บทที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับการขายตรงและการตลาดทางตรง

บทที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับการขายตรงและการตลาดทางตรง

1. ความหมายของการขายตรง

การขายตรง (Direct selling) หมายถึง งานที่ผู้ขายใช้เวลาว่างจากการทำงานอกเหนือจากงานประจำมาทำการขาย เพื่อเสริมสร้างรายได้ด้วยการเสนอขายสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคหรือหรือสินค้าอื่น ๆ โดยวิธีการนำสินค้าไปเสนอลูกค้าโดยตรง หรือเสนอด้วยวิธีการหาสมาชิกบริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายสินค้า (Logo) เดียวกันในราคามีส่วนลดและกลายเป็นมีรายได้เพิ่มจากผลต่างจากการบริโภคสินค้าเครื่องหมายเดียวกันและจากการนำสินค้าไปขาย ผู้ขายจะเป็นผู้บริโภคสินค้าในราคาถูกลง อันจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้ามาบริโภคจากของบริษัทตนเอง (ในฐานะเป็นสมาชิกหรือผู้ร่วมหุ้น) และเมื่อนำไปขายต่อในราคาตามหน้ากล่องผลิตภัณฑ์นั้นก็ได้กำไรอีกต่อหนึ่งหรือเมื่อผู้เป็นสมาชิกหรือผู้ร่วมหุ้นนำวิธีการไปหาสมาชิกหรือผู้ร่วมหุ้นต่อไปจะได้เปอร์เซ็นต์จากการหาสมาชิกมาซื้อสินค้าจากคลังสินค้า (บริษัท) ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น เกิดเป็นธุรกิจที่เรียกว่า “ การขายตรง” (สมศรี มัชฌเศรษฐ์. 2546 : 30)

จากความหมายของการขายตรง สรุปได้ว่า การขายตรง คือ วิธีจำหน่ายสินค้าหรือบริการต่อไปยังผู้บริโภคโดยตรง ณ สถานที่ที่ผู้บริโภคอยู่อาศัย ที่ทำงานหรือสถานที่ที่ได้นัดหมายไว้แล้ว ทั้งนี้สินค้าและบริการดังกล่าวของธุรกิจจะต้องมีระบบการจัดจำหน่าย โดยไม่ผ่านคนกลาง เป็นสำคัญ

2. ความสำคัญของการขายตรงและสภาวะตลาดการขายตรง

2.1 ความสำคัญของการขายตรง

การขายตรงมีบทบาทในชีวิตประจำวันเพราะสามารถเลือกเป็นอาชีพได้ง่ายและจัดเป็นธุรกิจหรือเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ไม่จำกัดเพศและวัย ความสำคัญของการขายตรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีการแข่งขันกันสูงและมีสินค้าหลากหลายทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือน กลุ่มสินค้าเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น แต่ละธุรกิจ ที่มีระบบการขายตรงต่างมุ่งสร้างความแตกต่างทั้งคุณภาพสินค้า แผนการตลาด ผลประโยชน์ ความก้าวหน้าในตำแหน่งหรือในสายงานของธุรกิจขายตรง เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดผู้คนทั่วไปที่ต้องการมีรายได้มากกว่าอาชีพหลักที่ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการขายตรงมีความสำคัญ ดังนี้

2.1.1 การขายตรงส่งเสริมให้เกิดอาชีพและรายได้ ธุรกิจการขายตรงจัดเป็นธุรกิจนานาชาติมีธุรกิจข้ามชาติหลายประเทศที่ดำเนินธุรกิจนี้และกระจายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่จัดเป็นแหล่งศูนย์กลางของอาเซียนในการเปิดตัวของธุรกิจขายตรงหลายบริษัทการขายตรงรูปแบบแตกต่างกันไม่ว่าการขายตรงแบบชั้นเดียวหรือแบบหลายชั้น ทั้งสองแบบมีวิธีการนำเสนอสินค้าและบริการ ตลอดจนแผนการตลาดที่แตกต่างกัน ขณะที่ในปัจจุบันสินค้าในระบบขายตรงยังมีการเติบโตสูงและสินค้าที่ได้รับความนิยมคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อความงาม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลายบริษัทขายตรงที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง มีทั้งบริษัทที่ผู้ประกอบการเป็นคนไทย เช่น สุพรีเดิรม์ กิฟฟารีน สโรรักษ์ เป็นต้น หรือบริษัทต่างชาติ เช่น คังเซนเคนโก ยูนิซีตี้ นูทรีเมทิสต์ เป็นต้น ประเด็นที่น่าสนใจของธุรกิจขายตรง คือ บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษาและทุกสาขาวิชาชีพ ล้วนสามารถทำอาชีพนี้ได้ พร้อมทั้งศักยภาพและความสามารถ ของบุคคลที่สนใจเข้ามาเป็นนักขายอิสระทุกคน อาจมีจุดประสงค์ที่ต่างกันหรือคล้ายกันได้ เช่น บางคนอาจทำเป็นอาชีพเสริมทำในขณะที่บางคนทำงานประจำ บางคนมีงานประจำแต่เห็นความเป็นไปได้ทางธุรกิจและเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจขายตรงได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ในขณะที่บางส่วนต้องการเข้ามาทำอาชีพขายตรง เพื่อสังคมและเพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ท้าทายความสามารถและเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ ในบทบาทหนึ่งทางธุรกิจที่ส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพหรือการต้องการได้รับการยกย่องแต่ประเด็นหลักที่เป็นเป้าหมายของอาชีพยังคงเห็นว่าเป็นช่องทางของรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งสรุปว่า การขายตรง เป็นอาชีพที่อาจเลิกทำได้หากถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือมีความเต็มที่กับอาชีพนี้เพียงพอและหากเลิกอาชีพขายตรงนั้น ย่อมทำได้ซึ่งมิได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ใด ๆ หากผู้ขายสามารถบริหารเวลาด้วยตนเองได้อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง สามารถทำเป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรกได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญคือยังมีผู้เป็นสมาชิกหลายธุรกิจขายตรงที่ยังคงมุ่งมั่นและทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่ารายได้ที่ได้รับจัดเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานและมีผลประโยชน์ต่อเนื่องจริง

2.1.2 ธุรกิจขายตรงต้องมีลักษณะเด่นแตกต่างจากธุรกิจการขายทั่วไป ได้แก่

2.1.2.1 การขายตรงเป็นช่องทางที่สามารถกระจายผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายไปยังผู้ขาย/ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

2.1.2.2 การขายตรงเป็นวิธีการผ่านร้านค้าปลีก โดยผู้ขายตรงจะทำหน้าที่แทนร้านค้าปลีกภายใต้กรรมสิทธิ์ของการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ

2.1.2.3 การขายตรงจัดเป็นวิธีการจัดจำหน่ายอย่างรวดเร็วผ่านสื่อต่าง ๆ หลายช่องทาง เช่น ทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์หรือโทรทัศน์ สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สาขาจำหน่าย คลังสินค้าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตัวแทนขายตรง นักธุรกิจอิสระ เป็นต้น

2.1.2.4 การขายตรงผู้ขายจะมีอิสระในการทำธุรกิจตามความสามารถของแต่ละบุคคลและธุรกิจนี้ จัดเป็นธุรกิจของการลอกเลียนการทำงาน ด้วยการใช้วิธีการถ่ายทอดและสอนงาน ผลของงานมักขึ้นอยู่กับความสามารถความพยายามของผู้ขายตรง แต่หากเป็นการขายตรงประเภทหลายชั้น มักจะมุ่งเน้นการสร้างทีมขายเป็นหลักมิได้มุ่งเน้นการขายสินค้า

2.1.2.5 การขายตรงเป็นธุรกิจที่ตกทอดถึงทายาท รวมถึงยอดขายที่ต่อเนื่องมักมีการสะสมจนสามารถสร้างรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากมีความมุมานะ ขยันและอดทน บุคคลที่ประกอบอาชีพเหล่านี้สามารถประสบความสำเร็จมีฐานะทางการเงินและสังคมมากขึ้น

2.1.2.6 การขายตรงสามารถทำควบคู่กับงานประจำได้และสามารถบริหารเวลาด้วยตนเอง

2.1.2.7 การขายตรงไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก ไม่ต้องมีสถานที่หรือมีสินค้า เป็นจำนวนมาก เพียงมีตัวอย่างสินค้ามีเทคนิคในการนำเสนอ สาธิต มีความสามารถในการแนะนำ มีหลักศิลปะในการจูงใจ (Motive) หรือชักชวนให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

2.1.2.8 การขายตรงมีหลายบริษัท มีการแข่งขันสูงอีกทั้งมีสินค้าหลายประเภทหากต้องการทำอาชีพการขายตรงผู้สนใจเพียงศึกษาความเป็นมาของบริษัท โครงสร้างองค์กรความมั่นคงน่าเชื่อถือของธุรกิจ สินค้าและบริการ คู่แข่งขัน แผนการตลาด (Marketing plan) ระบบช่องทางการจำหน่าย (Distribution cannel) วิธีการทำงาน รายได้หรือผลประโยชน์และความก้าวหน้าในอาชีพก็สามารถทำได้ทุกโอกาส

