ผู้ประกอบการ จะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาดเพื่อหาทิศทางการดำเนินกิจการอย่างเหมาะสม สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค และสามารถอยู่เหนือคู่แข่งขันได้
ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการตลาด ซึ่งสถานการณ์ หมายถึง สภาพแวดล้อมขณะที่ดำเนินการเรื่องใด ๆ สถานการณ์ทางการตลาด จึงหมายถึง สภาพแวดล้อมขณะที่ดำเนินการทางด้านการตลาด
แบ่งสภาพแวดล้อมทางการตลาด ได้ดังนี้
1) สภาพแวดล้อมมหภาค (Macro – environment) เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจมากนัก แต่ธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนการดำเนินการให้เหมาะสม สภาพแวดล้อม มหภาคมีดังนี้
1.1 ประชากรศาสตร์ ลักษณะระชากรศาสตร์มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ผู้ดำเนินธุรกิจจึงต้องศึกษาความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงของประชากร เช่น อายุ การศึกษา รูปแบบครอบครัว เป็นต้น
1.2 เศรษฐกิจ เศรษฐกิจมีผลต่อรายได้ และอำนาจซื้อของประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงทำให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
1.3 สภาวะแวดล้อมทางกายภาพ ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม องค์กรที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ตรงกันข้ามองค์กรที่แสดงออกถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการต่อต้านการใช้สินค้าได้ ดังนั้นการปฏิบัติตามกฎ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
1.4 เทคโนโลยี ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องก้าวตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ทั้งนี้ต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้เทคโนโลยีที่สูงเกินไปทำให้เสียต้นทุนจ้างช่างเทคนิค นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้กับเทคโนโลยีที่ทำให้สิ้นเปลือง และไม่คุ้มกับการดูแลรักษา
1.5 การเมืองและกฎหมาย กฎหมายที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องศึกษา เช่น กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
1.6 วัฒนธรรมและสังคม ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิจารณาถึงค่านิยม และวัฒนธรรมของกลุ่ม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ทราบแนวทาง และระวังไม่กระทำผิดต่อความดีงามของแต่ละสังคม เพราะอาจก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงได้
2) สภาพแวดล้อมจุลภาค (Micro-environment) เป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยต่อไปนี้
2.1 ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้ขายวัตถุดิบ เกี่ยวกับคุณภาพของวัตถุดิบ ราคาของวัตถุดิบ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ
2.2 สภาพแวดล้อมภายใน พิจารณาเกี่ยวกับบุคคลต่าง ๆ ภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับงานด้านการตลาด ซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน และการทำงานเป็นทีมที่แสดงถึงความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วย
2.3 คนกลางทางการตลาด เป็นการพิจารณาเลือกใช้คนกลางอย่างเหมาะสม โดยเลือกคนกลางที่มีประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า การช่วยเหลือด้านส่งเสริมการตลาด โดยคำนึงถึงต้นทุนด้วย
2.4 กลุ่มลูกค้า เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจมีรายได้ จะต้องศึกษาถึงความต้องการ ความจำเป็นในการใช้สินค้าของลูกค้า อำนาจซื้อ ความต้องการที่จะซื้อ และต้องพิจารณาว่าองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้หรือไม่
2.5 คู่แข่งขัน พิจารณาว่าคู่แข่งขันของกิจการคือใคร มีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร เพื่อจะได้ปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือคู่แข่งได้
2.6 กลุ่มชุมชน เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ หน่วยงานเหล่านั้นได้แก่ สถาบันการเงิน หน่วยงานของรัฐบาล สื่อมวลชน เป็นต้น กลุ่มชุมชนจะต้องมีกฎระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการดำเนินงาน จึงต้องมีข้อจำกัดในการปฏิบัติ กิจการจะต้องศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงหรือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินกิจการ
ครูและผู้เรียนช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์การจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นการพิจารณาว่าการนำสินค้าถึงมือผู้บริโภคนั้น สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ การจัดจำหน่ายที่จัดว่าบรรลุวัตถุประสงค์คือ สามารถสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า ทำให้ในตลาดมีสินค้าวางจำหน่ายในจำนวนที่เหมาะสม ในเวลาที่ถูกต้อง สถานที่ที่ถูกต้อง รวมถึงการวิเคราะห์ว่าสินค้าที่จัดจำหน่าย เหมาะกับการจัดจำหน่ายแบบใด เพื่อให้เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม และเอาชนะคู่แข่งขันได้
ลักษณะการจัดจำหน่ายที่ประสบความสำเร็จ ดังนี้
1) รวดเร็วและสะดวก ผู้ซื้อมักพึงพอใจที่ได้รับสินค้าที่สั่งซื้อภายในเวลารวดเร็วและสะดวก ช่วงที่ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้า คือช่วงที่เวลาที่เขากำลังเกิดความต้องการ จึงต้องการให้สินค้าถึงมือโดยเร็วที่สุด กิจการที่สามารถสนองความต้องการของผู้ซื้อได้ ย่อมสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ปัจจุบันการบริการส่งสินค้าถึงที่ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นที่นิยม เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อ และนอกจากนี้บางกิจการยังมีกลยุทธ์การรับประกันเรื่องระยะเวลาในการส่งเพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความพึงพอใจมากขึ้นอีกด้วย เช่น พิชซ่า คอมปะนี แจ้งกับลูกค้าว่า หากพนักงานไม่สามารถส่งสินค้าให้ถึงมือภายใน 30 นาที ผู้ซื้อจะได้กินฟรี เป็นต้น
2) ความน่าเชื่อถือ การจัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ คือการจัดจำหน่ายนั้นสามารถทำให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งด้านคุณภาพ และรูปร่างลักษณะของสินค้า
3) หาสินค้าได้ง่าย การจัดจำหน่ายที่ประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้ผู้ซื้อเห็นสินค้าได้ทุกครั้งและทุกที่ ที่ต้องการ โดยเฉพาะปัจจุบันมีสินค้าหลายชนิดที่ทดแทนกันได้ หากผู้ซื้อไม่พบสินค้าที่ต้องการอาจตัดสินใจซื้อสินค้าทดแทน ทำให้สินค้าขายได้น้อยลง
4) ขั้นตอนการสั่งซื้อสะดวก การสั่งซื้อที่สะดวกช่วยสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อมักเกิดความพึงพอใจหากสามารถสั่งซื้อสินค้าที่สะดวกได้หลายช่องทาง เช่น ทางโทรศัพท์ ทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น กระบวนการสั่งซื้อที่ดีจะต้องสั้น เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อได้เร็วที่สุด และมีเจ้าหน้าที่คอยรับคำสั่งซื้อตลอดเวลา หลังจากการสั่งซื้อ ผู้ขายจะต้องรีบจัดส่งสินค้าให้ทันที
ลักษณะการวางจำหน่ายสินค้าในตลาดประเภทต่างๆ
นโยบายการจัดจำหน่าย โดยเป็นการกำหนดนโยบายการจัดจำหน่ายสินค้า ควรมีการวิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1) ลักษณะของสินค้า สินค้าที่จำหน่ายแบ่งออกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าทั้งสองประเภทต่างมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอุโภคบริโภค ประเภทสินค้าสะดวกซื้อ ควรเลือกใช้ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่สามารถกระจายสินค้าถึงผู้ซื้อได้อย่างทั่วถึง หรือกรณีสินค้าประเภทเจาะจงซื้อ ควรวางขายในร้านค้าที่มีสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ต้องการสินค้าประเภทนี้
2) ลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการซื้อสินค้า เช่น ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ผู้บริโภคคนสุดท้าย ผู้ใช้สินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น
3) ลักษณะของคู่แข่งขัน คู่แข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจนำมาวางแผนการจัดจำหน่าย เพื่อให้มีการจัดจำหน่ายที่เหนือกว่า เช่น เมื่อคู่แข่งขัน มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึง ธุรกิจก็จะต้องวางแผนการจัดจำหน่ายที่สามารถกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงเช่นกัน เป็นต้น
