บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพค้าปลีกค้าส่ง

สาระสำคัญ

การดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมีหลายลักษณะแตกต่างกันและมีการแข่งขันกันสูงมาก ในปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพค้าปลีกและค้าส่งจำนวนมาก เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ การค้าปลีกจึงมีความสำคัญในการกระจายสินค้าให้ผู้บริโภคคนสุดท้ายให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ในขณะที่การค้าส่งก็เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมการค้าปลีกให้นำสินค้าไปสู่ผู้บริโภคต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ จึงต้องมีความรู้ ความสามารถด้านการจัดการ การบริหารการขาย/สินค้า การเงิน และการตลาด เพื่อติดตาม และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตต่อไป


หน่วยที่ 1

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพค้าปลีกและค้าส่ง


ความหมายของการค้าปลีก

ค้าปลีก หมายถึง การขายโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสินค้าทั้งสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้ว

ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนบุคคลในครัวเรือน

การค้าปลีก (Retailing) หมายถึง การขายสินค้าให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย โดยการซื้อ

สินค้าของผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อบริโภคหรือเพื่อสมาชิกในครอบครัว ผู้ค้าปลีกจะซื้อสินค้า

จากใครก็ได้ แต่ต้องขายสินค้าให้กับผู้บริโภคคนสุดท้ายเท่านั้น


ความสำคัญของการค้าปลีก

1. ความสำคัญต่อผู้บริโภค ธุรกิจค้าปลีกช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกและหาซื้อสินค้าได้ง่าย รวดเร็วมากขึ้น และสามารถเลือกสินค้าได้ตามความต้องการ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

นำยาสีฟันใกล้ชิดมาจำหน่ายในร้านจำนวน 50 กล่อง แต่ลูกค้าต้องการซื้อเพียง 1 กล่อง ก็สามารถแบ่งขายได้โดยไม่ทำให้ส่วนที่เหลือเสียหาย

2. ความสำคัญต่อผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง ธุรกิจค้าปลีกจะช่วยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าส่งกับผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกสามารถช่วยส่งเสริมการตลาดโดยการโฆษณาสินค้าให้แก่ผู้ผลิต และผู้ค้าปลีกจะทราบรายละเอียดของลูกค้ามากกว่าผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง เพราะจะใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าสามารถแบ่งเบาภาระในการกระจายสินค้าของผู้ผลิตและผู้ค้าส่งได้ดี

ลักษณะของการประกอบอาชีพค้าปลีก

ร้านค้าปลีกในประเทศไทยมีจำนวนมาก และมีการลงทุนในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของร้านค้าปลีก ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากลักษณะดังต่อไปนี้

1. การดำเนินงานของกิจการค้าปลีก ในการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกนั้นสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของกิจการ ประเภทของสินค้า หรือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่นใช้พนักงานขาย ขายทางไปรษณีย์ หรือขายทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก การดำเนินงานจะเป็นระบบครอบครัว มีการจัดการไม่ซับซ้อน เจ้าของจะเป็นผู้ดำเนินงานในทุกเรื่อง

2. ผู้ประกอบการควรมีความรู้ ความสามารถ ผู้ประกอบการค้าปลีกควรมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการบริหารงานขาย การจัดการ การควบคุมสินค้า การบัญชี การเงิน การตลาดรวมทั้งการตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

3. โอกาสในการประกอบอาชีพการค้าปลีก ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าปลีก เช่น การมีร้านค้าปลีกในประเทศไทยอยู่กระจัดกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ ได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส เป็นต้น ทำให้เป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับบุคคลที่ต้องการทำงานในร้านค้าปลีก

4. การมีมนุษยสัมพันธ์กับลูกค้า ร้านค้าปลีกจะให้บริการโดยตรงกับผู้บริโภคคนสุดท้ายดังนั้นการบริการที่ประทับใจจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าปลีก เช่น การทักทายลูกค้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทราบความต้องการของลูกค้าและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันที จะช่วยทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นมาก

5. ลักษณะเฉพาะของร้านค้าปลีก ประเภทของสินค้าหรือบริการจะเป็นปัจจัยที่แสดงลักษณะของร้านค้าปลีก เช่น ร้านขายรองเท้า ร้านขายยา ร้านขายอาหาร เป็นต้น ร้านค้าเหล่านี้จะแตกต่างกันด้วยการให้บริการ สถานที่ตั้ง กลุ่มลูกค้าที่ให้บริการ ดังนั้นร้านค้าปลีกจะต้องทราบ

ถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย และพัฒนาร้านค้าไปในแนวทางที่กำหนดไว้

แนวความคิดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพค้าปลีก

ร้านค้าปลีกแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านนโยบาย การบริหารจัดการ การวางแผนดำเนินงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กิจการของตนเองประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเริ่มต้นจัดตั้งร้านค้าปลีก ก็ควรมีแนวคิดเกี่ยวกับ

การประกอบอาชีพค้าปลีกในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ทัศนคติของผู้ประกอบอาชีพค้าปลีก ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม(TraditionalTrade)หรือร้านโชวห่วย เป็นร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเก่า การจัดวางสินค้าไม่เป็นระเบียบไม่ติดป้ายราคาสินค้า มีสภาพเป็นร้านห้องแถวที่มีพื้นที่ไม่มากนัก การจัดการเป็นแบบครอบครัวเรียบง่าย ไม่มีขั้นตอนหรือระบบในการจัดการ และไม่ได้ใช้ความรู้ในเรื่องการจัดเรียงสินค้าและการบริหารสินค้าเท่าที่ควร ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น

2. พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ในปัจจุบันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยส่วนมากจะเน้นความสะดวกรวดเร็วและทันสมัยมากขึ้น และขนาดของครอบครัวจากอดีตที่มีครอบครัวขนาดใหญ่กับเปลี่ยนมาเป็นขนาดเล็ก จึงทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป นิยมซื้อสินค้าที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่แทนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกใกล้บ้าน

3. ควรสร้างจุดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของร้านค้าปลีก ในปัจจุบันร้านค้าปลีกจำนวนมากที่ยกเลิกทะเบียนการค้าหรือปิดตัวเองลง เพราะไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาการบริการเพื่อเผชิญกับการแข่งขันในตลาดได้ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่มากขึ้น

เนื่องจากมีรูปแบบที่ทันสมัย สะดวกสบาย สามารถเลือกซื้อสินค้าเองได้

4. ควรพัฒนาและปรับปรุงกิจการอยู่เสมอ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีสินค้าหลายชนิดและมีรูปแบบความบันเทิงอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายในร้าน ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกบางแห่งที่ไม่พัฒนาปรับปรุงจำนวนมากจนต้องปิดกิจการลง

5. ควรศึกษากลยุทธ์ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผู้ประกอบการค้าปลีกควรเรียนรู้กลยุทธ์ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งร้านค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้จะเน้นการบริการแก่ผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อที่ต้องการซื้อสินค้าเร่งด่วนหรือจำเป็น

6. ควรมีการวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการควรวางแผนการทำงานที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นจึงจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้น การเลือกทำเลที่ตั้งคือการเริ่มต้นที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากสินค้าหลักของกิจการค้าปลีกคือของใช้ในชีวิตประจำวัน ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมของธุรกิจค้าปลีกจึงควรตั้งอยู่ในชุมชนหรือสถานที่ที่มีผู้คนผ่านไปมา เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

7. ควรคำนึงถึงหลักการบริหารร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ การประกอบธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาทุกด้าน จึงควรทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคแล้วนำมาปรับปรุงการบริหารร้านให้มีประสิทธิภาพ

8. ควรคัดเลือกสินค้าภายในร้านให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกควรคัดเลือกสินค้าภายในร้านให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้าดังนี้

8.1 ควรจะคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคว่าเป็นกลุ่มใด เพื่อที่ร้านค้าจะได้รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค

8.2 การคัดเลือกสินค้าที่จะวางจำหน่าย ควรมีสินค้าหลายยี่ห้อ กลิ่น สี หรือรสในตัวสินค้าประเภทเดียวกัน

8.3 ควรพิจารณาสินค้าแต่ละประเภทที่นำมาจำหน่ายนั้นควรจะมีขนาดใด โดยดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคและลักษณะการใช้งานของสินค้า

8.4 การกำหนดราคาขาย ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และควรสังเกตการตั้งราคาขาย

9. ควรให้ความสำคัญในการบริการ ผู้ประกอบการสมัยใหม่ควรใส่ใจกับการบริการให้มากที่สุด

10. ควรจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมส่วนมากนั้นยังไม่ได้มีการบันทึกรายการสินค้าเข้า-ออก และยอดขายในแต่ละวัน การทำบัญชีนั้นจัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากจำเป็นต้องรู้ว่ามีกำไรหรือขาดทุนในแต่ละวัน/เดือนเท่าใด

