เมื่อชาติหน้ามีจริงแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อเราทราบว่าชาติหน้ามีจริง

แล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

จากการศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติได้จำนวนมากของคณะศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายๆคณะ และจากการศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติของผู้เขียนเองพบว่า นอกจากหลักฐานที่ได้จากคำพูดและการแสดงออกของผู้ที่จำอดีตชาติได้ ที่ตรงกันกับเรื่องราวชีวิต ลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความเคยชิน หรือความชำนาญของบุคคลในอดีตชาติแล้ว ยังมีหลักฐานอื่นๆที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งรอยตำหนิบนผิวหนัง รอยแผลเป็น อาการความผิดปกติ และความผิดปกติพิการตั้งแต่กำเนิด ที่ตรงกันกับตำแหน่งของร่องรอยต่างๆ รอยบาดแผล หรือรอยป้ายศพที่มีอยู่บนร่างกายของผู้เสียชีวิต และตรงกันกับลักษณะอาการป่วย หรือลักษณะความผิดปกติอื่นๆของบุคคลที่เสียชีวิต ที่ผู้ที่จำอดีตชาติได้อ้างว่าเป็นตัวเขาในอดีตชาติ ซึ่งหลักฐานที่เป็นรูปธรรมต่างๆดังกล่าว สามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ยืนยันได้ว่า การสืบชาติมาเกิดใหม่ของคนเรานั้นมีอยู่จริง และไม่ใช่มีการเกิดใหม่อีกเพียงครั้งเดียวในวันพิพากษาอย่างที่หลายๆศาสนาเชื่อกัน เนื่องจากพบผู้ที่จำอดีตชาติบางรายสามารถจำอดีตชาติได้มากกว่าหนึ่งชาติ บางรายจำได้ว่าเคยเกิดมาแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม และบางรายมีประสบการณ์ชีวิตหลังความตาย คือ มีชีวิตอยู่ในสภาวะที่ไม่ใช่มนุษย์ และได้ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่โลกมนุษย์ นั่นหมายความว่านอกจากการเกิดใหม่ในชาติหน้าจะมีอยู่จริงแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะอื่นๆ ในสภาวะอื่นๆ หรือภพภูมิอื่นๆนอกเหนือจากการเกิดเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้ ก็น่าจะมีจริง

มีคำถามว่า "เมื่อเราทราบว่าชาติหน้ามีจริงแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ?"

ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ท่านได้ใช้ความจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับผู้ที่จำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิดใหม่ของท่าน ไปใช้ในการพยายามเปลี่ยนทัศนคติของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการตรวจหาสมุฏฐานของโรค รอยตำหนิ แผลเป็น อาการความผิดปกติ และความผิดปกติพิการตั้งแต่กำเนิด ท่านบอกว่า "มีบางกรณีไม่สามารถใช้สมุฏฐานเกี่ยวกับ การใช้ยาของมารดา โรคของมารดา ความผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการสืบทอดทางพันธุ์กรรมมาอธิบายได้เพียงพอ" รวมทั้งการวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก ว่าบางกรณีอาจไม่ได้เป็นผลมาจากสภาวะแวดล้อมจากครอบครัวพ่อแม่ การเรียนรู้รับรู้ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ นับตั้งแต่แรกเกิด ท่านพบว่า สมุฏฐานของโรค รอยตำหนิ แผลเป็น อาการความผิดปกติ ความผิดปกติพิการตั้งแต่กำเนิด พฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก บางกรณีก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากชีวิตในอดีตชาติ ท่านบอกว่า "การใช้คำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สืบทอดมาจากอดีตชาติ ดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าที่จะอธิบายเป็นอย่างอื่น" ซึ่งผลจากการติดตามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิดมากว่า ๔๗ ปี ของท่าน ได้นำไปสู่การวิเคราะห์ ดูแล บำบัด และการรักษาแบบใหม่ ที่แพทย์จะต้องรวมเอากรณีความสัมพันธ์ที่สืบทอดมาจากอดีตชาติ เข้าไปใช้พิจารณาเพิ่มเติมจากสมุฏฐานที่มีอยู่เดิมทั้งหมด