แนวโน้มการจัดจำหน่าย ซึ่งการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ซื้อสินค้าด้วย ผู้จัดจำหน่ายสินค้าจึงต้องวางแผนการจัดจำหน่ายอย่างเหมาะสม สนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ซื้อได้ โดยการพิจารณาแนวโน้มของการค้าแต่ละประเภท
แนวโน้มการค้าส่ง ปัจจุบันผู้ผลิต และผู้ค้าปลีกมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งมีการใช้การค้า ระบบค้าปลีกแบบลูกโซ่ และระบบสิทธิทางการค้า ทำให้การค้าส่งได้รับความสนใจจากผู้ผลิต และผู้ค้าปลีกน้อยลง นอกจากนี้ปรากฏว่าการดำเนินการของผู้ค้าส่งนั้น ไม่สามารถส่งเสริมสายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตได้อย่างเต็มที่ เพราะผู้ค้าส่งอาจจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตหลายราย ผู้ค้าส่งไม่สามารถสร้างคลังสินค้าให้มีจำนวนมากพอสำหรับให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ผู้ค้าส่งบางรายไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ผลิตในการดำเนินนโยบายทางการตลาด
ผู้ประกอบการด้านการค้าส่ง ควรพิจารณาและหาแนวทางเพื่อให้สามารถอยู่ในระบบการจัดจำหน่ายได้ ต้องมีการปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของกลุ่มเป้าหมาย และผู้ผลิต ปรับปรุงการบริการ มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมทั้งศึกษาการดำเนินงานของคู่แข่งขันทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อการวางแผนกลยุทธ์ที่เหนือกว่า มีการนำเทคนิคการส่งเสริมการขายเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก
แนวโน้มการค้าปลีก สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ผู้ค้าปลีกปัจจุบันใช้รูปแบบการขยายสาขา โดยการนำร้านสาขาเข้าไปแหล่งการค้า เช่น มีสาขาร้านขายยาเปิดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านสะดวกซื้อ มีร้านกาแฟ มีร้านเบเกอรี่ เปิดอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น
2) มีการแข่งขันแบบต่างระดับ (Intertype)
มากขึ้น ปัจจุบันมีการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่มีรูปแบบการดำเนินกิจการต่างกันแต่จำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกันมากขึ้น เช่น ร้านซูเปอร์มาเก็ต ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า แผงลอย ร้านขายของชำ ต่างก็จำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกัน
เป็นต้น
3) ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่มีการดำเนินกิจการที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าทั้งด้านระบบสารสนเทศ การบริการที่ดีกว่า การจำหน่ายสินค้าราคาถูกกว่า นอกจากนี้ยังสามารถเป็นผู้ชี้นำผู้ผลิตว่าควรจะผลิตสินค้าลักษณะใด จึงจะสามารถสนองความต้องการของผู้ซื้อได้ดี ควรมีการส่งเสริมการขายอย่างไรจึงสามารถดึงดูความสนใจของผู้ซื้อได้ ตัวอย่างธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ เช่น โฮมโปร พาวเวอร์บาย เทสโก้โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น
4) ผู้ค้าปลีกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการมากขึ้น เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสั่งซื้อ เพื่อควบคุมสินค้าคลัง เพื่อความสะดวกในการชำระเงินของผู้ซื้อ เป็นต้น
5) ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นระบบการสื่อสารที่ไร้พรมแดน มีการเปิดการค้าอย่างเสรีมากขึ้น จึงมีการขยายสาขาไปต่างประเทศกันมากขึ้น
6) การค้าปลีกในปัจจุบันมีแนวโน้มขายความบันเทิง ความสนุกสนานนอกเหนือจากตัวสินค้า เช่น ในพื้นที่รับประทานอาหาร มีการจัดพื้นที่สำหรับให้เด็กเล่น ในห้างสรรพสินค้าชั้นที่จำหน่ายสินค้าเด็กเล่น มีสวนสนุกเล็กๆ ให้เด็กเล่น ในร้านหนังสือมีการสอนการระบายสี เป็นต้น
7) ปัจจุบันมีร้านค้าปลีกแบบไม่มีร้านค้าเกิดขึ้นแข่งขันกับร้านค้าปลีกแบบไม่มีร้านค้า เช่น การขายสินค้าทางโทรทัศน์ การขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต การขายสินค้าโดยผู้ขายจัดส่งแค็ตตาล็อกสินค้าไปถึงผู้ซื้อโดยตรง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้ซื้อจำนวนมากเนื่องจากได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้อง