11. ควรคำนึงถึงการตกแต่งร้าน ร้านค้าปลีกที่มีสินค้าวางเต็มร้านจนไม่มีทางเดินเข้าออกหรือเลือกซื้อสินค้า ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การจัดตกแต่งร้านเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนา เพราะสิ่งที่ลูกค้ามองเห็นได้ก่อน คือการจัดแสดงสินค้าในตู้กระจกหน้าร้านและทางเข้าถ้ามีการออกแบบที่ดีและน่าสนใจ ก็จูงใจลูกค้าให้เข้ามาในร้านได้ ลูกค้าส่วนมากต้องการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เป็นระเบียบ และเลือกสินค้าได้ด้วยตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ

11.1 จัดแผนผังร้าน

11.2 การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

11.3 การจัดวางสินค้า

12. บริหารพื้นที่ขายให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งสำหรับร้านค้าปลีกที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อจัดสรรพื้นที่สำหรับสินค้าที่มีการหมุนเวียนและกำไรแตกต่างกัน

13. ควรศึกษาและทำความเข้าใจการส่งเสริมการตลาด การส่งเสริมการตลาดเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่นำมาใช้เพื่อจูงใจผู้บริโภค

14. ควรสร้างความแตกต่างด้วยสินค้า “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” นโยบายของรัฐบาลที่ให้ดำเนินโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Tambon One Product (OTOP)”

15. ควรกล้าคิดกล้าทำ ผู้ประกอบการควรจะมีวางแผนงานล่วงหน้า และกล้าตัดสินใจลงทุนตกแต่งร้านค้า เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอและมีการบริการลูกค้าแบบเป็นกันเอง จึงจะทำให้ร้านประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านการต่าง ๆ

ความหมายความสำคัญ และลักษณะของการค้าส่ง

ความหมายของการค้าส่ง

การค้าส่ง (Wholesaling) หมายถึง การซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบมาเพื่อการจำหน่ายต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้าส่งรายอื่น หรือผู้ค้าปลีก จะเห็นว่าลูกค้าของผู้ค้าส่งคือกลุ่มที่ซื้อไปเพื่อการผลิตหรือเพื่อการจำหน่ายต่อ ไม่ใช่ซื้อไปเพื่อการบริโภคเหมือนลูกค้าของผู้ค้าปลีก จึงอาจกล่าวได้ว่าพ่อค้าส่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้ผลิตวัตถุดิบหรือผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปกระจายวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปไปสู่ตลาดโดยผ่านคนกลางประเภทอื่น ๆ

ความสำคัญของการค้าส่ง

1. ธุรกิจค้าส่งช่วยสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจค้าส่งสามารถสร้างรายได้มาสู่ประชาชนและสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในสังคมของประเทศได้เหมือนกับธุรกิจอื่นที่มีส่วนช่วยสังคมเจริญรุ่งเรืองได้ ในปัจจุบันการค้าส่งมีการกระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกประเภทของธุรกิจ

2. เพิ่มช่องทางการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ผู้ค้าส่งบางรายสามารถติดต่อทำการตลาดกับ

ต่างประเทศได้ดี ดังนั้นข้อมูลทางการตลาดจึงมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ค้าส่ง เพราะสามารถช่วยเหลือด้านการข้อมูลเพื่อติดต่อตลาดต่างประเทศได้ และอาจทำให้มีโอกาสในการส่งออกได้จำนวนมาก

3. ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจากข้อมูลสถิติแห่งชาติ มีข้อมูลว่าการค้าส่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าปลีกธุรกิจในประเทศ

ลักษณะของการค้าส่ง

ลักษณะของกิจการค้าส่งมีดังนี้

1. ผู้ที่ทำการค้าส่งอาจจะเป็นผู้ผลิตหรือคนกลางที่ทำการค้าส่งก็ได้

2. ลูกค้าของธุรกิจค้าส่งคือ องค์การที่ซื้อไปเพื่อขายต่อ ซึ่งเรียกว่าคนกลาง (Middleman)หรือผู้ขายต่อ (Reseller)

3. กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับการขายสินค้าให้กับองค์การถือว่าเป็นหน้าที่ของการค้าส่ง

