คำขยายความ - อ

คำขยายความหมวดอักษร

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์อันชั่ว ไม่เป็นที่พึงปรารถนาน่าใคร่

อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลือ คือไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่แล้ว(ดู นิพพาน*)

อภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง , ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ , เจตนา ที่เป็นตัวการในการทำกรรม

มี ๓ คือ

๑. ปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี

๒. อปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว

๓. อาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมไม่ดีไม่ชั่ว ภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว

อรรถ เนื้อความ

อรูปาพจร(อรูปาวจร) เนื่องในอรูปภพ , ท่องเที่ยวไปในอรูป , ระดับที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ , อยู่ในระดับจิตชั้นอรูปฌาน

อวุตตสิทธิ เป็นที่เข้าใจ , ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

อสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัวเอน คือ ท่านที่เป็น เอตทัคค

ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่ามีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ )

กังขาเรวต , กัปป , กาฬุทายี , กิมพิล , กุมารกัสสป , กุณฑธาน , คยากัสสป , ควัมปติ , จุนท , จูฬปันถก , ชตุกัณณิ , ติสสเมตเตยย , โตเทยย , ทัพพมัลลบุตร , โธตก , นทีกัสป , นันท , นันทก , นันทก , นาคิต , นาลก , ปิงคิย , ปิณโฑลภารทวาช , ปิลินทวัจฉ , ปุณณก , ปุณณชิ , ปุณณมันตานีบุตร , ปุณณสุนาปรันต , โปสาล , พากุละ(พักกุละ) , พาหิยทารุจีริย , ภคุ , ภัททิย(ศากยะ) , ภัททิย , ภัทราวุธ , มหากัจจายน , มหากัปปิน , มหากัสสป , มหาโกฏฐิต , มหานาม , มหาปันถก , มหาโมคคัลลาน , เมฆิย , เมตตคู , โมฆราช , ยส , ยโสช , รัฏฐปาล , ราธ , ราหุล , เรวตขทิรวนิย , ลกุณฏกภัททิย , วักกลิ , วังคีส , วัปป , วิมล , สภิย , สาคต , สารีบุตร , สีวลี , สุพาหุ , สุภูติ ,เสล , โสณกุฏิกัณณ , โสณโกฬิวิส , โสภิต , เหมก , องคุลิมาล , อชิต , อนุรุทธ , อัญญาโกณฑัญญ , อัสสชิ , อานนท , อุทย , อุทายี , อุบาลี , อุปวาณ , อุปสีว , อุปเสนวังคันตบุตร , อุรุเวลกัสสป

อหัง(อหังการ) ความถือตัวว่าเป็นเรา , ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน จองหอง อวดดี

อัครสาวก สาวกผู้เลิศ , สาวกผู้ยอดเยี่ยม หมายถึง พระสารีบุตร(อัครสาวกเบื้องขวา) และ พระโมคคัลลานะ(อัครสาวกเบื้อง

ซ้าย)

อัฏฐังคิกมรรคธรรม มรรค คือทางอันประเสริฐ มีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่ ความเห็นในอริยสัจจ์ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)เห็นในไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง

อนัตตา) ความเห็นในอกุศลและอกุศลมูล(โลภะ โทสะ โมหะ) กุศลและกุศลมูล(อโลภะ อโทสะ อโมหะ) เห็นใน

ปฏิจจสมุปบาท(ดูปฏิจจสมุปบาท) ความเห็นในอาหาร ๔ (กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณา

หาร) ความเห็นในอาสวะ(กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ) เป็นต้น

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากกาม) อพยาบาทสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากความ

พยาบาท) อวิหิงสาสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากความเบียดเบียน)

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ เจรจาชอบ ได้แก่ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ , ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริงไม่

แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจ ของผู้อื่น , ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่

เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , ไม่พูดในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , ไม่พูดในสิ่งที่

เป็นจริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , รู้กาละเทศะที่จะพูดในสิ่งที่เป็นจริง ประกอบด้วย

ประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , รู้กาละเทศะที่จะพูดในสิ่งที่เป็นจริง ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่ชอบใจ

ของผู้อื่น

๔. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ,ไม่กระทำในสิ่งที่จะทำให้เกิด

ความทุกข์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ไม่เลี้ยงชีพในทางทุจริต ,ไม่หาเลี้ยงชีพอันจะทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกับ

ตนเองและผู้อื่น

๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ พยายามชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ คือ สังวรปธาน เพียรระวัง ปิดกั้น ยับยั้งบาปอกุศล

ธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละ กำจัดบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรเจริญ

สร้าง ก่อให้เกิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และ

เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ คือ

๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นกายในกายตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงกาย

ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นเวทนาในเวทนาตามเป็นจริงว่าเป็น

เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นจิตในจิตตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงจิต ไม่ใช่

สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นธรรมในธรรมตามเป็นจริงว่าเป็นเพียง

ธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือความที่จิตตั้งมั่นสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุ ปฐมฌาน มี วิตก วิจาร

ปิติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปบรรลุ ทุติยฌาน ที่มีความผ่องใสภายในมีภาวะจิตเป็น

หนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปิติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ

สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุ ตติยฌาน เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว

บรรลุ จตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิเพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ

*** องค์ ๘ ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ ๓ ข้อต้นคือ ข้อ ๓,๔,๕ เป็น ศีล ข้อ ๖,๗,๘ เป็น สมาธิ ข้อ ๑,๒ เป็น ปัญญา

อับเฉา ของถ่วงเรือกันเรือโคลง มีหินและทรายเป็นต้น

อาจาระ ความมีมรรยาท มีความประพฤติดีงาม

อาตมา ข้าพเจ้า , ตัว , ตน , เป็นคำสรรพนามใช้แทนตัวผู้พูด หรือตัวตนของผู้ที่ถูกกล่าวถึง เป็นคำโบราณที่ใช้ได้ทั้งคฤหัสถ์ พระ

ภิกษุ และสามเณร(ปัจจุบันนิยมใช้เฉพาะพระภิกษุและสามเณรพูดแทนตัวเองว่า อาตมาภาพ)

อายตนะ ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรับรู้ , แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรับรู้ มี ๒ ฝ่ายคือ

อายตนะฝ่ายภายใน(อัชฌัตติกายตนะ) มี ๖ ได้แก่

๑. จักขุ ตา

๒. โสตะ หู

๓. ฆาน จมูก

๔. ชิวหา ลิ้น

๕. กาย กาย

๖. มโน ใจ

อายตนะฝ่ายภายนอก(พาหิรายตนะ) มี ๖ ได้แก่

๑. รูปะ รูป

๒. สัททะ เสียง

๓. คันธะ กลิ่น

๔. รสะ รส

๕. โผฏฐัพพะ สัมผัสทางกาย

๖. ธรรม หรือ ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดกับใจ , สิ่งที่นึกคิด

(อายตนะภายนอกทั้ง ๖ นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ ๖ คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง)

อารมณ์ ๖ เครื่องยึดหน่วงของจิต , สิ่งที่จิตยึดหน่วง , เป็นที่เกิดขึ้น และตั้งอยู่ของวิญญาณ มี ๖ คือ

๑. รูปารมณ์ อารมณ์คือ รูป

๒. สัททารมณ์ อารมณ์คือ เสียง

๓. คันทารมณ์ อารมณ์คือ กลิ่น

๔. รสารมณ์ อารมณ์คือ รส

๕. โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือ สัมผัสทางกาย

๖. ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดกับใจ

อาสวะ ๔ สภาวะอันหมักดองสันดาน , สิ่งที่มอมพื้นจิต , กิเลสที่ไหลซึมซ่านไปย้อมใจ เมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ได้แก่

๑. กามาสวะ อาสวะคือ กาม

๒. ภวาสวะ อาสวะคือ ภพ

๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือ ทิฏฐิ

๔. อวิชชาสวะ อาสวะคือ อวิชชา

(ในพระสูตรแสดงอาสวะไว้เพียง ๓ โดยสงเคราะห์ ทิฏฐาสวะ เข้าใน ภวาสวะ)

อาหาร ๔ สภาพที่นำมาซึ่งผล โดยความเป็นปัจจัยค้ำจุน รูปธรรม และนามธรรม ทั้งหลาย , เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต , เครื่องค้ำ

จุนชีวิต , สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเจริญขึ้นได้ , เครื่องให้ดำรงค์อยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมา

แล้วและเครื่องอนุเคราะห์แก่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด มี ๔ คือ

๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว , อาหารที่หล่อเลี้ยงรูปขันธ์ และอายตนะให้ตั้งอยู่และเจริญขึ้นได้ เมื่อ

กำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้

๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ , ความกระทบระหว่างอายตนะภายนอก กับอายตนะภายใน เป็นอาหารที่หล่อ

เลี้ยงเวทนาขันธ์ ให้ตั้งอยู่และเจริญขึ้นได้ เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ เวทนา ๓ ได้

๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา , อาหารที่หล่อเลี้ยง ให้สังขารขันธ์ หรือเจตสิกให้ตั้งอยู่และ

เจริญขึ้นได้ เมื่อกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ตัณหา ๓ ได้

๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ , อาหารที่หล่อเลี้ยงสัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ให้ตั้งอยู่และเจริญขึ้น

ได้ เมื่อกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้วย่อมกำหนดรู้นามรูปได้

(ดูเพิ่มเติมใน ปุตตมังสสูตรว่าด้วยอาหาร ๔ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๖)

