เด็กชายวัชระ ใจเร็ว

ข้อมูลเบื้องต้น

กรณีของ เด็กชายวัชระ ใจเร็ว

ปัจจุบันชาติ

ชื่อ-นามสกุล : เด็กชายวัชระ ใจเร็ว ชื่อเล่น : ขวด

วันเดือนปีเกิด : ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒

ความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด : มีปานแดงเป็นจุดเล็กๆที่บริเวณริมฝีปากด้านล่าง

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๑๓/๔ หมู่ ๔ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : ๒ คนคือ

๑. เด็กหญิงเบญจรัตน์ ใจเร็ว

๒. เด็กชายวัชระ ใจเร็ว

อดีตชาติ

ชื่อ-นามสกุล : นายคนอง พุทธรักษา ชื่อเล่น : นอง

วันเดือนปีเกิด : -

วันเดือนปีที่เสียชีวิต : ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ขณะอายุได้ : -

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๒๗๔ หมู่ ๓ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

สาเหตุที่เสียชีวิต : ถูกฆาตกรรม

สถานที่เสียชีวิต : ในงานแต่งงานของเพื่อนบ้าน

พี่น้องร่วมบิดามารดา : ๙ คนคือ

๑. นายประเทือง พุทธรักษา ๖. นายนวล พุทธรักษา

๒. นางสาวสายทิ้ง พุทธรักษา ๗. นางแตงกวา ใจเร็ว

๓. นางแตงไทย บรรทุกกรรม ๘. นางหนูแดง ไผ่ประการ

๔. เด็กชายสวาท พุทธรักษา ๙. นายจำรัส พุทธรักษา

๕. นายคนอง พุทธรักษา

เด็กชายวัชระ ใจเร็ว จำอดีตชาติได้

เด็กที่จำอดีตชาติได้ในหมู่บ้านของผู้เขียนรายนี้ชื่อว่า เด็กชายวัชระ ใจเร็ว เป็นบุตรของ นายลั่นทม และ นางปุ๊ ใจเร็ว อยู่บ้านเลขที่ ๑๓/๔ หมู่ ๔ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ เด็กชายวัชระเกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๒ เขาอายุได้ ๑๐ ขวบ กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๒ โรงเรียนบ้านตะคร้อรัฐประชาชนูทิศ

เด็กชายวัชระ จำอดีตชาติได้ว่า ชาติก่อนเขามีชื่อว่า นายคนอง พุทธรักษา เป็นบุตรของ นายธรรม และ นางติว พุทธรักษา เขาถูกคนร้ายซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันยิงเสียชีวิต เมื่อหลายปีก่อน

สำหรับข้อมูลการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายวัชระนี้ เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ซึ่งการนำเสนอข้อมูลบางส่วนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องได้ ผู้เขียนจึงขอสงวนนามของผู้เกี่ยวข้องและข้อมูลบางส่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใด

นายคนอง พุทธรักษา เป็นบุตรคนที่ ๕ ของ นางติวและนายธรรม พุทธรักษา เขามีภรรยาชื่อ นางจบ สวัสดี มีบุตรด้วยกัน ๑ คนชื่อ เด็กชายศักดิ์ดา พุทธรักษา อยู่บ้านเลขที่ ๒๗๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ขณะยังมีชีวิต นายคนอง บุตรชายมีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม ตอนเย็นของทุกวัน นายคนองจะหาบปี๊บไปตามบ้านญาติๆและบ้านของเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อเก็บข้าวสุกและเศษอาหารที่เหลือทิ้งตามบ้านเรือน นำไปเป็นอาหารให้กับหมูที่เขาเลี้ยงไว้ บางวันเขาก็ออกไปตามลำห้วยเพื่อเก็บผักบุ้งมาต้มให้หมูกิน เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายอยู่กับภรรยาและบุตรชายของเขา

เหตุการณ์ในวันที่นายคนองเสียชีวิต

นางติวเล่าให้ฟังว่า ตอนเช้าของวันนั้น นายคนองบุตรชายของตนได้ไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนบ้าน เมื่อเข้าไปในงานเขาได้ตั้งวงดื่มสุราร่วมกับคนรู้จักที่มาช่วยงานแต่งงาน หลายชั่วโมงต่อมาไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด นายคนองเกิดมีปากเสียงกับวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติของคู่บ่าวสาว หลังจากนั้นไม่นานก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด นายคนองถูกวัยรุ่นคนนั้นจ่อยิงจากด้านหลังที่ศีรษะในระยะเผาขนขณะนั่งดื่มสุรา กระสุนถูกบริเวณศีรษะด้านหลังเสียชีวิตทันที หลังจากยิงนายคนองแล้ววัยรุ่นใจร้อนคนนั้นก็ได้วิ่งหนีไป นายคนองถูกเด็กวัยรุ่นใจร้อนในหมู่บ้านจ่อยิงเสียชีวิตคาวงสุรา กลางงานแต่งงานญาติของคนร้ายเอง สาเหตุเพียงเพราะเกิดพูดขัดใจกัน

นายคนองเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งขณะนั้นนางปุ๊ แม่ของเด็กชายวัชระตั้งท้องเด็กชายวัชระได้ ๗ เดือนแล้ว หลังจากนายคนองเสียชีวิตได้ ๒ เดือน เด็กชายวัชระก็คลอดออกมาพร้อมกับรอยแผลเป็นตั้งแต่แรกเกิด ที่บริเวณศีรษะด้านหลัง คล้ายกันกับรอยแผลที่นายคนองถูกยิงจนเสียชีวิต แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครทราบว่าเด็กชายวัชระเป็นนายคนองสืบชาติมาเกิด

พูดถึงความทรงจำในอดีตชาติ

นางเหยย จันทร์สว่าง ยายของเด็กชายวัชระเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่เด็กชายวัชระอายุประมาณ ๒ ขวบเริ่มพูดได้ วันหนึ่งเด็กชายวัชระเห็นคนหาบปี๊บข้าวสุกและเศษอาหารเพื่อนำไปเลี้ยงหมูผ่านหน้าบ้าน เขาบอกกับนางเหยย ว่า

เด็กชายวัชระ : “แม่ใหญ่ ๆ ผมก็เคยเลี้ยงหมู”

นางเหยย : “เคยเลี้ยงที่ไหน ไม่เห็นจะเคยเลี้ยงเลย”

เด็กชายวัชระ : “จริงๆ นะผมเคยเลี้ยง ผมเคยมาหาบข้าวให้หมูด้วย”

นางเหยย : “หนูเคยไปหาบที่ไหน”

เด็กชายวัชระ : “แถวๆนี้แหละ บางทีก็ไปเก็บผักบุ้งที่ห้วยมาให้หมู แม่ใหญ่ ผมเลี้ยงหมูหลายตัวนะ”

นางเหยย : “หนูเลี้ยงที่ไหน”

เด็กชายวัชระ : “หนองโป่ง” เด็กชายวัชระพูดพร้อมกับชี้มือไปทางทิศตะวันตก ของบ้านนางเหยย

(ต่อมาภายหลังจึงทราบว่าเขาชี้ไปทางบ้านของนายคนอง)

นางเหยย ผู้เป็นยายรู้สึกสงสัยในคำพูดของหลานชาย จึงเล่าเรื่องนี้ให้นางปุ๊แม่ของเด็กชายวัชระฟัง นางเหยยกับนางปุ๊เกิดความสงสัยว่า เด็กชายวัชระจะจำอดีตชาติได้ จึงพยายามสอบถามเขาว่าเป็นใครมาเกิด ชื่ออะไร แต่เขาไม่ยอมตอบ ตอนนั้นนางปุ๊นึกขึ้นมาได้ว่า แต่ก่อนนายคนองบุตรชายของนางติวที่เสียชีวิตไปแล้วเคยมาหาเศษอาหารแถวบ้านของเธอเพื่อนำไปเลี้ยงหมู และเขาจะหาบปี๊บข้าวหมูผ่านบ้านของเธอเป็นประจำเกือบทุกวัน ตอนนั้นนางปุ๊เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้น ยังไม่ปักใจเชื่อว่าบุตรชายจะจำอดีตชาติได้

หลังจากที่พูดให้นางเหยยฟังในครั้งนั้น เด็กชายวัชระก็พูดถึงอดีตชาติของเขาอีกหลายครั้งขณะเล่นกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาที่มีเรื่องทะเลาะ ถกเถียงกันกับพวกเพื่อนๆ เขามักจะบอกว่าตัวเขาคือ นายคนอง พ่อชื่อธรรม แม่ชื่อติว เพื่อนๆของเด็กชายวัชระเคยเล่าเรื่องนี้ให้นางเหยยฟัง แต่เมื่อนางเหยยสอบถามเขาจะไม่ยอมตอบอะไร ข่าวการจำอดีตชาติได้ของ เด็กชายวัชระแพ่รออกไป นางติวแม่ของนายคนองซึ่งบ้านอยู่ใกล้ๆกับบ้านของนางปุ๊ก็พอจะทราบเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า เด็กชายวัชระคือนายคนองสืบชาติมาเกิดเนื่องจากเขาเป็นเด็กที่ไม่ค่อยพูด

พบกับแม่ในอดีตชาติ

วันหนึ่ง นางติว ได้ไปเยี่ยมอาการป่วยของ นายเอี้ยง คงสะโต น้องชายซึ่งบ้านอยู่ติดกันกับบ้านของนางเหยย วันนั้นนางเหยยได้เล่าเรื่องที่เด็กชายวัชระพูดถึงอดีตชาติให้นางติวฟัง นางติวรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกและอยากจะพบเด็กชายวัชระ นางเหยยจึงเรียกเด็กชายวัชระให้มาพบกับนางติว เมื่อมาถึงเด็กชายวัชระเดินเข้าไปนั่งที่ตักของนางติวด้วยความคุ้นเคย ทั้งๆที่เพิ่งเคยพบกันเป็นครั้งแรก นางติวมีความรู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกน้ำตาคลอหน่วย นางติวถามว่า “หนูเกิดมาแล้วหรือลูก” เด็กชายวัชระตอบว่า “ครับ..ผมมาเกิดแล้วแม่” นางติวย้ำว่า “แน่รึ” เด็กชายวัชระตอบว่า “แน่สิ ผมนี่แหละไอ้นองละแม่” น้ำตาแห่งความปิติไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว นางติวกอดเด็กชายวัชระไว้ในอ้อมอก เด็กชายวัชระก็ได้แต่แหงนมอง นางติวพูดขึ้นมาว่า “ถ้าหนูเป็นไอ้นองลูกแม่จริง โตขึ้นหนูอย่าทิ้งแม่นะ” เด็กชายวัชระตอบว่า “ผมไม่ทิ้งแม่หรอก” เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่นางติวได้ทราบเรื่องจากคำพูดของเด็กชายวัชระเอง ด้วยความตื่นตันใจวันนั้นนางติวจึงไม่ได้สอบถามอะไรมากนัก

ด.ช.วัชระ,นางติว (แม่ในอดีตชาติ)

พิสูจน์ความทรงจำในอดีตชาติ

นางติวเล่าให้ฟังว่า ตนเคยทดลองพิสูจน์ว่าเด็กชายวัชระคือนายคนองบุตรชายของตนสืบชาติมาเกิดจริงหรือไม่หลายครั้ง เช่น ทดลองให้เด็กชายวัชระบอกชื่อพี่น้องของนายคนองทั้งหมด เขาก็สามารถบอกได้อย่างถูกต้อง โดยเรียกชื่อพี่น้องแต่ละคนเหมือนกับที่นายคนองเคยใช้เรียกเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ คือเรียกนายประเทืองพี่ชายคนโตว่า “ไอ้เณร” ซึ่งมีแต่นายคนองกับนายนวลน้องชายเท่านั้นที่เรียกแบบนี้ เรียกนางสาวสายทิ้งว่า “ป้าทิ้ง” (เรียกให้บุตรชายเรียกตาม) เรียกนางแตงไทยว่า “ป้าไทย” เรียกนางแตงกวาว่า “อาแอ๋ว” เรียกนางหนูแดงว่า “อาแดง” และเรียกนายจำรัสน้องชายฅนสุดท้องว่า “ไอ้จ๊อด” เหมือนอย่างที่นายคะนองเคยเรียก นอกจากนี้เขายัง บอกด้วยว่าภรรยาของเขาชื่อ “นางจบ” มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คนชื่อ “โจ”

นางจบ (ภรรยานายคนอง) ด.ช.โจ (ลูกชายนายคนอง)

เขาทราบสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่เขาไม่เคยพบหรือรู้จักกับลูกๆของตนและภรรยารวมทั้งบุตรชายของนายคนองมาก่อน มีครั้งหนึ่งตนและนายถึงเพื่อนบ้านทดลองให้เด็กชายวัชระชี้รูปถ่าย ๓ รูป ซึ่งใส่กรอบแขวนไว้บนประตูทางเข้าห้องนอนบนบ้านของตน ซึ่งมีรูปถ่ายของคนอื่น ๒ รูป และมีรูปถ่ายของนายคนองขณะบวชเป็นพระอยู่ตรงกลาง เด็กชายวัชระก็สามารถชี้รูปถ่ายของนายคนองได้ถูกต้อง และบอกได้ด้วยว่าว่ารูปที่แขวนอยู่ด้วยกันอีก ๒ รูปเป็นรูปของนายประเทืองพี่ชาย กับรูปของนายนวลน้องชาย ซึ่งก็เป็นความจริง

นางติวกล่าวว่า แม้แต่อาหารที่นายคนองไม่ชอบรับประทานคือ ปลาหมึกสด เด็กชายวัชระก็ไม่ชอบเหมือนกัน ปัจจุบันนี้เด็กชายวัชระยังไปมาหาสู่กับตนอยู่เสมอ บางครั้งมีปลา มีกบ เขาก็จะเอามาให้ ซึ่งจากคำพูดและการแสดงออกของเขา ตนเชื่อว่าเขาคือนายคนองบุตรชายของตนสืบชาติมาเกิดจริง

พ่อในอดีตชาติเสียชีวิต

เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ นายธรรม พุทธรักษา บิดาของนายคนองล้มป่วยและได้เสียชีวิตลง เมื่อ เด็กชายวัชระทราบข่าวการเสียชีวิตของนายธรรม ก็ร้องไห้แล้ววิ่งไปบอกกับนางเหยยว่า “แม่ใหญ่ ๆ พ่อหนูตายแล้ว..ๆ” นางเหยยตกใจคิดว่า นายลั่นทม พ่อของเด็กชายวัชระเสียชีวิต จึงถามว่า “พ่อหนูเป็นอะไร” เด็กชายวัชระตอบทั้งน้ำตาว่า “พ่อหนูตายแล้ว พ่อธรรมตายแล้ว”

นางเหยยเล่าให้ฟังว่า วันนั้นเด็กชายวัชระเสียใจมาก เขานั่งร้องไห้อยู่คนเดียว ตอนนั้นนางปุ๊ไปทำงานไม่อยู่บ้าน ตนบอกว่าถ้าจะไปก็ให้ไปคนเดียวเขาก็ไม่ยอมไป ทั้งๆที่บ้านของนางติวอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตรเท่านั้น เย็นวันนั้นเมื่อนางปุ๊แม่ของเขากลับมาจากทำงานได้ทราบเรื่อง เห็นเด็กชายวัชระนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว นางปุ๊รู้สึกสงสารบุตรชายจึงพาเขาไปร่วมงานศพของนายธรรมด้วย เมื่อไปถึงบ้านของนางติวเด็กชายวัชระเข้าไปนั่งร้องไห้หน้าศพของนายธรรมโดยไม่ได้พูดอะไร นางติวเข้ามาปลอบ เด็กชายวัชระบอกกับนางติวว่าจะขอบวชเณรให้กับนายธรรม แต่ตอนนั้นเขายังเด็กเกินไปจึงยังบวชไม่ได้

นายลั่นทม พ่อของเด็กชายวัชระเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ นายเทียน ใจเร็ว พ่อของตนเสียชีวิต ตนขอให้เด็กชายวัชระบวชเณรให้ปู่ แต่เด็กชายวัชระไม่ยอมบวช เขาบอกว่าตัวเขาเอง(นายคนอง)เคยบวชเป็นพระแล้วและสึกมาแล้วบวชเณรไม่ได้ นายลั่นทมต้องบอกว่าบวชแล้วก็บวชได้อีก เด็กชายวัชระจึงยอมบวชเณรให้ปู่ของเขา

ด.ญ.เบญจรัตน์,นายลั่นทม,ด.ช.วัชระ,นางปุ๊

ขณะผู้เขียนไปสัมภาษณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่อยู่กับนางปุ๊แม่ในปัจจุบันชาติ เด็กชายวัชระจะไม่ยอมตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น แต่ขณะที่อยู่กับนางติวแม่ในอดีตชาติ เด็กชายวัชระยอมตอบคำถามของผู้เขียน แต่ยังคงเป็นแบบถาม ๕ คำ ตอบคำเดียวบ้างหรือไม่ตอบบ้าง เนื่องจากเขาเป็นคนเงียบๆไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ผู้เขียนพยายามอธิบายให้เขาฟังว่าการจำอดีตชาติได้ของเขาไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร มีคนในหมู่บ้านอีกหลายคนที่จำอดีตชาติได้เหมือนกัน เด็กชายวัชระจึงยอมตอบคำถามของผู้เขียนด้วยดี ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่าเขายังจำอดีตชาติของเขาได้มากกว่าที่คิดในตอนแรก เด็กชายวัชระยังจำอดีตชาติได้เป็นบางเรื่องเช่น ยังจำรูปถ่ายของนายคนองได้ ยังจำตู้ใบเก่าที่อยู่บนบ้านของนางติวได้และยังเรียกชื่อพี่น้องของนายคนองได้ถูกต้อง

เด็กชายสวาทบุตรของนางติวสืบชาติมาเกิด

นอกจากเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายวัชระแล้ว นางติว แม่ของนายคนองยังเล่าถึงการสืบชาติมาเกิดของ เด็กชายสวาท พุทธรักษา บุตรชายคนที่ ๔ ของตนซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่คลอดออกมาได้เพียง ๓ เดือนให้ฟังว่า

เด็กชายสวาท มีความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอด คือมีลำตัวเขียวคล้ำไปทั้งตัว ตอนนั้นตนได้ให้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณรักษา แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จนกระทั่งเด็กชายสวาทเสียชีวิตลง ขณะที่เขาอายุได้เพียง ๓ เดือน และหลังจากเด็กชายสวาทเสียชีวิตไปประมาณ ๓ ปี วันหนึ่ง นางพรม กล้าดี ได้พาบุตรชายคือ เด็กชายจักรกริช กล้าดี ในขณะนั้นซึ่งอายุประมาณ ๒ ขวบมาพบตนที่บ้าน นางพรมเล่าให้ตนฟังว่าวันหนึ่งขณะที่เด็กชายจักรกริชนั่งเล่นอยู่คนเดียว เด็กชายจักกฤษได้ยินเสียงตนพูดคุยอยู่กับเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านของนางพรม เด็กชายจักรกริชก็พูดขึ้นมาลอยๆว่า “นั่นเสียงแม่ติวนี่หว่า” และขอร้องให้นางพรมพาไปพบกับนางติวโดยบอกว่า “จะไปหาแม่” นางพรมรู้สึกสงสัยจึงสอบถามว่า “จะไปหาแม่ที่ไหน แม่ก็อยู่นี่ไงลูก” เด็กชายจักรกริชบอกว่า “ไม่ใช่แม่นี้ จะไปหาแม่ติว”

ตอนนั้นนางพรมรู้สึกสงสัย เพราะเด็กชายจักรกริชไม่เคยพบหรือรู้จักกับนางติวมาก่อน และนางพรมก็ไม่เคยทราบมาก่อน ว่านางติวมีบุตรทีเสียชีวิตไปแล้ว(ขณะนั้นนายคนองยังมีชีวิตอยู่) นางพรมรู้จักแต่บุตรคนอื่นๆของนางติวซึ่งตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ ทุกคน นางพรมอยากพิสูจน์ความจริงจึงพา เด็กชายจักรกริชมาพบกับนางติวที่บ้าน

นางติวเล่าให้ฟังว่า วันนั้นนางพรมมาสอบถามตนที่บ้านว่า มีบุตรที่เสียชีวิตไปแล้วบ้างหรือไม่ ตนก็บอกว่า มี ชื่อเด็กชายสวาทแต่เขาเสียชีวิตตั้งแต่อายุได้เพียง ๓ เดือน นางพรมก็เล่าเหตุการณ์ที่เด็กชายจักรกริชบอกว่าจำเสียงของตนได้ให้ฟัง และขอให้ตนทำพิธีรับเด็กชายจักรกริชเป็นบุตรด้วย เป็นการรับเป็นพิธีตามความเชื่อของคนโบราณ เนื่องจากขณะนั้นเด็กชายจักรกริชมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยมาก เป็นที่น่าแปลกใจหลังจากที่ตนทำพิธีรับเด็กชายจักรกริชเป็นบุตร อาการป่วยของเด็กชายจักรกริชก็หายเป็นปลิดทิ้งอย่างน่าอัศจรรย์

ผู้เขียนได้สอบถาม นางพรม กล้าดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางพรมยืนยันกับผู้เขียนว่าเรื่องที่นางติวเล่าให้ผู้เขียนฟังนั้นเป็นเรื่องจริง ไม่น่าเชื่อว่าบุตรของนางติวที่เพิ่งเกิดมามีชีวิตได้เพียงแค่ ๓ เดือน จะสามารถจำเสียงของแม่ผู้ให้กำเนิดได้และยังจำได้ข้ามภพข้ามชาติอีกด้วย นางพรมกล่าวว่า ในครั้งนั้นก่อนที่ตนจะพานายจักรกริชหรือเด็กชายจักรกริชในขณะนั้นไปพบกับนางติว นายจักรกริชมีอาการป่วยอยู่บ่อยๆ แต่หลังจากที่ตนพาไปให้นางติวทำพิธีรับเป็นบุตรแล้ว อาการป่วยของนายจักรกริชก็หายไปและไม่ค่อยป่วยอีก นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็เป็นความจริง นางพรมกล่าว

ปัจจุบันนี้ นายจักรกริช(เตี๋ยว) กล้าดี มีภรรยาแล้วและมีบุตรด้วยกัน ๑ คน นายจักรกริชลืมเรื่องราวในอดีตชาติของเขาไปหมดแล้ว แต่ยังคงเรียกนางติวว่า “แม่” จนถึงทุกวันนี้