คำนิยม / คำนำ / สารบัญ

๑๖ กรณีศึกษา ผู้จำอดีตชาติได้

จากหมู่บ้านตะคร้อ ต.ตะคร้อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์

พบกับเรื่องจริงของ ๑๖ ผู้จำอดีตชาติได้ ที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

และมีพยานบุคคลมากกว่า ๑๐๐ คน

โดย... ธวัชชัย ขำชะยันจะ

(ต้นฉบับ E-Book)

คำนิยม

(เล่ม ๑)

การเวียนว่ายตาย-เกิด เป็นความเชื่อที่มีมาแต่สมัยโบราณและเป็นหลักสำคัญของศาสนาที่สำคัญของโลก ที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อสอนให้คนไม่ทำบาป เพื่อไม่ให้ติดเป็นบาป-กรรมในชาติภพต่อไป และทำแต่ความดีเพื่อให้เป็นบุญกุศลส่งไปถึงชาติต่อๆไป แต่หลักฐานสำคัญที่ว่ามีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงๆ ยังเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏชัดแจ้งในทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันดังนั้น การศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานจากกรณีที่มีเด็กเล็กๆจำอดีตชาติได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอียน สตีเวนสัน จิตแพทย์ชาวอเมริกันได้เคยอุทิศชีวิตดำเนินการศึกษา กรณีเด็กที่จำอดีตชาติได้จำนวนมากมายหลายพันรายเป็นตัวอย่างปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และท่านนายแพทย์ เอียน ยังได้เคยเข้ามาศึกษากรณีที่เด็กไทยจำอดีตชาติได้ แต่ข้อมูลของคนไทยที่จำอดีตชาติได้ยังไม่เคยมีการรวบรวมไว้อย่างมากมาย และตีพิมพ์เป็นเอกสารเพื่อการศึกษาค้นคว้ามาก่อน

หนังสือ “๑๖ กรณีศึกษาตายแล้วเกิด คนจำอดีตชาติ (Reincarnation) : ตะคร้อ หมู่บ้านโลกตะลึง” ที่เขียนโดยการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลของ คุณธวัชชัย ขำชะยันจะ จึงเป็นหลักฐานที่เกิดจากความสนใจที่จะศึกษากรณีดังกล่าวในหมู่บ้านตะคร้อ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีผู้ที่จำอดีตชาติได้และยังมีชีวิตอยู่มากกว่า ๔๐ ราย ทำให้มีการสืบพยานรู้เห็นจำนวนมาก เป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมและสามารถพิสูจน์ได้ และยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหลักฐานการศึกษาค้นคว้ากรณีคนที่จำอดีตชาติได้ในประเทศไทย ที่สำคัญอันหนึ่ง และแม้ว่าผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อสอนให้เราไม่ตั้งอยู่ในความประมาท และประพฤติปฏิบัติตนแต่ในสิ่งที่ดี และเป็นบุญกุศล เพื่อให้ได้ไปเกิดในชาติภพที่ดีงามต่อไป

จึงขอแสดงความชื่นชมและอนุโมทนาในกุศลบุญที่ คุณธวัชชัย ขำชะยันจะ ได้พากเพียรศึกษาและนำมาเขียนเล่าความจริงให้เป็นประโยชน์สืบต่อไป

ด้วยความปรารถนาดียิ่ง

ดร.นัยพินิจ คชภักดี

เลขาธิการสมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทย

คำนิยม

(เล่ม ๑)

ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญให้เขียนคำนิยมในครั้งนี้ ผมรู้สึกประทับใจในตัวของผู้เขียนตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คือ ดร.เจอร์เกน ไคล์ (Jurgen Keil) และ นพ. จิม ทักเกอร์ (Jim Tucker) โดยขณะนั้นผมทำหน้าที่เป็นเพียงล่ามแปลภาษาและผู้ช่วยนักวิจัยของทีม แต่ก่อนที่ผมจะพบกับผู้เขียน ในปี ๒๕๔๒ ผมได้มีโอกาสช่วยงานสมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทย โดย “ครู” ทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ของผมคือ รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี เป็นเลขาธิการสมาคมฯ ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับทีมนักวิจัยข้างต้นเพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ช่วยวิจัยในการติดตามผู้ที่จดจำอดีตชาติได้ ในประเทศไทย จากความรู้สึกส่วนตัวที่ผมไม่เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด เลยตัดสินใจรับงานดังกล่าวโดยมีความคิดว่าต้องการพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยตนเอง

ต่อมาในปี ๒๕๔๔ ผมได้ร่วมงานเป็นนักวิจัยในทีมนักวิจัยอย่างเต็มตัว โดยเริ่มศึกษาวิจัยเรื่องราวของคนที่จำอดีตชาติ ด้วยระเบียบวิธีวิจัยทางด้าน ปรจิตวิทยา (Parapsychology) ตามแนวทางของ ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน (Prof. Dr. Ian Stevenson) และทีมวิจัยดังกล่าว ในช่วงเวลานั้นเองผมได้มีโอกาสพบกับผู้เขียน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษาการกลับชาติมาเกิดของคนไทย ซึ่งผู้เขียนได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับของผู้จำอดีตชาติที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตะคร้อ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ผู้เขียนได้ศึกษาและทำการเก็บรวบรวมข้อมูลมาด้วยตัวของผู้เขียนเอง ทั้งจากการสัมภาษณ์ผู้ที่จำอดีตชาติได้ พร้อมๆกับรวบรวมพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยผู้เขียนเป็นนักวิชาการอิสระและเป็นนักวิจัยที่มีความมุ่งมั่น ผู้เขียนได้มอบข้อมูลของผู้จำอดีตชาติในหมู่บ้านตะคร้อ ให้กับผมและทีมนักวิจัย โดยหวังว่าทางทีมวิจัยของ ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ที่ประกอบด้วยสามท่านในเวลานั้น ได้แก่ ดร. เจอเก็น ไคล์ นพ. จิม ทักเกอร์ และผม จะได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยซ้ำอีกครั้ง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางปรจิตวิทยา

ซึ่งทีมนักวิจัยทั้งหมดได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านตะคร้อ อีกครั้งโดยใช้เพียงที่อยู่ของผู้จำอดีตชาติได้เท่านั้นเป็นแผนที่ในการนำทาง ส่วนข้อมูลอื่นๆที่เก็บรวบรวมโดยผู้เขียนนั้นทีมนักวิจัยไม่ได้นำไปด้วยแต่อย่างใดทั้งนี้ก็เพื่อความถูกต้องของข้อมูล และใช้ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลของผู้เขียน หลังจากที่ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่และติดตามเก็บรายละเอียดข้อมูลของผู้ที่จำอดีตชาติได้เกือบทั้งหมดแล้ว ทีมนักวิจัยรวมทั้งผมได้เดินทางกลับไปที่ Division of Personality Studies (DOPs), University of Virginia Health System เพื่อดำเนินการวิเคราะห์เชิงลึกกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา ด้วยความโชคดีของผมเองที่ ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ได้ใช้ข้อมูลของผู้จำอดีตชาติได้ที่หมู่บ้านตะคร้อ เป็นแนวทางในการสอนระเบียบวิธีวิจัยอย่างเต็มรูปแบบและตามหลักวิชาการให้กับผม รวมทั้งข้อมูลของผู้จำอดีตชาติได้ของชาติอื่นๆในการศึกษาและเปรียบเทียบ โดยภายหลังจากการใช้เวลาหลายเดือนในการเริ่มจัดระเบียบข้อมูลให้เข้ากับระบบของ Division of Personality Studies (DOPs) และการวิเคราะห์ข้อมูล ก็ปรากฏเป็นที่แน่ชัดจากหลักฐานที่มีอยู่ โดยการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้รับจากผู้เขียน และข้อมูลที่ผมและทีมนักวิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมเองนั้น พบว่ามีความเป็นไปได้สูง ซึ่งข้อสมมุติฐานนี้ได้มาจากข้อมูลทั้งสองกลุ่มเท่านั้น แต่กระนั้นผมและทีมวิจัยก็ยังไม่สามารถสรุปหรือฟันธงได้ว่า บุคคลที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ คือ ผู้ที่กลับชาติมาเกิด และสามารถจดจำอดีตชาติของตัวเองได้จริง ทั้งนี้ต้องรอนักวิชาการและนักวิจัยจากหลายๆแขนง รวมไปถึงการใช้ระเบียบวิธีวิจัยจากหลายสาขามาพิสูจน์ข้อสมมุติฐานดังกล่าว

หลังจากการใช้เวลาหลายปีของนักวิจัยในทีมในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ และผมได้ขาดการติดต่อกับทีมนักวิจัยไประยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมเดินทางไปทำงานหลังปริญญาเอกที่ Seoul National University School of Medicine ณ ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จนกระทั่งกลางปี ๒๕๕๐ ผมก็ได้รับ email จาก ศ.ดร.บรูซ เกรย์สัน (Prof. Dr. Bruce Greyson) แจ้งว่า ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ศิริอายุ ๘๘ ปี ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบข่าวการสูญเสียนักวิชาการที่สำคัญไปอีกหนึ่งคน แต่อย่างน้อยที่สุด ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ก็ถือได้ว่าเป็น “ครู” ทางด้าน ปรจิตวิทยาคนหนึ่งของผม และผมก็นับได้ว่าเป็น “ลูกศิษย์” คนสุดท้ายที่ท่านได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนวิชาการและความรู้ของศาสตร์แขนงนี้ ให้กับผมก่อนที่ท่านจะลาจากโลกนี้ไป เมื่อผมได้ทราบข่าวจากผู้เขียนว่าจะนำเอาเรื่องราวของผู้จำอดีตชาติของผู้คนหมู่บ้านตะคร้อ มาถ่ายทอดลงในหนังสืออีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าทางผมและทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย จะไม่ได้ตีพิมพ์รายงานผลการวิจัยและเรื่องราวต่างๆก็ตาม ผู้เขียนได้จุดประกายแห่งความระลึกถึงและปลื้มปิติของ “ครู” ที่ชื่อว่า ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน ขึ้นมาในใจของผมเองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมๆกับดีใจเป็นอย่างยิ่งกับผู้เขียนที่ได้เก็บเรื่องราวต่างๆไว้เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี

ดังนั้นผมจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้เขียนจะนำมาเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ในหนังสือเล่มนี้ ถึงแม้ผมและทีมวิจัยจะยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดก็ตามว่าเกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเพียงการศึกษาจากหลักฐานที่มีอยู่เท่านั้นและเรื่องราวของผู้จำอดีตชาติได้นี้ ยังต้องมีการดำเนินการศึกษาและค้นคว้าอย่างเป็นระบบกันอีกต่อไป

ดร.วิเชียร (ภัครวรรธน์) สิทธิประภาพร

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒


คำนำผู้เขียน

(เล่ม ๑)

เรื่องราวของผู้ที่จำอดีตชาติได้ทั้ง ๑๖ ราย ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนได้จากการสัมภาษณ์ ผู้ที่จำอดีตชาติได้และครอบครัวผู้เกี่ยวข้อง ในหมู่บ้านตะคร้อ ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยตัวเอง ซึ่งจากการสำรวจและศึกษาพบว่า มีผู้ที่จำอดีตชาติได้ที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า ๔๐ ราย บางรายยังสามารถจำอดีตชาติได้ บางรายมีพยานรู้เห็นจำนวนมาก บางรายมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมสามารถพิสูจน์ได้ และที่สำคัญคือ เรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ ยังไม่เคยถูกเปิดเผยหรือตีพิมพ์ในหนังสือเล่มใดมาก่อน

สำหรับวัตถุประสงค์การนำเสนอในครั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการแต่อย่างใด แต่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวข้อมูลความจริง ที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ที่จำอดีตชาติได้ และพยานที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด ทั้งทางฝ่ายอดีตชาติและปัจจุบันชาติ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ คำพูดและการแสดงออกของผู้ที่จำอดีตชาติได้ (Statements and Behavior) ความฝันบอกเหตุ(Announcing Dreams) ความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด(Birth Defects) รอยตำหนิ แผลเป็น หรือปานที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด (Birthmarks) และสิ่งอื่นๆหรือเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่สัมพันธ์กันกับอดีตชาติ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สิ่งต่างๆดังกล่าวมีความสัมพันธ์กัน ระหว่างปัจจุบันชาติและอดีตชาติ อย่างเป็นรูปธรรมและมีเหตุมีผล รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ และความเข้าใจในมุมมองของผู้ที่ได้ประสบเหตุการณ์ หรือผู้ที่ได้ทำการพิสูจน์ด้วยตัวเอง ว่าพวกเขาคิดและเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านและผู้ที่สนใจตามสมควร อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเห็นความเชื่อที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าชีวิตภายหลังความตายหรือชาติหน้านั้นมีอยู่ จะได้เริ่มวางแผนวางจุดมุ่งหมายในชีวิตได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงทางและใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ทำให้ผู้ที่กำลังคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วอยู่ ได้เกิดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป หรือทำให้ผู้ที่กำลังท้อแท้ในการทำความดีอยู่ได้มีกำลังใจว่า ผลของการทำความดีของท่านจะไม่เป็นหมัน ถึงแม้ว่าบางสิ่งจะยังไม่เห็นผลในชาตินี้ก็ตาม

ผู้เขียนต้องขออภัย ที่จำเป็นต้องสงวนข้อมูลเรื่องราวของผู้ที่จำอดีตชาติได้บางส่วน ในกรณีที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคดีการฆาตกรรม การกระทำความผิดกฎหมาย หรือทำผิดศีลธรรมของบุคคลในอดีตชาติ เนื่องจากคดีฆาตกรรมบางคดีจนถึงปัจจุบันนี้คดียังไม่หมดอายุความ และการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมาย หรือการกระทำผิดศีลธรรมของบุคคลในอดีตชาติ อาจก่อให้เกิดความอับอายหรือเกิดความเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ถึงแม้ว่าเรื่องราวต่างๆดังกล่าวจะเป็นหลักฐานที่ดีหลักฐานหนึ่ง ที่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาจำอดีตชาติได้จริงก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อคดีความ หรือก่อให้เกิดความอับอาย หรือเกิดความเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงขอสงวนข้อมูลบางส่วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใด และหากมีข้อมูลบางส่วนที่พาดพิงไปบ้าง ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ในที่นี้ด้วย ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใด เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ที่เป็นเหตุเป็นผลกันของเรื่องราวในอดีตชาติกับในปัจจุบันชาติเท่านั้น หากมีผู้ที่ต้องการข้อมูลโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยอย่างแท้จริง กรุณาติดต่อกับผู้เขียนโดยตรง

ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้ที่จำอดีตชาติได้ ผู้ปกครองและพยานผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่กรุณาให้ความร่วมมือ และให้สัมภาษณ์ข้อมูลตามความเป็นจริง เกี่ยวกับเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ทั้งหมดนี้กับผู้เขียนด้วยดี และยังยินยอมให้เผยแพร่ชื่อนามสกุลจริงของตัวท่านเอง ญาติพี่น้อง รวมทั้งพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจสืบหาข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อการพิสูจน์ หรือเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยในอนาคตข้างหน้าต่อไป และต้องขอขอบคุณท่าน รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี ผู้อำนวยการโครงการวิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดลและเลขาธิการสมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทย ที่แนะนำให้รู้จักกับบุคคลที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ และได้ให้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายเผยแพร่เรื่องนี้ ในสมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทย ท่าน อาจารย์สุตทยา วัชราภัย อาจารย์พิเศษนิด้าและวิทยากรรับเชิญบรรยายเกี่ยวกับการจำอดีตชาติได้ ซึ่งท่านเคยร่วมงานกับคณะศึกษาวิจัยผู้ที่จำอดีตชาติได้ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียสหรัฐอเมริกา และ ดร.วิเชียร สิทธิประภาพร ผู้ที่เคยร่วมงานศึกษาวิจัยผู้ที่จำอดีตชาติได้ในประเทศไทยกับคณะศึกษาวิจัย จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา อีกท่านหนึ่ง ไว้ในที่นี้ด้วย ที่กรุณาให้คำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติได้ในเชิงวิชาการ ซึ่งช่วยให้ผู้เขียนทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้อย่างครอบคลุมและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น สุดท้ายต้องขอขอบคุณ คุณกนกวรรณ มากพานิชย์ ที่สละเวลาช่วยพิมพ์ต้นฉบับ จากที่เขียนด้วยลายมือซึ่งต้องใช้เวลามาก ให้สำเร็จลงได้

สำหรับ E-Book ที่ท่านได้อ่านอยู่นี้ผู้เขียนขออุทิศให้เป็นธรรมทาน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ ในทุกกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้า

หากมีความผิดพลาดประการใดในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

ส่วนกุศลประโยชน์อันใดที่พึงมีพึงได้จากหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอยกกุศลประโยชน์นั้นให้แด่ผู้ที่จำอดีตชาติได้ทุกคนและครอบครัว รวมทั้งบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ผู้มีอุปการคุณของผู้เขียนทุกท่าน และขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้รับกุศลประโยชน์ว่าด้วย สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จากการใช้ปัญญาความรู้พิจารณาเรื่องราวเหล่านี้ด้วยเทอญ

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

๓๑ มกราคม ๒๕๔๙

tk2513@gmail.com

คำนิยม

(เล่ม ๒)

การจำอดีตชาติได้ เป็นการยืนยันเรื่องสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดได้ว่า ชีวิตมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็กลับมาเกิดอีก ตั้งอยู่ ดับไป หมุนเป็นวงกลมเช่นนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมดแดงไต่ขอบกระด้ง หรือใช้ปากกาเขียนเป็นวงกลมทับกันหลาย ๆ ชั้น หากยังไม่สิ้นกิเลส

เพราะความซับซ้อนหลายชั้นของภพชาตินี้เอง ผู้มาเกิดอีกส่วนใหญ่จึงจำอดีตของตนไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นของชีวิตอยู่ไหน จุดสิ้นสุดอยู่หนใด ตนถือกำเนิดเป็นอะไรมาก่อน ภาษาพระเรียกว่า อนมตคฺโค

การจำอดีตชาติได้ เป็นการยืนยันเรื่องกฎแห่งกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า ทำดีได้ดี ทั่วชั่วได้ชั่ว ทำกรรมใดไว้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน เหมือนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ยืนยันว่า สรรพสัตว์ มีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป

ข้าพเจ้าเห็นว่า การระลึกชาติได้เป็นเรื่องดี แต่บางที การลืมอดีตได้บ้าง ก็อาจจะดีกว่า คิดดูให้ดีว่า ถ้าวันนี้เราทุกอย่างจากอดีตได้หมด เราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราจะขัดแย้งกันแค่ไหน หากสามารถสาวไปถึงอดีตชาติ เพราะไม่รู้ใครเคยเป็นสามีภรรยาของใคร เป็นพ่อแม่ของใครมาก่อน ด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติจึงทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่จำอดีตชาติไม่ได้ เพื่อป้องกันความสับสนในชีวิต

