ปริศนาธรรมข้อที่ ๓

ปริศนาธรรมข้อที่ ๓

หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาตติยปัญหา ปริศนาคำรบสามว่า หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร ชื่อหลวงเจ้าวัดนั้นคือ จิต* อันชื่อว่า วิญญาณขันธ์ อันเป็นประธานแก่เจตสิก*ทั้งปวง อันชื่อเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล เหตุว่าพระบาลีดังนี้ ฯ มหากสฺสโปเถรปมุขปญฺจสตา ภิกฺขู ฯ อันว่าภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ มีพระมหากัสสปเถรเป็นประธาน อันนี้เป็นอุปมา ฯ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ฯ๑๓ อันว่าอรูปธรรมทั้งหลาย คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์เป็นประธาน อันเป็นอุปมัยอธิบายว่าดังนี้

อันว่าหลวงเจ้าวัดนั้นเป็นประธานแก่ภิกษุทั้งหลายอันเป็นลูกวัด แลมีดุจใด อันว่าจิตก็เป็นประธานแก่เจตสิก ทั้งหลายดุจนั้น เหตุดังนั้นจึงว่าหลวงเจ้าวัดนั้น คือจิตอันชื่อว่า วิญญาณขันธ์ แลเป็นประธานแก่เจตสิกทั้งหลาย อันชื่อว่าเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล ซึ่งว่าอย่าให้อาหารนั้น คืออย่าให้จิตยินดีต่ออาหาร ๔* ประการ คือ กวฬิงการาหาร ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑

อันว่า กวฬิงการาหาร นั้น นำมาซึ่งรูป มีโอชา เป็นคำรบ ๘ อันว่าผัสสาหารนั้น นำมาซึ่ง เวทนา*ทั้ง ๓ อันว่ามโนสัญเจตนาหารนั้น นำมาซึ่งปฏิสนธิในภพ*ทั้ง ๓ อันว่าวิญญาณาหารนั้น นำมาซึ่งนาม แลรูป เหตุดังนั้นธรรมทั้ง ๔ ประการนี้จึงได้ชื่อว่าอาหาร ซึ่งว่าอย่าให้จิตยินดีในอาหารนั้นเป็นเหตุ เหตุว่าอาหารทั้ง ๔ ประการนั้นกอปรด้วยภัย ๔ ประการ คือ นิกันติกภัย* ๑ อุปคมนภัย* ๑ อุปปัตติภัย* ๑ ปฏิสนธิภัย* ๑ อันว่ากวฬิงการาหารนั้น กอปรด้วยนิกันติกภัย คือรสตัณหา เหตุว่าสัตว์ทั้งหลายมีอาทิคือ เนื้อ แลปลา อันหลงด้วยรสตัณหา ก็ถึงภัยฉิบหายเป็นอันมากประการหนึ่ง แม้นมนุษย์ แลบรรพชิตแล้วก็ดี ครั้นยินดีในรสตัณหาก็ย่อมถึงซึ่งภัย อันจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ก็มีเป็นอันมาก

แม้นบรรพชิตอันเป็นปัจฉิมภวิกชาติ*นั้นก็ดี ครั้นยินดีต่อรสตัณหา ก็ย่อมบังเกิดภัยดุจ พระสุนทรเถรอันนางแพศยาตกแต่งโภชนาหาร อันประดิษฐ์ แลนิมนต์ให้เข้าไปฉันแต่ในศาลา อันเป็นที่ชุมนุมภายนอกนั้น แล้วก็นิมนต์เข้าไปฉันถึงหอนั่ง แล้วนิมนต์ให้เข้าไปฉันถึงในเรือน แล้วก็นิมนต์ให้ขึ้นไปฉันบนปราสาท ๗ ชั้น พระมหาเถรนั้นได้บริโภคอาหารอันประดิษฐ์แล้วนั้น ก็ยินดีด้วยรสตัณหา ก็ไปตามใจแห่งแพศยานั้น แพศยานั้นจะให้นั่งฉันในที่ใดก็ไปนั่งฉันในที่นั้น

