คำนำ / สารบัญ

ปกหน้า

อัฏฐธรรมปัญหาของสมเด็จพระเพทราชา

ไขปริศนาธรรม ๘ ข้อ ของสมเด็จพระเพทราชากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในสมัยนั้น

เรียบเรียงโดย

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

แผ่นคั่นหน้า

“ ผู้ไม่เห็นในทุกข์

ย่อมไม่ปรารถนาที่จะออกจากทุกข์

ผู้ไม่เห็นในคุณของพระนิพพาน

ย่อมไม่ปรารถนาปรมัตถประโยชน์

ผู้ไม่เห็นในปรมัตถประโยชน์

ย่อมไม่ปรารภความเพียร ”

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

ปกใน

อัฏฐธรรมปัญหาของสมเด็จพระเพทราชา

๑. ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร

๒. ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

๓. หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

๔. ไม้โกงอย่าทำกงวาน

๕. ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

๖. ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น

๗. ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา

๘. ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย

ไขปริศนาธรรม ๘ ข้อ ของสมเด็จพระเพทราชากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

โดย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

แห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น

เรียบเรียงโดย

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

พ.ศ.๒๕๔๓

ภาพคั่นหน้า 1

ภาพคั่นหน้า 2

บานแผนก

เรื่องอัฏฐธรรมปัญหานี้สมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ กรุงเทพทวราวดีศรีอยุธยามหานครต่อจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ดำรัสถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๐๕๒ แลสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายวิสัชนาแก้ปัญหานั้นเป็นเนื้อเรื่องโดยพิศดาร ต้นปัญหาที่ดำรัสถามทั้ง ๘ ข้อ คือว่า

๑. ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร ๕. ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

๒. ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด ๖. ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น

๓. หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร ๗. ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา

๔. ไม้โกงอย่าทำกงวาน ๘. ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย

เหล่านี้ ตามที่ปรากฏในคำวิสัชนาได้ความว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน เพราะฉะนั้นพึงสันนิษฐานว่ามิใช่ปัญหาอันรู้กันแพร่หลายในครั้งนั้น เช่นมีอยู่ในหนังสือเล่มใดๆเป็นต้น จะว่าเป็นปัญหาซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงพระราชนิพนธ์ผูกขึ้น ดูรูปร่างลาดเลาของปัญหาก็เห็นไม่น่าจะเป็น หรือจะเป็นข้อปัญหาได้มาจากที่อื่นจะได้มาจากเมืองพม่า เมืองมอญ เมืองเขมร เมืองลาว อะไรเหล่านี้เอามาผูกเป็นภาษาไทย จึงคล้องกันได้บ้างไม่คล้องกันได้บ้าง เหลือที่จะคาดคะเนให้ยิ่งไปกว่านี้ว่าปัญหาทั้ง ๘ นี้เดิมมาแต่ที่ใด

คำอาราธนาแก้ปัญหานั้นทำนองเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเพทราชาเอง ซึ่งน่าจะเป็นได้ ถ้าผู้อื่นเรียงถวายเห็นจะไม่กล้าใช้โวหารเช่นนั้น ถ้าจริงอย่างนี้แล้วผู้อ่านชื่อว่าได้อ่านพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเพทราชาเป็นครั้งแรก ควรจะยินดีอยู่บ้าง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่ถวายวิสัชนาอัฏฐธรรมปัญหาองค์นี้ เห็นได้ในคำอาราธนาว่า สมเด็จพระเพทราชาทรงนับถือยกย่องว่าเป็นพระอาจารย์ น่าจะเป็นองค์เดียวกับที่เป็นพระอาจารย์ของตรัสน้อยราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งปรากฏในหนังสือพงศาวดารกล่าวว่าชำนาญพระไตรปิฎก คัมภีร์ เลขยันต์ มนต์คาถา สรรพวิทยาคุณต่างๆเป็นอันมาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์นี้อยู่วัดพุทไธสวรรย์ กุฏีที่อยู่เป็นตำหนักตึกมีภาพเขียนผนังด้านใน เห็นจะเป็นของสมเด็จพระเพทราชาสร้างพระราชทาน ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

หนังสืออัฏฐธรรมปัญหานี้มีต้นฉบับหลวงอยู่ในหอพระมณเฑียรธรรมฉบับหนึ่ง แลหอสมุดวชิรญาณหาได้จากที่อื่นอีก ๒ ฉบับ เห็นเป็นหนังสือเก่าอันกอปรด้วยประโยชน์แก่ผู้อ่าน ควรจะพิมพ์ไว้ไม่ให้สาบสูญ

คำอธิบายของ

พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

นายกกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ(หอสมุดแห่งชาติ) ร.ศ.๑๓๑

(คัดจากหนังสือ อัฏฐธรรมปัญหาของสมเด็จพระเพทราชา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ร.ศ.๑๓๑ พ.ศ.๒๔๕๕)

คำนำ

เรื่องอัฏฐธรรมปัญหานี้ เป็นเกร็ดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวกันว่าเกิดขึ้นและถูกบันทึกไว้ครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการเรียบเรียงรักษาไว้อีกหลายครั้ง เท่าที่พบหลักฐานมีการจารไว้ในใบลานด้วยอักษรขอมภาษาไทย บางผูกก็เป็นอักษรไทยภาษาไทย ทั้งหมดไม่ปรากฏปีที่จารไว้ พบในสมุดไทยดำ ร.ศ.๑๒๖-๑๒๗(พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๑) เป็นตัวเขียนอักษรไทยส่วนคำบาลีเป็นอักษรขอม พบการอ้างอิงถึงว่ามีอยู่ในหนังสืออัฏฐธรรมปัญหาของสมเด็จพระเพทราชา ร.ศ.๑๓๑ เป็นตัวพิมพ์แต่ไม่พบต้นฉบับ และพบในหนังสือประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค ๑ พ.ศ.๒๕๑๐(ไม่มีภาค ๒)ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดีในเวลานั้นได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นไว้เพื่อรักษาเอกสารสำคัญของชาติที่เก่าแก่มากและใกล้จะชำรุดเสียหายให้มีอายุยืนยาวสืบต่อไป

ในการเรียบเรียงเรื่องอัฏฐธรรมปัญหาของสมเด็จพระเพทราชาขึ้นใหม่ในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แก้ไขอักขระวิธีจากต้นฉบับเดิมทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เพื่อความสะดวกของท่านผู้อ่าน และได้เพิ่มเติม พระราชประวัติสมเด็จพระเพทราชา ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่มาของคำบาลี และ คำขยายความ เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังรักษาไว้ให้คงเดิม คือสำนวนถ้อยคำต่างๆซึ่งเป็นสำนวนที่สละสลวยงดงามตามแบบที่นิยมกันในสมัยนั้น ด้วยหวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสของสำนวนภาษาที่เป็นของดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ข้าพเจ้าต้องขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของ พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) เป็นอย่างสูง ที่เมตตาให้คำอธิบายเพิ่มเติมในคำศัพท์และคำบาลีบางคำ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสถาบันราชภัฏนครปฐม ที่กรุณาอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมีส่วนทำให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงได้

สำหรับ E-Book ที่ท่านได้อ่านอยู่นี้ผู้เขียนขออุทิศให้เป็นธรรมทาน

ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ ในทุกกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้า

หากมีความผิดพลาดใดๆในหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าขอน้อมรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ส่วนกุศลผลบุญอันยิ่งอันใดที่พึงมีพึงได้จากหนังสือเล่มนี้ ขอกุศลผลบุญนั้นจงสำเร็จแด่ บิดามารดา ครูอาจารย์ และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย รวมทั้งท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยเทอญ

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

๓๑ มกราคม ๒๕๔๓

สารบัญ

(คลิ๊กที่ขีดเส้นใต้เพื่อลิงค์ไปยังหัวข้อต่างๆ)

พระราชประวัติสมเด็จพระเพทราชา

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พระราชปุจฉาของสมเด็จพระเพทราชา

๑.ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร

๒.ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

๓.หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

๔.ไม้โกงอย่าทำกงวาน

๕.ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

๖.ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น

๗.ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา

.ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง๔ เสีย

คำขยายความ ก-ค / / ญ-ถ / ท-บ / / ผ-ร / ว-ห /

ที่มาของคำบาลี/อักษรย่อชื่อคัมภีร์ต่างๆ

หนังสืออ้างอิง