การสิงร่างและการสวมร่าง

ข้อสังเกตกรณีการสิงร่าง การสวมร่าง และการเกิดก่อนตาย

การสิงร่าง(เข้าสิง,เข้าทรง) หมายถึง การเข้าครอบงำชั่วขณะหรือครอบงำชั่วคราวของ วิญญาณหรือพวกโอปปาติกะทั้งหลาย โดยที่วิญญาณของ

เจ้าของร่างยังอยู่ในร่าง เมื่อเลิกสิงก็กลับรู้สึกตัวขึ้นมาได้

การสวมร่าง คือ การที่คนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้วและมี วิญญาณของอีกคนหนึ่ง เข้ามาใช้ร่างกายนั้นแทน เช่น กรณีที่มีการสวมร่างโดยตรง

คือเมื่อคนหนึ่งเสียชีวิตชัดเจนแล้วมีวิญญาณของอีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตแล้วเช่นกันเข้ามาสวมร่างแทนแล้วฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นจิตหรือ

วิญญาณดวงใหม่มาส่วมร่างนั้นแทนจนตลอดอายุขัย เป็นต้น

การเกิดก่อนตาย หรือ การสวมร่าง(ยังสรุปไม่ได้) คือ กรณีของผู้ที่จำอดีตชาติได้ที่เกิดเป็นทารกในครรภ์ ก่อนที่คนในอดีตจะเสียชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถ

พิสูจน์ได้ว่า ทารกนั้นเสียชีวิตก่อนที่วิญญาณของอีกคนหนึ่งจะเข้ามาสวมร่างแทน หรือ เพราะเหตุอื่นใดจึงได้เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนที่จะเสียชีวิต

ทั้งหมดนี้เป็นกรณีที่พบจากการศึกษาผู้จำอดีตชาติได้ จึงพยายามแยกออกมาเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง และมีข้อสังเกตบางอย่างที่น่าสนใจ

เพื่อการศึกษาหาความจริงกันต่อไป ในภายภาคหน้า

ตัวอย่างลักษณะของการสิงร่าง

ตัวอย่างลักษณะของการสวมร่าง

  • นายชาสพีระ (Jasbir) : ชาสพีระ เสียชีวิต แล้ววิญญาณของ โสภาราม ได้เข้าสวมร่างแทน (อินเดีย)

  • สุมิตรา ซิงห์ (Sumitra Singh) : สุมิตรา เสียชีวิต แล้ววิญญาณของ ชีวา(Shiva) ได้เข้าสวมร่างแทน (อินเดีย)

  • น.ส.สัญญา กาญจนจำนงค์ : น.ส.สัญญา ชาวนครศรีธรรมราช เธอเป็นลมสลบไป 3 ครั้ง พอฟื้นขึ้นมา เธอกลับเป็น น.ส.อุบลรัตน์ แต้มฉบับ ชาวกรุงเทพฯ

ตัวอย่างลักษณะของการเกิดก่อนตายหรืออาจเป็นการสวมร่าง

ตัวอย่างกรณีหนึ่งร่าง สองวิญญาณ

เรื่องราวของคนสองหัว สองชื่อ สองความคิด สองความรู้สึก ในร่างเดียวกัน Abigail และ Brittany Hensel

โลกนี้ยังมีเรื่องราวของแปลกๆ อีกมากมาย ที่ท้าทายให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามศึกษา

ข้อสังเกตกรณีของการสิงร่าง การสวมร่าง

การเกิดก่อนตาย และ โอปปาติกะกำเนิด

จากหนังสือ ๑๖ กรณีศึกษาผู้จำอดีตชาติได้ ฯ

การสิงร่าง (เข้าสิง, เข้าทรง, ครอบงำ, ผีอำ) หมายถึง การเข้าสิงหรือเข้าครอบงำชั่วขณะหรือเข้าครอบงำชั่วคราวของ วิญญาณหรือพวกโอปปาติกะทั้งหลาย โดยที่วิญญาณของเจ้าของร่างยังอยู่ในร่าง กรณีของการสิงร่างนั้นบางครั้งผู้ที่ถูกสิงจะไม่รู้สึกตัวหรือจดจำเหตุการณ์ขณะที่วิญญาณเข้าสิงร่างได้เลย แต่บางครั้งผู้ที่ถูกสิงก็รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถควบคุมคำพูดและการกระทำของตัวเองได้

การสวมร่าง หมายถึง การที่คนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้วและมี วิญญาณของอีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน เข้ามาสวมร่างแทน พอตื่นฟื้นขึ้นมากลายเป็นคนละคน และจิตหรือวิญญาณดวงใหม่ที่เข้ามาสวมร่างแทนนั้นได้อาศัยร่างใหม่นี้ไปจนตลอดอายุขัย สำหรับลักษณะของการสวมร่างนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็น การสืบเกิดรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าโอปปาติกะกำเนิด ซึ่งเป็นหนึ่งใน โยนิ ๔ หรือกำเนิด ๔ เป็นการเกิดของสัตว์รูปแบบหนึ่ง ดังปรากฏความในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรความว่า