การจำอดีตชาตินั้นเป็นการดี บางคนอาจระลึกชาติได้โดยธรรมชาติ เช่น เกิดมาแล้ว เมื่อจำความได้ ก็เล่าเรื่องต่างๆ ได้เลย โดยไม่ต้องฝึกฝนสมาธิภาวนาแต่อย่างใด อย่างกรณีศึกษาเรื่องคนจำอดีตชาติได้ในหนังสือเล่มนี้ แต่บางคนเมื่อเกิดมาจำอดีตชาติเองไม่ได้โดยธรรมชาติ ถ้าต้องการพิสูจน์ด้วยตนเอง ก็ยังมีทางเลือกด้วยการฝึกฝนจนระลึกได้ผ่านสมาธิภาวนาจนได้ญาณสมาบัติ

ไม่ว่าจะจำได้หรือระลึกชาติได้ด้วยวิธีใด ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจใฝ่รู้อย่างยิ่ง เพราะสาระสำคัญเรื่องนี้ อยู่ที่ยืนยันภพชาติ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ละอายชั่วกลัวบาปยิ่งขึ้น สนับสนุนให้มนุษย์มั่นใจว่า บาปบุญมีจริง ภพชาติมีจริง เหมือนวันนี้มีจริง พรุ่งนี้ก็มีจริง ทำดีภพนี้ ภพหน้าดีจริง ทำชั่วภพนี้ ภพหน้าชั่วจริง ลำบากจริง ทุกข์ทรมานจริง

ข้าพเจ้าจึงขออนุโมทนาบุญ คุณธวัชชัย ขำชะยันจะ ที่ได้ตั้งใจศึกษาค้นคว้ามาอย่างดี และขอฝากถึงท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ว่า “อยากให้ชีวิตชาตินี้ หรือชาติหน้าเป็นอย่างไร จงลงมือเดินทางไปตามแผนที่ชีวิตที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้นเถิด”


พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ

คำนิยม

(เล่ม ๒)

ตัวผมเองได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเรื่องเด็กที่จำอดีตชาติได้ ตายแล้วเกิดใหม่ในประเทศไทย ร่วมกับคณะศึกษาวิจัย ที่นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน สตีเวนสัน (Professor Ian Stevenson, M.D.) แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ทั้งกับ ดร.เจอร์เกน ไคล์ (Dr.Jurgen Keil) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันจากประเทศออสเตรเลีย และ นายแพทย์จิม ทักเกอร์ (Jim Tucker, M.D.) จิตแพทย์หนุ่มชาวอเมริกัน ซึ่งผมได้นำ ดร.เจอร์เกน ไคล์ เดินทางไปศึกษาค้นคว้าด้วยกันในพื้นที่ หลายจังหวัด ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นเวลาราว ๗ ปี รวมทั้งสิ้น ๕๐ กรณีศึกษา ซึ่งในปีพ.ศ.๒๕๔๑ นายแพทย์จิม ทักเกอร์ ได้เดินมาร่วมศึกษาค้นคว้าในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวม ๑๙ กรณีศึกษาในภาคอีสานด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ในวันวิสาขบูชา ผมได้พบกับ คุณธวัชชัย ขำชะยันจะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งไปฟังผมบรรยายเรื่อง “เด็กที่จำอดีตชาติได้” ที่เต็นท์ของเปรียญธรรมสมาคมที่สนามหลวง เมื่อได้พูดคุยกันก็ได้ทราบว่าในหมู่บ้านของคุณธวัชชัยมีผู้ที่จำอดีตชาติได้จำนวนมาก ในวันรุ่งขึ้นคุณธวัชชัยได้พาผมไปที่ บ้านตะคร้อ ตำบลตะคร้อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ผมได้พักอยู่ที่บ้านของคุณธวัชชัยตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ถึง ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ รวม ๔ วัน ๕ คืน ได้อ่านบันทึกที่คุณธวัชชัยเขียนด้วยลายมือเรื่องเด็กที่จำอดีตชาติได้ในหมู่บ้านตะคร้อราว ๑๕ กรณีศึกษา และคุณธวัชชัยได้พาผมไปคุยกับแม่ของเด็กที่จำอดีตชาติได้รายหนึ่ง ผมรู้สึกแปลกใจและออกจะเหลือเชื่อว่าในหมู่บ้านตะคร้อจะมีเด็กที่จำอดีตชาติได้มากขนาดนั้น เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยพบหมู่บ้านที่มีเบาะแสเรื่องตายแล้วเกิดใหม่มากที่สุดเพียง ๕ รายเท่านั้นในภาคอีสาน เพื่อที่จะตรวจสอบความจริงในเรื่องเหลือเชื่อนี้ ผมจึงได้ชวนคุณธวัชชัยไปสืบหาเบาะแสรายใหม่ๆ ที่คุณธวัชชัยไม่ทราบเรื่องมาก่อนจากหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลเดียวกัน โดยผมซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของคุณธวัชชัยไปพูดคุยสอบถามชาวบ้านทั่วไปด้วยตนเอง เราสองคนได้ไปสืบหาเบาะแสของคนที่จำอดีตชาติได้จาก ๔ หมู่บ้านใกล้เคียง ปรากฏว่าได้เบาะแสใหม่ๆ ถึง ๘ ราย ภายในวันเดียว ซึ่งสูงกว่าสถิติก่อนหน้านี้ที่ผมหาเบาะแสใหม่ได้เฉลี่ยวันละ ๒ ราย จากการเดินพูดคุยสอบถามชาวบ้านในภาคอีสาน รวม ๒๐ วัน แล้วได้เบาะแสผู้ที่ตายแล้วเกิดใหม่ประมาณ ๔๐ รายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ วันรุ่งขึ้นผมยังได้ไปสัมภาษณ์สามกรณีศึกษาที่คุณธวัชชัยได้ศึกษาและบันทึกไว้แล้ว ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผมได้จดไว้ในสมุดบันทึกประจำวันโดยละเอียด ทำให้จดจำได้ไม่ลืม

