นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา

ข้อมูลเบื้องต้น

กรณีของ นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา

ปัจจุบันชาติ

ชื่อ-นามสกุล : นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา ชื่อเล่น : ธี

วันเดือนปีเกิด : ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน : ๒๗๘/๑ หมู่ ๓ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

พี่น้องร่วมบิดามารดา : ๒ คนคือ

๑. นางสาวอรจิรา เกตุทองดี(วงษ์คำภา)

๒. นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา

อดีตชาติ

ชื่อ-นามสกุล : สันนิษฐานว่าเป็น นายรัง หัสสะโต

นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา จำอดีตชาติได้

ผู้ที่จำอดีตชาติได้ในหมู่บ้านของผู้เขียนรายนี้ชื่อว่า นายธีระพันธ์ วงษ์คำภา เป็นบุตรของ นายสัมพันธ์และนางส่วง วงษ์คำภา อยู่บ้านเลขที่ ๒๗๘/๑ หมู่ ๓ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เขาอายุ ๑๘ ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวช.ปี ๒ แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี

นายธีระพันธ์ จำอดีตชาติได้ว่า ชาติก่อนเขาเคยเกิดเป็น พ่อของนายทร หัสสะโต คนในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ นายทร อายุได้ ๘๘ ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงและความทรงจำยังดีอยู่ นายธีระพันธ์พูดถึงความทรงจำในอดีตชาติของเขาหลายครั้งเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และทรัพย์สมบัติที่เขาเคยฝังไว้ในอดีตชาติเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

นางส่วง บอกเล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของบุตรชายให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ นายธีระพันธ์หรือเด็กชายธีระพันธ์ในขณะนั้น เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่ดื้อ มีความรับผิดชอบ คำพูดคำจาดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ และมีการแสดงออกแปลกๆหลายอย่างคือ เขาจะพูด “กู..มึง” กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ใส่รองเท้า ใช้เงินไม่เป็น ไม่ยอมใส่กางเกงขายาว และชอบกินอาหารป่า เมื่อครั้งที่ เด็กชายธีระพันธ์ อายุประมาณ ๒ ขวบเริ่มพูดได้เขาจะพูด “กู..มึง” กับทุกคน และไม่ยอมเรียกนางส่วงว่า “แม่” มีครั้งหนึ่งนางส่วงพยายามสอนว่า “หนูเป็นเด็กอย่าพูด กู..มึง กับใครนะลูก แล้วหนูเป็นลูก หนูก็ต้องเรียกแม่ว่า..แม่ รู้ไหมลูก” เด็กชายธีระพันธ์พยักหน้ารับ นายพลพ่อของนางส่วง ซึ่งอยู่บริเวณนั้นก็ช่วยเสริมด้วยอีกคน นางส่วงถามว่า “ทำไมหนูไม่เรียกแม่ว่า..แม่ล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์ตอบว่า “ก็หนูอายุมากกว่าแม่ มีศักดิ์สูงกว่าแม่ หนูจะไม่เรียกแม่..ว่าแม่ก็ได้ แต่หนูคิดว่ามาอาศัยท้องแม่เกิดหรอกนะถึงยอมเรียกว่า..แม่ พ่อใหญ่(นายพล) ก็เหมือนกันไม่มีสิทธิ์มาบังคับหนูได้ หนูมีศักดิ์สูงกว่าแม่กับพ่อใหญ่เยอะ”

ตอนนั้นนางส่วงและนายพลรู้สึกประหลาดใจกับคำพูดของเด็กชายธีระพันธ์มาก และสงสัยว่าเขาอาจจะเป็นคนโบราณสืบชาติมาเกิดต่อมาเมื่อเด็กชายธีระพันธ์อายุมากขึ้นนางส่วงและนายสัมพันธ์สังเกตเห็นความผิดปกติของบุตรชายที่แสดงออกมาไม่เหมือนกับเด็กๆในวัยเดียวกัน คือเด็กชายธีระพันธ์ไม่ยอมใส่รองเท้าและไม่ยอมใส่กางเกงขายาวโดยบอกกับนางส่วงว่าแต่ก่อนเขาไม่เคยมีใส่ ใช้เงินก็ไม่เป็น บอกว่าเขาเคยใช้แต่สตางค์เป็นรูๆ และชอบรับประทานอาหารป่า บอกว่าแต่ก่อนเคยกินแต่ของป่า เด็กชายธีระพันธ์เพิ่งจะเริ่มใส่รองเท้า เมื่อเขาอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบตอนเรียนอยู่ชั้น ป. ๔ เริ่มใช้เงินเป็นขณะเรียนมัธยมต้น ยอมใส่กางเกงขายาวเมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้น ปวช.ปี ๑ และเขาก็ยังชอบรับประทานอาหารป่าอยู่เหมือนเดิม จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

พูดถึงสถานที่ต่างๆในอดีต

เด็กชายธีระพันธ์ในขณะนั้น ได้พูดถึงสถานที่ต่างๆ ทั้งในหมู่บ้านตะคร้อและบริเวณใกล้เคียง โดยเรียกชื่อสถานที่เหล่านั้นตามชื่อที่ชาวบ้านในสมัยเมื่อประมาณ ๘๐-๑๐๐ ปีที่แล้วใช้เรียกกัน ซึ่งบางแห่งได้เปลี่ยนชื่อเรียกไปแล้ว แต่บางแห่งก็ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่ นอกจากนี้เขายังสามารถบอกถึงที่มาของสถานที่เหล่านั้นได้อีกด้วย

