เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม

ข้อมูลเบื้องต้น

กรณีของ เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม

ปัจจุบันชาติ

ชื่อ-นามสกุล : เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม ชื่อเล่น : จ้าน

วันเดือนปีเกิด : ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

ความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด : มีรอยผื่นแดงเป็นรูปตัว “ V “ ที่กลางหน้าผาก

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๑๓๔ หมู่ ๑๖ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : มี ๒ คนคือ

๑. เด็กหญิงธณัฐชา เจริญพร้อม

๒. เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม

อดีตชาติ

ชื่อ-นามสกุล : พลฯสมหมาย เจริญพร้อม ชื่อเล่น : หมาย

วันเดือนปีเกิด : ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๙

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๖๘ หมู่ ๔ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : มี ๖ คนคือ

๑. นางพิมพ์ ขำชะยัญจะ ๔. นายสุรินทร์ เจริญพร้อม

๒. นายเทียน เจริญพร้อม ๕. นางนกน้อย ใจเกื้อ

๓. นายป้อม เจริญพร้อม ๖. พลฯสมหมาย เจริญพร้อม

วันเดือนปีที่เสียชีวิต : ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ขณะอายุได้ : ๒๓ ปี

สาเหตุที่เสียชีวิต : ประสบอุบัติเหตุ

ลักษณะบาดแผล : กะโหลกศีรษะบริเวณหน้าผากแตก คอหักและฉีกเกือบขาดออกจากลำตัว

สถานที่เสียชีวิต : ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม จำอดีตชาติได้

เด็กที่จำอดีตชาติได้ในหมู่บ้านของผู้เขียนรายนี้มีชื่อว่า เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม เป็นบุตรของ นายแหวนและนางแจ่ม เจริญพร้อม ขณะผู้เขียนไปสัมภาษณ์ครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เขาอายุ ๖ ขวบ กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ๓ โรงเรียนจิตศรัทธาวิทยานุสรณ์

เด็กชายวรวัฒน์ จำอดีตชาติได้ว่าชาติก่อนเขามีชื่อว่า พลตำรวจสมหมาย เจริญพร้อม เป็นบุตรของ นายตุ้ม และ นางเสี่ยง เจริญพร้อม ซึ่งเป็นญาติสนิทกัน เท่าที่ทราบข้อมูลการสืบชาติมาเกิดของเขาในชาตินี้นับเป็นชาติที่ ๓ แล้ว คือ เมื่อตอนที่เขาเกิดเป็นพลฯสมหมายนั้น พลฯสมหมายจำอดีตชาติได้ว่าเคยเกิดมาเป็นคนในหมู่บ้านอื่น ซึ่งถูกคนในหมู่บ้านตะคร้อยิงเสียชีวิตขณะที่แอบมาขโมยควายกับพ่อในอดีตชาติ ต่อมาพลฯสมหมายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และได้เกิดมาอีกครั้งเป็นเด็กชายวรวัฒน์ เด็กชายวรวัฒน์ก็จำอดีตชาติได้ว่าเคยเกิดมาเป็นพลฯสมหมายมาก่อน

ซึ่งลักษณะการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายวรวัฒน์และพลฯสมหมายนี้ เป็นลักษณะที่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการจำ อดีตชาติได้ ๒ ชาติ แบบทีละ ๑ ชาติไม่ต่อเนื่องกันเหมือนอย่างกรณีของเด็กชายฤทธิไกรและนายสายนต์ หรือเป็นการจำอดีตชาติได้ ๒ ชาติแบบต่อเนื่องกัน เนื่องจากการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ เด็กชายวรวัฒน์ไม่เคยพูดถึงอดีตชาติของเขาที่เคยเกิดเป็นคนในหมู่บ้านอื่นเลย แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งหลังสุดเขาได้พูดถึงอดีตชาติ ในชาติก่อนโน้น ก่อนที่จะเกิดมาเป็นพลฯสมหมายให้ฟัง ซึ่งการสัมภาษณ์ในครั้งหลังสุดนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่นางเสี่ยงแม่ในอดีตชาติ ได้เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของพลฯสมหมายให้ฟังแล้ว ซึ่งเด็กชายวรวัฒน์ก็ได้นั่งฟังอยู่ด้วย จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเขาพูดออกมาจากความทรงจำที่ต่อเนื่องมาทั้ง ๒ ชาติ หรือเป็นการจดจำเรื่องราวมาจากคำบอกเล่าของนางเสี่ยง

เด็กชายสมหมาย จำอดีตชาติได้

ขณะที่ พลฯสมหมาย หรือ เด็กชายสมหมาย ในขณะนั้นอายุได้ประมาณ ๒-๓ ขวบ เด็กชายสมหมายจำอดีตชาติได้ว่าชาติก่อนเขาเคยเกิดเป็นคนหมู่บ้านอื่น(ไม่บอกชื่อหมู่บ้าน) พ่อเขาชื่อ นายลิงแม่ชื่อนางทอง เขาเสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงขณะไปขโมยควายกับพ่อในอดีตชาติ

