ความเห็นของคนที่ยังไม่เชื่อ

บทความจากหนังสือ "กรรมและการเกิดใหม่ในสังคมร่วมสมัย"

เขียนโดย : นคปริย (Nagapriya )

แปลโดย : พล.ร.อ.จินดา ไชยอุดม

...มักจะมีผู้ที่อ้างว่าสามารถระลึกชาติได้อยู่เสมอ แต่ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อความรู้เรื่องเทวปรัชญาเจริญขึ้นในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการกล่าวอ้างอันน่าตื่นเต้นของบางคนที่เชื่อว่า เมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว เขาเป็นกษัตริย์ฟาโรห์แห่งอียิปต์ หรือพระราชินีโบราณ ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องฮือฮากันพักหนึ่ง แม้ว่าจะมีพวกเราหลายคนชอบที่จะเชื่ออย่างง่ายดายว่าบรรพบุรุษของเราเป็นผู้สูงศักดิ์และมีชื่อเสียง หรือยิ่งใหญ่เหลือล้น มากกว่าที่จะไปหาความจริงจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือ แต่เรื่องทำนองนี้ดูจะเป็นเรื่องของการสนองความเพ้อฝันหรือการหนีความจริงเสียมากกว่า

การอ้างเรื่องระลึกชาติประหลาดๆ เหล่านี้ แทนที่จะส่งเสริมความน่าเชื่อถือที่จะพึงมีในเรื่องการเกิดใหม่ กลับเป็นการทำให้ความน่าเชื่อถือเสื่อมลงอย่างไม่ต้องสงสัย และนี่ก็เป็นเหตุผลบางส่วนที่อธิบายว่าทำไม การระลีกชาติจึงเป็นเรื่องของความเชื่อของคนที่เพ้อฝันบ้าๆ บอๆ มากกว่าจะเป็นเรื่องของนักคิดที่เชื่อถือได้

ก่อนที่จะพิจารณาต่อไป ก็ควรจะได้ทราบว่า การพูดถึงเรื่องระลึกชาตินั้นมีปัญหายุ่งยากในเรื่องคำศัพท์ที่ใช้กันอยู่ หลายคนใช้คำว่า "การเกิดใหม่" (Rebirth) และคำว่า " การไปเกิด" (Reincarnation) ในความหมายเดียวกันหรือแทนกันได้ แต่ในทางเทคนิคแล้วมีความหมายต่างกัน พุทธศาสนายืนยันว่าการเกิดใหม่ ( ตามที่อธิบายมาแล้วในบทก่อน ) ต่างกับการไปเกิด ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ การไปเกิดเกี่ยวเนื่องอยู่กับการที่มีแก่นสารอันไม่เปลี่ยนแปลง จากชาตินี้ "ไปเกิด" ในชาติหน้า จุดยืนของพุทธศาสนานั้น มีลักษณะเชิงปฏิทรรศน์ Pardoxical : ขัดแย้งในตัวเอง) คือกล่าว มีการเกิดใหม่ แต่ไม่มีใครไปเกิด

เมื่อพิจารณาหลักฐานของการเกิดใหม่ ก็ต้องพูดถึงชาติก่อน เช่น " ฉันจะเกิดใหม่ " เป็นต้น คำพูดดังกล่าวนั้น อาจหมายถึง หรืออาจกลายเป็นความเชื่อ ว่ามีตัวตนจากชาติหนึ่งไปเกิดในอีกชาติหนึ่งได้ และทำให้เชื่อว่า "ฉัน" ยังคงอยู่ แม้กระทั่งจนชั่วนิรันดรก็ได้ พุทธศาสนาปฏิเสธความเชื่อเช่นนั้น