เหตุยินดีด้วยรสตัณหา ครั้นขึ้นไปนั่งฉันในปราสาท ๗ ชั้นนั้น แพศยานั้นหับประตูไว้แล้ว ก็เล้าโลมด้วยมารยาสตรี อันมีประการต่างๆ เพื่อจะให้เป็นคฤหัสถ์ แลจะให้บริโภคกามคุณ พระมหาเถระนั้นมีสมภารบริบูรณ์แล้ว ก็มิได้ยินดีในกามคุณนั้น ก็บังเกิดธรรมสังเวช* ก็ลุถึงอรหันต์ แล้วก็เหาะหนีไปในอากาศ ก็พ้นจากแพศยานั้น ถ้าแม้ยังมิถึงปัจฉิมภวิกชาติ แลสมภารยังไม่บริบูรณ์ ก็จะถึงซึ่งภัยอันตรายต่อพรหมจรรย์ ด้วยหญิงแพศยาผู้นั้นแล

อันว่ารสตัณหากอปรด้วยภัยดังนี้ จึงว่า อย่าให้จิตยินดี ในกวฬิงการาหารนั้นแล เหตุดังนั้นบุคคลผู้มีปัญญาปรารถนาพ้นจากสงสาร แลจะเอานฤพานให้ได้นั้น แม้นบริโภคโภชนาหารอันประณีตนั้นก็ดี อย่าพึงยินดีในรสตัณหา พึงบริโภคด้วยปัญญาอันพิจารณา ซึ่งอุปมาดุจ บุคคลทั้งสองคน อันเป็นสามีภรรยา เดินไปในทางกันดาร ขาดอาหาร จะสิ้นชีวิตนั้น ก็กินเนื้อกุมารผู้เป็นบุตรนั้น แลมิได้ยินดีในรสตัณหาในเนื้อบุตรนั้น แลกินเนื้อบุตรเพื่อจะรักษาชีวิต แลมีอุปมาดุจใด อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา จะปรารถนาให้พ้นจากสงสาร แลจะได้ถึงนฤพานจงฉับพลัน ก็พึงบริโภคโภชนาหาร แต่เพื่อจะรักษาชีวิต แลจะเจริญภาวนาให้ได้วิปัสสนาปัญญา๑๐*ประการแลมรรคญาณ ผลญาณ อันจักกระทำนฤพานให้แจ้งนั้น แลอย่าได้บังเกิดความยินดีด้วยรสตัณหา ดุจคนทั้งสองอันกินเนื้อบุตรนั้นเถิด ฯ

อันว่า ผัสสาหาร นั้น กอปรด้วยอุปคมนภัย คือสภาวะแห่งอารมณ์*ทั้ง ๖ รูปารมณ์อันมาถูกต้องจักษุทวาร(ดู ทวาร ๖)*นั้นก็ดี คือสัทธารมณ์อันมาถูกต้อง โสตทวารนั้นก็ดี คือคันธารมณ์อันมาถูกต้อง ฆานทวารนั้นก็ดี คือรสารมณ์อันมาถูกต้องชิวหาทวารนั้นก็ดี คือโผฏฐัพพารมณ์อันมาถูกต้องกายทวารนั้นก็ดี คือธัมมารมณ์อันมาถูกต้องมโนทวารนั้นก็ดี อารมณ์ทั้ง ๖ นี้ ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์*อันชั่ว อันถ่อย อันมิถูกถึงพึงใจ แลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้นก็ดี โทมนัสเวทนาก็บังเกิด แลโทมนัสเวทนานั้นให้คับแค้นเสียบแทงจิตนั้นให้ลำบาก

ดุจปืนอันกำทราบอันชุบด้วยยาพิษ แลมาถูกต้องเสียบแทงในหทัยวัตถุฉะนั้น ก็เป็นอันยากลำบากยิ่งหนักหนา ก็ไหลลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องทุกข์นั้น ก็ถึงภัยอันมิได้ประเป็นโยชน์ ในอิธโลก* แลปรโลก*นั้น แลถ้าอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นเป็นอิฏฐารมณ์* อันงาม อันดี เป็นที่ถูกเนื้อพึงใจ แลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้น โสมนัสเวทนาก็บังเกิด แลโสมนัสเวทนานั้นก็ยังจิตให้ลำบากด้วยสภาวะกำหนัด ยินดีในผัสสาหารอันถูกต้องอารมณ์นั้น ก็หลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องสุขนั้น ก็ถึงซึ่งภัยอันมิได้เป็นประโยชน์ ในอิธโลก แลปรโลกนั้นแล ถ้าอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นเป็นมัชฌตารมณ์* บ่มิชั่ว บ่มิดี แลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้น อุเบกขาเวทนาก็บังเกิด แลอุเบกขาเวทนานั้น มิได้ตั้งอยู่นาน ดุจทุกขเวทนา แลสุขเวทนานั้น อุเบกขาเวทนานั้นบังเกิดขึ้นบัดเดียวแล้วก็ดับไป อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่ใด อันยินดีในผัสสาหาร อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นั้น มิได้พ้นจากสังสารทุกข์ เหตุว่า ผัสสะนั้นเป็นปัจจัยแก่เวทนา เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ ชาติเป็นปัจจัยแก่ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส(ดู ปฏิจจสมุปบาท)* ก็บังเกิดเป็นกองทุกข์อยู่ในสงสารเหตุยินดีต่อผัสสาหารนั้นแล อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา อันปรารถนาพ้นจากสงสารแลจะใคร่ได้นฤพานจงฉับพลัน ก็อย่าพึงยินดีต่อผัสสาหารในทวารทั้ง ๖ นั้น

ดุจดังแม่ไก่หาหนังมิได้นั้น แลแม่ไก่นั้นจะไปในสถานที่ใดๆ สัตว์ทั้งหลายก็จะจิกทึ้งกัดกินเป็นอาหารในสถานที่นั้น ๆ แม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้น ระวังระไวรักษาอาตมา เหตุว่ากลัวแต่สัตว์ทั้งหลายจะมาจิกทึ้งอาตมานั้น แลมิได้ยินดีต่อสัตว์ทั้งหลาย อันจะมาจิกทึ้งนั้นแลมีดุจใด อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงระวังระไวรักษาทวารทั้ง ๖ อย่าพึงยินดีในผัสสาหารนั้น แลพึงกลัวแต่ผัสสาหารนั้นดุจแม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้น แม้นอารมณ์มาถูกต้องทวารทั้ง ๖ แลเวทนาบังเกิดก็ดี ก็พึงพิจารณาตามพุทธฏีกาสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้

ฯ โย สุขํ ทุกฺขโต อทฺท ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต อทุกฺขมสุขํ สนฺตํ อทฺทกฺขิ นํ อนิจฺจโต ส เว สมฺมทฺทโส ภิกฺขุ ฯ๑๔ ส เว นิพฺพานสนฺติเก ฯ๑๕ อันว่านักปราชญ์ผู้ใดแลเห็นซึ่งสุขเวทนานั้น ว่าเป็นวิปรินามธรรม* เหตุว่าสุขเวทนานั้นย่อมแปรเป็นทุกข์เมื่อภายหลัง แลเล็งเห็นทุกขเวทนานั้นดุจปืนอันกำทราบอาบด้วยยาพิษ แลเล็งเห็น อทุกข์ อสุขเวทนาอันระงับเป็นสุขนั้นว่า บ่มิเที่ยง อันว่านักปราชญ์ผู้นั้นชื่อว่าเล็งเห็นเป็นอันชอบนักหนา นักปราชญ์ได้ชื่อว่าภิกษุก็ถึงซึ่งที่ใกล้นฤพานแล้วแล

อันว่า มโนสัญเจตนาหาร นั้นกอปรด้วยอุปปัตติภัย อันจะชักไปให้บังเกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ แลอรูปภพ อันว่ามโนสัญเจตนาหาร คืออปุญญาภิสังขาร(ดู อภิสังขาร)*นั้น ก็ชักไปให้บังเกิดในอบายทั้ง ๔ อันว่ามโนสัญเจตนาหารเป็นกามาพจร ปุญญาภิสังขาร ก็ชักไปให้บังเกิดในกามสุขภพ อันว่ามโนสัญเจตนาหาร คือ รูปาพจร* ปุญญาภิสังขาร ก็ชักไปให้บังเกิดในรูปภพ อันว่ามโนสัญเจตนาหาร คือ อรูปาพจร* อเนญชาภิสังขาร ก็ชักไปให้บังเกิดในอรูปภพนั้น เหตุดังนั้นอันว่าบุคคลผู้ยินดีในมโนสัญเจตนาหาร ก็จะเวียนตาย เวียนเกิด อยู่ในวัฏสงสาร ก็จะได้เสวย ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกทุกข์ ปริเทวทุกข์ โทมนัสทุกข์ อุปายาสทุกข์ อันเป็นภัยอันยิ่งหนักหนา เหตุว่ายินดีด้วยมโนสัญเจตนาหารนั้นแล