พลฯ สมหมาย เจริญพร้อม

นางเสี่ยง แม่ของพลฯสมหมายเล่าให้ฟังว่า พลฯสมหมายหรือเด็กชายสมหมายในขณะนั้น มีรอยแผลเป็นที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ๒ แห่ง คือที่บริเวณศีรษะด้านหลังมีแผลเป็นลักษณะกลมๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าวโพดคล้ายรูกระสุนปืน และที่บริเวณมุมหน้าผากด้านขวามีแผลเป็นขนาดใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยเป็นแนวยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร และขณะที่เด็กชายสมหมายอายุได้ประมาณ ๒-๓ ขวบ เธอเคยได้ยินเด็กชายสมหมายพูดถึงอดีตชาติของเขาขณะนั่งเล่นอยู่คนเดียว ตอนนั้นเธอรู้สึกแปลกใจจึงได้สอบถามถึงเรื่องราวในอดีตชาติของเขา ซึ่งเด็กชายสมหมายในขณะนั้นได้บอกเล่าให้ฟังว่า ในอดีตชาติตอนนั้นเขาเพิ่งสึกจากพระมาใหม่ๆ(ไม่ยอมบอกว่าชาติก่อนเขาชื่อว่าอะไร และอยู่หมู่บ้านอะไร) พ่อของเขาได้ชวนให้เขามาขโมยควายของคนในหมู่บ้านนี้(หมู่บ้านตะคร้อ) เขากับพ่อขโมยมาได้ ๒ ตัว ตัวหนึ่งเป็นควายเผือกอีกตัวหนึ่งสีดำตัวอ้วน พ่อของเขาจูงควายตัวสีดำนำหน้า ส่วนตัวเขาขี่ควายเผือกตามหลังไป พอดีเจ้าของควายตามรอยมาทันจึงใช้ปืนยิงเขาถูกบริเวณศีรษะด้านหลังทะลุหน้าผากด้านขวาตกจากหลังควายเสียชีวิตทันที ส่วนพ่อของเขาถูกยิงที่ท้องวิ่งหนีไปเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งเจ้าของควายคนที่ยิงเขาเป็นคนในหมู่บ้านนี้เอง เขาจำหน้าคนที่ยิงได้แต่ไม่รู้จักว่าชื่อว่าอะไร

เด็กชายสมหมายในขณะนั้นพูดถึงอดีตชาติของเขาไม่กี่ครั้ง จากนั้นก็ไม่พูดถึงอีกเลย ส่วนแผลเป็นที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดนั้น เมื่ออายุมากขึ้นก็มีขนาดใหญ่ขึ้นตามตัว ขณะที่พลฯ สมหมายเสียชีวิต รอยแผลเป็นที่มุมหน้าผากด้านขวามีขนาดใหญ่ขึ้นและยาวเกือบ ๒ เซนติเมตร

เมื่อ เด็กชายสมหมาย เติบโตขึ้น ได้เล่าเรียนและสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 6 ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้ เมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนพลตำรวจ จากโรงเรียนตำรวจภูธร ๖ รุ่นที่ ๑๖ กองร้อยที่ ๒ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ ก็มียศเป็น พลฯ สมหมาย เจริญพร้อม เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เข้าประจำการอยู่ที่ ส.ภ.ต.หนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจนั้น เพื่อนสนิทจะมักเรียกชื่อเขาว่า "แฟรงค์" เพราะใบหน้าเขาดูคล้ายกับ "แฟรงเก้นสไตน์" ในภาพยนตร์สยองขวัญ

เหตุการณ์ในวันที่เสียชีวิต

พลฯสมหมาย เสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุก เขาเสียชีวิตพร้อมกับ พลฯสุพรรณ ครุฑฉ่ำ เพื่อนนักเรียนพลตำรวจรุ่นเดียวกัน ซึ่งจบมาพร้อมกัน ได้ประจำการที่เดียวกัน และต้องมาเสียชีวิตพร้อมกันอีก

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในคืนวันที่พลฯสมหมายเสียชีวิต เล่าให้นายตุ้มและนางเสี่ยงฟังว่า ก่อนจะเสียชีวิตพลฯสมหมายและพลฯสุพรรณขับรถจักรยานยนต์ไปกินเลี้ยงในหมู่บ้านหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่ในเขต ส.ภ.ต.หนองโดนที่ทั้ง ๒ คนประจำการอยู่ ระหว่างเดินทางกลับจากงานเลี้ยง ตอนนั้นพลฯสุพรรณเป็นคนขับและพลฯสมหมายซ้อนท้าย ระหว่างทางมีรถบรรทุกเข่งปลาทูจอดเก็บเข่งปลาทูที่หล่นลงมาอยู่กลางถนน รถบรรทุกคันนั้นไฟท้ายไม่ติด กอปรกับบริเวณนั้นเป็นทางโค้งและไม่มีไฟส่องถนน พลฯสุพรรณคนขับมองไม่เห็นรถบรรทุก พอเห็นอีกทีก็เบรกไม่ทันเสียแล้ว มีชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่าพลฯสุพรรณก้มศีรษะหลบฝาท้ายรถบรรทุกที่เปิดออกมา และตะโกนบอกกับพลฯสมหมายว่า “เฮ้ยแฟรงค์หลบ” ไม่ทันที่พลฯสมหมายจะทราบว่าเกิดอะไรขึ้นศีรษะของพลฯสมหมายได้ปะทะเข้ากับมุมฝาท้ายรถบรรทุกอย่างจัง ทำให้กะโหลกศีรษะแตก คอหักและฉีกขาดศีรษะห้อยร่องแร่งเกือบขาดออกจากลำตัวเสียชีวิตทันที ส่วนพลฯสุพรรณถึงแม้ว่าจะหลบฝาท้ายรถบรรทุกไปได้แต่ทั้งคนทั้งรถก็ปะทะเข้ากับท้ายรถบรรทุกอย่างจัง ทำให้คอหักเสียชีวิตทันทีเช่นกัน พลฯ สมหมาย เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ ขณะอายุได้ ๒๓ ปี

นายตุ้ม และ นางเสี่ยง เจริญพร้อม

ถ่ายหน้าศพของ พลฯสมหมาย และ พลฯสุพรรณ ที่วัดหนองโดน อ.หนองโดน จ.สระบุรี

วิญญาณปรากฏตัว

หลังจากที่พลฯสมหมายเสียชีวิต ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ถึง ๓ เหตุการณ์กับคนใกล้ชิดของพลฯสมหมาย ซึ่งผู้ประสบเหตุต่างเชื่อว่าเป็นวิญญาณของพลฯ สมหมายมาปรากฏตัวและหยอกล้อ