นอกจากนี้ท่านยังนำความจริงที่ได้ ไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และรักษาอาการทางจิต ของเด็กหรือคนไข้ที่เป็นโรคกลัว(Phobias) เช่น กลัวน้ำ กลัวการนั่งเรือ กลัวที่จะอยู่ในที่แคบๆ เป็นต้น ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า บางกรณีมีสาเหตุมาจากความทรงจำที่เลวร้ายเมื่อในอดีตชาติ ที่ยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เช่น ในอดีตชาติเคยตกน้ำตาย ตายเพราะเรือล่ม หรือตายเพราะถูกฝังทั้งเป็น เมื่อเกิดมาในชาตินี้จึง กลัวน้ำ กลัวการนั่งเรือ หรือกลัวที่แคบ เป็นต้น หรือนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและพัฒนาการต่างๆของเด็ก เช่น การแสดงออกที่เกินวัย คำพูดที่ก้าวร้าว หรือพฤติกรรมที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กในวัยเดียวกัน เด็กมีความสามารถหรือความชำนาญพิเศษที่เด็กยังไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน หรือเด็กพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาของคนใกล้ชิดหรือภาษาถิ่นได้ทั้งๆที่เด็กไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน เป็นต้น

ส่วนในทางศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ ที่ไม่เชื่อเกี่ยวกับเรื่องของการสืบชาติมาเกิดใหม่ และการเวียนว่ายตายเกิดได้หลายชาติ ก็คงต้องหันมาสนใจและใส่ใจกับความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา จะสั่นคลอนก็ตาม "เพราะความจริงก็คือความจริง ถ้าเราไม่เชื่อถือและศรัทธาในความเป็นจริงแล้วเราจะเชื่อถือศรัทธาสิ่งใดได้อีก"

สำหรับศาสนาพุทธนั้น เป็นศาสนาเดียวในโลกที่มีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของการระลึกชาติได้ตายแล้วเกิดได้หลายชาติ ไว้อย่างมากมายและชัดเจนที่สุด ซึ่งแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่แม้ว่าจะเชื่อเรื่องของการเกิดใหม่ได้หลายชาติคล้ายๆกัน แต่ไม่มีคำสอนในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเล่มใด ที่มีการกล่าวถึงการระลึกชาติได้ไว้อย่างชัดเจน เหมือนอย่างในศาสนาพุทธเลย

ในศาสนาพุทธนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงประกาศมานานแล้วว่าชาติหน้ามีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง เพราะตัวของท่านเองสำเร็จปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถตามระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้เป็นอันมาก นับชาติไม่ถ้วน ซึ่งท่านเคยเกิดเป็นทั้ง พรหม เทวดา มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ รวมทั้งสัตว์นรก ดังที่ท่านได้ทรงแสดงไว้ว่า ภพหรือแดนเกิดของหมู่สัตว์ที่ท่านรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณนั้นมีทั้งหมด ๓ ภพ หลักๆคือ

๑. กามภพ คือสภาวะหรือแดนเกิดของหมู่สัตว์ที่ยังข้องอยู่ในกาม(กามาวจรภูมิ๑๑) ได้แก่

- นรกภูมิ - ดาวดึงส์ภูมิ

- ติรัจฉานภูมิ - ยามาภูมิ

- เปรตภูมิ - ดุสิตภูมิ

- อสุรกายภูมิ - นิมมานรดีภูมิ

- มนุษย์ภูมิ - ปรนิมมิตวสวัตดีภูมิ

- จตุมหาราชิกาภูมิ

(อบายภูมิ ๔ + มนุษย์ภูมิ ๑ + สวรรค์ ๖)

๒. รูปภพ สภาวะหรือแดนเกิดของพรหมมีรูป(รูปาวจรภูมิ ๑๖) ได้แก่

- พรหมปาริสัชชาภูมิ - สุภกิณหาภูมิ

- พรหมปุโรหิตาภูมิ - เวหัปผลาภูมิ

- มหาพรหมาภูมิ - อสัญญีสัตว์ภูมิ

- ปริตตาภาภูมิ - อวิหาภูมิ

- อัปปมาณาภาภูมิ - อตัปปาภูมิ

- อาภัสสราภูมิ - สุทัสสาภูมิ

- ปริตตสุภาภูมิ - สุทัสสีภูมิ

- อัปปมาณสุภาภูมิ - อกนิฏฐาภูมิ

๓. อรูปภพ สภาวะหรือแดนเกิดของพรหมไม่มีรูป(อรูปาวจรภูมิ ๔) ได้แก่

- อากาสานัญจายตนภูมิ

- วิญญาณัญจายตนภูมิ

- อากิญจัญญายตนภูมิ

- เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

รวมภพภูมิที่เป็นแดนเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมด ๓๑ ภพภูมิ(สภาวะ) แดนเกิดทั้งหลายเหล่านี้เป็นที่สำหรับเหล่าสัตว์ทั้งหลายเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่