เดินทางไปถึงสถานที่จำหน่าย
8. ครูและผู้เรียนยกตัวอย่างแนวโน้มการบริการ จากการเปิดโลกการค้าเสรี ธุรกิจบริการอยู่ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ AFTA (Asean Frameworks Agreement on Service) ได้กำหนดรอบเปิดเสรีการค้าไว้ 12 สาขา ได้แก่
1. สาขาบริการด้านธุรกิจ
2. สาขาสื่อสาร
3. สาขาก่อสร้างและวิศวกรรมเกี่ยวข้อง
4. สาขาจัดจำหน่าย
5. สาขาการศึกษา
6. สาขาสิ่งแวดล้อม
7. สาขาการเงิน
8. สาขาสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
9. สาขาการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง
10. สาขานันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา
11. สาขาขนส่ง
12. สาขาอื่น ๆ
ธุรกิจบริการในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs มีจุดอ่อนคือไม่สามารถออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ หน่วยงานของรัฐบาลโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยปฏิบัติตามบันได 3 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 สร้างองค์ความรู้ ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ซึ่งการมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถหาแนวทางเพื่อให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านกฎระเบียบการประกอบธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับสากล
ขั้นที่ 2 ยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะจัดทำเกณฑ์คุณภาพธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละสาขา ศึกษาจุดแข็ง และจุดอ่อน เพื่อหาทิศทางการพัฒนาปรับปรุงได้อย่างตรงประเด็น โดยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเชิงลึก แนะนำโดยวิธี on the job training ธุรกิจที่ผ่านกระบวนการในการพัฒนาแล้ว จะมีการประเมินอีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถยกระดับสู่มาตรฐานสากลได้หรือไม่
ขั้นที่ 3 สร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล โดยการสนับสนุนให้ธุรกิจมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายธุรกิจ เพิ่มความหลากหลายการให้บริการ เพื่อตอบสนอบความต้องการของตลาดได้มากขึ้น
การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด SWOT
การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายในที่ได้รับความนิยมมากและถือเป็นการวิเคราะห์ขั้นแรกของการวิเคราะห์องค์กรคือ การวิเคราะห์ตนเอง (Self Analysis) ที่เรียกว่าการวิเคราะห์ SWOT Analysis ซึ่งสายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยควรใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ดังนี้
• จุดแข็ง (Strenght : S) เป็นการศึกษาความสามารถพิเศษขององค์กรทั้งนี้เพื่อรักษาและพัฒนาความสามารถนั้นให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มุ่งสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม การพัฒนาจุดแข็งต้องสร้างให้เกิดความแตกต่างที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพลักษณ์ที่ลูกค้าให้ความเชื่อถือ หรือเอกลักษณ์ความเป็นไทยในการให้บริการ
• จุดอ่อน (Weakness : W) ทั้งนี้เพื่อเข้าใจจุดบกพร่องของตัวเอง และทำให้จุดอ่อนขององค์กรเหลือน้อยที่สุด คือการ แก้ไขผลทางลบให้เป็นบวก ถ้าไม่สามารถทำให้เป็นบวกได้ก็ทำให้เป็นกลางแทน เพราะหากเป็นลบจะเป็นภาระต่อองค์กร ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ไม่มีองค์กรใดในโลกที่มีความสมบูรณ์พร้อม ซึ่งจุดอ่อนของบริษัทการบินไทยน่าจะได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ด้อยกว่าคู่แข่ง ขาดการพัฒนา มีลักษณะการตัดสินใจช้า ซ้ำซ้อน ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน
• โอกาสทางธุรกิจ (Opportunity : O) เพราะว่าการสร้างโอกาสทางธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความต้องการในการบริโภคของลูกค้าและของตลาดโดยรวมเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ช่องทางและโอกาสจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ในส่วนนี้ บริษัทการ บินไทยจะได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ของที่ตั้งในกรุงเทพฯ และการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
