นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต

ข้อมูลเบื้องต้น

กรณีของ นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต

ปัจจุบันชาติ

ชื่อ-นามสกุล : นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต ชื่อเล่น : ส้ม

วันเดือนปีเกิด : ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗

ความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด : มีปานดำเป็นจุดกลมๆที่บริเวณต้นแขนซ้าย

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๓๑๘ หมู่ ๕ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : มี ๓ คน คือ

๑. นางสาววาสุรัตน์ คงสะโต

๒. นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต

๓. นายพิเชษฐ์ คงสะโต

อดีตชาติ

ชื่อ-นามสกุล : นางสาวสัมฤทธิ์ มหิดุลย์

วันเดือนปีเกิด : - พ.ศ.๒๔๙๖

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๒๐๕ หมู่ ๔ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : มี ๖ คนคือ

๑. นางสาวสัมฤทธิ์ มหิดุลย์ ๔. นางแสตมป์ มหิดุลย์

๒. นางจำรัส อยู่รอง ๕. นายถาวร มหิดุลย์

๓. นายสวัสดิ์ มหิดุลย์ ๖. นายไสว มหิดุลย์

วันเดือนปีที่เสียชีวิต : - พ.ศ. ๒๕๑๖ ขณะอายุได้ : ๒๐ ปี

สาเหตุที่เสียชีวิต : ป่วยเป็นโรคมาลาเรียขึ้นสมอง

สถานที่เสียชีวิต : ที่บ้านเลขที่ ๒๐๕ หมู่ ๔ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

รอยป้ายศพ : ญาติได้ใช้มินหม้อป้ายเป็นจุดกลมๆที่บริเวณต้นแขนซ้ายของศพนางสาวสัมฤทธิ์

นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต จำอดีตชาติได้

ผู้ที่จำอดีตชาติได้ในหมู่บ้านของผู้เขียนรายนี้มีชื่อว่า นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต เป็นบุตรสาวของ นายเหลือและนางฟู คงสะโต อยู่บ้านเลขที่ ๓๑๘ หมู่ ๕ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑ เธออายุ ๒๔ ปี

นางสาวส้มลิ้ม จำอดีตชาติได้ว่าชาติก่อนเธอมีชื่อว่า นางสาวสัมฤทธิ์ มหิดุลย์ เป็นบุตรสาวของ นายว่างและนางเขียว มหิดุลย์ เธอเสียชีวิตเนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคมาลาเรียขึ้นสมอง นางสาวส้มลิ้มหรือเด็กหญิงส้มลิ้มในขณะนั้นพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติของเธอไม่มากนักแต่ก็ค่อนข้างชัดเจน ที่สำคัญคือตั้งแต่แรกเกิดเธอมีรอยตำหนิเป็นปานดำที่บริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งตรงกันกับรอยตำหนิที่ญาติของนางสาวสัมฤทธิ์ใช้มินหม้อป้ายไว้บนศพของนางสาวสัมฤทธิ์หลังเธอเสียชีวิตไม่นาน

นางสาวสัมฤทธิ์ มหิดุลย์ เป็นบุตรสาวคนโตของ นายว่างและนางเขียว มหิดุลย์ ขณะยังมีชีวิตนางสาวสัมฤทธิ์แต่งงานอยู่กินกับ นายสวัสดิ์ สุขเสือ คนในหมู่บ้านเดียวกัน ทั้งสองกำลังจะมีบุตรด้วยกัน แต่นางสาวสัมฤทธิ์ได้มาเสียชีวิตเสียก่อนหลังจากเธอคลอดบุตรออกมาได้เพียง ๑ ชั่วโมง เนื่องจากเธอป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง และบุตรของเธอที่เพิ่งคลอดออกมาก็เสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกัน นางสาวสัมฤทธิ์ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ขณะอายุได้ ๒๐ ปี