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นขณะที่ นางพิมพ์ พี่สาวของพลฯสมหมายกำลังนั่งรถกระบะกลับจากงานเผาศพของพลฯสมหมายที่วัดหนองโดน จังหวัดสระบุรี ระหว่างทางนางพิมพ์ได้กลิ่นอับๆคล้ายกลิ่นศพของพลฯสมหมายมาตลอดทาง นางพิมพ์รู้สึกสงสัยจึงพูดขึ้นมาเบาๆว่า “หมายมาส่งพี่หรือ มาส่งพี่ก็ไปส่งให้ถึงบ้านนะอย่าให้คนอื่นเขาได้กลิ่นล่ะ” เมื่อนางพิมพ์พูดจบกลิ่นนั้นก็หายไป ในเวลาใกล้เคียงกันที่บ้านของพลฯสมหมาย ญาติๆที่ไม่ได้ไปร่วมงานเผาศพที่จังหวัดสระบุรีได้มานอนเฝ้าบ้านให้ ขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับสนิท นางเหยา กล้าดี ญาติของพลฯสมหมายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเดียวที่ยังไม่หลับในขณะนั้น นางเหยาได้เห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งแต่งชุดนักเรียนกางเกงขาสั้นเดินเข้าไปในบ้านและหายไปอย่างไร้ร่องรอย นางเหยารู้สึกตกใจ สักครู่คณะที่ไปเผาศพก็กลับมา นางเหยาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง นางพิมพ์ก็เล่าเรื่องที่เธอได้กลิ่นประหลาดให้ทุกคนฟังเช่นกัน ตอนนั้นนางเหยาและนางพิมพ์เชื่อว่า สิ่งที่พวกเธอได้ประสบนั้นอาจจะเป็นวิญญาณของพลฯสมหมายมาทำให้รู้และปรากฏตัวให้เห็นก็เป็นได้

เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นหลังจากวันที่พลฯสมหมายเสียชีวิตประมาณ ๑ เดือนมีงูก้านมะพร้าวตัวหนึ่งขึ้นมาขดอยู่ใต้ตู้เก็บของบนบ้านของนายตุ้มและนางเสี่ยง มีเด็กไปพบจึงมาบอกนางเสี่ยง นางเสี่ยงพยายามส่งเสียงไล่เอาไม้เขี่ยอย่างไรงูตัวนั้นก็ยังคงขดนิ่งไม่ยอมขยับไปไหน นางเสี่ยงเรียกให้ นายเม็ดสามีของนางพิมพ์(ลุงของผู้เขียน) มาช่วยไล่งูให้ นายเม็ดเตรียมจะใช้ไม้ตีงูตัวนั้น แต่นางเสี่ยงห้ามไว้เพราะนึกสงสัยในพฤติกรรมของงูตัวนั้น และคิดในใจว่าหรือจะเป็นวิญญาณของพลฯสมหมายมาแสดงให้เห็นเป็นงูตัวนั้น เมื่อคิดดังนั้นนางเสี่ยงก็ลองพูดกับงูตัวนั้นว่า “ใช่สมหมายหรือเปล่าลูก ถ้าใช่ก็ให้ไปกินอาหารในสำรับมุมห้องที่แม่จัดไว้ให้นะลูกนะ” เป็นที่น่าอัศจรรย์ เมื่อนางเสี่ยงพูดจบงูตัวนั้นก็เริ่มขยับตัวเลื้อยช้าๆไปยังสำรับอาหารที่นางเสี่ยงจัดไว้เพื่ออุทิศให้กับวิญญาณของพลฯสมหมายบริเวณมุมห้อง งูตัวนั้นได้เอาหัวพาดที่ขอบสำรับอยู่ครู่หนึ่ง หันมามองนางเสี่ยง แล้วก็เลื้อยลงช่องปลายสุดของพื้นไม้กระดานติดกับฝาบ้านไป นางพิมพ์ได้ตะโกนบอก นายป้อม พี่ชายของพลฯสมหมายคนหนึ่งซึ่งอยู่ใต้ถุนบ้านให้คอยดูงูตัวนั้นว่าจะเลื้อยไปทางไหน นางเสี่ยงย้ำกับนายป้อมว่าอย่าทำร้ายงูตัวนั้นแต่ให้คอยดูว่าจะเลื้อยไปทางไหน นายป้อมได้มาจ้องดูที่บริเวณช่องนั้นแต่มองไม่เห็นงูทั้งๆที่ท่อนหางของงูตัวนั้นยังคงอยู่บนบ้านยังเลื้อยลงไปไม่หมดตัว งูตัวนั้นเลื้อยหายไปท่ามกลางสายตาของหลายๆคน ซึ่งจากการสังเกตของผู้เขียนบริเวณช่องที่นางเสี่ยงบอก ถ้างูตัวนั้นเลื้อยลงไปที่ช่องนั้นจริงก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนที่อยู่ด้านนอกบ้านจะไม่เห็นงูตัวนั้น หรือถ้างูเลื้อยลงช่องนั้นจริงก็ต้องห้อยหัวและทิ้งตัวลงมายังพื้นด้านล่างเท่านั้น เพราะบริเวนนั้นไม่มีเสาบ้านหรือสิ่งอื่นที่จะให้งูเกาะเกี่ยวเลื้อยลงได้เลย นางเสี่ยงและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้นเชื่อว่า งูตัวนั้นอาจจะเป็นวิญญาณของพลฯสมหมายมาปรากฏตัวให้เห็นก็เป็นได้

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในงานทำบุญร้อยวันของพลฯสมหมาย ขณะที่ นายเทียน พี่ชายคนหนึ่งของพลฯสมหมายกำลังนั่งขูดมะพร้าวอยู่ในงาน จู่ๆนายเทียนก็มีความรู้สึกเหมือนมีใครเอาก้นบุหรี่ร้อนๆมาจี้ที่ขา นายเทียนร้องและลุกขึ้นยืนนายเทียนคิดว่าเป็นนายเม็ดซึ่งอยู่ใกล้ๆแกล้งเอาบุหรี่มาลนให้ร้อนจึงต่อว่านายเม็ด แต่นายเม็ดก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำและทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นก็ยืนยันว่านายเม็ดไม่ได้สูบบุหรี่ นายเทียนมีอาการแสบร้อนบริเวณนั้นอยู่นานนับชั่วโมงทุกคนพากันประหลาดใจ เพราะผู้ที่อยู่บริเวณนั้นไม่มีใครสูบบุหรี่เลย เมื่อนายเทียนทราบว่าไม่มีใครแกล้งจึงคิดในใจว่าหรือจะเป็นวิญญาณของพลฯสมหมายมาแกล้งตน เพราะตอนที่พลฯสมหมายยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบหยอกล้อตน โดยใช้ก้นบุหรี่หรือไฟแช็กลนให้ตนรู้สึกร้อนและสะดุ้งตกใจแบบนี้เป็นประจำ เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความประหลาดใจให้กับนายเทียนเป็นอย่างมาก

