ปริศนาธรรมข้อที่ ๗

ปริศนาธรรมข้อที่ ๗

ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาสัตตมปัญหาคำรบ ๗ ว่า ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา นั้น คือห้ามมิให้บรรทุกเครื่องสักการอันหนัก อันว่าถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา คือว่าจะให้ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน*ธาตุอันดับ คือวิบากขันธ์* แลกตัตตารูป*เหลือบ่มิได้นั้น เมาะว่าดับสิ้นทั้งปวง แลมิได้บังเกิดสืบไปในวัฏสงสารกว่านั้น ดุจสำเภาอันล่ม แลจมลงในท้องทะเล แลบ่มิได้เที่ยวไปในท้องทะเลกว่านั้น

อันว่าบรรทุกแต่เบานั้น คือกุศลธรรมทั้งหลาย คือสัตตติงสโพธิปักขิยธรรม* ๓๗ ประการ อันโยคาวจรพึงให้บังเกิด ให้เจริญในขันธสันดานจงมาก จงเนือง ๆ อย่าให้อกุศลธรรมบังเกิดในขันธสันดานนั้นได้ จึงจะพลันถึงนฤพาน ก็มิได้เที่ยวไปในวัฏสงสารกว่านั้น ดุจสำเภาอันบรรทุกแต่เบานั้น จะล่มด้วยเหตุอันใด อาตมาภาพขอถวายพระพรให้แจ้ง ซึ่งว่าสำเภาอันบรรทุกสินค้าอันเบามีอาทิ คือฝ้าย แลผ้าแพรไหม แลหาศิลากดท้องเป็นอับเฉา*นั้นมิได้ แลพาณิชย์ชักใบกระโดงนั้นขึ้นให้สิ้นเต็มกำลัง ครั้นลมอันมีกำลัง พัดมาต้องใบกระโดงนั้น สำเภาอันเบานั้นก็หกคว่ำลงเป็นอันฉับพลัน เหตุว่าหาศิลาจะกดท้องเป็นอับเฉามิได้นั้นแล

อธิบายว่าให้บรรทุกแต่เบานั้น คือห้ามมิให้บรรทุกหนัก แลบรรทุกหนักนั้นคืออกุศลธรรมทั้งปวง อันมีมิจฉาวิตก* แลราคะ โทสะ โมหะ เป็นอาทินั้นแล อกุศลธรรมทั้งหลายนี้ ครั้นแลยังบังเกิดเป็นอันมากในสันดาน ก็จะเที่ยวอยู่ในสงสารสิ้นกาลช้านาน ดุจสำเภาอันบรรทุกสินค้าอันหนัก มีอาทิคือ ดีบุก ทองแดง ทองเหลือง เหล็ก ศิลา กดท้องเป็นอับเฉานั้น แม้นลมมีกำลังมาต้องใบกระโดงนั้นก็ดี สำเภาอันบรรทุกหนักนั้นก็มิได้ล่ม ก็ท่องเที่ยวไปมาอยู่ในท้องทะเลนั้นสิ้นกาลช้านาน สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนภิกษุทั้งหลายดังนี้

ฯ สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ เฉตฺวา ราคญฺจ โทสญฺจ ตโต นิพฺพานเมหิสิ ฯ ปญฺจ ฉินฺเท ปญฺจ ชเห ปญฺจอุตฺตริ ภาวเย ปญฺจสงฺคาติโค ภิกฺขุ โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ ฯ๒๔ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าสำเภาเที่ยวไปในมหาสมุทร แลทะลุเป็นช่อง ๖ แห่ง แลน้ำในมหาสมุทรก็ไหลเข้าไปตามช่อง ๖ แห่งนั้น สำเภานั้นก็เป็นอันหนัก ด้วยน้ำอันรั่วเข้าไปนั้น ก็ไปในท้องทะเลนั้นเป็นอันช้า วาณิชทั้งหลายก็ปิดช่อง ๖ แห่งนั้นไว้ มิให้รั่วเข้าได้ ก็วิดน้ำในสำเภานั้นเสียให้สิ้น สำเภาอันวาณิชวิดน้ำเสียแล้วนั้น ก็บังเกิดเป็นอันเบาก็ไปถึงท่าสำเภาอันปรารถนานั้นด้วยฉับพลัน

แลมีอุปมาดุจใด อันว่าสำเภาอันกล่าวคือ อาตมาแห่งท่านทั้งหลาย ก็เป็นอันหนักด้วยน้ำคือ มิจฉาวิตกทั้ง ๓ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ นั้นแล ท่านทั้งหลายจงปิดไว้ซึ่งทวารทั้ง ๖ ด้วยอินทรีย์สังวรศีลแล้ว แลวิดน้ำเสีย ซึ่งน้ำคือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก นั้นเสียแล้ว แลท่านทั้งหลายจงตัดเสียซึ่งราคะ แลโทสะ อันผูกไว้ในสงสาร ดุจเชือก แลพวนอันผูกสำเภานั้นให้ขาดจงสิ้น ท่านทั้งหลายก็ถึงอรหัตตผล อันชื่อ สอุปาทิเสสนิพพาน*ธาตุ

เหตุว่าเป็นกิเลสนิพพานคือ กิเลส ๑๕๐๐* ตัณหา ๑๐๘* นั้นดับสิ้นแล้ว แลยังแต่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันเป็นวิบาก เมาะว่าเป็นผลแห่งกุศลากุศล อันได้กระทำแต่ชาติก่อนนั้น แลรูปขันธ์อันเป็นวิบาก เป็นกุศลากุศลกรรมอันกระทำแต่ก่อนนั้น ให้บังเกิดนั้นให้เหลืออยู่นั้นแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะถึง อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อันมีวิบากขันธ์ กตัตตารูปบ่มิเหลือนั้น ในกาลเมื่อสิ้นอายุแห่งท่านทั้งหลายนั้นแล้ว ประการหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงตัดเสียซึ่งสังโยชน์*ทั้งหลาย ๕ ประการคือ ทิฏฐิสังโยชน์ ๑ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ๑ กามราคสังโยชน์ ๑ พยาบาทสังโยชน์ ๑ แลสังโยชน์ทั้ง ๕ นี้ ย่อมผูกสัตว์ไว้ในอบายทั้ง ๔ ดุจเชือกอันผูกในบาทา แลชักไปสู่อบายอันภาคเบื้องต่ำนั้น ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการนี้ ด้วยมรรคญาณทั้ง ๓ คือ โสดามรรคญาณ ๑ สกิทาคามิมรรคญาณ ๑ อนาคามิมรรคญาณ ๑ ให้ขาด ด้วยดาบอันคมนั้นแล้ว ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการ คือ รูปราคสังโยชน์ ๑ อรูปราคสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ อุทธัจจสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑ สังโยชน์ ๕ ประการนี้ ก็ย่อมผูกสัตว์ให้ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลก อันเป็นภาคเบื้องบน ดุจเชือกบ่วงผูกคอ แลชักขึ้นไปสวรรค์เทวโลกนั้น ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ นี้ให้ขาด ด้วยอรหัตตมรรคญาณ ดุจบุรุษอันตัดซึ่งเชือกบ่วงผูกคอนั้นให้ขาดด้วยดาบอันคมนั้น

แลท่านทั้งหลายจงเจริญอินทรียธรรม ๕* ประการ ให้บังเกิด ให้เจริญในสันดาน เพื่อจะให้บังเกิดอรหัตตมรรคญาณ เพื่อจะประหารสังโยชน์ ๕ ประการนี้เสียให้ขาด แลอินทรียธรรมทั้ง ๕ ประการนั้นคือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ท่านทั้งหลายจงล่วงข้ามเสียซึ่งธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อันเป็นกังวลให้ข้องอยู่ในวัฏสงสาร อันว่าบุคคลผู้ใด แลตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการเบื้องต่ำ แลตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการเบืองบน แลเจริญอินทรียธรรม ๕ ประการ แลล่วงข้ามเสียซึ่งกังวล ๕ ประการดังนี้ อันว่าบุคคลผู้นั้น พระตถาคตตรัสเทศนาว่าข้ามโอฆะทั้ง ๔ ประการได้แล้ว ก็ถึงนฤพาน เป็นอันเที่ยงแท้แล

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาสัตตมปัญหาด้วยพระธรรมเทศนานี้ ขอจงเป็นต้นหน แลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาสัตตมปัญหาปริศนาคำรบ ๗ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้