หน่วยที่ 5

การประกันวินาศภัย

หัวข้อเรื่อง

  1. ความหมายของการประกันวินาศภัย

  2. ประโยชน์ของการประกันวินาศภัย

  3. ประเภทของการประกันวินาศภัย

  4. การประกันอัคคีภัย

  5. การประกันภัยรถยนต์

  6. การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง

  7. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

สาระสำคัญ

การประกันภัยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานปรากฏที่ชัดเจนและได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ในปัจจุบันการประกันภัยมีการรับเสี่ยงภัยที่กว้างขวางมากขึ้นและมีรูปแบบให้เลือกมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสภาวะต่าง ๆ ของโลกและสังคม

ความหมายของการประกันวินาศภัย

การประกันวินาศภัย คือ สัญญาประกันภัยระหว่างบุคคลสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า“ผู้เอาประกันภัย” ตกลงจะส่งเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกัน” ให้กับบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับประกันภัย” และผู้รับประกันภัยสัญญาว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจำนวนเงิน ตามจำนวนและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ในกรณีหากเกิดวินาศภัยหรืออุบัติเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นในอนาคต

ประโยชน์ของการประกันวินาศภัย

การประกันวินาศภัย เป็นวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงวิธีหนึ่ง ประโยชน์ที่ได้รับจากการเอาประกันวินาศภัย แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านผู้เอาประกันภัย

การประกันวินาศภัยให้ความคุ้มครองทั้งบุคคล ทรัพย์สินและความรับผิดชอบหากเกิดขึ้นทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายหรือสูญเสียขึ้น ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าความเสียหายนั้น

2. ด้านธุรกิจ

การประกันวินาศภัยจะทำให้การดำเนินธุรกิจต่อไปได้ถึงแม้จะได้รับความเสียหายหรือสูญเสียจากภัยที่เกิดขึ้น หากผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจมีการทำประกันภัยนั้นไว้ก็จะได้รับการชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อบุคคลและทรัพย์สิน ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมต้นทุนได้จากความมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและความมีเสถียรภาพด้านต้นทุนจะส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจมีความมั่นใจต่อธุรกิจด้วย

3. ด้านเศรษฐกิจ

เป็นแหล่งเงินทุน เนื่องจากบริษัทประกันภัยจะมีการนำเบี้ยประกันภัยไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ลงทุนในหุ้น หรือหุ้นกู้ ซึ่งรัฐบาล หรือเอกชนจะกู้ไปลงทุนในด้านต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

4. ด้านสังคม

ทำให้สังคมมีความมั่นคงและลดภาระของรัฐบาลไม่ต้องรับภาระในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ดังนั้นรัฐบาลสามารถนำเงินส่วนนี้ไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและสังคมด้านอื่นๆ

ประเภทของการประกันวินาศภัย

การประกันวินาศภัย เป็นการประกันภัยที่หลากหลาย ยกเว้นการประกันชีวิตดังนั้น จึงมีการจัดแบ่งออกเป็นประเภท โดยแบ่งตามลักษณะภัย ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การประกันอัคคีภัย

2. การประกันภัยรถยนต์

3. การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง

4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การประกันอัคคีภัย

การประกันอัคคีภัย เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากไฟไหม้หรือภัยอื่น ๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งความหมายของ “ไฟ” หมายถึง ไฟที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตามและเป็นไฟที่ลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนไฟที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดและลุกลามในขอบเขตที่ควบคุมได้ เช่น ไฟในเตาจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

การประกันอัคคีภัยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การประกันอัคคีภัยมาตรฐาน เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหรือบ้านเรือน เช่น อาคาร สำนักงาน โรงแรม เป็นต้นอันเกิดจากภัยพื้นฐาน คือ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า หรือการระเบิดจากแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย และความเสียหายที่สืบเนื่องจากไฟด้วย

ความเสียหายที่สืบเนื่องจากไฟ หมายถึง ความเสียหายอันเป็นผลมาจากไฟไหม้ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดความเสียหายโดยตรงจากไฟไหม้ก็ตาม เช่น ความเสียหายจากควัน ความเสียหายจากน้ำที่ใช้ดับไฟ ทรัพย์สินที่สูญหายขณะไฟไหม้ หรือความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่กระทำเพื่อประโยชน์ในการดับไฟ

