ประวัติความเป็นมาและแผนที่หมู่บ้านตะคร้อ

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตะคร้อ

เนื่องจากเรื่องราวของผู้ที่จำอดีตชาติได้ทั้ง ๑๖ รายในที่นี้ เกิดขึ้นในหมู่บ้านตะคร้อ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับหมู่บ้านตะคร้อและวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในหมู่บ้าน เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไปในเรื่องราวของผู้ที่จำอดีตชาติได้ ได้ดียิ่งขึ้น

หมู่บ้านตะคร้อ เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานพอสมควร มีหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของหมู่บ้านรอยต่อสามจังหวัดแห่งนี้ มีชาวบ้านพบโครงกระดูกของคนโบราณ ภาชนะดินเผา อาวุธ เคียว กระพรวนม้าโบราณ สุสานโบราณ และสิ่งของอื่นๆ อีกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วหมู่บ้านและรอบๆหมู่บ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกพักทัพ” “โคกพญาสั่ง” และ “หนองแร้ง หนองกา” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน เคยมีชาวบ้านขุดพบโครงกระดูก ภาชนะดินเผา และอาวุธโบราณจำนวนมาก จากการสืบค้นหลักฐานต่างๆทั้งจากทางด้านภูมิศาสตร์ โบราณคดี โบราณวัตถุ สันนิษฐานว่า น่าจะเคยมีการเคลื่อนทัพใหญ่มาพักทัพที่บริเวณหมู่บ้านตะคร้อแห่งนี้ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นช่วงใดสมัยใด และบริเวณนี้น่าจะเคยถูกใช้เป็นเส้นทางติดต่อกันทั้งทางน้ำและทางบกระหว่างเมืองเก่า “ศรีเทพ” ที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเมืองเก่า “ไพศาลี” ที่บ้านหนองไผ่ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์(อยู่ห่างจากหมู่บ้านตะคร้อไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร) ซึ่งทั้งสองเมืองเคยเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของอาณาจักรละโว้ เมื่อครั้งที่ขอมยังเรืองอำนาจ ตั้งแต่เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เหมือนกัน

มีผู้สูงอายุในหมู่บ้านท่านหนึ่งเคยเล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านตะคร้อแห่งนี้จากคำบอกเล่าต่อๆกันมาในครอบครัวของท่านว่า ในสมัยที่พม่าจัดทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ตอนนั้นมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากที่หนีตายออกจากเมืองกันไปก็มาก มีพวกหนึ่งหนีมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาถึงบริเวณหมู่บ้านตะคร้อแห่งนี้ ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าดงดิบยากที่ข้าศึกจะติดตามได้ ที่หนีมาด้วยกันทีแรกมีหลายคณะแต่ได้แยกกันไปคนละทิศคนละทาง พวกที่มาถึงที่บริเวณหมู่บ้านตะคร้อในปัจจุบันนี้ มีคณะของขุนศรี ขุนแว่นแก้ว นางคำมีและพี่น้องรวม ๖ ครอบครัว พร้อมทั้งช้างม้าและบริวาร คนพวกนี้เป็นควาญช้างที่มีความสามารถในการควบคุมช้างและจับช้าง มีพิธีการตั้งศาลบูชาช้างงาเดียวคล้ายกับพิธีของพวกควาญช้างที่เป็นมอญ ต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นชื่อว่า “วัดชุมพล” เนื่องจากที่บริเวณวัดแห่งนี้เมื่อก่อนเคยใช้เป็นที่ประชุมรวมพลเพื่อรับมือข้าศึก แต่ก็ไม่เคยมีข้าศึกมาสักครั้งเดียว ต่อมาขุนศรีได้เสียชีวิตลง ขุนแว่นแก้วจึงได้สร้างเจดีย์สำหรับเก็บอัฐิของขุนศรีขึ้นมาหนึ่งองค์(บริเวณข้างโบสถ์หลังเก่า) ต่อมาขุนแว่นแก้วได้บวชเป็นพระภิกษุชื่อว่าหลวงตาแก้ว และเมื่อขุนแว่นแก้วหรือหลวงตาแก้วมรณภาพลงก็มีผู้สร้างเจดีขึ้นอีกองค์หนึ่ง(อยู่ในสระน้ำของวัดในปัจจุบัน) ดังปรากฏว่ามีเจดีย์เก่าอยู่สององค์ในบริเวณวัดชุมพลหรือวัดใหญ่ในหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้ (นายต่าย นาคตระกูล : ๒๕๔๘)

ในอดีตเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว เท่าที่ผู้เขียนจำความได้ หมู่บ้านตะคร้อยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา ถนนหนทางก็เป็นทางเดินทางดินธรรมชาติและถนนลูกรัง ไม่ใช่ถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางมะตอย เหมือนอย่างทุกวันนี้ การเดินทางไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงหรือในตัวอำเภอก็ค่อนข้างจะยากลำบาก ใช้เวลามาก รอบๆหมู่บ้านยังเป็นป่ารก น้ำในลำห้วย หนอง บึง ยังใสไม่มีสารเคมีเจือปนใช้ดื่มกินได้ ในหมู่บ้านมีโรงเรียนประถมของรัฐบาล ๑ แห่ง มีโรงเรียนประถมของเอกชน ๑ แห่ง มีวัด ๒ วัด มีสถานีอนามัย ๑ แห่ง แต่ในตอนนั้นเด็กๆแรกเกิดในหมู่บ้านส่วนใหญ่ถูกทำคลอดโดยฝีมือของหมอตำแยพื้นบ้าน มากกว่าจะคลอดที่สถานีอนามัย มีสถานีตำรวจ ๑ แห่ง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่เลย ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นในสมัยนั้นมีอาวุธปืนใช้กันเกือบทุกครัวเรือน เพียงแค่รำวงเหยียบเท้ากันก็ยิงกันตาย ไล่ยิงกันกลางวันแสกๆ มีงานบุญงานบวช หรือมีภาพยนตร์มาฉายในหมู่บ้าน เป็นต้องมีการยิงกันตายเกือบทุกงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาในหมู่บ้านต้องบอกกล่าวคนใหญ่คนโตก่อน หรือใครต่างถิ่นมาแปลกๆหน้าต้องระมัดระวังตัว เนื่องจากมีผู้ตั้งตัวเป็นเสือเป็นนักเลงจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน

ต่างจากปัจจุบันนี้ที่การเดินทางสะดวกสบาย รอบๆหมู่บ้านไม่มีป่าให้เห็นแล้วมีแต่ที่ไร่ที่นาเตียนโล่ง น้ำในลำห้วย หนอง บึง ขุ่นและเต็มไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในไร่นาจนใช้ดื่มกินไม่ได้แล้ว มีโรงเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นมา ๑ แห่ง มีสถานีอนามัยใหม่ มีน้ำปะปาทันสมัย มีโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ สถานีตำรวจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการหลายสิบนาย เสือในอดีตเสียชีวิตไปก็มาก ที่ยังอยู่ก็อายุมากแล้ว คดีอาชญากรรมลดลงไปมาก แต่ร่องรอยอาชญากรรมในอดีต ยังคงตอกย้ำและยังคงได้รับการสืบทอด จากผู้ที่เคยถูกฆ่าตายในอดีต สู่รอยแผลเป็นที่มีมาตั้งแต่แรกเกิดของผู้ที่จำอดีตชาติได้ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน “หมู่บ้านตะคร้อ” เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วยหมู่บ้านทั้งหมด ๑๘ หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด ๑๑,๘๒๙ คน จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๓,๗๕๒ ครัวเรือน(ข้อมูลจากการสำรวจของ อบต.ตะคร้อ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๘) สำหรับชื่อของหมู่บ้านสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนบริเวณนี้มีต้นตะคร้อซึ่งผลมีรสเปรี้ยวขึ้นอยู่มากคนโบราณจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “โคกตะคร้อ” ต่อมาจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านตะคร้อ” เมื่อก่อนนี้รอบๆหมู่บ้านตะคร้อมีหมู่บ้านใกล้เคียงอยู่ ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านวังกระโดนน้อย บ้านวังกระโดนใหญ่ บ้านเขาเขียว และบ้านช่องคีรี แต่เนื่องจากหมู่บ้านตะคร้อมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น “ตำบลตะคร้อ” โดยรวมเอาหมู่บ้านทั้ง ๔ หมู่บ้านดังกล่าวเข้ามาอยู่ในตำบลตะคร้อและต่อมาได้มีการแบ่งออกเป็นหมู่เล็กๆถึง ๑๘ หมู่บ้าน ในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมาก คือ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง งา และมันสำปะหลัง

ทางด้านภูมิศาสตร์ หมู่บ้านตะคร้อในสมัยก่อน ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของ ๓ จังหวัดคือ ทางทิศตะวันออกมีเขตติดต่อกับตำบลภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ทางทิศใต้มีเขตติดต่อกับอำเภอหนองม่วงและอำเภอโคกเจริญจังหวัดลพบุรี และทางด้านทิศตะวันตกเป็นเขตอำเภอไพศาลี ซึ่งติดต่อกับอำเภอตากฟ้าและอำเภอท่าตะโกจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนทางด้านทิศเหนือติดกับเทือกเขาสอยดาว ซึ่งทอดตัวยาวเป็นระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านหนองไผ่และบ้านพระบาท ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลีไปจนถึงอำเภอวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนใหม่ ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ในปัจจุบันนี้เป็นเขตติดต่อกับ ตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี

แผนที่หมู่บ้านตะคร้อ

แผนที่เก่าที่แสดงว่าหมู่บ้านตะคร้อ

เป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด

แผนที่จำลองหมู่บ้านตะคร้อและหมู่บ้านใกล้เคียง

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว

ภาพถ่ายดาวเทียม ปัจจุบัน