หลังจากที่นางสาวสัมฤทธิ์เสียชีวิตได้ไม่นาน นางจวย บุญเกิด(มหิดุลย์) พี่สาวของนายว่างได้ใช้มินหม้อป้ายไปที่บริเวณต้นแขนด้านซ้ายของนางสาวสัมฤทธิ์ แล้วพูดว่า “ถ้าเกิดชาติหน้า ให้เอารอยนี้มาด้วยนะ” ซึ่งวิธีการป้ายศพดังกล่าวชาวหมู่บ้านตะคร้อได้รับการสืบทอดต่อๆกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วนับได้ว่าเป็นมรดกตกทอด เช่นเดียวกันกับวิธีการสังเกตผู้สืบชาติมาเกิดใหม่ ผู้จำอดีตชาติได้ และการโยนกระด้งเพื่อให้เด็กแรกเกิดลืมอดีตชาติ ซึ่งปัจจุบันการโยนกระด้งเพื่อให้เด็กแรกเกิดลืมอดีตชาติ กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากในปัจจุบันนี้เด็กที่คลอดใหม่เกือบทั้งหมด คลอดที่สถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน หรือไม่ก็ตามโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ได้ทำคลอดโดยหมอตำแยเหมือนแต่ก่อน วิธีการนี้จึงค่อยๆเลือนหายไป

การป้ายศพมรดกตกทอดมายาวนาน

ผู้เขียนมีโอกาสได้พบและรู้จักกับ อาจารย์สุตทยา วัชราภัย อาจารย์พิเศษของนิด้า ซึ่งท่านเคยเป็นล่ามให้กับคณะศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียสหรัฐอเมริกา อาจารย์สุตทยาท่านมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะศึกษาวิจัยคณะนี้อยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ท่านได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจำอดีตชาติได้และวิธีการป้ายศพเป็นอย่างดี

ท่านอาจารย์สุตทยา ได้กรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้ายศพ ที่ท่านได้เคยศึกษามาว่า ประเพณีการป้ายศพนี้พบมากในประเทศไทยและประเทศพม่า จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าได้ผลจริง ซึ่งคณะศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียกำลังให้ความสนใจ และกำลังศึกษาค้นคว้ากันอยู่ อาจารย์สุตทยากล่าวว่า การป้ายศพจะส่งผลก็ต่อเมื่อผู้ป้ายทำถูกวิธี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ระยะเวลาที่ป้ายศพ วัสดุที่ใช้ป้าย การบอกกล่าวกับวิญญาณ เป็นต้น

ในกรณีของนางสาวสัมฤทธิ์ ศพของเธอได้มีการป้ายศพเช่นเดียวกัน แต่ลำพังการป้ายศพอย่างเดียวคงไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้มากนัก ถ้าหากไม่มีปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย กล่าวคือ ถึงแม้เธอจะได้เกิดใหม่อีกครั้งและมีรอยตำหนิจากการป้ายศพติดตัวมาด้วย แต่ถ้าเธอไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เธอจำอดีตชาติไม่ได้ เธอไปเกิดในหมู่บ้านห่างไกล หรือเธอไปเกิดในท้องถิ่นที่ไม่เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เธอก็อาจจะไม่ได้พบกับครอบครัวในอดีตชาติของเธอ และบอกเล่าเรื่องราวของเธอให้พวกเขาเหล่านั้นได้ทราบได้ แต่สำหรับกรณีของนางสาวสัมฤทธิ์นี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เธอได้เกิดมาพบกับครอบครัวในอดีตชาติของเธอ กล่าวคือ หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว เธอได้มาเข้าฝันนางเขียวแม่ของเธอและบอกกับนางเขียวในฝันว่าเธอจะไปเกิดกับใคร โชคดีที่เธอได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เธอได้เกิดในหมู่บ้านเดิม เธอได้นำรอยตำหนิที่ญาติป้ายไว้ติดตัวมาด้วย และที่สำคัญคือเธอจำอดีตชาติได้

ความฝันของนางเขียว

นางเขียว แม่ของนางสาวสัมฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า หลังจากนางสาวสัมฤทธิ์เสียชีวิตได้ไม่นาน คืนหนึ่งเธอฝันว่าได้พบกับ นางสาวสัมฤทธิ์ที่บริเวณวัดใหญ่(วัดชุมพล)ซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านของเธอ ในฝันเธอชวนให้นางสาวสัมฤทธิ์กลับไปบ้านด้วยกัน แต่เธอไม่ยอมกลับและพยายามวิ่งหนี เธอก็วิ่งตามไปสักครู่นางสาวสัมฤทธิ์ก็หยุดวิ่งแล้วหันมาบอกกับเธอว่า “แม่ฉันจะไปอยู่กับน้าทิดเหลือ” พูดจบนางสาวสัมฤทธิ์ก็วิ่งหนีหายไป จากนั้นเธอก็รู้สึกตัวตื่น เมื่อตื่นขึ้นมาเธอทบทวนความฝันนั้นแล้วรู้สึกสังหรณ์ใจว่าความฝันนั้นอาจจะเป็นจริง ตอนนั้นเธอทราบดีว่า “น้าทิดเหลือ” ที่นางสาวสัมฤทธิ์บอกในฝันนั้นก็คือ นายเหลือ คงสะโต ซึ่งเมื่อครั้งที่นายเหลือยังไม่แต่งงานเขาเคยมาเที่ยวเล่น กิน นอนอยู่ที่บ้านของเธอเป็นประจำ จึงรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่หลังจากที่เขาแต่งงานมีครอบครัวแล้วจึงได้ห่างๆกันไป บ้านของนายเหลืออยู่ห่างจากบ้านของเธอไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับที่เธอเห็นนางสาวสัมฤทธิ์วิ่งหนีไปในฝัน จึงเฝ้าคอยติดตามดูความเป็นไปในครอบครัวของนายเหลือ ซึ่งในขณะนั้น นางฟู ภรรยาของนายเหลือกำลังตั้งท้องอยู่พอดี เธอเฝ้ารอวันที่นางฟูจะคลอดบุตรด้วยใจจดจ่อ เพื่อรอพิสูจน์ว่าความฝันของเธอจะเป็นความจริงหรือไม่

นางเขียว และ นายว่าง มหิดุลย์

นายเหลือ พ่อของนางสาวส้มลิ้มเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่นางสาวส้มลิ้มหรือเด็กหญิงส้มลิ้มในขณะนั้นคลอดออกมาได้ไม่กี่วัน นางเขียวได้มาหาตนที่บ้านและถามตนว่าบุตรของตนเป็นหญิงหรือชาย ตนบอกว่าเป็นเด็กผู้หญิง นางเขียวถามว่า บุตรของตนมีปานที่ไหนบ้าง ตนก็บอกว่ามีปานที่ต้นแขนซ้าย นางเขียวขึ้นไปดูบุตรสาวของตนที่อยู่บนบ้าน เมื่อเห็นว่าบุตรสาวของตนมีปานดำบริเวณต้นแขนซ้ายจริง ก็เล่าความฝันที่นางเขียวฝันให้ตนฟัง และบอกว่ารอยปานนั้นตรงกันกับรอยตำหนิที่ญาติของนางเขียวใช้มินหม้อป้ายไว้บนศพของนางสาวสัมฤทธิ์ แต่ตอนนั้นเด็กหญิงส้มลิ้มยังพูดไม่ได้ ตนจึงยังไม่ปักใจเชื่อว่าเธอจะเป็น นางสาวสัมฤทธิ์สืบชาติมาเกิดจริง

ปานดำบริเวณต้นแขนซ้ายของ นางสาวส้มลิ้ม

พูดและแสดงออกถึงความทรงจำในอดีตชาติ

นายเหลือ เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติของนางสาวส้มลิ้มบุตรสาวในขณะนั้นให้ฟังว่า ตอนเด็กๆนางสาวส้มลิ้มหรือเด็กหญิงส้มลิ้มในขณะนั้น พูดและแสดงออกถึงความทรงจำในอดีตชาติของเธอหลายครั้ง แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดมากนัก เพราะตนไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนี้ ผู้ที่ทราบเรื่องราวเหล่านี้ดีก็คือนางฟูภรรยาของตน เพราะเขาใกล้ชิดกับบุตรสาวมาโดยตลอด แต่นางฟูได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ดังนั้นตนจึงขอเล่าเฉพาะเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาด้วยตัวเอง

ตอนนั้นตนจำได้ว่าวันหนึ่งในฤดูทำไร่ ขณะที่ครอบครัวของตนกำลังเดินทางไปทำไร่ โดยมีเกวียนเป็นพาหนะ ตนเป็นคนขับเกวียนส่วนนางฟูกับลูกๆนั่งอยู่ในเก๋งเกวียน ระหว่างทางได้พบกับนายว่างและนางเขียวซึ่งกำลังเดินทางไปไร่เช่นเดียวกัน เมื่อ นางสาวส้มลิ้มมองเห็นคนทั้งสองก็พูดขึ้นมาว่า “นั่นพ่อกับแม่หนูนี่…พ่อ..แม่” เธอตะโกนเรียกนายว่างและนางเขียว ตนได้ยินก็บอกให้ เธอเรียกคนทั้งสองว่า ลุงกับป้า เธอค้านว่า “ไม่ใช่..พ่อกับแม่หนู”นางฟูแม่ของเธอก็พยายามบอกกับบุตรสาวว่า “ลุงกับป้าลูก” ขณะนั้นนายว่างและนางเขียวได้เดินแยกทางออกไป เธอเห็นดังนั้นก็ร้องไห้จะลงไปหานายว่างกับนางเขียวให้ได้ แต่ตนกับภรรยาห้ามไว้ ตอนนั้นเธออายุประมาณ ๒ ขวบเศษ เพิ่งเริ่มพูดได้ชัดถ้อยชัดคำ

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นขณะที่นางสาวส้มลิ้มอายุประมาณ ๔ ขวบ วันหนึ่งนางฟูตัดกล้วยเครือใหญ่มาจากไร่ พอเธอเห็นก็บอกกับตนกับและนางฟูว่า “หนูอยากจะเอากล้วยไปให้พ่อ(นายว่าง) เวลาเมาเหล้าพ่อหนูชอบกินกล้วยสุก” ทีแรกตนไม่ได้สนใจ แต่ทนเห็นเธอร้องไห้อ้อนวอนไม่ได้จึงตัดสินใจทำตามที่เธอต้องการ ตนพาเด็กหญิงส้มลิ้มไปที่บ้านของนายว่าง โดยมีกล้วยติดมือไปด้วย เมื่อมาถึงบริเวณรั้วของวัดใหญ่ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของนายว่าง เธอหยุดเดินแล้วนั่งร้องไห้ เธอนั่งมองบ้านของนายว่างน้ำตาไหลพรากแต่ไม่ยอมเดินเข้าไป พอดีนายว่างมองเห็นจึงออกมาต้อนรับ เมื่อเข้าไปในบ้าน ตนเล่าเรื่องที่บุตรสาวพูดถึงนายว่างให้นายว่างและนางเขียวฟัง ทั้งสองคนพยายามสอบถามเรื่องราวในอดีตชาติ แต่เธอไม่ยอมตอบและชวนตนกลับบ้าน

ผู้เขียน ได้สอบถามนางเขียว เกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ที่นายเหลือเล่าให้ฟัง นางเขียว กล่าวว่า เหตุการณ์ที่นายเหลือเล่าให้ผู้เขียนฟังนั้นเป็นความจริง วันนั้นขณะที่เธอและนายว่างกำลังเดินทางไปไร่และได้พบกับเด็กหญิงส้มลิ้ม ตอนนั้นเธอดีใจมาก รู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกที่เด็กหญิงส้มลิ้มเรียกพวกเธอว่า “พ่อกับแม่” ตอนนั้นเธอและนายว่างคิดว่านางสาวส้มลิ้มหรือเด็กหญิงส้มลิ้มในขณะนั้นอาจจะเป็นนางสาวสัมฤทธิ์บุตรสาวของพวกเธอสืบชาติมาเกิดจริงๆ แต่เมื่อเธอเห็นว่านายเหลือกับนางฟูพยายามบอกให้เด็กหญิงส้มลิ้มเรียกพวกเธอว่า “ลุงกับป้า” ก็รู้สึกเกรงใจ จึงจำใจต้องเดินแยกไปคนละทาง ส่วนเหตุการณ์วันที่นางสาวส้มลิ้มนำกล้วยมาให้นายว่างนั้น ทำให้เธอมั่นใจยิ่งขึ้นว่าเธอคือบุตรสาวของเธอสืบชาติมาเกิดจริง เธอทราบได้อย่างไรว่านายว่างชอบกินกล้วยสุกเวลาเมาเหล้า และลักษณะที่เธอแสดงออกมามันเหมือนกับว่า เธอคือบุตรสาวของเธอสืบชาติมาเกิดจริงๆไม่น่าจะมีใครสอนหรือบังคับให้เธอแสดงออกมาอย่างนั้นได้

นางเขียว เล่าให้ฟังต่อไปว่า ความจริงแล้วเด็กหญิงส้มลิ้มในขณะนั้นพูดและแสดงออกให้เธอได้เห็นว่าตัวของเธอคือนางสาวสัมฤทธิ์สืบชาติมาเกิดหลายครั้ง คือเมื่อตอนเด็กๆเด็กหญิงส้มลิ้มมักจะร้องไห้ขอร้องให้นายเหลือและนางฟูพามาหาเธอที่บ้าน ซึ่งเกือบทุกครั้งที่ได้พบกันไม่ว่าจะเป็นงานบุญที่วัดหรือที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เด็กหญิงส้มลิ้มจะมากับนางฟูแม่ของเธอ เมื่อเด็กหญิงส้มลิ้มโตขึ้นมาหน่อยได้เข้าเรียนที่โรงเรียนจิตศรัทธาวิทยานุสรณ์ ซึ่งขณะนั้นใช้ศาลาการเปรียญของวัดใหญ่(ชุมพล)เป็นอาคารเรียน เวลาที่ครูปล่อยให้พักเด็กหญิงส้มลิ้มชอบมาหาเธอที่บ้านเป็นเช่นนี้เสมอ กับพี่น้องในอดีตชาติเด็กหญิงส้มลิ้มก็ยังมีความรู้สึกผูกพันกันเหมือนเดิม มีครั้งหนึ่งเด็กหญิงส้มลิ้มป่วยเป็นไข้อาการเพียบหนักนางแสตมป์ กับนางจำรัสน้องสาวในอดีตชาติไปเยี่ยม อาการของเด็กหญิงส้มลิ้มก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกับว่าเธอได้กำลังใจที่ดี และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ นายว่างถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เมื่อเด็กหญิงส้มลิ้มทราบก็ร้องไห้ฟูมฟายเสียใจ เสมือนว่าพ่อแท้ๆของเธอเสียชีวิต หลายปีที่ผ่านมาเกือบทุกครั้งที่บ้านของเธอจัดงานบุญ งานบวชหรืองานแต่ง เธอจะมาร่วมงานด้วยเสมอ จนกระทั่งปัจจุบันนี้นางสาวส้มลิ้มก็ยังคงเรียกเธอว่า “แม่” และยังเคารพเธอเหมือนแม่ตลอดมา

ขณะผู้เขียนไปสัมภาษณ์ นางสาวส้มลิ้มลืมเรื่องราวในอดีตชาติของเธอไปหมดแล้ว แต่ยังคงเรียกนางเขียวว่า “แม่” และไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ นางสาวส้มลิ้มได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้เขียนได้ไปร่วมงานด้วย และได้พบกับนางเขียว ซึ่งมาร่วมงานแต่งงานของบุตรสาวในอดีตชาติด้วยเช่นกัน