หากผู้เอาประกันภัยมาตรฐานต้องการขยายความคุ้มครองสามารถเลือกซื้อภัยเพิ่มเติมได้ตามลักษณะความเสี่ยงภัย โดยเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ดังนี้ ภัยลมพายุภัยระเบิด ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยจากลูกเห็บ ภัยจากควัน ภัยจากอากาศยาน ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยการนัดหยุดงาน การจลาจล หรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย (ยกเว้นการกระทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ลัทธินิยม) ภัยที่เกิดขึ้นเองตามปกติวิสัย และ/หรือไม่มีการลุกไหม้หรือการระเบิดและภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

การประกันภัยรถยนต์

ปัจจุบันมีผู้ใช้รถยนต์จำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จำนวนอุบัติเหตุก็มีสถิติสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น การทำประกันภัยรถยนต์จึงมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อที่จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในสังคม การประกันภัยรถยนต์เป็นการช่วยป้องกันทรัพย์สิน รวมถึงความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับบุคคลภายนอก เพราะการประกันภัยรถยนต์เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์ ดังนี้

1. ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของบุคคลภายนอกรถยนต์ที่ทำประกัน

2. ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของบุคคลที่อยู่ภายในรถยนต์ที่ทำประกัน

3. ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น

4. ความเสียหายต่อรถยนต์ที่ทำประกันภัย

การประกันภัยรถยนต์มี 2 ประเภท คือ การประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับและการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ

การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เป็นการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถทุกคันต้องทำประกันภัยรถกับบริษัทประกันภัยสำหรับคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พ.ร.บ. ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ และผู้ประสบภัยที่อยู่นอกรถ สำหรับเบี้ยประกันภัยจะแยกตามประเภทรถและลักษณะการใช้รถ ซึ่งแต่ละบริษัทต้องกำหนดเบี้ยประกันภัยเท่ากัน

รถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย (ภาคบังคับ) มีดังนี้

1. รถสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และรถสำคัญสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

2. รถของสำนักพระราชวัง ที่จดทะเบียนและมีเครื่องหมายของสำนักพระราชวัง

3. รถของส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นหมายเหตุ รถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย (ภาคบังคับ) ดังกล่าว สามารถทำประกันภัย (ภาคบังคับ) ได้เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่สูงกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นหากรถยนต์ที่ไม่ได้รับการยกเว้นการทำประกันภัย (ภาคบังคับ) และไม่ทำประกันภัย (ภาคบังคับ) กฎหมายกำหนดโทษไว้ ดังนี้

1. เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

2. ผู้ที่นำรถไปใช้มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

การชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยจากรถแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การชดใช้ค่าความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยจากรถส่วนแรก เรียกว่าค่าความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ดังนี้

- กรณีบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพถาวร บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท

- กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน50,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 การชดใช้ค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยที่เป็นฝ่ายผิดเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้

- กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน50,000 บาท

- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพถาวร บริษัทจะชดใช้เต็มจำนวนเงินความคุ้มครองจำนวน 200,000 บาท

- กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น หากผู้ประสบภัยจากรถไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือเจ้าของรถ เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับการรักษาพยาบาลหรือได้รับค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตทันท่วงที เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ในกรณีดังต่อไปนี้

1. อุบัติเหตุจากรถที่ไม่มีประกันภัย และเจ้าของรถไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย

2. อุบัติเหตุจากรถที่ถูกลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ (รถที่ถูกขโมย)

3. ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถและรถไม่มีประกันภัย

4. ไม่ทราบว่ารถคันใดทำให้เกิดความเสียหาย (รถชนคนเดินถนนแล้วหนีไป)

5. บริษัทประกันไม่จ่ายค่าเสียหายหรือจ่ายไม่ครบจำนวน

6. ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัยโดยค่าเสียหายเบื้องต้นที่สามารถจ่ายได้คือ

1. กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

2. กรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท

3. กรณีบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตในภายหลัง จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 50,000 บาท

หมายเหตุ ผู้ประสบภัยจากรถหรือทายาท ต้องยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น

บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นบริษัทประกันวินาศภัยจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 ทำหน้าที่ในฐานะ บริษัทประกันวินาศภัยจำกัด คือ ทำหน้าที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับคำร้องและจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามพระราชบัญญัตินี้แทน ทุก ๆ บริษัทประกันภัยในกรณีผู้ประสบภัยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุได้ ซึ่งบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีสาขาทุกจังหวัด

การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

เป็นการประกันภัยรถที่ให้ความคุ้มครองส่วนเกินจาก พ.ร.บ. ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันภัยที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของตนไปยังบุคคลอื่น ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้ตามความพอใจ หรือจะไม่ซื้อประกันภัยก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับ โดยมีให้เลือกตัดสินใจซื้อ 3 ประเภท คือ

1. การประกันภัยรถยนต์ ประเภทที่ 1 มีอัตราเบี้ยประกันสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 และให้ความคุ้มครองมากที่สุด ดังนี้

1.1 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของบุคคลภายนอก

1.2 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

1.3 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบความเสียหายของตัวรถยนต์

1.4 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์

2. การประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 2 มีอัตราเบี้ยประกันต่ำกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 1 และให้ความคุ้มครองที่น้อยกว่า โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้

2.1 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของบุคคลภายนอก

2.2 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

2.3 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์

3. การประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 มีอัตราเบี้ยประกันต่ำสุด และคุ้มครองน้อยสุด เมื่อเทียบกับประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้

3.1 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของบุคคลภายนอก

3.2 ให้ความคุ้มครอง ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

การประกันภัยเพิ่มความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย

หมายถึง การประกันภัยเพิ่มความคุ้มครองที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งผู้เอาประกันสามารถซื้อเพิ่มได้ ประกอบด้วย

1. การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล

2. การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล

3. การประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญา

ส่วนลดและส่วนเพิ่มเบี้ยประกันภัย

ในการประกันภัยรถยนต์ ผู้เอาประกันภัยอาจได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัย หรือส่วนเพิ่มเบี้ยประกันภัยจากอัตราเบี้ยประกันภัยปกติได้ ดังนี้

กรณีส่วนลดเบี้ยประกันภัย โดยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยในกรณีต่าง ๆ คือ

1. การประกันภัยกลุ่ม จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10% ได้แก่

- ผู้เอาประกันภัยมีรถทำประกันภัยกับบริษัทตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป

- เป็นพนักงาน ลูกจ้าง ของหน่วยงานรัฐหรือเอกชน หน่วยงานเกี่ยวกับทำประกันภัยกับบริษัทตั้งแต่ 20 คันขึ้นไป

- เป็นคู่สมรส บิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกับของผู้เอาประกันภัย ทำประกันภัยกับบริษัทตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป

2. ประวัติ คือ ประวัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท หากไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยในปีที่ต่ออายุ ตามลำดับขั้นดังนี้

ขั้นที่ 1 จะได้รับส่วนลด 20% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุประกันภัยปีที่ 1 ถ้าไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ตลอดปีที่เอาประกัน

ขั้นที่ 2 จะได้รับส่วนลด 30% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุ ปีที่ 2

ขั้นที่ 3 จะได้รับส่วนลด 40% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุ ปีที่ 3

ขั้นที่ 4 จะได้รับส่วนลด 50% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุ ปีที่ 4 ขึ้นไป

3. ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกเองโดยสมัครใจ จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยตามสัดส่วนของจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก

- สำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 5,000 บาทแรกลดเบี้ยประกันภัย 100% ส่วนที่เกิน 5,000 บาทแรก ลดเบี้ยประกันภัย 10%

- สำหรับความเสียหายต่อรถจักรยานยนต์ 1,000 บาทแรก ลดเบี้ยประกันภัย 100% ส่วนที่เกิน 1,000 บาทแรก ลดเบี้ยประกันภัย 20%

4. การทำประกันภัยโดยตรงกับบริษัทโดยไม่ผ่านตัวแทน/นายหน้าประกันภัย

5. รถใหม่อายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี ทำประกันภัยประเภท 1 (เฉพาะรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่ใช้ส่วนบุคคล)

กรณีส่วนเพิ่มเบี้ยประกันภัย

หากรถคันที่เอาประกันภัยมีประวัติไม่ดี คือ มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทและเป็นเหตุที่เกิดจากความประมาทหรือไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป และจำนวนเงินเกิน 200% ของเบี้ยประกันภัย บริษัทจะเพิ่มเบี้ยประกันภัยในปีที่ต่ออายุตามลำดับขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 จะบวกเพิ่ม 20% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุปีที่ 1

ขั้นที่ 2 จะบวกเพิ่ม 30% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุปีที่ 2 ในกรณีที่ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นต่อบริษัท 2 ปีติดต่อกัน

