วิธีทำให้เด็กลืมอดีตชาติ

วิธีทำให้เด็กลืมอดีตชาติ

ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงสาเหตุของการเสียชีวิต(มรณุปปัติ)ของคนเราว่า สาเหตุที่ทำให้คนเราเสียชีวิตนั้นมี ๔ อย่าง คือ

๑. อายุกขยมรณะ เสียชีวิตเพราะสิ้นอายุขัย

๒. กัมมักขยมรณะ เสียชีวิตเพราะสิ้นกรรม

๓. อุภยักขยมรณะ เสียชีวิตเพราะสิ้นอายุขัยและสิ้นกรรมพร้อมกัน

๔. อุปัจเฉทกมรณะ เสียชีวิตเพราะกรรมมาตัดรอน ให้เสียชีวิตเสียก่อน ในสมัยที่ยังไม่สิ้นอายุขัยหรือสิ้นกรรม

ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างหลังสุดนี้ เป็นการเสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติ(Violent Death)หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “ตายโหง” คือเสียชีวิตก่อนที่จะสิ้นอายุขัยหรือสิ้นกรรม เช่น ถูกยิง ถูกแทง ถูกฟัน หรือประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตเป็นต้น

จากความเชื่อเกี่ยวกับการเสียชีวิตก่อนสิ้นอายุขัยหรือสิ้นกรรมนี้เอง ที่ทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ของผู้ที่จำอดีตชาติได้ชาวพุทธส่วนใหญ่กลัวว่าเด็กที่จำอดีตชาติได้จะอายุสั้น เพราะมีความเชื่อว่าที่พวกเขาเกิดมาอีกครั้ง ก็เพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ตามอายุขัยเมื่อในอดีตชาติ ดังนั้นพ่อแม่ของผู้ที่จำอดีตชาติได้ส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อลักษณะนี้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้พวกเขาลืมอดีตชาติให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของครอบครัวพ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่รู้สึกดีใจที่บุคคลซึ่งพวกเขาเคยคิดว่าได้พลัดพรากจากกันไปอย่างไม่มีวันกลับ ได้สืบชาติมาเกิดอีกครั้ง เป็นความรู้สึกที่ไม่อาจจะบรรยายได้ แต่ก็มีบางรายที่พ่อแม่ในปัจจุบันชาติและครอบครัวพ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตในอดีตชาติ ร่วมใจกันพยายามทำให้เด็กลืมอดีตชาติ เพราะเด็กพูดถึงความทรงจำในอดีตชาติที่เกี่ยวกับการฆาตกรรม การที่เคยกระทำผิดศีลธรรม หรือเคยกระทำผิดกฎหมายในอดีตชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เด็กพูดถึงมันอีก

เกี่ยวกับความทรงจำที่สืบเนื่องจากอดีตชาติของผู้ที่จำอดีตชาติได้แต่ละรายนั้น จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาพบว่าความทรงจำนั้นๆ มีความมากน้อย มีช่วงที่เริ่มต้น มีช่วงสิ้นสุด และมีระยะเวลาที่คงอยู่ของความทรงจำนั้นๆแตกต่างกัน เด็กที่จำอดีตชาติได้บางรายจำอดีตชาติได้มากแต่บางรายจำได้น้อย บางรายพูดถึงความทรงจำในอดีตชาติเพียงครั้งเดียว แต่ในบางรายอาจจะไม่ใช่เป็นเพราะว่าเขาจำอดีตชาติได้น้อย แต่เป็นเพราะเด็กเป็นคนไม่ค่อยพูดจึงไม่ยอมพูดหรือแสดงออกมาให้ผู้อื่นได้ทราบ เด็กที่จำอดีตชาติได้บางรายเริ่มแสดงออกถึงความทรงจำในอดีตชาติของพวกเขาตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ทั้งๆที่ยังพูดไม่ได้ คือมีการร้องไห้มากผิดปกติหรือมีอาการป่วยอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อให้แม่ในอดีตชาติหรือคนใกล้ชิดในอดีตชาติอุ้มหรือเลี้ยงดู ก็จะหยุดร้องไห้และอาการป่วยเหล่านั้นก็จะหายไป เหมือนกับว่าพวกเขารับรู้ได้เหมือนกับผู้ใหญ่ทั่วไปเพียงแต่พวกเขายังพูดหรือบอกใครไม่ได้เท่านั้น บางรายเริ่มพูดและแสดงออกให้เห็นถึงความทรงจำในอดีตชาติเมื่อพวกเขาเริ่มพูดได้ บางรายเริ่มพูดถึงความทรงจำในอดีตชาติตั้งแต่ยังพูดไม่ชัด คือประมาณ ๑ - ๒ ขวบ บางรายก็เกินกว่านั้น และพวกเขาจะเริ่มหยุดพูดถึงความทรงจำในอดีตชาติไปเองเมื่ออายุได้ประมาณ ๕ - ๗ ขวบ บางรายก็เกินกว่านั้น มีน้อยรายมากที่จะสามารถจำอดีตชาติของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องจนถึงตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่ หรือจำได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ที่ยังจำเรื่องราวได้ก็เพราะเคยได้ยินได้ฟังผู้อื่นพูด หรือเล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของตัวเองให้ฟังเมื่อตอนที่พวกเขาโตจนจำความได้แล้ว ไม่ใช่เกิดจากความทรงจำที่ต่อเนื่องกันมาแต่อย่างใด