อิฏฐารมณ์ อารมณ์อันดี เป็นที่พึงปรารถนา น่าใคร่

อิธโลก โลกนี้ , ภพภูมินี้ คู่กับ ปรโลก คือโลกหน้า โลกอื่นหรือภพภูมิอื่นที่ไม่ใช่โลกนี้(ดู ภพ ๓)

อินทรีย์ ๒๒ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน คือทำให้ธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามตนในกิจนั้น ๆ ในขณะที่เป็นไปอยู่นั้น

ได้แก่

หมวดที่ ๑

๑. จักขุนทรีย์ อินทรีย์ คือจักขุปสาท

๒. โสตินทรีย์ อินทรีย์ คือโสตปสาท

๓. ฆานินทรีย์ อินทรีย์ คือฆานปสาท

๔. ชิวหินทรีย์ อินทรีย์ คือชิวหาปสาท

๕. กายินทรีย์ อินทรีย์ คือกายปสาท

๖. มนินทรีย์ อินทรีย์ คือใจ หรือจิต(จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑)

หมวดที่ ๒

๗. อิตถินทรีย์ อินทรีย์ คืออิตถีภาวะ(สภาวะความเป็นหญิง)

๘. ปุริสินทรีย์ อินทรีย์ คือปุริสภาวะ(สภาวะความเป็นชาย)

๙. ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์ คือชีวิต

หมวดที่ ๓

๑๐. สุขินทรีย์ อินทรีย์ คือสุขเวทนา

๑๑. ทุกขินทรีย์ อินทรีย์ คือทุกขเวทนา

๑๒. โสมนัสสินทรีย์ อินทรีย์ คือโสมนัสเวทนา

๑๓. โทมนัสเวทนา อินทรีย์ คือโทมนัสเวทนา

๑๔. อุเปกขินทรีย์ อินทรีย์ คืออุเบกขาเวทนา

หมวดที่ ๔

๑๕. สัทธินทรีย์ อินทรีย์ คือศรัทธา

๑๖. วิริยินทรีย์ อินทรีย์ คือวิริยะ

๑๗. สตินทรีย์ อินทรีย์ คือสติ

๑๘. สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือสมาธิ(ได้แก่ เอกัคคตา)

๑๙. ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือปัญญา

หมวดที่ ๕

๒๐. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ อินทรีย์แห่งผู้ปฏิบัติ ด้วยมุ่งว่าเราจักรู้จักสัจจธรรมที่ยังมิได้รู้

(ได้แก่โสดาปัตติมัคคญาณ)

๒๑. อัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ อัญญา หรือปัญญาอันรู้ทั่วถึง (ญาณ ๖ ในท่ามกลาง คือ โสดาปัตติผลญาณ

ถึงอรหัตตผลญาณ)

๒๒. อัญญาวินทรีย์ อินทรีย์แห่งท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือ ปัญญาของพระอรหันต์(ได้แก่อรหัตตผลญาณ)

(อินทรีย์ ๒๒ ที่มีมาในพระสูตรมีกระจายอยู่เป็นหมวด ๆ ในที่หลายแห่งไม่ครบทั้ง ๒๒ ในที่เดียวกัน)

อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (ดู กิเลสข้อ ๘ , เจตสิกข้อ ๑๗ , สังโยชน์ข้อ ๙)

อุทยวยญาณ(อุทยัพพยญาณ) ปัญญาญาณหยั่งรู้ความเกิด และความดับแห่งเบญจขันธ์

อุปคมนภัย ภัยอันเกิดแต่การเดินทางท่องเที่ยวไป(ท่องเที่ยวเกิดไปในวัฏสงสาร)

อุปปัตติภัย ภัยอันเกิดแต่การเกิดขึ้นแล้ว

อุปัทวภัย ภัยอันเกิดแต่สิ่งอุบาทว์จัญไร(ในใบลานที่เป็นอักษรขอมภาษาไทยว่า “อุปัทวภัย” ในสมุดไทยดำและหนังสือ

ชั้นหลังว่า “อุปวาทภัย” คือ ภัยอันเกิดแต่การว่าร้าย กล่าวร้าย)

อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม

๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นความเชื่อผิด ๆ

๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตที่ผิด

๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในวาทะว่าเป็นตัวตน ของตน

โอภาส ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ

๑.โอภาส คือ แสงสว่าง , ความสุกใส , ความเปล่งปลั่งส่องแสง , ผุดผ่อง(ข้อ ๑ ในวิปัสสนูปกิเลส)

๒.โอภาส คือ การพูด หรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทาง หรือให้โอกาส เช่น พระพุทธเจ้าทรงกระทำโอภาส ณ

ที่ต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าพระอานนท์เข้าใจ ก็จะทูลขอให้ทรงดำรงค์พระชนม์อยู่ตลอด(อายุ)กัป เป็นต้น