ขั้นที่ 3 จะบวกเพิ่ม 40% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุปีที่ 3 ในกรณีที่ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นต่อบริษัท 3 ปีติดต่อกัน

ขั้นที่ 4 จะบวกเพิ่ม 50% ของเบี้ยประกันภัยในการต่ออายุปีที่ 4 ในกรณีที่ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นต่อบริษัท 4 ปีติดต่อกันขึ้นไป

การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง (Marine Cargo Insurance)

การขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นช่องทางการขนส่งที่ใช้เวลามากกว่าการขนส่งช่องทางอื่น ๆ ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้นตามไปด้วย ภัยที่อาจเกิดขึ้นในการขนส่งทางทะเลนั้น มีทั้งภัยทางธรรมชาติและภัยจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อลดความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีการประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง โดยผู้รับประกันภัยจะเข้ามารับความเสี่ยงภัยแทน กล่าวคือ เมื่อเกิดภัยขึ้นกับวัตถุที่เอาประกันภัยเกิดวินาศภัยทางทะเลขึ้น ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยนั้น

ประเภทของการประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง

การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. Marine Cargo คือ การประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินค้าหรือทรัพย์สินที่ขนส่ง

2. Inland Transit คือ การประกันภัยการขนส่งภายในประเทศ

3. Marine Hull คือ การประกันภัยตัวเรือ

ความคุ้มครองและเงื่อนไขความคุ้มครองในการประกันภัยสินค้าทางทะเล

สัญญาประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูปโดยผู้รับประกันภัยจะกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่พิจารณาว่าจะทำสัญญานั้นหรือไม่เท่านั้น ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งในประเทศไทย มักจะยึดถือตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ใช้กันในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะให้ความคุ้มครองไม่เท่ากัน คือ

1. Institute Cargo Clause (A) หรือ I.C.C. (A) ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายจากภัยทุกชนิด (All Risks) ที่มิได้ระบุไว้ในข้อยกเว้นภัยที่ยกเว้นความคุ้มครอง คือ ความสูญเสีย เสียหาย หรือค่าใช้จ่าย อันเนื่องจากหรือที่เกิดจากเหตุ ดังนี้

1. การกระทำมิชอบโดยจงใจของผู้เอาประกันภัย

2. การรั่วไหลไปตามปกติ การขาดหายตามปกติของปริมาณหรือน้ำหนัก หรือการสึกหรอ หรือสึกกร่อนตามปกติ

3. การบรรจุหีบห่อ หรือการจัดเตรียมที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมกับวัตถุที่เอาประกันภัย

4. ข้อเสียในตัวเอง หรือลักษณะตามธรรมชาติของวัตถุที่เอาประกันภัย

5. การล่าช้า แม้ว่าการล่าช้านั้นจะเกิดจากภัยที่คุ้มครองก็ตาม

6. การล้มละลาย หรือการไม่สามารถใช้หนี้สิน ไม่ว่าเจ้าของเรือผู้เช่าเหมาเรือหรือผู้ดำเนินการเดินเรือ หรือตัวแทนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่กล่าวมา

7. การใช้อาวุธสงครามที่อาศัยการแตกตัว หรือการหลอมตัวของปรมาณู หรือผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี

8. เรือหรือยานไม่พร้อมที่จะใช้เดินทะเล หรือเรือ ยาน ยวดยาน ตู้ลำเลียงหรือตู้ยกที่จะใช้ในการบรรทุกสินค้าไม่พร้อมสมบูรณ์ หรือปลอดภัยเพียงพอ โดยที่ผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย

9. ข้อยกเว้นภัยสงคราม

9.1 สงคราม สงครามกลางเมือง การปฏิวัติ กบฏแข็งข้อ หรือการต่อสู้ของประชาชนที่เกิดจากการดังกล่าว หรือการกระทำเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งกระทำต่อ หรือถูกกระทำโดยชาติอำนาจที่เป็นศัตรู

9.2 การถูกจับกุม ถูกยึด ถูกกุม กักกันหรือหน่วงเหนี่ยว (ยกเว้นการกระทำการเป็นโจรสลัด) และผลใด ๆ ของการนั้น ๆ หรือความพยายามใด ๆ ที่จะกระทำการดังกล่าว

9.3 การถูกทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด ระเบิด หรืออาวุธสงครามอื่นใด

10. ข้อยกเว้นภัยนัดหยุดงาน

10.1 คนงานที่นัดหยุดงาน คนงานที่ถูกปิดงาน หรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบทางแรงงาน

10.2 การจลาจล หรือการก่อความวุ่นวายโดยฝูงชน อันเป็นผลจากการนัดหยุดงาน การปิดงาน ความไม่สงบทางแรงงาน

10.3 การก่อความวุ่นวายโดยฝูงชน อันเกิดจากการก่อการร้ายหรือการกระทำไม่ว่าจะของบุคคลหนึ่งบุคคลใดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

2. Institute Cargo Clauses (B) ให้ความคุ้มครองเฉพาะภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้นและในสัญญาจะระบุสิ่งที่ยกเว้นความคุ้มครองไว้อย่างชัดเจนภัยที่ยกเว้นความคุ้มครอง คือ ความสูญเสีย เสียหายหรือค่าใช้จ่ายอันเนื่องจาก/ที่เกิดจากเหตุ ดังนี้

1. การกระทำมิชอบโดยจงใจของผู้เอาประกันภัย

2. การรั่วไหลไปตามปกติ การขาดหายตามปกติของปริมาณหรือน้ำหนัก หรือการสึกหรอ หรือสึกกร่อนตามปกติ

3. การบรรจุหีบห่อ หรือการจัดเตรียมที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมกับวัตถุที่เอาประกันภัย

4. ข้อเสียในตัวเอง หรือลักษณะตามธรรมชาติของวัตถุที่เอาประกันภัย

5. การล่าช้า แม้ว่าการล่าช้านั้นจะเกิดจากภัยที่คุ้มครองก็ตาม

6. การล้มละลาย หรือการไม่สามารถใช้หนี้สิน ไม่ว่าเจ้าของเรือผู้เช่าเหมาเรือ หรือผู้ดำเนินการเดินเรือ หรือตัวแทนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่กล่าวมา

7. การใช้อาวุธสงครามที่อาศัยการแตกตัว หรือการหลอมตัวของปรมาณูหรือผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี

8. เรือหรือยานไม่พร้อมที่จะใช้เดินทะเล หรือเรือ ยาน ยวดยาน ตู้ลำเลียงหรือตู้ยกที่จะใช้ในการบรรทุกสินค้าไม่พร้อมสมบูรณ์ หรือปลอดภัยเพียงพอ โดยที่ผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย

9. การทำความเสียหายโดยเจตนา หรือการทำลายโดยเจตนาต่อวัตถุที่เอาประกันภัยหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในวัตถุที่เอาประกันภัย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

10. ข้อยกเว้นภัยสงคราม

10.1 สงคราม สงครากลางเมือง การปฏิวัติ กบฏแข็งข้อ หรือการต่อสู้ของประชาชนที่เกิดจากการดังกล่าว หรือการกระทำเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งกระทำต่อ หรือถูกกระทำโดยชาติอำนาจที่เป็นศัตรู

10.2 การถูกจับกุม ถูกยึด ถูกกุม กักกันหรือหน่วงเหนี่ยว (ยกเว้นการกระทำการเป็นโจรสลัด) และผลใด ๆ ของการนั้น ๆ หรือความพยายามใด ๆ ที่จะกระทำการดังกล่าว

10.3 การถูกทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด ระเบิด หรืออาวุธสงครามอื่นใด

11. ข้อยกเว้นภัยนัดหยุดงาน

11.1 คนงานที่นัดหยุดงาน คนงานที่ถูกปิดงาน หรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบทางแรงงาน

11.2 การจลาจล หรือการก่อความวุ่นวายโดยฝูงชน อันเป็นผลจากการนัดหยุดงาน การปิดงาน ความไม่สงบทางแรงงาน

11.3 การก่อความวุ่นวายโดยฝูงชน อันเกิดจากการก่อการร้ายหรือการกระทำไม่ว่าจะของบุคคลหนึ่งบุคคลใดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

3. Institute Cargo Clauses (C ) ให้ความคุ้มครองเหมือนกับ I.C.C (B) คือ ระบุภัยทำให้ความคุ้มครองและข้อยกเว้นความคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน โดยภัยที่ยกเว้นความคุ้มครองเหมือน I.C.C (B) ด้วย แต่ I.C.C (C) ให้ความคุ้มครองที่แคบกว่า I.C.C (B)