2.1.2.9 การขายตรงมีบทบัญญัติทางกฎหมายรองรับเพียงทำความเข้าใจและทำการศึกษาธุรกิจขายตรงให้ดีสามารถตรวจสอบได้ว่าธุรกิจขายตรงเหล่านั้น ได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่และเป็นธุรกิจขายตรงที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทยหรือไม่

2.1.2.10 การขายตรงเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือผู้คนภายในประเทศให้มีคุณภาพชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ดัง ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศนี้ ได้ประกาศให้อาชีพการขายตรงเป็นอาชีพที่ 2 ของพลเมืองในประเทศ รวมทั้งได้ยกระดับธุรกิจขายตรงให้เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประชาชนภายในประเทศได้มีงาน มีรายได้รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพยุงสภาวะเศรษฐกิจโลกได้อีกด้านหนึ่ง

2.1.3 การขายตรงจัดเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นการขายสินค้า สินค้าขายตรงส่วนใหญ่มีทั้งเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น อนึ่งธุรกิจขายตรงที่มีชื่อเสียงขณะปัจจุบันนี้ ได้แก่ มิสทีน เอวอน คังเซนเคนโก กิฟฟารีน แอมเวย์ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้จะเน้นการสร้างฝันให้เป็นจริงในแง่มุมธุรกิจ กระตุ้นและจูงใจให้เกิดเป้าหมายในอนาคตและการคาดหวัง นอกจากนี้ธุรกิจขายตรงยังสามารถทำประโยชน์ให้กับผู้เกี่ยวข้องในวงการขายตรงนี้ได้อย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้หรือผลตอบแทนอื่นที่จะได้รับ ซึ่งประกอบด้วยสินค้า ดังนี้

2.1.3.1 สินค้าประเภทอุปโภคบริโภค หมายถึง สินค้าใช้ในชีวิตประจำวันต้องใช้ต่อเนื่อง เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาเอนกประสงค์ ข้าวสาร เป็นต้น

2.1.3.2 สินค้าประเภทกลุ่มเครื่องสำอางและกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หมายถึง กลุ่มสินค้าที่มุ่งเน้นความงาม มุ่งเน้นสุขภาพ เช่น แป้ง ครีมบำรุงผิวหน้าผิวกาย อายแชโดว์ น้ำยาทาเล็บ วิตามิน น้ำมันจมูกข้าว คลอโรฟิล เครื่องดื่มประเภทเสริมคลอลาเจนหรือประเภทเสริมกูลต้าเพื่อเพิ่มผิวขาว เป็นต้น

2.1.3.3 สินค้าประเภทการเกษตร หมายถึง กลุ่มสินค้าที่ต้องมีการมุ่งเน้น ด้านการเจริญเติบโตหรือกระตุ้นให้พืชผลทางการเกษตรงอกงามหรือมีผลิตผลที่ดีขึ้น เช่น ปุ๋ย อาหารพืช อาหารสัตว์ เป็นต้น

2.1.3.4 สินค้าเบ็ดเตล็ด หมายถึง สินค้าที่เป็นของใช้ทั่วไป เช่น พวงกุญแจ กรอบรูป สติ๊กเกอร์ เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์มิสทีน ฟรายเดย์ เป็นต้น

2.2 สภาวะตลาดการขายตรง

ธุรกิจขายตรงในปัจจุบันเน้นการสร้างฝันให้เป็นจริงและมีการแข่งขันสูง ธุรกิจขายตรง หลายบริษัทพยายามสร้างฝันเพื่อจูงใจให้ผู้คนสนใจในธุรกิจและเมื่อทุกคน เข้าไปอยู่ในธุรกิจ อย่างเต็มตัว ธุรกิจขายตรงจะใช้บุคลากรที่มีอยู่ให้สอนการทำงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่นหรือบางธุรกิจได้มีการจัดระบบการสอนงานในลักษณะการเปิดสอนอย่างเป็นทางการ กระทั่งท้ายสุดหากตัวแทนขายตรงหรือบุคคลใดสามารถทำได้ ความฝันที่ต้องการก็จะมีความเป็นจริงซึ่งมักมีจำนวนน้อย ทั้งนี้ตัวแทนขายตรงจะต้องมีการบริษัท ภายใต้รูปแบบธุรกิจขายตรงที่เหมาะสม ทั้งนี้สภาวะการตลาดขายตรงปัจจุบัน จึงมักสร้างจุดเด่นให้บริษัทเพื่อสร้างการจูงใจให้ผู้คนเข้าสู่ธุรกิจโดยพยายามสร้างสิ่งต่อไปนี้ให้มีคุณภาพ ดังนี้

2.2.1 การนำเสนอข้อมูลที่ดีเยี่ยม ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ส่งผลให้บริษัทขายตรงได้เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ทุกบริษัทต่างพยายามจูงใจและชักชวนคนให้เข้าสู่ธุรกิจ โดยการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ให้มากที่สุด ปัจจุบันสื่อที่ใหม่สำหรับขายตรง คือ การใช้สื่อผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวีหรือหนังสือพิมพ์ของตนเอง บริษัทขายตรงปัจจุบันจะมุ่งนำเสนอสินค้าบริการตลอดจนผลตอบแทนของการเข้าสู่ธุรกิจไปยังโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนรายการทางโทรทัศน์มากขึ้น เพื่อการกระจายข่าวสารและสร้างการรับรู้พร้อมนำบุคคลที่มีประสบการณ์ไปร่วมแชร์ประสบการณ์ เพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจขายตรงเกิดความน่าเชื่อถือ

2.2.2 การสื่อสารทางเทคโนโลยี ด้วยความรวดเร็วของการเข้าถึงข้อมูล บริษัทขายตรงหลายบริษัทได้จัดช่องทางการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและตัวแทนนขายตรง เช่น การใช้เครือข่ายโทรศัพท์เป็นแรงผลักดันข้อมูล ระบบอินเตอร์เน็ต การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ของธุรกิจขายตรงแจกจำหน่าย การจัดรายการนำเสนอผ่านโทรทัศน์เกี่ยวกับสินค้าและบริการ แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากอยู่ในการควบคุมดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ตลอดจนกรมประชาสัมพันธ์ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบว่าสินค้าหรือบริการนั้น มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่และมีการใช้วิธีการเชิญชวนที่เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่

2.2.3 สินค้าและบริการ ธุรกิจขายตรงจำนวนมากนำสินค้าหลากหลายทั้งผลิตเองและนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับธุรกิจขายตรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยต้องมุ่งเน้นคุณภาพสินค้าและบริการเป็นหลักเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและการทำงานของตัวแทนขายตรง

2.2.4 แผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มาจากการวางแผนที่ดีของธุรกิจ การทำธุรกิจขายตรง ทุกบริษัทจะประสบกับความสำเร็จและเติบโตได้ มักมาจากแผนการตลาดที่ดี จูงใจผู้คนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ หากไม่มีแผนการตลาดที่ดีพอ มักมีตัวแทนขายตรงที่เปลี่ยนเข้าออกบ่อย ๆ และเครือข่ายมักจะไม่มีการเติบโตหรือเติบโตช้า ดังนั้นธุรกิจขายตรงจะต้องกำหนดแผนการตลาดที่ดีและมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าสภาวะการตลาดขายตรง ยังคงให้ความสำคัญกับองค์ประกอบเหล่านี้และทั้งหมดที่กล่าวมาความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ในอนาคตยังคงมีมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ธุรกิจขายตรงต้องปรับตัวเอง ให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและค่านิยมของสังคมมากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในตลาดขายตรงต่อไป

3. ความหมายของการตลาดทางตรง

การตลาดทางตรง (Direct marketing) หมายถึง ระบบปฏิกิริยาที่มีลักษณะเป็นการกระทำทางการตลาด ซึ่งใช้สื่อหนึ่งอย่างหรือมากกว่าเพื่อให้เกิดการตอบสนองที่สามารถวัดได้หรือ การติดต่อธุรกิจโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายของสมาคมการขายตรงหรือหมายถึงระบบการตลาดที่มีปฏิกิริยาระหว่างกันซึ่งใช้สื่อโฆษณาหนึ่งสื่อขึ้นไปเพื่อให้มีการตอบสนองหรือการซื้อขายที่สามารถวัดได้ (Kotler. 1977 : 718)