4. การลงทุน ผู้ค้าส่งจะลงทุนจำนวนสูงมาก และครอบคลุมพื้นที่ในทางการค้า

5. ทำเลที่ตั้ง ผู้ค้าส่งจะเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ในที่ที่มีการคมนาคมสะดวก

6. การบรรจุสินค้า ผู้ค้าส่งจะเน้นขนาดบรรจุสินค้า และปริมาณมากกว่า 1 ชิ้น

7. ด้านราคา ผู้ค้าส่งจะตั้งราคาโดยการเฉลี่ยต่อหน่วยให้มีราคาต่ำ

8. การส่งเสริมการขาย ผู้ค้าส่งจะให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก

9. รายได้ ผู้ค้าส่งจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นในรูปของกำไรซึ่งเป็นผลต่างจากต้นทุน

การดำเนินงานของร้านค้าส่ง

1. ร้านค้าส่งจะมีการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับกิจการที่ซื้อไปเพื่อขายต่อ(Reseller) หรือนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม

2. ร้านค้าส่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับพ่อค้าปลีกหลายรายหรือพ่อค้าส่งอื่น ๆ ร้านค้าส่งมีความจำเป็นต้องมีความมั่นคงทางการเงิน

3. ลักษณะเฉพาะของร้านค้าส่ง ผู้ค้าส่งจะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตไม่อาจเข้าไปทำหน้าที่การขายส่งได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวความคิดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพค้าส่ง

1. ในปัจจุบันผู้ค้าส่งมีความทันสมัยและทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาก เช่น การทำการค้าส่งกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ เป็นต้น ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการค้าส่ง ดังนี้1. ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ

2. ควรเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการที่นำมาจำหน่ายหรือทำธุรกิจในกิจการค้า

3. มีความทันต่อเหตุการณ์ด้านข่าวสาร ข้อมูล

4. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

วัตถุประสงค์และหน้าที่ของผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง

การพิจารณากิจกรรมของการค้าปลีกและการค้าส่ง จะพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อเป็นหลักว่านำไปใช้ต่อหรือนำไปจำหน่าย โดยพิจารณาด้านปริมาณสินค้า และวิธีการดำเนินงานของร้านค้า โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการค้าปลีกและค้าส่งดังต่อไปนี้

1. เพื่อนำไปเป็นสินค้าเพื่อขายต่อ

2. เพื่อนำไปใช้ภายในกิจการ

3. เพื่อพิจารณาวิธีการดำเนินงานการค้าปลีกและการค้าส่ง เช่น

3.1 ร้านค้าปลีกจะมีการให้บริการลูกค้ามากกว่าร้านค้าส่ง

3.2 ร้านค้าปลีกจะทำการขายโดยผ่านหน้าร้านหรือเคาน์เตอร์ซึ่งจะแตกต่างจากร้านค้าส่ง

3.3 ร้านค้าส่งจะให้สินเชื่อ และส่วนลดแก่ลูกค้า ตามเงื่อนไขการชำระเงิน เช่น 2/10, n/30

หน้าที่ของผู้ประกอบการค้าปลีก

1. การซื้อสินค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกมีหน้าที่เลือกซื้อสินค้าจากผู้ค้าส่ง โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า

2. การขายสินค้า ผู้ประกอบการควรมีเทคนิควิธีการในการขายสินค้าทุกรูปแบบอย่างมีจริยธรรม

3. การเก็บรักษาสินค้า การซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่งของผู้ค้าปลีกนั้นจะซื้อในปริมาณมาก เพื่อสำรองไว้ในกรณีสินค้าขาดตลาด

4. การประกันสินค้า ในการผลิตสินค้าของผู้ผลิต หรือผู้ค้าส่ง ไม่สามารถจะประกันได้แน่นอนว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วจะจำหน่ายได้ทั้งหมดหรือไม่

5. การให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกควรสร้างความประทับใจให้เกิดกับลูกค้าเพราะเป็นส่วนสำคัญในการขายและทำให้ภาพพจน์เกิดแก่ร้านค้าปลีก

6. การติดตามข่าวสาร การติดตามข่าวสารจากการขายสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้ทราบความพึงพอใจในสินค้าและบริการของตน

หน้าที่ของผู้ประกอบการค้าส่ง

1. การจัดหาสินค้า ผู้ประกอบการค้าส่งจะทำหน้าที่ในการจัดหาสินค้าให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้ใช้สินค้าอุตสาหกรรม