ข้อพิจารณาในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

1. ลักษณะของสินค้ารวมถึงมูลค่าสินค้า

2. การบรรจุหีบห่อ

3. เรือที่บรรทุก และ/หรือยานพาหนะที่ขนส่ง

4. ระยะทางและลักษณะการขนส่ง

5. สภาพเมืองท่าต้นทาง/ปลายทาง

6. เงื่อนไขความคุ้มครองที่ต้องการ

7. ประวัติการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เอาประกันภัยเอกสารประกอบในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

- ต้นฉบับกรมธรรม์ (Original Policy)

- ใบตราส่งสินค้าทางเรือ และ/หรือทางอากาศ (Bill of Lading) or (Air Waybill)

- ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice)

- ใบแสดงบรรจุภัณฑ์ (Packing List)

- รายงานการสำรวจความเสียหาย หรือเอกสารที่แสดงรายละเอียดความเสียหาย

- หนังสือโต้ตอบกับผู้รับขนส่ง และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดต่อการสูญหาย หรือเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

- จดหมายเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องและบริษัทประกันภัยการประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)ประกันภัยเบ็ดเตล็ดเป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง โดยให้ความคุ้มครองต่อความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเนื่องมาจากภัยอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งให้ความคุ้มครองความเสียหายเกี่ยวกับบุคคล ทรัพย์สินและความรับผิดชอบตามกฎหมาย

การประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่มีขายอยู่ในตลาดประกันภัยในประเทศไทย มีมากกว่า41 ประเภท ในหน่วยนี้จะได้ยกตัวอย่างการประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวข้องและมีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่ว ๆ ไป

1. การประกันภัยอุบัติเหตุ

การประกันภัยอุบัติเหตุเป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุทำให้ได้รับความบาดเจ็บทางร่างกายและผลของการบาดเจ็บทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยบริษัทประกันจะชดใช้ให้สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบาดเจ็บนั้น โดยการประกันภัยอุบัติเหตุ สามารถออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.1 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นการประกันภัยเฉพาะบุคคล

1.2 การประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เป็นการประกันภัยกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

1.3 การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เป็นการประกันภัยกลุ่มที่แยกออกจากการประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยที่น้อยกว่ากลุ่มบุคคลทั่ว ๆ ไป

2. การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหาย หรือความสูญเสียต่อทรัพย์สินแบบครอบคลุมที่เกิดจากอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอกทุกชนิด ที่มิได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยทรัพย์สินของผู้ประกอบการ หรือผู้มีสิทธิมีผลประโยชน์ได้เสียอย่างแท้จริงในสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งใช้ประกอบธุรกิจ

เนื่องจากกรมธรรม์การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมีความคุ้มครองค่อนข้างกว้าง โดยไม่ได้ระบุความคุ้มครองไว้ชัดเจน แต่จะระบุส่วนที่ไม่ให้ความคุ้มครองไว้ในข้อยกเว้น ซึ่งข้อยกเว้นสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินจากสาเหตุสรุปได้ ดังนี้

1. ความผิดพลาดหรือความบกพร่องในการออกแบบ วัสดุก่อสร้าง หรือฝีมือแรงงาน การเสื่อมสภาพ การเสียรูปทรง หรือการสึกหรอ

2. การหยุดชะงักของระบบน้ำประปา ก๊าซ กระแสไฟฟ้า

3. การพังทลายหรือแตกร้าวของอาคาร

4. การผุกร่อน เกิดสนิม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเปียกชื้น การบูดเน่า

5. การลักทรัพย์ เว้นแต่การลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอย

6. การฉ้อฉล หรือการทุจริต

7. การสูญหาย หรือการขาดหายโดยมิทราบสาเหตุ

8. การร้าว มีรอยแตก หรือความบกพร่องของการเชื่อมหม้อน้ำ เครื่องประหยัดเชื้อเพลิง

9. การขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้าของเครื่องจักรอุปกรณ์

10. การไหลล้น การรั่ว การแตกหรือระเบิดของถังเก็บน้ำ

11. การกระทำโดยจงใจของผู้เอาประกันภัย

12. การหยุดทำงาน การล่าช้า การสูญเสียตลาด ความเสียหายต่อเนื่อง

13. สงคราม การก่อความไม่สงบ การก่อการร้าย การทำลายทรัพย์สินโดยคำสั่งเจ้าหน้าที่

14. อาวุธนิวเคลียร์ กัมมันตภาพรังสี การปนเปื้อน การแผ่รังสี

15. เงินตรา เช็ค แสตมป์ พันธบัตร บัตรเครดิต หลักทรัพย์ เพชรพลอย อัญมณีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุหายาก เว้นแต่จะระบุไว้ว่าเอาประกันภัย