เข้าฝันเพื่อนบ้าน

หลังจากพลฯสมหมายเสียชีวิตไปประมาณ ๔ ปี นางสมบัติ ซึ่งพิการขาลีบเพื่อนบ้านของพลฯสมหมายซึ่งบ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากบ้านของพลฯสมหมายนัก เล่าให้ญาติๆของเธอฟังว่า คืนหนึ่งเธอฝันว่าพลฯสมหมายมาหาและโยนตุ๊กแกใส่คอเธอ หลังจากเล่าความฝันให้ญาติๆฟังไม่นานนางสมบัติก็ผูกคอตาย ซึ่งไม่มีใครทราบว่านางสมบัติผูกคอตายด้วยสาเหตุใด

ต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน นางบุญ ใจเร็ว เพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งก็ฝันว่าพลฯสมหมายมาขอเกิดกับเธอ และบอกกับนางบุญว่าถ้าเขาเกิดมาแล้วอายุเท่าเดิมเขาก็จะตายอีก ในฝันนางบุญได้บอกปฏิเสธไม่ยอมให้พลฯสมหมายมาเกิดด้วย นางบุญได้เล่าความฝันนี้ให้นางเสี่ยงฟัง

ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ นางเลย กล้าดี เพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งฝันว่า พลฯสมหมายมาบอกกับเธอว่า “ไปบอกแม่เสี่ยงด้วยว่าผมมาเกิดแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง ผมมาเกิดกับญาตินามสกุลเดียวกันนี่แหล่ะ” นางเลยรู้สึกแปลกใจกับความฝันในครั้งนั้นและได้เล่าความฝันนี้ให้นางเสี่ยงฟัง ตอนนั้นนางเสี่ยงนึกถึง นางแจ่ม เจริญพร้อม(แม่ของเด็กชายวรวัฒน์) ขึ้นมาทันที เพราะถ้าหากความฝันของนางเลยเป็นความจริง คนที่พลฯสมหมายอาจจะไปเกิดด้วยก็น่าจะเป็นนางแจ่ม เพราะเป็นญาตินามสกุลเดียวกันที่กำลังตั้งท้องอยู่พอดี ตอนนั้นนางแจ่มยังอยู่ที่บ้านหลังเดิมซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านของนางเสี่ยง และกำลังตั้งท้องเด็กชายวรวัฒน์ได้ประมาณ ๗-๘ เดือน นางเสี่ยงได้เล่าความฝันของนางเลยให้นางแจ่มฟัง

เมื่อนางแจ่มทราบความฝันของนางเลยก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อนที่เธอจะตั้งท้องเด็กชายวรวัฒน์ นางแจ่มเองก็ฝันแปลกๆติดต่อกันถึง ๒ คืน คือ คืนแรก นางแจ่มฝันว่านางเสี่ยง นำสร้อยคอทองคำมายื่นให้ นางแจ่มได้รับสร้อยคอนั้นไว้จากนั้นก็รู้สึกตัวตื่น คืนต่อมา นางแจ่มฝันว่า พลฯสมหมาย มานอนหนุนตักของเธอ ในฝันนางเสี่ยงเรียกหรือคุยด้วยอย่างไรพลฯสมหมายก็ไม่สนใจยังคงนอนหนุนตักนางแจ่มไม่ยอมตื่น นางแจ่มรู้สึกแปลกใจจากนั้นก็รู้สึกตัวตื่น และในเดือนนั้นเองนางแจ่มก็ตั้งท้องเด็กชายวรวัฒน์ นางแจ่มกล่าวกับผู้เขียนว่าตอนนั้นเธอคิดกังวลอยู่ในใจกลัวว่าพลฯสมหมายจะมาเกิดกับเธอจริงๆ เมื่อนางเสี่ยงมาเล่าความฝันของนางเลยให้ฟังก็ยิ่งรู้สึกกังวลใจมากขึ้น โดยเฉพาะนายแหวนสามีของเธอซึ่งเขาไม่อยากให้เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะความรู้สึกที่ต้องรู้ว่าลูกของตัวเองเป็นคนอื่นมาเกิดนั้นไม่ดีเอาเสียเลย ซึ่งตรงกันข้ามความรู้สึกของนายตุ้มและนางเสี่ยงที่อยากให้พลฯสมหมายสืบชาติมาเกิดใหม่จริงๆ เพราะเหมือนกับการได้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สูญเสียไปกลับคืนมา อย่างน้อยๆก็ได้ทราบว่าเขามีความเป็นอยู่สุขสบายดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ตอนนั้นเธอไม่คิดว่าความฝันของเธอและความฝันของนางเลยจะเป็นความจริงในเวลาต่อมา

เกิดมาอีกครั้งพร้อมกับรอยตำหนิและจำอดีตชาติได้

นางแจ่มได้คลอดเด็กชายวรวัฒน์ออกมา เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ แรกเกิด นางแจ่มและนายแหวนสังเกตเห็นว่ามีรอยผื่นแดงบริเวณหน้าผากของเด็กชายวรวัฒน์ เป็นรูปตัว “V” คล้ายกับรอยแตกของกะโหลกศีรษะของพลฯสมหมายขณะที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และมีขวัญที่บริเวณมุมหน้าผากด้านขวา ซึ่งตรงกันกับรอยแผลเป็นที่บริเวณมุมหน้าผากด้านขวาของพลฯ สมหมายพอดี

รอยผื่นแดง รูปตัว “V” ที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด บริเวณหน้าผากของ ด.ช.วรวัฒน์