พระพุทธองค์ท่านทรงเห็นในภพคือแดนเกิดของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้ชัดว่าไม่มีภพภูมิไหนที่มีความสุขสมบูรณ์และเป็นอมตะ แม้แต่พรหมชั้นสูงสุดที่มีอายุยาวนานถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป ท่านก็เรียกว่า “ท่านผู้มีอายุ” คือยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปเมื่อหมดอายุก็ต้องจุติ(ดับ,ตาย)จากภพนั้นและมีกำเนิดในภพอื่นต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย และถ้าหากต้องมีกำเนิดในภพภูมิที่ต่ำกว่าเดิม มีฤทธิ์น้อยกว่าเดิม มีรัศมีน้อยกว่าเดิม และจำอดีตชาติในกาลก่อนได้ ก็เกิดความทุกข์อันเกิดจากความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก(คือภพภูมิอันเป็นที่รักที่พึงพอใจ) ความที่ได้ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พึงปรารถนา(คือภพภูมิที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พึงพอใจ) และความที่ปรารถนาแล้วไม่สมปรารถนาว่า(คือปรารถนาที่จะอยู่ในภพภูมินั้นชั่วนิรันดร์ แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่ปรารถนาเพราะไม่มีภพภูมิใดที่เป็นอมตะนิรันดร์)

เมื่อพระพุทธองค์ท่านทรงเห็นในภพดังนี้แล้วท่านจึงไม่ปรารถนาในภพ ทรงเกิดธรรมสังเวช คือ ความหน่ายในภพ จึงทรงแสวงหาหนทางที่จะออกจากภพ และทรงเห็นว่าความเกิดเป็นทุกข์ ท่านจึงไม่ปรารถนาที่จะเกิดอีก จึงทรงแสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากการเกิด จนในที่สุดท่านก็ทรงค้นพบเหตุแห่งทุกข์และความดับทุกข์ ซึ่งเป็นหนทางที่จะหลุดพ้นจากการเกิดและหลุดพ้นจากทุกข์ จากการที่ท่านได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ดังนี้คือ

๑. ปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมสายเกิด(สมุทัยวาร)

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี

เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี

เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี

เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี

เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี

เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนา จึงมี

เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี

เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี

เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพ จึงมี

เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติ จึงมี

เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะฯ จึงมี

๒. ปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมสายเกิด(สมุทัยวาร)

เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะฯ จึงมี

เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติ จึงมี

เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพ จึงมี

เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี

เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี

เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนา จึงมี

เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี

เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี

เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี

เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี

๓. ปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมสายดับ(นิโรธวาร)

เพราะ อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

เพราะ สังขารดับ ดับ วิญญาณ จึงดับ

เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะ เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

เพราะ ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

เพราะ อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

เพราะ ภพ ดับ ชาติ จึงดับ

เพราะ ชาติ ดับ ชรา มรณะฯ จึงดับ

๔. ปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมสายดับ(นิโรธวาร)

เพราะ ชาติ ดับ ชรา มรณะฯ จึงดับ

เพราะ ภพ ดับ ชาติ จึงดับ

เพราะ อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

เพราะ ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

เพราะ เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

เพราะ สังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ

เพราะ อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

(ชรา มรณะฯ คือ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส)

อวิชชา คือ ความมืดมนในดวงปัญญา ไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ,ไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ว่า ความเกิด(ชาติ) ความ

แก่(ชรา) ความตาย(มรณะ) ความเศร้าโศก(โสกะ) ความคร่ำครวญรำพัน(ปริเทวะ) ความทุกข์ทางกาย(ทุกข์)

ความทุกข์ทางใจ(โทมนัส) ความคับแค้นใจ(อุปายาส) ความได้ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่ง

ที่รัก ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น โดยย่อคืออุปาทานขันธ์ ๕ นี้คือทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทแบบสมุทัยวาร นี้คือ

เหตุแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทแบบนิโรธวาร นี้คือความดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ นี้คือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความ

ดับทุกข์

สังขาร คือเจตนา หรือเจตสิกที่ปรุงแต่ง กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ให้ส่ายไปมาใน กุศล อกุศล และอัพยากฤต

หรือปุญญาภิสังขาร(สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี) อปุญญาภิสังขาร(สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว) อาเนญชาภิ

สังขาร(สภาพที่ไม่มีความปรุงแต่ง ไม่เคลื่อน ไม่มีกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม หมายเอาภาวะจิต

ที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน)

วิญญาณ คือ ความรับรู้ หมายรู้ เข้าใจความหมายใน เสียง รูป กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ที่มากระทบ หู ตา จมูก ลิ้น

กาย ใจ เรียกชื่อตามอายตนะที่เกิดว่า จักขุวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ฆานวิญญาณ โสตวิญญาณ กายวิญญาณ

และมโนวิญญาณ

นามรูป คือ นามและรูป ส่วนที่เป็น นาม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร(เจตนา) วิญญาณ(ผัสสะ มนสิการ) ส่วนที่เป็น รูป

ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (ยกเว้นสัตว์ที่มีกำเนิดในอรูปภูมิมีแต่นามไม่มีรูป)

สฬายตนะ คือ อายตนะภายในทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ผัสสะ คือ ความสัมผัสถูกต้อง ความกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอก กับอายตนะภายใน ได้แก่ ผัสสะ ๖ คือ

จักขุสัมผัส(รูปกระทบตา)โสตสัมผัส(เสียงกระทบหู) ฆานสัมผัส(กลิ่นกระทบจมูก) ชิวหาสัมผัส(รสกระทบลิ้น)

กายสัมผัส(สัมผัสถูกต้องทางกาย) มโนสัมผัส(ธรรมารมณ์กระทบใจ)

เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ ทั้งทางกายและทางใจ ที่สืบเนื่องมาจากผัสสะทั้ง ๖ ได้แก่ เวทนา ๓ คือ ทุกขเวทนา

สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา , เวทนา ๕ คือ ทุกขเวทนาสุขเวทนา โทมนัสเวทนา โสมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนาหรือ

อทุกขมสุขเวทนา

ตัณหา ความทะยานอยาก ความหวังความปรารถนา ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา , ตัณหา

คือ รูปตัณหา สัทตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น ถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส ได้แก่ อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ

สร้างตัวตนเงื่อนไขขึ้นเองว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างนั้นอย่างนี้คือสิ่งที่ตนชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ

ทิฏฐุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นความเชื่อที่ผิดที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้นอันจะนำพาตนเองและผู้อื่นให้ประสบ

ทุกข์ สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและวัตรปฏิบัติที่ผิดที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้นอันจะนำพาตนเองและผู้อื่น

ให้ประสบทุกข์ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเราของเขา

ภพ คือ สภาวะ สภาพ ลักษณะของความมีอยู่ หรือแดนเกิดของหมู่สัตว์ ได้แก่ ภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ชาติ คือ ความเกิด , ความเกิดพร้อม , ความหยั่งลง , ความบังเกิด , ความบังเกิดเฉพาะ , ความปรากฏแห่งขันธ์ , ความ

ได้อายตนะ

ชรา มรณะฯ (ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) ชรา คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความเสื่อมแห่งอินทรีย์

มรณะ คือ ความตาย ความทำลายไป ความแตก แห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่งชีวิตตินทรีย์

โสกะ คือ ความเศร้าโศก ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญรำพัน ทุกข์ คือ ความทุกข์ทางกาย โทมนัส คือ ความทุกข์

ทางใจ อุปายาส คือ ความคับแค้นใจ

เมื่อท่านได้เห็นในขบวนการเกิดดับของเหตุปัจจัย(ปฏิจจสมุปบาท)ต่างๆเหล่านี้ โดยแจ้งชัดแล้ว ท่านจึงประกาศว่าท่านพบแล้ว นี่คือเหตุแห่งทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ ท่านแก้ปมด้ายที่ยุ่งเหยิงได้แล้ว ท่านพบทางออกจากภพแล้ว ท่านพบความหลุดพ้นจากการเกิดแล้ว และท่านเรียกความออกจากภพและความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายนี้ว่า “นิพพาน” เพราะสัตว์ทั้งหลาย เกิดมี เกิดเป็น หรือมีกำเนิดเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นประชุมกันเข้า เมื่อหมดเหตุปัจจัย หรือเหตุปัจจัยดับ ความเกิดของสัตว์ทั้งหลายจึงดับไปด้วย