ถ้าเรานึกในเชิงจินตภาพ การไปเกิดก็เหมือนกับพวงลูกปัด แต่ละชีวิตร้อยอยู่ด้วยเส้นด้ายเส้นเดียวกัน คือวิญญาณ หรือ ตัวตนที่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนการเกิดใหม่เปรียบเหมือนกองของเงินเหรียญ แต่ละเหรียญเรียงซ้อนกันขึ้นไปตามลำดับ และขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมันในกองนั้น คือขึ้นอยู่กับเหรียญที่อยู่ก่อนหน้า ไม่มีเส้นด้ายอันถาวรร้อยเหรียญเหล่านั้นแต่อย่างใด

โดยนึกถึงความแตกต่างนี้ไว้ เราก็จะพิจารณาหลักฐานที่สนับสนุนเรื่องการเกิดใหม่บางประการที่น่าเชื่อถือมากกว่าได้

ในการนี้จะหาหลักฐานที่ไม่ลำเอียงค่อนข้างยากสักหน่อย เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือมีผู้สืบค้นที่สนใจตรวจสอบกรณีที่พบอย่างถี่ถ้วนจริงจังน้อยมาก เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่มักจะค่อนข้างซับซ้อน ไม่ชัดเจน และมีปัญหาตามมามากมาย แต่ ณ ที่นี้ไม่ใช่ที่ที่จะมาวิจารณ์เรื่องนี้กันโดยละเอียด แม้กระนั้นก็มีบางประเด็นที่ควรพิจารณา อาจแบ่งการวิจัยเกี่ยวกับการระลึกชาติ ออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ การระลึกชาติตามความทรงจำของเด็ก อ้างตำหนิแต่กำเนิด และ การระลึกชาติย้อนหลังของผู้ใหญ่ ประเภทหลังดูจะมีความน่าเชื่อน้อยที่สุด

ตัวอย่างหนึ่งของการระลึกชาติย้อนหลัง ก็คือกรณีของ บริดี เมอร์ฟี ( Bridey Murphy) ในปี ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งเป็นหนังสือและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง ตามเรื่องกล่าวถึง เวอร์จิเนีย ติก (Virginia Tighe) สุภาพสตรีจากโคโลราโด ที่ถูกสะกดจิต แล้วได้ "ระลึก" ชีวิตของสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๙ ณ เมืองคอร์ค (Cork) ในไอร์แลนด์ ๙๒ ในระหว่างที่ถูกสะกดจิตอยู่นั้น เธอจะพูดภาษาไอริชท้องถิ่น ร้องเพลงไอริช และจำได้ว่าถูกดึงตัวไว้เมื่อเธอก้มลงจูบบลาร์นี สโตน (Blarney Stone) ต่อมาปรากฏว่าไม่เคยมีการชี้ชัดว่ามีสตรีชาวไอริชในศตวรรษที่ ๑๙ ที่ตรงกับบรินี เมอร์ฟีเลย แต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้พบว่ามีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า บรินี เมอร์ฟี คอร์เคลล์ (Bridie Murphy Corkell) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐ ที่วิสคอนซิน(Wisconsin) และปรากฏว่าสตรีผู้นี้อาศัยอยู่ในบ้านตรงข้ามกับบ้านที่เวอร์จิเนีย ติก เติบโตมา เรื่องที่เวอร์จิเนียรายงานเมื่อถูกสะกดจิตนั้นไม่ใช่เรื่องชีวิตในชาติก่อนที่ระลึกได้ แต่เป็นเรื่องที่ปะติดปะต่อขึ้นจากความจำในสมัยที่เธอเป็นเด็กนั่นเอง

เรื่องการระลึกชาติย้อนหลัง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถชี้ให้เห็นความจริงที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงได้โดยง่าย แต่เรื่องเช่นนี้ แม้เรื่องที่ดูน่าเชื่อที่สุดก็ตาม ก็มักจะเป็นการบรรยายเรื่องราวของชีวิตซึ่งไม่ค่อยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ นี่ย่อมหมายความว่าเรื่องชีวิตในชาติก่อนตามคำบอกเล่าของผู้ระลึกชาตินั้น ส่วนมากเป็นเรื่องที่พิสูจน์ความจริงไม่ได้ การศึกษาวิจัยเรื่องการเกิดใหม่อย่างเป็นระบบ และพยายามสร้างทฤษฎีการเกิดใหม่ให้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือ

ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม่มีผู้ใดจะได้กระทำเกินกว่า ดร.เอียน สตีเวนสัน(Dr. Ian Stevenson) เลย ท่านได้เขียนหนังสือหลายเล่ม ที่บันทึกกรณีต่างๆ นับพันกรณี ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ของการเกิดใหม่ ตามที่ท่านได้ศึกษาค้นคว้ามา ๙๓ กรณีต่างๆ ของท่านไม่ใช่เรื่องชวนตื่นเต้น และเรื่องระลึกชาติตามที่ผู้เป็นพยานบอกเล่า ก็ไม่ใช่เรื่องของบุคคลสำคัญหรือมีชื่อเสียง แต่เป็นเรื่องของบุคคลธรรมดา ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

กรณีต่างๆ จะเป็นตามแบบดังนี้คือ

เด็กคนหนึ่งจะเล่าเรื่องราวของผู้ตายคนหนึ่ง ( "ตัวตนเมื่อชาติก่อน" ขอแทนด้วยอักษรย่อ ตก.) ตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ปกติก็ระหว่าง ๒ ถึง ๕ ขวบ และโดยทั่วไปจะเล่าไปจนถึงมีอายุได้ ๕ ถึง ๘ ขวบ แต่ก็ไม่เสมอไป บางทีก็จะเล่าถึงเพื่อนๆ หรือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ในบางกรณี ครอบครัวที่อ้างถึงก็ไม่รู้จัก ตก. เด็กคนนั้นอาจรบเร้าให้พาไป "บ้าน" ซึ่งก็คือบ้านของ ตก. และมักจะอ้างกันบ่อยๆ ว่า เด็กจำครอบครัว และ เพื่อนๆ ของ ตก. ได้โดยไม่ต้องแนะ ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับ ตก. ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่อาจรู้ได้ด้วยวิธีตามปกติธรรมดาอีกด้วย คล้ายจะเน้นความจริงในเรื่องที่เล่า เด็กบางคนก็แสดงตำหนิแต่กำเนิดของตน และอ้างว่าตรงกับแผลเป็นของ ตก. ซึ่งบางทีก็มีการยืนยันจากรายงานชันสูตรศพ เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของ ตก. เช่นความกลัวที่สัมพันธ์กับการตายของ ตก.

หนังสือชื่อ Old Soul ประพันธ์โดยทอม ชโลเดอร์ (Tom Shroder) นักหนังสือพิมพ์ เป็นบันทึกเรื่องราวที่เขาได้ร่วมเดินทางไปกับสตีเวนสัน ในการศึกษาค้นคว้าภาคสนามเรื่องการระลึกชาติ ๙๔ ชโลเดอร์ มีความสงสัยในเรื่องนี้อย่างมากตั้งแต่แรก แต่แล้วความเชื่อแบบวัตถุนิยมตามสัญชาติญาณของเขาก็ได้ถูกท้าทายอย่างแรง จากพยานมากหลายที่เขาได้พบที่เลบานอนและอินเดีย

การวิจัยของสตีเวนสัน แสดงให้เห็นลักษณะร่วมกันหลายประการ ในบรรดาผู้อ้างว่าระลึกชาติได้ ประการแรก ในชุมชนที่ยอมรับหรือเชื่อเรื่องการเกิดใหม่หรือการไปเกิดอย่างกว้างขวาง จะมีผู้ที่อ้างว่าระลึกชาติได้เป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ผู้กังขา (Sceptic) อาจอธิบายว่า แม้จะเป็นได้ว่าความจริงทำให้เกิดมีความเชื่อ มากกว่าจะเป็นในทางกลับกันก็ตาม แต่ในชุมชนเช่นนั้น การระลึกชาติดูจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา สำหรับชาวตะวันตกแล้ว มีผู้อ้างว่าระลึกชาติได้จำนวนน้อยมาก ทั้งนี้อาจเพราะการระลึกได้เช่นนั้น ถ้ามีขึ้น ก็มิได้ถือเป็นจริงเป็นจังนัก ดังนั้นเด็กๆ จึงระงับความคิดว่าตนระลึกชาติได้ลงเสียโดยง่าย แต่ก็ควรสังเกตไว้ด้วยว่ามิใช่ไม่มีกรณีเช่นนั้นเลย