3.1 สื่อที่ใช้สำหรับการตลาดทางตรง

3.1.1 จดหมายทางตรง (Direct mail) จัดเป็นรูปแบบของการตลาดทางตรงที่ใช้มากที่สุดและเป็นจดหมายที่ผู้บริโภคบางส่วนไม่อยากรับเพราะรู้ว่านั่นเป็นการโฆษณาสินค้าหรือประชาสัมพันธ์สินค้าที่มุ่งเน้นการเป็นส่วนตัว การส่งอาจใช้โปสการ์ดหรือจดหมายโดยตรงพร้อม แนบใบปลิว แผ่นพับ ส่งถึงลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้บริษัทที่ทำการส่งจะมีการตรวจสอบหารายชื่อของลูกค้าได้ง่ายจากสมุดโทรศัพท์หรือภาคธุรกิจด้วยกันแต่การส่งจดหมายทางตรงจะประสบความสำเร็จหรือไม่อาจขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลรายชื่อของลูกค้าด้วยว่าเป็นปัจจุบันหรือไม่ เพราะอาจทำให้ไม่ถึงลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ไม่บรรลุวัตถุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร

3.1.2 แค็ตตาล็อก (Catalog เป็นเอกสารรูปเล่มที่มีภาพสินค้าพร้อมรายละเอียดประกอบชัดเจนรายละเอียดจะประกอบไปด้วย ภาพสินค้าต่าง ๆ คุณสมบัติ การใช้งาน ราคาของสินค้า การรับประกัน การสั่งซื้อ พร้อมเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้า เช่น แค็ตตาล็อกแอมเวย์ กิฟฟารีน นูไลฟ์ นูทรี เมทิส โฮมโปร โลตัส เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เข้าถึงลูกค้าที่ชื่นชอบการสั่งซื้อสินค้าในแค็ตตาล็อกเพราะเห็นว่าสะดวกไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง

3.1.3 การตลาดโดยใช้ทางโทรศัพท์ (Telemarketing) เป็นการขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มีบริษัทขายตรงจำนวนมากที่เปิดบริการ Call center ให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับรูปร่างและการออกกำลังกาย เช่น โอนามิ หรือเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น มิสทีน คังเซนเคนโก กิฟฟารีน การขายประกันชีวิต เป็นต้น นอกจากนั้นมีการให้บริการซื้อขายสินค้า ผ่านโทรศัพท์ในประเทศไทยใช้หมายเลข 1900 เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ความบันเทิง เป็นต้น

3.1.4 การตลาดโดยทางอินเทอร์เน็ต (Direct marketing on the Internet) หรือเรียกว่า Ecommerce เรียกว่าเป็นการขายสินค้าและบริการโดยตรงไปยังผู้บริโภคผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นการตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น มีการใช้และโหลดโปรแกรมมากมายเพื่อใช้และเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น เฟสบุ๊ค ไฮไฟว์หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น อเมซอนดอดคอม ตลาดดอดคอม อีเบย์ เป็นต้น ทั้งนี้ทุกบริษัทต่างยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงในการกระจายข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสินค้า บริการ ข้อมูลการส่งเสริมการขายมากที่สุด รวมไปถึงเข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็วที่สุดทั้งนี้การจำหน่ายสินค้าด้วยระบบนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายและมีการกระจายไปยังลูกค้าจำนวนมากในเวลาเดียวกันตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วทุกมุมโลก นับเป็นช่องทางที่ดีช่องทางหนึ่งที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและคุ้มกับต้นทุน ช่องทางการจำหน่ายสินค้า ทางอินเตอร์เน็ต ได้แก่

3.1.4.1 ช่องทางจำหน่ายทางตรงสู่ผู้บริโภค (Business to consumer : B to C) เป็นวิธีการขายตรงอย่างหนึ่งที่สร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคไม่เสียเวลาในการเลือกซื้อเพียงยืนยันการซื้อและชำระเงินผ่านธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิตตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย

3.1.4.2 ช่องทางการจำหน่ายทางตรงสู่คนกลาง (Business to business : B to B) เป็นวิธีการขายตรงระหว่างพ่อค้าส่งหรือพ่อค้าปลีกซึ่งเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ติดต่อซื้อขายระหว่างกันและกัน ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะซื้อในปริมาณมากจุดประสงค์ เพื่อมุ่งจำหน่ายต่อในส่วนการชำระเงินจะนิยมชำระผ่านธนาคาร

3.1.4.2 ช่องทางการจำหน่ายทางตรงระหว่างผู้บริโภค (Consumer to consumer : C to C) เป็นวิธีการขายสินค้าและบริการระหว่างผู้มีคุณสมบัติเดียวกันที่ต้องการนำสินค้ามาขายหรือต้องการเข้ามาซื้อ การชำระเงินนิยมชำระผ่านธนาคาร

3.1.4.3 ช่องทางการจำหน่ายทางตรงระหว่างเอกชนกับภาครัฐ (Business to government : B to G) เป็นวิธีการขายสินค้าหรือบริการระหว่างธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐในการซื้อจะมีการซื้อเป็นจำนวนมาก ต้องมีการเสนอราคาและตรวจสอบรายละเอียดอย่างชัดเจนและต้องเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับทางราชการ

3.1.5 การตลาดโดยการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ (Print media) สื่อประเภทนี้เป็นสื่อที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จยากในระบบการตลาดทางตรง เนื่องจากการใช้สื่อเหล่านี้ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือมักจะนำสินค้าของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายมานำเสนอพร้อมกันในหน้าเดียวทำให้ลูกค้าขาดความสนใจและอ่านผ่านเลยไปในขณะที่ราคาการใช้สื่อจำพวกนี้ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ต้องการโฆษณาต้องการภาพสี่สีอันเป็นราคาที่ต้นทุนสูง แต่การได้รับความนิยมจากลูกค้าค่อนข้างต่ำ

3.1.5.1 การตลาดทางตรงโดยการใช้ทางหนังสือพิมพ์ (Newspaper direct marketing) เป็นวิธีการเสนอขายสินค้าหรือบริการทางหน้าหนังสือพิมพ์ ต้นทุนไม่สูงมากภาพส่วนใหญ่มักสีขาวดำ ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่การเลือกโฆษณาในแต่ละคอลัมน์หรือแต่ละหน้า

3.1.5.2 การตลาดทางตรงทางนิตยสาร (Magazine direct marketing) เป็นวิธีการเสนอขายสินค้าหรือบริการในนิตยสาร ส่วนใหญ่นิยมภาพสีสดใสมีรายละเอียดของสินค้า ราคา สรรพคุณ วิธีการสั่งซื้อ เบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อสั่งซื้อชัดเจน ด้านราคาขึ้นอยู่กับแต่ละหน้าของนิตยสารและพื้นที่ที่ต้องใช้เสนอขาย

3.1.5.3 การตลาดทางตรงทางใบปลิวหรือแผ่นพับ เป็นวิธีการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับความนิยมมากวิธีการหนึ่ง เพียงอาศัยการจัดหาบุคคลไปประจำในจุดต่าง ๆ ที่มีผู้คนเดินผ่านเป็นจำนวนมากแล้วทำการแจกใบปลิวซึ่งวิธีการนี้จะมีการสอบถามข้อมูลชื่อและเบอร์โทร เสมือนการสัมภาษณ์ในเบื้องต้นด้วย

3.1.6 การตลาดโดยใช้โทรทัศน์และกระจายเสียงทางวิทยุ (Television media and radio) เป็นสื่อประเภทที่เข้าถึงลูกค้าในระดับต้น ๆ ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าขายตรงสามารถเป็นผู้สนับสนุนรายการรวมถึงการนำเสนอสินค้า ด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่และอาจมีการซื้อช่วงรายการ จัดรายการแนะนำสินค้าอย่างละเอียด การเสนออาจมีการนำเอาผู้มีประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์มาอ้างอิงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเสนอขายสินค้าหรือบริการมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มเติมรายการส่งเสริมการขายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคในรายการอย่างมีความชัดเจนหรือ ที่เรียกว่า T.V. media T.V. direct เคเบิ้ลทีวีและรายการวิทยุ

3.1.7 การตลาดทางตรงโดยการใช้ป้ายโฆษณา (Using billboard) เป็นการสื่อสารที่มุ่งให้ลูกค้าเกิดความสนใจและรับรู้ ทั้งนี้อาจมีการนำกิจกรรมการส่งเสริมการขายมาร่วมด้วยโดยในป้ายข้อความโฆษณาจะต้องระบุรายละเอียดต่าง ๆ อันเป็นการเสนอรายละเอียดที่หากลูกค้าสนใจสามารถติดต่อกลับได้ทันที

3.1.7.1 การใช้โฆษณาเคลื่อนที่ เป็นสื่อที่ติดตามพาหนะมีภาพและรายละเอียดเห็นชัดเจน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถยนต์แห่โฆษณา รถเครื่อง เป็นต้น และหากเป็นต่างจังหวัดจะมีเสียงประกอบไปด้วย

3.1.7.2 การใช้ป้ายโฆษณากลางแจ้งสื่อนี้ได้รับความนิยมมากจนกระทั่งทำให้เกิดธุรกิจเช่าพื้นที่โฆษณา ติดตั้งบริเวณทางต่างระดับ ถนนเส้นหลัก บริเวณด้านริมถนน ข้างตึก นมุมที่เห็นชัดเจน เป็นต้น