สำหรับรอยผื่นแดงที่บริเวณกลางหน้าผากของเด็กชายวรวัฒน์นั้นตอนแรกนายแหวนและนางแจ่มคิดว่าเป็นเพียงเส้นเลือดธรรมดา แต่เมื่อนางเสี่ยงได้เห็นก็บอกว่ารอยผื่นแดงนั้นตรงกันกับรอยแตกของกะโหลกศีรษะของพลฯสมหมาย เป็นไปได้ว่าเด็กชายวรวัฒน์อาจจะเป็นพลฯสมหมายสืบชาติมาเกิดจริงๆก็ได้ ตอนนั้นหลายๆคนได้แต่ตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้น ยังไม่มีใครปักใจเชื่อว่าพลฯสมหมาย จะมาสืบชาติมาเกิดใหม่เป็นเด็กชายวรวัฒน์จริง

เรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ เด็กชายวรวัฒน์เริ่มส่อเค้าให้เห็น ตั้งแต่เขาอายุยังได้ไม่ถึง ๑ ขวบ คือเด็กชายวรวัฒน์เป็นเด็กที่เลี้ยงยากจะป่วยบ่อยและชอบร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งก็ร้องจนเป็นไข้ ตอนนั้นนางแจ่มผู้เป็นแม่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เวลาที่เด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้จึงลองส่งให้นางเสี่ยงอุ้ม ปรากฏว่าเมื่อนางเสี่ยงอุ้มเด็กชายวรวัฒน์ก็จะหยุดร้องไห้ หรือเวลาที่เด็กชายวรวัฒน์มีอาการป่วย ถ้าหากให้นางเสี่ยงเลี้ยงดู อาการป่วยก็จะทุเลาลงหรือหายไปอย่างน่าประหลาดใจ นางแจ่มและนายแหวนสังเกตเห็นความผิดปกติในลักษณะแบบนี้หลายครั้ง แต่พวกเขาก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเด็กชายวรวัฒน์จะเป็นพลฯสมหมายสืบชาติมาเกิด

จนกระทั่งเด็กชายวรวัฒน์อายุได้ประมาณ ๑-๒ ขวบ เริ่มพูดได้ เขาก็เริ่มพูดและแสดงออกถึงความทรงจำในอดีตชาติของเขาออกมา ตอนนั้นนางแจ่มและนายแหวนยังอยู่ที่บ้านหลังเก่าซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านของนายตุ้มและนางเสี่ยง ช่วงนั้นเด็กชายวรวัฒน์มักจะนอนละเมอพูดคนเดียวหรือไม่ก็ตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึกเป็นประจำโดยบอกว่า “จะหาแม่..ๆ”างแจ่มก็ปลอบว่า “แม่อยู่นี่ไงลูก” เด็กชายวรวัฒน์ บอกว่า “ไม่ใช่แม่นี้ ผมจะหาแม่เสี่ยง” นางแจ่มถามว่า “แม่หนูชื่ออะไรนะ” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “ชื่อแม่เสี่ยง ผมมีแม่สองคน มีแม่เสี่ยงกับแม่” ตอนนั้นนางแจ่มรู้สึกใจหายกับคำพูดของบุตรชาย และเริ่มเชื่อว่าบุตรชายของเธออาจจะเป็นพลฯสมหมายสืบชาติมาเกิดใหม่จริงๆ แต่เธอก็ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเพราะเกรงว่าบุตรชายจะอายุสั้น และพยายามให้บุตรชายกินไข่เพื่อจะให้เขาลืมอดีตชาติ แต่เด็กชายวรวัฒน์ก็ไม่ยอมลืมง่ายๆ ตอนนั้นเด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้จะให้นางแจ่มและนายแหวนพาไปหานางเสี่ยงเกือบทุกวัน แต่ไม่ยอมไปเองทั้งๆที่บ้านก็อยู่ติดกัน บางครั้งเขาร้องไห้จนเป็นไข้ นางแจ่มรู้สึกสงสารบุตรชายจึงพาเขาไปหานางเสี่ยง เมื่ออยู่กับนางเสี่ยงเด็กชายวรวัฒน์จะไม่งอแงและอาการไข้ก็จะลดลงหรือหายเป็นปกติ เป็นอย่างนี้เสมอ

นางแจ่ม เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเด็กชายวรวัฒน์ มักจะพูดถึงอดีตชาติของเขาขณะเล่นกับเด็กๆในวัยเดียวกันหรือขณะนั่งเล่นอยู่คนเดียวหลายครั้ง โดยที่นางแจ่ม นายแหวน นางเสี่ยง นายตุ้ม และนางพิมพ์เคยแอบได้ยินเด็กชายวรวัฒน์พูดถึงอดีตชาติของเขาหลายครั้ง แต่พอเข้าไปสอบถามเด็กชายวรวัฒน์จะไม่ยอมพูดอะไร

นางเสี่ยง กล่าวกับผู้เขียนว่า ตอนนั้นเวลาที่เธอมีโอกาสได้พบกับเด็กชายวรวัฒน์เธอก็จะพยายามสอบถามถึงเรื่องราวในอดีตชาติ แต่เด็กชายวรวัฒน์ก็ไม่ยอมพูดอะไรให้ฟัง นอกจากเธอจะแอบได้ยินเองขณะที่เขาเล่นอยู่คนเดียว หรือเวลาที่เขาเล่นอยู่กับเด็กๆวัยเดียวกันเท่านั้น