2. การจัดจำหน่ายสินค้า เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าไม่มีความสามารถ ประสบการณ์ และเงินทุนที่เพียงพอที่จะติดต่อขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีก

3. การจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า เมื่อผู้ประกอบการค้าปลีกหรือผู้ซื้อสินค้าที่จะนำไปขายต่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการค้าส่ง

4. การเก็บรักษาและดูแลสินค้าคงคลัง เพื่อให้สินค้าเพียงพอกับความต้องการของลูกค้าผู้ประกอบการค้าส่งจำเป็นต้องมีโกดังเก็บสินค้า

5. การช่วยเหลือการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ผู้ประกอบการค้าส่งจะให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในรูปแบบของส่วนลดที่เป็นเงินสด ในกรณีที่ลูกค้าจ่ายชำระค่าสินค้าภายในกำหนดที่จะได้รับส่วนลด

6. การช่วยรับภาระความเสี่ยง ผู้ประกอบการค้าส่งจะรับประกันสินค้าที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสั่งซื้อ

7. การให้คำแนะนำและบริการแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีก เกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าเข้าร้าน การจัดหน้าร้าน การฝึกอบรมพนักงานขาย รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการและการควบคุมสินค้าคงคลัง เพื่อให้ลูกค้าเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และเกิดความมั่นใจในการประกอบธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการค้าส่งต่อไป

***************************************************************


แบบประเมินผลการเรียนรู้หน่วยที่ 1

จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว

1. การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตเป็นการประกอบอาชีพค้าปลีกลักษณะใด

ก. ผู้ประกอบการมีความรู้ความสามารถ

ข. โอกาสในการประกอบอาชีพ

ค. โอกาสในการประกอบอาชีพ

ง. การมีมนุษยสัมพันธ์กับลูกค้า

2. การจัดวางสินค้าในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้สะดวกเกี่ยวข้องกับข้อใด

ก. ผู้ประกอบการควรมีความรู้ความสามารถ

ข. ลักษณะเฉพาะของร้านค้า

ค. การดำเนินงานของการค้าปลีก

ง. โอกาสในการประกอบอาชีพ

3. การค้าปลีกเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่งกับผู้บริโภคถือว่ามีความสำคัญต่อใคร

ก. ลูกค้า ข. ผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง

ค. ประเทศ ง. สังคม

4. การค้าปลีกช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกในการซื้อสินค้าง่ายขึ้น ถือว่ามีความสำคัญต่อใคร

ก. ลูกค้า ข. ผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง

ค. ประเทศ ง. สังคม

5. ลูกค้านิยมซื้อสินค้าร้านค้าปลีกสมัยใหม่แทนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกใกล้บ้าน เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับข้อใด

ก. ทัศนคติของผู้ประกอบอาชีพค้าปลีก

ข. พัฒนาและปรับปรุงกิจการอยู่เสมอ

ค. พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค

ง. ศึกษากลยุทธ์ร้านค้าปลีกสมัยใหม่

6. การที่ธุรกิจค้าส่งสร้างรายได้มาสู่ประชาชนในสังคมของประเทศมีความสำคัญในด้านใด

ก. ช่วยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ข. ช่วยสร้างเศรษฐกิจ

ค. ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ ง. ถูกทุกข้อ

7. ข้อใดเป็นลักษณะของการค้าส่ง

ก. เลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม

ข. เป็นองค์กรที่ซื้อสินค้าไปขายต่อ

ค. เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้าปลีก

ง. ถูกทุกข้อ

8. กิจกรรมการส่งเสริมการขายในกิจการค้าส่งจะเน้นกลยุทธ์แบบใด

ก. กลยุทธ์ดึง ข. กลยุทธ์ผลัก

ค. กลยุทธ์ผสม ง. ถูกทุกข้อ

9. ร้าน ก รุ่งเรืองขายเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 50 เครื่อง ให้กับบริษัทไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อนำไปขายต่อ ถือเป็นการค้าในลักษณะใด

ก. การค้าปลีก ข. การค้าส่ง

ค. การขายโดยพนักงานขาย ง. การขายตรง

10. จากข้อ 9 ถ้าร้าน ก รุ่งเรืองขายเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ให้กับบริษัทไทยพาณิชย์จำกัด เพื่อนำไปใช้ในกิจการ ถือเป็นการค้าในลักษณะใด

ก. การค้าปลีก ข. การค้าส่ง

ค. การขายโดยพนักงานขาย ง. การขายตรง