ประการที่สอง เด็กที่ระลึกชาติได้นั้น มีหลายคนจำได้ว่าเขาตายในภาวะที่รุนแรงหรือน่าเศร้าสลด ถ้าเรื่องที่จำได้เช่นนี้เป็นความจริง ก็ชี้ให้เห็นว่าการกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงนี้ทำให้ลืมเหตุการณ์นี้ไม่ได้ ซึ่งตามปกติคนเราจะลืมอดีตที่ร้ายแรงเสีย เพื่อให้ชีวิตปัจจุบันไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องในอดีตนั้นจนสับสนใน เอกลักษณ์ของตน อาจเป็นไปได้ว่าในบางกรณี ประสบการณ์ในชาติก่อนที่ดูร้ายแรงราวกับละครนั้น จะเป็นเหมือนการบันทึกแผลในใจของชีวิตปัจจุบันที่หนักหนาเกินกว่าจะเผชิญโดยตรง

ในกรณีต่างๆ ของสตีเวนสัน นั้น มีหลายกรณีที่ผู้เล่าได้ถือว่า ตัวเองเป็นคนเดียวกันกับตัวตนในชาติก่อนอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่เป็นคนเดียวกันกับตัวเขาในชาตินี้ บางครั้งก็มากเกินไปจนทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับความทรงจำเก่าๆ หรืออยากที่จะไปอยู่ร่วมกับครอบครัวของ ตก. เมื่อคนเรารู้สึกว่าผูกพันไกล้ชิดกับชีวิตในชาติก่อนมากกว่าชีวิตในชาตินี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตทางบุคลิกภาพขึ้นได้ เช่นกรณีหนึ่ง เด็กคนหนึ่งมีกำเนิดเป็นชาวมุสลิม แต่อ้างว่าเขามาจากครอบครัวฮินดู และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามประเพณีของมุสลิม โดยที่ศาสนาอิสลามปฏิเสธเรื่องการเกิดใหม่ กรณีนี้จึงน่าสนใจยิ่ง และยากที่จะอธิบายว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เรื่องนี้แทนที่ครอบครัวจะได้ประโยชน์ ก็กลับต้องลำบากใจและไม่สบายใจอย่างยิ่ง

กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าการเกิดใหม่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ย่อมจะเป็นการดี ถ้าหากมีกลไกที่จะกดหรือระงับความจำชาติก่อนไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและเดือดเนื้อร้อนใจเช่นนี้ ข้อนี้นับว่าเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมจึงไม่ค่อยจะมีใคร จดจำความทรงจำชาติก่อนไว้

ประการที่สามที่น่าสนใจ ก็คือช่วงเวลาระหว่างการตายของ ตก. กับการเกิดใหม่ในชาตินี้ ในกรณีต่างๆ ของสตีเวนสัน ปรากฏว่ามีช่วงเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ ๘ เดือน ซึ่งหมายถึงว่า ตก. "เข้าสู่" ตัวเด็กอ่อนในครรภ์(Foetus) ตามขั้นตอนของการพัฒนาค่อนข้างจะล่าช้า และไม่ใช่ขณะปฏิสนธิแน่นอน ข้าพเจ้าคิดว่า ตามทัศนะของพุทธศาสนานั้น วิญญาณจะเข้าร่วมกับไข่ที่สุกแล้วในขณะปฏิสนธิ ถ้าหากว่า ตก. เข้าร่วมกับเด็กอ่อนในขั้นที่ค่อนข้างล่าช้านั้นเป็นความจริงแล้ว เด็กอ่อนในครรภ์ก็จะต้องมีวิญญาณก่อนหน้านี้แล้วมิใช่หรือ? ถ้าไม่มีตัวตนอื่นที่หาที่เกิดใหม่มาแทรกแล้ว เด็กอ่อนนั้นจะมีชีวิตรอดหรือ? หรือว่ามีตัวตน "ที่ดำรงอยู่ก่อน" ซึ่งก็จะพัฒนาต่อไปได้อยู่ดี?