ความทรงจำในอดีตชาติ

วันหนึ่งขณะที่ นางแจ่ม นางพิมพ์ และญาติๆกำลังนั่งคุยกันอยู่ที่ใต้ถุนบ้านของนางแจ่ม โดยมีเด็กชายวรวัฒน์นั่งเล่นอยู่คนเดียวใกล้ๆบริเวณนั้น เด็กชายวรวัฒน์พูดถึงอดีตชาติของเขาขึ้นมาลอยๆจับใจความไม่ค่อยได้ นางแจ่ม นางพิมพ์ และญาติๆได้ยินก็พยายามตั้งใจฟัง นางแจ่มถามว่า “คนชื่อสมหมายเป็นอะไรตายล่ะ” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “รถชน” นางแจ่มถามว่า “หนูชนเขาหรือเขาชนหนู” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “ผมชนเขา ผมไปกินเลี้ยง ผมเป็นตำรวจ เพื่อนผมก็เป็นตำรวจ” นางแจ่มถามว่า “ทำไมถึงชนเขาล่ะ” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “ผมมองไม่เห็น” นางแจ่มถามว่า “หนูเมาไหม” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “เมา..ผมก็เมาเพื่อนผมก็เมา” นางพิมพ์และคนอื่นๆพยายามสอบถามบ้าง แต่เด็กชายวรวัฒน์ก็หยุดพูดและไม่ยอมตอบคำถามอีก

นางพิมพ์ กล่าวว่าจากการสังเกตของเธอ เด็กชายวรวัฒน์จะพูดถึงอดีตชาติของเขาในขณะที่อยู่คนเดียวหรือเวลาที่เขากำลังเล่นอยู่กับเด็กๆด้วยกัน โดยมักจะบอกกับเพื่อนๆหรือรำพึงรำพันคนเดียวว่า เขาคือพลฯสมหมาย บางครั้งก็พูดถึงเพื่อนหรือช่วงหนึ่งในอดีตชาติขึ้นมาลอยๆ แต่ถ้าเข้าไปถาม เด็กชายวรวัฒน์จะไม่ยอมพูดอะไร

ความรู้สึกของแม่ในอดีตชาติ

นางเสี่ยงเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กชายวรวัฒน์เกิดมาจนกระทั่งอายุได้ประมาณ ๓ ขวบ ตอนนั้นนายแหวนและนางแจ่มยังอยู่ที่บ้านหลังเก่าซึ่งอยู่ติดกันกับหลังบ้านของเธอ แรกๆนายแหวนและนางแจ่มไม่ยอมให้เด็กชายวรวัฒน์ได้พบกับเธอมากนัก นานๆจึงจะพามาสักครั้ง ทั้งๆที่บ้านก็อยู่ติดกัน ส่วนใหญ่จะพามาหาตอนที่เด็กชายวรวัฒน์มีอาการป่วยไปหาหมอแล้วไม่หาย หรือเวลาที่เด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้ไม่ยอมหยุดเท่านั้น เพราะนายแหวนและนางแจ่มทราบดีว่า เมื่อเด็กชายวรวัฒน์ได้อยู่ใกล้ชิดกับเธออาการป่วยของเด็กชายวรวัฒน์ก็จะทุเลาลง หรือเวลาที่ เด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้ไม่ยอมหยุด เมื่อให้เธออุ้ม เด็กชายวรวัฒน์ก็จะหยุดร้อง เธอพยายามบอกกับนายแหวนและนางแจ่มว่าให้พาเด็กชายวรวัฒน์มาหาเธอเถอะ ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นบุตรชายของเธอมาเกิดจริงแต่เธอก็ไม่เอาคืนหรอก เพราะเธออายุมากแล้วเลี้ยงไม่ไหวหรอก แต่นายแหวนและนางแจ่มก็ยังไม่ค่อยจะพาเด็กชายวรวัฒน์มาหาเธออยู่ดี ไม่ว่าทราบเพราะเหตุใด ส่วนใหญ่ที่เธอทราบว่าเด็กชายวรวัฒน์จำอดีตชาติได้ก็เพราะนางพิมพ์มาเล่าให้ฟัง และตอนนั้นเวลาที่เธอสอบถามเด็กชายวรวัฒน์ก็ไม่ยอมพูดอะไร เพิ่งจะยอมตอบคำถามและพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติให้ฟัง เมื่อตอนอายุได้ประมาณ ๓-๔ ขวบ ช่วงที่ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่แล้วนี่เอง

นายแหวนและนางแจ่ม กล่าวกับผู้เขียนว่า ตอนนั้นพวกตนรู้สึกไม่สบายใจกลัวว่าบุตรชายจะอายุสั้นและรู้สึกเกรงใจนายตุ้มและนางเสี่ยง จึงไม่ได้พาเด็กชายวรวัฒน์ไปรบกวนบ่อยนัก ไม่ได้กีดกันหรือกลัวว่านายตุ้มและนางเสี่ยงจะขอบุตรชายไว้แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ พวกตนได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันนี้ซึ่งอยู่ห่างออกมาประมาณเกือบ ๑ กิโลเมตร ตอนนั้นเด็กชายวรวัฒน์ก็แสดงออกให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

นางแจ่มและนายแหวน เจริญพร้อม

ความรู้สึกของพ่อแม่ในปัจจุบันชาติ

นายแหวน เล่าให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่งเด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้จะให้ตนพาไปพบกับนางเสี่ยง ตอนแรกตนก็ไม่ได้พาไป วันนั้นเด็กชายวรวัฒน์ร้องไห้จนเป็นไข้ท้องเสียและอาเจียนอย่างหนัก ตนรู้สึกสงสารบุตรชายจึงพาไปพบกับนางเสี่ยงที่บ้าน เมื่อเห็นนางเสี่ยงเด็กชายวรวัฒน์ดีใจมาก วิ่งเข้าไปกอดและเรียกนางเสี่ยงว่า “แม่เสี่ยง” นางเสี่ยงเพิ่งได้ยินเด็กชายวรวัฒน์เรียกว่าแม่ชัดๆเป็นครั้งแรก ก็ถึงกับร้องไห้ วันนั้นนายตุ้มและนางเสี่ยงได้ทำการพิสูจน์โดยให้ เด็กชายวรวัฒน์ชี้ภาพถ่ายของพลฯสมหมายที่ถ่ายร่วมกับเพื่อนๆนักเรียนพลตำรวจกองร้อยเดียวกันในวันที่สำเร็จการศึกษา เด็กชายวรวัฒน์ก็สามารถชี้ได้ถูกต้อง เมื่อถามถึงเหตุการณ์วันที่เสียชีวิตเด็กชายวรวัฒน์ก็เล่าให้ฟังว่า วันนั้นเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับเพื่อนตำรวจด้วยกัน(ยังไม่บอกชื่อของเพื่อนคนนั้น) กลับจากงานกินเลี้ยง ตอนนั้นมันมืดเขากับเพื่อนมองไม่เห็นรถบรรทุกที่จอดอยู่บนถนนจึงชนเข้ากับท้ายรถบรรทุก เขากับเพื่อนเสียชีวิตทันที เด็กชายวรวัฒน์พูดเหมือนกับเคยประสบเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเอง เมื่อถามถึงชื่อพี่น้องของพลฯสมหมาย เด็กชายวรวัฒน์ก็สามารถบอกชื่อและเรียงลำดับพี่น้องของพลฯสมหมายได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