ในครั้งนั้นผมได้ให้คำแนะนำในเรื่องวิธีการศึกษาค้นคว้าแก่คุณธวัชชัยไปหลายประการ และได้แจ้งเตือนให้คุณธวัชชัยทราบด้วยว่า ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน เคยมีจดหมายมาถึงผม แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยกรณีศึกษาเหล่านี้ต่อสื่อมวลชน เพราะแม้ในระยะแรกจะดูเหมือนกับไม่มีอะไรเสียหายและได้รับการประชาสัมพันธ์เป็นที่น่ายินดี แต่ในระยะยาวมักส่งผลกระทบที่เป็นผลเสียต่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต นอกจากนี้ ดร.เจอร์เกน ไคล์ ยังบอกผมด้วยว่าในโครงการวิจัยนี้จะไม่มีการให้เงินเด็กที่จำชาติก่อนได้ ตลอดจนครอบครัวหรือพยานใดๆ และต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เด็กตกเป็นข่าวมีชื่อเสียงมีคนสนใจ เพราะอาจเป็นเหตุจูงใจให้เด็กหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องโกหก หรือตกแต่งต่อเติมเสริมความให้ผิดหรือเกินความจริงเพื่อเรียกความสนใจ โดยหวังจะได้ประโยชน์เป็นทรัพย์สินเงินทองหรือความดังที่ตกเป็นข่าว ดังนั้นเวลาที่ผมจะนำเรื่องราวของคนที่จำอดีตชาติได้ไปเขียนหรือบรรยาย ผมก็จะไม่เปิดเผยชื่อจริงหรือที่อยู่จริงของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด จะใช้ชื่อแฝงหรือรหัส เว้นแต่ในรายที่เคยตกเป็นข่าวในสื่อมวลชนมาแล้วเท่านั้น

ซึ่งคุณธวัชชัยเองก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมได้เตือนเอาไว้ จึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำให้คนที่จำอดีตชาติได้ ตกเป็นข่าว มีชื่อเสียง หรือมีคนสนใจ และได้เก็บงำเรื่องราวของคนที่จำอดีตชาติได้ที่ได้ศึกษาสัมภาษณ์และเขียนบันทึกไว้แล้วเป็นเวลานานราว ๑๐ ปี โดยไม่นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเข้าไปศึกษาวิจัยในหมู่บ้านได้เต็มที่ โดยไม่ถูกรบกวนจากสื่อมวลชนและบุคคลภายนอก จนกระทั่งเห็นว่าได้เว้นระยะเวลาไว้พอสมควรแล้ว จึงได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาพิมพ์เป็นหนังสือ “ตะคร้อ คนจำอดีตชาติ” เล่ม ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ และพิมพ์เป็นหนังสือ “ตะคร้อ คนจำอดีตชาติ ๒” ในพ.ศ. ๒๕๕๖ โดยได้เปิดเผยทั้งชื่อจริงและที่อยู่จริงของบุคคลต้นเรื่องทั้งในปัจจุบันชาติและอดีตชาติ ซึ่งผมเองรู้สึกเป็นกังวลต่อผลกระทบที่อาจเป็นผลเสียต่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต อย่างที่นักวิชาการท่านได้เตือนเอาไว้ แต่ผมก็เคารพในการตัดสินใจของคุณธวัชชัย