3.1.7.3 การใช้อักษรวิ่งพร้อมมีภาพประกอบหรือไม่มีภาพ เป็นการสื่อโฆษณา ที่น่าสนใจแบบหนึ่งแต่มีข้อเสียในการติดตาม เพราะมิได้ทำให้ผู้ดูสบายตาแต่สามารถรับรู้ข้อมูลได้แม้ไม่ทันก็สามารถรอการย้อนกลับของข้อมูลสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้

3.2 ลักษณะของการตลาดทางตรง ประกอบด้วย

3.2.1 เป็นการตลาดที่ไม่มีข้อจำกัดของเวลาในการสื่อสารไปสู่ผู้บริโภค

3.2.2 สินค้าและบริการของธุรกิจที่ทำการตลาดทางตรงใช้หลักการสร้างแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นความสนใจจากผู้บริโภคเป็นสำคัญ

3.2.3 เป็นการตลาดที่อาจใช้เครื่องมือที่เป็นสื่อ (Media) หรือบุคคลนำเสนอและประชาสัมพันธ์สินค้า

3.2.4 ผู้บริโภคเมื่อสนใจสามารถตัดสินใจได้ทันที รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงความต้องการได้โดยใช้สื่อทางโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

3.4.5 ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าเพราะเห็นว่าธุรกิจให้ความสนใจในการใช้สื่อเพื่อการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

3.2.6 การตลาดทางตรงจะรวมถึงการขายสินค้า โดยการใช้พนักงานขายทำการขายตรงไปยังลูกค้าพร้อมเสนอและสาธิต

3.3.7 การตลาดทางตรงจัดเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการส่งเสริมการตลาด

3.3.8 การตลาดทางตรงกับการขายตรงมีความแตกต่างกันในเรื่องความละเอียดในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะการตลาดทางตรงมีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ส่วนการขายตรงมุ่งเน้นตัวแทนขายตรงเข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตลาดทางตรงจะมีลักษณะที่มุ่งเน้นการเผชิญหน้า หรือการเข้าถึงลูกค้าด้วยสื่อต่าง ๆ ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ จดหมาย อินเตอร์เน็ต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จัดเป็นสื่อในการตลาดทางตรงที่สำคัญและมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามจุดประสงค์ของธุรกิจ อีกทั้งทั้งเหมาะสมเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับบริษัท ในการขายสินค้าและบริการ เหมาะแก่การทำธุรกิจประเภทขายตรงอย่างยิ่ง

4. ประโยชน์ของการศึกษาการขายตรง

การศึกษาด้านการขายตรงจัดเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำพาให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจการขายตรงได้อย่างชัดเจนถูกต้อง อีกทั้งเป็นเหตุผลในการสนับสนุนและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ การขายตรงสิ่งสำคัญทำให้สามารถสัมผัสได้ว่า ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคและตัวแทนขายมีความรู้สึกหรือทัศนคติแตกต่างกันอย่างไร รวมทั้งเป็นการศึกษาถึงทิศทางทางการตลาดของธุรกิจขายตรงหลายประเภท โดยอาจมีผลต่อการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจการขายตรงในอนาคตและในส่วนของประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาการขายตรงมีดังนี้ คือ

4.1 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติความรู้เรื่องสินค้า การใช้ คุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตลอดจนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดเป็นโอกาสให้เกิดการตระหนักในการซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

4.2 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขายได้มั่นใจและภาคภูมิใจในวิชาชีพการขายตรง อาชีพขายตรง เป็นอาชีพที่มีบทบัญญัติของสมาคมการขายตรงรองรับ ดังนั้นผู้ที่สนใจทำธุรกิจนี้จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถประกอบอาชีพการขายตรงได้อย่างภูมิใจและมีความมั่นใจในการเข้าพบ เพื่อเสนอขายสินค้าต่อลูกค้าเพียงแต่ต้องพิจารณาเลือกบริษัทขายตรงที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

4.3 เพื่อเป็นทางเลือกให้บุคคลทั่วไปให้สนใจเลือกอาชีพการขายตรง อาชีพขายตรงทำได้ง่ายเริ่มทำเมื่อใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจ อีกทั้งสามารถทำเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นงานประจำอีกทั้งทำให้บุคคลเหล่านั้นเชื่อในธุรกิจขายตรงว่าเป็นอาชีพที่สุจริมีีความอิสระและสามารถสร้างอนาคตที่ดีแก่ตนเองและครอบครัวได้

4.4 เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจขายตรงให้เป็นที่รู้จักในวงสังคม โดยมีหน่วยงานภาครัฐคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสมาคมพัฒนาการขายตรงไทยร่วมกันจัดอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรง ซึ่งได้จัดต่อเนื่องทุกปี โดยหวังให้อาชีพการขายตรงเป็นที่ยอมรับรวมถึงการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาในสถาบันได้เรียนรู้เรื่องการขายตรงด้วย

4.5 เพื่อลดปัญหาของการว่างงานและเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้นการขายตรงจากที่ได้กล่าวมาแล้ว จัดเป็นอาชีพที่ทำได้ทุกคนไม่ว่าผู้ที่มีงานประจำหรือว่างงานก็สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องลงทุนมาก การขายตรงมักมาจากความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการจะทำการขายสินค้าหรือชักชวนผู้อื่นเข้าสู่ธุรกิจ โดยเฉพาะการชักชวนผู้บริโภคที่ได้ใช้สินค้าอยู่แล้วให้เข้าสู่ธุรกิจและปัจจุบันมีธุรกิจขายตรงเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมากและนิยมใช้หลักการนี้เสมอ

4.6 เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจในเรื่องของระบบการกระจายสินค้าขายตรง ธุรกิจขายตรงมักมีการจัดตั้งสาขา สำนักงานในต่างจังหวัดหรือแม้แต่ตัวแทนอิสระ สามารถแสดงตัวตนมีสัญลักษณ์ รหัสหรือเลขหมาย มีโลโก้ ผลิตภัณฑ์ขายตรงติดอยู่ที่บริเวณสำนักงาน ร้านค้า อีกทั้งพร้อมในการนำเสนอและจำหน่ายให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าได้ตลอดเวลา จึงจัดเป็นความคล่องตัวและความสามารถของธุรกิจการขายตรงว่า สินค้าทุกตัวสามารถกระจายสินค้าเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ง่าย นอกจากนั้นยังสามารถลดต้นทุนทางด้านการโฆษณาการประชาสัมพันธ์หรือการส่งเสริมการตลาดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบริษัทได้มีงบประมาณในการโฆษณา และงบประมาณอื่น ๆ รองรับไว้แล้ว เพื่อความสะดวกของสมาชิกหรือตัวแทนขายตรงในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

4.7 เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจการขายตรง ธุรกิจขายตรงมิใช่ธุรกิจหลอกลวงหรือธุรกิจลูกโซ่ เพราะธุรกิจขายตรงที่ดีและถูกต้องส่วนใหญ่จะเข้าสู่แวดวงธุรกิจมานานมีชื่อเสียงและเป็นที่ได้รับการยอมรับจากธุรกิจขายตรงด้วยกันทั้งในและต่างประเทศ โดยสามารถตรวจสอบหรือตรวจย้อนกลับได้จากหน่วยงานภาครัฐคือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมการขายตรงแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ตัวแทนขายตรงจะต้องค้นหาข้อมูลและศึกษาระบบธุรกิจขายตรงนั้น ๆ อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจสมัครเป็นตัวแทน

4.8 เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ทราบและตระหนักในสินค้าขายตรง นั่นคือหากสินค้าดีมีคุณภาพสินค้าย่อมขายได้เสมอ ทั้งนี้มีสินค้าจำนวนหลายประเภทในระบบขายตรง ต้องใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงสร้างความน่าเชื่อถือก่อน ซึ่งจัดเป็นกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และกลยุทธ์การขาย ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าการตลาดดีย่อมเข้าถึงลูกค้าได้ดี

5. องค์ประกอบของธุรกิจขายตรง

องค์กรที่ดำเนินธุรกิจขายตรงต้องมีการพัฒนาส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ดำเนินธุรกิจนี้ โดยต้องพยายามคิดค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ป้อนสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องขณะเดียวกันสินค้าควรมีการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าหรือมีเอกลักษณ์ของธุรกิจที่มุ่งเน้นคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำประกอบกับ ควรจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพผนวกกับมีความแตกต่างจากคู่แข่งขันสูงหรือให้เห็นว่าสินค้าของบริษัทมีความจำเป็นต่อผู้บริโภคหากสามารถปฏิบัติได้ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดและอาจส่งผลกำไรที่สูงขึ้นต่อธุรกิจหรือผู้เป็นตัวแทนขายตรง ในทางตรงกันข้ามถ้าสินค้าที่ผลิตออกมาไม่เป็นที่ต้องการหรือขาดคุณสมบัติที่กล่าวมาเมื่อเข้าสู่ตลาดก็จะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการและไม่สามารถขยายตลาดไปได้ สุดท้ายทำให้ธุรกิจขายตรงเหล่านั้นไม่ประสบผลสำเร็จทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญของธุรกิจขายตรง ซึ่งได้แก่