สำหรับสมมุติฐานเกี่ยวกับการลืมอดีตชาติของผู้ที่จำอดีตชาติได้นั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ความทรงจำในอดีตชาตินั้นไม่ได้ถูกทบทวนอยู่บ่อยๆ หรือเป็นการที่เด็กได้พูดและแสดงออกให้หลายๆคนได้ทราบว่าเขาเป็นใครสืบชาติมาเกิดมามากแล้ว จึงลดความสำคัญลง เช่น เด็กที่เริ่มมีเพื่อนเล่น หรือเริ่มเข้าโรงเรียน เมื่อความสนใจลดลง ความทรงจำที่เคยอยู่ในระดับของวิถีจิตก็ถูกดึงลงไปสู่ภวังคจิต ทำให้ดูเหมือนว่าจะลืมเรื่องราวชีวิตในอดีตชาติไปแล้ว แต่ความจริงความทรงจำนั้นยังคงอยู่แต่อยู่ลึกลงไปในระดับของภวังคจิตเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าเด็กที่จำอดีตชาติได้ส่วนใหญ่จะลืมเรื่องราวในอดีตชาติของตัวเอง เมื่ออายุได้ประมาณ ๕-๗ ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีเพื่อนหรือเริ่มเข้าโรงเรียนพอดี

ในหมู่บ้านของผู้เขียน มีวิธีการที่จะทำให้เด็กลืมอดีตชาติได้อยู่หลายวิธี เช่น วิธีการโยนกระด้ง , การให้เด็กกินไข่ , พาลอดใต้บันไดบ้าน , จับหมุนทำให้เวียนศีรษะ , ทำให้ตกใจ , ให้คนทรงทำพิธีให้ เป็นต้น แต่จากข้อมูลที่ได้ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้ผลนัก ส่วนใหญ่เด็กจะเริ่มหยุดพูดและหยุดแสดงออกถึงอดีตชาติไปเองเสียมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุมีผลเสียเลยทีเดียว เพราะมีบางกรณีที่คนที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าฝันและเป็นฝ่ายบอกเอง ว่าอย่าเพิ่งให้เด็กคือตัวเขาที่จะเกิดมากินไข่เพราะจะทำให้ตัวเขาลืมความทรงจำในอดีตชาติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าการให้เด็กกินไข่มากๆจะทำเด็กลืมความทรงจำในอดีตชาติ สำหรับวิธีการโยนกระด้งในหมู่บ้านของผู้เขียนนั้นเป็นวิธีการที่ใช้ในสมัยก่อน เมื่อครั้งที่ยังต้องใช้หมอตำแยในการทำคลอดอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้เด็กตกใจและลืมอดีตชาติเสียตั้งแต่ยังเป็นทารก จะกระทำกันเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว ได้ตัดสายสะดือและทำความสะอาดร่างกายของเด็กเรียบร้อยแล้ว หมอตำแยหรือญาติๆจะยกเด็กขึ้นด้วยสองมือและยื่นออกจากตัวไปในแนวนอนลักษณะตั้งฉากกับหน้าอก แล้วให้ญาติๆนำกระด้งขนาดใหญ่มาคอยรองรับเด็กที่ด้านล่าง โดยจะยกเด็กให้สูงกว่ากระด้งที่รองรับพอสมควร แล้วก็จะโยกมือที่อุ้มเด็กวนไปรอบๆกระด้งที่รองอยู่สามรอบพร้อมกับพูดไปด้วยว่า “สามวันลูกผี..สี่วันลูกคนนะ” ก่อนที่จะปล่อยมือให้เด็กตกลงมายังกระด้งที่รองรับอยู่ด้านล่าง เมื่อเด็กตกลงมาในสภาพไร้น้ำหนักก็จะมีอาการผวาตกใจและร้องไห้ เป็นอันเสร็จสิ้นวิธีการ แต่ในปัจจุบันนี้แม่ของเด็กส่วนใหญ่จะไปฝากท้องและไปคลอดบุตรที่สถานีอนามัย หรือที่โรงพยาบาล ทำให้วิธีการโยนกระด้งเพื่อทำให้เด็กลืมอดีตชาติกำลังจะเลือนหายไป

ในประเทศธิเบต ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เรื่องของการจำอดีตชาติได้นั้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะก่อนที่องค์ดาไลลามะซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขาหรือพวกลามะชั้นสูงจะมรณภาพ ท่านเหล่านี้จะแสดงนิมิตให้ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหน และเมื่อมรณภาพไปแล้วพวกลามะที่มีหน้าที่โดยตรงก็จะออกค้นหาตามนิมิตนั้น เมื่อพบแล้วก็จะทำการพิสูจน์ถึงความทรงจำในอดีตชาติ เมื่อพิสูจน์จนแน่ใจแล้วก็จะแต่งตั้งให้เป็นองดาไลลามะหรือให้ดำรงตำแหน่งลามะชั้นสูงนั้นต่อไป ซึ่งองค์ดาไลลามะองค์ปัจจุบันนี้ก็ได้ผ่านขบวนการค้นหาตามนิมิตเช่นกัน ดังนั้น ในประเทศธิเบตจึงมีความพยายามที่จะไม่ให้เด็กที่เกิดใหม่กินอาหารจำพวกที่มีไขมันมาก เช่น มันหมู ไข่ เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กลืมอดีตชาติ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อขบวนการสืบหาผู้ที่จำอดีตชาติได้ว่าเป็นองค์ดาไลลามะ หรือลามะชั้นผู้ใหญ่ที่จะสืบชาติมาเกิดใหม่ของพวกเขาได้