เพราะตั้งแต่ผมได้รู้จักกับคุณธวัชชัยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงแม้เราจะไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่ผมก็ได้สังเกตเห็นว่าคุณธวัชชัยเป็นคนสุจริต มีหิริโอตตัปปะ ฝักใฝ่ในเรื่องบุญกุศล สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าสัจจธรรมความจริง ทั้งจากเรื่องราวรอบๆ ตัว และจากพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้า และบันทึกเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ไว้ และมิได้รีบร้อนที่จะพิมพ์จำหน่าย เพื่อหาเงินหรือเพื่อให้ตนเองหรือหมู่บ้านดังกล่าวมีชื่อเสียง อย่างที่เคยมีคนในวงการบันเทิงบางคนเข้าใจผิดและตั้งข้อสงสัยไว้ และการที่คุณธวัชชัยได้นำเรื่องราวของคนที่จำอดีตชาติได้มาเปิดเผยในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจอันเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ อันเป็นกุศลเจตนาที่น่าอนุโมทนา จึงไม่น่าจะมีเจตนาที่ไม่ดีหรือมีเจตนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จากการเปิดเผยชื่อและที่อยู่จริงของคนที่จำอดีตชาติได้ แต่สำหรับผลกระทบต่อการศึกษาวิจัยในทางวิชาการ ผมจะคอยติดตามประเมินผลในระยะยาวต่อไป

สุดท้ายนี้ผมต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีในผลงานหนังสือ “ตะคร้อ คนจำอดีตชาติ” ทั้ง ๒ เล่มที่เกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจจริงทุ่มเททั้งกายและใจของคุณธวัชชัย ซึ่งแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้อ่านทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ไม่มีชาติก่อนและชาติหน้า ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เป็นบาปอย่างหนัก จะได้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ผมหวังว่าหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้จะมีส่วนช่วยผลักดัน ให้เกิด “กลุ่มและเครือข่ายผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องตายแล้วเกิดใหม่” เพื่อช่วยกันสร้างกระแสสังคมให้เกิดความสนใจที่จะออกสืบหาเบาะแสเด็กที่จำอดีตชาติได้รายใหม่เพื่อจะได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในทุกพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดความสนใจที่จะทำการทดลองป้ายศพผู้ตายหลังตายใหม่ๆจะได้ตามหากันพบ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพบุรุษไทยที่ผมพยายามอนุรักษ์และเผยแพร่ด้วยการบรรยายมาโดยตลอด และสนใจที่จะติดตามสังเกตและศึกษาเด็กทารกที่มีรอยแผลเป็น รอยปานบนผิวหนัง หรือความบกพร่องทางร่างกายที่มีมาแต่แรกเกิด ไปจนกระทั่งเด็กสามารถพูดได้ เพื่อตรวจสอบว่าจำอดีตชาติได้หรือไม่ ตามแนวทางที่คุณธวัชชัยเสนอไว้ในบันทึกท้ายเล่ม สำหรับหนังสือ “ตะคร้อ คนจำอดีตชาติ” ทั้ง ๒ เล่มนี้ เป็นหนังสือดีมีคุณค่าที่หาอ่านได้ยาก ขอให้ช่วยเผยแพร่ให้ได้อ่านกันทั่วประเทศด้วยครับ

สุตทยา วัชราภัย

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖

คำนำผู้เขียน

(เล่ม ๒)

หลังจากหนังสือ “คนจำอดีตชาติ” เล่ม ๑ ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกและวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากผู้อ่านและสื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์หลายรายการ ซึ่งหลังจากเรื่องราวของคนจำอดีตชาติในหมู่บ้านตะคร้อ ได้เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนออกไปสู่สาธารณชน ก็มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างก็ว่าเป็นเรื่องงมงาย หลอกลวง บ้างก็ว่ารวมหัวกันสร้างเรื่องหลอกลวงกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นผู้เขียนขอน้อมรับด้วยความยินดี โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นผู้เขียนได้เตรียมใจไว้แต่แรกแล้ว จึงได้ตัดสินใจใช้ชื่อนามสกุลจริงของผู้เขียนเองไม่ใช้นามปากกา เพื่อให้ทุกท่านที่มีข้อติดใจสงสัย ได้พิสูจน์สอบถามและวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่าอาจจะได้พบมุมมองหรือข้อสังเกตบางอย่างที่ผู้เขียนอาจจะยังไม่ทราบหรือมองข้ามไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นั้น จะมาจากพื้นฐานของการพิสูจน์ทดลอง มากกว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากการอ่านหรือการรับชมเพียงผิวเผินเท่านั้น

ลองอ่านหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้ให้จบอย่างตั้งใจ แล้วนำเอาวิธีการติดตามสังเกตคนจำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิด ไปใช้สังเกตคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของท่านดูเมื่อมีโอกาส แล้วท่านจะค้นพบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยตัวของท่านเอง

ผู้เขียนและทางสำนักพิมพ์ต้องขอขอบพระคุณ พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ พระนักวิชาการ นักเทศน์ และนักเขียน ที่เมตตาเขียนคำนิยมและได้แสดงทัศนะเรื่อง “ใครเขียนแผนที่โลกหน้า” ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สุตทยา วัชราภัย ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่เคยร่วมงานศึกษาวิจัยคนจำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิดใหม่ อยู่ราว ๗ ปี กับคณะศึกษาวิจัย ที่นำโดย ศ.นพ.เอียน สตีเวนสัน จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ท่านได้กรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยคนจำอดีตชาติได้ตายแล้วเกิดใหม่กับผู้เขียนเสมอมา และในการจัดพิมพ์หนังสือ “คนจำอดีตชาติ” เล่ม ๒ นี้ ท่านก็ได้สละเวลาช่วยตรวจสอบต้นฉบับหนังสือเล่ม ๒ นี้โดยละเอียด ก่อนที่ท่านจะเขียนคำนิยมให้

หากมีความผิดพลาดประการใดในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวส่วนกุศลประโยชน์อันใดที่พึงมีพึงได้จากหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอยกกุศลประโยชน์นั้นให้แด่ผู้ที่จำอดีตชาติได้ทุกคนและครอบครัว รวมทั้งบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ผู้มีอุปการคุณของผู้เขียนทุกท่าน และขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้รับกุศลประโยชน์ว่าด้วย สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จากการใช้ปัญญาความรู้พิจารณาเรื่องราวทั้งหมดนี้อย่างเป็นกลางไม่ลำเอียงด้วยเทอญ

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

15 มีนาคม 2556

สารบัญ

(เลือกอ่านหัวข้อเรื่องในหนังสือนี้โดย คลิ๊กที่หัวข้อเรื่องสีน้ำเงินขีดเส้นใต้ เพื่อเชื่อมโยงไปยังหัวข้อนั้นๆ)

ปริศนาชีวิตภายหลังความตายและการเกิดใหม่

วิธีพิสูจน์ชีวิตภายหลังความตาย ตายแล้วเกิด

คำและความหมาย

ประวัติและแผนที่หมู่บ้านตะคร้อ

นายเทเวศน์ เรียบสัมพันธ์

เด็กชายนพพร ใจเร็ว

เด็กชายเจษฎา เต็มหัตถ์

เด็กชายอดิศร สุขโภชน์

เด็กชายพงศธร ศรชัย

เด็กชายฤทธิ์ไกร โนนน้อย

นางเสงี่ยม นันกลาง

นางสาวส้มลิ้ม คงสะโต

นายธีระพันธ์ วงศ์คำภา

เด็กชายวรวัฒน์ เจริญพร้อม

นางสุรางคนา วันที

เด็กชายพลวัฒน์ จุลโพธิ์

เด็กชายไพโรจน์ นาดง

เด็กชายวัชระ ใจเร็ว

เด็กชายโสภณ ขำพาลี

นายอำนาจ อวิสุ

รายการจำแนก ๑๖ ผู้จำอดีตชาติได้

ลักษณะที่น่าสนใจของผู้จำอดีตชาติได้

สาเหตุการเสียชีวิต ( Previous Personality Mode of Death )

ความฝันบอกเหตุ ( Announcing Dreams )

มีการทำนายถึงการเกิดใหม่โดยคนทรง ( Prediction of Birth by Medium )

รอยตำหนิที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด ( Birthmarks )

ความผิดปกติพิการตั้งแต่แรกเกิด ( Birth Defects )

จำเหตุการหลังเสียชีวิตได้ ( Remember After Death Experiences )

มีการเกิดมากกว่า ๑ ชาติ

มีการเกิดก่อนที่จะเสียชีวิต

รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ( Precognition )

บอกหวยถูก

มีระยะเวลานับจากวันที่เสียชีวิตถึงวันที่คลอดจากครรภ์แตกต่างกัน

วิธีทำให้เด็กลืมอดีตชาติ

สมมุติฐานเกี่ยวกับการอ้างว่าจำอดีตชาติได้

คำถามและคำตอบเกี่ยวกับชีวิตภายหลังความตายและการเกิดใหม่

วิญญาณมีจริงหรือ ?

การเวียนว่ายตายเกิดมีจริงหรือไม่ ?

การระลึกชาติได้มีจริงหรือไม่ ?

ทำไมบางคนจำอดีตชาติได้และบางคนจำอดีตชาติไม่ได้ ?

โลกหน้าหรือโลกอื่น(ปรโลก)มีจริงหรือไม่ ?

เวรกรรมมีจริงหรือไม่ ?

นรกมีจริงหรือไม่ ?

คนเราตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์ได้หรือไม่ ?

ทำกรรมใดจึงจะได้ขึ้นสวรรค์และทำกรรมใดจึงตกนรก ?

ทำไมบางครั้งพระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามเรื่องอดีตชาติและอนาคตชาติ แต่บางครั้งไม่ทรงตอบ ?

พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาอะไร และตอบปัญหาอะไร ?

เมื่อเราทราบว่าชาติหน้ามีจริงแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

นิทานเรื่องเขาวงกต

นิทานเรื่องยายผู้ไม่ยินดีในวิมาน

เบาะแสของผู้จำอดีตชาติได้รายอื่นๆ ในหมู่บ้านตะคร้อ

บันทึกท้ายเล่ม