ประการสุดท้าย ดังที่เราได้ทราบมาแล้วว่า พุทธศาสนาตามที่ยึดถือกันสืบมาถือว่าสถานะของชีวิตในชาตินี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติทางธรรมของเราในชาติก่อน แต่ชโลเดอร์มีความเห็นจากกรณีที่เขาพบเห็นนั้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตทั้งสอง(ชาติก่อนกับชาตินี้) มีลักษณะเป็นไปเองและตามธรรมชาติ คล้ายกับตำบลที่ที่ต้นโอ๊คอ่อนขึ้นอยู่ อาจสัมพันธ์กับต้นโอ๊คแก่นับร้อยปีซึ่งลูกของมันร่วงหล่นลงมา...การร่วงหล่นนี้ขึ้นอยู่กับระยะใกล้ชิด กระแสลม และโชค มิได้ขึ้นอยู่กับกฎแห่งศีลธรรมเลย

พุทธศาสนาแบบขนบประเพณี อาจอธิบายความไม่สอดคล้องกันนี้ว่า การเกิดใหม่ในชาตินี้อาจขึ้นอยู่กับชาติอื่นๆ ก่อนหน้าชาติที่แล้วก็ได้ แต่นี่ก็ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ข้อยุติส่วนตัวของชโลเดอร์หลังจากที่เขาได้ร่วมเดินทางไปกับสตีเวนสันนั้นน่าสนใจมาก ความเป็นนักวัตถุนิยมผู้มีความเคลือบแคลงสงสัยเป็นพื้นเดิมนั้น ถูกสั่นคลอนอย่างมากโดยผู้คนที่เขาได้พบเห็น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเขายอมรับหลักฐานอย่างผิวเผิน เขาเชื่อว่า การที่คิดว่าตัวตนหนึ่งไปเกิดเป็นอีกตัวตนหนึ่งนั้น เป็นแบบจำลองในลักษณะเชิงเส้นและง่ายเกินไปที่จะใช้อธิบายว่ามันเป็นไปอย่างไร

เด็กเหล่านี้มีความสำคัญในเรื่องที่เขาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เราตาย น้อยกว่าในเรื่องที่เขาบอกว่าโลกมันเป็นไปอย่างไร คือมันป็นเรื่องลึกลับ และมีพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าดลบันดาลอยู่ เราทั้งมวลล้วนเชื่อมโยงกันด้วยพลังที่เหนือความเข้าใจของเรา แต่ก็แน่ละ ย่อมเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง

หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องเชื่อ แต่อย่างน้อยก็มีเรื่องที่น่าเชื่ออยู่บ้าง และยากที่จะอธิบายด้วยความรู้ที่มีอยู่ ผู้ที่เคลือบแคลงสงสัยอาจชี้ให้เห็นว่ามีกรณีที่ไม่จริงหรือหลอกลวงอยู่มากมาย แต่ก็มิได้หมายความว่าหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นไม่จริง ยังมีการอธิบายเรื่องการเกิดใหม่อย่างอื่นๆ อีก เช่น คริพโตมเนเซีย (Cryptomnesia) คือ เมื่อบางคนได้เรียนรู้ถึงชีวิตของคนอื่น แล้วลืมไปว่าได้เรียนรู้ อีกอย่างคือ ความจำเป็นเชิงพันธุกรรม (Genetic Memory) เป็นทฤษฎีที่คาดคะเน ว่าความทรงจำของบิดามารดา และ ปู่ย่าตายาย ได้ถ่ายทอดสู่บุตรหลานโดยเป็นรหัสในยีน และปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มีญาณพิเศษสามารถระลึกชาติได้

