คำและความหมาย

คำและความหมาย

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ใช้คำว่า “สืบชาติมาเกิด” แทนที่จะใช้คำว่า “กลับชาติมาเกิด” และใช้คำว่า “จำอดีตชาติได้” แทนที่จะใช้คำว่า “ระลึกชาติได้” อย่างที่คุ้นเคยกัน ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันนี้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แพร่หลายไปมาก นักศึกษาวิจัยได้พบกับกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละกรณีก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน จึงมีความพยายามที่จะจำแนกลักษณะของกรณีต่างๆเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้คำให้ตรงกับความหมายตามความเชื่อของศาสนาต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้นการบัญญัติศัพท์และการทำความเข้าใจกับนิยามความหมายของคำศัพท์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

สืบชาติมาเกิด / กลับชาติมาเกิด

สำหรับคนไทยเรา โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย คงจะคุ้นเคยกันดีกับคำต่างๆ เหล่านี้ เช่น การเวียนว่ายตายเกิด การเกิดใหม่ กลับชาติมาเกิด กลับชาติมาเกิดใหม่ ตายแล้วเกิดใหม่ เป็นต้นซึ่งคำต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่ใช้สื่อความหมายเกี่ยวกับการตายแล้วเกิดใหม่ แต่หลายคนยังคงเข้าใจความหมายของการตายแล้วเกิดใหม่ไม่ตรงกันกับความหมายตามคำสอนของศาสนาพุทธ บางคนเข้าใจว่าตายแล้ววิญญาณออกจากร่าง วิญญาณเป็นอมตะ การเกิดใหม่ก็เหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนร่างใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ที่ยังไม่เข้าใจความหมายตามความเชื่อของแต่ละศาสนาอย่างชัดเจน จึงถือโอกาสนี้อธิบายเกี่ยวกับคำและความหมายไว้พอสังเขปเพื่อความเข้าใจดังนี้

การกลับมาเกิดใหม่ (Reincarnation)

การกลับมาเกิดใหม่ หรือ การกลับชาติมาเกิด หมายถึง การกลับมาเกิดบนโลกใบนี้อีกครั้งของจิตวิญญาณ(Soul) ดวงเดิม คือเห็นว่าจิตวิญญาณหรือ “อาตมัน” เป็นของเที่ยงแท้ เป็นอมตะ การเวียนว่ายตายเกิดเป็นการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณดวงเดิม แต่เปลี่ยนร่างกายไปเรื่อยๆ เหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งสอนว่าจิตวิญญาณนั้นสามารถเวียนว่ายตายเกิดเป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ พืช และแร่ธาตุ ในรูปแบบต่างๆได้มากมายถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐ รูปแบบ มนุษย์หรือสัตว์เมื่อตายไปแล้วสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช หรือเป็นแร่ธาตุต่างๆ บนโลกนี้ได้อีก จนกว่าจะบรรลุโมกษะ (Moksha)กลับไปรวมกับกายพรหมหรือ “ปรมาตมัน” เป็นอมตะ และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เทพหรือเทพเจ้าสามารถอวตารหรือแบ่งภาคไปเกิดเป็นเทพหรือเทพเจ้าองค์อื่น หรืออวตารมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ได้ นี่คือความหมายตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งความเห็นว่าจิตวิญญาณเป็นของเที่ยง เป็นอมตะนั้น ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นความเห็นไปในทาง “สัสสตทิฏฐิ” ซึ่งเป็นความเห็นผิด หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง

การกลับคืนชีพอีกครั้งในวันพิพากษา (Rise Again)

หมายถึงการที่ในวันพิพากษา (Last Judgment Day) พระเจ้าจะทรงให้คนที่ตายไปแล้วกลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หรือ มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นการกลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในวันพิพากษา ดังปรากฏมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า Jesus said to her, “Your brother will rise again.” Martha answered, “I know he will rise again in the resurrection at the last day.” Jesus said to her, “I am the resurrection and the life. The one who believes in me will live, even though they die; and whoever lives by believing in me will never die. (John 11: 23-26) แปลว่า พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า "พี่ชายของท่านจะกลับคืนชีพ" มารธาทูลว่า "ดิฉันรู้ว่า เขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย" พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้ว ก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิต และเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย (ยน. 11: 23-26 การกลับคืนชีพของลาซารัส) จากข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนานิกาย โรมันคาทอลิกดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า คำว่า Rise Again ใช้กับ การกลับคืนชีพของคนธรรมดาคนเดียว ส่วนคำว่า Resurrection นั้นใช้กับการกลับคืนชีพของพระเยซู และการกลับคืนชีพของมนุษย์ทุกคนในวันพิพากษา (ในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ และในคัมภีอัลกุรอานของศาสนาอิสลาม ใช้คำว่า “ฟื้นขึ้นมา”) สำหรับความเชื่อเรื่องของการกลับคืนชีพขึ้นมาหรือฟื้นขึ้นมาหรือเป็นขึ้นมาอีกครั้งในวันพิพากษานี้ เป็นความเชื่อของศาสนาฮีบรู (ยิว,ยูดาห์) ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ที่เชื่อว่าเมื่อคนเราตายไปแล้ว ร่างอยู่ในหลุมฝังศพ วิญญาณ (Spirit) หรือ จิตวิญญาณ (Soul) จะออกจากร่างไปอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า แดนคนตายหรือ เฮเดส (Hades) ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ หรือ เชโอล (Sheol) ตามความเชื่อของศาสนาฮีบรู(ยิว,ยูดาห์) หรือไปอยู่ในโลกบัรซัค หรือ “อะลัมบัรซัค” ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่สามารถติดต่อสัมพันธ์หรือมาหลอกหลอนมนุษย์ได้ เป็นโลกแห่งการพักชั่วคราวเพื่อรอวันพิพากษา เมื่อถึงวันพิพากษา(ศาสนาอิสลามเรียกว่า “วันกียามะฮฺ”) พระเจ้าจะทรงบันดาลให้ทุกคนกลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในวันพิพากษา (Rise Again) เพื่อให้พระเจ้าพิพากษา จากนั้นก็จะอยู่บนสวรรค์หรือในนรกชั่วนิรันดร์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดได้อีก นี่คือความหมายตามคติความเชื่อของ ศาสนาฮีบรู (ยิว,ยูดาห์) ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม(ยกเว้นพวกที่นับถือศาสนาอิสลามบางนิกาย เช่น นิกายอเลวี (Alevi) นิกายดรูซ (Druze) เป็นต้น ที่เชื่อเรื่องของการเกิดใหม่ได้หลายครั้ง) ซึ่งความเห็นว่าจิตวิญญาณเป็นของเที่ยง เป็นอมตะ แบบนี้ในทางพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความเห็นไปในทาง “สัสสตทิฏฐิ” ซึ่งเป็นความเห็นผิดหรือเป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นเดียวกัน ส่วนอีกข้อความหนึ่งที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า “I tell you the truth,no one can see the kingdom of God unless he is born again” (John 3:3) แปลว่า “ฉันบอกความจริง ไม่มีใครสามารถเห็นอาณาจักรของพระเจ้า เว้นแต่เขาจะเกิดใหม่อีกครั้ง” (ยน. 3:3) ซึ่งความหมายของคำว่า “Born Again” ในข้อความนี้ ทางผู้รู้ในคริสต์ศาสนาทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ท่านแปลความหมายตรงกันว่าเป็นการบังเกิดใหม่จากเบื้องบน การบังเกิดใหม่จากพระจิต คือการกลับใจมาเชื่อในพระเจ้า หรือการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่มาในหนทางพระเจ้า เป็นการเกิดใหม่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เป็นการเกิดใหม่อีกครั้งในวันพิพากษาอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ

การสืบเกิด**

การสืบเกิด หรือ การสืบชาติมาเกิด หรือ การสืบชาติไปเกิด เป็นคำใหม่ที่ผู้เขียนนำมาใช้ คำว่า “สืบ” หมายถึง ความต่อเนื่องเป็นลำดับ เช่น สืบราชสมบัติ สืบตระกูล ซึ่งมีความหมายตรงกันกับคำว่า Succession ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง ความต่อเนื่องเป็นลำดับ การสืบทอดมรดก หรือการสืบสันตติวงศ์ และเป็นคำที่ให้ความหมายตรงกันกับความหมายของ การเกิดดับอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ของนามรูปหรือขันธ์ ๕ ในทางพุทธศาสนา ซึ่งแสดงถึงลักษณะของ “สันตติ” คือ ความสืบทอดต่อเนื่องเป็นลำดับไม่ขาดสาย การสืบเกิด ในที่นี้หมายถึง กระบวนการสืบเกิดของนามรูปหรือขันธ์ ๕ ซึ่งมีกระบวนการที่ละเอียดซับซ้อนและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งยวด ทั้งส่วนที่เป็นนามและส่วนที่เป็นรูป

ตัวอย่างของการเกิดดับในส่วนที่เป็นนาม เช่น เมื่อรูปกระทบตา (ผัสสะ) แล้วเรามีเจตนา (กรรม) มุ่งเอาอารมณ์ไปยึดเหนี่ยวไปรับรู้ที่จักขุทวารที่รูปที่มากระทบตา “ปฏิสนธิจิต” หรือ “ปฏิสนธิวิญญาณ” คือ ความรู้อารมณ์ในรูปหรือ “จักขุวิญญาณ” นั้นก็เกิดขึ้น ต่อมาเมื่อเรามีเจตนา (กรรม) ที่จะมุ่งเอาอารมณ์ไปยึดเหนี่ยวที่โสตทวารเพื่อไปรับรู้เสียงที่มากระทบหู ขณะที่อารมณ์ละไปเคลื่อนไปจากรูป จากจักขุทวาร “จุติจิต” คือความดับแห่งจักขุวิญญาณนั้นก็เกิดขึ้น และเมื่ออารมณ์นั้นเคลื่อนไปยึดเหนี่ยวอยู่ที่โสตทวารอยู่ที่เสียงที่มากระทบหู “ปฏิสนธิจิต” หรือ “ปฏิสนธิวิญญาณ” คือความรู้อารมณ์ในเสียงที่มากระทบหู หรือวิญญาณดวงใหม่ คือ “โสตวิญญาณ” ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทันทีทันใดโดยไม่มีอะไรมาคั่น ต่อมาเมื่อเรามีเจตนา (กรรม) ที่จะมุ่งเอาอารมณ์ไปยึดเหนี่ยวที่กายทวารเพื่อรับรู้สัมผัสที่มากระทบกาย ขณะที่อารมณ์ละไปเคลื่อนไปจากเสียงจากโสตทวาร “จุติจิต” คือความดับแห่งโสตวิญญาณนั้นก็เกิดขึ้น และเมื่ออารมณ์นั้นไปยึดเหนี่ยวไปรับรู้ที่กายทวารที่สัมผัสที่มากระทบกาย “ปฏิสนธิจิต” หรือ “ปฏิสนธิวิญญาณ” คือความรู้อารมณ์ในสัมผัสที่มากระทบกาย หรือวิญญาณดวงใหม่ คือ “กายวิญญาณ” ก็เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่องในทันทีทันใดโดยไม่มีอะไรมาคั่นเช่นเดียวกัน

จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จิตหรือวิญญาณหรือความรับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นตามทวารต่างๆนั้น เป็นคนละอย่างกันเป็นคนละดวงกัน เช่น“จักขุวิญญาณ” การเห็นรูป กับ “โสตวิญญาณ” การได้ยินเสียง เป็นคนละอย่างกันเป็นคนละดวงกัน เป็นต้น ซึ่งการเกิดดับของจิตหรือวิญญาณแต่ละดวงนั้นรวดเร็วมาก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียวหรือเพียงเสี้ยววินาทีก็มีการเกิดดับนับแสนๆล้านๆครั้ง เพราะเราสามารถเห็นภาพทางตาได้จากการที่แสงตกกระทบสิ่งต่างๆนับล้านๆอณูแล้วสะท้อนมาที่จอตาของเราได้เพียงเสี้ยววินาที หรือเราสามารถรับรู้ความรู้สึกที่มากระทบนับล้านๆ เซลในร่างกายของเราได้ภายในเสี้ยววินาที และเพราะการเกิดดับของจิตหรือวิญญาณแบบสันตติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องนี่เอง ที่ไปปิดบังอนิจจลักษณะ ทำให้เห็นผิดไปว่าจิตหรือวิญญาณนั้นเป็นจิตหรือวิญญาณดวงเดิม เป็นของเที่ยง และเป็นอมตะ นี่ตัวอย่างการพิจารณาการเกิดดับของจิตหรือวิญญาณในชั่วขณะจิต

ถ้าพิจารณาแบบข้ามภพข้ามชาติ ก็อธิบายได้ว่า เมื่อร่างกายของคนเราไม่สามารถทำงานได้ หัวใจและสมองหยุดทำงาน ดับ ตายไป จิตหรือวิญญาณที่ยังมีเชื้อ คือยังประกอบไปด้วย อวิชชา กิเลสตัณหา อุปาทาน ยังประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะอยู่ จิตยังประกอบด้วยเจตนา (กรรม) คือ ยังมีความจงใจ ยังมีความมุ่งอารมณ์เพื่อไปรับรู้อารมณ์ตามทวารต่างๆ อยู่ ดังนั้นการสืบเกิดต่อไปในภพใหม่ก็ยังคงเกิดมีเกิดเป็นขึ้นได้อีกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ใน ภพใดภพหนึ่ง โดยไม่มีอะไรมาคั่น ไม่ว่าจะเกิดเป็น มนุษย์เหมือนเดิม เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เป็นพรหม หรือเป็นเทวดา ก็ตาม

ดังที่พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้ว่า :

“ดูก่อนอานนท์ ความตั้งใจจงใจ(เจตนา) ความปรารถนาของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องหุ้มห่อ มีตัณหาเป็นเครื่องรึงรัด ได้ตั้งลงแล้วในธาตุอันเลว (กามธาตุ) ธาตุปานกลาง (รูปธาตุ, อรูปธาตุ) เมื่อเป็นดังนี้การเกิดในภพใหม่ก็มีขึ้นได้อีก”

(สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต/ปฐมภวสูตร)

จากคติความเชื่อทางพุทธศาสนาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการสืบเกิดอันยาวนานหลายภพหลายชาตินั้นมีอยู่ แต่การสืบเกิดอันยาวนานนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นอมตะนิรันดร์ แต่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ด้วยการปฏิบัติตาม อัฏฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวที่จะนำพาไปสู่ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้ และเมื่อใดที่จิตหรือวิญญาณนั้นไม่ประกอบด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานไม่ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้แล้ว และขณะที่เสียชีวิตจิตสุดท้าย (จริมจิต) ไม่มีความจงใจ ไม่มุ่งอารมณ์ไปที่ทวารไหนๆ ไม่ประกอบด้วยเจตนา คือไม่เคลื่อนไม่ไหวไม่มีกรรมไม่มีความปรุงแต่ง (หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน) จึงไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดมีเกิดเป็นขึ้นมาได้อีก จิตนั้นก็จะถึงซึ่งความดับสนิทโดยรอบ หรือ “ปรินิพพาน” ไม่เกิดมีเกิดเป็นขึ้นมาได้อีกไม่ว่าจะในภพใดๆ ก็ตาม ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ปรากฏชัดว่า พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงปรินิพพานที่ จตุตถฌาน นี้เอง นี่คือคติความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท

เมื่อพิจารณาจากคติความเชื่อดังกล่าวแล้วผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “สืบเกิด” นั้นให้ความหมายไปในลักษณะของ “สันตติ” ตรงกันกับ การเกิดดับอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ของจิตหรือวิญญาณในทางพุทธศาสนา ไม่ได้ให้ความหมายไปในทาง “สัสสตทิฏฐิ” คือความเที่ยงความเป็นอมตะ จึงน่าจะใช้อธิบายความหมายเกี่ยวกับการเกิดดับของจิตหรือวิญญาณ ตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนาได้ดีกว่า ดังนั้นในหนังสือของผู้เขียนจึงใช้คำว่า “สืบเกิด”“สืบชาติไปเกิด” หรือ “สืบชาติมาเกิด” แทนคำว่า “กลับชาติมาเกิด” (Reincarnation) การกลับคืนชีพอีกครั้งในวันพิพากษา (Rise Again) หรือคำว่า“เกิดใหม่” (Rebirth) อย่างที่คุ้นเคยกัน

** สำหรับคำว่า "การสืบเกิด" นั้น เป็นคำใหม่ ที่ยังไม่มีคำเฉพาะที่ให้ความหมายตรงกันกับคำนี้บัญญัติไว้ในภาษาอังกฤษ คำว่า “สืบ” หมายถึง ความต่อเนื่องเป็นลำดับ ซึ่งมีความหมายตรงกันกับคำว่า “Succession” หมายถึง การสืบทอด ความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องเป็นลำดับ การสืบทอดมรดก หรือการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งลักษณะของการสืบทอดมรดกหรือการสืบสันตติวงศ์นั้น ถึงแม้ว่าผู้ที่ได้รับการสืบทอดจะเป็นคนละคนกัน แต่ต้องมีการสืบเชื้อสายมาจากผู้เป็นเจ้าของมรดก หรือต้องมีการสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นั้นๆ ซึ่งคล้ายกันกับลักษณะของการเกิดดับในชั่วขณะจิตในศาสนาพุทธ ที่สอนว่าจิตหรือวิญญาณนั้นมีการเกิดดับนับล้านล้านครั้งในเสี้ยววินาที(แสนโกฏิขณะ) จิตที่ดับไปกับจิตที่เกิดขึ้นใหม่เป็นคนละดวงกัน แต่จิตดวงใหม่ต้องอาศัยเชื้อหรือต้องอาศัยเหตุปัจจัยจากจิตดวงก่อน จึงเกิดมีเกิดเป็นขึ้นมาได้อีก

ระลึกชาติได้ / จำอดีตชาติได้

ในพระไตรปิฎกภาษาไทยมีคำที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่สองคำ คือคำว่า “ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อนได้” หรือ “ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้” และคำว่า “ระลึกชาติได้” ซึ่งทั้งสองคำนี้เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า "ปุพฺเพนิวาสํ อนุสฺสรติ" ในภาษาบาลี หมายถึง “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” คือญาณอันเป็นเครื่องให้ระลึกถึงขันธ์ทีเคยอาศัยในกาลก่อนได้ ซึ่งใช้กับผู้ที่ปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานหรือผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้ฌานสมาบัติ ถึงจตุตถฌาน บรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต จิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แล้วน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถย้อนระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติของตัวเองได้ เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้ ๑ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง จนนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความแตกต่างจากลักษณะของเด็กที่ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้เองด้วยความทรงจำปกติ ที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหรือการใช้วิธีการใดๆเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความระลึกได้นั้นๆ และจากความแตกต่างนี้เองผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะจำแนกให้ชัดเจนลงไป เพื่อประโยชน์ในการสื่อความหมาย หรือเพื่อการอธิบายความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องและตรงกับความหมายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความหมายตามคติของพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เขียนขอเสนอคำนิยามเบื้องต้นไว้ดังนี้

ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้

การระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้ หมายถึง การระลึกถึงขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ในอดีตชาติได้ หรือการระลึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทางใจ ที่เคยสัมผัสรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ ในอดีตชาติได้

การระลึกถึงรูปขันธ์ ได้แก่ การระลึกถึงส่วนที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ส่วนที่เป็นสสาร และพลังงาน ทั้งหมด เช่น การระลึกถึง

ใบหน้า ร่างกาย หรือลักษณะท่าทางการแสดงออกต่างๆของร่างกายทั้งของตัวเองและผู้อื่นในอดีตชาติได้ หรือการระลึก

ถึง บุคคล สถานที่ วัตถุสิ่งของ สสาร พลังงาน สิ่งแวดล้อมต่างๆที่เคยได้รับรู้ในอดีตชาติได้ เป็นต้น

การระลึกถึงเวทนาขันธ์ ได้แก่ การระลึกถึง ส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ การเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ และ

ความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การระลึกถึงความสุข ความทุกข์ ทั้งของตัวเองและของผู้อื่นที่

เคยได้รับรู้เมื่อในอดีตชาติได้ เป็นต้น

การระลึกถึงสัญญาขันธ์ ได้แก่ การระลึกถึง ส่วนของความกำหนดไว้ เก็บไว้ จำไว้ในความรับรู้อารมณ์ ทาง หู ตา จมูก

ปาก ลิ้น กาย ใจ ที่เคยได้สัมผัสมาก่อน เช่น ไปเกิดในต่างประเทศแต่ยังระลึกถึงความหมายได้ว่า ลักษณะอย่างนี้ใน

ประเทศไทยเรียกว่าสีแดง สีดำ สุนัข แมว เป็นต้น

การระลึกถึงสังขารขันธ์ ได้แก่ การระลึกถึงส่วนที่ปรุงแต่ง จินตนาการ ความชอบ ความเกลียด ความกลัว ความตั้งใจ

ความจงใจ เจตนา ที่มีทั้งที่ดีที่ชั่วหรือกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว เช่น ระลึกได้ว่าตั้งใจจะบวชให้แม่เมื่อในอดีตชาติ ในอดีตชาติฝัน

ว่าอยากมีรถมีบ้าน ในอดีตชาติอยากจะชกหน้าคู่อริ เป็นต้น

การระลึกถึงวิญญาณขันธ์ ได้แก่ การระลึกถึงส่วนที่รู้อารมณ์ รู้ความหมาย เข้าใจ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ

อารมณ์ ที่มากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ในอดีตชาติได้

ความจริงแล้ว คำว่า “ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้” เป็นคำที่สามารถใช้อธิบายความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางพุทธศาสนาได้อย่าง ลึกซึ้ง กว้างขวาง และคลอบคลุมที่สุด แต่เนื่องจากเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นเคยและเป็นคำที่ลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาในการศึกษาจึงจะเข้าใจความหมายได้อย่างคลอบคลุมทั่วถึง จึงมักจะไม่มีใครใช้คำนี้กัน แต่จะใช้คำว่า “ระลึกชาติได้” ซึ่งเข้าใจได้ง่ายกว่าแทน แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่าทั้งสองคำนี้ในพระไตรปิฎกใช้กับผู้ที่ได้อภิญญาหรือได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ซึ่งใช้วิธีการฝึกสมาธิจิตจึงได้ญาณนี้ มีคำถามว่า เด็กที่ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้เองด้วยความทรงจำปกติ จะเรียกว่าเด็กได้อภิญญาหรือได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณด้วยหรือไม่ ? จากปัญหานี้ผู้เขียนขอเสนอให้จำแนกลักษณะของการระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้ไว้ดังนี้

จำแนกตามลักษณะของข้อมูลที่ได้จากอดีตชาติ(สารชาติ) ซึ่งจำแนกได้ ๒ ลักษณะ คือ

๑. การระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติของตัวเองได้ เช่น การได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การสะกดจิตย้อนอดีตชาติ หรือ