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา ปรารถนาจะพ้นจากสงสาร แลจะให้ถึงนฤพานจงฉับพลัน ก็พึงพิจารณาด้วยปัญญาเล็งเห็นภพทั้ง ๓ ดุจขุมเพลิงทั้ง ๓ ขุม เหตุว่าภพทั้งสามนั้นเป็นอันไหม้เดือดร้อนอยู่เป็นนิจกาลด้วยเพลิง ๑๑ ประการ คือ ราคัคคี(ไฟคือราคะ) โทสัคคี(ไฟคือโทสะ) โมหัคคี(ไฟคือโมหะ) ชาตัคคี(ไฟคือชาติ) ทุกขัคคี(ไฟคือทุกข์) ชรัคคี(ไฟคือชรา) มรณัคคี(ไฟคือมรณะ) โสกัคคี(ไฟคือโสกะ) ปริเทวัคคี(ไฟคือปริเทวะ) โทมนัสสัคคี(ไฟคือโทมนัส) อุปายาสัคคี(ไฟคืออุปายาส) (ดู ปฏิจจสมุปบาท)* เพลิง ๑๑ ประการนี้ เผาไหม้อยู่เป็นนิจกาล อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งดังนี้แล้ว แลหน่ายยินร้าย มิได้ยินดีต่อมโนสัญเจตนาหาร นักปราชญ์ผู้นั้นก็จะทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ จะถึงนิพพานอันอุดมในอาตมาอันเป็นปัจจุบันนี้แล ฯ

อันว่า วิญญาณาหาร นั้น กอปรด้วยปฏิสนธิภัย เหตุว่าปฏิสนธิวิญญาณนั้นยังสัตว์ให้ตกไปในภพสงสาร อันกอปรด้วยทุกขเวทนา อันจะอด แลอยาก ดุจบุคคลอันเป็นศัตรู แลข้าศึก อันยังบุคคลให้หลง แล้วประหารด้วยสาตราวุธนั้นแล อันว่าบุคคลผู้ยินดีต่อวิญญาณาหารก็จะต้องถูกต้องด้วยปฏิสนธิภัย อันเป็นทุกข์ ลำบากอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานยิ่งนักหนาแล

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา แลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า วิญญาณาหารนำมาซึ่ง ปฏิสนธิภัย อันเป็นที่สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนักหนา แลกอปรด้วยทุกขเวทนามีประการต่างๆ แลนักปราชญ์ผู้มีปัญญานั้น ก็หน่าย ก็ยินร้ายมิยินดีต่อวิญญาณาหารนั้น นักปราชญ์ก็จะกระทำให้ถึงซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ก็จะถึงนฤพานอันอุดมในชาติเป็นปัจจุบันนี้แล

อาตมาภาพขอถวายพระพรให้แจ้งในพระญาณ ครั้นแลจิตยินดีในอาหารทั้ง ๔ ประการ ก็จะเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร อันกอปรด้วยทุกข์ดุจกล่าวมานี้ ครั้นแลมิให้จิตยินดีต่ออาหารทั้ง ๔ ประการนี้ ก็จะพ้นจากสงสาร ก็จะถึงนฤพานอันเป็นสุขเที่ยงแท้ เหตุดังนั้นจึงว่าอย่าให้จิตยินดีต่ออาหารทั้ง ๔ ประการ ดุจอย่าให้อาหารแก่หลวงเจ้าวัด อันกล่าวในปริศนานั้นแล

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาด้วยพระธรรมเทศนานี้ เพื่อจะเป็นต้นหน แลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาตติยปัญหาสำเร็จเท่านี้ก่อนแล