5.1 ผลิตภัณฑ์ (Product) หมายถึง สิ่งที่เสนอแก่บุคคลเพื่อสนองความจำเป็นหรือสนองความต้องการ ผลิตภัณฑ์จะรวมถึงสินค้า บริการ บุคคล สถานที่ กิจกรรม องค์กรและความคิดการเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อจะสนองความต้องการของบุคคล ผลิตภัณฑ์เกิดจากกรรมวิธีการผลิต (Production)การผลิตผลิตภัณฑ์จะเกี่ยวข้องกับการตลาดแต่ไม่ถือว่าเป็นหน้าที่การตลาดการที่ธุรกิจจะผลิตสินค้าใดออกมาต้องคำนึงถึงว่าจะสามารถขายได้หรือสามารถสนองความการของลูกค้าได้หรือไม่ (ศิริวรรณ เสรีรัตน์. 2541 : 6)

จากความหมายของผลิตภัณฑ์ สรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์ คือ สิ่งต่าง ๆ ที่รวมแล้วจัดว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อีกทั้งเป็นสิ่งที่สามารถสนองตอบความต้องการหรือความจำเป็นของผู้บริโภค จนกระทั่งผู้บริโภคยอมรับอย่างพึงพอใจในการจะได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ทั้งนี้สามารถอธิบายโดยละเอียด ดังนี้

5.1.1 ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ (Tangible goods) คือ ผลิตภัณฑ์ที่มองเห็นมีรูปลักษณ์และ ทางกายภาพชัดเจน บ่งบอกได้ และมีคุณสมบัติ รายละเอียด ชื่อ ยี่ห้อ ตราผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมบำรุงผิวเอวอนมีลักษณะรูปลักษณ์ เป็นกระปุก หรือเป็นหลอด ขวด เป็นต้น

5.1.2 ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible goods) คือ ผลิตภัณฑ์ที่มองไม่เห็นรูปลักษณ์และไม่สามารถสัมผัสได้จากการได้รับการเอาใจใส่จากผู้เสนอขายจากพนักงานจากธุรกิจหรือที่เรียกว่าการบริการ โดยผู้บริโภคจะได้รับความพึงพอใจจากการใช้บริการเหล่านั้น เช่น การบริหารหลังการขาย เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์เอวอนหรือแอมเวย์แล้วไม่ได้รับความพอใจเกิดอาการแพ้หรือไม่ตรงตามที่ระบุไว้ ลูกค้าสามารถคืนสินค้าภายใน 30 วันตามเงื่อนไขบริษัท การได้รับการเสนอหรือเป็นที่ปรึกษากรณีลูกค้ามีข้อสงสัยตลอด 24 ชั่วโมงในลักษณะของศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) เป็นต้น

5.1.3 สนองความต้องการ (Want) คือ ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการทุกประเภทของธุรกิจที่สามารถสนองลูกค้าหรือทดแทนในสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังได้ ประเด็นสำคัญหากสนองความพึงพอใจลูกค้าได้และลูกค้ายอมรับ ย่อมจะเกิดการตอบสนองโดยการซื้อ เช่น ลูกค้าต้องการซื้อโลชั่นผสมสารกันแดด ลูกค้าสามารถศึกษารายละเอียด สอบถามหรือได้ทดลองจากตัวแทนขายจนมั่นใจก็จะตัดสินใจซื้อสินค้าได้จากตัวแทนขาย ทั้งนี้ในหลายบริษัทขายตรงมักใช้วิธีการคล้ายกัน เช่น มิสทีน เอวอน คังเซนเคนโก เป็นต้น

5.1.4 สนองความจำเป็น (Needs) คือ ผลิตภัณฑ์หรือบริการทุกประเภทของธุรกิจจะต้องสามารถสนองลูกค้าได้ เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้าได้มีความพึงพอใจ ภูมิใจและเป็นสิ่งที่ลูกค้าได้เลือกเป็นกรณีพิเศษ โดยเปรียบเทียบแล้วว่าพิจารณาจากธุรกิจอื่นใดย่อมไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ของธุรกิจนี้ที่ลูกค้าเลือก เช่น ลูกค้าต้องการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงร่างกายโดยมีข้อมูลพื้นฐานว่าเชื่อถือได้มีผลการใช้จากบุคคลที่รู้จักเคยใช้มาก่อน มีชื่อเสียง มีคุณภาพมาตรฐาน ลูกค้าย่อมจะเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น

5.2 แผนการตลาด (Marketing plan) หมายถึง เอกสารที่ระบุรายละเอียดและอธิบายถึงการวิเคราะห์สถานการณ์กลยุทธ์การตลาดและโปรแกรมการตลาดหรือหมายถึงเครื่องมือส่วนกลางสำหรับอำนวยการและการประสานงานความพยายามทางการตลาด (ศิริวรรณ เสรีรัตน์. 2541 : 26)

แผนการตลาด (Marketing plan) หมายถึง การกำหนดทิศทางหรือแนวทางการพยายามที่จะวางแผนด้านการตลาดตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมการตลาดไว้ล่วงหน้า (สิฏฐากร ชูทรัพย์ และคณะ. 2549 : 112)

จากความหมายของแผนการตลาด สรุปได้ว่า แผนการตลาด หมายถึง ทิศทางการวางแผนการทำงานทางการตลาดของธุรกิจอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง อันประกอบไปด้วยเครื่องมือทางการตลาดที่ครบถ้วนทุกกระบวน แผนการตลาดเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางการทำการตลาดของภาคธุรกิจ หากสามารถปฏิบัติได้หรือปฏิบัติได้ใกล้เคียงตามทิศทางหรือแนวทางที่ระบุไว้ในแผนการตลาด ย่อมถือได้ว่าแผนนั้น ๆ เป็นแผนที่เหมาะสมบรรลุเป้าหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพรวมไปถึงการสามารถนำไปประยุกต์แผนการตลาดนี้กับการดำเนินงานหรือโครงการต่อไปของธุรกิจได้ง่ายขึ้น

5.3 โครงสร้างที่เป็นระบบขององค์กร (Organization system) หมายถึง กระบวนการกำหนดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างบุคคลและทรัพยากรพื่อให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หรือหมายถึงแบบแผนอย่างเป็นทางการของปฏิกิริยาตอบสนองกัน (Interactions) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างงานต่าง ๆ เทคโนโลยีและบุคลากรขององค์การหนึ่ง โครงสร้างองค์กรได้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรต่าง ๆ ได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร (ศิริวรรณ เสรีรัตน์. 2548 : 149)

จากความหมายของโครงสร้างองค์กรจึงสรุปได้ว่า โครงสร้างองค์กร คือ องค์ประกอบหรือโครงสร้างที่สำคัญในการสร้างความตระหนักให้บุคคลทุกคนในองค์กรต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามความสามารถที่องค์กร ซึ่งได้มาจากการวางระบบการวางแผน การควบคุมหรือการสั่งการเป็นขั้นตอนไว้แล้วโดยส่วนใหญ่เกิดจากวัตถุประสงค์ในการควบคุ (Control)

5. 4 ผู้ประกอบการ (Owner) หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจมีอำนาจการบริหารจัดการ มีความรู้ มีทักษะมีความสามารถในการบริหารจัดการตลอดจนกำหนดหรือวางระบบในธุรกิจทั้งหมดทั้งหมดสิ่งสำคัญหากเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นบุคคลคนเดียวกันระบบการทำงานของธุรกิจนั้น ๆ ก็จะมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจทุกประเภทมีผู้ประกอบการเป็นหลักใหญ่ในการวางแผนและกำหนดนโยบายของธุรกิจ หากผู้ประกอบการต้องการบุคลากรหรือทีมงานเพื่อเข้ามาร่วมงานในธุรกิจผู้ประกอบการย่อมสามารถดำเนินการและตัดสินใจได้ โดยสามารถเฟ้นหาหรือคัดเลือกในสิ่งที่ธุรกิจต้องการและจัดหาพนักงานที่มีความสามารถตรงกับนโยบายที่ธุรกิจกำหนดเข้ามาทำงานในองค์กรย่อมจะทำให้องค์กรหรือธุรกิจนั้นสามารถสร้างผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและดียิ่งขึ้นต่อไปจนสามารถสร้างฐานทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอนาคต ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จัดเป็นการแสดงถึงความมีวิสัยทัศน์ด้านการทำงาน ที่บรรดาผู้ประกอบการจะต้องแก้ปัญหาและบริหารทิศทางขององค์กรให้เป็นไปในทางที่ดีและมีประสิทธิภาพอันมาจากความสามารถของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

6. การขายตรงตามบัญญัติของสมาพันธ์การขายตรงโลกและสมาคมการขายตรงไทย

6.1 สมาพันธ์การขายตรงโลก (World federation of direct selling associations : WFDSA)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นองค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมิได้มุ่งหวังการหาผลกำไรในเชิงธุรกิจ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ธุรกิจขายตรงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ หน้าที่หลักของสมาพันธ์คือ ให้การสนับสนุนสมาคมการขายตรงในแต่ละประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยสรุป สมาพันธ์การขายตรงโลก จึงเป็นหน่วยงานหลักเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ที่เสมือนเป็นศูนย์กลางให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจขายตรงได้มั่นใจในการประกอบกิจการ ซึ่งธุรกิจขายตรงทุกบริษัทจะมั่นใจมากขึ้นว่าจะได้รับการสนับสนุนจากแวดวงธุรกิจอื่น ๆ และยังได้รับเกียรติจากธุรกิจเดียวกันในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนและผลักดันจากสมาคมการขายตรงโลกในแต่ละประเทศ ซึ่งจัดเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกขายตรงได้ก้าวสู่ระดับธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมีมาตรฐานต่อไป

นอกจากนั้นสมาพันธ์การขายตรงโลก ได้นิยามว่า การขายตรง คือ การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่อยู่อาศัยของผู้อื่น ณ ที่ทำงานของผู้บริโภคหรือที่อื่น ๆ ซึ่งห่างจากที่ตั้งร้านค้าปลีกถาวรทั้งนี้แล้วผู้ขายตรงใช้การอธิบายหรือการสาธิตสินค้าเป็นกลยุทธ์หลักในการเสนอขาย

สมาพันธ์การขายตรงโลกประกอบด้วยสมาชิกสมาคมการขายตรงจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 57 ประเทศ รวมไปถึงสมาคมการขายตรงแห่งสหพันธรัฐยุโรปอีกด้วย ซึ่งจะมีตัวแทนของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาคมการขายตรงในประเทศนั้น ๆ กับสมาพันธ์การขายตรงโลก เช่นเดียวกับการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ในระดับภาคพื้นและระดับโลก (สมาคมการขายตรงไทย. 2554 : 94)

6.2 สมาคมการขายตรงไทย (Thai direct selling association) ปณิธานของสมาคมการขายตรงไทย คือ ยึดมั่นจรรณยาบรรณ สร้างสรรค์สังคมไทย

วิสัยทัศน์ สมาคมการขายตรงไทยเป็นสมาคมซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือว่า มีสมาชิก ที่ดำเนินธุรกิจขายตรงอย่างมีจรรณยาบรรณ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาให้ธุรกิจขายตรงเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ประวัติความเป็นมา

ธุรกิจขายตรงเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวงการตลาดในประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว โดยบริษัททัพเพอร์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เก็บอาหารแบบสุญญากาศที่ทำจากพลาสติกได้เป็นผู้ริเริ่มนำวิธีการที่เรียกว่า Home party เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในการขายซึ่งเป็นรูปแบบการขายตรงที่เปิดโอกาสทั้งด้านการขาย ความสะดวกในการซื้อและเป็นการสร้างสังคมเฉพาะสำหรับผู้หญิงไทย ในช่วงนั้นการสาธิตเข้ามามีบทบาทในวงการขายตรงไทยมาก ต่อมาธุรกิจขายตรงในประเทศไทยก็ขยายตัวแพร่หลายยิ่งขึ้น มีบริษัทจากต่างประเทศและในประเทศทยอยเปิดตัวและนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ สู่ผู้บริโภค อาทิ เครื่องสำอาง หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ต่อมาในปี 2521 บริษัท เอวอน คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น นับเป็นประเทศสาขาที่ 22 ของเอวอน โปรดัคส์ อิงค์ และเป็นต้นแบบของการขายตรงแบบชั้นเดียว (Single – level marketing หรือ SLM) อย่างเต็มรูปแบบในเมืองไทยที่ให้บริการลูกค้าด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อความงามในระบบขายตรง โดยจัดจำหน่ายผ่านผู้จำหน่ายอิสระซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทในการออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้าในเขตของตนเองเพื่อแนะนำและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถึงบ้านโดยตรง

ระบบขายตรงแบบชั้นเดียวได้รับความนิยมเรื่อยมาและในระยะเวลาเกือบ 10 ปีต่อมาก็มีบริษัทขายตรงระบบการตลาดหลายชั้นเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จนกระทั่งในปี 2530 บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจขายตรงในประเทศไทยและทำการตลาดด้วยระบบการตลาดแบบหลายชั้น (Multi-level marketing หรือ MLM) อย่างเต็มรูปแบบ โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนอกจากมีรายได้ขายปลีกจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าแล้ว ผู้จำหน่ายอิสระยังมีรายได้เพิ่มจากยอดขายรวมของผู้จำหน่ายอิสระที่ตนให้การสปอนเซอร์เข้ามาในองค์กรด้วย รายได้ประเภทนี้จะมากหรือน้อยแปรผันไปตามระดับขั้นของความมานะพยายามทั้งในการขายและการสปอนเซอร์ของผู้จำหน่ายอิสระแต่ละคนผู้ที่มีความขยันและทำงานมีผลงานมากจะได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงเป็นขั้น ๆ ไป

หลังจากการเข้ามาของแอมเวย์ก็มีบริษัทขายตรงหลายชั้นเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น นูสกิน, เฮอร์บาไลฟ์, คังเซน เคนโก, สุพรีเดอร์ม, กิฟฟารีน, นูไลฟ์, ซูเลียน, คามิโอเฮ้าส์, ยูนิไลฟ์ ฯลฯซึ่งในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมามีการเปิดบริษัทขายตรงหลายร้อยบริษัท จนกระทั่งในระยะหลังมีกระแสการใช้แผนไบนารี่ขึ้น ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศเจ้าตลาดคือ สหรัฐอเมริกา

ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยเติบโตช้าอย่างรวดเร็วและเริ่มมีผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจขายตรง เพราะธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกฐานะ ทุกสังคม ได้เข้ามาอย่างมีความหวัง ไม่ว่าจะเป็นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การมีอิสรภาพทางการเงินและเวลา โอกาสท่องเที่ยวหาประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกและได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ธุรกิจขายตรงยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้าง สำหรับผู้คนทั่วไปที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองด้วยการลงทุนต่ำและมีความเสี่ยงน้อย จึงนับว่าเป็นธุรกิจมวลชนที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนมีสปิริตของนักค้านักขายเติบโตขึ้นได้เท่าที่ปรารถนาและลงแรงทุ่มเทความพยายาม ผลตอบแทนจะเกิดขึ้นมากน้อยตามความมานะพยายามและการทุ่มเทเวลาในการทำธุรกิจของแต่ละบุคคล (สมาคมการขายตรงไทย. 2554 : 99 -100)

สมาคมการขายตรงไทย คือ สมาคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของบริษัทขายตรงหลาย ๆ บริษัทในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้องและยินยอมปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายด้านการขายตรงและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ตลอดจนสร้างสมาชิกขายตรงและรักษามาตรฐานวิชาชีพขายตรงให้เป็นระบบและถูกต้อง ด้านประวัติความเป็นมาของการขายตรงมีการริเริ่มมาพร้อมกันซึ่งส่งผลให้ในปัจจุบันธุรกิจขายตรงได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมทั้งมีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการขายตรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขายตรงข้ามชาติ นอกจากนั้นสินค้าหลักที่เข้าสู่ธุรกิจขายตรงติดอันดับยังคงเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย

ที่บัญญัติขึ้นโดย สมาพันธ์การขายโดยตรงแห่งโลก (World Federation of Direct Selling Associations หรือ WFDSA) และ สมาคมการขายโดยตรง (ไทย) มีอยู่ว่า " การขายตรง" หมายถึง การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ในลักษณะของ การนำเสนอขาย ต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่ อาศัยของผู้บริโภค หรือ ที่อยู่อาศัยของผู้อื่น ณ ที่ทำงานของผู้บริโภค หรือ ที่อื่นๆ โดยผู้ขายตรง ใช้การอธิบาย หรือ การสาธิตสินค้าเป็นกลยุทธ์หลัก ในการเสนอขาย

ระบบการตลาด/ การขายตรงหลายชั้น (Multi- Level Marketing หรือ MLM) เป็นการขายต่อๆกัน เป็นเครือข่ายหลายชั้น ผู้ขายเป็น นักขายอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท โดยนักขายสามารถสร้างรายได้จาก การทำงาน 2 วิธีรวมกัน คือ

1. ผลกำไรจาก การขายปลีก ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างต้นทุนสินค้า ที่ซื้อมาจากบริษัท กับราคาขายปลีก ที่ได้ขาย สินค้าหรือบริการ ให้กับผู้บริโภค

2. คอมมิชชั่น หรือ ส่วนลดตามระดับยอดขายของสินค้า หรือ บริการที่มีการสั่งซื้อ (เพื่อบริโภคหรือ เพื่อขายให้กับ ผู้ขายคนอื่นต่อๆไป) จากผู้ขายที่ได้ชักชวนเข้ามา สมัครร่วมธุรกิจ ในทีมขาย หรือที่เรียกว่า " สปอนเซอร์" ในระดับเป็นชั้นต่อๆไป

จะเห็นได้ว่า หลักการของระบบการตลาดหลายชั้นคือ การที่นักขายได้รับผลตอบแทน ทั้งจากที่ตนเองขายปลีก และผลตอบแทนจาก การขายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ นักขายในกลุ่มของตน ชวนมาร่วมกันขาย จนมียอดขายรวมเป็นก้อนใหญ่ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิด โอกาสใน การสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีขีดจำกัด ซึ่งเกิดจากการ สปอนเซอร์ หรือ ชักชวนผู้อื่นมา เข้าร่วมธุรกิจอัน ทำให้ ระบบการตลาดหลายชั้น เป็น ระบบที่มีศักยภาพสูงสุด ในธุรกิจขายตรงปัจจุบัน

เนื่องจากธุรกิจขายตรงเป็นอาชีพใหม่ ที่กำลังติดอันดับท้อปฮิต สำหรับ ผู้ที่ต้องการมีรายได้เสริม หรือต้องการเป็น เจ้าของธุรกิจของตนเอง ดังนั้น ก่อนจะสมัครเป็น นักขายตรง รายใหม่ ขอให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งต่อไปนี้เสียก่อน

การทำธุรกิจขายตรง ไม่ใช่ การลงทุนด้านการเงิน เพื่อให้ได้ผลตอบแทน ในระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นการสร้างธุรกิจ ที่ต้องใช้ ความมานะอดทน ต้องมี การพบปะผู้คน เพื่อแนะนำสินค้า และ ให้บริการลูกค้า ต้องฝึกฝนตนเอง และ ถ่ายทอดแบบอย่างที่ดีให้กับ ผู้ที่ตนได้เชิญชวนมาร่วมทีม

บริษัทต้นสังกัดต้องมี ความน่าเชื่อถือ มีการลงทุนในระบบบริหารจัดการภายใน มีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนา นักขายทั้งในด้าน ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและการดำเนินธุรกิจ จ่ายค่าตอบแทน ตามแผน การจ่ายผลตอบแทน อย่างถูกต้องตรงเวลา และมีความรับผิดชอบสูง ทั้งต่อ นักขายตรง ในสังกัดและผู้บริโภค

บริษัทธุรกิจขายตรง ที่มีอนาคตจะมี แผนการดำเนินธุรกิจ ที่ยุติธรรม และ สร้างความพึงพอใจ ต่อทั้ง นักขาย และ ผู้บริโภค โดยเฉพาะ โอกาส ในการสร้างรายได้ของนักขาย จะต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่านักขายนั้นจะสมัครทำธุรกิจก่อนหรือหลัง

ระบธุรกิจที่มีการขายสินค้าบางอย่างอาจจะอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรงระบบการตลาดหลายชั้น หรือ เป็นระบบการตลาดแบบเครือข่าย พึงสังเกตว่า สินค้าในระบบการตลาดหลายชั้นที่แท้จริง ต้องมีลักษณะดังนี้

  • สินค้านั้นมีประโยชน์จริง ใช้แล้วหมดไปและต้องซื้อหามาใช้ใหม่

  • สินค้านั้นสามารถนำไปขายปลีกได้จริง และผู้ขายจะมีรายได้เป็นผลกำไรจาก การขายปลีก

  • สินค้านั้นได้ผ่านขั้นตอนการนำเข้าและชำระภาษีอากรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

  • สินค้าประเภทเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสินค้าบำรุงสุขภาพต้องผ่าน การขึ้นทะเบียน และ อนุญาตให้จำหน่ายได้จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) เรียบร้อยแล้ว

  • สินค้านั้นต้องมีฉลากบรรยายสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ.)

  • สินค้าบางประเภทต้องมีใบอนุญาตโดยเฉพาะให้จัดจำหน่ายได้ เช่น สุรา ต้องมีใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต เป็นต้น

  • สินค้านั้นต้องมีการรับคืน หรือมีการรับประกันจาก บริษัทผู้จัดจำหน่าย โดยมีเอกสารจากบริษัทเผยแพร่อย่างชัดเจน

เนื่องจากรูปแบบของระบบปิระมิด หรือแชร์ลูกโซ่อาจมีความใกล้เคียงกับ ลักษณะบางประการของการขายตรง ะบบการตลาดหลายชั้น (MLM) จึงขอให้พิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างระบบทั้งสองที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

การขายตรงระบบการตลาดหลายชั้น

  • เงินลงทุนและค่าธรรมเนียมในการเริ่มต้นธุรกิจต่ำ เพียงจ่ายเงินค่าสมัครเพื่อรับ คู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเท่านั้น หากต้องการลาออก บริษัทต้นสังกัดก็ยินดีคืนเงินค่าสมัคร และค่าผลิตภัณฑ์ ที่ได้ซื้อไปเต็มจำนวนด้วย

  • จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลากชนิดที่มีคุณภาพสูง ยอดขายจะมาจากการจำหน่ายสินค้า ได้ซ้ำหลายครั้ง และความพึงพอใจของลูกค้า เป็นสำคัญ ดังนั้นบริษัทจ ะทุ่มเทเงิน ลงทุนเพื่อการวิจัย ค้นคว้าและพัฒนา คุณภาพของสินค้า

  • รับประกันคุณภาพและความพอใจในตัวสินค้า ลูกค้าสามารถเปลี่ยน หรือคืนสินค้าได้หากไม่พึงพอใจ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

  • ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาวเป็นสำคัญ เพราะ บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อนักขาย ซึ่งเป็น ผู้ดำเนินธุรกิจอ ย่างแท้จริง

  • การจ่ายผลประโยชน์ รายได้ และตำแหน่งขึ้นอยู่กับการทำงานของนักขาย นั่นหมายถึง รายได้จะมาจาก ยอดขาย ที่ขายสินค้าได้

  • การก่อตั้งธุรกิจขึ้นอยู่กับการขายสินค้าคุณภาพ ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป และบริษัทจะให้ความสนใจ ในการขยายตลาด ให้กว้างออกไปมีนักขายอิสระที่อาศัยการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้

  • มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมีข้อห้ามมิให้นักขายกักตุนสินค้า

  • นักขายจะเน้นในเรื่องการขายสินค้าและการให้บริการหลังการขายอย่างต่อเนื่อง

  • เป็นการขายสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการขายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีก และเป็นธุรกิจ ที่ถูกต้องตาม กฎหมาย ซึ่งผู้บริโภค นักขาย และบริษัทขายตรงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ความหมายของขายตรงและตลาดแบบตรง

ขายตรง (Direct Selling หรือ Direct Sales) หมายถึง ระบบการขายโดยผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือตัวแทนขาย เพื่อนำเสนอขายสินค้า หรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค หรือของผู้อื่น หรือ สถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ

ขายตรงจึงเป็นยุทธวิธีที่เจาะจงถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพของตลาดปัจจุบัน เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี

ตลาดแบบตรง (Direct Marketing) หมายถึง การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ

ตลาดแบบตรงจึงเป็นวิธีการทางตลาดที่ใช้สื่อต่าง ๆ (Media) เป็นสื่อกลางให้ผู้บริโภคสนใจในตัวสินค้าหรือบริการ โดยไม่ใช้พนักงานขาย (Non-Personal Selling) เช่น การเสนอขายสินค้าทางไปรษณีย์ (T.V.Direct) เป็นต้น

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการขาย

ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้จำหน่ายอิสระตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อให้ซื้อสินค้า หรือรับบริการ

ผู้จำหน่ายอิสระ หมายถึง บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

ตัวแทนขายตรง หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หมายถึง เจ้าของกิจการขายตรง

การประกอบธุรกิจขายตรง

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง บัญญัติส่วนของการประกอบธุรกิจขายตรงไว้ดังนี้ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัติผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนและแผนการจ่ายผลตอบแทนต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องไม่กำหนดให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้าง ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคลหรือแนะนำผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างอื่น เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง

2. ผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างขึ้นอยู่กับการขายสินค้า หรือบริการแก่ผู้บริโภค รวมไปถึงการซื้อเพื่อการใช้หรือบริโภคเอง

3. ต้องไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า

4. ต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล

5. ต้องแสดงวิธีการคิดคำนวณการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงต่อความเป็นจริงหรือเป็นไปได้จริงและอย่างเปิดเผยชัดเจน

6. ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมกาขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงจากผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างในอัตราสูงกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด สัญญาระหว่างผู้จำหน่ายอิสระกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้ทำเป็นหนังสือ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. กำหนดเงื่อนไขชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทนตามแผนการจ่ายผลตอบแทน

2. กำหนดเงื่อนไขชัดเจนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการสมัคร ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