“ดูกรสารีบุตร กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้แล ๔ ประการเป็นไฉน ? คือ อัณฑชะกำเนิด ชลาพุชะกำเนิด สังเสทชะกำเนิด โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร ก็อัณฑชะกำเนิดเป็นไฉน ? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด นี้เราเรียกว่า อัณฑชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร ชลาพุชะกำเนิดเป็นไฉน ? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ชำแรกไส้ (มดลูก) เกิดนี้เราเรียกว่าชลาพุชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร สังเสทชะกำเนิดเป็นไฉน ? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใดย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล (ของสกปรก) นี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร โอปปาติกะกำเนิดเป็นไฉน ? เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวกนี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ / มหาสีหนาทสูตร (กำเนิด ๔)

การเกิดก่อนตาย หรือ การสวมร่าง (ยังสรุปไม่ได้) คือ กรณีของผู้ที่จำอดีตชาติได้ที่เกิดเป็นทารกในครรภ์ ก่อนที่บุคคลในอดีตชาติจะเสียชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทารกนั้นเสียชีวิตก่อนที่วิญญาณของอีกคนหนึ่งจะเข้ามาสวมร่างแทน หรือ เพราะเหตุอื่นใดจึงได้เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนที่จะเสียชีวิต เป็นกรณีที่พบจากการศึกษาผู้จำอดีตชาติได้ จึงพยายามแยกออกมาเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง และมีข้อสังเกตบางอย่างที่น่าสนใจเพื่อการศึกษาหาความจริงกันต่อไปในภายภาคหน้า

ข้อสังเกตกรณี การเข้าสิง

การครอบงำ หรือ การเข้าทรง

สำหรับการครอบงำ การเข้าสิง หรือ การเข้าทรง นั้น มีผลงานการศึกษาวิจัยที่ชื่อว่า “ข้อมูลประจักษ์ตายแล้วเกิด การเชิญวิญญาณเข้าทรง” ของ รศ.ดร.บุณย์ นิลเกษ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำการศึกษาทดลองโดยการเชิญวิญญาณผู้เสียชีวิตให้มาสิงร่างของ “ปู่ส่าง”ซึ่งเป็นร่างทรงที่มีชื่อเสียงของ ตำบลดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง (ปัจจุบันเป็นอำเภอดอยสะเก็ด) จังหวัดเชียงใหม่ แล้วให้ญาติของผู้เสียชีวิตเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ ที่เป็นของผู้เสียชีวิตและของผู้อื่นคละปนกันมาด้วย และจัดให้ญาติของผู้เสียชีวิต นั่งคละกันกับคนอื่น ๆ โดยที่ไม่ให้คนทรงทราบ ปรากฏว่าร่างทรงสามารถชี้และบอกชื่อของญาติๆ ของผู้เสียชีวิตได้ถูกต้อง เลือกสิ่งของที่เป็นของผู้เสียชีวิตได้ถูกต้อง และบอกถึงสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ร่างทรงจะทราบเรื่องราวหรือเหตุการณ์เหล่านั้นได้ เนื่องจากผู้ที่มาร่วมการทดลองมาจากหลายตำบล หลายอำเภอ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งหมด ๑๐๐ กรณีศึกษา ผลที่ได้คือทุกราย หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มของกรณีศึกษาที่มาร่วมการทดลอง ร่างทรงสามารถชี้และบอกชื่อของญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตได้ถูกต้อง เลือกสิ่งของที่เป็นของผู้เสียชีวิตได้ถูกต้อง บอกถึงสาเหตุการเสียชีวิต ร่วมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตได้อย่างถูกต้อง และมีอากัปกิริยาการแสดงออกคล้ายกับผู้เสียชีวิต ซึ่งจากผลงานการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่วิญญาณของผู้เสียชีวิตจะสามารถเข้าสิงร่างของเด็กได้

นอกจากผลงานวิจัยดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีการกล่าวถึงการเข้าสิงหลายแห่งในพระไตรปิฎก มีทั้ง มาร เข้าสิงคน เข้าสิงกายพรหม เข้าสิงเทพบุตร ปีศาจ(ผี) เข้าสิงภิกษุ เข้าสิงคน ยักษ์ อมนุษย์ หรือเปรตเข้าสิงคน ซึ่งคำว่า “เข้าสิง” นั้นท่านผู้แปลพระไตรปิฎกท่านแปล มาจากคำบาลีที่แตกต่างกัน เช่น

ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อันตรายของภิกษุผู้จำพรรษา ความว่า

“อิธ ปน ภิกฺขเว วสฺสูปคตา ภิกฺขู ปิสาเจหิ อุพฺพาฬฺหา โหนฺติ ฯ อาวิสนฺติปิ หรนฺติปิ เอเสว อนฺตราโยติ ปกฺกมิตพฺพํ ฯ อนาปตฺติ วสฺสจฺเฉทสฺส” แปลว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษา แล้วถูกพวกปิศาจรบกวนมันเข้าสิงบ้าง พาเอาไปบ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติแต่พรรษาขาด”

ใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ / อโยฆรชาดก ความว่า

“ยกฺขา ปิสาจา อถวาปิ เปตา กุปฺปิตา เต อสฺสสนฺติ มนุสฺเส” แปลว่า “ยักษ์ก็ดี ปีศาจก็ดี หรือเปรตก็ดี โกรธเคืองแล้วย่อมเข้าสิงมนุษย์ได้”