• อุปสรรค (Threat : T) เนื่องจากว่าการศึกษาวิเคราะห์องค์กรนั้น ความสำคัญต้องมุ่งไปที่ อุปสรรค ภัยคุกคามที่มี และที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะจะทำให้องค์กรสามารถเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นั้นได้ อุปสรรคหรือความเสี่ยงของบริษัทการบินไทยได้แก่ การแทรกแซงจากภายนอก การเกิดของสายการบินต้นทุนต่ำ การเปิดเสรีการบิน และการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในปัจจุบัน
ในการทำ SWOT Analysis ส่วนที่ยากที่สุดในการวิเคราะห์คือการคิดออกมาเป็นยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ ยุทธศาสตร์ คือการกำหนดแนวทางในการพัฒนา จากตำแหน่งสถานะปัจจุบันขององค์กร ไปสู่ตำแหน่งที่บ่งถึงสถานการณ์ขององค์กรที่ดีกว่าเดิม
การวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis)
จุดแข็ง
1.ผู้บริหารมีความรู้ และสูตรในการผลิตน้ำพริกเป็นอย่างดี และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำพริกมาเป็นเวลายาวนาน
2.ีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แน่นอน โดยทำสัญญาส่งเป็นรายเดือนกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย
3.ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าจากองค์กรอาหารและยาตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มดำเนินการ
4. มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้สามารถตั้งราคาขายได้ถูกกว่าคู่แข่งระดับเดียวกันในตลาด
5.กิจการตั้งอยู่ใกล้แห่งวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตน้ำพริกทำให้มีต้นทุนในการขนส่งด้านวัตถุดิบที่ต่ำ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องสำรองวัตถุดิบไว้มาก
6.เงินลงทุนเริ่มแรก เป็นเงินลงทุนของผู้ก่อตั้งเองทั้งหมด ทำให้กิจการไม่มีปัญหาภาระหนี้สิน
จุดอ่อน
1.ตราสินค้าของกิจการยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ตราสินค้าให้ผู้บริโภครับรู้เท่าที่ควร
2.กิจการมีการดำเนินการในลักษณะ Labor Intensive ทำให้การเพิ่มกำลังแรงงาน และกำลังการผลิตเป็นได้ยาก
3. พนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานระดับแรงงาน ทำให้การพัฒนาทักษะฝีมือต้องใช้เวลามาก
4. สถานที่ผลิตสินค้าอยู่ในเขตที่พักอาศัยของชุมชน ทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านการขยายกำลังการผลิต
โอกาส
1. น้ำพริกเป็นอาหารที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน และเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาโดยตลอด ทำให้สินค้าสามารถขายได้อย่างสม่ำเสมอ
2. รัฐบาลมีนโยบายในการที่จะส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างจริงจัง ทำให้เป็นโอกาสในการขยายการผลิต
อุปสรรค
1. เป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนไม่มาก ทำให้มีคู่แข่งในตลาดจำนวนมาก
2. สินค้าเลียนแบบได้ง่าย ทำให้กิจการจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง รวมทั้งสร้างการรับรู้ในตราสินค้าให้กับกับผู้บริโภค
3. สูตรและฝีมือการทำน้ำพริกของผู้ผลิตแต่ละรายไม่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้บริโภคแยกความแตกต่างของสินค้าได้ยาก
4. น้ำพริกเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบตามธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องของผลผลิตขาดตลาด หรือความผันผวนของราคาวัตถุดิบ
การวิเคราะห์สถานการณ์ ( SWOT Analysis )
จุดแข็ง (Strength)
· ผู้บริหารมีความรู้ด้านการผลิตเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
· ที่ตั้งของกิจการอยู่ใกล้แหล่งชุมชน จึงสามารถกระจายสินค้าไปยังแหล่งต่างๆ ได้สะดวก
· ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้พนักงานที่มีประสบการณ์สูง ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ
· สินค้าราคาถูก
จุดอ่อน (Weakness)
· ลักษณะการบรรจุผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคมีลักษณะคล้ายคลึงกับบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น เช่น ปุ๋ยเคมี ทำให้ขาดรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
· ผลิตภัณฑ์ของกิจการ ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมาก ดังนั้นจึงสามารถจำหน่ายได้เฉพาะในเขตจังหวัดใกล้เคียงและเฉพาะตลาดล่างเท่านั้น
· กิจการขาดระบบจัดการ และระบบบัญชีการเงินที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ขาดข้อมูลแสดงสถานะการผลิต และการเงินที่ช่วยพิจารณาตัดสินใจด้านการจัดการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
โอกาส (Opportunity)
· ยังไม่มีผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในเขตพื้นที่ อ.เมือง จึงไม่มีปัญหาการแข่งขัน
· การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2546 ทำให้อัตราการเติบโตในภาคการผลิตและบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มด้วย
อุปสรรค (Threat)
· มีผู้ผลิตรายใหญ่ๆ หลายราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ผู้ผลิตเหล่านี้มีกำลังในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์มาก ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้าของคู่แข่งเป็นที่รู้จักและมีภาพลักษณ์ที่ดี
· สภาวะการแข่งขันนอกเขต อ. เมือง จ. สระบุรีและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ยากต่อการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายของกิจการได้ในอนาคต
การวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis) ของโรงพิมพ์ อินเฮ้าส์
จุดแข็ง
1. ให้บริการงานพิมพ์มานานกว่า 20 ปี
2. มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วจังหวัด
3. ราคาย่อมเยาและมีลูกค้าประจำ
จุดอ่อน
1. มีเงินทุนจำกัด
2. เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว
3. บุคลากรมีความรู้จำกัด
โอกาส
1. รัฐบางส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีและเน้น
กิจกรรมการประชาสัมพันธ์
2. เศรษฐกิจขยายตัว
อุปสรรค
1. ตลาดในจังหวัดค่อนข้างเล็ก
2. เทคโนโลยีการพิมพ์ในจังหวัดพัฒนาช้า
การวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis)
การวิเคราะห์ด้านจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของโครงการฟาร์มสุกรพันธุ์ในลักษณะรับจ้างเลี้ยงจากบริษัท โดยวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบมีดังนี้
จุดแข็ง
1. ไม่ต้องลงทุนด้านพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อาหาร ยา และค่ารักษาจากสัตวบาล สัตวแพทย์ และค่าออกแบบผังโรงงาน
2. สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานการเลี้ยงแน่นอน เพราะขั้นตอนต่าง ๆ กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท
3. มีตลาดแน่นอน
จุดอ่อน
1. ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการก่อสร้างโรงเรือนแบบมาตรฐาน
โอกาส
1. ปริมาณความต้องการบริโภคสุกรยังมีสูงกว่าความสามารถในการผลิตสุกรทั่วประเทศ
อุปสรรค
1. กระแสการบริโภคอาหารมังสวิรัต และชีวจิต อาจทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงไปบ้าง
การวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis)
จุดแข็งของกิจการ :
1. มีบริการเสริมที่หลากหลายให้กับลูกค้า เช่น ให้บริการถังเก็บน้ำแข็ง
2. น้ำแข็งมีความใส สะอาด และถูกสุขลักษณะอนามัย มากกว่าผู้ผลิตรายอื่น
3. มีแหล่งน้ำดิบที่ดี ทำให้ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน
จุดอ่อนของกิจการ :
1. ขาดแคลนแรงงาน
2. ใช้กำลังการผลิตยังไม่เต็มที่
โอกาส :
1. อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นทำให้อากาศร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี
2. จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ซื้อหาสินค้าบริโภค อุปโภคอยู่เสมอ น้ำแข็งก็เป็นสินค้าที่ขายดีในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวเช่นกัน
อุปสรรค :
1. การแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะมีการตัดราคาสินค้า
2. ไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง