ปริศนาธรรมข้อที่ ๒

ปริศนาธรรมข้อที่ ๒

ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนา ในทุติยปัญหาปริศนาคำรบสองซึ่งว่า ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด แลลูกอ่อนนั้นคือญาติวงศา มีบิดา มารดา แลบุตรธิดาเป็นอาทินั้น เหตุว่าบุคคลผู้มีปัญญา แลเป็นอริยสัปปุรุษ* นั้นก็ย่อมเป็นอุปการรักษา ซึ่งญาติวงศาแห่งอาตมา*ดุจบิดามารดา อันเป็นอุปการรักษา กุมาร กุมาริกา อันเป็นบุตรธิดาแห่งอาตมานั้น ซึ่งว่าอย่าอุ้มรัดนั้น คือให้อุ้มแต่ว่าอย่ารัดเข้าให้ติดอาตมา เหตุว่ากิริยาอันอุ้มนี้มีสองประการคือ อุ้มแต่พอมั่น แลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมาประการหนึ่ง คืออุ้มรัดเข้าให้ติดอาตมาประการหนึ่ง อุ้มเป็นสองประการดังนี้ ซึ่งว่าอุ้มนั้นเป็นอุปการรักษา ซึ่งว่ารัดให้ติดอาตมานั้น คือตัณหา อุปาทาน* เสน่หา อันปรารถนาถือมั่นด้วยความรักนั้นแล

ซึ่งว่าอุ้มแลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้น คือเป็นแต่อุปการรักษา แลหาตัณหา อุปาทานเสน่หามิได้นั้นแล อันว่าบุคคลผู้เป็นปุถุชนหาปัญญามิได้นั้น ก็เป็นอุปการรักษาญาติวงศาด้วยตัณหา อุปาทาน เสน่หา อันปรารถนาว่าญาติวงศาทั้งหลายนี้ เป็นที่พึ่ง ที่พำนักแก่อาตมาเที่ยงแท้ ก็ถือมั่นด้วยความรักว่า ญาติวงศาทั้งหลายนี้เป็นของอาตมาเที่ยงแท้ มีอุปมาดังบุคคลอันอุ้มลูกอ่อนแลรัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล อันว่าบุคคลผู้มีปัญญาแลพิจารณาเห็นสังขารธรรมทั้งปวง คืออาตมาเองนั้นก็ดี ญาติวงศาทั้งหลายก็ดี ก็ย่อมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา(ดู ไตรลักษณ์)*แลบุคคลผู้มีปัญญานั้นก็เป็นอุปการรักษาญาติวงศาทั้งหลาย แต่ตามประเพณีอันมีเมตตาจิตเป็นบุพภาค* แลหาตัณหา อุปาทาน เสน่หามิได้นั้น ก็มีอุปมาดังบุคคลอันอุ้มลูกอ่อน แลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล

อันว่าบุคคลผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นดังนี้ ฯ เปมโต ชายเต โสโก เปมโต ชายเต ภยํ เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ฯ อันว่าโศกาดูรก็ดี ก็บังเกิดแต่ความรัก อันว่าภัยก็ดีก็บังเกิดแต่ความรัก อันว่าโศกก็ดี อันว่าภัยก็ดี ก็มิได้บังเกิดแต่สถานที่ใดที่หนึ่ง แต่บุคคลผู้หาความรักมิได้ แลพ้นจากความรักนั้นแล อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา แลเป็นอุปการอนุเคราะห์ญาติวงศา แลหาตัณหา อุปาทาน เสน่หามิได้นั้น แม้นแลญาติวงศาบังเกิดภัยอันตรายพินาศ ฉิบหายชีวิตก็ดี บุคคลผู้มีปัญญานั้นก็มิได้บังเกิดทุกข์โทมนัส โศกาดูร อันยิ่งนั้นแล

อันว่าบุคคลผู้มิได้สดับฟังธรรมเทศนา แลหาปัญญามิได้นั้นแล เป็นอุปการอนุเคราะห์ญาติวงศา ด้วยตัณหา อุปาทาน เสน่หานั้น ครั้นแลญาติวงศาบังเกิดภัยอันตรายพินาศ ฉิบหายชีวิตก็ดี บุคคลผู้หาปัญญามิได้นั้นก็บังเกิดทุกข์โทมนัส โศกาดูร ยิ่งนักหนา

ดุจธิดาเศรษฐีคนหนึ่งอันมีครรภ์แก่แล้ว แลจะเข้าไปหาบิดา มารดา ในเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยสามี แลทารกอันเป็นบุตรนั้น ครั้นไปถึงท่ามกลางมรรคา*ก็จะคลอดบุตรนั้น แลบุรุษผู้เป็นสามีนั้นถือพร้าเข้าไปในสุมทุม จะตัดเอาใบไม้มาทำร่มแก่บุตรภรรยา แลงูอสรพิษตัวหนึ่งออกมาแต่จอมปลวก ก็ตอดเอาบุรุษผู้นั้น บุรุษผู้นั้นก็ล้มลงถึงมรณภัยในที่นั้นแล ธิดาเศรษฐีก็คลอดทารกออก ณ ที่นั้น

เพลาเป็นอันค่ำ ลมพายุแลฝนก็ตกลงในราตรีนั้น แลธิดาเศรษฐีนั้นได้เอาทารกทั้งสองนั้นนอนไว้ในใต้อก ก็ครอบทารกทั้งสองนั้นไว้ยันรุ่ง ครั้นรุ่งเช้าธิดาเศรษฐีนั้น เล็งเห็นสามีตายล้มอยู่ ธิดาเศรษฐีนั้นบังเกิดโศกาดูร ร้องไห้ร่ำไปมา จึงอุ้มทารกอันเกิดใหม่ แลมีพรรณดังชิ้นเนื้อนั้น แลจูงมือทารกผู้รู้เดินนั้นไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงให้ทารกผู้ใหญ่นั้น นั่งอยู่ ณ ริมฝั่งแล้วก็อุ้มทารกอันเกิดใหม่นั้นข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งข้างโพ้น แลเอาใบไม้ปูลง แล้วจึงวางทารกนั้นให้นอนเหนือใบไม้นั้น แล้วกลับไปรับเอาบุตรผู้ใหญ่นั้นมา

ครั้นไปถึงกลางแม่น้ำ มีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาในอากาศ เล็งเห็นทารกอันนอนเหนือใบไม้นั้น ก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ จึงโฉบลงคาบเอาทารกนั้นไป ธิดาเศรษฐีเล็งเห็นก็ชูมือทั้งสองขึ้นโบก แล้วก็ร้องตวาดเหยี่ยวนั้น ทารกผู้ใหญ่อันอยู่ริมฝั่งข้างหนึ่งนั้นสำคัญว่ามารดาเรียก ก็เดินลงไปในแม่น้ำนั้น น้ำก็พัดเอาเอาทารกนั้นไป แลธิดาเศรษฐีผู้นั้น ก็บังเกิดความทุกข์ โศกาดูร ยิ่งหนักหนา ก็ร้องไห้ร่ำไรไปมาว่า ลูกน้อยนี้เหยี่ยวก็พาไป แลลูกใหญ่ก็จมลงในนที สามีงูก็ขบตาย แล้ว ธิดาเศรษฐีผู้นั้นเดินมา เล็งเห็นบุรุษผู้หนึ่ง จึงถามบุรุษผู้นั้นว่า “ท่านอยู่ยังรู้จักตระกูลเศรษฐีอันมีชื่อโพ้น อันอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้นหรือ” บุรุษผู้นั้นจึงบอกว่า “ฝนตกคืนนี้ ลมพายุพัดหนักเรือนมหาเศรษฐีนั้นหักทำลายลง ทับมหาเศรษฐี ภรรยา แลบุตรชาย ตายทั้งสามคนในกลางคืนนี้แล้ว แลคนทั้งหลายเขาเอาไปเผาในเชิงตะกอนเดียวด้วยกัน ทั้งสามคนนั้นแล” ธิดาเศรษฐีผู้นั้นได้ฟังถ้อยคำบุรุษนั้นบอก ก็บังเกิดทุกขเวทนานักหนา หาสติสมฤดีมิได้ แลผ้านุ่งผ้าห่มตกออกจากกายอาตมาก็ไม่รู้สึกตัว ถึงสภาวะเป็นบ้า แลร่ำร้องไห้แล่นไปถึงพระเชตุพนมหาวิหาร ซึ่งสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ พร้อมด้วยคหบดีแลชาวเมือง คนทั้งหลายเล็งเห็นหญิงไม่มีผ้านุ่ง ผ้าห่ม จะแล่นเข้าในวิหารก็ห้ามมิให้นางเข้าไป สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ด้วยญาณ*ว่า ธิดาเศรษฐีนั้นมีสมภาร* ได้บำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว แลจะถึงพระอรหันต์ในชาตินี้ จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าห้ามเลย ให้เข้ามาเถิด ครั้นธิดาเศรษฐีเข้าไปใกล้จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภคินี ท่านจงได้สติสมฤดีเถิด ธิดาเศรษฐีนั้นครั้นได้ยินพระสุรเสียง นางก็ได้สติสมฤดี

ด้วยอานุภาพพระสรรเพชญพุทธเจ้าในขณะนั้น จึงรู้ว่าผ้านุ่งผ้าห่มตกจากกายเสียสิ้นแล้ว ก็นั่งลง มีบุรุษผู้หนึ่งเปลื้องผ้าของอาตมาออกซัดให้แก่ธิดาเศรษฐี นางนุ่งผ้านั้นเข้าแล้วก็ไปกราบนมัสการสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า บุตรของข้าพเจ้าคนหนึ่งเหยี่ยวก็คาบเอาไป บุตรของข้าพเจ้าคนหนึ่งน้ำก็พาเอาไป สามีของข้าพเจ้าอสรพิษก็ขบตาย บิดา มารดา แลพี่ชายข้าพเจ้า เรือนก็หักทับตายสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าหาที่พึ่ง ที่พำนักมิได้ ขอพระพุทธเจ้าจงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า "ดูกร ปฏาจารา แปลว่าท่านผู้มีอาจาระ*คือหิริโอตัปปะ*อันตัดเสีย เหตุว่าผ้านุ่งผ้าห่มนั้นปราศจาก อาตมาจึงเรียกปฏาจารา อันว่าบุคคลผู้อื่นมิอาจเป็นที่พึ่งแก่ท่านได้ แต่ตถาคตผู้เดียวนี้จะบังเกิดเป็นที่พึ่งแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตนี้เถิด" สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาดังนี้ จตูส-มุทฺเทสุ ชลํ ปริตฺตกํ ตโต พหุ อสฺสุชลํ อนปฺปกํ ทุกฺเขน ผุฏฺฐสฺส นรสฺส โสจโต กึการณา อมฺม ตุวํ ปมชฺชสีติ ฯ๑๐ "ดูกรปฏาจารา อันว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้นมีเป็นอันน้อย อันว่าน้ำตาแห่งบุคคลผู้หนึ่ง อันเที่ยวตาย เที่ยวเกิดอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานจะนับมิได้นั้น อันทุกข์โศกาดูรมาถูกต้อง แลร้องไห้ในการเมื่อญาติกาทั้งหลายมีอาทิ คือ บุตรธิดาพินาศฉิบหายล้มตายนั้น แลน้ำตาแห่งบุคคลผู้หนึ่งนั้นก็เป็นอันมาก ยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้น ดังฤาท่านจะประมาทอยู่ด้วยรักญาติกาทั้งปวง ท่านก็จะได้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานดังนี้สืบไปในวัฏสงสารนั้นเล่า"

แลในเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้ อันว่าความโศกในตัวแห่งนางปฏาจารานั้นก็น้อยลง สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้ารู้ว่าความโศกน้อยลงแล้ว จึงตรัสเทศนาดังนี้ ฯ น สนฺติ ปุตฺตา ตาณาย น ปิตา นปิ พนฺธวา อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส นตฺถิ ญาตีสุ ตาณตา เอตมตฺถวสํ ญตฺวา ปณฺฑิโต สีลสํวุโต นิพฺพานคมนํ มคฺคํ ขิปฺปเมว วิโสธเย ฯ๑๑ "ดูกรนางปฏาจารา อันว่าบุตรธิดาทั้งหลายก็ดี อันว่าบิดามารดาทั้งหลายก็ดี อันว่าญาติวงศาทั้งหลายก็ดี ก็มิได้เพื่อจะเป็นที่พึ่งแก่บุคคลอันถูกมัจจุราชครอบงำนั้น เมาะว่า บุตรธิดา แลญาติกาจะเป็นที่พึ่ง คือ จะให้ข้าว ให้น้ำ โภชนาหาร และจะช่วยเป็นอุปการกระทำกิจทั้งปวงได้ ก็แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ แลเมื่อมัจจุราชมาถึงแล้วนั้น ญาติวงศาทั้งหลายนั้นมิอาจเพื่อจะเป็นที่พึ่ง แลจะห้ามมัจจุราชด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งหามิได้ เหตุดังนั้น อันว่าสภาวญาติทั้งหลายจะเป็นที่พึ่งแก่บุคคลอันมัจจุราชครอบงำนั้นหามิได้ อันว่าบุคคลผู้มีปัญญารู้ว่าญาติทั้งปวงมิได้เป็นที่พึ่งแก่อาตมาแล้วดังนี้ ก็พึงตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลสังวร* แล้วพึงชำระพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม อันกอปรด้วยองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางนฤพาน*นั้นจงฉับพลัน ครั้นท่านชำระ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม บริสุทธิ์แล้วท่านก็ถึงนิพพานแล้ว ท่านก็จะพ้นจาก ทุกข์โทมนัส โศกาดูรทั้งปวงนี้แล อธิบายว่าท่านจะปรารถนาให้พ้นจากทุกข์ ท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันพิจารณาเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ ดังนี้ อันว่าปัญจขันธ์* อันเป็นที่บังเกิดทุกข์ทั้งปวงนี้ ชื่อ ทุกข์อริยสัจ อันว่าตัณหาอันปรารถนาจะให้บังเกิดปัญจขันธ์สืบไป นั้นชื่อ สมุทัยอริยสัจ อันว่าตัณหาดับบ่มิได้บังเกิดสืบไปชื่อ นิโรธอริยสัจ อันว่าปฏิบัติเพื่อจะให้ตัณหาอันชื่อสมุทัยสัจนั้นดับ แลมิให้บังเกิดสืบไปกว่านั้น ปฏิบัตินั้นชื่อ มรรคอริยสัจ แลปัญญาอันรู้จักอริยสัจทั้ง ๔ ดังนี้ชื่อ สัมมาทิฏฐิ อันว่าสักกายทิฏฐิอันถือว่า ปัญจขันธ์นี้ เป็นตัว เป็นตน เป็นอหัง* มมัง* ดังนี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ แลท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิอันเล็งเห็นปัญจขันธ์ว่า เป็นกองทุกข์สิ่งเดียวเที่ยงแท้ หาตัวตน หาอหัง มมังมิได้ในปัญจขันธ์นี้ ครั้นท่านชำระสัมมาทิฏฐินี้ให้บริสุทธิ์ มิให้มิจฉาทิฏฐิบังเกิดได้กว่านั้น ก็ได้ชื่อว่าชำระองค์มรรคอันเป็นประถม เป็นทางพระนฤพานประการหนึ่ง แลท่านจงชำระสัมมาสังกัปปะให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสังกัปปะบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาวาจาให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาวาจาบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมากัมมันตะให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉากัมมันตะบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาอาชีวะให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาอาชีวะบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาวายามะให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาวายามะบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาสติให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสติบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาสมาธิให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสมาธิบังเกิดได้ ครั้นชำระธรรม ๘ ประการอันเป็นองค์อริยมรรคให้บริสุทธิ์ดังนี้แล้ว ในกาลเมื่อใด ท่านจะถึงนิพพาน พ้นจากสังสารทุกข์ทั้งปวงในกาลเมื่อนั้น เป็นอันเที่ยงแล"

นางปฏาจาราตั้งสมาธิจิตฟังพระธรรมเทศนานี้ ก็หยั่งปัญญาไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็พิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกข์ทั้งปวงนี้บังเกิดแต่กิเลสธรรม อันมีตัณหาเป็นมูลนั้นเที่ยงแท้ นางปฏาจารานั้นก็เผากิเลสธรรมอันเป็นมูลแห่งทุกข์เป็นอันมาก ดุจเมล็ดฝุ่นในแผ่นดินทั้งปวงนั้นให้ไหม้พินาศไปด้วยเพลิง คือ โสดามรรคญาณแล้วก็ประดิษฐานอยู่ในโสดาปัตติผลนั้น แล้วจึงขอบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

ก็ปรากฏชื่อว่า ปฏาจาราภิกษุณี แลเมื่อตักน้ำล้างเท้าในกาลเมื่อวันหนึ่งนั้น ก็เล็งเห็นน้ำอันรดลงก่อนนั้นครั้นรดลงก็ซึมหายไป แลน้ำอันรดเป็นคำรบสองนั้น ครั้นรดลงก็ไหลไปกว่าก่อนนั้นหน่อยหนึ่งแล้วก็ซึมหายไป น้ำอันรดลงเป็นคำรบสามนั้น ก็ไหลไปมากกว่าก่อนนั้นหน่อยหนึ่งแล้วก็ซึมหายไป ก็บังเกิดอุทยวยปัญญา*พิจารณาเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายอันตายในประถมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงก่อน สัตว์ทั้งหลายอันตายในมัชฌิมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงเป็นคำรบสองนั้น สัตว์ทั้งหลายอันตายในปัจฉิมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงเป็นคำรบสามนั้นแล ฯ จึงสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระคันธกุฏี*เปล่งพระรัศมีโอภาส*ไปให้เห็น ดุจเสด็จอยู่ในที่เฉพาะหน้าแห่งนาง ปฏาจาราภิกษุณีนั้น ก็ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ฯ โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ฯ๑๒ "อันว่าบุคคลผู้ใดมีอายุอยู่ได้ ๑๐๐ ปี แลมิได้เล็งเห็นความเกิด แลความดับแห่งเบญจขันธ์นี้ ชีวิตได้ ๑๐๐ ปีนั้นมิได้ประเสริฐ อันว่าบุคคลผู้ใดมีอายุแต่เพียงวันเดียว แลเล็งเห็นซึ่งความเกิด แลความดับแห่งเบญจขันธ์นี้ อันว่าชีวิตแห่งบุคคลวันเดียวนั้น ประเสริฐกว่าชีวิต ๑๐๐ ปีนั้นแล ฯ" นางปฏาจาราภิกษุณีได้ฟังพระธรรมเทศนา นางก็ลุถึงพระอรหันต์ กอปรด้วยปฏิสัมภิทาญาณ*ในกาลเมื่อจบพระธรรมเทศนานี้แล ฯ

ขอถวายพระพร อาตมาภาพพิจารณาทุติยปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนานี้ถวายเป็นต้นหน แลนายเข็ม สำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาปริศนาคำรบสองแล้วแต่เท่านี้