ใน พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ / มารตัชชนียสูตร ความว่า

“อถ โข ปาปิม ทูสี มาโร อญฺญตรํ กุมารกํ อนฺวาวิสิตฺวา สกฺขรํคเหตฺวา อายสฺมโต วิธุรสฺส สีเส ปหารมทาสิ สีสํ โวภินฺท” แปลว่า “ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ทูสีมารเข้าสิงเด็กคนหนึ่ง แล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะท่านพระวิธุระศีรษะแตก”

ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค / สานุสูตรที่ ๕

“เตน โข ปน สมเยน อญฺญตริสฺสา อุปาสิกาย สานุ นาม ปุตฺโต ยกฺเขน คหิโต โหติ” แปลว่า “สมัยนั้นแล บุตรของอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสานุ ถูกยักษ์เข้าสิง”

“กณฺหาหิ ทฏฺฐสฺส กโรนฺติ เหเก อมนุสฺสวิฏฺฐสฺส กโรนฺติ ปณฺฑิตา น กามนีตสฺส กโรติ โกจิ โอกฺกนฺตสุกฺกสฺส หิ กา ติกิจฺฉาติ ฯ” แปลว่า “อันที่จริง เมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผีเข้าสิง หมอผู้ฉลาดก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลถูกความใคร่ครอบงำแล้วใครๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่า เมื่อบุคคลล่วงเลยธรรมขาวเสียแล้วจะรักษาได้อย่างไร ? เป็นต้น

จากหลักฐานที่มีการศึกษาวิจัย และหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก มีความเป็นไปได้ว่า การครอบงำ การเข้าสิง หรือการเข้าทรงนั้นน่าจะมีอยู่จริง ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาศึกษาหาหลักฐานมานำเสนอ ให้เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์กันต่อไป

ข้อสังเกตกรณีของการเกิดก่อนที่จะเสียชีวิต

หรืออาจเป็นการสวมร่างจาก ๑๖ กรณีศึกษาผู้จำอดีตชาติได้ฯ

จากข้อมูลการศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติได้ทั้ง ๑๖ ราย ในที่นี้ มีผู้ที่จำอดีตชาติที่เกิดเป็นทารกในครรภ์ หรือคลอดก่อนที่บุคคลที่พวกเขาอ้างว่าเป็นตัวของพวกเขาในอดีตชาติจะเสียชีวิต ๕ ราย คือรายของ

๑. เด็กชายโสภณ ขำพาลี

(เด็กคลอดออกมาแล้ว ๖ วัน อีกคนที่เขาอ้างว่าเป็นตัวเขาในอดีตชาติจึงเสียชีวิต)

๒. เด็กชายพลวัฒน์ จุลโพธิ์

(เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนเสียชีวิต ๙ เดือน)

๓. เด็กชายวัชระ ใจเร็ว

(เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนเสียชีวิต ๗ เดือน)

๔. เด็กชายพงศธร ศรชัย

(เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนเสียชีวิตประมาณ ๔ เดือน)

๕. เด็กชายฤทธิไกร โนนน้อย

(เกิดเป็นทารกในครรภ์ก่อนเสียชีวิตประมาณ ๓ เดือน)

สำหรับผู้ที่จำอดีตชาติทั้ง ๕ ราย นี้แตกต่างจากผู้จำอดีตชาติได้รายอื่น ๆ คือพวกเขาเกิดก่อนที่จะเสียชีวิต คือ แม่ในปัจจุบันชาติของพวกเขาตั้งครรภ์อยู่ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิต อย่างเช่นกรณีของ เด็กชายฤทธิไกรแม่ของเขาตั้งครรภ์ได้ ๔ เดือนแล้ว นายสายนต์ เต็มหัตถ์ จึงเสียชีวิต และเมื่อเด็กชายฤทธิไกรเกิดมาก็จำอดีตชาติได้ว่าเป็นนายสายนต์สืบชาติมาเกิดและกรณีของ เด็กชายพงศธร ศรชัย แม่ของเขาตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนแล้ว นายสามารถ สุวรรณราช จึงได้เสียชีวิต และเมื่อเด็กชายพงศธรเกิดมาก็จำอดีตชาติได้ว่าเป็นนายสามารถสืบชาติมาเกิด แต่กรณีของเด็กชายพงศธรนี้ นายสามารถได้มาเข้าฝันบอกกับ นางสาวมานัส ใจเกื้อ ก่อนว่าเขาได้มาเกิดกับนางสาวมานัสแล้ว ซึ่งขณะที่นางสาวมานัสฝันนั้น นายสามารถยังมีชีวิตอยู่และยังไม่มีอาการป่วยเลย และอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีของ เด็กชายโสภณ ขำพาลี ที่เด็กคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว ๖ วัน นายสำคัญนาคตระกูล จึงเสียชีวิต ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่นายสำคัญจะสืบชาติมาเกิดเป็นเด็กคนนี้ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนอยากให้พิจารณากรณีที่ เมื่อเสียชีวิตแล้วมีการสวมร่าง เปลี่ยนวิญญาณ อยู่ ๒ กรณี คือกรณีที่ท่าน ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล และ ท่านอาจารย์นาซิบสิโรรส เคยได้เดินทางไปพิสูจน์ กรณีของ น.ส.สัญญา กาญจนจำนงค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ระลึกชาติและประสบการณ์ทางวิญญาณ” ของท่าน ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล น.ส.สัญญา เธอเป็นลมสลบไปเพราะเสียใจที่หลานสาวที่เธอรักมากเสียชีวิต เมื่อตื่นฟื้นขึ้นมา ปรากฏว่าเธอกลายเป็นอีกคนหนึ่ง จากเด็กสาวชาวใต้ที่พูดกลางไม่เป็น กลายเป็นว่าเธอพูดกลางได้คล่อง เธอบอกว่าเธอเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดที่เคยเกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทย

อีกกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “๒๓ ผู้กลับมาเกิดใหม่” โดย เต็ม สุวิกรม ซึ่งแปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “Twenty Cases Suggestive of Reincarnation” โดย ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน (Ian Stevenson) คือกรณีของนายชาสพีระ (Jasbir) ซึ่งกรณีนี้แปลกกว่ากรณีอื่นๆ ที่ ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน เคยพบในการศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติได้ คือเป็นการที่วิญญาณของหนุ่มวัย ๒๒ ปี ที่เสียชีวิตแล้ววิญญาณของเขาได้เข้ามาสวมร่างของเด็กวัย ๓ ขวบ ๖ เดือน ที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษ กลายเป็นคนละคนเมื่อฟื้นขึ้นมาอาการของโรคฝีดาษที่ทำให้เด็กชายเสียชีวิตนั้นก็ค่อยๆ ทุเลาลงจนหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน

ส่วนกรณีของการเกิดก่อนเสียชีวิต ในประเทศไทยที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือนั้น เท่าที่ผู้เขียนทราบมีอยู่ ๒ กรณี คือกรณีของ พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ ฯ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือรายงานการวิจัย เรื่อง “แนวคิดเกี่ยวกับสังสารวัฏ : การเวียนว่ายตายแล้วเกิด ในพระพุทธศาสนา” โดย รศ.ฟื้น ดอกบัว มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ซึ่งพระเทพสุทธาจารย์ ท่านจำอดีตชาติได้ว่าในชาติก่อนท่านมีชื่อว่า “นายเล็ง” เมื่อครั้งที่นายเล็งยังมีชีวิตอยู่ก่อนเสียชีวิตขณะที่นายเล็งกำลังป่วยหนัก เขาได้ทราบว่าน้องสาวคลอดลูกก็อยากไปเยี่ยมแต่ไม่มีแรงจะลุกไป จึงได้แต่ทำใจให้สงบแล้วเคลิ้มหลับไป เมื่อเขารู้สึกตัวอีกทีก็รู้สึกว่าตัวเองสบายดีไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ยังลุกขึ้นมานั่งคุยกับญาติๆ ที่มาเยี่ยมอาการของเขาแต่เขารู้สึกแปลกใจที่ไม่มีใครพูดด้วยและไม่มีใครสนใจเขาเลย เหมือนกับพวกเขาไม่ได้ยินหรือไม่เห็นเขา ต่อมาจึงรู้ตัวว่าตัวเองตายแล้ว เมื่อร่างถูกเผาและพิธีต่าง ๆ สิ้นสุดแล้ว นายเล็งก็คิดอยากจะไปเยี่ยมน้องสาวที่ทราบข่าวว่าคลอดลูกกำลังอยู่ไฟอยู่ พอเขาคิดเท่านั้นก็ปรากฏว่าไปถึงบ้านของน้องสาวทันทีเมื่อไปถึงบ้านของน้องสาวเขาเห็นน้องสาวกำลังนอนกกลูกน้อยอยู่ เมื่อเห็นทารกน้อยนายเล็งก็รู้สึกชอบใจมากอยากจะเข้าไปกอดจูบให้สมใจแต่ในขณะที่เขายืนมองทารกอยู่นั้น น้องสาวของเขาก็ตื่นลืมตามาเห็นวิญญาณของเขาพอดี น้องสาวของนายเล็งได้พูดกับวิญญาณของนายเล็งว่า “พี่ไปคนละทิศละทางแล้ว บ้านไหนสบายก็เชิญไปตามสบายเถอะ อย่ามารบกวนน้องเลย” นายเล็งรู้สึกน้อยใจว่าน้องสาวไม่ให้การต้อนรับจึงตัดสินใจกลับ แต่ยังรู้สึกชอบทารกนั้นมาก เขาคิดว่าไหนๆ จะกลับแล้วขอดูหน้าทารกให้เต็มตาสักครั้ง จึงจ้องมองดูทารกจนพอใจแล้วก็หันกลับจะออกไปแต่พอกลับตัวก็รู้สึกว่าตัวเองหมุนติ้วเหมือนลูกข่างแล้วก็หมดความรู้สึกไป เมื่อรู้สึกตัวอีกทีก็เป็นทารกลูกชายของน้องสาวคนนั้นเสียแล้ว ซึ่งก็คือเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสัมปันโน) ในปัจจุบันชาตินี้เอง