16. กระจกที่ติดตั้งถาวร กระจก เครื่องแก้ว หรือวัตถุที่เปราะหรือแตกง่าย

17. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล

18. ทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของผู้เอาประกันภัย ยานพาหนะ ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขนส่ง ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างรื้อถอน การก่อสร้างหรือการติดตั้ง

19. ที่ดิน ทางเท้า ถนน ลานบิน

20. ปศุสัตว์ พืชไร่ หรือต้นไม้ ทรัพย์สินที่เสียหายที่เป็นผลมาจากกระบวนการผลิต

21. เครื่องจักรระหว่างติดตั้ง เคลื่อนย้าย ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ทดลอง

22. ทรัพย์สินที่ได้จัดทำประกันภัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ทรัพย์สินที่เสียหาย และสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เว้นแต่ความเสียหายส่วนเกินซึ่งไม่ได้รับการชดใช้

23. ความเสียหายของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง เครื่องจักรอุปกรณ์ อันเกิดจากการระเบิดหรือการแตกร้าวของตนเอง

3. การประกันภัยสุขภาพ

การประกันภัยสุขภาพ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากโรคภัย การทำประกันภัยสุขภาพเป็นการจัดการความเสี่ยงภัยในด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล สามารถแบ่งออกได้เป็น

2 ประเภทคือ การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล และการประกันภัยสุขภาพกลุ่มการประกันภัยสุขภาพส่วนใหญ่จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยในกรณีดังต่อไปนี้

1. กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมเป็นผู้ป่วยในจะให้ความคุ้มครอง ค่าห้อง (ทั้งห้องผู้ป่วยปกติและห้องผู้ป่วยหนัก) ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ และค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาหรือหัตถการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น

2. กรณีไม่ได้อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม

3. กรณีรักษาโดยการผ่าตัดจะให้ความคุ้มครอง ค่าแพทย์ผ่าตัด และหัตถการและค่าปรึกษาทางการผ่าตัด ความคุ้มครองที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้เช่น การคลอดบุตรการทำฟัน การรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง และการดูแลโดยพยาบาลพิเศษ เป็นต้น

4. การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก หรือการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน เป็นการประกันภัยที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเจ้าของกิจการ หรือสถานประกอบการ เช่น โรงแรม โรงงาน เป็นต้น โดยที่ความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต้องเกิดขึ้น โดยอุบัติเหตุภายในสถานที่ประกอบการ หรือเกิดขึ้นจากสถานที่ประกอบการของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งทำงานประจำ ณ สถานประกอบการ ในขณะที่ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการ

บุคคลภายนอก หมายถึง บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่ใช่เป็นบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่อยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัยซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกิจการของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือบุคคลผู้ซึ่งในขณะเกิดอุบัติเหตุอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานให้ผู้เอาประกันภัยภายใต้สัญญาว่าจ้างหรือการพักงาน

วิธีการเอาประกันวินาศภัย

ผู้ที่ต้องการทำประกันวินาศภัย สามารถติดต่อได้โดยตรงที่บริษัทประกันภัยที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัยและทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัย

ชนิดของกิจการที่ควรเอาประกันภัย

สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ถ้ามีความเสี่ยง ควรทำการประกันภัยไว้ เพื่อเป็นการประกันว่าในอนาคตไม่ว่าภัยจะเกิดขึ้นหรือไม่ การดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งสามารถแบ่งได้ ดังนี้

1. บ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อทุกคน

2. ธุรกิจ SME ทุนประกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

3. อุตสาหกรรม ทุนประกันตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

สรุป

การประกันวินาศภัย คือ สัญญาประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัย และผู้รับประกันภัยจะชดใช้สินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยขึ้นในอนาคตตามที่ตกลงกันไว้

ประโยชน์ของการประกันวินาศภัย แบ่งออกได้ ดังนี้

1. ด้านผู้เอาประกันภัย

2. ด้านธุรกิจ

3. ด้านเศรษฐกิจ

4. ด้านสังคม

การประกันวินาศภัย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท

1. การประกันอัคคีภัย

2. การประกันภัยรถยนต์

3. การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด