่งใดมักจะมองจากส่วนรวมก่อน แล้วจึงพิจารณาส่วนย่อยในลำดับต่อไป

หลักการนี้ได้สอดคล้องกับหลักการภาษาไทยที่กำลังสนใจ (ฮือฮา) กันมากในปัจจุบันด้วย คือ วิธีสอนแบบ ม.ป.ภ. หรือวิธีสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษา

2. สอนจากประสบการณ์จริงมากกว่าประสบการณ์รอง นั่นคือวิธีการเชื่อมโยงประสบการณ์ ซึ่งอาจารย์ชาตรี สำราญ ได้เน้นไว้เป็นจุดสำคัญในบทความเรื่องนี้

3. สอนจากจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก กล่าวคือ

(1) ครูรักเด็ก

(2) เด็กรักครู

(3) เด็กจึงรักภาษาไทย

หลักการข้อนี้เห็นเด่นชัดมากที่โรงเรียนบ้านบาโด บนใบหน้าของเด็กบ้านบาโดมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ยิ้มด้วยความสุขที่ประสบความสำเร็จในภาษาไทย และยิ้มกับทุกคนที่ไปเยือน

โต๊ะอีหม่ามที่สอนศาสนาอิสลามที่โรงเรียนบ้านบาโดกล่าวสั้นๆ ว่า “วิธีการสอนของครูชาตรี ผมชอบมาก”

อาจารย์ชาตรี สำราญ ได้ตั้งชื่อวิธีการสอนภาษไทยแบบนี้แล้วหรือยังก็ไม่ทราบ หากยังไม่ได้ตั้ง ผมอยากจะเสนอชื่อว่า “วิธีสอนภาษาไทยแบบทันใจ”

ส่วนวิธีการนี้จะยากหรือง่ายเพียงใดนั้น น่าจะทดลองคู่กัน แต่ก็ต้องระลึกถึงคำกล่าว ที่นักการศึกษาคนหนึ่งกล่าวไว้อย่างคมคายว่า “ไม่มีอะไรง่าย แม้แต่ความง่ายเอง” อยู่เสมอ เพื่อเป็นกำลังใจเมื่อประสบกับอุปสรรคนานาประการ

https://docs.google.com/document/d/1Wj8I3iP2CSphteniQdomABCWnZlORkWclcc2sw6Fsvk/edit?usp=sharing สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้


( นายอภิญญา ไกรทอง)

กลับหน้าหลัก