อีกกรณีหนึ่งท่าน พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ” ว่ามีครั้งหนึ่งในสมัยบั้นปลายชีวิตของท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่ง (คุณยายขาวกั้ง หรือแม่ชีกั้ง) มีความเคารพเลื่อมใสในพระอาจารย์มั่นมาก มาเล่าเรื่องของตัวเองถวายท่านว่า ขณะอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวผู้นี้แกนั่งสมาธิภาวนาตลอดกลางคืน ยามดึกสงัดพอจิตรวมสงบลงสนิทไม่แสดงกิริยาใดๆ ปรากฏเฉพาะความสงบนิ่งในเวลานั้น พลันก็เห็นกระแสจิตของตัวเองอันละเอียดยิ่งออกจากดวงจิตเป็นสายใยยาวเหยียด ออกนอกกายนอกใจไปสู่ภายนอก แกเกิดความสงสัย จึงกำหนดจิตดูว่า กระแสจิตนี้มันไหลออกไปทำไม และจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร พอแกตามกระแสจิตอันละเอียดเป็นสายใยนั้นไปก็พบว่า กระแสจิตของแกไปเข้าที่ร่างของหลานสาวคนหนึ่งเพื่อจับจองที่เกิดในท้องหลานสาวซึ่งอยู่หมู่บ้านเดียวกัน แกรู้สึกตกใจมาก เพราะตัวเองยังไม่ตาย ทำไมจิตถึงส่งกระแสออกไปจับจองที่เกิดไว้แล้วเช่นนั้น จึงรีบย้อนจิตกลับมาที่เดิมและถอนจิตออกจากสมาธิทันทีแกใจไม่ดีเลยนับแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา

ในระยะเดียวกันก็ปรากฏว่าหลานสาวคนนั้นเริ่มตั้งครรภ์มาได้หนึ่งเดือนแล้วเช่นกัน พอตื่นเช้าวันหลังแกรีบมาวัด เล่าเรื่องนี้ถวายพระอาจารย์มั่นดังกล่าวแล้ว ขณะนั้นมีพระเณรหลายท่านนั่งฟังอยู่ด้วยต่างก็งงไปตามๆ กัน พระอาจารย์มั่นนั่งหลับตาอยู่ประมาณ ๒ นาที แล้วลืมตาขึ้น อธิบายปรากฏการณ์แปลกประหลาดนั้นให้อุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวคนนั้นฟังว่า “เมื่อจิตรวมสงบลงคราวต่อไป ให้โยมตรวจดูกระแสจิตให้ดี ถ้าเห็นแกระแสจิตนั้นส่งออกไปภายนอกดังที่โยมว่านั้น ให้กำหนดจิตตัดกระแสจิตนั้นให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ ต่อไปกระแสจิตนั้นจะไม่ปรากฏ แต่โยมต้องกำหนดดูกระแสจิตนั้นด้วยดี และกำหนดตัดให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ อย่าทำเพียงแต่ว่าทำเท่านั้น เดี๋ยวเวลาตายโยมจะเกิดในท้องหลานสาวนะจะหาว่าอาตมาไม่บอก” พออุบาสิกาผู้นั้น ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์มั่นแล้วก็กลับบ้านไป ราวสองวันแกก็กลับมาหาท่านอีกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมากพอแกนั่งลงเท่านั้น พระอาจารย์มั่นก็ถามเป็นเชิงเล่นบ้างจริงบ้างทันทีว่า “เป็นยังไงโยมห้ามกระแสจิตตัวเองอยู่หรือเปล่าที่จะไปเกิดกับหลานสาวทั้งที่ตัวยังไม่ตายน่ะ” แกเรียนตอบทันทีว่า “โยมตัดขาดแล้วคืนแรกพอจิตรวมสงบลงสนิทแล้วกำหนดดูก็เด่นชัดดังที่เคยเห็นมาแล้ว มันส่งกระแสไปอยู่ที่ท้องหลานสาว โยมก็กำหนดตัดกระแสจิตพิลึกนั้นด้วยปัญญาดังหลวงพ่อบอกจนมันขาดกระเด็นไปเลย เมื่อคืนนี้โยมกำหนดดูอีกอย่างละเอียดเพื่อความแน่ใจไม่ปรากฏว่ามีอีกเลย มันหายเงียบไป วันนี้อยู่ไม่ได้ต้องรีบมาเล่าถวายให้หลวงพ่อฟัง” พระอาจารย์มั่นพูดว่า “นี่แลความละเอียดของจิตคนเรา จะรู้เห็นได้จากการภาวนาสมาธิเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทราบได้ จิตของคนเรามันลึกลับยิ่งนัก เราจะไปรู้เห็นมันด้วยวิธีการคาดคิดนึกเดาเอาตามตำราไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติจิตสมาธิจริง ๆ ถึงจะรู้แจ้งเห็นจริง โยมเกือบเสียตัวให้กิเลสขับไสไปเกิดในท้องหลานสาวแบบไม่รู้สึกตัวแล้วไหมล่ะ แต่ยังดีที่ภาวนาสมาธิจนรู้เรื่องของจิตเสียก่อน แล้วรีบแก้ไขกันทันเหตุการณ์” ฝ่ายหลานสาวคนนั้น พอถูกคุณยายอุบาสิกาตัดกระแสจิตขาดจากความสืบต่อก็ปรากฏว่าหล่อนได้แท้งลูกในระยะเดียวกัน น่าประหลาดมหัศจรรย์จริงๆ

ปัญหาที่ว่า คนยังไม่ตาย ทำไมจึงเริ่มไปเกิดในท้องคนอื่นแล้วเช่นนี้ พระอาจารย์มั่นได้เฉลยปัญหานี้ให้พระเณรลูกศิษย์ทั้งหลายที่สงสัยเป็นล้นพ้นฟังว่า จิตเป็นแต่เพียงเริ่มต้นจับจองที่เกิดไว้เท่านั้น แต่ยังมิได้ไปเกิดเป็นตัวเป็นตนโดยสมบูรณ์ ถ้าคุณยายอุบาสิกาคนนั้นไม่รู้ทันปล่อยให้จิตเกาะเกี่ยวกับการเกิดในท้องหลานสาว จนทารกในครรภ์ปรากฏเป็นตัวเป็นตนสมบูรณ์ขึ้นมาเมื่อไร คุณยายคนนั้นจะตายทันที

ขวัญไปเกิดก่อน

คนลาวและคนไทยในสมัยโบราณ มีความเชื่อกันว่าคนเรานั้นมี “ขวัญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่ประจำชีวิตมาตั้งแต่เกิด ถ้าตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไปเสีย เรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี หรือขวัญบิน ผู้เขียนเองเคยได้ยิน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านตะคร้อท่านเคยบอกเล่าให้ฟังว่า บางครั้งคนเรายังไม่ตายยังมีชีวิตอยู่ แต่ขวัญได้ไปเกิดในครรภ์ก่อนแล้ว จากคำบอกเล่านี้ หมายความว่า ชาวบ้านตะคร้อในสมัยแต่ก่อน คงจะได้เคยประสบกับเหตุการณ์เชิงประจักษ์เกี่ยวกับกรณีของการเกิดก่อนตาย และการจำอดีตชาติได้มามากพอสมควร และคงจะมีความสงสัยและมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการเกิดก่อนตายอยู่ไม่น้อย จึงได้นำเอาความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของขวัญของคนไทยในสมัยโบราณ มาอธิบายในเรื่องของการเกิดก่อนตาย เรื่องของขวัญนั้น ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยก็มีปรากฏให้เห็นอยู่หลายคำ เช่นคำว่า “ขวัญอ่อน”(พระนางมัทรี) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียก คนที่ตกใจบ่อยๆ หรือขวัญหายบ่อยๆ“พิธีเชิญขวัญ”(ติรัจฉานวิชา) หรือพิธีเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว เป็นต้นคำว่า “ขวัญอ่อน” ท่านที่แปลพระไตรปิฎกท่านแปลมาจากคำว่า “ภีรุ” ในภาษาบาลี ส่วนคำว่า “พิธีเชิญขวัญ” ท่านที่แปลพระไตรปิฎกท่านแปลมาจากคำว่า “สิรีวฺหายนํ” ในภาษาบาลี คำว่า สิรี หรือ สิริ แปลว่า ศรี มิ่งขวัญ มงคล สวย งาม เกี่ยวกับเรื่องขวัญในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีหมอโบราณ (หมอขวัญ, หมอทำขวัญ) ที่ยังทำพิธีเชิญขวัญ พิธีเรียกขวัญ พิธีตั้งขวัญข้าว พิธีทำขวัญนาค หรือพิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทย

สำหรับประสบการณ์เกี่ยวกับ “ขวัญ” นั้น พ่อของผู้เขียนเองก็เคยได้ประสบมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยที่ท่านยังเป็นหนุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่พ่อกับย่าของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่พ่ออายุครบบวชก็ได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดใหญ่ชุมพลในหมู่บ้าน ต่อมาตอนที่จะสึกจากพระพ่อได้ให้หลวงพ่อที่วัดดูฤกษ์สึกให้ หลวงพ่อท่านบอกว่ายังไม่มีฤกษ์สึกให้อยู่ไปก่อน แต่ด้วยความใจร้อนอยากจะสึก พ่อก็เลยไปให้ปู่ยงซึ่งเป็นคนที่มีวิชาอาคมแก่กล้าคนหนึ่งในหมู่บ้านและเป็นเพื่อนกับปู่ของผู้เขียนให้ดูฤกษ์สึกให้ ปู่ยงบอกว่าสึกได้แต่ต้องสึกออกจากวัดตั้งแต่ก่อนฟ้าสางและต้องลงตามทิศที่บอก พ่อก็ได้ทำตามนั้นแต่พ่อลงออกจากวัดผิดไปจากทิศที่ปู่ยงบอกไว้ หลังจากสึกไปได้ไม่นาน พ่อก็มีอาการเหมือนกับคนเหม่อลอยไม่มีแรงนอนนิ่งแทบจะไม่ลุกไปไหน ปู่กับย่าได้ให้ปู่ยงมาดูให้ ปู่ยงบอกว่าเขามาเอาขวัญไป ปู่ยงได้ทำพิธีให้โดยหาผู้หญิงที่ปากเก่งๆ ๔ คน มาร่วมพิธี จากนั้นได้รำดาบอาคมเหมือนกับกำลังต่อสู้อยู่กับอะไรบางอย่าง เมื่อเสร็จพิธีปู่ยงบอกกับย่าว่า ภายใน ๗ วันนี้เขาจะเอาขวัญมาคืน ให้คอยฟังเสียงนกแสก จะมีนกแสกมาเกาะที่หลังคาบ้าน ให้จุดธูปเรียกขวัญของพ่อให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วก็จะหาย จากนั้นไม่ถึง ๗ วันย่าได้ยินนกแสกมาร้องที่บนหลังคาบ้าน ย่าก็จุดธูปเทียนเรียกขวัญให้พ่อตามที่ปู่ยงบอก หลังจากคืนนั้น พ่อของผู้เขียนก็ตื่นขึ้นมาหายเป็นปกติเป็นที่น่าอัศจรรย์ นี่เป็นเรื่องราวประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของ “ขวัญ” ที่เคยเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวของผู้เขียนมากที่สุด ซึ่งมันอาจจะเป็นเพียงความเชื่อหรือเรื่องงมงายไร้สาระสำหรับบางคน แต่สำหรับคนที่เคยได้ประสบมากับตัวเองแล้ว คงต้องมีคำถามเกิดขึ้นในใจอย่างแน่นอนว่า “ขวัญ” มีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร

นี่คือข้อสังเกตและตัวอย่าง กรณีของการเกิดก่อนที่จะเสียชีวิตและการสวมร่าง ซึ่งอาจเป็นคำตอบใดคำตอบหนึ่งในที่นี้ ที่เป็นคำตอบที่แท้จริงของปริศนาเกี่ยวกับการเกิดก่อนที่จะเสียชีวิตและการสวมร่าง ที่คนไทยในสมัยโบราณ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านตะคร้อ ผู้เขียน และอีกหลายๆ คนกำลังค้นหาคำตอบอยู่ ก็เป็นได้

มีคำถามว่า "เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ที่อ้างว่าจำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิดใหม่ ถูกวิญญาณของผู้เสียชีวิตเข้าสิง ?"

ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกัน ระหว่างการสิงร่างกับการเกิดใหม่ คือ กรณีของการสิงร่างนั้นบางครั้งผู้ที่ถูกสิงจะไม่รู้สึกตัวหรือจดจำเหตุการณ์ขณะที่วิญญาณเข้าสิงร่างได้เลย หรือบางครั้งรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ แต่ในกรณีของเด็กที่จำอดีตชาติได้นั้น ในขณะที่เด็กพูดถึงความทรงจำในอดีตชาติ (เปรียบเทียบว่าเป็นช่วงที่เด็กกำลังถูกสิงร่าง) เด็กจะรู้สึกตัว ยังมีสติจำได้ สามารถบังคับตัวเองได้ตามปกติ สามารถจำคำพูดและการกระทำของเขาเองในขณะนั้น ๆ ได้ และมีพัฒนาการในการเรียนรู้ได้ตามปกติ และในขณะที่เด็กลืมความทรงจำในอดีตชาติไปหมดแล้ว (เปรียบเทียบว่าเป็นช่วงที่วิญญาณไม่ได้สิงร่างของเด็กแล้ว) เด็กก็ยัง มีความรู้สึกผูกพันกับครอบครัวในอดีตชาติเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะลืมเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตชาติไปแล้วก็ตาม

มีข้อสังเกตในบางกรณี เช่น กรณีของ นายอำนาจ อะวิสุ ที่วิญญาณของนายเทพผู้เสียชีวิต เคยเข้าสิงร่างของชาวบ้านหลายคนเพราะหิวไม่มีอะไรกิน แต่หลังจากนางสมบัติตั้งท้องนายอำนาจ วิญญาณของนายเทพก็ไม่เคยเที่ยวไปเข้าสิงใครอีกเลย จะว่าวิญญาณของนายเทพมาเข้าสิงทารกในครรภ์ของนางสมบัติ วิญญาณของนายเทพที่อยู่ในร่างของนายอำนาจตอนที่เป็นทารกในครรภ์ตั้ง ๙ เดือน และตอนที่คลอดจากครรภ์มาแล้วอีก ๒-๓ ปี ก็ไม่เห็นว่าจะเรียกร้องหรือหิวโหยอะไรเลย

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของ นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต เป็นกรณีที่ผู้เสียชีวิตไปเข้าฝันบอกกับแม่ในอดีตชาติว่าตัวเธอจะไปเกิดใหม่กับใคร หลังจากนั้นเธอก็มาเกิดกับครอบครัวที่เธอบอกกับแม่ของเธอในฝันจริงๆ และเมื่อเธอเกิดมาเธอมีรอยปานที่มีมาตั้งแต่แรกเกิดตรงกับรอยป้ายศพและเธอจำอดีตชาติได้ ซึ่งกรณีนี้วิญญาณของเธอได้บอกกับผู้เป็นแม่ในฝันอย่างชัดเจนว่าเธอจะไปเกิด ไม่ได้บอกว่าจะไปเข้าสิงร่างของทารกในครรรภ์แต่อย่างใด จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่า วิญญาณผู้เสียชีวิตจะรู้สถานะหรือสภาวะของตนดี ว่าเป็นการเข้าสิงร่างหรือเป็นการเกิดใหม่

อีกกรณีหนึ่งก็คือกรณีของ ครูประสิทธิ์ วังโคตรแก้ว ซึ่งมีการตายแล้วเกิดใหม่มาแล้วถึง ๔ ชาติ และครูประสิทธิ์ยังสามารถจำอดีตชาติได้อย่างต่อเนื่องไม่ลืมเลือนตั้งแต่ตอนเป็นเด็กจนกระทั่งเสียชีวิต แต่กรณีนี้ก็ไม่มีการพูดถึงการเข้าสิงแต่อย่างใด นี่เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เป็นการเข้าสิงร่าง เพราะถ้าเป็นการสิงร่างจริง เด็กที่เกิดมาและเริ่มพูดได้ก็จะพูดถึงว่าตัวเองเป็นใคร (ตัวต้นกำเนิด) ตั้งแต่เริ่มพูดได้

มีข้อสังเกตอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีของบุคคลทั่วไปที่จำอดีตชาติไม่ได้ด้วยความทรงจำปกติ แต่เมื่อถูกสะกดจิตหรือฝึกสมาธิจนสามารถระลึกชาติได้ซึ่งบางรายสามารถระลึกชาติได้มากกว่าหนึ่งชาติแต่ก็ไม่เคยมีปรากฏว่ามีการพูดถึงการเข้าสิงแต่อย่างใด แม้แต่ในพระไตรปิฎกที่ปรากฏเรื่องราวการระลึกชาติได้ย้อนกลับไปมากมายหลายชาติ ของพระอรหันต์จำนวนมากมายหลายท่าน แต่ก็ไม่เคยมีปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการเข้าสิงร่างเช่นเดียวกัน

และมีข้อสังเกตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ากรณีของการจำอดีตชาติได้ เป็นการเข้าสิงร่างชั่วครั้งชั่วคราวของวิญญาณผู้เสียชีวิตจริง การจำอดีตชาติได้มากกว่าหนึ่งชาติก็จะไม่มีอยู่หรือเป็นไปไม่ได้ คือวิญญาณดวงนั้นจะต้องเป็นวิญญาณดวงเดิมดวงแรกที่ถือกำเนิดมาหรือมีตัวตนต้นแบบ ไม่ว่าจะไปสิงในร่างไหนๆความรู้สึกหรือความทรงจำว่าตัวเองเป็นตัวต้นแบบก็จะยังคงอยู่ตลอดไป เช่น ถ้าตัวต้นแบบหรือวิญญาณต้นแบบเป็น อาดัม เมื่ออาดัมเสียชีวิต อาดัมเข้าสิงในร่างไหนๆเป็นแสนเป็นล้านร่างต่อมาหลายพันปีจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ อาดัมก็จะยังคงเป็นอาดัม เป็นวิญญาณดวงเดิม และคงจะจำอดีตหรือพูดถึงอดีตที่ผ่านมาได้ว่าตัวเองเป็นอาดัมที่เที่ยวสิงร่างทารกและเด็กไปเรื่อยๆชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเด็กอายุได้ ๕-๗ ขวบก็ย้ายไปสิงร่างอื่นต่อไป แต่กรณีของเด็กที่จำอดีตชาติได้นั้น เด็กส่วนใหญ่จะจำได้เพียงชาติเดียวว่าในชาติก่อนหน้านี้ เขาคือใคร มีชื่อว่าอะไร ซึ่งบุคคลผู้นั้นก็เคยมีชีวิตอยู่จริง ไม่ใช่เป็นวิญญาณต้นแบบดวงเก่าดวงเดิมที่เที่ยวสิงร่างของใครต่อใครเรื่อยไป เหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่อย่างใด

จากข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า กรณีของการเข้าสิงร่างกับกรณีของการสืบชาติมาเกิดใหม่นั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ลักษณะของการเข้าสิงร่างนั้นเป็นการที่จิตหรือวิญญาณดวงหนึ่งเข้าไปครอบงำบุคคล ซึ่งมีจิตหรือวิญญาณอีกดวงหนึ่งครองอยู่ แล้วบังคับร่างกายหรือบังคับจิตใจของบุคคลผู้นั้น ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับร่างกายของบุคคลนั้นได้ตลอดเวลา หรือตลอดชั่วอายุขัย แต่การสืบชาติมาเกิดใหม่ของจิตหรือวิญญาณนั้นจิตหรือวิญญาณกับร่างกายรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดเวลา และตลอดชั่วอายุขัย

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การที่เด็กที่อ้างว่าจำอดีตชาติได้พูดถึงเหตุการณ์ และเรื่องราวชีวิตของผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ในอดีตและได้เสียชีวิตไปแล้วได้อย่างถูกต้อง เหมือนกับเป็นตัวของเขาเองนั้น ไม่น่าจะเกิดจากวิญญาณของผู้เสียชีวิตเข้าสิงร่างของเด็กอย่างที่สงสัยกันอย่างแน่นอน

บรรณานุกรม :

ปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น จากหนังสือ “บูรพาจารย์” เรียบเรียงโดยคณะศิษยานุศิษย์

๒,๔,๖,๙ พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒,

สุตต.ขุ.ชา. เล่ม ๒๘ / ข้อ ๑๐๘๑

สุตต.ที.สี. เล่ม ๙ / ข้อ ๒๔,

สุตฺต. ขุ. ชาตกํ / ข้อ ๑๐๘๑(พระไตรปิฎกบาลี)

สุตฺต. ที. สีลกฺขนฺธวคฺโค ข้อ ๒๔ (พระไตรปิฎกบาลี)