การจำอดีตชาติได้ของเด็กด้วยความทรงจำปกติ เป็นต้น

๒. การระลึกรู้ถึงขันธ์ในอดีตชาติของผู้อื่นได้ เช่น ผู้ที่สำเร็จ จุตูปปาตญาณ สามารถรู้ถึงการเวียนว่ายตายเกิด รู้ถึง

การเกิดการดับ อันเป็นไปตามกรรมของผู้อื่นได้ เป็นต้น

จำแนกตามลักษณะของการได้มาซึ่งความทรงจำนั้นๆ ซึ่งจำแนกได้ ๒ ลักษณะ คือ

๑. ระลึกชาติได้(Recall Previous Life) หมายถึง การระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้โดยการใช้วิธีการใดๆเพื่อให้ได้มา ซึ่งความทรงจำในอดีตชาตินั้นๆ(ระลึกไม่ได้ด้วยความทรงจำปกติ) เช่น การสะกดจิต การฝึกสมาธิในรูปแบบต่างๆ การฝึกสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นต้น

๒. จำอดีตชาติได้(Remember Previous Life) หมายถึง การระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้ด้วยความทรงจำปกติ โดยไม่ต้องใช้วิธีการใดๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความทรงจำในอดีตชาตินั้นๆ เช่น การระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้เอง ด้วยความ ทรงจำปกติตั้งแต่วัยเด็ก เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราจำแนกให้เป็นดังนี้แล้ว จะสามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับนักวิชาการในประเทศตะวันตกที่เขาไม่มีความรู้และไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับ องค์ประกอบของสัตว์ คือ ขันธ์ทั้ง ๕ ไม่รู้ว่ามีจุตูปปาตญาณที่ทำให้รู้ถึงอดีตชาติและอนาคตชาติของคนอื่นได้ ไม่รู้ว่าการฝึกสมาธิจิตทำให้สามารถระลึกถึงอดีตชาติได้ ไม่รู้เรื่องอภิญญา ไม่รู้ลักษณะของการสืบเกิดในพระพุทธศาสนา เขารู้จักแต่การกลับชาติมาเกิดใหม่(Reincarnation)ของจิตวิญญาณดวงเดิมเหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแบบของพราหมณ์(ฮินดู) การจำอดีตชาติได้ของเด็ก และการระลึกชาติได้จากการสะกดจิต(Past Life Regression) เท่านั้น

สารอดีต(Previous information)

และ สารชาติ (Previous Lives Information)

คงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนเราไม่สามารถจดจำประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาในอดีตได้ แต่สามารถจดจำบางสิ่งบางอย่างหรือบางเหตุการณ์ได้ดี แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปีหรือหลายสิบปีก็ตาม แต่บางสิ่งบางอย่างหรือบางเหตุการณ์แม้จะเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาเราก็ไม่สามารถจำได้แล้ว หรือบางสิ่งบางอย่างเราจำไม่ได้ นึกยังไงก็นึกไม่ออก จนคิดว่าลืมไปแล้ว แต่เมื่อได้พบกับสิ่งที่คล้ายกันเหมือนกัน หรือได้พบกับเหตุการณ์ที่เป็นสาระเชื่อมโยงกันเราก็กลับระลึกถึงสิ่งที่เคยพบเห็นเคยสัมผัสได้ หรือระลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อในอดีตขึ้นมาได้อีก

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ หรือประสบการณ์ต่างๆในอดีตที่เป็นสาระเชื่อมโยง ทำให้เราสามารถระลึกถึงอดีตได้นี้ ผู้เขียนเรียกว่า “สารอดีต” (สา-ระ-อะ-ดีด) หรือ Previous information ส่วนสาระข้อมูลในชีวิตก่อนหรือสาระข้อมูลในอดีตชาติ ที่บุคคลที่จำอดีตชาติได้เคยประสบพบพานเคยได้สัมผัสรับรู้ในชาติก่อนหรือในชาติก่อนๆที่ไกลไปกว่านั้น ผู้เขียนเรียกว่า "สารชาติ" (สา-ระ-ชาด) หรือ Previous Lives Information ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ผู้สืบชาติมาเกิดใหม่ เคยได้รับ เคยถูกกระทำ หรือเคยได้รับรู้มาก่อนเมื่อในอดีตชาติ ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมทั้งสิ่งที่สามารถสืบทอดจากอดีตชาติมาถึงปัจจุบันชาติได้ด้วย

เช่น ในชาติก่อนถูกยิงที่หน้าอกเสียชีวิต จิตหรือวิญญาณจดจำฝังใจกับร่องรอยบาดแผลนั้น ด้วยพลังแห่งความทรงจำนั้นทำให้จิตหรือวิญญาณที่สืบชาติมาเกิดใหม่เป็นทารกในครรภ์ สามารถสร้างรอยแผลเป็นบนผิวหนังที่บริเวณหน้าอกขึ้นมาได้ เมื่อเกิดมาเด็กจึงมีรอยแผลเป็นที่มีลักษณะเหมือนและมีตำแหน่งตรงกันกับรอยบาดแผลกระสุนปืนนั้นติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด เพราะฉะนั้นรอยแผลเป็นที่ปรากฏถือว่าเป็นข้อมูลสาระจากอดีตชาติ ที่สามารถนำมาใช้ตรวจสอบและเปรียบเทียบความสอดคล้องตรงกันกับลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันชาติได้ หรือเมื่อมีการป้ายศพแล้วจิตหรือวิญญาณจดจำรอยป้ายศพนั้นได้ชัดเจนมั่นคง เมื่อเกิดมาเด็กมีรอยปานที่เหมือนกับรอยป้ายศพนั้นติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งรอยแผลเป็นและรอยปานที่สืบเนื่องมาจากอดีตชาติในลักษณะนี้ผู้เขียนเรียกว่าเป็น สารชาติ ในส่วนที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าในชาติก่อนมีความชอบ ความเกลียด ความกลัว หรือมีความชำนาญ ในสิ่งใดๆ แล้วเมื่อสืบชาติมาเกิดใหม่ ยังคงชอบ เกลียด กลัว หรือยังมีความชำนาญในสิ่งนั้น เหมือนกัน อย่างนี้ ผู้เขียนเรียกลักษณะอันสืบเนื่องมาจากอดีตชาติในลักษณะนี้ว่าเป็น สารชาติ ในส่วนที่เป็นนามธรรม เป็นต้น

สำหรับ สาระข้อมูลในอดีต และ สาระข้อมูลในอดีตชาติ นั้น มีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงและรื้อฟื้นความทรงจำ ที่ถูกเก็บไว้ในระดับของ "ภวังคจิต" หรือจิตใต้สำนึกมาก เพราะมีส่วนที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงและจดจำเรื่องราวเหตุการณ์ "ในอดีต" หรือ "ในอดีตชาติ" ได้มากขึ้น เช่น เด็กที่จำอดีตชาติได้ ถ้าเขาได้ไปในสถานที่ ที่บุคคลในอดีตชาติเคยอยู่เคยไปหรือคุ้นเคย เขาก็จะสามารถจดจำเรื่องราวชีวิตของเขาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆได้ เมื่อได้เห็นวัตถุสิ่งของ ก็จะจำเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งของนั้นๆได้ หรือถ้าได้พบกับบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย ก็จะจำชื่อและเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลผู้นั้นได้ เป็นต้น

อ้างอิง Referrences

๑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

๒ วิวรณ์ 20 :13 - 14

๓ Watson E. Mills , Mercer Dictionary of the Bible. Mercer University Press.

๔ อาจารย์ มูนิร มูหะหมัด , โลกบัรซัค : อัล-อิศลาหฺ สมาคม ,๒๕๕๕