นางสุรางคนา วันที

ข้อมูลเบื้องต้น

กรณีของ นางสุรางคนา วันที

ปัจจุบันชาติ

ชื่อ-นามสกุล : นางสุรางคนา วันที ชื่อเล่น : ส้ม

วันเดือนปีเกิด : ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๗๐/๑๔ หมู่ ๑ ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : มี ๔ คนคือ

๑. พ.ต.ท.สุทธิพันธ์ วันที

๒. พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที

๓. นางสุรางคนา วันที

๔. ส.ต.ต.พีระพงษ์ วันที

อดีตชาติ

ชื่อ-นามสกุล : ฟ้าแตง

วันเดือนปีเกิด : -

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : -

พี่น้องร่วมบิดามารดา : (เธอบอกว่าเธอมีน้องชายอีก ๑ คน ไม่ทราบชื่อ)

วันเดือนปีที่เสียชีวิต : เมื่อประมาณ ๑๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว

สาเหตุที่เสียชีวิต : ประสบอุบัติเหตุเรือล่ม

สถานที่เสียชีวิต : กลางลำน้ำใหญ่ บริเวณสำนักสงฆ์คลองมะม่วงเตี้ยในปัจจุบัน

นางสุรางคนา วันที จำอดีตชาติได้

ผู้ที่จำอดีตชาติได้รายนี้โดยปกติแล้วเธอไม่ใช่คนในหมู่บ้านของผู้เขียน แต่พ่อของเธอเคยเป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ตัวของเธอเองก็เกิดในหมู่บ้านแต่เธอและครอบครัวได้ย้ายออกจากหมู่บ้านไปตั้งแต่เธออายุได้ ๖ เดือน และเรื่องราวการจำอดีตชาติของเธอก็เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องราวของเธอมานำเสนอในที่นี้ด้วย เธอผู้นี้มีชื่อว่า นางสุรางคนา วันที เธอจำอดีตชาติได้ว่าเคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ ๑๐๐๐ ปีที่แล้ว

นางสุรางคนา วันที เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ ที่บ้านพักครูโรงเรียนบ้านตะคร้อรัฐประชาชนูทิศ บิดาชื่อ นายพิพัฒน์ วันที ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๕ ท่านเคยเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านตะคร้อรัฐประชาชนูทิศ ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ ท่านมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มารดาชื่อ นางบุญนาค แสนดี ซึ่งได้แยกทางกับนายพิพัฒน์ไปนานแล้ว ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ นางสุรางคนาอายุ ๒๗ ปี เธอพักอยู่ ที่บ้านเลขที่ ๗๐/๑๔ หมู่ ๑ ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

เรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ นางสุรางคนาหรือเด็กหญิงสุรางคนาในขณะนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่เธออายุได้ประมาณขวบกว่าๆเริ่มพูดได้ ตอนนั้นเด็กหญิงสุรางคนามักจะตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก บอกว่าจะกลับบ้านไปหาแม่ นางบุญนาคและนายพิพัฒน์ก็ช่วยกันปลอบว่า “แม่อยู่นี่แล้วลูก บ้านเราก็อยู่ที่นี่ไงล่ะ” ถึงแม้ว่าพ่อกับแม่จะปลอบอย่างไรเด็กหญิงสุรางคนาก็ไม่ยอมหยุดร้องไห้ ปากก็พูดว่า “หนูจะกลับบ้าน หนูจะไปหาแม่ บ้านหนูอยู่ที่เขาแดง” นางบุญนาคและนายพิพัฒน์รู้สึกแปลกใจในคำพูดของบุตรสาวมาก เด็กหญิงสุรางคนาร้องไห้และพูดแบบนี้อยู่หลายวัน

อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนๆและลูกน้องของนายพิพัฒน์ ซึ่งตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดการศึกษา อยู่ที่อำเภอไพศาลี ได้นัดกันมาสังสรรค์ที่บ้านพักของนายพิพัฒน์ วันนั้นนางบุญนาคได้เตรียมจัดข้าวปลาอาหารไว้คอยท่า และขณะที่นางบุญนาคกำลังเตรียมอาหารอยู่นั้น นางบุญนาคได้พูดรำพึงรำพันกับตัวเองขึ้นมาว่า “จะเอาอะไรทำกับแกล้มเหล้าดีนะ” เด็กหญิงสุรางคนาได้ยินก็พูดขึ้นมาว่า “แม่ไปเอาไก่บ้านหนูไหม บ้านหนูมีไก่เยอะเลย” นางบุญนาคได้ยินดังนั้นก็ถามด้วยความสงสัยว่า “บ้านหนูที่ไหน” เด็กหญิงสุรางคนาตอบว่า “บ้านหนูที่เขา..แดงไง” ตอนนั้นนางบุญนาครู้สึกกลัวไม่กล้าฟังบุตรสาวพูดจึงเอามือปิดปากไว้ จากนั้นก็อุ้มบุตรสาวไปที่บ้านของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆกันเพราะเธอไม่กล้าอยู่ลำพังกับบุตรสาวสองคน นางบุญนาคเล่าเรื่องที่เด็กหญิงสุรางคนาพูดให้เพื่อนบ้านฟัง เพื่อนบ้านและนางบุญนาคช่วยกันซักถามเด็กหญิงสุรางคนา ซึ่งเด็กหญิงสุรางคนาก็ได้พูดให้ฟังว่า บ้านของเธออยู่ที่เขาแดง ที่บ้านของเธอมีไก่เยอะและบอกให้นางบุญนาคไปเอาไก่ที่บ้านของเธอ นางบุญนาคถามว่าเขาแดงอยู่ที่ไหน เด็กหญิงสุรางคนาก็ชี้มือไปทางหมู่บ้านตะคร้อ ตอนนั้นนางบุญนาคยังไม่ทราบว่าเขาแดงที่บุตรสาวพูดถึงนั้นอยู่ที่ไหน แต่ได้ทราบในภายหลังว่าเป็น “เขาหนองไม้แดง” ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านตะคร้อนั่นเอง

จากคำพูดและการแสดงออกของเด็กหญิงสุรางคนา ทำให้นางบุญนาคและเพื่อนบ้านสงสัยว่าเด็กหญิงสุรางคนาอาจจะจำอดีตชาติได้ เมื่อนายพิพัฒน์กลับมาจากที่ทำงานนางบุญนาคก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้นายพิพัฒน์ฟัง นายพิพัฒน์เองก็รู้สึกประหลาดใจและได้สอบถามบุตรสาวอีกครั้ง เด็กหญิงสุรางคณาก็พูดให้ฟังเหมือนเดิม และขอร้องให้นายพิพัฒน์พาเธอไปที่บ้านของเธอที่เขาแดง นายพิพัฒน์ถามว่า “บ้านหนูไปทางไหนล่ะ พ่อไปไม่ถูก”เด็กหญิงสุรางคนาชี้มือไปทางหมู่บ้านตะคร้อและบอกว่า “อยู่ทางโน้น หนูรู้จักเดี๋ยวหนูพาไป” ตอนนั้นนายพิพัฒน์และนางบุญนาคไม่ทราบว่าเขาแดงที่บุตรสาวพูดถึงนั้นอยู่ที่ไหน จึงได้แต่คอยเฝ้าสังเกตคำพูดและการแสดงออกของบุตรสาวเรื่อยมา

พาไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งแรก

นายพิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเด็กหญิงสุรางคนาร้องไห้ขอให้ตนพาไปที่บ้านในอดีตชาติของเธอบ่อยมาก จนกระทั่งตนอดสงสารไม่ได้จึงตัดสินใจพานั่งรถจักรยานยนต์ไปตามทางที่เธอบอก จนกระทั่งถึงที่หมู่บ้านตะคร้อ เมื่อถึงหมู่บ้านตะคร้อทีแรกตนคิดว่าบ้านที่เธอพูดถึงนั้น หมายถึงบ้านพักครูที่ตนและครอบครัวเคยอยู่เมื่อครั้งที่เคยเป็นครูใหญ่อยู่ที่นั่น จึงพาเด็กหญิงสุรางคนาไปที่บ้านพักครูแห่งนั่น เมื่อไปถึงที่บ้านพักครูเด็กหญิงสุรางคนาบอกกับตนว่า “ไม่ใช่ที่นี่ บ้านหนูอยู่ทางโน้น” เธอพูดพร้อมกับชี้มือบอกทาง ตอนนั้นตนรู้สึกแปลกใจและอยากพิสูจน์ความจริง จึงบอกกับบุตรสาวว่า “บ้านหนูอยู่ไหนล่ะ พ่อไปไม่ถูก” เด็กหญิงสุรางคนาบอกว่า “เดี๋ยวหนูพาไป” เด็กหญิงสุรางคนามีท่าทางดีใจมาก ชี้บอกทางตนไปจนกระทั่งถึงบริเวณที่ชาวบ้านตะคร้อเรียกว่า “คลองมะม่วงเตี้ย” ซึ่งบริเวณนั้นมีต้นมะม่วงอายุหลายร้อยปีต้นหนึ่งขึ้นอยู่ริมคลอง อยู่ห่างจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร ในตอนนั้นบริเวณนั้นยังเป็นป่ารก ถ้าหากมองจากถนนใหญ่เข้าไปจะมองไม่เห็นต้นมะม่วงต้นนั้น

นายพิพัฒน์ วันที

(ขณะดำรงค์ตำแหน่ง หัวหน้าการประถมศึกษา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์)

เมื่อไปถึงถนนใหญ่บริเวณนั้น เด็กหญิงสุรางคนาบอกกับตนว่า “พ่อรออยู่ที่นี่ก่อนนะ พ่อเข้าไปด้วยไม่ได้เดี๋ยวแม่หนูตกใจ” เด็กหญิงสุรางคนาเดินตามทางเกวียนเข้าไปสักครู่ ก็ออกมาบอกกับตนว่า “พ่อ..แม่หนูบอกว่า ให้พ่อเลือกเอาว่าจะเอาหนูหรือจะเอาสมบัติ ถ้าเอาสมบัติก็ให้มาเอาคนเดียวกลางคืนแต่หนูก็จะตาย แต่ถ้าจะเอาหนูไว้ก็ให้มาทำพิธีขอ และให้มาสร้างศาลสี่เสาให้ด้วย อันเก่ามันเล็กมีเสาเดียว” ตอนนั้นตนรู้สึกประหลาดใจในคำพูดและการกระทำของเด็กหญิงสุรางคนามาก จากนั้นเด็กหญิงสุรางคนาได้พาตนไปที่บริเวณต้นมะม่วงต้นนั้น ซึ่งต้นมะม่วงต้นนั้นตนพอทราบประวัติของมันมาบ้างแล้ว เมื่อครั้งที่ตนเป็นครูใหญ่อยู่ที่นั่น เด็กหญิงสุรางคนาพาตนเดินตามทางน้ำเล็กๆที่ชาวบ้านเรียกว่า “โกรก” และชี้มือบอกว่า “นี่ตรงนี้หนูเคยมาเล่นกับน้อง..ตรงนี้ก็ด้วย..ตรงนี้ก็ด้วย..” เธอเดินบ้างวิ่งบ้างลัดเลาะไปตามต้นไม้แถวๆนั้นด้วยท่าทางรื่นเริง พร้อมกับชี้มือบอกกับตนไปด้วย เด็กหญิงสุรางคนาพูดและแสดงออกเหมือนกับคุ้นเคยกับสถานที่บริเวณนั้นเป็นอย่างดี ทั้งๆที่เธอเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ตอนนั้นตนคิดว่าลูกสาวน่าจะจำอดีตชาติได้ แต่ก็ไม่ได้สอบถามอะไรมากนัก ตนแค่คอยเดินตามดูและคอยบอกไม่ให้เธอวิ่งไปไกลๆ เมื่อได้เวลาพอสมควรตนก็พาเด็กหญิงสุรางคนาเดินทางกลับ


ความฝันบอกเหตุ

เมื่อนางบุญนาคได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากนายพิพัฒน์ว่า เด็กหญิงสุรางคนาพานายพิพัฒน์ไปที่ต้นมะม่วงในป่าในหมู่บ้านหมู่บ้านตะคร้อ นางบุญนาคก็นึกถึงความฝันของเธอซึ่งเธอฝันก่อนที่จะตั้งท้องเด็กหญิงสุรางคนาไม่นาน เธอฝันว่าได้ไปเจอสร้อยทอง ๓ เส้นแขวนอยู่บนต้นไม้ โดยเส้นที่ใหญ่ที่สุดอยู่บนยอดไม้ ในฝันเธอเลือกที่จะปีนไปเอาเส้นที่ใหญ่ที่สุดที่แขวนอยู่บนยอดไม้ และหลังจากที่เธอฝันไม่นานเธอก็ตั้งท้องเด็กหญิงสุรางคนา ตอนนั้นนางบุญนาคคิดว่าในอดีตชาติ เด็กหญิงสุรางคนาอาจจะเคยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับต้นมะม่วงต้นนั้น ก็เป็นได้

เคยไปนอนหลับใต้ต้นมะม่วง

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นนายพิพัฒน์เองก็หวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งที่เคยเป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนบ้านตะคร้อรัฐประชาชนูทิศ และเคยไปนอนหลับอยู่ที่ใต้ต้นมะม่วงต้นนั้น นายพิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ตนได้ชวน ครูวิจาร เพื่อนครูด้วยกันไปหายิงนกกระโตก ที่บริเวณใกล้ๆกับต้นมะม่วงต้นนั้นโดยขับรถมอเตอร์ไซค์ไปคนละคัน แต่ก่อนบริเวณนั้นยังเป็นป่ารก และยังมีนกและไก่ป่าอยู่มาก เมื่อไปถึงตนกับครูวิจารก็ต่างคนต่างแยกกันไปซุ่มยิงนก เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงตนรู้สึกเหนื่อยและง่วงนอน จึงใช้ผ้าขาวม้าปูนอนที่ใต้ต้นมะม่วงต้นนั้น ตอนนั้นตนนอนหลับไปนานหลายชั่วโมง มารู้สึกตัวอีกทีก็ค่ำมืดแล้ว ไม่ทราบว่าครูวิจารที่มาด้วยกันกลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนนั้นตนรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกจึงรีบคว้ารถมอเตอร์ไซค์ขับกลับบ้านอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นตนไม่ได้คิดอะไรมาก แต่มารู้สึกสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เมื่อตอนที่เด็กหญิงสุรางคนาพูดและแสดงออกถึงอดีตชาติในครั้งแรกที่ตนพาไปที่หมู่บ้านตะคร้อ และได้ทราบจากคำพูดของเด็กหญิงสุรางคนาจากการสอบถามในภายหลังอีกว่า ในวันนั้นเองที่วิญญาณของเธอได้เกาะท้ายรถมอเตอร์ไซค์ของตนมาเกิดกับนางบุญนาคแม่ของเธอ

ความทรงจำในขณะที่ยังเป็นวิญญาณ

เด็กหญิงสุรางคนา ในขณะนั้น ได้ตอบคำถามของพ่อแม่ที่พากันสอบถามถึงเรื่องราวในอดีตชาติของเธอหลายครั้ง ซึ่งพอจะประมวลความได้ว่า ชาติก่อนเธอมีชื่อว่า “ฟ้าแตง” พ่อของเธอชื่อ “โกสีย์” แม่ของเธอชื่อ “นวลจันทร์” เธอมีน้องชายด้วย ๑ คน(ไม่บอกชื่อ) ในอดีตชาติครอบครัวของเธอพร้อมทั้งข้าทาสบริวารกำลังจะล่องเรือไปยังเมืองศรีเทพ ระหว่างทางเรือได้ชนกับโขดหินที่อยู่ใต้น้ำ ทำให้เรือล่มทุกคนที่อยู่บนเรือเสียชีวิตทั้งหมด เรือได้จมลงก้นแม่น้ำ พร้อมทรัพย์สมบัติที่บรรทุกมาในเรือด้วย เธอบอกว่าแต่ก่อนบริเวณต้นมะม่วงต้นนั้นเป็นลำน้ำกว้างใหญ่มีน้ำไหลเชี่ยว หลังจากที่เธอและครอบครัวเสียชีวิต วิญญาณของพวกเธอก็ได้สิงสถิตอยู่ที่ซากเรือนั้นมานานหลายร้อยปี ต่อมาลำน้ำบริเวณนั้นตื้นเขินขึ้นก็ได้มีต้นมะม่วงเกิดขึ้นมา ซึ่งเกิดจากลูกมะม่วงที่พวกเธอเคยใช้เป็นเสบียงอาหารระหว่างเดินทางในครั้งนั้นนั่นเอง ตอนนั้นวิญญาณของเธอและครอบครัว ได้สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงต้นนั้นต่อมาอีกหลายร้อยปี ต่อมาพ่อของเธอได้จุติไปเกิดก่อน จึงเหลือแต่เธอน้องชายและแม่ของเธอที่ยังเป็นวิญญาณสิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงต้นนั้น

ขณะที่เธอเป็นวิญญาณอยู่นั้น มีคืนหนึ่งมีคนพาหมอผีมาทำพิธีเพื่อที่จะขุดสมบัติของพวกเธอ พวกเขามากัน ๓ คน เป็นพวกกำนันมาจากหมู่บ้านอื่น ตอนนั้นหมอผีได้เสกน้ำมนต์สาดใส่หน้าแม่ของเธอจนเสียโฉมเน่าเฟะไปหมด แต่พวกเธอก็ได้ทำให้พิธีนั้นล่ม และต่อมาเธอกับแม่ของเธอก็ไปบีบคอ ๒ ในสามคนนั้นจนตาย สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเธอ ตอนที่ยังเป็นวิญญาณอยู่นั้นลำบากมาก ตอนนั้นทุกวันพระแม่ของเธอจะพาเธอกับน้องชายมารับส่วนบุญและอาหาร ที่คนทำบุญโดยไม่เจาะจงว่าจะอุทิศให้ใครที่ศาลาวัดใหญ่(ชุมพล) วันหนึ่งขณะที่พวกเธอมารอรับส่วนบุญที่วัดเหมือนเคย เธอได้เห็น นายพิพัฒน์ พ่อในปัจจุบันชาติของเธอ ยืนพูดไมโครโฟนอยู่บนศาลาวัดก็รู้สึกชอบและอยากมาเกิดกับพ่อ ต่อมาเธอเห็นพ่อมานอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วงที่เธอสิงสถิตอยู่ เธอจึงเกาะท้ายรถของพ่อไปที่บ้านพักครู แต่ตอนนั้นเธอเข้าบ้านไม่ได้เพราะมีคนตัวใหญ่ ๒ คนยืนถือกระบองอยู่หน้าบ้าน เธอจึงเข้าไปอยู่ในโพรงต้นมะขามซึ่งอยู่หน้าบ้าน ต่อมาเธอเห็นนางบุญนาคแม่ในปัจจุบันชาติของเธอตามกระรอกตัวหนึ่งออกมาที่หน้าบ้าน กระรอกตัวนั้นได้วิ่งเข้าไปในโพรงต้นมะขามที่เธออยู่ แม่ของเธอเอามือล้วงเข้ามาในโพรงไม้ แม่ล้วงมาโดนตัวของเธอแม่ตกใจคิดว่าเป็นงู จังหวะนั้นเธอก็โดดเกาะหลังแม่ของเธอแล้วก็หมดสติไป รู้สึกตัวอีกครั้งก็เกิดมาเป็นลูกของแม่ในปัจจุบันชาติแล้ว


ตัวประหลาดในโพรงไม้

เกี่ยวกับตัวประหลาดในโพรงไม้ นางบุญนาคเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เธอจะตั้งท้องเด็กหญิงสุรางคนา ตอนนั้นเธอและครอบครัวพักอยู่ที่บ้านพักครูของโรงเรียนบ้านตะคร้อฯ มีอยู่วันหนึ่ง นายแดง(พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที) บุตรชายของเธอได้ไปเล่นกรงกระรอกของ ครูทองคำ ซึ่งอยู่บ้านพักครูอีกหลังหนึ่ง ตอนนั้นแมวที่นายแดงเลี้ยงไว้จะตะปบกระรอกของครูทองคำซึ่งอยู่ในกรง ทำให้กรงหล่นกระรอกตัวนั้นได้หลุดออกไป และวิ่งหนีแมวของนายแดงเข้าไปในโพรงของรากต้นมะขามหน้าบ้านพักครู เธอเห็นดังนั้นก็ตามกระรอกไปที่โพรงไม้ ตอนนั้นเธอกลัวว่าครูทองคำจะต่อว่าเรื่องที่นายแดงทำกระรอกหลุดไป เธอจึงไปที่โพรงไม้และพยายามล้วงเข้าไปในโพรงไม้เพื่อจะจับกระรอกออกมา เธอล้วงเข้าไปข้างในและได้สัมผัสกับตัวอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่กระรอกมีลักษณะลื่นๆเธอตกใจชักมือกลับ เธอตะโกนเรียก นางเปลว คนในหมู่บ้านที่มาช่วยดูแลบุตรทั้ง ๓ คนของเธอและบอกกับนางเปลวว่าไม่รู้ตัวอะไรอยู่ในโพรงไม้ นางเปลวบอกว่างูหรือเปล่า ตอนนั้นเธอรู้สึกว่ามันไม่ใช่งู เธอล้วงเข้าไปอีกครั้งแล้วก็ชักมือกลับ เธอบอกกับนางเปลวว่ามันลื่นๆ นางเปลวบอกว่างูหรือเปล่าอย่าล้วงเข้าไปอีกเลยเดี๋ยวงูกัดตายไม่คุ้มกัน ตอนนั้นเธอก็ไม่ได้ล้วงเข้าไปอีก แต่ก็ยังนึกสงสัยอยู่ในใจ มีครั้งหนึ่งเธอถามเด็กหญิงสุรางคนาว่า “หนูมาเกิดกับแม่ตั้งแต่เมื่อไหร่” เด็กหญิงสุรางคนาตอบว่า “ก็ที่แม่ล้วงเข้าไปในโพรงต้นมะขามหน้าบ้าน ไปโดนตัวอะไรลื่นๆนั่นแหละหนู พอแม่ตกใจหนูก็กระโดดเกาะหลังแม่ แล้วก็ไม่รู้สึกตัวอีกจนกระทั่งมาเกิดเป็นลูกแม่นี่แหละ” ไม่น่าเชื่อว่าตัวประหลาดในโพรงไม้ที่ล้วงไปเจอนั้นจะเป็น วิญญาณของฟ้าแตง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนกลางวันแสกๆ แต่มาคิดอีกทีถ้าไม่ใช่แล้วเด็กหญิงสุรางคนาจะทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะไม่เคยมีใครเล่าให้เขาฟังมาก่อน นางบุญนาคกล่าว


พยายามทำให้ลืมอดีตชาติ

เมื่อเริ่มแน่ใจว่าเด็กหญิงสุรางคนาน่าจะจำอดีตชาติได้ นางบุญนาคก็เกิดความกลัวว่าบุตรสาวจะอายุสั้น กลัวว่าแม่ในอดีตชาติจะมาเอาชีวิตลูกคืน และไม่อยากให้บุตรสาวพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติอีก จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เด็กหญิงสุรางคนาลืมเรื่องราวในอดีตชาติ โดยให้กินไข่บ้าง ทำให้ผวาตกใจบ้าง แต่เด็กหญิงสุรางคนาในขณะนั้นก็ยังไม่ลืม เธอยังคงพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติของเธออีกหลายครั้ง ในขณะที่เล่นอยู่คนเดียวหรือกำลังเล่นอยู่กับพวกพี่ชายของเธอ ตอนนั้นข่าวการจำอดีตชาติได้ของเด็กหญิงสุรางคนาได้แพร่ออกไปและมีนักข่าวหนังสือพิมพ์มาติดต่อขอสัมภาษณ์แต่นางบุญนาคไม่ยอมให้สัมภาษณ์และพาบุตรสาวหนีนักข่าว ไม่ยอมให้นักข่าวได้พบ


พาไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งที่สอง

นางสุรางคนาเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่พ่อของเธอพาเธอไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งแรกก็ทิ้งช่วงนานไม่ได้ไปอีก ตอนนั้นตัวของเธอจะมีอาการป่วยเป็นไข้อยู่บ่อยๆ ส่วนแม่ของเธอก็มีอาการแปลกๆคือมีอาการเพ้อคลั่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ตอนนั้นพ่อของเธอไปเรียนต่อที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่แรกทุกคนก็คิดว่าคงเป็นเพราะแม่เครียด แต่ตอนนั้นเธอสังเกตว่าเวลาที่พาแม่ไปหาหมอแม่ของเธอจะมีอาการปกติแต่พอกลับมาบ้านก็มีอาการเพ้อคลั่งอีก และที่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่มีคนมาเยี่ยมแม่ของเธอจะอาการปกติ แต่พอคนที่มาเยี่ยมกลับไปอาการแม่ของเธอก็จะกำเริบขึ้นมาอีกเป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน ตอนนั้นพ่อของเธอฉุกคิดขึ้นมาว่าอาจจะเป็นการกระทำของแม่ในอดีตชาติของเธอ จึงได้พากันเดินทางไปที่ต้นมะม่วงต้นนั้นอีกครั้ง คราวนี้พ่อของเธอได้ขอให้ครูที่โรงเรียนบ้านตะคร้อฯช่วยทำศาลให้ เพื่อที่จะนำไปทำพิธีเชิญดวงวิญญาณของแม่และน้องในอดีตชาติของเธอได้สิงสถิตอยู่ ตามที่เธอเคยบอกไว้เมื่อตอนที่มาครั้งแรก

นายพิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเด็กหญิงสุรางคนามีอาการป่วยบ่อยมากและนางบุญนาคก็มีอาการแปลกๆ ซึ่งตนคิดว่าอาจเป็นการกระทำของแม่ในอดีตชาติของเด็กหญิงสุรางคนา เนื่องจากตอนที่ตนพาเด็กหญิงสุรางคนาไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งแรกนั้น เด็กหญิงสุรางคนาบอกกับตนว่า แม่ของเธอจะขอเธอคืนและให้ตนเลือกเอาระหว่างสมบัติกับตัวของเธอ ถ้าจะเอาเธอไว้ก็ให้มาทำพิธีขอและให้มาสร้างศาลให้ด้วย แต่หลังจากวันนั้นตนก็ไม่ได้พาบุตรสาวไปที่นั่นอีกเลย ซึ่งตนคิดว่าอาการป่วยของเด็กหญิงสุรางคนา และอาการแปลกๆของนางบุญนาคอาจเป็นเพราะการกระทำของแม่ในอดีตชาติของเด็กหญิงสุรางคนาที่อาจจะมาทวงสิ่งที่เคยบอกไว้ ตนจึงพาบุตรสาวและนางบุญนาคไปที่ต้นมะม่วงต้นนั้นอีกครั้ง โดยเชิญให้ ปู่ยง ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมแก่กล้าที่สุดคนหนึ่งในหมู่บ้านให้ช่วยทำพิธีให้ โดยมีคนที่ตนรู้จักในหมู่บ้าน ครูที่โรงเรียนบ้านตะคร้อฯ และหมอที่สถานีอนามัยไปร่วมพิธีด้วยเกือบ ๒๐ คน และตนได้ขอให้ครูที่โรงเรียนบ้านตะคร้อฯช่วยทำศาลสี่เสาขนาดใหญ่ให้ เพื่อที่จะนำไปทำพิธีเชิญดวงวิญญาณของแม่และน้องในอดีตชาติของเด็กหญิงสุรางคนามาสถิตอยู่ตามที่เธอเคยบอกไว้เมื่อตอนที่มาครั้งแรก

วันนั้นขณะที่ปู่ยงกำลังทำพิธีเชิญดวงวิญญาณขึ้นศาล ปรากฏว่ามีลมกระโชกแรงมากทั้งๆที่ก่อนนี้ยังสงบนิ่งเป็นปกติท้องฟ้าแจ่มใส ลมเริ่มกระโชกแรงขึ้นเรื่อยๆทำให้ฝุ่นฟุ้งไปทั่วบริเวณ ผู้ที่มาร่วมพิธีเริ่มหวาดๆบางคนก็ถอยหนีออกไปยืนดูอยู่ห่างๆ ทันใดนั้นนางบุญนาคซึ่งนั่งอยู่ในพิธีก็มีอาการสั่นเหมือนเจ้าเข้าแล้วล้มลงแน่นิ่งไป ขณะที่ตนกำลังจะเข้าไปพยุงยังไม่ทันเข้าไปถึงนางบุญนาคก็ลุกขึ้นมานั่งพูดจาภาษาอะไรไม่ทราบฟังไม่รู้เรื่อง บางคำก็คล้ายภาษาไทยบางคำก็ฟังดูคล้ายกับภาษาเขมร ทุกคนที่มาร่วมในพิธีรู้สึกตกใจ ปู่ยงบอกกับทุกคนว่าให้อยู่ในความสงบเพื่อที่จะฟังว่าเขาพูดอะไร ตอนนั้นทุกคนคิดว่า นางบุญนาคได้ถูกวิญญาณเข้าสิงร่าง เนื่องจากนางบุญนาคมีอาการแปลกๆและพูดภาษาที่ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง ปู่ยงซึ่งบ้านเดิมของแกอยู่ติดชายแดนไทยด้านจังหวัดอุบลราชธานีแกสามารถพูดภาษาเขมรได้และฟังรู้เรื่อง บอกว่าภาษาที่นางบุญนาคพูดมานั้นเป็นภาษาเขมร หลังจากปู่ยงได้พูดโต้ตอบกับนางบุญนาคอยู่พักใหญ่ก็หันมาบอกกับตนว่า วิญญาณที่มาเข้าสิงนางบุญนาคนี้เป็นวิญญาณของแม่ในอดีตชาติของเด็กหญิงสุรางคนา เธอชื่อ นวลจันทร์ เธอล่องเรือมากับลูกๆและสามี เรือได้มาล่มอยู่บริเวณนี้เธอสิงสถิตอยู่บริเวณนี้มาหนึ่งพันกับแปดสิบปีแล้ว ลูกสาวของเธอที่ชื่อฟ้าแตง(เด็กหญิงสุรางคนา)ได้หนีเธอไปเกิดกับนางบุญนาคและตอนนี้เธอจะเอาลูกของเธอคืน

ตอนนั้นตนบอกผ่านปู่ยงไปว่า “อย่าเอาไปเลยผมจะเลี้ยงดูเขาอย่างดี จะไม่ตี ไม่ต้องเป็นห่วง” วิญญาณในร่างของนางบุญนาคพูดเป็นภาษาเขมรออกมาอีกครั้ง ปู่ยงแปลให้ฟังว่า ถ้าจะเอาลูกของเธอไว้ก็ให้ดูแลให้ดี อย่าดุด่า หรือตีเป็นอันขาดถ้าเลี้ยงไม่ดีเธอจะเอาลูกของเธอคืน ตนก็รับปากว่า “ได้ผมจะเลี้ยงลูกคนนี้ให้ดีไม่ต้องเป็นห่วง” เมื่อตนพูดจบวิญญาณที่สิงร่างของนางบุญนาคก็พูดขึ้นมาอีกปู่ยงแปลให้ฟังว่า เธอบอกกับลูกของเธอว่าให้หมั่นมาเยี่ยมเธอบ่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ก็หาลิเกมาเล่นให้เธอดูบ้างเธอชอบดูลิเก สักครู่ร่างของนางบุญนาคก็ล้มลงตนเข้าไปปฐมพยาบาลอยู่ครู่หนึ่ง นางบุญนาคก็รู้สึกตัวและรู้สึกงงๆ ถามทุกคนว่าเกิดอะไรขึ้น ตนก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่ให้ฟัง นางบุญนาคก็ยกมือบอกว่า “อย่าได้เป็นห่วงเลยฉันจะเลี้ยงดูลูกคนนี้ให้ดีไม่ต้องเป็นห่วง” ขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น ผู้ที่มาร่วมในพิธีต่างก็ตกตะลึงและอกสั่นขวัญหายไปตามๆกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากวันนั้นนางบุญนาคก็พยายามที่จะทำให้เด็กหญิงสุรางคนาลืมอดีตชาติให้ได้ โดยพยายามบังคับให้กินไข่เกือบทุกวัน แต่เด็กหญิงสุรางคนาก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา เธอบอกว่าเธอไม่อยากกินไข่เพราะกินเข้าไปแล้วจะทำให้ลืมอดีตชาติ

พาไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งที่สาม

นางสุรางคนาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙ พ่อแม่และยายของเธอได้พาเธอไปที่หมู่บ้านตะคร้ออีกครั้ง โดยนำเครื่องเซ่นไปทำพิธีอุทิศให้ดวงวิญญาณของแม่และน้องชายในอดีตชาติของเธอ ที่ยังคงสิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงต้นนั้น ในครั้งนั้นวิญญาณของแม่ในอดีตชาติของเธอได้มาเข้าสิงยายในปัจจุบันชาติของเธอ บอกว่าคิดถึงเธอมากอยากให้เธอมาหาบ้าง ดีใจที่เห็นเธอมีครอบครัวมีความสุข จะไปอยู่ที่ไหนก็ให้มาเยี่ยมมาหาบ้าง หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นยายของเธอซึ่งเมื่อครั้งที่พ่อกับแม่ของเธอไปที่หมู่บ้านตะคร้อครั้งที่สอง และแม่ของเธอถูกวิญญาณของแม่ในอดีตชาติของเธอเข้าสิง ครั้งนั้นยายไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย ตอนนั้นยายบอกว่าไม่ค่อยเชื่อ แต่พอครั้งนี้ยายโดนกับตัวเองยายจึงเชื่อ


ความฝันประหลาด

นางสุรางคนาเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.๓-ป.๔ ตอนนั้นเธอฝันแปลกๆบ่อยมาก ในฝันเธอเห็นคนโบราณทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายนุ่งโจงกระเบนมีสายสะพายเป็นเพชรพลอยไม่ใส่เสื้อและสวมหมวกทรงแหลมๆ ส่วนผู้หญิงใส่ผ้าถุงใส่เสื้อแขนกระบอก บางครั้งเธอก็ฝันเห็นพิธีกรรมประหลาดคล้ายกับการวางเสาหลักเมือง ในฝันเธอเห็นผู้คนมากมายช่วยกันขุดหลุม ๕ หลุม เมื่อขุดเสร็จก็โยนหญิงสาวลงไปในหลุมขณะยังมีชีวิตแล้วนำเสาซึ่งมีลักษณะคล้ายเสาหลักเมืองหย่อนลงไปแล้วก็ถมดินฝังผู้หญิงทั้ง ๕ คน ให้ตายทั้งเป็น เธอได้ยินเสียงผู้หญิงเหล่านั้นร้องโหยหวนอย่างน่าเวทนา เธอยังจำภาพเหล่านั้นได้ติดตาจนถึงทุกวันนี้ เธอไม่ทราบว่าทำไมเธอจึงฝันแบบนั้นอยู่บ่อยๆ หรือเป็นเพราะครอบครัวในอดีตชาติของเธอเคยสร้างเวรกรรมแบบนั้นไว้กับคนอื่นผลกรรมจึงส่งผลให้พวกเธอต้องต้องกลายเป็นวิญญาณ สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงต้นนั้น มานานนับพันปี

นางสุรางคนากล่าวกับผู้เขียนว่า ตอนนี้เธอนึกภาพเรื่องราวในอดีตชาติไม่ออกแล้ว แต่เธอก็พอจะทราบเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ในวัยเด็กของเธอ จากคำบอกเล่าของพ่อแม่และพี่ๆของเธอที่เคยเล่าให้ฟัง แต่ตอนนี้เธอก็ยังฝันแปลกๆอยู่บ่อยๆส่วนใหญ่ฝันเห็นงูตัวใหญ่ ซึ่งเธอก็ไม่เข้าใจความหมายเหมือนกัน สำหรับที่ต้นมะม่วงต้นนั้นเธอไม่ได้ไปที่นั่นมาหลายปีมากแล้ว เธอก็อยากจะไปอยู่เหมือนกัน แต่คงต้องรอไปพร้อมกับพ่อหรือแม่ของเธอ

นางเปลวคนใกล้ชิดพูดถึงเด็กหญิงสุรางคนา

ผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์ นางเปลว คนในหมู่บ้านตะคร้อ ที่เคยเลี้ยงดูเด็กหญิงสุรางคนามาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งขณะผู้เขียนไปสัมภาษณ์เธอเมื่อพ.ศ.๒๕๔๒ ตอนนั้นเธอพักอยู่กับลูกสาวที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการใกล้ๆกับที่ทำการไปรษณีย์บางพลี

นางเปลวเล่าให้ฟังว่า ตอนที่นายพิพัฒน์เป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนบ้านตะคร้อนั้น เธอได้ไปอยู่ช่วยดูแลเลี้ยงดูลูกๆทั้งสามคนของนายพิพัฒน์และนางบุญนาค ซึ่งก็มี ส้ม(นางสุรางคนา) นายแดง(พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์) แล้วก็นายพัน(พ.ต.ท.สุทธิพันธ์) มีครั้งหนึ่งนายแดงทำกระรอกของครูข้างบ้านหลุดออกจากกรง และวิ่งหนีเข้าไปในโพลงของรากต้นมะขามหน้าบ้าน นางบุญนาคล้วงเข้าไปในโพลงไม้ไปเจออะไรลื่นๆ ก็ตกใจชักมือกลับจากนั้นก็ตะโกนบอกเธอว่า "ตัวอะไรไม่รู้อยู่ในโพลงไม้" ตนก็บอกว่า "งูหรือเปล่าระวังนะเดี๋ยวงูก็กัดตายหรอก" นางบุญนาคล้วงเข้าไปอีกครั้งแล้วก็ชักมือกลับบอกว่าไม่ใช่งูตัวอะไรก็ไม่รู้ ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าข้างในนั้นเป็นตัวอะไร จนกระทั่งนางสุรางคนาหรือเด็กหญิงสุรางคนาโตขึ้น นางบุญนาคเคยถามว่า “หนูมาเกิดกับแม่ตั้งแต่เมื่อไหร่” เด็กหญิงสุรางคนาตอบว่า “ก็ตอนที่แม่ล้วงเข้าไปในโพลงต้นมะขามหน้าบ้านนั่นแหละ ที่แม่บอกว่าตัวอะไรไม่รู้ลื่นๆ นั้นแหละหนูเอง พอแม่ตกใจชักมือกลับหนูก็กระโดดเกาะหลังแม่ จากนั้นหนูก็ไม่รู้สึกตัว รู้สึกตัวอีกทีก็มาเกิดกับแม่นี่แหละ” ต่อมานายพิพัฒน์ได้ย้ายไปอยู่ที่ตัวอำเภอไพศาลีเธอก็ตามไปอยู่ด้วย

พ.ต.ท.สุทธิพันธ์ วันที

รอง ผกก.สส. สภ.นครไทย จ.พิษณุโลก

พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที

ผกก. สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี

ตอนเด็กๆเด็กหญิงสุรางคนาพูดจาไพเราะพูดช้าๆเหมือนคนโบราณ ชอบรำและรำได้อย่างอ่อนช้อยสวยงามทั้งๆที่ไม่เคยมีใครสอนให้รำมาก่อน เธอเคยถามว่า “ทำไมหนูรำได้ล่ะ” เด็กหญิงสุรางคนาก็บอกว่า “ก็หนูรำเป็น” มีครั้งหนึ่งเด็กหญิงสุรางคนารำอยู่ในกระท่อมของเธอซึ่งพื้นเป็นฟากไม้ไผ่ เธอเป็นห่วงจึงบอกว่า “รำดีๆระวังตกร่องนะลูก” เด็กหญิงสุรางคนาก็บอกว่า “ไม่ตกหรอก ที่บ้านหนูที่เขาแดงเล็กแค่นี้(ทำมือให้ดู)ยังอยู่ได้เลย” ตอนนั้นเด็กหญิงสุรางคนาคงจะหมายความถึงศาลเสาเดียวเล็กๆที่เคยมีชาวบ้านมาสร้างไว้ให้นานมาแล้ว ที่ต้นมะม่วงต้นนั้น เด็กหญิงสุรางคนาเป็นคนสะอาดก่อนกินข้าวจะนั่งมองจานข้าวถ้าสกปรกก็จะไม่กิน

มีครั้งหนึ่งนางบุญนาคไปร่วมงานแต่งและเอาข้าวเหนียวแดงกวนห่อใส่ใบตองมาฝาก พอยื่นข้าวเหนียวแดงห่อใบตองให้เด็กหญิงสุรางคนาก็วิ่งหนีหายไป เธอกับนายแดงพี่ชายของเด็กหญิงสุรางคนาช่วยกันหา นายแดงไปพบว่าน้องสาวแอบไปนั่งร้องไห้อยู่ในตู้เหล็กสำหรับเก็บเอกสาร เธอจึงเข้าไปพูดดีๆแล้วถามว่า “เป็นอะไรลูก” เด็กหญิงสุรางคนาก็บอกว่า “หนูไม่ใช่ผีแล้วนะจะเอาใส่ใบตองมาให้หนู” เธอก็ปลอบว่า “หนูไม่ใช่ผีแล้วลูก หนูเป็นคนแล้ว” นายแดงพี่ชายอดขำไม่ได้จึงแอบไปหัวเราะข้างนอกไม่ให้เด็กหญิงสุรางคนาได้ยิน

ตอนนั้นเด็กหญิงสุรางคนาพูดถึงอดีตชาติของเธอบ่อยมาก โดยเฉพาะวันโกนวันพระจะนั่งพูดอยู่คนเดียว มีครั้งหนึ่งเด็กหญิงสุรางคนาบอกกับเธอว่า “ป้าๆหนูจะพาไปเอาเงินจะไปไหม” เธอแกล้งบอกว่า “ส้มตัวเท่านี้ จะไปเอาเงินที่ไหนล่ะลูก” เด็กหญิงสุรางคนาก็บอกว่า “มีก็แล้วกัน” เธอบอกว่า “มีก็ช่างมันเถอะลูก” เด็กหญิงสุรางคนาก็พูดขึ้นมาว่า “เอาตำรวจไปสัก ๒ คันรถนะป้า แล้วเขาจะกลัวไหม” ตอนนั้นเธอเข้าใจดีว่าเด็กหญิงสุรางคนาพูดถึงสมบัติที่อยู่บริเวณต้นมะม่วงต้นนั้น เธอก็บอกว่า “ผีที่ไหนมันกลัวตำรวจล่ะลูก” เด็กหญิงสุรางคนานั่งเงียบเหมือนคนคิดอะไรไม่ออก ตอนนั้นเวลาที่ทุกคนได้ยินเด็กหญิงสุรางคนาพูดถึงอดีตชาติ ทุกคนจะแกล้งทำเป็นไม่สนใจฟัง เธอก็จะพูดเสียงดังขึ้นๆเพื่อให้คนอื่นหันมาสนใจ

นางเปลวกล่าวว่า ตอนนี้เธอเองก็คิดถึงพวกเขาทั้ง ๓ คนอยู่เหมือนกันแต่อยู่ไกลกันเลยไม่ได้ไปเที่ยวหา ตอนนี้พวกเขาคงจะโตและมีครอบครัวกันหมดแล้ว


ต้นมะม่วงพันปี

ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านตะคร้อ ภายในบริเวณสำนักสงฆ์คลองมะม่วงเตี้ย ในปัจจุบัน มีต้นมะม่วงอายุหลายร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง ลำต้นของมันไม่ใหญ่นักประมาณ ๑ คนโอบ สูงประมาณ ๗ – ๘ เมตร นานๆมันจึงจะออกลูกให้เห็นสักครั้ง ไม่มีใครทราบว่ามันเป็นมะม่วงพันธุ์อะไร ไม่มีใครทราบว่ามันมีอายุกี่ปีกันแน่ แต่ชาวบ้านตะคร้อเห็นมันอยู่อย่างนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ต้นมะม่วงพันปี บริเวณสำนักสงฆ์ คลองมะม่วงเตี้ย

(ภาพนี้ผู้เขียนใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดา(ใช้ฟิล์ม) ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑)

ศาลที่อยู่ตรงกลางนั้นคือศาลที่นายพิพัฒน์มาสร้างไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงตรงกลางศาลเดียว

ทวดป้อม ขยันกิจ ทวดของผู้เขียนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ขณะอายุได้ ๙๗ ปี เคยเล่าให้ฟังว่า ต้นมะม่วงต้นนี้มีมานานมากแล้วตั้งแต่รุ่นแม่ของแม่ของทวดก็เห็นมันมีอยู่อย่างนั้น ที่น่าประหลาดใจอีกคือ มันไม่ค่อยจะติดดอกออกลูกให้เห็นและแทบจะไม่มีการเติบโตหรือแตกกิ่งก้านสาขาเลย ตอนที่ทวดเห็นเมื่อตอนที่ทวดยังเป็นเด็ก มันก็มีขนาดของลำต้นและมีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอดประมาณเท่าๆเดิม แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ในสมัยก่อนที่บริเวณต้นมะม่วงต้นนั้นเป็นลำคลองไม่ใหญ่นัก มีน้ำลึกประมาณหน้าอกของผู้ใหญ่ชาวบ้านเรียกลำคลองนั้นว่า “คลองมะม่วงเตี้ย” ที่เรียกแบบนี้เพราะมีต้นมะม่วงต้นนั้นขึ้นอยู่ริมตลิ่งคลองพอดี บริเวณใต้ต้นมะม่วงจะมีลานหินอยู่เป็นบริเวณกว้าง และมีทางเกวียนอยู่ข้างๆต้นมะม่วงต้นนั้น

เมื่อตอนเด็กๆผู้เขียนเองก็เคยได้เห็นลำคลองที่อยู่ติดกับต้นมะม่วงต้นนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองมะม่วงเตี้ย” อยู่เหมือนกัน ตอนนั้นลำคลองได้ตื้นเขินไปมากแล้ว บริเวณต้นมะม่วงต้นนั้นก็ยังเป็นป่ารกและมีทางเกวียนเล็กๆผ่าน แต่ปัจจุบันนี้ทางเกวียนนั้นไม่มีแล้ว เนื่องจากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีชาวบ้านและพระสงฆ์ ๒ - ๓ รูป ได้ใช้ที่บริเวณนั้นตั้งเป็นสำนักสงฆ์คลองมะม่วงเตี้ยขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นแทน ส่วนต้นมะม่วงต้นนั้นในช่วงระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา เท่าที่ผู้เขียนเคยได้เห็น มันยังคงมีขนาดและความสูงเท่าๆเดิมแทบจะไม่มีการเติบโตหรือแตกกิ่งก้านสาขาเลย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นมะม่วงต้นนั้นได้ยืนต้นตายไปเสียแล้ว เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๘ เนื่องจากมีคนนำรถแม็คโครมาขุดดินบริเวณโคนต้นมะม่วงต้นนั้น ไม่ทราบว่าด้วยวัตถุประสงค์ใด ทำให้ต้นมะม่วงพันปีต้นนั้นยืนต้นตายไปอย่างน่าเสียดาย ชาวบ้านลือกันว่าผู้ที่มีส่วนรู้เห็นคือคนที่นำรถแม็คโครไปขุดนั้นได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และเจ้าสำนักสงฆ์คลองมะม่วงเตี้ยก็มรณภาพหลังจากต้นมะม่วงต้นนั้นตายได้ไม่นาน

ภาพถ่ายล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘

จะสังเกตเห็นร่องรอยรถแม็คโครขุดด้านหลังศาล และต้นมะม่วงที่ยืนต้นตาย

ในช่วงเวลา ๕๐ ปี ที่ผ่านมามีผู้คนหลายกลุ่มพยายามจะขุดหาสมบัติที่เล่าขานกันมานาน ว่าเป็นสมบัติที่บรรทุกมากับเรือของฟ้าแตงและครอบครัว บริเวณรอบๆต้นมะม่วงต้นนี้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องมีอันเป็นไป เหมือนกับที่เด็กหญิงสุรางคนาเคยบอกกับแม่ในปัจจุบันชาติของเธอว่า เมื่อตอนที่เธอยังเป็นวิญญาณอยู่นั้น วิญญาณของเธอกับแม่ของเธอเคยไปบีบคอคนที่พยายามจะมาขุดสมบัติของเธอเสียชีวิตมาแล้วถึง ๒ คน


ลำน้ำใหญ่ในอดีต

ผู้เขียนได้สืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับลำน้ำใหญ่ในอดีต ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของนางสุรางคนา โดยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ ที่ว่าการอำเภอไพศาลี ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณสถานอยู่ เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่าที่บริเวณบ้านหนองไผ่ อำเภอไพศาลี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไพศาลีไปทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร(ห่างจากหมู่บ้านตะคร้อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๔ กิโลเมตร) มีซากของเมืองเก่าอยู่แห่งหนึ่งมีชื่อว่า “เมืองไพสาลี” หรือ “เมืองเวสาลี”

มีครูผู้หนึ่งได้รวบรวมเรื่องราวของเมืองเก่าไพสาลีแห่งนี้ไว้นานมาแล้วและได้มอบข้อมูลนั้นให้กับทางอำเภอ ซึ่งทางอำเภอก็ได้พิมพ์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อความสะดวกและเพื่อเก็บไว้ใช้ในการศึกษาและอ้างอิงต่อไป ผู้ที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ “เมืองไพสาลี” ไว้นี้ท่านมีชื่อว่า ครูบุญมี ศรีอุทิศ ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดสำโรงชัย ตั้งอยู่ที่ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลีจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๗ และย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนวัดหนองไผ่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๕ (เมื่อก่อนทั้งสองตำบลนี้ขึ้นกับอำเภอท่าตะโก) ท่านได้บันทึกข้อมูลไว้ ความตอนหนึ่งว่า

...เมืองนี้มีชื่อเรียกกันมาว่า “เมืองไพสาลี” เวลานี้เป็นเมืองร้าง...จากคำบอกเล่าของท่านผู้เฒ่าผู้แก่ได้กล่าวว่าเมืองไพสาลีนี้เคยเป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆของกรุงละโว้ ในสมัยที่ขอมยังมีอำนาจอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ สังเกตได้จากซากวัตถุโบราณเช่นพระปรางหอสมุดและพระพุทธปฏิมากร ทั้งที่แกะสลักด้วยหินหรือหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์มีลักษณะแสดงให้เห็นว่าเป็นฝีมือของขอมโบราณเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นขอมในสมัยนั้นได้รับอารยธรรมมาจากอินเดีย และขอมก็ได้เคยเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในดินแดนส่วนนี้มาก่อน ดังที่ครั้งหนึ่งมีหลักฐานในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อราว พ.ศ.๖๐๐ มีพราหมณ์หัวหน้าชาวอินเดียมาได้อภิเษกกับนางพญาขอม แต่นั้นมาชาวอินเดียก็มีอิทธิพลเหนือขอมในด้านอารยธรรมตลอดกระทั่งศิลปวิทยาเมื่อ พ.ศ.๑๑๐๐ ถึง พ.ศ.๑๔๐๐ ขอมได้มีอำนาจและเจริญรุ่งเรืองในแหลมสุวรรณภูมินี้ ตลอดทั้งในเขตแคว้นโคตรบูร แคว้นโยนก และแคว้นทวาราวดีได้ตกอยู่ในอำนาจของขอมทั้ง ๓ แคว้น มีกรุงละโว้(ลพบุรี)เป็นราชธานีภาคกลาง

เมืองไพสาลีนี้จึงได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับกรุงสยาม(สุโขทัย) นครโยนก เมืองสระหลวงหรือโอฆบุรี(พิจิตร) และเมืองศรีเทพ ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นไว้เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงละโว้ทั้งนั้น เฉพาะเมืองศรีเทพที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นเมืองที่ขอมได้สร้างขึ้น ในปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้างมีวัตถุโบราณปรักหักพังเกลื่อนกลาดอยู่เช่นเดียวกัน ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖๐ กิโลเมตรมีขนาดตัวเมืองและอายุเวลาที่สร้างใกล้เคียงกันกับเมืองไพสาลีนี้มาก และจำนวนเมืองหน้าด่านเหล่านี้ทางกรุงละโว้ก็ได้ส่งเจ้าเมืองชั้นลูกหลวงมาปกครองดูแลรักษาอยู่เรียกว่าเมืองรักษาด่านหรือเมืองหน้าด่าน

ครั้นต่อมาในพ.ศ.๑๗๘๑ ไทยเข้าตีอาณาจักรสุโขทัย...ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของขอมอีกแห่งหนึ่งได้ ไทยก็ขยายอาณาเขตต่อไปโดยเที่ยวปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยในตอนใต้ๆลงมาให้ตกอยู่ในอำนาจของไทย เช่น เมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก) เมืองชากังลาว(กำแพงเพชร) เมืองสระหลวงหรือโอฆบุรี(พิจิตร) ตลอดมาถึงเมืองไพสาลีในแคว้นไตรตรึง(นครสวรรค์) เหล่านี้เป็นต้น เจ้าผู้ครองในสมัยนั้นมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองหน้าด่านชั้นลูกหลวง ได้สู้รบทำศึกกับไทยเป็นสามารถดังมีนามยุทธภูมิอยู่ที่ทุ่งนาโบราณหรือที่เรียกว่า ”ทุ่งนาขอม” ปรากฏอยู่กระทั่งปัจจุบันนี้ สนามรบแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไพสาลีไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ผลแห่งการทำสงครามป้องกันเมือง ฝ่ายเจ้าเมืองไพสาลีเป็นฝ่ายปราชัยแก่ไทย ทำให้ราษฎรพสกนิกรชาวเขมรล้มตายลงในที่รบเป็นจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ก็ได้อพยพหนีกระเจิดกระเจิงออกจากเมือง ไพสาลีไป ทรัพย์สมบัติที่ขนไปไม่ได้ก็ได้ขุดหลุมฝั่งซ่อนไว้ในดิน ดังที่มีผู้ขุดพบวัตถุโบราณแปลกๆในสมัยต่อๆมา นับแต่นั้นมาเมืองไพสาลีนี้ก็เป็นเมืองร้าง ไม่มีผู้ใดจะเอาใจใส่ดูแล..เมืองไพสาลีคงเป็นเมืองร้างมาประมาณร่วม ๔๐๐ ปี

ลุถึงพ.ศ.๒๑๙๙ รัชสมัยสมเด็จพระนารายมหาราช...ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ ญวนกับไทยก็เริ่มชิงอำนาจกันขึ้นในเมืองเขมร นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๑๖ เป็นต้นมา ไทยต้องยกทัพไปปราบปรามจนถึงเมืองเขมร และอีกหนึ่งไทยก็ต้องพะว้าพะวังทำศึกติดพันกันกับไทยในแคว้นลานนา(เชียงใหม่) ซึ่งในขณะนั้นตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ พระองค์ทรงดำริเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือยังไม่สงบราบคาบลงได้ง่ายๆ เพราะมีพม่าคอยกีดกันและคอยหนุนหลังให้ ไทยในภาคเหนือเข้าสวามิภักดิ์ต่อพม่าเสมอมา พระองค์จึงคิดจะบูรณะซ่อมแซมเมืองร้างเก่าๆที่อยู่ใกล้ๆบริเวณแคว้นลานนาลงมา โดยปฏิสังขรณ์และสถาปนาให้มีเจ้าเมืองฝ่ายไทยไปปกครองรักษาอยู่ เป็นการคุมเชิงและป้องกันข้าศึกทางฝ่ายเหนือไว้ ฉะนั้นแล้วจึงโปรดให้เกณฑ์ชาวเมืองลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และชาวเมืองบ้านเขาแก้วพยุหะคีรี ในเขตจังหวัดนครสวรรค์เดินทางมาเพื่อบูรณะเมืองเก่าๆจนกระทั่งมาถึงเมืองไพสาลีนี้ เมื่อมาเห็นแค้วนเมืองไพสาลีนี้มีทำเลเหมาะโดยเป็นที่ราบลุ่มทำนาข้าวได้ผลดีตลอด ทั้งมีลำห้วยลำคลองมีน้ำไหลผ่านอุดมสมบูรณ์ และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ติดต่อกับเมืองลาด(เพชรบูรณ์)ทางทิศตะวันออก ติดต่อเมืองไตรตรึง(นครสวรรค์)ทางทิศตะวันตก และเป็นเขตติดต่อกับลพบุรี ทางทิศใต้เหมาะแก่การที่จะตั้งกองรักษาด่านป้องกันข้าศึกทางฝ่ายล้านนาได้ดีมาก จึงตกลงจะสร้างเมืองไพสาลีนี้ให้ถาวรต่อไป

ในขบวนกองเกณฑ์ที่เดินทางมานี้ มีทั้งเดินทางบกและทางเรือใช้เรือเป็นยานพาหนะบรรทุกเสบียงอาหาร และสิ่งของที่จะใช้ในการก่อสร้างตัวเมืองมาพร้อมกัน โดยอาศัยลำห้วยลำคลองในสมัยนั้นใช้เป็นแนวทางที่จะนำเรือเป็นพาหนะขึ้นล่องได้สะดวก ไม่ตื้นเขินเหมือนอย่างสมัยนี้พอขบวนเรือและขบวนกองเกณฑ์เดินเท้ามาถึงบ้านเสาธงชัย(คือบ้านสำโรงชัยในปัจจุบัน) น้ำในลำคลองยิ่งไหลเชี่ยวและบางตอนก็มีน้ำลึกมาก บางแห่งมีน้ำไหลโกรกน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก ในฤดูนาน้ำในลำคลองนี้ไหลเชี่ยวตลอดทั้งฤดู ส่วนในฤดูแล้งบางตอนน้ำก็แห้งจะมีน้ำขังอยู่บางตอนส่วนที่ลึกๆ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ”วัง” ดังมีชื่อเรียกกันอยู่กระทั่งทุกวันนี้ เช่น วังเตียน วังตาสุก เหมืองเรือ วังสำโรง คลองรัก วังทอง วังดาษ วังกรด วังช้างข้าม วังตะหลุก วังตาเถียร วังมะเดื่อ วังข่อย พอถึงวังห้วยใหญ่ก็แยกเป็นลำน้ำสองสาย สายหนึ่งแยกเข้าสู่วังล้อมได้มาจอดเรือรวมกันอยู่ที่อู่เรือดังปรากฏชื่อเรียกกันว่า ”อู่เรือ”ติดปากชาวบ้านอยู่กระทั่งทุกวันนี้ สายหนึ่งขึ้นสู่ทิศตะวันออกไปบ้านวังกระโดนบ้านตะคร้อในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาหลักฐานทั้ง จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบของกรมศิลปากร จากเรื่องราวที่ ครูบุญมี ศรีอุทิศ ได้จดบันทึกไว้ และจากเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ นางสุรางคนา สันนิษฐานว่า ในอดีตชาตินางสุรางคนาอาจจะเคยมีชีวิตอยู่ในสมัยของอาณาจักรทวาราวดี คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมื่อครั้งที่ขอมยังเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้ ส่วนเรื่องราวของลำน้ำใหญ่ที่เด็กหญิงสุรางคนาในขณะนั้นพูดถึงก็มีหลักฐานว่าน่าจะมีอยู่จริง ถ้าลำน้ำใหญ่ในอดีตมีอยู่จริง ในอดีตชาติฟ้าแตงและครอบครัวของเธอเคยล่องเรือผ่านบริเวณนี้จริง แสดงว่าบริเวณหมู่บ้านตะคร้อในยุคสมัยนั้นน่าจะเคยถูกใช้เป็นเส้นทางติดต่อสัญจรกันทั้งทางน้ำและทางบก ระหว่างเมืองต่างๆในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะการติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่าง เมืองศรีเทพ กับ เมืองไพศาลี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน อยู่ในแนวระนาบเดียวกัน และอยู่ห่างกันเพียง ๖๐ กิโลเมตรเท่านั้น

ภาพถ่ายติดวิญญาณ

ด้วยความที่อยากจะทราบว่าที่ศาลบริเวณต้นมะม่วงแห่งนี้จะยังมีวิญญาณของแม่และน้องชายของ "ฟ้าแตง" ที่ เด็กหญิงสุรางคนา ในขณะนั้นพูดถึงสิงสถิตอยู่หรือไม่ ดังนั้นเกือบทุกครั้งที่ผู้เขียนได้กลับไปยังบ้านเกิดที่หมู่บ้านตะคร้อ ผู้เขียนมักจะแวะไปที่ศาลแห่งนี้เกือบทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะซื้อขนมหรือของกินไปบอกอุทิศให้ดวงวิญญาณที่อาจจะยังสถิตอยู่ ณ ที่ศาลแห่งนั้นแล้ว ผู้เขียนยังได้ถ่ายภาพสถานที่แห่งนี้ไว้เกือบจะทุกครั้งเพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสถานที่แห่งนี้เอาไว้ ที่สำคัญมีความหวังอยู่ในใจลึกๆว่าการถ่ายภาพนั้นน่าจะติดภาพอะไรที่น่าสนใจมาบ้าง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ในจำนวนนับสิบภาพที่ผู้เขียนถ่ายไว้นั้น มีภาพถ่าย ๒ ภาพที่น่าสนใจ

ในชีวิตที่ผ่านมากว่า ๓๐ ปี ของผู้เขียนเคยได้พบเห็นภาพถ่ายประหลาด ภาพถ่ายติดวิญญาณ ตามสื่อต่างๆมาก็มาก บางภาพก็ชัดเจนว่าเกิดจากการแต่งภาพซึ่งสามารถพิสูจน์ได้โดยผู้เชี่ยวชาญ บางภาพเป็นการจัดฉากด้วยความจงใจของผู้ถ่าย บางภาพสามารถอธิบายได้โดยหลักวิทยาศาสตร์ แต่บางภาพก็ยากที่จะอธิบาย ซึ่งหลายๆภาพผู้ที่กดชัตเตอร์คือผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าภาพนั้นคือภาพอะไรกันแน่ ถูกจัดฉากไว้หรือไม่ มีการแต่งภาพหรือไม่ แต่ถ้าหากผู้เชี่ยวชาญและหลักการทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ ก็คงจะเป็นภาพปริศนาที่น่าสนใจศึกษา เหมือนอย่างภาพถ่ายต่อไปนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพถ่ายที่ผู้เขียนเป็นผู้กดชัตเตอร์ถ่ายด้วยตัวเอง ด้วยอุปกรณ์การถ่ายภาพที่แตกต่างกันและถ่ายต่างเวลากัน แล้วติดภาพที่น่าสนใจติดมาด้วย

ภาพที่ ๑ : มีภาพคล้ายใบหน้าของเด็กและผู้หญิงอยู่ในศาล

(ดูภาพขยายด้านล่าง)

ก่อนถ่ายผู้เขียนพูดขึ้นด้วยความตั้งใจว่าถ้าวิญญาณของพวกเขายังสิงสถิตอยู่ที่ศาลแห่งนี้ก็ขอให้ถ่ายภาพติดมาด้วย

ภาพที่ ๒ : ไม่มีภาพใบหน้าของเด็ก

(ดูภาพขยายด้านล่าง)

ทั้ง ๒ ภาพนี้ผู้เขียนถ่ายด้วยกล้อง ดิจิตอล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖

ขยายจากภาพที่ ๑

ขยายจากภาพที่ ๒

สังเกตในวงกลมใหญ่สีแดงมีภาพคล้ายใบหน้าของเด็กติดมาด้วย

ส่วนในวงกลมเล็กมีใบหน้าด้านข้างของผู้หญิงอยู่ด้วย

เปรียบเทียบกับภาพขยายด้านขวาซึ่งถ่ายห่างกันไม่กี่วินาที(สังเกตสุนัขที่อยู่ข้างศาล)

ซึ่งถ้าเป็นใบหน้าของตุ๊กตาหรือวัตถุอื่นๆภาพที่ ๒ ก็น่าจะติดใบหน้านั้นมาด้วย

อีกภาพหนึ่งผู้เขียนถ่ายด้วยกล้องของโทรศัพท์มือถือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ หลังจากที่มีคนนำรถแม็คโครไปขุดดินที่บริเวณใกล้ๆกับต้นมะม่วงด้านหลังศาล ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ขุดมีความประสงค์ใดกันแน่ จะเกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะขุดหาสมบัติของ "ฟ้าแตง" และครอบครัวหรือไม่ แต่ที่แน่ๆชาวบ้านบอกกับผู้เขียนว่า ผู้ที่มีส่วนรู้เห็นคือคนที่นำรถแม็คโครไปขุดนั้นได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และเจ้าสำนักสงฆ์คลองมะม่วงเตี้ยที่อนุญาตให้คนเข้ามาขุดก็มรณภาพ หลังจากต้นมะม่วงต้นนั้นยืนต้นตายได้ไม่นาน

ภาพที่ ๓ : มีภาพคล้ายใบหน้าส่วนหัวและลำตัวที่โปร่งแสง

(ดูภาพขยายด้านล่าง)

ภาพที่ ๔ : ไม่มีภาพใบหน้าส่วนหัวและลำตัวอยู่แล้ว

(ดูภาพขยายด้านล่าง)

ขยายจากภาพที่ ๓

ขยายจากภาพที่ ๔

จะสังเกตเห็นภาพเหมือนใบหน้าส่วนหัวและลำตัวที่โปร่งแสงสามารถมองเห็นผลส้มและจานที่อยู่ด้านหลังได้

เปรียบเทียบกับภาพขยายด้านขวาซึ่งถ่ายห่างกันไม่กี่วินาที

สำหรับภาพถ่ายที่น่าสนใจทั้ง ๒ ภาพนี้ ผู้เขียนยังไม่เคยนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์ที่ไหนตรวสอบมาก่อน ถ้าหากผู้รู้ท่านใดสนใจผู้เขียนก็ยินดีที่จะร่วมพิสูจน์อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนเองตระหนักดีว่าท่านผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์ท่านอาจจะมีคำอธิบาย เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาพลักษณะเหล่านี้ ได้ดีกว่าคำอธิบายที่ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้กดชัตเตอร์มีให้กับตัวเองก็เป็นได้

ภาพที่ ๕ : ภาพที่ดูคล้ายผู้หญิงนั่งท้าวแขนไปด้านหลัง

(ภาพนี้ผู้เขียนใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดา(ใช้ฟิล์ม) ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑)

จะสังเกตเห็นว่ามีบางส่วนล้ำเข้าไปฝาผนังของศาล

ภาพนี้อาจเป็นแค่ช่องว่างระหว่างใบไม้กิ่งไม้ธรรมดา หรือเป็นภาพติดวิญญาณ ลองพิจารณาดูนะครับ

(ดูภาพขยายด้านล่าง)

ขยายจากภาพที่ ๕

คุณสุรางคนา วันที (ถ่ายเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552)