คำขยายความ ก-ค

คำขยายความหมวดอักษร

ก - ค

กงวาน กงที่มีรูสำหรับน้ำเดินที่ท้องเรือ , กระดูกงูเรือ

กตัตตารูป รูปที่กรรมปรุงแต่ง

กรรมนิมิต นิมิตเครื่องหมายของกรรมที่เคยทำไว้ อันปรากฏแสดงขึ้นเฉพาะหน้าเมื่อใกล้ตาย

กอปร ประกอบ

กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่งในสองอย่างที่ไม่ใช่หนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์คือ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ อัตตกิลมถานุโยค ๑ ซึ่งผู้แสวงหาความดับทุกข์(นิพพาน)ไม่ควรข้อง

กิเลส เครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง,ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิดทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ ,สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำจิตให้ผ่องใสหลุดพ้น ได้แก่

กิเลส ๑๐ คือ

๑. โลภกิเลส กิเลส คือความโลภ (ปรารถนาอยากได้ อยากมี อยากเป็น)

๒. โทสกิเลส กิเลส คือความโกรธ (ขัดเคือง แค้น คิดประทุษร้าย ผูกพยาบาท)

๓. โมหกิเลส กิเลส คือความหลง (ไม่รู้ โง่เขลา ติดอยู่)

๔. มานะกิเลส กิเลส คือความถือตัว (ถือตัวว่าตัวสูงกว่า เสมอ หรือต่ำกว่าเขา)

๕. ทิฏฐิกิเลส กิเลส คือความเห็น (ยึดถือในความเห็น ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ผิด)

๖. วิจิกิจฉากิเลส กิเลส คือความลังเลสงสัย (ไม่เชื่อ ไม่ปักใจเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ)

๗. ถีนกิเลส กิเลส คือความหดหู่ท้อแท้ (เกียจคร้าน ง่วงซึม ไม่ปรารภความเพียร)

๘. อุทธัจจกิเลส กิเลส คือความฟุ้งซ่าน (จิตไม่สงบ ส่ายไปมา ไม่อยู่นิ่ง)

๙. อหิริกกิเลส กิเลส คือความไม่ระอายต่อบาปอกุศล

๑๐. อโนตตัปปกิเลส กิเลส คือความไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศล

อุปกิเลส(จิตตอุปกิเลส) ๑๖ คือ

๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ความโลภอยากได้ ไม่เลือกควรไม่ควร (ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ)

๒. โกธะ ความโกรธ (ขัดเคืองในใจ)

๓. พยาบาท คิดร้ายเขา (หมายให้เกิดผลร้ายต่อเขา)

๔. อุปนาหะ ความผูกโกรธ ผูกพยาบาท (เก็บความขัดเคืองไว้ในใจตน , ตั้งใจไว้หมายให้เขาขัดเคืองใจ

หมายให้เกิดผลร้ายต่อเขาเมื่อสบโอกาส)

๕. มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน (ไม่เคารพในคุณค่าความดีของผู้อื่น , ไม่รู้คุณคน)

๖. ปลาสะ ยกตนเทียมท่าน (ความตีเสมอ , ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ)

๗. อิสสา ความริษยา (ไม่อยากเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน)

๘. มัจฉริยะ ความตระหนี่ (ไม่รู้จักใช้ในสิ่งที่ควรใช้)

๙. มายา มารยา (ไม่จริง , ลวง ,เสแสร้ง ,มีเล่ห์กล)

๑๐. สาเถย ความโอ้อวด (ปรารถนาให้ผู้อื่นชมเชย สรรเสริญ)

๑๑. ถัมภะ ความหัวดื้อ (ขัดขืน , ไม่เชื่อฟัง , ไม่ทำตาม)

๑๒. สารัมภะ ความแข่งดี (ชิงเอาชนะ , ไม่ยอมลดละมุ่งแต่จะเอาชนะกัน)

๑๓. มานะ ความถือตัว (เย่อหยิ่งว่าตนสูงกว่าเขา , ยกตนว่าเสมอเขา , หยามตนว่าต่ำกว่าเขา, เอาตัวเอง

ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น)

๑๔. อติมานะ ความดูหมิ่น (หมิ่นว่าเขาต่ำกว่าตน , ไม่สูงกว่าตน , ไม่เสมอตน)

๑๕. มทะ ความมัวเมา (หลงว่าดี , ลุ่มหลงในสิ่งอันชั่ว

๑๖. ปมาทะ ความประมาท (ละเลย , เลินเล่อ , ไม่ใส่ใจ)

*** ในธัมมทายาทสูตร กล่าวไว้ต่างออกไปในข้อ ๓ จาก พยาบาท เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา)

กิเลส ๑๕๐๐ กิเลสที่จัดเป็นชุดจำนวน ๑๕๐๐ อย่างนี้ ไม่มีในบาลี แม้จะมีกล่าวถึงใน อรรถกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่างไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากสุดจำนวนเพียง ๓๓๖ เท่านั้น ในหนังสือสมัยหลัง เช่น ไตรภูมิพระร่วง และหนังสืออธิบายพระอภิธรรมของ นายสาย สายเกษม เป็นต้น ที่มีการแสดงจำนวน และวิธีนับไว้ บางแห่ง แสดงไว้ว่า ได้แก่ ธรรมที่เป็นอารมณ์ คือ จิต ๑ เจตสิก ๕๒ นิปผันนรูป ๑๘ ลักขณรูป ๔ (อุปาทายรูป ๒๔ ตัดออก ๒ คือ ตัดรูปที่แสดงเพศชาย หญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง และตัดอากาศธาตุออก)รวมเป็น ๗๕ X ภายนอก ภายใน (๒) X กิเลส ๑๐ = ๑๕๐๐ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่อาจถือเป็นที่ยุติ เพราะไม่ได้มีมาแต่เดิมในพระบาลี

กิเลสภัย ภัยอันเกิดแต่กิเลส คือ เครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่บริสุทธิ์

คตินิมิต นิมิตเครื่องหมายให้รู้ถึงแดนที่จะไปเกิดในภพภูมิถัดไป อันปรากฏแสดงเฉพาะหน้าเมื่อใกล้ตาย

คันธกุฏี กุฏีอบกลิ่นหอม,กุฏีที่ประทับของพระพุทธเจ้า(ไม่มีในพระไตรปิฎก มีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่มีขึ้นในภายหลัง)