นางส่วง เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่เด็กชายธีระพันธ์อายุประมาณ ๓ ขวบ มีครั้งหนึ่งเธอพา เด็กชายธีระพันธ์ไปเกี่ยวหญ้าให้วัวด้วย ขณะที่เดินผ่านบริเวณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โคกไอ้ทัพ หรือ โคกกะทัพ” เด็กชายธีระพันธ์ถามเธอว่า “แม่รู้จักโคกนี้ไหม” นางส่วงตอบว่า “เขาเรียกโคกกะทัพ” เด็กชายธีระพันธ์บอกว่า “ไม่ใช่...เขาเรียกโคกพักทัพ แต่ก่อนแถวนี้เป็นสถานที่ ที่เขาเอาพวกทหารมาพัก เป็นทัพใหญ่ มีทหารบาดเจ็บ และเจ็บป่วยเป็นไข้ตายกันมาก เขาก็เอาศพฝังไว้บริเวณโคกนี้” นางส่วงรู้สึกประหลาดใจกับคำพูดของบุตรชาย และเริ่มคิดว่าเด็กชายธีระพันธ์อาจจะเป็นคนในสมัยโบราณสืบชาติมาเกิดจริงๆ จึงสอบถามถึงสถานที่ ที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนักว่า “แล้วโคกพญาสั่ง กับหนองแร้งหนองกาล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์ตอบว่า “ที่โคกพญาสั่ง เป็นที่พักของพวกแม่ทัพนายกองที่คอยออกคำสั่งการรบ ส่วนที่หนองแร้งหนองกาเป็นสถานที่ ที่เขานำศพทหารไปทิ้งไว้ และมีนกแร้งนกกาลงมาจิกกินซากศพกันมาก เขาจึงเรียกว่า หนองแร้งหนองกา” นางส่วงถามต่อไปว่า “แล้วที่ชาวบ้านเขาชอบขุดหาสมบัติกันแถวโคกกะทัพกับโคกพญาสั่งล่ะ มีสมบัติฝังไว้จริงหรือเปล่า” เด็กชายธีระพันธ์ตอบว่า “ที่โคกพักทัพไม่มีสมบัติอะไร มีแต่ศพทหาร แต่ที่โคกพญาสั่ง มีสมบัติฝังอยู่เยอะ แต่ถ้าเขาไม่ให้ก็เอาของเขาไปไม่ได้หรอก” เด็กชายธีระพันธ์ พูดเหมือนกับว่าตัวเขาเองทราบเรื่องราวและคุ้นเคยกับสถานที่เหล่านั้นเป็นอย่างดี

นอกจากนี้เด็กชายธีระพันธ์ ยังเรียกชื่อสถานที่บางแห่งไม่เหมือนกับชื่อที่ชาวบ้านตะคร้อในปัจจุบันใช้เรียกกัน เท่าที่นางส่วงจำได้คือบริเวณที่ชาวบ้านตะคร้อเรียกว่า “โคกบ้าน” ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านตะคร้อไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร เด็กชายธีระพันธ์เรียกบริเวณนั้นว่า “พุกระโดน” ซึ่งชื่อนี้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๗๐ ปี น้อยคนนักที่จะทราบ เพื่อพิสูจน์ข้อมูลผู้เขียนได้สอบถามเรื่องนี้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้านก็ได้รับคำยืนยันว่า แต่ก่อนบริเวณนั้นเคยเป็นศูนย์รวมการซื้อขายแลกเปลี่ยน ช้าง ม้า วัว ควายกันระหว่างหมู่บ้านตะคร้อกับหมู่บ้านใกล้เคียง สาเหตุที่ชาวบ้านเลือกใช้บริเวณนั้นเนื่องจาก บริเวณนั้นมีบ่อน้ำพุใหญ่อยู่ใกล้กับต้นกระโดนต้นหนึ่งมีน้ำออกมาจากใต้ดินตลอดปี เวลาที่ช้างม้าวัวควายหิวน้ำก็จะอาศัยน้ำในบ่อน้ำพุนั้น ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “พุกระโดน” แต่ภายหลังการติดต่อค้าขายได้เลิกราไป บ่อน้ำพุก็แห้งหายไป ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกบ้าน” จนถึงทุกวันนี้

เด็กชายธีระพันธ์ พูดถึงสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านตะคร้อเรียกกันว่า “คลองมะม่วงเตี้ย” เขาบอกว่าบริเวณคลองมะม่วงเตี้ยนั้น แต่ก่อนเป็นวังน้ำใหญ่เคยมีเรือบรรทุกเพชรนิลจินดามาล่ม ซึ่งเรื่องราวของคลองมะม่วงเตี้ยนั้นมีผู้ที่จำอดีตชาติได้รายหนึ่ง คือรายของ นางสุรางคนา มาลา(วันที) เธอได้พูดถึงคลองมะม่วงเตี้ยเหมือนกันว่า ในชาติก่อนเธอก็คือบุตรสาวของเจ้าของเรือลำที่บรรทุกสมบัติมาล่มบริเวณนั้น นั่นเอง

นางส่วง กล่าวว่า นอกจากสถานที่ต่าง ๆดังที่กล่าวมาแล้ว เขายังบอกชื่อสถานที่ และทางเดินในหมู่บ้านในสมัยโบราณให้เธอฟังอีกหลายสถานที่ ขณะที่เขาเดินผ่านบริเวณนั้นๆ เขาก็จะบอกกับเธอว่า บริเวณนั้นแต่ก่อนมีชื่อว่าอะไร มีสภาพเป็นอย่างไร มีทางเดินไปทางไหน ซึ่งบางสถานที่เธอก็พอจะทราบ แต่บางสถานที่เธอก็ไม่ทราบ ต้องสอบถามจากนายพลพ่อของเธอหรือสอบถามจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน จึงจะทราบว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง เธอไม่ทราบว่าเขาทราบชื่อของสถานที่เหล่านั้นได้อย่างไร

นอกจากชื่อและที่มาของสถานที่ต่างๆแล้ว เขายังพูดถึง สมบัติที่เขาฝังไว้ในอดีตชาติและพูดถึงพระทองของวัดใหญ่(วัดชุมพล) ว่าแต่ก่อนนี้พระทองมีอยู่ ๒ องค์ อยู่ที่วัดใหญ่ ๑ องค์ และอีก ๑ องค์เป็นของเขาเองซึ่งในอดีตชาติเขาได้ฝังไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง พระพุทธรูปทั้งสององค์เป็นของคู่กันแต่มีขนาดไม่เท่ากัน องค์ที่วัดมีขนาดหน้าตักประมาณ ๑ ศอก ส่วนที่เขาฝังไว้มีขนาดเล็กกว่า

ผู้เขียน ได้สอบถามเรื่องนี้กับท่าน พระครูนิมิตร โพธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดใหญ่และผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ปรากฏว่าท่านพระครูนิมิตรไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน แต่มีผู้สูงอายุในหมู่บ้านบางท่านบอกว่า แต่ก่อนเคยมีพระพุทธรูปทองอยู่ที่วัดจริงแต่ไม่ทราบว่าเป็นทองคำแท้หรือไม่ พระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อก่อนถ้าปีใดเกิดฝนแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นออกมาแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อขอฝนแล้วฝนก็จะตก แต่ต่อมาพระพุทธรูปองค์นั้นได้หายไป ผู้สูงอายุบางท่านบอกว่า ทางวัดได้ให้มัคนายกเก็บไว้เพื่อกันขโมย บางท่านบอกว่าพระองค์นั้นได้ถูกขโมยไปแล้ว ผู้เขียนยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้ คงจะต้องสืบหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ต่อไป

ฝังสมบัติไว้เมื่อชาติก่อน

เมื่อครั้งที่เด็กชายธีระพันธ์อายุได้ประมาณ ๓ ขวบเศษ วันหนึ่งขณะที่นางส่วงและนายพลกำลังนั่งคุยกันอยู่ จู่ๆเด็กชายธีระพันธ์ก็พูดขึ้นมาว่า “พ่อใหญ่ หนูจะบอกอะไรให้ฟัง..หนูรวยนะ” นางส่วงได้ยินก็ค้านว่า “รวยอะไรกันตัวเท่านี้” เด็กชายธีระพันธ์ยังคงยืนยันว่า “จริงๆนะ..หนูมีทองก้อนใหญ่ มีเพชรพลอยด้วย” นายพลค้านว่า “ตัวเท่านี้จะมีอะไร” เด็กชายธีระพันธ์มีท่าทางหงุดหงิดเมื่อถูกค้าน แล้วพูดขึ้นมาว่า “พ่อใหญ่ถ้าหนูขุดทองได้ หนูจะไม่ให้พ่อใหญ่เลย ทองผมแท่งเท่านี้” เด็กชายธีระพันธ์ พูดพร้อมกับหยิบกระป๋องนมข้นขึ้นมาเปรียบเทียบ “ยาวเท่านี้” ยกแขนขึ้นมาทำท่าทางให้ดูว่ายาวเกือบ ๑ ศอก “มีเพชรพลอย แล้วก็พระทองด้วย” นางส่วงกล่าวว่า ตอนนั้นเธอยังไม่เชื่อว่าสิ่งที่บุตรชายพูดจะเป็นความจริง เพียงแต่รู้สึกประหลาดใจกับคำพูดของเขาเท่านั้น

ต่อมาเมื่อเด็กชายธีระพันธ์อายุได้ประมาณ ๔ ขวบ วันหนึ่งนางส่วงพาเด็กชายธีระพันธ์ไปเกี่ยวหญ้าที่บริเวณทุ่งนาของ นายทร หัสสะโต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของนางส่วงนักเพื่อนำมาให้วัวที่เลี้ยงไว้กิน เด็กชายธีระพันธ์ถามนางส่วงว่า “แม่รู้ไหมที่นี่เป็นที่นาของใคร” นางส่วงตอบว่า “ไม่รู้สิ..ทำไมล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์บอกว่า “ที่นาของไอ้เหว่า” ตอนนั้นนางส่วงไม่ทราบว่าที่นาบริเวณนั้นเป็นของใคร เมื่อกลับถึงบ้านจึงสอบถามนายพลผู้เป็นพ่อ คำตอบที่ได้รับสร้างความประหลาดใจให้กับนางส่วงเป็นอย่างยิ่ง นายพลบอกกับนางส่วงว่าที่บริเวณนั้นเป็นที่ของนายเหว่า พ่อเลี้ยงของนายทร หัสสะโต คนในหมู่บ้าน(ขณะนั้นนายทรอายุประมาณ ๖๐ ปี) นายเหว่าเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้วที่ผืนนั้นจึงตกทอดมาถึงนายทร คำพูดของเด็กชายธีระพันธ์เป็นความจริง เขาทราบได้อย่างไรหรือเขาจะจำอดีตชาติได้ คำถามมากมายผุดขึ้นในใจของนางส่วง แต่นางส่วงไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเพราะยังไม่แน่ใจว่าเด็กชายธีระพันธ์จะจำอดีตชาติได้จริงๆ

วันต่อมานางส่วงพาเด็กชายธีระพันธ์ไปเกี่ยวหญ้าเพื่อนำมาเลี้ยงวัวที่บริเวณทุ่งนาของนายทรอีก ขณะที่นางส่วงกำลังนั่งพักเหนื่อย เด็กชายธีระพันธ์บอกกับนางส่วงว่า “แม่นี่จนจริง ๆ..แม่อยากรวยไหม ผมมีสมบัติเยอะนะ ผมฝังไว้ที่ใต้ต้นข่อยชายแดนนาไอ้เหว่านี่แหละ แม่ขุดเอาสิ” ตอนนั้นนางส่วงไม่ได้สนใจคำพูดของบุตรชายมากนัก เพราะไม่เชื่อว่าคำพูดของบุตรชายจะเป็นความจริงหลังจากวันนั้น เด็กชายธีระพันธ์ก็ขอร้องให้นางส่วงพาไปขุดสมบัติที่บริเวณนั้นบ่อยมาก เขาบอกว่าเป็นสมบัติที่เขาฝังไว้เองในชาติก่อน แต่นางส่วงไม่เชื่อจึงไม่ได้พาไป จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาร้องไห้อ้อนวอนขอร้องให้นางส่วงพาไปขุดสมบัติ นางส่วงเห็นว่าบุตรชายรบเร้าอ้อนวอนอยู่หลายครั้งแล้ว จึงตัดสินใจที่จะพาไปพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดเท็จหรือจริงประการใด

ก่อนออกเดินทางเด็กชายธีระพันธ์บอกกับนางส่วงว่า “แม่เตรียมเสียม แล้วก็ธูปไปสามดอกนะ ระหว่างทางถ้ามีใครถาม แม่ห้ามโกหก ให้บอกเขาไปตามตรงว่าจะไปขุดทอง ระหว่างที่ขุดไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตามแม่ห้ามวิ่งเด็ดขาด ถ้าแม่วิ่งแม่จะตาย และเมื่อขุดได้แล้วให้แบ่งไปทำบุญที่วัดครึ่งหนึ่ง” นางส่วงถามว่า “แล้วสมบัติของหนูมีอะไรบ้างล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์ตอบว่า “มีพระทอง ทองคำแท่ง แล้วก็ไหเพชรพลอย ขุดไปชั้นแรกจะพบงูก่อน งูตัวใหญ่นะแม่มีหงอนด้วย แต่แม่ไม่ต้องกลัว ชั้นต่อไปจะพบพระทองคำ ทองคำแท่ง แล้วก็ไหเพชรพลอย” นางส่วงเตรียมเสียม และธูป ๓ ดอกตามที่บุตรชายบอก แล้วพากันเดินทางไปยังต้นข่อยชายแดนนาของนายทร

ระหว่างทาง นายฉิ่งเพื่อนบ้านเห็นนางส่วงแบกเสียมเดินมากับเด็กชายธีระพันธ์ ก็ตะโกนถามว่า “สองแม่ลูกแบกเสียม จะไปไหนกัน” นางส่วงบอกกับนายฉิ่งว่า “จะไปขุดทอง” นายฉิ่งคิดว่านางส่วงพูดเล่นจึงหัวเราะ และไม่ได้พูดอะไรต่อ เมื่อทั้งสองคนเดินทางไปถึงบริเวณต้นข่อยชายแดนทุ่งนาของนายทร เด็กชายธีระพันธ์ย้ำกับนางส่วงอีกครั้งว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นห้ามวิ่งหนีอย่างเด็ดขาด แล้วบอกให้นางส่วงตั้งนะโม ๓ จบ แต่นางส่วงท่องไม่เป็น เด็กชายธีระพันธ์จึงลงมือเอง เขาใช้มือขีดเป็นวงกลมบริเวณที่จะขุดแล้วจุดธูป ๓ ดอก เขาปักธูปดอกหนึ่งไว้ด้านบนของวงกลม และที่เหลือปักไว้ทางด้านข้างทั้ง ๒ ข้างของวงกลม จากนั้นเขาก็เริ่มท่องคาถาพึมพำ ๆสักครู่ก็ลงมือขุด ปากก็ท่องคาถาไปด้วย แต่นางส่วงฟังไม่ออกว่าเขาท่องอะไร

เมื่อขุดลึกลงไปประมาณเกือบ ๑ ศอก เด็กชายธีระพันธ์บอกกับนางส่วงว่าใกล้จะถึงแล้ว ทันใดนั้นได้เกิดลมกรรโชกอย่างแรง จนฝุ่นฟุ้งไปทั่วบริเวณนั้น ท้องฟ้าเริ่มมีเมฆฝนปรกคลุมดำมืดไปหมด ลมพัดแรงขึ้น นางส่วงรู้สึกกลัวแต่เด็กชายธีระพันธ์ยังคงก้มหน้าขุดต่อไป นางส่วงเห็นท่าไม่ดีเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับบุตรชาย จึงตัดสินใจดึงมือบุตรชายให้ลุกขึ้น และบอกกับบุตรชายว่า “ไม่ต้องเอาแล้วกลับบ้านเถอะ” นางส่วงจูงมือบุตรชายออกจากบริเวณนั้นทันที เมื่อออกจากบริเวณนั้นมาไม่ไกลลมที่พัดกรรโชคอย่างแรงเมื่อสักครู่ก็หายไป เมฆฝนที่ปกคลุมดำมืดก็จางหายไป นางส่วงเชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะต้องเป็นอาถรรพ์ของอะไรบางอย่าง อย่างแน่นอน

นางส่วง กล่าวว่า หลังจากวันนั้นเด็กชายธีระพันธ์ก็อ้อนวอนขอร้องให้เธอพาไปขุดสมบัติอีก แต่เธอยืนยันว่าจะไม่พาเขาไปอีกเด็ดขาด เมื่อเห็นว่าอ้อนวอนไม่สำเร็จ เขาก็ขอให้เธอซื้อที่ดินบริเวณนั้นให้ เธอรับปากว่าจะซื้อให้แต่ตอนนั้นเธอไม่ค่อยมีเงิน จึงไม่ได้ซื้อที่ดินบริเวณนั้นไว้ให้เขา จนกระทั่งต่อมา บุตรสาวของนายทรซึ่งรับมรดกต่อจากนายทรได้ขายที่ดินบริเวณนั้นให้กับ นางติ๋มและนายบวน บัวไข สองสามีภรรยาซึ่งครอบครองกรรมสิทธ์อยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ผู้เขียน ไปพบกับ นางติ๋ม บัวไข ที่บ้านเลขที่ ๑๙๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ นางติ๋ม ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อครั้งที่เธอย้ายมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆเธอปลูกบ้านเป็นเพิงเล็กๆพอพักพิงอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากไม่มีเงินจะสร้างบ้าน คืนแรกที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ เธอฝันว่ามีคนนำไหสมบัติมาให้มีเพชรพลอยเต็มไปหมด หลังจากความฝันในคืนนั้นการค้าขาย ของเธอก็เริ่มดีขึ้นกว่าเดิม และถูกหวยติดต่อกันหลายงวดจนกระทั่งมีเงินพอที่จะสร้างบ้านใหม่(หลังปัจจุบัน) เคยมีคนมาขอซื้อที่บ้านของเธอโดยให้ราคาค่อนข้างสูงแต่เธอไม่ขาย เพราะเธอคิดว่าเจ้าที่เขาให้คุณทำให้เราอยู่เย็นเป็นสุขและการค้าขายดีขึ้น จะให้ขายไปได้อย่างไร นางติ๋มกล่าว

นางติ๋ม บัวไข

(ชี้บริเวณที่ เด็กชายธีระพันธ์เคยมาขุดสมบัติที่ฝังไว้)

พบกับนายทร หัสโตครั้งแรก

ขณะที่เด็กชาย ธีระพันธ์อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ วันหนึ่งนางส่วงพาเด็กชายธีระพันธ์ไปงานร่วมแต่งงานของ นายสน(นายประจวบ บัณฑิตย์) ซึ่งเป็นหลานของ นายทร หัสสะโต กับ นางปาน(นางสาวบรรจง จันทร์สว่าง) ซึ่งเป็นหลานของ นางซัง เกตุทองดี แม่ของนางส่วง ขณะที่นางส่วงและเด็กชายธีระพันธ์นั่งอยู่บนบ้านของนางปาน เด็กชายธีระพันธ์มองเห็นนายทรกำลังเดินขึ้นบันไดมา เขาถามนางส่วงว่า “แม่นั้นใช่ไอ้ทรหรือเปล่า” นางส่วงปรามบุตรชายว่า “ทำไมเรียกพ่อเฒ่าอย่างนั้นล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์ ถามย้ำอีกครั้งว่า “แม่ หนูถามจริงๆ ใช่ไอ้ทรหรือเปล่า” นางส่วงรู้สึกแปลกใจว่าเด็กชายธีระพันธ์รู้จักนายทรได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่เคยพบหรือรู้จักกับนายทรมาก่อน นางส่วงตอบไปว่า “ใช่…แต่อย่าไปเรียกพ่อเฒ่าอย่างนั้น เราเป็นเด็ก”เด็กชายธีระพันธ์บอกกับ นางส่วงว่า “แม่ไม่ต้องยุ่งเลย มันเป็นลูกหนู” แล้วพูดรำพึงรำพันกับตัวเองว่า “ทำไมไอ้ทรมันแก่จัง” ผู้มาร่วมงานที่นั่งอยู่บริเวณนั้นได้เห็นเหตุการณ์ก็พากันสงสัยในคำพูดของเด็กชายธีระพันธ์ แต่เมื่อเข้าไปถามเด็กชายธีระพันธ์ก็ไม่ยอมพูดอะไรอีก หลายคนจึงได้แต่คาดเดาไปต่างๆนานา บ้างก็คิดว่าเด็กชายธีระพันธ์เป็นนายเหว่าพ่อเลี้ยงของนายทรสืบชาติมาเกิด บ้างก็ว่าเป็นนายรังพ่อแท้ๆของนายทรสืบชาติมาเกิด ซึ่งทั้งหมดก็เป็นแต่เพียงการคาดเดาเท่านั้น

นายทร หัสสะโต

เมื่อกลับมาถึงบ้าน นางส่วงต่อว่าบุตรชายว่าทำไมไปเรียกนายทรว่า “ไอ้” ไม่อายเขาหรือไง เด็กชายธีระพันธ์บอกว่า “ก็มันเป็นลูกเพื่อนหนู เป็นลูกหนูด้วย ตอนเด็กๆมันชอบร้องไห้ตามเวลาหนูจะไปเที่ยวป่า(ล่าสัตว์)” นางส่วงสงสัยจึงพยายามสอบถามว่าชาติก่อนเขาเป็นใคร มีชื่อว่าอะไร แต่เด็กชายธีระพันธ์ไม่ยอมตอหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่นาน วันหนึ่งนายพลตาของเด็กชายธีระพันธ์เห็นนายทรเดินผ่านหน้าบ้านก็คิดที่จะพิสูจน์ความทรงจำในอดีตชาติของเด็กชายธีระพันธ์ โดยเรียกให้นายทรแวะเข้ามาที่บ้านแล้วเรียกให้เด็กชายธีระพันธ์ออกมาหน้าบ้าน เมื่อเห็นนายทรเด็กชายธีระพันธ์ก็พูดขึ้นมาว่า “อ้าว…ไอ้ทรไปไหนมาล่ะ” นายพลแกล้งดุว่า “ทำไมเรียกพ่อเฒ่าอย่างนั้นล่ะ” เด็กชายธีระพันธ์บอกว่า “ทำไมจะเรียกไม่ได้…ก็มันเป็นลูกไอ้เหว่าเพื่อนหนู เป็นลูกหนูด้วย"

ผู้เขียน ได้สอบถามเรื่องนี้กับ นายทร หัสสะโต ซึ่งขณะที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์เมื่อปี ๒๕๔๒ เขาอายุ ๘๘ ปีแล้ว แต่ความจำยังดีเยี่ยม นายทรกล่าวว่าตนไม่ทราบว่าเด็กชายธีระพันธ์เป็นใครมาเกิด แต่ตนเคยได้ยินเขาเรียกตนว่า “ไอ้ทร” ในงานแต่งงานของนายสนกับนางปาน และอีกครั้งหนึ่งที่บ้านของนายพล ตนจำไม่ได้ว่านายเหว่าพ่อเลี้ยงของตนเคยมีเพื่อนเป็นใครบ้าง เพราะขณะนั้นตนยังเด็กมาก ตนคิดว่าเขาอาจจะเป็นนายรังพ่อแท้ๆของตนสืบชาติมาเกิดก็เป็นได้ เพราะเขาบอกว่าตนเป็นลูกของเขาและเป็นลูกของนายเหว่าเพื่อนของเขาด้วย แต่ที่ตนสงสัยคือเขารู้จักและทักทายตนได้อย่างไรทั้งๆที่ไม่เคยพบหรือรู้จักกันมาก่อน นายทรกล่าว

ความผูกพันที่ยังคงเป็นปริศนา

เด็กชายธีระพันธ์ มีความรู้สึกห่วงใยนายทรมากแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม มีครั้งหนึ่งขณะที่เขาอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขาขอร้องนางส่วงผู้เป็นแม่ให้ไปรับนายทรมาอยู่ด้วย เขาบอกว่า “เป็นห่วงกลัวลูกๆมันจะไม่เลี้ยงดู กลัวว่ามันจะลำบาก” เด็กชายธีระพันธ์จะเรียกลูกๆของนายทรว่า “ไอ้”หรือ “อี” ทุกคนโดยบอกกับนางส่วงว่า “ก็พวกมันเป็นเด็กทั้งนั้นจะเรียกมันยังไงล่ะ” แม้แต่ท่านอาจารย์หล่อเจ้าอาวาสวัดใหม่ประชาสามัคคี(วัดน้อย) เด็กชายธีระพันธ์ในขณะนั้นก็ไม่ยอมเรียกว่า “หลวงพ่อ” เขาบอกกับนางส่วงว่า “พระเด็กๆ จะให้หนูเรียกยังไง” ซึ่งท่านเจ้าอาวาสท่านก็ทราบเรื่องนี้ดี

ความผูกพันความห่วงใยที่ เด็กชายธีระพันธ์มีให้กับนายทรนั้น จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าในอดีตชาติเขาคือใครกันแน่ จากการสอบถามข้อมูลจากนายทรและญาติๆ ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่านายทรไม่ใช่บุตรที่เกิดกับนายเหว่า แต่เป็นบุตรของ นายรัง หัสสะโต สามีคนแรกของนางทองแม่ของนายทร ขณะยังมีชีวิตอยู่นายรังเป็นหมอโบราณที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไสยศาสตร์และอาคมผู้หนึ่ง ซึ่งจากคำพูดและการแสดงออกของ เด็กชายธีระพันธ์ในขณะนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเป็นนายรังพ่อแท้ๆของนายทรสืบชาติมาเกิด

ทำพิธีแยกร่างที่แฝงอยู่ออก

เมื่อครั้งที่เด็กชายธีระพันธ์ อายุได้ประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ ตอนนั้นเขาป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมีอาการหนักมาก แพทย์ตรวจแล้วบอกว่าอาการถึงขั้นปอดดำหมดแล้ว คาดว่าคงจะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอนและอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ นางส่วงไม่ทราบว่าจะช่วยชีวิตบุตรชายไว้ได้อย่างไรจึงลองให้คนทรงเจ้าช่วยตรวจดูดวงชะตาให้ คนทรงบอกว่าเด็กชายธีระพันธ์มีอีกร่างหนึ่งแฝงอยู่ ต้องทำพิธีแยกร่างที่แฝงอยู่ออกอาการป่วยจึงจะหาย ตอนนั้นนางส่วงไม่ค่อยเชื่อนักแต่ก็ไม่มีทางเลือกและไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร จึงตอบตกลงให้คนทรงทำพิธีแยกร่างที่แฝงอยู่ออกมา โดยให้อีกร่างหนึ่งอยู่ในหุ่นกุมารทอง นางส่วงเรียกหุ่นกุมารทองนั้นว่า “กุมารทอง หรือ กุมารน้อย” หลังจากทำพิธีแยกร่างได้ไม่นาน อาการป่วยของเด็กชายธีระพันธ์ก็ค่อยๆทุเลาลงและหายเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์ หลายปีต่อมามีครั้งหนึ่งนางส่วงพาเด็กชายธีระพันธ์ไปรักษากับแพทย์คนเดิมอีกครั้ง(คลินิก นพ.อดิศร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์) เมื่อแพทย์ตรวจดูประวัติคนไข้ก็รู้สึกประหลาดใจ ว่าทำไมเด็กชายธีระพันธ์จึงรอดชีวิตจากโรคไข้เลือดออกระยะนั้นมาได้

นางส่วง เล่าถึงกุมารน้อยให้ฟังว่า ลูกจ้างเลี้ยงวัว คนในครอบครัวและแขกที่มานอนพักที่บ้านของเธอเกือบทุกคนจะเคยเห็นหรือฝันเห็นกุมารน้อย โดยทุกคนที่ได้เห็นกับตาหรือฝันเห็นจะบรรยายลักษณะของร่างที่เห็นตรงกัน คือเป็นผู้ชายสูงพอๆกับนายธีระพันธ์มีผิวกายใสเหมือนแก้ว หน้าตางดงามมาก โดยเฉพาะ นายเล็ก น้องชายของเธอจะคุ้นเคยกับกุมารน้อยดี นายเล็กเคยเล่าให้เธอฟังว่า เวลาที่กุมารน้อยไปหาเขา เขาจะทราบเพราะกุมารน้อยชอบไปปลุกโดยขึ้นคร่อมบนตัวเขา แล้วขย่มให้ตื่น แรกๆนายเล็กก็รู้สึกกลัวแต่หลังๆก็เริ่มรู้สึกชิน นายเล็กนับถือกุมารน้อยมากก่อนออกเดินทางทุกครั้งเขาจะยกมือบอกกุมารน้อยว่าขอให้ช่วยคุ้มครองเขาด้วย มีครั้งหนึ่ง(ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๑)นายเล็กและภรรยาขับรถกระบะบรรทุกกระเทียมจากทางภาคเหนือ จะไปส่งให้ลูกค้าที่กรุงเทพฯ ระหว่างทางรถของนายเล็กเสียหลักพุ่งชนท้ายรถสิบล้อซึ่งจอดอยู่ริมถนน รถของเขาพังยับเยิน ภรรยาของนายเล็กบาดเจ็บสาหัส แต่นายเล็กไม่เป็นอะไรเลย มีเพียงรอยถลอก และอาการเคล็ดขัดยอกเล็กน้อยเท่านั้นหลังประสบอุบัติเหตุนายเล็กได้ให้คนทรงที่ทำพิธีแยกร่างให้นายธีระพันธ์ตรวจดูดวงชะตาให้ ปรากฏว่ากุมารน้อยได้เข้าประทับทรงร่างทรงนั้น และบอกกับนายเล็กว่าเขาคือกุมารน้อย ตอนที่นายเล็กประสบอุบัติเหตุนั้น เขาได้ช่วยกันร่างของนายเล็กไว้ ถ้าเขาไม่ช่วยไว้นายเล็กคงจะเสียชีวิตไปแล้ว

นางส่วง กล่าวว่า กุมารน้อยไม่เคยปรากฏร่างให้เธอเห็น แต่เธอจะทราบว่ากุมารน้อยอยู่บ้านหรือไม่ โดยสังเกตว่า ถ้าหากกุมารน้อยจะออกไปนอกบ้าน เธอจะได้ยินเสียงคนเดินลงบันได และจะได้กลิ่นธูป แต่ถ้าเขาอยู่บ้านเธอจะได้ยินเสียงคนเดินข้นลงบันไดเฉยๆจะไม่มีกลิ่นธูป

บอกหวยเพื่อนบ้าน

นางส่วง เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆนายธีระพันธ์เคยบอกหวยให้เธอ พี่สาวของเธอ และเพื่อนบ้าน ๔-๕ งวดติดต่อกัน ซึ่งในงวดแรกๆไม่มีใครแทงตามเพราะไม่เชื่อ แต่เมื่อเห็นว่าหวยออกตรงกับตัวเลขที่เขาบอก งวดหลังๆจึงมีผู้แทงตามและถูกหวยไปหลายคนแต่ตัวเธอเองไม่ได้ซื้อเพราะเล่นหวยไม่เป็น ผู้เขียนได้สอบถามพยานซึ่งเป็นญาติๆและเพื่อนบ้านหลายคนที่นางส่วงกล่าวถึง ก็ได้รับคำตอบว่าตอนเด็กๆนายธีระพันธ์เคยบอกหวยให้พวกเขาถูกจริง แต่ถูกเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก ตอนนั้นพวกเขาไม่กล้าทุ่มแทงลงไปมากเกรงว่าจะไม่ถูก เพราะไม่เชื่อว่าเขาจะรู้ว่าหวยจะออกเลขอะไร และหลังจากงวดที่ ๕ ที่เขาบอกจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เขาก็ไม่เคยให้หวยกับใครอีกเลย เพื่อนบ้านกล่าว นายธีระพันธ์ พูดถึงความทรงจำในอดีตชาติของเขาว่า ปัจจุบันนี้เขายังจำได้ว่า เขาเคยเรียกนายทรว่า “ไอ้ทร” จำได้ว่าเคยพานางส่วงผู้เป็นแม่ไปขุดสมบัติ ขณะที่ขุดเขาท่องคาถาอะไรจำไม่ได้ แต่จำได้ว่ายาวมาก นอกเหนือจากนี้เขาจำไม่ค่อยได้แล้ว

ความรู้สึกของ นายธีระพันธ์

ผู้เขียนถามถึงลักษณะของความทรงจำที่เขาจำได้ นายธีระพันธ์บอกว่า มันเหมือนกับเวลาที่เราฝันหรือเวลาที่เรานึกถึงภาพเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไป คือเมื่อนึกถึงเรื่องใด ภาพของสถานที่ หรือบุคคลก็จะผุดขึ้นมาในความคิดทันที เหมือนกับความทรงจำปกติทั่วไปเมื่อถามว่าเคยเห็นอีกร่างหนึ่งของเขา(กุมารน้อย)หรือไม่ และมีวิธีติดต่อสื่อสารกันอย่างไร นายธีระพันธ์บอกว่า เขาไม่เคยเห็นร่างของกุมารน้อยแต่จะมีการติดต่อสื่อสารกันทางจิต พูดคุยกันทางจิตไม่ใช่การใช้ปากพูด เขาจะได้ยินเสียงพูดผุดขึ้นในใจ เช่น มีครั้งหนึ่งเขากำลังเตรียมตัวจะออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ จู่ๆก็มีเสียงผุดขึ้นในใจว่า…อย่าไปนะจะมีเรื่อง…เขาจึงตัดสินใจไม่ไปกับเพื่อนๆ ปรากฏว่าวันนั้นเพื่อนๆที่ไปเที่ยวมีเรื่องตีกันกับคู่อริจริงๆ เขามีความเชื่อถือเสียงที่ผุดขึ้นในใจของเขามาก เขาเชื่อว่ามันคือเสียงของกุมารน้อยจริงๆ

สำหรับข้อมูลการจำอดีตชาติได้ของนายธีระพันธ์นี้ ยังมีประเด็นที่ยังเป็นปริศนาอยู่หลายประเด็น ที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เช่น เรื่องสมบัติที่เขาฝังไว้ในอดีตชาติ ผู้เขียนและอาจารสุตทยา วัชราภัย เคยขอให้นายธีระพันธ์และนางส่วงขุดบริเวณที่นายธีระพันธ์บอกว่าเขาฝังสมบัติไว้ แต่นายธีระพันธ์ไม่ยอมให้ขุดเขาบอกกับนางส่วงและนางซังผู้เป็นยายว่าเวลาให้ขุดก็ไม่ยอมขุดถึงตอนนี้จะมาขุด มันอยู่ของมันอย่างนั้นก็ดีอยู่แล้ว และเรื่องราวเกี่ยวกับการแยกร่าง ซึ่งผู้เขียนยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ที่นำเสนอไว้ในที่นี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่ง ของประสบการณ์และความเชื่อของผู้ที่ประสบกับเรื่องราวเหตุการณ์ลี้ลับ ซึ่งมันอาจเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ฟั่นเฟือนไม่เป็นความจริง หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งที่เรายังไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินวิสัยของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะหาคำอธิบายได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลที่จะนำพาเราไปสู่การศึกษาค้นคว้าหาความจริงในอนาคตต่อไป