การอธิบายเหล่านี้มีหลายอย่าง ซึ่งดูเหมือนว่าจะแปลกประหลาดและไร้เหตุผลไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเกิดใหม่เลย แม้บางอย่างจะอธิบายโดยนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม เหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งผู้สังเกตการณ์ใช้วิธีการอธิบายเหล่านี้ ก็เพราะขาดแบบจำลองที่จะใช้อธิบายว่าการเกิดใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อนี้ดูเหมือนจะเสริมให้มีอคติอย่างไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อเรื่องการเกิดใหม่ แต่หลักฐานที่มีอยู่แสดงว่า แม้จะขาดแบบจำลองที่เชื่อถือได้ ก็มิใช่ว่าการเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ตามลายลักษณ์อักษรนั้นจะไร้เหตุผลเสียทีเดียว ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรไปกล่าวหา ผู้ที่ไม่เชื่อการเกิดใหม่ว่า เป็นผู้ไม่ยอมรับความจริง

การนี้ก็เท่ากับเป็นการส่งลูกกลับคืนให้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกด้วยตัวเราเอง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ต้องถามตัวเองว่าที่เราเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นด้วยเหตุใด และมันมีความหมายต่อการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันนี้อย่างไร

คำตอบที่ซื่อตรงที่สุดน่าจะเป็นในลักษณะอไญยนิยม (Agnostic) คือเราไม่รู้จริง เรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาเชิงอารมณ์เช่นนี้ ย่อมไม่ง่ายเลยที่จะไม่ลำเอียง เพราะลักษณะนิสัยของเราย่อมจะจูงเราให้โน้มเอียงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ความจริงมีอยู่ว่า แม้เราจะยอมรับบางกรณีที่แสดงว่ามีการเกิดใหม่จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเกิดใหม่ด้วย เพราะว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่า ทุกคน จะต้องเกิดใหม่ ก็เมื่อเราไม่รู้จริงว่า เราจะเกิดใหม่หรือไม่เกิดเช่นนี้แล้ว เราอยู่ตรงไหนกันเล่า? สถานะไม่แน่นอนเช่นนี้โยนเรากลับมาสู่ความจริงของชีวิตนี้ พร้อมกับความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดการกับวิถีชีวิตของเราเดี๋ยวนี้ไม่มีการประกันใดๆ ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เรารู้ว่า เราสร้างตัวเราเองขึ้นใหม่ทุกๆ วัน และสร้างโลกที่สอดคล้องกับนิสัยของเรา เราควรจะมุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่ปัญหาและความยุ่งยากในชีวิตประจำวันที่เป็นรูปธรรม และในทางปฏิบัติ มากกว่าที่จะไปมัวสนใจอยู่กับเรื่องชีวิตหลังความตาย อันเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแท้จริง เรากำลังสร้างชีวิตที่ดีขึ้นหรือเลวลง ทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่น? เราต้องระวังไม่ให้การคาดเดาในเรื่องการเกิดใหม่ มาหันเหความสนใจไปจากความรับผิดชอบสำคัญต่อชีวิตในปัจจุบันของเรา...

ที่มาของข้อมูล :

บทความนี้คัดมาจากบทที่ 10 ของหนังสือ "Exploring Karma & Rebirth" หรือ "กรรมและการเกิดใหม่ในสังคมร่วมสมัย" เขียนโดย นคปริย (Nagapriya ) แปลโดย พล.ร.อ.จินดา ไชยอุดม สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา (http://suan-spirit.com/home_products.asp)