นายแหวน กล่าวว่า วันนั้นเด็กชายวรวัฒน์อยู่คุยกับนายตุ้มและนางเสี่ยงจนมืดค่ำไม่ยอมกลับบ้านอาการไข้ท้องเสียและอาเจียนก็หายเป็นปลิดทิ้ง ตนต้องบังคับให้กลับจึงยอมกลับบ้าน หลังจากวันนั้นตนและนางแจ่มก็พาเด็กชายวรวัฒน์ไปพบกับนายตุ้มและนางเสี่ยงบ่อยขึ้น เนื่องจากเด็กชายวรวัฒน์มักจะขอร้องให้พวกตนพาไปพบกับพ่อแม่ในอดีตชาติของเขาอยู่บ่อยๆ พวกตนไม่อยากให้บุตรชายต้องป่วยอีกจึงยอมพาไปไม่หวงห้ามอีกต่อไป

ถามหาหมวกตำรวจกับปืน

นางเสี่ยงเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑ นายแหวนพา เด็กชายวรวัฒน์มาเที่ยวเล่นที่บ้านของนางเสี่ยง ขณะที่ เด็กชายวรวัฒน์กำลังเล่นอยู่กับเด็กหญิงดาหลานของนางพิมพ์พี่สาวของพลฯสมหมาย เด็กชายวรวัฒน์ชวนเด็กหญิงดาไปดูภาพถ่ายของพลฯ สมหมายซึ่งแขวนอยู่กับผนังห้องและบอกกับเด็กหญิงดาว่า “ดานี่รูปกู” หลังจากพาเด็กหญิงดาไปดูภาพถ่ายแล้วเด็กชายวรวัฒน์ ก็ถามนางเสี่ยงว่า “แม่ไหนหมวกตำรวจผมล่ะ” นางเสี่ยงบอกว่า “อยู่ในห้อง” แล้วเขาก็เข้าไปในห้องนอนของนางเสี่ยงเมื่อเห็นหมวกตำรวจของพลฯสมหมาย ก็บอกกับเด็กหญิงดาว่า “ดานี่หมวกของกู” เด็กชายวรวัฒน์ถามนางเสี่ยงว่า “แม่แล้วปืนผมล่ะ” นางเสี่ยงตอบว่า “แม่ขายไปแล้ว” เด็กชายวรวัฒน์แสดงอาการไม่พอใจแล้วพูดว่า “แม่ขายของผมทำไม” นางเสี่ยงบอกว่า “ก็หนูไม่อยู่กับแม่แล้วแม่ก็ขายนะซิ” ตอนนั้นเด็กชายวรวัฒน์ไม่ว่าอะไรจากนั้นก็ชวน เด็กหญิงดาไปวิ่งเล่นกันต่อ

จำชื่อเพื่อนที่เสียชีวิตพร้อมกันได้

มีครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑ นายแหวนพาเด็กชายวรวัฒน์มาเที่ยวหานายตุ้มและนางเสี่ยงที่บ้าน ขณะเขากำลังนั่งเล่นอยู่ใกล้ๆกับนางเสี่ยง จู่ๆเด็กชายวรวัฒน์ก็บอกกับนางเสี่ยงว่า “แม่ผมจำได้แล้ว” นางเสี่ยงได้ยินก็ถามว่า “จำอะไรได้ลูก” เด็กชายวรวัฒน์บอกว่า “ก็เพื่อนผมนะซิมันชื่อไอ้สุพรรณผมก็ตายมันก็ตาย” เด็กชายวรวัฒน์พูดเสมือนว่าความทรงจำในอดีตชาติผุดขึ้นมาในความคิดของเขาในห้วงเวลานั้นทันทีทันใดโดยไม่ได้คิดมาก่อน

นางเสี่ยง กล่าวกับผู้เขียนว่าเด็กชายวรวัฒน์พูดและแสดงออกให้เธอเห็นว่าเขาคือพลฯสมหมายบุตรชายของเธอสืบชาติมาเกิดหลายครั้งจนทำให้ เธอและนายตุ้มเชื่อว่าเขาคือพลฯสมหมายสืบชาติมาเกิดจริงๆ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด

ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ เด็กชายวรวัฒน์ยังจำอดีตชาติของเขาได้ แต่ไม่ค่อยจะตอบคำถาม เวลาตอบก็ต้องใช้เวลานึกอยู่นาน เสมือนว่าความทรงจำในอดีตชาติกำลังจะเลือนหายไป

ครั้งหลังสุดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ วันนั้นผู้เขียนไปพบกับเด็กชายวรวัฒน์และพ่อแม่ของเขาในงานเลี้ยงที่บ้านญาติของพวกเขาคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกันกับบ้านของนางเสี่ยง ผู้เขียนได้ทดลองวิธีการสัมภาษณ์แบบใหม่ คือให้เด็กๆในวัยใกล้เคียงกันกับเด็กชายวรวัฒน์ อ่านคำถามสัมภาษณ์เด็กชายวรวัฒน์ ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเขาตอบคำถามและพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติของเขาให้ผู้เขียนและเด็กๆฟังอย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตถอดคำพูดของเขาคำต่อคำ เด็กๆถามว่า “ชาติก่อนมึงเป็นใครล่ะ” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า กูตายมา ๒ ทีแล้ว ตอนนั้นกูลักควายเขา กูเพิ่งสึก กูบวชตั้งแต่ชาติที่แล้ว เขายิงกูตาย อีกทีหนึ่งกูไปกินเลี้ยงเขากูเมา รถกูก็ไม่มีไฟ รถเขาก็ไม่มีไฟ กูชนท้ายรถคอขาดตายกัน ๒ คนกับเพื่อนชื่อไอ้สุพรรณหูมันขาด เขาเอาศพไปไว้เคียงกันเลย ที่เขาเผากูไม่ใช่บ้านกูหรอก กูจำไม่ได้ไม่รู้ที่ไหน” เด็กๆถามว่า “ตอนมึงตายแล้ว มึงไปอยู่ที่ไหนล่ะ” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “กูไปอยู่บนโน้นกูตามสายรุ้งไป กูไปอยู่ที่เพิงเล็กๆ เขาเอาข้าวมาให้กินพอไปจับกลายเป็นผัดกะเพรา เขาเอาลาบมาให้กูพอกูจับมันกลายเป็นหนอน กินเสร็จแล้วเขาก็ให้ลงกระทะทองแดง น้ำก็เดือดแต่ไม่ตาย มีคนใหญ่มาดึงกูขึ้นมา ขับกูให้แก้ผ้าปีนต้นงิ้วอีก เป็นหนามยาวแค่นี้แหละ (เด็กชายวรวัฒน์ยกท่อนแขนขึ้นมาทำท่าให้ดูว่ายาวเกือบครึ่งศอก) อีกาเต็มหัวกูไปหมด กูว่าจะไปเอาปืนกู แต่แม่เสี่ยงกับพ่อตุ้มขายไปแล้ว เหลือแต่หมวกแล้วก็รูป ๒ ใบ” (เขาพูดเหมือนกับว่าขณะที่เขาอยู่ในอันตราย เขานึกถึงอาวุธปืนที่เขาเคยใช้ขณะที่เป็นพลฯสมหมาย)เด็กๆถามว่า “ตอนมึงตายแล้ว มึงเคยมาหาใครไหม” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า เคย..กูเคยไปขอเขาเกิดเขาไม่ให้กูเกิดกูก็ขึ้นไปบนโน้นอีก กูเจอน้าหนึ่งกับปู่เอ็ดด้วย แต่น้าหนึ่งไม่เห็นกู กูเรียกปู่เอ็ด ปู่เอ็ดหันมามอง กูบอกว่ามานี่ก่อนมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ปู่เอ็ดบอกว่ามาอยู่นานแล้ว แล้วก็เดินไปเลย (ปู่เอ็ดและน้าหนึ่งที่เขาพูดถึงนั้นเป็นญาติของพลฯสมหมายที่เสียชีวิตไปนานแล้ว) กูไปเล่นกับไอ้สุพรรณแล้วก็นอนหลับ ตื่นขึ้นมากูก็ลงมาหาแม่เสี่ยงแต่ว่าแม่เสี่ยงไม่เห็น แม่เสี่ยงออกมาเยี่ยวกูเรียกก็ไม่ได้ยิน กูก็ขึ้นไปอีกมีรุ้งมารอรับ กูขึ้นไปนอน แล้วก็ไปกินข้าว คนเยอะ กูกินข้าวกับน้ำพริก มีผัดกะเพราอร่อย มีผัดผักบุ้ง ทอดไข่(ไข่เจียว) ใส่จาน มีน้ำใส่ขัน กูนั่งกินคนเดียว ทีนี้กูลงมาอีก มานอนกับแม่เสี่ยง แต่แม่เสี่ยงไม่เห็นไม่ได้คุยกัน กูเฝ้าบ้านให้แม่เสี่ยง” ตอนนั้นผู้เขียนและเด็กๆปล่อยให้เด็กชายวรวัฒน์พูดให้ฟังโดยที่ไม่มีใครขัดจังหวะ เขาพูดให้ฟังอย่างตื่นเต้น เด็กๆก็นั่งฟังกันอย่างใจจดใจจ่อ เด็กๆถามว่า “ชาติก่อนเป็นตำรวจแล้วชาตินี้มึงจะเป็นอะไร” เด็กชายวรวัฒน์ตอบว่า “เกิดมาชาตินี้กูไม่ขอเป็นตำรวจอีกแล้ว กูจะเป็นทหาร” ขณะนั้นงานเลี้ยงกำลังจะเริ่มเสียงเพลงจากเครื่องขยายเสียงทำให้พวกเราจำเป็นต้องยุติการสัมภาษณ์ลง

สำหรับเรื่องราวชีวิตในชาติก่อน ก่อนที่จะเกิดมาเป็นพลฯสมหมายที่เด็กชายวรวัฒน์พูดถึงนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เด็กชายวรวัฒน์พูดออกมาจากความทรงจำของเขาเอง หรือจดจำมาจากคำพูดของนางเสี่ยงขณะที่นางเสี่ยงเล่าเรื่องนี้ให้ผู้เขียนฟังก่อนหน้านี้ ซึ่งเด็กชายวรวัฒน์ก็นั่งฟังอยู่ด้วย ถ้าเขาพูดออกมาจากความทรงจำในอดีตชาติของเขา นั่นหมายถึงว่าเขาสามารถจำอดีตชาติได้ถึง ๒ ชาติ แบบต่อเนื่องกัน

ส่วนเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตภายหลังความตายที่เด็กชายวรวัฒน์พูดถึงนั้นยังคงเป็นปริศนา ที่ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร เขาอาจจะพูดออกมาจากจินตนาการของเขาเอง เขาอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้มาจากใครแล้วนำมาผูกเป็นเรื่องราวเล่าให้ฟัง หรือเป็นความจริงอย่างที่เขาพูดถึง เป็นเรื่องที่เกินกว่าวิทยาศาสตร์และปุถุชนอย่างเราๆจะเข้าถึงได้ จึงยังคงปริศนาที่ต้องค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป

ปัจจุบัน(๒๕๕๙) เขาอายุ ๒๓ ปี รับราชการเป็นทหารอากาศ อยู่ที่

สถานีเรดาร์กองทัพอากาศ ภูหมันขาว จ.เพชรบูรณ์