ซึ่งเหตุปัจจัยนั้น ก็ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หรือรูปขันธ์และนามขันธ์ การเกิดมีขึ้นของรูปขันธ์และนามขันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นไปตามหลักแห่งเหตุปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร ดังนี้คือ เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี...ฯลฯ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุปัจจัย นิพาน คือ ความดับสนิทแห่งเหตุปัจจัยนั้น” (ผู้เขียน) คำว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุปัจจัย" ธรรมเหล่านั้นก็ได้แก่ รูปธรรมและนามธรรม หรือ รูปขันธ์และนามขันธ์ ซึ่งเป็น สังขตธรรม คือธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ส่วนคำว่า "เหตุ" หรือ "เหตุปัจจัย" นั้น ก็เป็นไปตามกระแสปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าทรงสอนถึง นิพพาน คือความดับทุกข์ คือความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดมีเกิดเป็นขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นนิพพานจึงได้ชื่อว่าเป็นความดับแห่ง อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส หรือชื่ออื่นๆตามนัยนี้ เช่น

"นิพพาน" คือ ความดับแห่ง ตัณหา คือ วานะ อันเป็นเครื่องรึงรัด ร้อยรัด ให้สัตว์เที่ยวเวียนว่ายตายเกิดสิ้นกาลนาน

"ตัณหาขยะ" คือ ความสิ้นไปแห่งตัณหา

"อนตะ" ความไม่มีตัณหาอันเป็นเครื่องโน้มน้าว

"วิราคะ" คือ ความปราศจากซึ่ง ราคะ คือ ความกำหนัด

"โทสักขยะ" คือ ความสิ้นไปแห่งโทสะ

"โมหักขยะ" คือ ความสิ้นไปแห่งโมหะ

"สัพพาสังขารสมถะ" คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง

"สัพพูปธิปฏินิสสัคคะ" คือ การสลัดอุปธิทั้งปวง ได้แก่ เบญจขันธ์

"อสังขตะ" คือ ความไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

"อัพภูตะ" คือ ความไม่เกิด ไม่เป็น

"อนีติกะ" คือ ความไม่มีทุกข์

"วัฏฏูปัจเฉทะ" คือ ความตัดขาดจากวัฏฏะ คือ การตัดขาดจากการเวียนว่ายตายเกิด

ฯลฯ เป็นต้น

นิพพาน มี ๒ ลักษณะ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ

- อวิชชา คือ ความไม่รู้ดับไปยังมีแต่วิชชาคือความรู้แจ้ง

- สังขาร คือ อปุญญาภิสังขาร(ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว)ดับไป ยังมีแต่ปุญญาภิสังขาร(ความปรุงแต่งฝ่ายดี) และอาเนญชาภิสังขาร(ภาวะจิตเป็นสมาธิ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ควรแก่การงาน ไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีเจตนา ไม่คิด ไม่เคลื่อน ไม่มีกรรม หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่ง จตุตถฌาน)

- วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ ยังมีอยู่

- เวทนา คือ โทมนัส(ความทุกข์ทางใจ)ดับไป ยังมีแต่โสมนัส(ความสุขทางใจ) สุข(ความสุขทางกาย) ทุกข์(ความทุกข์ทางกาย) และอุเบกขา(ความไม่สุขไม่ทุกทางกายและใจ) แต่ไม่มีความยึดติดกับเวทนานั้นๆ

- ตัณหา อุปาทาน ดับไปเพราะมีวิชชา(รู้เท่าทัน) หรือเพราะอวิชชาดับไป

- ภพ คือ ภพอันเป็นแดนเกิดในภายหน้าดับไป ยังมีแต่ปัจจุบันภพ(สภาวะปัจจุบัน)ยังไม่ดับ

- ชาติ คือ การสืบเกิดต่อไปในภพหน้าดับไป

- ชรา มรณะ ยังมีอยู่ โสกะ คือ ความเศร้าโศก ดับไป ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญรำพัน ดับไป ทุกขะ คือ ความทุกข์ทางกายยังมีอยู่ โทมนัส คือ ความทุกข์ทางใจดับไป อุปายาส คือ ความคับแค้นใจ ดับไป คือผู้ที่ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้ ชื่อว่า อรหัตตผล เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลเรียกว่า พระอรหันต์ เพราะจิตหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

