คำขยายความ - ป

คำขยายความหมวดอักษร

ปรมัตถธรรม สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด , สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ตามหลักอภิธรรมว่ามี ๔ คือ จิต(๘๙) เจตสิก(๕๒)

รูป(๒๘) นิพพาน(๒) ในที่นี้ว่ามี ๕๗ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒

ปรโลก ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ โลกหน้า หรือภพภูมิหน้าที่จะได้ไปเกิดจะได้เสวยคู่กับ อิธโลก คือ โลกนี้ , โลกอื่น หรือภพภูมิ

อื่นๆ ทั้ง ๓๐ ภูมิ นอกเหนือจากโลกมนุษย์ หรือมนุษย์ภูมิ(ดู ภพ ๓*) ส่วนใหญ่ที่พบ ใช้ในความหมาย อันหมายถึงโลกหน้า

ปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ

จึงเกิดมีขึ้น ปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุนั้น ๆ ว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี และแสดงความดับของเหตุนั้น ๆ ว่า เพราะสิ่งนี้ดับ

สิ่งนี้จึงดับ , ปฏิจจสมุปบาททำให้เกิดความเห็นถูกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุปัจจัยจึง

เกิดมีขึ้นและเมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไป ไม่มีแก่นสารตัวตนให้ยึดถือได้ ดังจะพิจารณาได้จากปฏิจจสมุปบาททั้ง ๔ แบบ

ดังนี้ คือ

๑. ปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมสายเกิด(สมุทัยวาร)

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี

เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี

เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี

เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี

เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี

เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนา จึงมี

เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี

เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี

เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพ จึงมี

เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติ จึงมี

เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะฯ จึงมี

๒. ปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมสายเกิด(สมุทัยวาร)

เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะฯ จึงมี

เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติ จึงมี

เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพ จึงมี

เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี

เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี

เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนา จึงมี

เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี

เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี

เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี

เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี

๓. ปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมสายดับ(นิโรธวาร)

เพราะ อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

เพราะ สังขารดับ ดับ วิญญาณ จึงดับ

เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะ เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

เพราะ ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

เพราะ อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

เพราะ ภพ ดับ ชาติ จึงดับ

เพราะ ชาติ ดับ ชรา มรณะฯ จึงดับ

๔. ปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมสายดับ(นิโรธวาร)

เพราะ ชาติ ดับ ชรา มรณะฯ จึงดับ

เพราะ ภพ ดับ ชาติ จึงดับ

เพราะ อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

เพราะ ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

เพราะ เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

เพราะ สังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ

เพราะ อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

(ชรา มรณะฯ คือ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส)

อวิชชา คือ ความมืดมนในดวงปัญญา ไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ,ไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ว่าชรามรณะ โสกะ

ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส นี้คือทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทแบบสมุทัยวาร นี้คือเหตุแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทแบบ

นิโรธวาร นี้คือความดับทุกข์ มรรค มีองค์ ๘ นี้คือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์

สังขาร คือ เจตนา หรือ เจตสิก ที่ปรุงแต่ง กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ให้ส่ายไปมาใน กุศล อกุศล และ อัพยากฤต

หรือ ปุญญาภิสังขาร(สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี) อปุญญาภิสังขาร(สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว) อาเนญชาภิ

สังขาร(สภาพที่ปรุงแต่งกรรมไม่ดีไม่ชั่ว)

วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ หรือ ความรับรู้ หมายรู้ เข้าใจความหมายใน เสียง รูป กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์

ที่มากระทบ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกชื่อตามอายตนะที่เกิดว่า จักขุวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ฆานวิญญาณ

โสตวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนวิญญาณ หรือ วิญญาณ ๖

นามรูป คือ นามและรูป ส่วนที่เป็น นาม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร(เจตนา) วิญญาณ(ผัสสะ มนสิการ) ส่วนที่เป็น รูป

ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และ อุปาทายรูป ๒๔ (ยกเว้นสัตว์ที่มีกำเนิดในอรูปภูมิ มีแต่นามไม่มีรูป)

สฬายตนะ คือ อายตนะภายในทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สัตว์บางพวกมีอายตนะไม่ครบทั้ง ๖)

ผัสสะ คือ คือความถูกต้อง ความกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอก กับอายตนะภายใน ได้แก่ ผัสสะ ๖ คือ จักขุสัมผัส

(รูปกระทบตา) โสตสัมผัส(เสียงกระทบหู) ฆานสัมผัส(กลิ่นกระทบจมูก) ชิวหาสัมผัส(รสกระทบลิ้น) กายสัมผัส

(สัมผัสถูกต้องกาย) มโนสัมผัส(ธรรมารมณ์กระทบใจ)

เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ ทั้งทางกายและทางใจ ที่สืบเนื่องมาจากผัสสะทั้ง ๖ ได้แก่ เวทนา ๓ คือ ทุกขเวทนา สุข

เวทนา อทุกขมสุขเวทนา , เวทนา ๕ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา โทมนัสเวทนา โสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

หรือ อทุกขมสุขเวทนา(ดู เวทนา*)

ตัณหา คือความทะยานอยาก ความหวังความปรารถนา ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ,

ตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา สัทตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา และ ธัมมตัณหา(ดู ตัณหา*)

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น ถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส ได้แก่ อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ

สร้างตัวตนเงื่อนไขขึ้นเองว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างนั้นอย่างนี้คือสิ่งที่ตนชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ

ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นความเชื่อที่ผิดที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้นอันจะนำพาตนเองและผู้อื่นให้

ประสบทุกข์ สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและวัตรปฏิบัติที่ผิดที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้นอันจะนำพาตนเอง

และผู้อื่นให้ประสบทุกข์ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเราของเขา

ภพ คือ สภาวะ สภาพ ลักษณะของความมีอยู่ หรือแดนเกิดของหมู่สัตว์ ได้แก่ ภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

(ดูภพ ๓*)

ชาติ คือ ความเกิด , ความเกิดพร้อม , ความหยั่งลง , ความบังเกิด , ความบังเกิดเฉพาะ , ความปรากฏแห่งขันธ์ ,

ความได้อายตนะ

ชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาสา ชรา คือความแก่ ความคร่ำคร่า ความเสื่อมแห่งอินทรีย์ มรณะ คือความตาย

ความทำลายไป ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่งชีวิตตินทรีย์ โสกะ ความเศร้าโศก

ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน ทุกขะ ความทุกข์ทางกาย โทมนัส ความทุกข์ทางใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ

*** ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ปรากฏความว่า ปฏิจจสมุปบาทมีสองแบบ คือ แบบอนุโลม คือแบบอนุโลมสายเกิด(สมุทัยวาร)ในที่นี้ และ แบบปฏิโลม คือแบบอนุโลมสายดับ(นิโรธวาร)ในที่นี้ (การแสดงปฏิจจสมุปบาทเท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกบางแห่งแสดงครบทั้ง 12 หัวข้อ บางแห่งก็แสดงไม่ครบ เช่น เริ่มต้นที่ตัณหา ที่เวทนา ที่ชาติ หรือที่อื่นๆใน 12 หัวข้อ แล้วชักไปหาต้นหรือชักไปหาปลาย โดยแสดงแบบสมุทัยวารบ้างแบบนิโรธวารบ้าง หรือเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆแล้วชักเข้ามาพิจารณาตามหลักปฏิจจส-มุปบาท ในที่นี้ได้จำแนกปฏิจจสมุปบาทไว้เป็น ๔ แบบ เพื่อความสะดวกในการพิจารณา)

ปฏิสนธิภัย ภัยอันเกิดแต่การถือกำเนิดขึ้นอีก

ปฏิสัมภิทาญาณ มีปัญญาความรู้แตกฉานใน ๔ อย่าง คือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาความรู้แตกฉานในอรรถ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาความรู้แตกฉานในธรรม

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาความรู้แตกฉานในศัพท์ ภาษา ถ้อยคำบัญญัติ

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีไหวพริบปฏิภาณ ในการนำปัญญาความรู้อันแตกฉาน

ที่มีอยู่ มาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันเหตุการณ์

ปฏิสนธิจิต จิตที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นสืบต่อไปในภพใหม่

ปริญญา ๓ การกำหนดรู้ , การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน มี ๓ คือ

๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก

๒. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณาเห็นจริง

๓. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นทำได้ละได้

ปริโยสาน สุดท้าย , ที่สุดโดยรอบ , จบ , จบอย่างสมบูรณ์ (ในที่นี้หมายถึงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเทศนาถวาย)

ปัจเจกพุทธเจ้า(ปัจเจกพุทธะ) พระพุทธเจ้าซึ่งตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น

ปัจฉิมภวิกชาติ(ปัจฉิมชาติ) ชาติภพสุดท้าย ไม่มีชาติใหม่หลังจากนี้อีกเพราะดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว

ปัญจขันธ์(เบญจขันธ์,ขันธ์ ๕) ขันธ์ คือ กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม ส่วนที่ประกอบกัน

ขึ้น ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต มี ๕ ขันธ์ ได้แก่

๑. รูปขันธ์ คือ กองแห่งรูปธรรม,ส่วนประกอบที่ประชุมกันเข้าเป็นรูป ได้แก่ มหา

ภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็น รูป ๒๘

๒. เวทนาขันธ์ คือ กองแห่งเวทนา,ส่วนประกอบที่ประชุมกันเข้าเป็นเวทนา คือ

ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ เวทนา ๓ หรือเวทนา ๕

๓. สัญญาขันธ์ คือ กองแห่งสัญญา,ส่วนประกอบที่ประชุมกันเข้าเป็นสัญญา คือ

ความเก็บไว้บันทึกไว้ กำหนดหมายไว้ในใจ ได้แก่ ความกำหนดหมาย อารมณ์

๖ และความหมายของสมมุติบัญญัติ ไว้ในใจ

๔. สังขารขันธ์ คือ กองแห่งสังขาร,ส่วนประกอบที่ประชุมกันเข้าทำให้เกิดเจตนา

หรือเจตสิกที่ปรุงแต่งให้ สังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ส่าย

ไปมาในกุศลเจตนา อกุศลเจตนา และอุเบกขาเจตนา

๕. วิญญาณขันธ์ คือ กองแห่งวิญญาณ , ส่วนประกอบที่ประชุมกันเข้าเป็น วิญ

ญาณ คือ ความรับรู้ หมายรู้ เข้าใจความหมายของอายตนะภายนอก ที่มา

กระทบอายตนะภายใน ได้แก่ วิญญาณ ๖ มี จักขุวิญญาณ เป็นต้น

*** ทั้ง ๕ ขันธ์นี้สามารถสงเคราะห์ลงได้เป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็น รูปธรรม ได้แก่รูปขันธ์ ส่วนที่เป็น นามธรรม ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ และสงเคราะห์ลงได้ในปรมัตถธรรม ๔ คือ วิญญาณขันธ์ เป็น จิต เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์เป็น เจตสิก รูปขันธ์ เป็น รูป ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุติ คือพ้นจากขันธ์ ๕

ปัญจวัคคี พระสงฆ์ ๕ รูปแรกของพุทธศาสนา และเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาจาก พระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก

(ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