3. กำหนดเงื่อนไขชัดเจนเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงจะรับซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย ชุดคู่มือ หรืออุปกรณ์ส่งเสริมธุรกิจคืนจากผู้จำหน่ายอิสระ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่ผู้จำหน่ายอิสระสามารถใช้สิทธิ ดังกล่าว

การขายตรงสินค้าหรือบริการ

การนำสินค้า หรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอิสระต้องดำเนินการตามเงื่อนไขและแผนการขายที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงกำหนดการเข้าไปติดต่อเพื่อเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริโภค หรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นก่อน และต้องไม่กระทำการอันเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่บุคคลดังกล่าว ซึ่งผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงซึ่งออกโดยผู้ประกอบธุรกิจขายตรงด้วย

ปัจจุบันธุรกิจขายตรงในประเทศไทยมีส่วนสร้างความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อบุคคล สังคมและประเทศชาติโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายจำนวนมาก เช่น ผู้แทนจำหน่ายอิสระผลิตภัณฑ์แอมเวย์ ผลิตภัณฑ์ทัพเพอร์แวร์ ตัวแทนขายเครื่องใช้ไฟฟ้าลักซ์ เครื่องสำอางเอวอนหรือมิสทีน ตลอดจนสินค้าและบริการอื่น ๆ จำนวนมาก ธุรกิจขายตรง จึงเป็นช่องทางการขายปลีกรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้บริโภคคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

จรรยาบรรณธุรกิจขายตรงไทย

จรรยาบรรณธุรกิจขายตรงไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค ส่งเสริมการแข่งขันอย่างยุติธรรมในขอบเขตของธุรกิจการค้าเสรี เพื่อยกระดับภาพพจน์ของธุรกิจขายตรงในสายตาสาธารณชนทั่วไป โดยได้รับหลักการและแนวทางจากจรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลก ซึ่งบัญญัติขึ้นสำหรับใช้เป็นบรรทัดฐานที่จะยอมรับเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในสมาคมขายโดยตรงของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ขายตรงโลก เมื่อผู้บริโภคร้องเรียนไปยังสมาคมการขายตรงไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสนอขายสินค้า และการให้บริการอันไม่เหมาะสมของบริษัทสมาชิกของสมาคม สมาคมจะพิจารณาและหาวิธีการแก้ไขหากการกระทำดังกล่าวผิดต่อจรรยาบรรณ เมื่อบริษัทสมาชิกได้รับแจ้งจากสมาคมให้แก้ไขแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและข้อบังคับของสมาคมจะได้รับการพิจารณาให้พ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกของสมาคม

จรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลก

จรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลก เพื่อให้บรรดาสมาคมขายตรงในประเทศต่าง ๆ ได้ปฏิบัติ

1. ไม่ใช้กลยุทธ์การขาย ตัวแทนขายจะต้องไม่ใช้กลยุทธ์การขายในรูปลักษณ์ที่ชวนให้เข้าใจผิดลวงล่อหรือไม่ยุติธรรม

2. แสดงสถานภาพที่แท้จริงของตน ตัวแทนขายจะต้องแสดงสถานภาพที่แท้จริงของตน ให้ผู้บริโภคที่สนใจได้รับทราบโดยผู้บริโภคไม่ต้องร้องขอตั้งแต่เริ่มทำการเสนอขาย และจะต้องระบุชื่อกิจการที่ตนสังกัด สินค้าที่สำเสนอและจุดประสงค์ของการเชิญชวน ในกรณีการขายแบบเป็นกลุ่มตัวแทนขายต้องระบุจุดประสงค์ของการชุมนุมให้เจ้าภาพ และผู้เข้าร่วมฟังได้ทราบอย่างชัดเจน

3. การอธิบายและการสาธิตสินค้าที่นำเสนอ จะต้องมีความสมบูรณ์ครบถ้วนและถูกต้องโดยเฉพาะเรื่องของราคาสินค้า ราคาสินค้าเงินเชื่อ วิธีการชำระเงิน ระยะเวลาการพิจารณาสินค้า สิทธิการรับคืนสินค้า ระยะเวลาการรับประกัน การบริการหลังการขายและการส่งมอบสินค้า

4. ต้องตอบคำถามของผู้บริโภค ตัวแทนขายจะต้องตอบคำถามทุกคำถามเกี่ยวกับสินค้าและข้อเสนอโดยถูกต้องตามความเป็นจริง และเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกัน

5. ยื่นใบสั่งซื้อเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่เสนอขายสินค้าหรือบริการตัวแทนขายจะต้องยื่นใบสั่งซื้อเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะต้องระบุชื่อบริษัทและตัวแทนขาย ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และเงื่อนไขการขายให้ชัดเจน

6. ให้คำมั่นสัญญาด้วยวาจาตามที่ได้รับความเห็นชอบจากกิจการเท่านั้น

7. ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ธุรกิจขายตรงและตัวแทนขายจะต้องตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการขาย เช่น ใบสั่งซื้อ แค็ตตาล็อก คู่มือแนะนำสินค้า เงื่อนไขเกี่ยวกับเวลาในการส่งมอบสินค้า การขอรับเงินคืน ฯลฯ เอกสารทุกชนิดจะต้องมีความถูกต้อง

8. การรับประกันหรือากรรับรองของตัวแทนขาย เงื่อนไขรายละเอียด และข้อจำกัดของการให้บริการหลังการขาย ชื่อและที่อยู่ของผู้รับประกัน ระยะเวลาการรับประกันและมาตรการการแก้ไขในส่วนของผู้ซื้อจะระบุไว้อย่างชัดเจนในใบสั่งซื้อ หรือใบกรอกสารอื่น ๆ ที่ส่งมาด้วย หรือในเอกสารที่แนบมาพร้อมกับสินค้า

9. เอกสารส่งเสริมการขาย การโฆษณา หรือเอกสารที่จัดส่งทางไปรษณีย์จะไม่มีข้อความบรรยาย รายละเอียดคุณสมบัติหรือภาพประกอบของสินค้า หรือชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือมีลักษณะลวงล่อจะระบุชื่อ และที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ของธุรกิจหรือตัวแทนขายไว้ด้วย

10. ไม่กล่าวคำอวดอ้าง ธุรกิจขายตรง และตัวแทนขายจะไม่กล่าวคำอวดอ้าง หรือคำยืนยันที่มิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นความจริงล้าสมัยหรือไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำเสนอหรือนำมาใช้ในลักษณะชี้นำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด

11. ละเว้นไม่ใช้การเปรียบเทียบ ธุรกิจขายตรงและตัวแทนขายจะละเว้นไม่ใช้การเปรียบเทียบอันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและขัดต่อหลักการว่าด้วยการแข่งขันที่ยุติธรรม การเปรียบเทียบจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงสามารถพิสูจน์ได้ จะไม่ให้ร้ายป้ายสีธุรกิจหรือสินค้าใด ๆ โดยไม่ยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และจะไม่นำชื่อหรือสัญลักษณ์การค้าของสินค้าหรือบริษัทอื่น ตลอดจนชื่อเสียงที่ผนวกกับสิ่งเหล่านี้มาหาผลประโยชน์โดยไม่ยุติธรรม

12. การติดต่อโดยส่วนตัวหรือทางโทรศัพท์ จะกระทำในลักษณะพอเหมาะพอดีในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดผลการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ตัวแทนขายจะหยุดการสาธิตหรือการเสนอขายเมื่อผู้บริโภคร้องขอ

13. ไม่นำเอาความไว้วางใจของผู้บริโภคมอบให้มาแสวงหาผลประโยชน์ ธุรกิจขายตรงและตัวแทนขายจะไม่นำเอาความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มอบให้มาแสดงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ จะให้ความเคารพต่อการขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจของผู้บริโภคและจะไม่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากวัยความเจ็บป่วย การขาดความเข้าใจหรือความรู้ทางด้านภาษาของผู้บริโภค

14. ไม่โน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการ ธุรกิจขายตรงและตัวแทนขายจะไม่โน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการ โดยอ้างกับผู้บริโภคว่าจะได้รับส่วนลดบางส่วนหรือเต็มราคา หากสามารถชักชวนให้ผู้บริโภคคนอื่น ๆ สั่งซื้อสินค้าอย่างเดียวกันนั้นกับตัวแทนขาย

15. ส่งมอบสินค้าในเวลาที่เหมาะสม ธุรกิจขายตรง และตัวแทนขายจะต้องส่งมอบสินค้าตามใบสั่งซื้อของผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือกำหนดไว้

การดำเนินธุรกิจขายตรงของตัวแทนขายยังมีจรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลก ต่อตัวแทนขาย ระหว่างตัวแทนขายและระหว่างบริษัทสมาชิก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองตัวแทนขาย เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างยุติธรรมในขอบเขตของธุรกิจการค้าเสรี เพื่อยกระดับภาพพจน์ของธุรกิจขายตรงในสายตาของสาธารณชน