นี่คือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธองค์ท่านอุปมาเหมือน กับผู้ทีถูกยิงด้วยลูกศรดอกหนึ่ง พึงได้รับทุกข์อันเกิดจากลูกศรดอกนั้น แต่ลูกศรอีกดอกหนึ่งพลาดไป คือ พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เพราะขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ วิบากกรรมยังตามให้ผลได้อยู่ เพราะขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ สฬายตนะมีอยู่ ย่อมถูก ผัสสะ ซึ่งมีทั้งที่พึงปรารถนา และไม่พึงปรารถนา ทางหู ตา จมูก ลิ้น และทางกายกระทบเอา ย่อมถูก อิฎฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่พึงพอใจ และอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่พึงพอใจ กระทบใจอยู่ เมื่อมี ผัสสะ ก็ย่อมมีเวทนา แต่เวทนา คือ ความทุกข์ทางใจ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความคับแค้นใจนั้นไม่มี และแม้ว่าจะได้ประสบกับความสุขทางกายหรือความสุขทางใจก็ไม่ยึดติดกับสุขนั้นๆ เพราะมีวิชชาคือความรู้เท่าทันอยู่ มีอาสวักขยญาณ คือ ความสิ้นไปแห่งอาสวะดำรงอยู่ มีอุเบกขามั่นคงอยู่ เป็นลักษณะที่เรียกว่า “มีแต่ไม่ทุกข์”(ผู้เขียน)

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว(ตายแล้ว) คือ

ความดับสนิทโดยรอบของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณโสกปริเทวทุกขมอุปายาส ไม่เกิดมี เกิดเป็นในสภาวะใดๆ หรือในแดนเกิดใดๆอีก นี่คือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว เป็นลักษณะที่เรียกว่า “ไม่มีจึงไม่ทุกข์”(ผู้เขียน) อุปมาเหมือนกับมนุษย์โดยธรรมชาติแล้วไม่มีหาง เมื่อไม่มีหางมนุษย์จึงไม่รู้สึกเจ็บหาง ไม่รู้สึกเย็นหาง ไม่รู้สึกร้อนหาง หรือถูกผัสสะ ซึ่งมีทั้งที่พึงปรารถนา และไม่พึงปรารถนา กระทบหาง ย่อมไม่ถูก อิฎฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่พึงพอใจ และอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่พึงพอใจ ในหางมากระทบใจ เมื่อไม่มี ผัสสะ ก็ย่อมไม่มีเวทนา เมื่อไม่มีเวทนา ความทุกข์ทางใจ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความคับแค้นใจ อันเนื่องมาจากหางย่อมไม่มี

เมื่อท่านรู้ชัดว่า นี่คือเหตุแห่งทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ จากการพิจารณาขบวนการเกิดดับของเหตุปัจจัย(ปฏิจจสมุปบาท)แล้ว ท่านจึงแสวงหาหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ต่อไปจนกระทั่งทรงพบว่ามีทางเดียวที่เป็นหนทางปฏิบัติที่มุ่งตรงไปสู่นิพพานคือ อัฏฐังคิกมรรคธรรม คือทางอันประเสริฐมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่ ความเห็นในอริยสัจจ์ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เห็นในไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ความเห็นในอกุศลและอกุศลมูล(โลภะ โทสะ โมหะ) กุศลและกุศลมูล(อโลภะ อโทสะ อโมหะ) เห็นในปฏิจจสมุปบาท(ดูปฏิจจสมุปบาท) ความเห็นในอาหาร ๔ (กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร) ความเห็นในอาสวะ(กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ) เป็นต้น

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากกาม) อพยาบาทสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากความพยาบาท) อวิหิงสาสังกัปป์(ดำริที่จะออกจากความเบียดเบียน)

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ เจรจาชอบ ได้แก่ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ , ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , ไม่พูดในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , ไม่พูดในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , รู้กาละเทศะที่จะพูดในสิ่งที่เป็นจริง ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น , รู้กาละเทศะที่จะพูดในสิ่งที่เป็นจริง ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

๔. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ,ไม่กระทำในสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนหรือจะทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ไม่เลี้ยงชีพในทางทุจริต ,ไม่หาเลี้ยงชีพอันเป็นการเบียดเบียนหรือจะทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ พยายามชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ คือ สังวรปธาน เพียรระวัง ปิดกั้น ยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละ กำจัด บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรเจริญ สร้าง ก่อให้เกิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และเจริญยิ่งๆขึ้นไปจน โลภะ โทสะ และโมหะสิ้นไป

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ คือ

๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นกายในกายตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นเวทนาในเวทนาตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นจิตในจิตตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นธรรมในธรรมตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือความที่จิตตั้งมั่นสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุ ปฐมฌาน มี วิตก วิจาร ปิติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปบรรลุ ทุติยฌาน ที่มีความผ่องใสภายในมีภาวะจิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปิติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุ ตติยฌาน เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุ จตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิหรือสมาธิที่ควรแก่การงาน เมื่อมีสมาธิควรแก่การงานแล้วจึงน้อมจิตไปเพื่อความรู้แจ้งคือ วิชชา ๓ ได้แก่

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ในอดีตชาติได้

๒. จุตูปปาตญาณ คือ ญาณกำหนดรู้จุติอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นไปตามกรรม เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และเห็นภพภูมิอันเป็นแดนเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ

๓. อาสวักขยญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หรือความตรัสรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ ทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีอีกต่อไป

หรือเมื่อมีสมาธิควรแก่การงานแล้วจึงน้อมจิตไปเพื่อละสังโยชน์ คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์ มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ ทั้ง ๑๐ ได้ตามลำดับ คือ

โอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ได้แก่

๑. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรมเป็นอัตตาตัวตนของตน

๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยใน พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์

๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นในวัตรปฏิบัติหรือศีลพรตนอกศาสนาอันเป็นที่ดูถูกของผู้รู้ผู้มีปัญญา ที่ไม่เป็นไปเพื่อ ความหน่ายเพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ชัดรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อความหลุดพ้นคือนิพพาน

๔. กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกามคุณ ๕(รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทางกาย)

๕. ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่ง ความหงุดหงิดขัดเคืองในใจ

อุทธัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องสูง) ๕ ได้แก่

๖. รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌานหรือในรูปธรรมอันประณีต หรือความปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานหรือในอรูปธรรม หรือความปรารถนาในรูปภพ

๘. มานะ คือ ความสำคัญตน เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ ว่าตนสูงกว่าเขา

บ้าง ว่าตนเสมอเขาบ้าง ว่าตนต่ำกว่าเขาบ้าง

๙. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน

๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้ ความไม่รู้แจ้ง ความไม่ตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ , ความไม่รู้แจ้งในวิชชา ๓

การปรารภความเพียรเพื่อละ สังโยชน์ทั้ง ๑๐ นี้ตามลำดับเป็นหนึ่งใน "มรรควิถี" คือทางที่ทำให้เข้าถึงความเป็นอริยบุคคล ได้แก่ โสดาปัตติมรรค คือความเพียรเพื่อละสังโยชน์ ข้อ ๑,๒,๓ เมื่อละสังโยชน์ ข้อ ๑,๒,๓ ได้ ชื่อว่า โสดาปัตติผล เข้าถึงความเป็นอริยบุคคล เรียกว่า พระโสดาบัน เมื่อละสังโยชน์ ข้อ ๑,๒,๓ ได้ และเพียรทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง ชื่อว่า สกทาคามิมรรค เมื่อ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลงแล้ว ชื่อว่า สกทาคามิผล เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลเรียกว่า พระสกทาคามี (สกิทาคามี ก็เขียน) ความเพียรเพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำเพิ่มอีก ๒ ข้อคือ ข้อ ๔ และ ข้อ ๕ เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำให้ครบทั้ง ๕ ข้อ ชื่อว่า อนาคามิมรรค เมื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ข้อได้ ชื่อว่า อนาคามิผล เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลเรียกว่า พระอนาคามี ความเพียรเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูงที่เหลืออีก ๕ ข้อ เพื่อละสังโยชน์ให้ครบทั้ง ๑๐ ข้อ ชื่อว่า อรหัตตมรรค เมื่อละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้ ชื่อว่า อรหัตตผล เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลเรียกว่า พระอรหันต์ เพราะจิตหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

“นี่คือหนทางปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายสุงสุดของพุทธศาสนา คือนิพพาน"